พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ภยเภรวสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ส.ค. 2564
หมายเลข  36000
อ่าน  886

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 260

๔. ภยเภรวสูตร

ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามถึงสาวกของพระองค์ หน้า 260

ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามถึงการอยู่ในป่าเปลี่ยว หน้า 260

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุที่ทําและไม่ทําให้ผู้อยู่ป่าเปลี่ยว มีจิตใจหวาดกลัว ๑๖ อย่าง หน้า 261

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงวิธีระงับความกลัวในอิริยาบถทั้ง ๔ หน้า 268

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงมีความไม่หลงเป็นต้น กะชาณุสโสณิพราหมณ์ หน้า 269

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประทับที่ป่า เพราะทรงเห็นประโยชน์ ๒ ประการ หน้า 272

ชาณุสโสณิพราหมณ์ถึงพระรัตนตรัย หน้า 273

อรรถกถาชาณุสโสณิสูตร หน้า 274

ความหมายของคําว่า "พราหมณ์" หน้า 274

สัมโมทนียกถา สาราณียกถา หน้า 274

การนั่งที่มีโทษ ๖ อย่าง หน้า 277

กุลบุตร ๒ จําพวก หน้า 278

ทรงเป็นผู้นํากุลบุตร ๒ จําพวกนั้น หน้า 279

เสนาสนะป่า หน้า 281

วจีกรรม - มโนกรรม - อาชีวะ หน้า 286

อธิบายนิวรณ์ ๕ หน้า 288

ปิยคามิกภิกษุ หน้า 291

สติกับปัญญา หน้า 292

จิตกับปัญญา หน้า 293

ราตรีกําหนดดิถีแห่งปักษ์ หน้า 295

เจดีย์ (๒) หน้า 297

ความหมายของมคะและโมระ หน้า 298

ความฉลาดในการออกจากสมาบัติ หน้า 300

ปเทสญาณ (ญาณเครื่องกําหนดเวลา) หน้า 302

ตถาคตอุบัติมาเพื่อประโยชน์สุข หน้า 304

ปฏิปทาเครื่องบรรลุอสัมโมหวิหาร หน้า 306

ประโยชน์ของฌาณ ๔ หน้า 307

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ หน้า 309

กถาว่าด้วยจุตูปปาตญาณ หน้า 312

กถาว่าด้วยอาสวักขยญาณ หน้า 313

มรรค-ผล-ปัจจเวกขณญาณ หน้า 314

ประโชน์ของการอยู่ป่า ๒ อย่าง หน้า 317

ความหมายของศัพท์ว่าอภิกกันตะ หน้า 319

เหตุผลที่ใช้อภิกกันตศัพท์ ๒ ครั้ง หน้า 321

อุปมา ๔ ข้อ หน้า 323

สรณคมน์ หน้า 326

ประเภทแห่งการถึงสรณะ หน้า 327

อุบาสก หน้า 334

ความหมายของ "อัคคะ" ศัพท์ หน้า 337


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 17]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 260

๔. ภยเภรวสูตร

[๒๗] ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามธรรมเนียมแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.

[๒๘] ชาณุสโสณิพราหมณ์ครั้นนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ กุลบุตร เหล่าใดมีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะท่านพระโคดมผู้เจริญ ท่านพระโคดมผู้เจริญทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้น ทรงมีอุปการะมากแก่กุลบุตรเหล่านั้น ทรงชักชวนกุลบุตรเหล่านั้น และประชุมชนนั้นย่อมปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านพระโคดมผู้เจริญหรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น กุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตอุทิศเฉพาะเรา เราเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้น มีอุปการะมากแก่กุลบุตรเหล่านั้น ชักชวนกุลบุตรเหล่านั้น และประชุมชนนั้นย่อมปฏิบัติตามแบบอย่างของเรา.

[๒๙] ชาณุสโสณิพราหมณ์ กราบทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม เสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว ยากที่จะเป็นอยู่ได้ ในภาวะที่โดดเดี่ยว ยากที่จะทําได้ ยากที่จะยินดีได้ ป่าทั้งหลายประหนึ่งว่า จะชักพาใจของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้เขวไป.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้นพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้นพราหมณ์ เสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว ยากที่จะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 261

เป็นอยู่ได้ในภาวะที่โดดเดี่ยว ความสงัดกาย ยากที่จะทําได้ ยากที่จะยินดีได้ ป่าทั้งหลายประหนึ่งว่า จะชักพาใจของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้เขวไป.

[๓๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แม้เราเมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้นั่นเองได้มีความดําริดังนี้ว่า เสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและป่าเปลี่ยว ยากที่จะเป็นอยู่ได้ ในภาวะที่โดดเดี่ยว ความสงัดกาย ยากที่จะทําได้ ยากที่จะยินดีได้ ป่าทั้งหลายประหนึ่งว่า จะชักพาใจของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้เขวไป.

[๓๑] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์เป็นเหตุ. ส่วนเราหาใช่ผู้มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เสพเสนาสนะ อันสงัด ที่เป็นป่าและป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์. พระอริยะเหล่าใดมีกายกรรมบริสุทธิ์ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นพระอริยะองค์หนึ่ง ดูก่อน พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความมีกายกรรมอันบริสุทธิ์นี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๓๒] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ ... มีมโนกรรมไม่ บริสุทธิ์ ... มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือมีอาชีวะไม่บริสุทธิ์เป็นเหตุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 262

ส่วนเราหาใช่ผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เสพเสนาสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่า และเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์. พระอริยะเหล่าใดมีอาชีวะบริสุทธิ์ เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความมีอาชีวะบริสุทธิ์นี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๓๓] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีความอยากได้มาก มีราคะกล้า ในกามทั้งหลาย เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตน คือมีความอยากได้มาก และมีราคะกล้าในกามทั้งหลายเป็นเหตุ. ส่วนเราหาใช่ผู้มีความอยากได้มาก มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ไม่มีความอยากได้มาก. พระอริยะเหล่าใด ไม่มีความอยากได้มาก เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความไม่มีความอยากได้มากนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า

[๓๔] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีจิตพยาบาท มีความดําริในใจชั่ว เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือ ความมีจิตพยาบาทและมีความดําริในใจชั่วเป็นเหตุ. ส่วนเราหามีจิตพยาบาท มีความดําริในใจชั่ว เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 263

ป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา. พระอริยะเหล่าใด มีจิตประกอบด้วยเมตตา เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความมีจิตประกอบด้วยเมตตานี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า

[๓๕] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง อันถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้ว เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นย่อมเรียกร้องความกลัวและควานขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือถูกถีนมิทธะกลุ้มรุมเป็นเหตุ. ส่วนเราหาถูกถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้ว เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ. พระอริยะเหล่าใด ปราศจากถีนมิทธะ เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อน พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความปราศจากถีนมิทธะนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า

[๓๖] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบระงับ เสพเสนาสนะ อันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือ ความฟุ้งซ่านและมีจิตไม่สงบระงับเป็นเหตุ. ส่วนเราหาฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบระงับ เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้มีจิตสงบระงับแล้ว. พระอริยะเหล่าใด มีจิตสงบระงับ เสพเสนาสนะ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 264

อันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความมีจิตสงบระงับนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๓๗] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีความสงสัยเคลือบแคลง เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือมีความสงสัยและเคลือบแคลงเป็นเหตุ. ส่วนเราหามีความสงสัยเคลือบแคลงเสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ข้ามพ้นความเคลือบแคลงเสียแล้ว. พระอริยะเหล่าใด ข้ามพ้นความเคลือบแคลงเสียแล้ว เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความข้ามพ้นความเคลือบแคลงนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๓๘] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ยกตนข่มผู้อื่น เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือความยกตนและข่มผู้อื่นเป็นเหตุ ส่วนเราหายกตนข่มผู้อื่น เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น. พระอริยะเหล่าใด เป็นผู้ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 265

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๓๙] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้หวาดหวั่น มีชาติแห่งความขลาด เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือมีความหวาดหวั่นและมีชาติแห่งคนขลาดเป็นเหตุ. ส่วนเราหาเป็นผู้หวาดหวั่น มีชาติแห่งคนขลาด เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ปราศจากความหวาดกลัว พระอริยะเหล่าใดปราศจากความหวาดกลัว เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวบรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความปราศจากความหวาดกลัวนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๔๐] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญเสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศลเพราะโทษของตน คือ ความปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นเหตุ. ส่วนเราหาปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย. พระอริยะเหล่าใดมีความปรารถนาน้อย เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความปรารถนาน้อยนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 266

[๔๑] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตน คือความเป็นผู้เกียจคร้านและมีความเพียรเลวทรามเป็นเหตุ.ส่วนเราหาเป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ปรารภความเพียร. พระอริยะเหล่าใด ปรารภความเพียร เสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปรารภความเพียรนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๔๒] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตนคือ ความเป็นผู้มีสติหลงลืมและไม่มีสัมปชัญญะเป็นเหตุ. ส่วนเราหามีสติหลงลืมไม่มีสัมปชัญญะ เสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้มีสติตั้งมั่น. พระอริยะเหล่าใด มีสติตั้งมั่น เสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นนี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๔๓] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 267

พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตน คือความเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น และมีจิตหมุนไปผิดเป็นเหตุ.ส่วนเราหามีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ. พระอริยะเหล่าใดถึงพร้อมด้วยสมาธิ เสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวบรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความถึงพร้อมด้วยสมาธินี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

[๔๔] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีปัญญาทราม เป็นใบ้ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตน คือความเป็นผู้มีปัญญาทรามและเป็นใบ้เป็นเหตุ. ส่วนเราหามีปัญญาทรามเป็นใบ้ เสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวไม่ เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา. พระอริยะเหล่าใด ถึงพร้อมด้วยปัญญา เสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นองค์หนึ่ง ดูก่อนพราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความถึงพร้อมด้วยปัญญานี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้มีขนเรียบโดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.

จบ ปริยาย ๑๖

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 268

[๔๕] ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงอยู่ในราตรีที่รู้กัน ที่กําหนดกันว่า ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ เห็นปานนั้น พึงอยู่ในเสนาสนะ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์ น่าสะพึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า เห็นปานนั้น. ถ้ากระไรเราพึงเห็นความกลัวและความขลาดนั้น ดังนี้. ดูก่อนพราหมณ์โดยสมัยอื่นเรานั้นอยู่ในราตรีที่รู้กัน ที่กําหนดกันว่า ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ เห็นปานนั้น อยู่ในเสนาสนะ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์ น่าสะพึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า เห็นปานนั้น ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะ เห็นปานนั้น เนื้อมาก็ดี นกยูงทําไม้ให้ตกลงมาก็ดี หรือว่าลมพัดใบไม้แห้งก็ดี. เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า ความกลัวและความขลาดนั้น นั่นมาเป็นแน่ล่ะพราหมณ์. ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดําริดังนี้ว่า อย่างไรหนอ เราจึงเป็นผู้ปรารถนาภัยอยู่โดยแท้ ไฉนหนอ ความกลัวและความขลาดนั้น ย่อมมาถึงเราผู้เป็นอยู่อย่างไรๆ เราผู้เป็นอยู่อย่างนั้นๆ แลพึงกําจัดความกลัวและความขลาดอย่างนั้นเสีย.

ดูก่อนพราหมณ์ ความกลัวและความขลาดนั้น ย่อมมาถึงเราผู้กําลังเดินจงกรมอยู่. ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอนเลย ตราบเท่าที่เรายังเดินจงกรม กําจัดความกลัวและความขลาดนั้นอยู่.

ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อเรานั้นยืนอยู่ ความกลัวและความขลาดนั้นย่อมมา. ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นจะไม่เดินจงกรม ไม่นั่ง ไม่นอนเลย ตราบเท่าที่เรายังยืน กําจัดความกลัวและความขลาดนั้นอยู่.

ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อเรานั้นนั่งอยู่ ความกลัวและความขลาดนั้นย่อมมา. เรานั้นจะไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดินจงกรมเลย ตราบเท่าที่เรายัง

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 269

นั่งกําจัดความกลัวและความขลาดนั้นอยู่.

ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อเรานั้นนอนอยู่ ความกลัวและความขลาดนั้นย่อมมา เรานั้นจะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่เดินจงกรมเลย ตราบเท่าที่เรายังนอนกําจัดความกลัวและความขลาดนั้นอยู่.

[๔๖] ดูก่อนพราหมณ์ มีอยู่ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง สําคัญกลางคืนแท้ๆ ว่า กลางวัน สําคัญกลางวันแท้ๆ ว่ากลางคืน เราย่อมกล่าวความสําคัญอย่างนี้ ในเพราะอยู่ด้วยความหลงของสมณพราหมณ์เหล่านั้น. ดูก่อนพราหมณ์ ส่วนเราย่อมสําคัญกลางคืนว่ากลางคืน ย่อมสําคัญกลางวันว่ากลางวัน. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกพึงกล่าวคําใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่หลงเป็นธรรมดา เกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกพึงกล่าวคํานั้นกะเราเท่านั้นว่า สัตว์ผู้มีความไม่หลงเป็นธรรมดา เกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

[๔๗] ดูก่อนพราหมณ์ ความเพียรเราได้ปรารภแล้ว ไม่ย่อหย่อน สติตั้งมั่น ไม่ฟันเฟือน กายสงบระงับแล้ว ไม่ระส่ําระสาย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์แน่วแน่ ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 270

สัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยสาวกทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

[๔๘] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.ดูก่อนพราหมณ์ วิชชาที่ ๑ นี้แล เราได้บรรลุแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรีกําจัดอวิชชาเสียได้ วิชชาก็เกิด กําจัดความมืดเสียได้ ความสว่างก็เกิด เหมือนเมื่อบุคคลไม่ประมาท มีความเพียร เผากิเลสให้เร่าร้อน ส่งตนไปแล้วอยู่ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 271

[๔๙] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย. เรานั้นเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ดังนี้. เรานั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติ กําลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ดูก่อนพราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราบรรลุแล้ว ในมัชฌิมยามแห่งราตรี กําจัดอวิชชาเสียได้ วิชชาก็เกิด กําจัดความมืดเสียได้ ความสว่างก็เกิด เหมือนเมื่อบุคคลไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อนส่งตนไปแล้วอยู่ฉะนั้น.

[๕๐] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 272

อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูก่อนพราหมณ์ วิชชาที่ ๓ นี้แลเราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี กําจัดอวิชชาเสียได้แล้ว วิชชาก็เกิด กําจัดความมืดเสียได้แล้ว ความสว่างก็เกิด เหมือนเมื่อบุคคลไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ส่งตนไปแล้วอยู่ฉะนั้น.

[๕๑] ดูก่อนพราหมณ์บางคราว ท่านจะพึงมีความดําริอย่างนี้ว่า แม้วันนี้พระสมณโคดมยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ปราศจากโมหะ แน่นอน เพราะฉะนั้น จึงยังเสพเสนาสนะอันสงัดทั้งที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวอยู่ดังนี้. ดูก่อนพราหมณ์ ข้อนี้ท่านอย่าเห็นอย่างนั้นเลย เราเห็นอํานาจประโยชน์ ๒ อย่าง คือ เห็นความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน ๑ อนุเคราะห์ประชุมชนผู้เกิด ณ ภายหลัง ๑ จึงเสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว.

[๕๒] ชาณุสโสณิพราหมณ์ กราบทูลว่า ประชุมชนผู้เกิด ณ ภายหลังนี้ เป็นอันท่านพระโคดมอนุเคราะห์อยู่แล้ว เพราะท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 273

ผู้มีจักษุดีจักเห็นรูปฉะนั้น. ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดมผู้เจริญ พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญจงจําข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.

จบ ภยเภรวสูตร ที่ ๔

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 274

อรรถกถาภยเภรวสูตร

(๒๗) ภยเภรวสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

ความหมายของคําว่า "พราหมณ์"

ในภยเภรวสูตรนั้นมีการพรรณนาตามลําดับบทดังต่อไปนี้ :-

ศัพท์ว่า อถ เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่า อวิจเฉทนะ (ไม่ขาดสายสืบต่อมา) ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาต (เหมือนกัน) ใช้ในความหมายว่า อวธารณะ ห้ามความหมายอื่น. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีไม่ขาดตอนเลย. คําว่า ชาณุสโสณี นั้นไม่ใช่ชื่อที่บิดามารดาของพราหมณ์นั้นตั้งให้ แต่ว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากการได้ตําแหน่ง. ว่ากันว่าตําแหน่งชาณุสโสณีนั้นเป็นตําแหน่งปุโรหิต. พระราชาได้พระราชทานตําแหน่งปุโรหิตนั้นให้แก่เขา ฉะนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า ชาณุสโสณี.

บุคคลที่ชื่อว่า พราหมณ์ เพราะมีความหมายว่า เปล่งเสียงว่า พรหมะ อธิบายว่า ได้แก่สาธยายมนต์. ก็คําว่า พราหมณ์นั้นเป็นภาษาเรียกคนที่เป็นพราหมณ์โดยกําเนิด. ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านก็เรียกว่าพราหมณ์ เพราะลอยบาปได้แล้ว.

สัมโมทนียกถา - สาราณียกถา

คําว่า เยน ในคําว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในความหมายแห่งสัตตมีวิภัตติ. เพราะฉะนั้น พึงเห็นความหมายในคํานี้อย่างนี้ว่า ยตฺถ ภควา อุปสงฺกมิ (แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 275

ประทับอยู่ในที่ใด ชาณุสโสณีพราหมณ์ก็เข้าไปเฝ้าแล้วในที่นั้น).อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความหมายในคํานี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุใด ชาณุสโสณีพราหมณ์ก็เข้าไปเฝ้าแล้วด้วยเหตุนั้น.

ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุไรเล่า?

ตอบว่า ด้วยประสงค์จะบรรลุคุณวิเศษนานาประการ อุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ผลิผลอยู่เนืองนิตย์ อันฝูงนกเข้าไปจับก็ด้วยประสงค์จะจิกกินผลที่มีรสอร่อยฉะนั้น.

และคําว่า อุปสงฺกมิ มีอธิบายว่าไปแล้ว. บทกิริยาว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นบทแสดงถึงว่า การเข้าไปเฝ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง (บทกิริยาว่า อุปสงฺกมิตฺวา) จะอธิบายว่า ไปสู่ที่ใกล้กว่านั้น คือที่ใกล้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ก็ได้.

บทว่า ภควตา สทฺธิํ สมฺโมทิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสถามถึงสุขทุกข์เป็นต้น ชื่อว่าทรงมีความบันเทิงพระทัยร่วมกับพราหมณ์นั้นฉันใด แม้พราหมณ์นั้นก็มีความบันเทิงใจร่วมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า คือได้ถึงความบันเทิงใจ ได้แก่ความเป็นกันเองกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนน้ำเย็นกับน้ำร้อนเข้ากันได้ฉะนั้น.

อนึ่ง พราหมณ์นั้นบันเทิงใจ (กับพระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยถ้อยคําใดมีอาทิว่า ยนต์คือพระวรกายของพระโคดมผู้เจริญยังพอทนได้อยู่หรือ? พระโคดมผู้เจริญพอยังยนต์คือพระวรกายให้เป็นไปได้อยู่หรือ?

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 276

พระโคดมผู้เจริญและเหล่าสาวกของพระโคดมยังคงมีอาพาธน้อย มีโรคน้อย ยืน เดิน ได้คล่อง แข็งแรง (และ) มีความเป็นอยู่ผาสุกอยู่หรือ? ถ้อยคํานั้น ชื่อว่า สัมโมทนียะ (เป็นเหตุให้บันเทิงใจ) เพราะให้เกิดความบันเทิงใจเป็นอย่างดี กล่าวคือปีติและปราโมช และเพราะเป็นถ้อยคําสมควรเพื่อความบันเทิงใจ ชื่อว่า สาราณียะ (เป็นเหตุให้ระลึกถึงกันและกัน) เพราะเป็นถ้อยคําสมควรที่จะให้ (ผู้ฟังระลึกถึง) ตลอดกาลแม้นาน คือให้เป็นไปไม่ว่างเว้น และเพราะเป็นถ้อยคําที่ (ผู้พูดเอง) ก็ต้องระลึกถึงด้วย ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะเมื่อฟังอยู่ก็เป็นสุข ชื่อว่า สาราณียะ เพราะเมื่อระลึกถึงอยู่ก็เป็นสุข อีกประการหนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะมีพยัญชนะแจ่มชัด ชื่อว่า สาราณียะ เพราะมีอรรถแจ่มชัด พราหมณ์ยังถ้อยคำซึ่งเป็นสัมโมทนียะสาราณียะให้ผ่านพ้นไปคือสิ้นสุดลง ได้แก่ให้จบลงด้วยบรรยายเป็นอเนก ดังพรรณนามาอย่างนี้ แล้วประสงค์จะถามถึงจุดมุ่งหมายที่เป็นเหตุให้ตนต้องมา จึงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง (ก่อน).

บทว่า เอกมนฺตํ เป็นบทแสดง ภาวนปุํสกะ (กิริยาวิเศษ) ดุจตัวอย่างในประโยคเป็นต้นว่า วิสมํ จนฺทิมสุริยา ปริวตฺตนฺติ พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรไม่เท่ากัน ดังนี้ เพราะฉะนั้น พึงเห็นความหมายในข้อนี้อย่างนี้ว่า พราหมณ์นั้นนั่งเหมือนที่เขานั่งๆ กันในที่สมควร.อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอกมนฺตํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในความหมายแห่งสัตตมีวิภัตติ.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 277

การนั่งที่มีโทษ ๖ อย่าง

บทว่า นิสีทิ แปลว่า เข้าไปนั่งใกล้. เพราะว่าคนที่เป็นบัณฑิตเข้าไปหาบุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครูแล้วย่อมนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้ฉลาดในที่นั่ง และพราหมณ์นี้ก็เป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจํานวนบัณฑิตเหล่านั้น. เพราะฉะนั้น จึงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

ถามว่า ก็บุคคลนั่งอย่างไร จึงชื่อว่านั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง?

ตอบว่า นั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ อย่าง.

ถามว่า โทษการนั่ง ๖ อย่างมีอะไรบ้าง?

ตอบว่า มีดังนี้คือ :-

๑. อติทูรํ นั่งไกลเกินไป

๒. อจฺจาสนฺนํ นั่งใกล้เกินไป

๓. อุปริวาตํ นั่งในที่เหนือลม

๔. อุนฺนตปฺปเทสํ นั่งในที่สูง

๕. อติสมฺมุขํ นั่งตรงหน้าเกินไป

๖. อติปจฺฉา นั่งล้ำไปข้างหลังมาก

อธิบายว่า คนที่นั่งในที่ไกลเกินไป ถ้าประสงค์จะพูดกันก็ต้องพูดด้วยเสียงดัง. นั่งในที่ใกล้เกินไปก็จะเบียดเสียดท่าน นั่งในที่เหนือลมก็จะรบกวนท่านด้วยกลิ่นตัว นั่งในที่สูงก็จะเป็นการแสดงความไม่เคารพ นั่งตรงหน้าเกินไป ถ้าประสงค์จะมองดู (หน้ากัน) ก็จะต้องจ้องตากัน

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 278

นั่งล้ำข้างหลังมาก ถ้าประสงค์จะมองดู จะต้องยื่นคอไป (เหลียว) ดู.เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นี้จึงนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างนี้เสีย. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พราหมณ์นั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

กุลบุตร ๒ จําพวก

(๒๘) บทว่า เยเม ตัดบทเป็น เย อิเม. แปลว่า กุลบุตรเหล่านี้ใด.

บทว่า กุลปุตฺตา ได้แก่กุลบุตร ๒ จําพวก คือกุลบุตรโดยกําเนิด ๑ กุลบุตรโดยอาจาระ ๑. ในกุลบุตร ๒ จําพวกนั้น กุลบุตรที่เกิดในตระกูลสูง (ซึ่งมีที่มา) อย่างนี้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อรัฐบาลเป็นลูกชายของอัครกุลิกเศรษฐีในถุลลโกฏฐิตคามนั้นนั่นแล ดังนี้ ชื่อว่ากุลบุตรโดยกําเนิด. ส่วนกุลบุตรที่แม้จะเกิดในตระกูลใดก็ตามเป็นคนเพียบพร้อมด้วยอาจาระซึ่งมีที่มาอย่างนี้ว่า กุลบุตรเหล่าใดออกจากเรือน บวชเป็นอนาคาริกด้วยศรัทธา ดังนี้ ชื่อว่า กุลบุตรโดยอาจาระ.แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอากุลบุตรด้วยเหตุ ๒ อย่าง (นั้น).

บทว่า สทฺธา แปลว่า ด้วยศรัทธา.

บทว่า อคารสฺมา แปลว่า จากเรือน.

บทว่า อนคาริยํ ได้แก่บรรพชาและอุปสมบท. ด้วยว่า แม้บรรพชาก็ชื่อว่า อนคาริยา เพราะในบรรพชานี้ไม่มีการงานที่เกื้อกูลแก่การครองเรือน. อธิบายว่า ในบรรพชานี้ไม่มีกสิกรรม (การเพาะปลูก) และโครักขกรรม (การเลี้ยงสัตว์) เป็นต้น ซึ่งเกื้อกูลแก่การครองเรือน

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 279

ฝ่ายภิกษุ ก็ชื่อว่า อนาคาระ เพราะท่านไม่มีเรือน. ภาวะแห่งการไม่มีเรือน ชื่อว่า อนคาริยะ.

บทว่า ปพฺพชิตา แปลว่า เข้าถึง. อธิบายว่า เข้าถึงบรรพชาและภิกษุภาวะ กล่าวคือการงานที่ไม่เกื้อกูลแก่การครองเรือนแม้โดยประการทั้งปวง ดังพรรณนามาฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นํากุลบุตร ๒ จําพวกนั้น

บทว่า ปุพฺพงฺคโม แปลว่า เป็นผู้ไปข้างหน้า คือเป็นผู้นํา.

บทว่า พหุกาโร แปลว่า เป็นผู้มีอุปการะมากเพราะทําประโยชน์เกื้อกูลให้.

คําว่า ภวนฺเตสํ โคตโม สมาทเปตา ความว่า พระโคดมผู้เจริญยังกุลบุตรเหล่านั้นให้รับ คือให้ศึกษาข้อศึกษาต่างๆ มีอธิศีลเป็นต้น.

บทว่า สา ชนตา แปลว่า หมู่ชนนั้น.

บทว่า ทิฏฺานุคตึ อาปชฺชติ แปลว่า เอาอย่าง. อธิบายว่า พระโคดมผู้เจริญมีทิฏฐิอย่างใด มีความชอบใจอย่างใด มีความพอใจอย่างใด แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็มีทิฏฐิอย่างนั้น มีความชอบใจอย่างนั้น มีความพอใจอย่างนั้น.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พราหมณ์นี้จึงกล่าวอย่างนั้น?

ตอบว่า ได้ยินว่า เมื่อก่อนพราหมณ์นี้เห็นกุลบุตรจํานวนมากอยู่ในท่ามกลางเรือน ได้รับการบํารุงบําเรอด้วยเบญจกามคุณราวกะว่าเป็นเทพบุตร ได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างดีทั้งภายในบ้าน ภายนอกบ้าน สมัยต่อมาก็ได้เห็นกุลบุตรเหล่านั้นฟังพระสัทธรรมเทศนาอันไพเราะของ

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 280

พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วออกจากเรือนบวชด้วยศรัทธา (กลับกลายมาเป็น) ผู้สันโดษในเรื่องของกินและเครื่องนุ่งห่มอย่างยิ่งยวด แม้จะไม่มีใครคุ้มครองป้องกันให้ (ดังแต่ก่อน) ก็มิได้หวาดระแวง ร่าเริงยินดีเบิกบานใจอยู่ในเสนาสนะป่า, และพราหมณ์ครั้นเห็นแล้วก็พลันคิดได้ว่า การอยู่อย่างนี้ของกุลบุตรเหล่านี้ นับว่าเป็นการอยู่อย่างผาสุกแล้ว การอยู่อย่างผาสุกนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยใคร ก็ได้รับคําตอบว่า เพราะอาศัยพระโคดม จึงได้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประกาศความเลื่อมใสนั้น เขาจึงได้มายังสํานักพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น เขาจึงกล่าวอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้.

ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงยอมรับและทรงสนับสนุนคําพูดของพราหมณ์นั้น จึงตรัสคํามีอาทิว่า เอวเมตํ พฺราหฺมณ ข้อนั้นเป็นอย่างนั้นแหละพราหมณ์.

ก็ในคําว่า เอวเมตํ พฺราหฺมณ นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า :-

บทว่า เอวํ นี้ เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่า รับรอง และอนุโมทนาคําพูด (ของคนอื่น).

บทว่า มมํ อุทฺทิสฺส แปลว่า เจาะจงเราตถาคต.

ด้วยบทว่า สทฺธา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาเหตุต่างๆ มีอาทิว่า ด้วยศรัทธานั้นเอง ไม่ใช่ (บวช) เพราะเป็นหนี้ ไม่ใช่เพราะความกลัว. เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเช่นนี้เท่านั้น ไม่ใช่ของจําพวกอื่น

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 281

เสนาสนะป่า

[๒๙] บทว่า ทูรภิสมฺภวานิ หิ ความว่า ยากที่จะอยู่ได้ด้วยดี คือทนอยู่ได้ยาก อธิบายว่า ภิกษุผู้มีศักดิ์น้อยไม่สามารถจะอยู่อาศัยได้.

บทว่า อรฺวนปตฺถานิ ได้แก่ป่าและป่าเปลี่ยว.

ในบทว่า อรฺวนปตฺถานิ นั้น มีอธิบายว่า:-

ว่ากันตามตรงในอภิธรรมแล้ว สถานที่อยู่นอกเสาเขื่อนไปทั้งหมดท่านเรียกว่า "ป่า" ก็จริง. ถึงกระนั้นก็พึงทราบว่า เสนาสนะใดที่ให้สําเร็จเป็นอารัญญิกธุดงค์ได้ ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า ท้ายสุดประมาณ ๕๐๐ ช่วงธนู ท่านประสงค์เอาเสนาสนะนั้นเท่านั้น.

บทว่า วนปตฺถํ ได้แก่สถานที่ที่เลยท้ายหมู่บ้านไป ไม่มีคนไปมาบ่อยๆ เป็นที่ที่ไม่มีการไถหว่าน. ข้อนี้สมด้วยคําที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า:-

คําว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของเสนาสนะที่อยู่ไกล.

คําว่า วนปตฺถํ เป็นซึ่งของราวป่า.

คําว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของสถานที่ที่น่ากลัว.

คําว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของสถานที่ที่ทําให้มีขนชูชัน.

คําว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของสถานที่ที่อยู่ปลายแดน.

คําว่า วนปตฺถํ ไม่ใช่เป็นชื่อของเสนาสนะที่มีผู้คนไปมาบ่อยๆ.

และในที่นี้ นอกจากความหมายนี้อย่างเดียวว่า สถานที่อยู่ปลายแดน พึงเข้าใจป่าที่อยู่ปลายแดน ตามความหมายที่เหลือ.

บทว่า ปนฺตานิ ได้แก่สถานที่อยู่ปลายแดน คือสถานที่ไกลมาก.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 282

บทว่า ทุกฺกรํ ปวิเวกํ ความว่า กายวิเวก เป็นสิ่งที่ทําได้ยาก.

บทว่า ทูรภิรมํ แปลว่า ไม่ง่ายเลยที่จะยินดี.

บทว่า เอกตฺเต แปลว่า ในความเป็นผู้เดียว (ในการอยู่คนเดียว).

ถามว่า พระพุทธดํารัสที่ตรัสมานี้แสดงถึงอะไร?

ตอบว่า แสดงถึงว่า แม้จะบําเพ็ญกายวิเวกได้แล้ว การจะยังจิตให้ยินดีในวิเวกนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ทําได้ยาก. เพราะสัตว์โลกนี้มักยินดีในการอยู่เป็นคู่กัน.

บทว่า หรนฺติ มฺเ ความว่า เหมือนจะนําไป คือ เหมือนจะฉุดคร่าไป.

บทว่า มโน แปลว่า ซึ่งใจ.

บทว่า สมาธิํ อลภมานสฺส ความว่า (ของภิกษุ) ผู้ไม่ได้อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ.

ถามว่า พระพุทธดํารัสที่ตรัสมานี้แสดงถึงอะไร?

ตอบว่า แสดงถึงว่า ป่าเหมือนจะทําจิตของภิกษุเช่นนี้ให้ฟุ้งซ่านด้วยเสียงทั้งหลายมีเสียงหญ้าเสียงใบไม้และเสียงสัตว์เป็นต้น และ (รวมทั้ง) อารมณ์ที่น่ากลัวต่างๆ. คําทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พราหมณ์ซึ่งเกิดพิศวงกับการอยู่ป่าของกุลบุตรทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธากล่าวไว้แล้ว

ความหมายของ "พระโพธิสัตว์"

[๓๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงรับรองและอนุโมทนาคําพูดของพราหมณ์นั้น ด้วยพระพุทธดํารัสมีอาทิว่า เอวเมตํ

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 283

พฺราหฺมณ ตามนัยแรกนั่นแล แล้วจึงได้ตรัสคํามีอาทิว่า มยฺหํปิ โข เพื่อจะทรงแสดงว่า เสนาสนะชนิดนั้น ก็เป็นเสนาสนะที่อยู่ได้ยาก สําหรับพระองค์เอง เพราะเสนาสนะชนิดนั้น เป็นที่อยู่ยากสําหรับภิกษุทั้งหลายผู้ถูกอารมณ์กลุ้มรุมในเพราะเหตุ ๑๖ อย่าง แต่ไม่เป็นที่อยู่ยากเลยสําหรับเหล่าภิกษุผู้ประกอบด้วยการข่มอารมณ์ได้ ในเพราะเหตุเหล่านั้น และพระองค์เองถึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงอยู่ในฐานะเช่นนั้น.

บทว่า ปุพฺเพว สมฺโพธา ความว่า ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้ อธิบายว่า ในเวลาอื่นจากเวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้นนั่นแล.

บทว่า อนภิสมฺพุทฺธสฺส ได้แก่ยังไม่ได้แทงตลอดสัจจะ ๔.

บทว่า โพธิสตฺตสฺเสว สโต แปลว่า สัตว์ผู้จะตรัสรู้ คือสัตว์ผู้ควรที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ อีกอย่างหนึ่งหมายความว่า สัตว์ผู้ข้อง คือผู้ติดอยู่ในพระโพธิญาณ.

เพราะว่า นับจําเดิมแต่อภินิหารสําเร็จลงด้วยความประชุมพร้อมแห่งธรรม ๘ ประการแทบเบื้องพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า "ทีปังกร" พระตถาคตซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นสัตว์ผู้เกี่ยวข้องอยู่ว่า โพธิญาณนี้ เราต้องบรรลุให้ได้ ไม่ยอมทิ้งความพยายามเพื่อบรรลุโพธิญาณนั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันว่า "พระโพธิสัตว์."

[๓๑] บทว่า ตสฺส มยฺหํ ความว่า สําหรับเราตถาคตนั้น คือผู้เป็นพระโพธิสัตว์อย่างนี้นั่นแล.

บทว่า เย โข เกจิ สมณา วา พฺราหฺมณา วา ความว่า สมณ-

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 284

หรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง คือท่านผู้เข้าถึงการบรรพชา หรือบุคคลผู้มีปกติกล่าวว่า "โภ" (แปลว่า ผู้เจริญ).

บทว่า อปริสุทฺธกายกมฺมนฺตา ความว่า ประกอบด้วยกายกรรมอันไม่บริสุทธิ์ มีปาณาติบาตเป็นต้น.

บทว่า อปริสุทฺธกายกมฺมนฺตสนฺโทสเหตุ ความว่า เพราะเหตุแห่งโทษของตน กล่าวคือกายกรรมอันไม่บริสุทธิ์ อธิบายว่า เพราะเหตุแห่งกายกรรมอันไม่สะอาด.

บทว่า หเว เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่า โดยส่วนเดียว.

บทว่า อกุสลํ ได้แก่สิ่งมีโทษและไม่ปลอดภัย.

บทว่า ภยเภรวํ แปลว่า ภัยและสิ่งที่น่ากลัว.

บทว่า ภยเภรวํ นี้ เป็นชื่อเรียกความหวาดสะดุ้งแห่งจิตและอารมณ์อันน่ากลัว.

บรรดาภัยและสิ่งที่น่ากลัวทั้ง ๒ อย่างนั้น ภัย พึงทราบว่าเป็นอกุศล เพราะมีความหมายว่ามีโทษ สิ่งที่น่ากลัว พึงทราบว่าเป็นอกุศลเพราะมีความหมายว่าไม่ปลอดภัย.

บทว่า อวฺหยนฺติ แปลว่า ย่อมเรียกร้องมา.

ถามว่า ย่อมเรียกร้องมาอย่างไร?

ตอบว่า ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นทําบาปกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นแล้วคิดได้ว่า เราทําไม่ถูกแล้ว ถ้าคนที่เราทําผิดต่อเขารู้จักตัวเรา (ว่าเป็นคนทํา) ไซร้ ก็จะต้องติดตามมาแก้เผ็ดเราเสียเดี๋ยวนี้แหละ จึงหลบเข้าป่านั่งแอบอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้ พอเขาได้ยินเสียงหญ้าหรือ

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 285

เสียงใบไม้เข้า แม้เพียงนิดหน่อยก็สะดุ้งโหยงด้วยคิดว่า เสร็จแล้วเราคราวนี้ เธอ (รู้สึก) จะเป็นเหมือนถูกคนอื่นมาล้อมไว้และเป็นเหมือนถูกจับฆ่าฉะนั้น. เมื่อเป็นเช่นนั้นสมณพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าเรียกร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นเข้ามาหาตน.

คําว่า น โข ปนาหํฯปฯ ปฏิเสวามิ ความว่า เราแลเป็นผู้มีกายกรรมอันไม่บริสุทธิ์ จึงอยู่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวได้.

บทว่า โว ในคําว่า เยหิ โข เป็นเพียงนิบาต. พระพุทธเจ้าทั้งหลายและพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านเรียกว่า "พระอริยะ."

บทว่า ปริสุทฺธกายกมฺมนฺตา ความว่า (พระอริยเจ้าทั้งหลาย) เป็นเช่นนี้.

บทว่า อหํ เตสํ อฺตโร ความว่า แม้เราตถาคตก็เป็นคนหนึ่ง คือเป็นคนใดคนหนึ่งในบรรดาพระอริยเจ้าเหล่านั้น. อันที่จริง พระโพธิสัตว์ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต ย่อมเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์ทั้งนั้น.

บทว่า ภิยฺโย เป็นนิบาต ใช้ในความว่า อย่างยิ่ง.

บทว่า ปลฺโลมํ แปลว่า ความเป็นผู้มีขนตก (ไม่ลุกชูชัน) อธิบายว่า ปลอดภัย คือสวัสดิภาพ.

บทว่า อาปาทิํ แปลว่า ถึงแล้ว อธิบายว่า ถึงความสวัสดีมากมาย หรือความสวัสดีโดยอาการหลายอย่าง.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 286

สองบทว่า อรฺเ วิหาราย แปลว่า เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ในป่า.

จบกถาว่าด้วยวาระแห่งกายกรรม

วจีกรรม - มโนกรรม - อาชีวะ

ทุกบทมีนัยเช่นนี้. แต่ว่าที่แปลกออกไปมีดังต่อไปนี้ :-

[๓๒] จะกล่าวในวาระว่าด้วยวจีกรรมก่อน. บทว่า อปริสุทฺธวจีกมฺมนฺตา ความว่า ประกอบด้วยวจีกรรมอันไม่บริสุทธิ์ มีมุสาวาทเป็นต้น.

ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีวจีกรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?

ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นหักรานประโยชน์ของคนอื่นด้วยการพูดเท็จ ทําลายมิตรด้วยคําพูดส่อเสียด ก็ทําลายความรักของคนอื่นด้วยถ้อยคําหยาบคายในท่ามกลางบริษัท ทําให้การงานของคนอื่นเสียหายไปด้วยคําพูดที่ไร้ประโยชน์ แล้วคิดได้ว่า เราทําไม่ถูกแล้ว ถ้าคนที่เราทําผิดต่อเขารู้ว่าเรา (เป็นคนทํา) ก็คงจะตามมาแก้เผ็ดเราเดี๋ยวนี้แหละ จึงหลบเข้าป่าไปนั่งอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้ พอเขาได้ยินเสียงหญ้าหรือเสียงใบไม้แม้เพียงนิดเดียวก็สะดุ้งโหยง ด้วยคิดว่า เสร็จแล้วเราคราวนี้ เธอ (รู้สึก) จะเป็นเหมือนมีคนอื่นมาล้อมไว้ และเป็นเหมือนถูกจับฆ่าฉะนั้น. สมณพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นให้เข้ามาหาตน.

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 287

จะกล่าวในวาระว่าด้วยมโนกรรม. บทว่า อปริสุทฺธมโนกมฺมนฺตา ความว่า ประกอบด้วยมโนกรรมอันไม่บริสุทธิ์ มีอภิชฌาเป็นต้น.

ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีมโนกรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?

ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นเกิดความโลภชนิดที่ขาดความชอบธรรม อันได้แก่อภิชฌา (ความเพ่งเล็งของผู้อื่น) ในสิ่งของที่คนอื่นรักษาคุ้มครองแล้ว โกรธคนอื่นและให้คนอื่นยึดถือทรรศนะที่ผิดไปด้วยแล้วคิดได้ว่า เราทําไม่ถูกแล้ว ฯลฯ ชื่อว่าเรียกร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นให้เข้ามาหาตน.

จะกล่าวในวาระว่าด้วยอาชีวะ. บทว่า อปริสุทฺธาชีวา ความว่าประกอบด้วยอาชีพอันไม่บริสุทธิ์ แยกประเภทเป็นอเนสนา ๒๑ อย่าง มีทําหน้าที่เป็นหมอรักษาโรค เป็นทูตส่งข่าวสารและค้าขายหากําไรเป็นต้น

ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีอาชีพอันไม่บริสุทธิ์เหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?

ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นเลี้ยงชีวิตอย่างนั้นอยู่ ได้ยินข่าวว่า นัยว่าเหล่าภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก ซึ่งทําหน้าที่ชําระสะสางพระศาสนาให้บริสุทธิ์ กําลังออกไปชําระสะสางพระศาสนา วันนี้หรือพรุ่งนี้ก็จักเดินทางมาถึงที่นี้ (ได้ยินอย่างนั้นแล้ว) จึงหนีเข้าป่าไปนั่งแอบอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้ ฯลฯ สะดุ้งโหยง เธอ (รู้สึก) จะเป็นเหมือนภิกษุเหล่านั้นมาล้อมจับไว้และเป็นเหมือนถูก (จับสึก) ให้นุ่งผ้าขาว. คําที่เหลือก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.

ในคําว่า อิโต ปรํ อภิชฺฌาลุ เป็นต้น มีอธิบายว่า อภิชฌาและ

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 288

พยาบาทสงเคราะห์เข้าในมโนกรรมก็จริง ถึงอย่างนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวซ้ำไว้อีกด้วยอํานาจนิวรณ์.

อธิบายนิวรณ์ ๕

[๓๓] บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺฌาลุ ได้แก่ผู้มีปกติเพ่งเล็งสิ่งของของคนอื่น. บทว่า กาเมสุ ติพฺพสราคา ได้แก่ผู้มีกิเลสคือราคะอย่างแรงกล้าในวัตถุกามทั้งหลาย.

ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีกิเลสคือราคะแรงกล้าเหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?

ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ได้พิจารณาอารมณ์ให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อท่านไม่ได้กําหนดพิจารณาอารมณ์ให้ละเอียดถี่ถ้วน อยู่ในป่าสิ่งที่เห็นในตอนกลางวัน ย่อมปรากฏเป็นภัยและเป็นของน่ากลัวในตอนกลางคืน เธอมีจิตเป็นอกุศล (อยู่แล้ว) ย่อมจะหวาดสะดุ้งด้วยภัยและสิ่งที่น่ากลัวแม้เพียงเล็กน้อย คือเห็นเชือกหรือเถาวัลย์ก็สําคัญว่าเป็นงู เห็นตอไม้สําคัญว่าเป็นยักษ์ เห็นเนินดินหรือภูเขาก็สําคัญว่าเป็นช้าง เป็นเหมือนถูกสัตว์ร้ายมีงูเป็นต้นทําร้ายเอาฉะนั้น. คําที่เหลือก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.

บทว่า พฺยาปนฺนจิตฺตา แปลว่า มีจิตวิบัติไป เพราะละสภาพปกติเสีย. เป็นความจริง จิตที่คละเคล้าอยู่กับกิเลสย่อมละสภาพปกติกลับกลายเป็นจิตเสียไป เหมือนข้าวและกับเก่าที่บูดฉะนั้น.

บทว่า ปทุฏฺมนสงฺกปฺปา แปลว่า มีจิตคิดไปในทางไม่ดี อธิบายว่า ประกอบด้วยความดําริแห่งจิตที่ไม่ดี คือทําคนอื่นให้เสียประโยชน์

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 289

ถามว่า สมณพราหมณ์ที่มีจิตวิบัติคิดไปในทางที่ไม่ดีเหล่านั้น จะเรียกร้องความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?

ตอบว่า นับตั้งแต่นี้ไป การเรียกร้องหาความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัว พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วย อภิชฺฌาลุ นั่นแหละ.แต่ว่าในที่ใดจักมีแปลกออกไป ข้าพเจ้าก็จักกล่าวอธิบายไว้ในที่นั้น.

[๓๔] ก็ในพระดํารัสตอนนี้ว่า น โข ปนาหํ พฺยาปนฺนจิตฺโต พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า เราตถาคตมีจิตประกอบไปด้วยเมตตา มีจิตคิดเกื้อกูล. เป็นธรรมดา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นเช่นนี้ (ทั้งนั้น) บัณฑิตพึงพรรณนาคุณของพระโพธิสัตว์ ด้วยอํานาจนัยตรงกันข้ามกับโทษที่กล่าวไว้ในทุกบทอย่างนี้.

[๓๕] บทว่า ถีนมิทฺธปริยุฏฺิตา แปลว่า อันถีนะ (ความท้อถอย, ท้อแท้) ซึ่งเป็นความพิการของจิตและมิทธะ (ความง่วงเหงา) ซึ่งเป็นความพิการของกองนามที่เหลือ (เวทนา สัญญา สังขาร) กลุ้มรุมแล้ว อธิบายว่า ครอบงํา คือยึดครอง. สมณพราหมณ์ที่ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้วมักจะหลับ.

[๓๖] บทว่า อุทฺธตา แปลว่า มีปกติฟุ้งซ่าน คือมีจิตดิ้นรน อธิบายว่า จิตย่อมดิ้นรนไปจากอารมณ์เดียวด้วยอุทธัจจะ เหมือนผ้า (ที่ทําธง) โบกสะบัดที่ (ปลาย) เสาธงเพราะลมฉะนั้น.

บทว่า อวูปสนฺตจิตฺตา แปลว่า มีจิตมีอารมณ์ไม่ดับ (ไม่สงบ) ในที่นี้จะระบุถึงกุกกุจจะ (ความรําคาญ) ก็ได้.

[๓๗] ในพระพุทธพจน์นี้ว่า กงฺขี วิจิกิจฺฉี เป็นบทเดียวกันแท้ทีเดียว (เพราะ) นิวรณ์ข้อที่ ๕ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 290

กังขา เพราะสงสัยอารมณ์ว่า อารมณ์นี้เป็นอย่างนี้หรือหนอ ตรัสเรียกว่าวิจิกิจฉา เพราะไม่สามารถจะตัดสินได้ว่า อารมณ์นี้เป็นอย่างนี้นะ.สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยกังขาและวิจิกิจฉานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กงฺขี วิจิกิจฺฉี (ผู้มีความสงสัย ไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้).

บทว่า อตฺตุกฺกํสกา ปรวมฺภี ความว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดยกตนเชิดตนขึ้น ได้แก่วางตัวสูง และข่ม คือดูถูก ได้แก่ติเตียนคนอื่น หมายความว่าวางคนอื่นไว้ต่ํา (กว่าตน) สองบทนั้น (อตฺตุกฺกํสกา ปรวมฺภี) เป็นคําเรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้น.

ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้ยกตนข่มคนอื่นนั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?

ตอบว่า การร้องเรียกหาภัยของสมณพราหมณ์ผู้ยกตนข่มคนอื่นนั้น บัณฑิตพึงให้พิสดารเหมือนกับในกายกรรมว่า สมณพราหมณ์ผู้ยกตนข่มคนอื่นเหล่านั้น ถูกคนอื่นติดตามจับด้วยข้อหาว่า ได้ทราบว่าท่านชื่อโน้นและชื่อโน้นยกตน ติเตียนพวกเราทําให้เป็นเหมือนทาส จงจับตัวไว้ให้ได้ ดังนี้ หลบหนีไปเข้าป่าแล้วนั่งแอบอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้.

[๓๙] บทว่า ฉมฺภี แปลว่า ประกอบด้วยความหวาดเสียว ซึ่งกระทําให้กายประสาทหวาดเสียวและขนตั้งชัน.

บทว่า ภีรุกชาติกา แปลว่า มากไปด้วยความกลัว อธิบายว่า ไม่ค่อยกล้าเหมือนกับเด็กชาวบ้านที่ขี้กลัวฉะนั้น.

[๔๐] ในบทว่า ลาภสกฺการสิโลโก นี้ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าลาภ เพราะหมายความว่า อันบุคคลย่อมได้ คําว่า ลาภนั้น เป็นชื่อเรียกปัจจัย ๔.

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 291

บทว่า สกฺกาโร แปลว่า สักการะที่ดี. อธิบายว่า ปัจจัยทั้งหลายที่เขาปรุงแต่งให้ประณีต ประณีตและดีเรียกว่า สักการะ ซึ่งได้แก่การที่คนอื่นเขาทําความเคารพตน หรือบูชาด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้เป็นต้น.

บทว่า สิโลโก แปลว่า การกล่าวสรรเสริญคุณ ลาภ ๑ สักการะ ๑ การกล่าวสรรเสริญ ๑ นั้น ชื่อว่าลาภสักการะ และสิโลกะ.

บทว่า นิกามยมานา แปลว่า ปรารถนาอยู่.

การเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวเป็นเหมือนกับที่กล่าวในตอนว่าด้วยอภิชฌาลุนั่นแล. ส่วนในที่นี้ พระโบราณาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวถึงเรื่องพระปิยคามิกะ ซึ่งเป็นตัวอย่างของเรื่องนั้นไว้ว่า:-

ปิยคามิกภิกษุ

ได้สดับมาว่า ภิกษุรูปหนึ่งชื่อปิยคามิกะ เห็นลาภของพวกภิกษุผู้สมาทานธุดงค์แล้วคิดว่า เราก็จะสมาทานธุดงค์ทําลาภให้เกิดขึ้นบ้าง ดังนี้แล้วสมาทานโสสานิกังคธุดงค์ (ธุดงค์ของภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร) แล้วอยู่ในป่าช้า.

อยู่มาวันหนึ่ง วัวแก่ตัวหนึ่งซึ่งเจ้าของไม่ใช้งานแล้ว (ปล่อยทิ้ง) กลางวันออกเที่ยวกิน ตกกลางคืน (เข้าไป) ในป่าช้านั้น ได้ยืนขนหยองซุกศีรษะไว้ที่พุ่มดอกไม้. พระปิยคามิกะออกจากที่จงกรมไปในตอนกลางคืน ได้ยินเสียงคางของวัวนั้นกระทบกันแล้วก็เข้าใจว่า ท้าวสักกเทวราชคงจะทราบเราว่า พระรูปนี้หวังลาภจึงมาอยู่ในป่าช้า ดังนี้แล้วมาเพื่อทําร้ายเราแน่ๆ. ท่านจึงได้ยืนประนมมือไหว้ข้างหน้าวัวแก่ อ้อนวอนอยู่ตลอดคืนยังรุ่งว่า ข้าแต่ท่านท้าวเทวราชผู้เป็นสัตบุรุษ ขอพระ-

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 292

องค์จงยกโทษให้อาตมาคืนนี้สักคืนหนึ่งเถอะ แล้วตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปอาตมาจักไม่ทําอย่างนี้อีก ต่อมาพอพระอาทิตย์อุทัย ท่านก็ได้เห็นเป็นวัวแก่ตัวนั้น (ไม่ใช่ท้าวสักกะ) จึงเอาไม้ตะพดหวดตะเพิดไล่เตลิดเปิดเปิงไปพร้อมทั้งคําไล่หลังว่า แกทําให้ข้ากลัวตลอดคืนยังรุ่งเลย.

สติกับปัญญา

[๔๑] บทว่า กุสีตา แปลว่า ตกอยู่ใต้อํานาจความเกียจคร้าน.

บทว่า หีนวีริยา ความว่า เสื่อม คือเว้น ได้แก่ปราศจากความเพียร อธิบายว่า ไม่มีความเพียร. ในบุคคล ๒ จําพวกนั้น คนที่เกียจคร้านย่อมเว้นจากการเริ่มความเพียรทางกาย คนที่ขาดความเพียรย่อมเว้นจากการเริ่มความเพียรทางจิต (สรุปแล้ว) คนทั้ง ๒ จําพวกนั้นย่อมไม่สามารถจะทําแม้เพียงการกําหนดอารมณ์ได้. คําทั้งหมดว่า เตสํ อววตฺถิตารมฺมณานํ (มีความหมาย) เหมือนกับความหมายที่กล่าวมาก่อนแล้ว.

[๔๒] บทว่า มุฏฺสฺสตี แปลว่า ปล่อยสติ.

บทว่า อสมฺปชานา แปลว่า ปราศจากปัญญา ก็เพราะพระพุทธดํารัสว่า ตถาคตเป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้ว ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับคํานี้ว่า มุฏฺสฺสตี พระดํารัสว่า อสมฺปชานา นี้ จึงเป็นบทขยายสติเท่านั้น.ส่วนปัญญาในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อแสดงถึงสติที่หย่อนกําลัง. เพราะว่าสติมี ๒ อย่าง คือสติที่ประกอบด้วยปัญญา ๑ สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๑. ในสติทั้ง ๒ นั้น สติประกอบด้วยปัญญาย่อมมีกําลัง สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาย่อมหย่อนกําลัง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อสมฺปชานา (ไม่มีปัญญา) เพื่อแสดงความหมาย

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 293

นี้ว่า แม้ในเวลาที่ภิกษุเหล่านั้นมีสติ ก็ยังชื่อว่ามีสติหลงลืมอยู่นั้นเองเพราะไม่มีปัญญา เนื่องจากว่าสติที่หย่อนกําลังจะทําหน้าที่ของสติไม่ได้.ภิกษุเหล่านั้นหลงลืมสติ ขาดสัมปชัญญะ (ปัญญา) ดังกล่าวมานี้ ย่อมไม่สามารถจะทําแม้เพียงการกําหนดอารมณ์ได้เลยแล. คํา (ที่เหลือ) ทั้งหมด (มีความหมาย) เหมือนกับความหมายที่กล่าวมาแล้ว.

จิตกับปัญญา

[๔๓] บทว่า อสมาหิตา แปลว่า เว้นจากอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.

บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺตา แปลว่า มีจิตพลัดออกนอกทาง คือจิตย่อมหมุนไปในอารมณ์ต่างๆ เพราะเว้นจากสมาธิ ได้แก่เพราะท่านเหล่านั้นขาดสมาธิเหตุที่อุทธัจจะได้โอกาส เปรียบเหมือนลิงในป่ากระโดดมาตามกิ่งไม้ในป่าฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่มั่นคงอยู่ในอารมณ์แม้อย่างเดียว คือมีจิตหมุนไปต่างๆ ตามนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นอย่างนี้เพราะอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านเป็นเหตุ) ย่อมไม่สามารถจะทําแม้เพียงการกําหนดอารมณ์ได้เลย.

คํา (ที่เหลือ) ทั้งหมด มี (ความหมาย) เหมือนกับความหมายที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น.

[๔๔] บทว่า ทุปฺปฺา นี้ เป็นคําสําหรับเรียกคนที่ไม่มีปัญญา.แต่ปัญญาที่ชื่อว่าทรามไม่มีแน่.

บทว่า เอลมูคา แปลว่า มีปากเต็มไปด้วยน้ำลาย ท่านแปลง ข อักษรให้เป็น ค อักษร (จึงสําเร็จรูปเป็น เอลมูคา) อธิบายว่า มีปาก

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 294

น้ำลายไหลยืด. เพราะว่าเมื่อคนมีปัญญาทรามพูด น้ำลายจะไหลออกมาจากปาก. และน้ำลายเรียกว่า เอละ. เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ปสฺเสลมูคํ อุรคํ ทฺวิชิวฺหํ เธอจงดูงูปากมีน้ำลายไหลยืด (กําลังแลบลิ้น) มีลิ้น ๒ แฉก. เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีปัญญาทรามเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า เอลมูคา. ปาฐะว่า เอลมุขา ดังนี้ก็มี. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เอลมุกา บ้าง. (แต่) อาจารย์อีกพวกหนึ่งกลับกล่าวว่า เอมุขา ดังนี้ก็ยังมี. (ถึงอย่างไร) ในทุกๆ บทก็มีความหมายว่า เอลมุขา ปากมีน้ำลายไหลยืด).

ถามว่า ภิกษุผู้มีปัญญาทรามเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?

ตอบว่า ภิกษุผู้มีปัญญาทรามมีน้ำลายไหลยืดเหล่านั้น จะไม่สามารถทําแม้เพียงการกําหนดอารมณ์ เมื่อเธอกําหนดอารมณ์ไม่ได้ อยู่ในป่า สิ่งที่เห็นในเวลากลางวัน พอเวลากลางคืนจะปรากฏเป็นภัยและอารมณ์ที่น่ากลัว. เธอมีจิตใจวอกแวกย่อมหวาดเสียวแม้ด้วยอารมณ์เพียงเล็กน้อย เห็นเชือกหรือเถาวัลย์แล้วย่อมสําคัญว่าเป็นงู เห็นตอไม้ย่อมสําคัญว่าเป็นยักษ์ เห็นที่ดอนหรือภูเขาย่อมสําคัญว่าเป็นช้าง (ย่อมหวาดกลัว) เป็นดังหนึ่งถูกสัตว์ร้ายมีงูเป็นต้นทําร้ายเอาฉะนั้น. ภิกษุผู้มีปัญญาทรามเหล่านั้นชื่อว่าเรียกร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นให้เข้ามาหาตนดังพรรณนามาฉะนี้.

ในคําว่า ปฺาสมฺปนฺโนหมสฺมิ นี้ มีอธิบายว่า ผู้ถึงพร้อม คือผู้ประกอบพร้อมด้วยปัญญา. แต่ไม่ใช่ด้วยวิปัสสนาปัญญา ไม่ใช่ด้วยมัคคปัญญา โดยที่แท้แล้วประกอบพร้อมด้วยปัญญาและเครื่องกําหนด

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 295

อารมณ์ในเพราะเหตุ ๑๖ ประการเหล่านี้. คําที่เหลือมีความหมายเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในทุกบทแล.

จบ การกําหนดอารมณ์ในเพราะเหตุ ๑๖ ประการ

[๔๕] บทว่า ตสฺส มยฺหํ มีอนุสนธิ (การสืบต่อลําดับความ) เป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์กําหนดอารมณ์ ๑๖ อย่างเหล่านี้อยู่ ครั้นมองไม่เห็นความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัว จึงได้ทําการค้นหาความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัว (นั้น) ดําริว่า ธรรมดาความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัว ย่อมจะปรากฏในเสนาสนะอย่างนี้ ในราตรีเช่นนี้ เอาเถอะเราจะค้นหาดูความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัวนั้น ในเสนาสนะอย่างนั้นในราตรีเช่นนั้น จึงได้แสวงหาภัยและอารมณ์ที่น่ากลัว. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้แก่พราหมณ์จึงได้ตรัสคําว่า ตสฺส มยฺหํ ดังนี้เป็นต้น.

ราตรี - กําหนดดิถีแห่งปักษ์

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยา ตา นั่น เป็นคํายกราตรีอย่างเดียวขึ้นแสดง. ศัพท์ว่า อภิ ในบทว่า อภิฺาตา นี้ เป็นอุปสรรค ใช้ลงในความหมายว่า ลักษณะ (การกําหนด) เพราะฉะนั้น ในบทว่า อภิฺาตา พึงทราบว่า ราตรีทั้งหลายท่านกําหนดด้วยลักษณะทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า พระจันทร์เพ็ญ พระจันทร์ดับ.

(ส่วน) ศัพท์ว่า อภิ ในบทว่า อภิลกฺขิตา เป็นเพียงอุปสรรค

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 296

เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายว่า อภิลกฺขิตา ก็คือ ลกฺขณียา (พึงกําหนด) นั้นเอง. ขยายความว่า ราตรีทั้งหลาย อันบัณฑิตพึงกําหนด อธิบายว่า พึงกําหนดด้วยดี คือพึงกําหนดให้มั่น เพื่อกระทํากิจมีการสมาทานอุโบสถ การฟังธรรม และการบูชาสักการะเป็นต้น.

ที่ชื่อว่า จาตุทฺทสี ได้แก่ ราตรีหนึ่งซึ่งทําให้ครบ ๑๔ วันจําเดิมแต่วันแรกแห่งปักษ์. ปัญจทสีและอัฏฐมีก็ (มีความหมาย) เป็นอย่างนั้น. บทว่า ปกฺขสฺส ได้แก่ แห่งสุกกปักษ์ และกัณหปักษ์.เพราะรวมราตรีเหล่านั้นเข้าด้วยกันปักษ์ละ ๓ ราตรี จึงเป็น ๖ ราตรีฉะนั้น จึงควรประกอบคําว่า "ปักษ์" เข้าไว้ในทุกบทว่า ปกฺขสฺส จาตุทฺทสี ดิถีที่ ๑๔ แห่งปักษ์ ปกฺขสฺส ปฺจทสี ดิถีที่ ๑๕ แห่งปักษ์ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี ดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์.

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงไม่จัดดิถีที่ ๕ เข้าไว้ด้วย?

ตอบว่า เพราะดิถีที่ ๕ มิได้มีตลอดกาล ทราบมาว่า ในตอนก่อนๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ดี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วยังไม่ปรินิพพานก็ดี ดิถีที่ ๕ ท่านมิได้กําหนดไว้เลย ต่อเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายจึงพากันคิดว่า การฟังธรรมจะมีได้ก็นานๆ ที. แต่นั้นจึงสมมติกําหนดดิถีที่ ๕ ให้เป็นวันธรรมสวนะ. นับแต่นั้นมาดิถีที่ ๕ นั้นจึงกลายเป็นวันที่ท่านกําหนดไว้แล้ว เพราะเหตุที่ดิถีที่ ๕ มิได้มีตลอดกาลอย่างนี้แล ท่านจึงไม่จัดรวมไว้ในที่นี้.

บทว่า ตถารูปาสุ ก็คือ ตถาวิธาสุ (อย่างนั้น).

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 297

เจดีย์

บทว่า อารามเจติยานิ ความว่า ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ทั้งหลาย เช่นสวนดอกไม้ สวนผลไม้ เป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า อารามเจดีย์ เพราะว่าสถานที่เหล่านั้นเรียกว่าเจดีย์ เพราะหมายความว่า เป็นที่ยําเกรง อธิบายว่า เพราะหมายความว่าเป็นสถานที่ที่บุคคลพึงบูชา.

บทว่า วนเจติยานิ ความว่า ป่าทั้งหลาย เช่น ราวป่าสําหรับนําเครื่องสังเวยไปสังเวย (เทวดา) ป่าสุภัควันและป่าที่ตั้งศาลของเทวดาเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า วนเจดีย์.

บทว่า รุกฺขเจติยานิ ความว่า ต้นไม้ที่ควรบูชาตามประตูเข้าหมู่บ้านและนิคมเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า รุกขเจดีย์.

เพราะชาวโลกสําคัญอยู่ว่า เทวดาสิงสถิตบ้าง มีความสําคัญในสถานที่เหล่านั้นนั่นแลว่าเป็นทิพย์บ้าง จึงพากันทําความเคารพคือบูชาสวนป่าและต้นไม้ทั้งหลาย ฉะนั้น สวนป่าและต้นไม้เหล่านั้น ทั้งหมดเขาจึงพากันเรียกว่า เจดีย์.

บทว่า ภิํสนกานิ แปลว่า ให้เกิดความกลัว คือ ยังความกลัวให้เกิดทั้งแก่ผู้เห็นอยู่ทั้งแก่ผู้ได้ยินอยู่.

บทว่า สโลมหํสานิ เป็นไปกับความชูชันแห่งขน เพราะเมื่อใครเข้าไปก็จะเกิดขนชูชัน.

บทว่า อปฺเปว นาม ปสฺเสยฺยํ ความว่า ทําไฉนหนอเราจะพึงได้ประสบภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นบ้าง.

บทว่า อปเรน สมเยน ความว่า โดยกาลอื่นจากกาลที่คิดไว้แล้วอย่างนี้ว่า (ตถาคตนั้น) ได้มีความคิดดังนี้ว่า ทําไฉนเรา

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 298

บทว่า ตตฺถ จ เม พฺราหฺมณ วิหรโต (ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อเราตถาคตอยู่ในสถานที่เหล่านั้น) ความว่า บรรดาเสนาสนะเหล่านั้น เสนาสนะแห่งใดๆ ซึ่งเป็นสถานที่สิงสถิตของยักษ์ ที่มนุษย์ทั้งหลายควรบนบาน และนําเครื่องสังเวยเข้าไปสังเวย มีพื้นธรณีเกลื่อนกล่นด้วยเครื่องบูชาและเครื่องสังเวยทั้งหลาย เช่น ดอกไม้ ธูป เนื้อ เลือด มันเหลว มันข้น ม้าม ปอด สุรา และเมรัยเป็นต้น เป็นเหมือนสถานที่ที่รวมชุมนุมกันของพวกยักษ์รากษสและปีศาจ ซึ่งเมื่อคนทั้งหลายมาเห็นเข้าในตอนกลางวัน ดูเหมือนหัวใจจะวายตาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาสถานที่นั้น จึงตรัสว่า ตตฺถ จ เม พฺราหฺมณ วิหรโต.

ความหมายของมิคะและโมระ

บทว่า มิโค วา อาคจฺฉติ ความว่า เนื้อซึ่งแยกประเภทเป็นกวาง แรด เสือเหลือง และหมูป่าเป็นต้น เดินประเขาหรือเตะกีบเท้ากันมา ก็คําว่า มิโค ในที่นี้เป็นชื่อสัตว์ ๔ เท้าทุกชนิด. แต่ในที่บางแห่ง มิคะ (เนื้อ) ท่านกล่าวว่า ได้แก่ สุนัขจิ้งจอกตาบอดบ้าง.เหมือนอย่างที่สัตว์กล่าว (เยินยอสุนัขจิ้งจอกตาบอด) ว่า

คอของท่านช่างสง่างามเหมือนคอของโคอุสภะ และเหมือนคอของราชสีห์ฉะนั้น ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน พวกเราจะได้อะไรบ้างไหม?

บทว่า โมโร วา กฏฺํ ปาเตติ ความว่า นกยูงทําไม้แห้งให้ตกจากต้นไม้ และด้วยศัพท์ว่า โมระ ในคํานี้ ท่านหมายเอานกทุก

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 299

จําพวก. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงแก้ว่า ได้แก่ โย โกจิ ปกฺขี นกตัวใดตัวหนึ่งก็ตาม. อีกอย่างหนึ่ง ด้วย วา ศัพท์ในคําว่า โมโร วา ท่านแก้ว่า ได้แก่ นกชนิดอื่นหรือลางตัว. แม้ใน มิคะ ศัพท์ ซึ่งเป็นศัพท์แรก (ก่อนศัพท์ว่า โมโร) ก็มีนัยนี้.

บทว่า วาโต วา ปณฺณกสฏํ เอเรติ ความว่า ลมพัดใบไม้กุมฝอย.

บทว่า เอตํ นูน ตํ ภยเภรวํ อาคจฺฉติ ความว่า สิ่งใดย่อมมา (ปรากฏ) สิ่งนั้นจัดเป็นภัยและอารมณ์อันน่ากลัวแน่นอน และตั้งแต่บัดนี้ไป อารมณ์นั้นแลพึงทราบว่า เป็นภัยและอารมณ์อันน่ากลัว.เพราะมีภัยทั้งเล็กน้อยและมีประมาณยิ่งเป็นอารมณ์ อารมณ์จึงชื่อว่า ภัยและสิ่งที่น่ากลัว เปรียบเหมือนรูปที่มีความสุขเป็นอารมณ์ ก็ชื่อว่าเป็นสุขด้วยฉะนั้น.

บทว่า กินฺนุโข อหํ อฺทฏฺุํ ภยปาฏิกงฺขี วิหรามิ ความว่าตถาคตแลหวังอยู่ คือปรารถนาอยู่ซึ่งเหตุอะไรว่าเป็นภัยโดยส่วนเดียวนั้นแลจึงอยู่.

บทว่า ยถาภูตสฺส ยถาภูตสฺส ความว่า เป็นอยู่ คือเป็นไปอยู่หรือพรั่งพร้อมด้วยอิริยาบถใดๆ.

บทว่า เม คือในสํานักของเราตถาคต.

บทว่า ตถาภูโต ตถาภูโต วา ความว่า เป็นอยู่ คือ เป็นไปอยู่ หรือพรั่งพร้อมด้วยอิริยาบถนั้นๆ นั่นแล.

บทว่า โส โข อหํ ฯเปฯ ปฏิวิเนมิ ความว่า ได้ยินว่า เมื่อพระโพธิสัตว์จงกรมอยู่ ครั้นเมื่ออารมณ์คือภัยและสิ่งที่น่ากลัวมี

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 300

ประเภทเช่นเขาเนื้อและเสียงกีบเท้าเป็นต้นมาปรากฏ องค์พระมหาสัตว์ก็ไม่ประทับยืน (นิ่งๆ) ไม่ประทับนั่ง ไม่เสด็จเข้าบรรทม. ตรงกันข้ามกลับเสด็จจงกรมต่อไป ใคร่ครวญไป พินิจพิเคราะห์ (จนกระทั่ง) มองไม่เห็นว่าเป็นภัยและสิ่งที่น่ากลัว มันเป็นเพียงเขาเนื้อและเสียงกีบเท้าเป็นต้นเท่านั้น. ครั้นทราบอารมณ์นั้นว่า มันชื่อนี้ ไม่ใช่เป็นภัยและสิ่งที่น่ากลัว ดังนี้แล้ว ต่อนั้นไป พระองค์จึงหยุดประทับยืน ประทับนั่งหรือเสด็จเข้าบรรทม.

เมื่อจะทรงแสดงความหมายอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคําว่า โส โข อหํ ดังนี้เป็นต้น. ในทุกๆ เปยยาลก็มีนัยนี้.

ความฉลาดในการออกจากสมาบัติ

และต่อจากนี้ไป พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอิริยาบถไว้ตามลําดับที่ใกล้ชิดกัน หาได้ตรัสไว้ตามลําดับอิริยาบถไม่. อธิบายว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ตามลําดับที่ใกล้ชิดกันแห่งอิริยาบถนั้นๆ อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเราตถาคตจงกรมอยู่ เมื่อภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏ เราตถาคตก็ไม่หยุดยืน ไม่นั่ง ไม่นอน แม้เมื่อเราตถาคตหยุดยืน เมื่อภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏ เราตถาคตก็ไม่เดินจงกรม.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความที่พระองค์ไม่มีภัยและอารมณ์ที่น่าสะพึงกลัวอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงการที่พระองค์ประทับอยู่อย่างไม่ลุ่มหลงในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลงของบุคคลผู้ได้ฌานทั้งหลาย จึงตรัสคําว่า สนฺติ โข ปน พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.

[๔๖] บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺติ เท่ากับ อตฺถิ มีอยู่

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 301

คือ สํวิชฺชนฺติ มีอยู่พร้อม ได้แก่ อุปลพฺภนฺติ ได้อย่างแน่นอน.

บทว่า รตฺติํเยว สมานํ แปลว่า เวลา ที่เป็นกลางคืน.

บทว่า ทิวาติ สฺชานนฺติ แปลว่า สําคัญอยู่ว่า เวลานี้เป็นเวลากลางวัน.

บทว่า ทิวาเยว สมานํ แปลว่า เวลาที่เป็นกลางวัน.

บทว่า รตฺตีติ สฺชานนฺติ แปลว่า สําคัญอยู่ว่า เวลานี้เป็นเวลากลางคืน.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร บุคลผู้ได้ฌานอย่างนี้จึงมีความสําคัญอย่างนี้?

ตอบว่า เพราะไม่มีความฉลาดในการออกจากฌาน หรือเพราะเสียงนกร้อง.

ถามว่า เป็นอย่างไร?

ตอบว่า บุคคลผู้ได้โอทาตกสิณ ลางคนในโลกนี้เกิดมนสิการขึ้นว่าเราทําบริกรรมในตอนกลางวัน เข้า (ฌาน) ในตอนกลางวันแล้วจะออกในตอนกลางวันนั้นแหละ. แต่ว่าท่านก็ไม่ฉลาดในการกําหนดเวลาออกไว้ ท่านจึงเข้าฌานล่วงเลยเวลากลางวันไปออกในตอนกลางคืน และด้วยอํานาจการแผ่ไปแห่งโอทาตกสิณ กสิณของท่านจึงผ่องใส แจ่มแจ้งชัดเจน ท่านก็สําคัญเวลาที่เป็นกลางคืนนั้นแหละว่า เป็นกลางวัน เพราะเหตุที่เกิดมนสิการว่า จะออกในตอนกลางวัน และเพราะการแผ่ไปแห่งโอทาตกสิณผ่องใส แจ่มแจ้ง. แต่บุคคลผู้ได้นีลกสิณลางคนในโลกนี้เกิดมนสิการว่า เราทําบริกรรมในตอนกลางคืน เข้าในตอนกลางคืนแล้วจะออกในตอนกลางคืนนั้นแหละ แต่ว่าท่านไม่ฉลาดในการกําหนดเวลา

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 302

(ออก) ท่านจึง (เข้าฌาน) ล่วงเลยเวลากลางคืนไปออกในตอนกลางวัน และด้วยอํานาจการแผ่ไปแห่งนีลกสิณ กสิณของท่านจึงไม่ผ่องใสไม่แจ่มแจ้ง ท่านก็สําคัญเวลาที่เป็นกลางวันนั้นแหละว่า กลางคืนเพราะเหตุที่เกิดมนสิการว่า จะออกในตอนกลางคืน และเพราะการแผ่ไปแห่งนีลกสิณไม่ผ่องใส ไม่แจ่มแจ้ง. เพราะไม่มีความฉลาดในการออก (จากฌาน) อย่างนี้ก่อน บุคคลผู้ได้ฌานจึงมีความสําคัญดังพรรณนามาฉะนี้.

ส่วนที่ว่าเพราะเสียงนกร้อง (เป็นอย่างนี้) คือ บุคคลผู้ได้ฌานลางคนในโลกนี้นั่งอยู่ภายในเสนาสนะ ทีนั้น สัตว์ป่าทั้งหลายมีนกและกาเป็นต้นที่มักร้องในตอนกลางวัน สําคัญอยู่ว่า เป็นเวลากลางวัน เพราะแสงจันทร์จึงส่งเสียงร้องในตอนกลางคืน หรือส่งเสียงร้องเพราะเหตุอื่นๆ ท่านได้ยินเสียงของสัตว์ป่าเหล่านั้นแล้ว สําคัญเวลาที่เป็นกลางคืนนั้นแหละว่าเป็นเวลากลางวัน. แต่ว่าบุคคลผู้ได้ฌานลางคนในโลกนี้นั่งอยู่ในถ้ำภูเขาที่ปกปิดด้วยป่าทึบซึ่งอยู่ลึกในซอกเขา ในเวลาที่มีแสงสว่างหายไปคราวฝนตกพรําตลอด ๗ วัน ทีนั้น สัตว์ป่าทั้งหลายมีนกที่ร้องในตอนกลางคืนและนกฮูกเป็นต้นจับเจ่าอยู่ในที่มืดนั้นๆ แม้ในเวลาเที่ยงวันแล้ว ส่งเสียงร้องด้วยสําคัญ (ผิด) ว่าเป็นเวลากลางคืนหรือด้วยเหตุเหล่าอื่น. บุคคลผู้ได้ฌานนั้นได้ยินเสียงของสัตว์ป่าทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมสําคัญเวลาที่เป็นกลางวันอยู่แท้ๆ ว่าเป็นเวลากลางคืน. เพราะเสียงนกร้องดังพรรณนามาอย่างนี้ บุคคลผู้ได้ฌานจึงมีความสําคัญอย่างนี้แล.

ปเทสญาณ (ญาณเครื่องกําหนดเวลา)

บทว่า อิทมหํ ความว่า เราตถาคตย่อมกล่าวสิ่งนี้ คือการกําหนด

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 303

หมายอย่างนี้.

บทว่า สมฺโมหวิหารสฺมิํ วทามิ มีอธิบายว่า เราตถาคตย่อมกล่าว (การกําหนดหมาย) ว่า เป็นการอยู่ที่นับเนื่อง คือจัดอยู่ภายในการอยู่อย่างงมงาย ได้แก่กล่าวว่าเป็นการอยู่อย่างงมงายอย่างใดอย่างหนึ่ง.

บทว่า อหํ โข ปน พฺราหฺมณ ฯลฯ สฺชานามิ ความว่าการกําหนดเวลากลางคืนกลางวันของพระโพธิสัตว์ปรากฏแล้ว แม้ในเวลาที่ฝนตกพรําตลอด ๗ วัน ถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์จะไม่ส่องแสง พระโพธิสัตว์ก็ย่อมรู้ได้เองทีเดียวว่า ระยะเวลาเท่านี้ถึงเวลาอาหารเช้า ระยะเวลาเท่านี้ถึงเวลาหลังอาหาร ระยะเวลาเท่านี้ถึงปฐมยาม ระยะเวลาเท่านี้ถึงมัชฌิมยาม เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้แล้วอย่างนั้น และก็ไม่น่าอัศจรรย์เลยที่พระโพธิสัตว์ผู้มีบารมีได้บําเพ็ญมาแล้วจะรู้อย่างนี้.

แม้เหล่าพระอริยสาวกที่ดํารงอยู่ในปเทสญาณก็ปรากฏว่ากําหนดเวลากลางคืนและกลางวันได้. มีเรื่องเล่าว่า พระโคทัตตเถระในกัลยาณิมหาวิหารรับภัตรในเวลา ๒ องคุลี แล้วฉันในเวลา ๒ องคุลี (นั้นเอง) เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ปรากฏดวง ก็เข้าเสนาสนะแต่เช้าๆ ออกมาในเวลา (เดียวกัน) นั้น. วันหนึ่งพวกคนวัดคิดกันว่า พวกเราจะพบท่านได้ในเวลาที่ท่านออกมาตอนพรุ่งนี้ จึงจัดแจงภัตรแล้วนั่ง (คอย) อยู่ที่ใกล้หลักบอกเวลา (หลักวัดเงาแดด). พระเถระออกนาในเวลา ๒ องคุลีเหมือนเดิม. ทราบมาว่า ตั้งแต่นั้นมาแม้พระอาทิตย์จะยังไม่ปรากฏดวงพวกคนวัดก็จะตีกลองด้วยสัญญาณที่พระเถระออกมา.

แม้ในธชาครวิหาร พระกาลิเทวเถระเคาะระฆังบอกยามภายใน

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 304

พรรษา การเคาะระฆังบอกยามนั้นเป็นกิจวัตรประจําวันของพระเถระ แต่ว่าพระเถระไม่ยอมใช้นาฬิกาเครื่องจักร. ส่วนภิกษุพวกอื่นใช้. ครั้นต่อมาเมื่อปฐมยามล่วงเลยไป พอพระเถระถือไม้เคาะ (ระฆัง) ยืนอยู่หรือเคาะได้ครั้ง ๒ ครั้งเท่านั้น นาฬิกาเครื่องจักรก็ดี. เมื่อเป็นอย่างนี้พระเถระจึงบําเพ็ญสมณธรรมในยามทั้ง ๓ แล้วเข้าไปบ้านแต่เช้าตรู่ รับบิณฑบาตกลับมาวัด ในเวลาจะฉันก็ถือบาตรไปยังที่พักกลางวัน บําเพ็ญสมณธรรม. ภิกษุทั้งหลายเห็นหลักบอกเวลาแล้วได้ส่งภิกษุไปเพื่อต้องการ (ในการกราบเรียน) ให้พระเถระมา. ภิกษุ (รูปที่ไป) นั้น ได้พบพระเถระ (ขณะ) กําลังออกมาจากที่พักกลางวันบ้าง ในระหว่างทางบ้าง. แม้เหล่าพระสาวกที่ดํารงอยู่ในปเทสญาณย่อมกําหนดเวลาว่า เป็นกลางคืนและกลางวันได้อย่างนี้. ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงบรรดาพระโพธิสัตว์.

ตถาคตอุบัติมาเพื่อประโยชน์สุข

ก็ในคําว่า ยํ โข ตํ ฯเปฯ วเทยฺย นี้ นักศึกษาพึงทราบบทสัมพันธ์ (การเชื่อมบท) อย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ใครๆ เมื่อจะกล่าวถ้อยคําใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่งมงายเป็นธรรมดา อุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงจะชื่อว่ากล่าวโดยชอบคือ เป็นผู้กล่าวอย่างถูกต้อง กล่าวไม่คลาดเคลื่อน เขาเมื่อกล่าวคํานั้นต่อเราตถาคตเท่านั้น จึงจะชื่อว่ากล่าวโดยชอบ คือเป็นผู้กล่าวอย่างถูกต้องกล่าวไม่คลาดเคลื่อน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสมฺโมหธมฺโม แปลว่า มีความไม่

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 305

งมหงายเป็นสภาพ.

บทว่า โลเก ได้แก่ในมนุษยโลก.

บทว่า พหุชนหิตาย แปลว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนจํานวนมาก อธิบายว่า (สัตว์นั้น) เป็นผู้ชี้แนะประโยชน์เกื้อกูลทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพด้วยความถึงพร้อมแห่งปัญญา.

บทว่า พหุชนสุขาย แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจํานวนมาก อธิบายว่า (สัตว์นั้น) เป็นผู้ให้สมบัติอันเป็นอุปกรณ์แห่งความสุขด้วยความถึงพร้อมแห่งจาคะ (การเสียสละ).

บทว่า โลกานุกมฺปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์อนุเคราะห์โลก อธิบายว่า (สัตว์นั้น) เป็นผู้รักษา เป็นผู้คุ้มครองโลกเหมือนบิดามารดา (คุ้มครองบุตร) ด้วยความถึงพร้อมแห่งเมตตากรุณา.

และด้วยศัพท์ว่า "เทวมนุสฺส" ในคําว่า อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ นี้ นักศึกษาพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเฉพาะเหล่าเวไนยสัตว์ผู้เป็นภัพพบุคคล (บุคคลที่ควรจะตรัสรู้) แล้วแสดงการอุบัติของพระองค์ ก็เพื่อต้องการให้เวไนยสัตว์เหล่านั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพาน. เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อตฺถาย (เพื่อประโยชน์) ย่อมหมายถึงว่า เพื่อประโยชน์แก่ปรมัตถ์ คือเพื่อนิพพาน.เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า หิตาย (เพื่อประโยชน์เกื้อกูล) ย่อมหมายถึงว่า เพื่อประโยชน์แก่มรรคเครื่องให้บรรลุนิพพานนั้น. เนื่องจากว่า ขึ้นชื่อว่าประโยชน์เกื้อกูลที่ยิ่งไปกว่ามรรคเครื่องให้บรรลุนิพพานไม่มีเลย. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุขาย (เพื่อความสุข) ย่อมหมายถึงว่า เพื่อประโยชน์แก่ความสุขที่เกิดจากผลสมาบัติ. เพราะว่าไม่มี

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 306

ความสุข (อื่น) ที่ยิ่งไปกว่าความสุขที่เกิดจากผลสมาบัตินั้น. สมด้วยคําที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า สมาธินี้อํานวยความสุขที่เป็นปัจจุบันให้และยังมีความสุขเป็นวิบากต่อไป.

ปฏิปทาเครื่องบรรลุอสัมโมหวิหาร

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงการอยู่อย่างไม่งมงาย (อสมฺโมหวิหารํ) ของพระองค์ ซึ่งมีการได้บรรลุคุณแห่งพุทธะเป็นที่สุดดังพรรณนามาฉะนั้นแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทาเป็นเหตุให้บรรลุการอยู่อย่างไม่งมงายอันถึงที่สุดแล้วนั้นตั้งแต่เวลาเริ่มต้น จึงตรัสคําว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.

ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พราหมณ์ได้สดับการอยู่อย่างไม่งมงายนี้แล้ว ได้เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมบรรลุการอยู่อย่างไม่งมงายนี้ ด้วยปฏิปทาอะไรหนอแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์นั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า ตถาคตได้บรรลุการอยู่อย่างไม่งมงาย อันสูงสุดนี้ด้วยปฏิปทานี้ จึงตรัสไว้อย่างนี้.

[๔๗] บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ วิริยํ อโหสิ มีอธิบายว่า ดูก่อนพราหมณ์ การอยู่อย่างไม่งมงายอันสูงสุดนี้ ไม่ใช่ว่าตถาคตจะเกียจคร้าน หลงลืมสติ มีกายกระสับกระส่ายหรือมีจิตฟุ้งซ่านได้บรรลุมา แท้จริงแล้วเราตถาคตได้ปรารภความเพียรเพื่อบรรลุการอยู่อย่างไม่งมงายนั้น คือเราตถาคตนั่งอยู่ที่ควงไม้โพธิ์ ได้ปรารภประคับประคองความเพียรมีองค์ ๔ ให้เป็นไปไม่ย่อหย่อน. ก็เพราะปรารภแล้วนั่นแล ความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ นั่น ของเราตถาคตจึงไม่ย่อหย่อน.

บทว่า อุปฏฺิตา สติ อปฺปมุฏฺา ความว่า และไม่ใช่แต่ความ

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 307

เพียรอย่างเดียวเท่านั้น ถึงสติของเราตถาคตก็ตั้งมั่นโดยภาวะที่มุ่งหน้าไปจับอารมณ์ และเพราะตั้งมั่นแล้วนั่นแหละ มันจึงไม่หลงลืม.

บทว่า ปสฺสทฺโธ กาโย อสารทฺโธ ความว่า เพราะมีกายและจิตสงบ แม้กายของเราตถาคตก็สงบด้วย. ในบทนั้นอธิบายว่า เพราะเหตุที่เมื่อนามกายสงบ แม้รูปกายก็ย่อมสงบด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส (รวมๆ) ว่า กายสงบ โดยมิได้ตรัสแยกว่า นามกาย รูปกาย.

บทว่า อสารทฺโธ ความว่า ก็เพราะสงบแล้วนั่นแล กายนั้นจึงชื่อว่าไม่กระสับกระส่าย อธิบายว่า ปราศจากความกระวนกระวาย.

บทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ เอกคฺคํ ความว่า แม้จิตอันเราตถาคตตั้งใจไว้โดยชอบแล้ว คือเป็นเหมือน (จับ) วางไว้ด้วยดี และเพราะตั้งไว้โดยชอบแล้วนั่นแล จึงมีชื่อว่ามีอารมณ์เดียวเป็นเลิศ ไม่หวั่นไหวไม่ดิ้นรน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งฌานไว้ด้วยคํามีประมาณเท่านี้.

ประโยชน์ของฌาน ๔

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงคุณวิเศษเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมฌานจนกระทั่งถึงวิชชา ๓ เป็นที่สุดที่พระองค์ทรงบรรลุแล้วด้วยปฏิปทานี้ จึงตรัสคําว่า โส โข อหํ ดังนี้เป็นต้น. ในพระดํารัสนั้น คําใดที่จะต้องกล่าวในตอนนี้ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ฯเปฯ จตุตฺถํ ณานํ อุปสมฺปชฺช วิหาสิํ คํานั้นทั้งหมดได้กล่าวไว้แล้วในตอนว่าด้วยปฐวีกสิณในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. ความจริงมีแปลกกันแห่งเดียวเท่านั้น ดังนี้

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 308

(คือ) ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นบทกิริยามาว่า อุปสมฺปชฺช วิหรติ (แต่) ในที่นี้มาว่า วิหาสิํ.

ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทําอย่างไรจึงเข้าฌานเหล่านั้นอยู่ได้.

ตอบว่า ทรงเจริญกรรมฐาน.

ถามว่า กรรมฐานข้อไหน?

ตอบว่า อานาปานสติกรรมฐาน.

ก็แล ฌาน ๔ เหล่านี้ สําหรับบางท่านมีความเป็นหนึ่งแห่งจิตเป็นผล สําหรับบางท่านเป็นบาท (พื้นฐาน) แห่งการเจริญวิปัสสนา สําหรับบางท่านเป็นบาทแห่งการได้อภิญญา สําหรับบางท่านเป็นบาทแห่งการเข้านิโรธ (พระนิพพาน) สําหรับบางท่านมีการก้าวลงสู่ภพเป็นผล.

บรรดาบุคคลเหล่านั้น สําหรับพระขีณาสพ ฌาน ๔ มีความเป็นหนึ่งแห่งจิตเป็นผล ด้วยว่า พระขีณาสพเหล่านั้น ทําบริกรรมกสิณอย่างนี้ว่า เราจักเข้าฌานมีจิตมีความเป็นหนึ่งอยู่เป็นสุขตลอดวัน ดังนี้แล้วทําสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด.

สําหรับพระเสขะและปุถุชนคิดว่า เราออกจากสมาบัติแล้วมีจิตเป็นสมาธิจักเห็นแจ้ง ดังนี้แล้วทําวิปัสสนาให้บังเกิด (อย่างนี้) ฌานย่อมชื่อว่าเป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา.

ส่วนฌานลาภีบุคคลเหล่าใดทําสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้แล้ว เข้าฌานที่เป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากสมาบัติแล้วปรารถนาอภิญญาซึ่งมีนัยดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า แม้เป็นคนคนเดียวก็ทําให้เป็น

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 309

หลายคนได้ ดังนี้แล้วทําอภิญญาให้บังเกิด สําหรับฌานลาภีบุคคลเหล่านั้นฌานย่อมเป็นบาทแห่งอญิญญา.

ส่วนพระอริยบุคคลเหล่าใดทําสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้แล้ว เข้านิโรธสมาบัติได้คิดว่า เราจักบรรลุนิโรธ คือนิพพานในปัจจุบันอยู่เป็นสุขโดยไม่มีจิตสังขารตลอด ๗ วัน ดังนี้แล้วทําสมาบัติให้บังเกิด ฌานของพระอริยบุคคลเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเป็นบาทแห่งการเข้านิโรธ.

ส่วนฌานลาภีบุคคลเหล่าใดทําสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้แล้วคิดว่า เราจักเป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมเกิดในพรหมโลก ดังนี้ ทําสมาบัติให้บังเกิด (อย่างนี้) ฌานของบุคคลเหล่านั้นย่อมมีการก้าวลงสู่ภพเป็นผล.

ก็จตุตถฌานนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทําให้บังเกิดแล้วที่ควงโพธิ์พฤกษ์ จตุตถฌานนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้เป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา เป็นบาทแห่งการได้อภิญญาและให้สําเร็จกิจทุกอย่าง จึงพึงทราบว่า อํานวยคุณที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระให้ได้ทุกอย่าง. และจตุตถฌานนั้นได้อํานวยคุณเหล่าใดให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะแสดงเพียงบางส่วน (เอกเทศ) แห่งคุณเหล่านั้น จึงตรัสคําว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ดังนี้เป็นต้น.

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

วิชชา ๒ ในพระสูตรนั้น (คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณและจุตูปปาตญาณ) มีการพรรณนาไปตามลําดับบทและวิธีเจริญได้กล่าวไว้แล้วอย่างพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. แท้จริงในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกับในที่นี้มีความแปลกกันแห่งเดียวเท่านั้นดังนี้ คือในวิสุทธิมรรคนั้นท่านกล่าวบท

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 310

กิริยาไว้ว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ฯเปฯ อภินินฺนาเมติ (แต่) ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบทกิริยาไว้ว่า อภินินฺนาเมสิํ. และวาระว่าด้วยอัปปนาอย่างนี้ว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ก็มิได้มาในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส คือ โส อหํ เราตถาคตนั้น.

บทว่า อภินินฺนาเมสิํ แปลว่า นําไปเฉพาะ. เพราะพระดํารัสว่า อภินินฺนาเมสิํ ในคําว่า โส นี้ จึงพึงทราบความหมายอย่างนี้ว่า โส อหํ เราตถาคตนั้น.

ก็เพราะเหตุที่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้มาแล้วด้วยอํานาจของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น จึงพึงทราบการประกอบความอย่างนี้ในคํานี้ว่า เราตถาคตนั้นจุติจากภพนั้นแล้วมาอุบัติในภพนี้. ในคํานี้พึงทราบ (อธิบายเพิ่มเติมอีก) ว่า คําว่า เราตถาคตนั้นจุติจากภพนั้นแล้ว เป็นการพิจารณาของพระโพธิสัตว์ผู้พิจารณาย้อนกลับ เพราะฉะนั้น พึงทราบความว่า ในคําว่า อิธูปปนฺโน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาภพดุสิตว่า เราตถาคตอุบัติในภพดุสิตโน้นก่อนจะมาอุบัติในภพนี้.

บทว่า ตตฺราปาสิํ เอวํนาโม ความว่า ในภพดุสิตแม้นั้น เราตถาคตได้เป็นเทพบุตรนามว่า เสตเกตุ.

บทว่า เอวํ โคตฺโต คือมีโคตรเดียวกับเทวดาเหล่านั้น.

บทว่า เอวํวณฺโณ คือมีผิวพรรณผุดผ่องดังทองคํา.

บทว่า เอวมาหาโร คือมีทิพพสุธาหาร.

บทว่า เอวํ สุขทุกฺขปฏิสํเวที ความว่า เป็นผู้มีปกติเสวยทิพยสุขอย่างนี้ ส่วนทุกข์มีเพียงทุกข์ประจําสังขารเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 311

บทว่า เอวมายุปริยนฺโต ความว่า มีอายุ ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี.

บทว่า โส ตโต จุโต ความว่า ตถาคตนั้นจุติจากภพนั้น คือภพดุสิต.

บทว่า อิธูปปนฺโน ความว่า บังเกิดในภพนี้ คือในพระครรภ์พระนางสิริมหามายาเทวี.

บทว่า เม ในคําว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ เป็นต้น คือ มยา.

บทว่า วิชฺชา ความว่า ที่ชื่อว่า วิชฺชา เพราะหมายความว่ากระทําให้รู้แจ้ง.

ถามว่า วิชชาทําให้รู้แจ้งซึ่งอะไร?

ตอบว่า ซึ่งขันธ์ (ภพ) ที่เคยอยู่อาศัยในชาติก่อน.

บทว่า อวิชฺชา ความว่า เพราะหมายความว่าไม่ทําให้รู้แจ้งซึ่งขันธ์ที่อาศัยอยู่ในชาติก่อน อวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า โมหะ (ความหลง) ซึ่งปกปิดขันธ์ที่อาศัยอยู่ในชาติก่อนนั้น.

บทว่า ตโม ความว่า โมหะนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตมะ (ความมืด) เพราะหมายความว่าปกปิด.

บทว่า อาโลโก ความว่า วิชชานั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อาโลกะ (แสงสว่าง) เพราะหมายความว่าทําแสงสว่างให้.

ก็ในพระดํารัสที่ตรัสมานี้ย่อมมีความหมายดังนี้ว่า วิชฺชา อธิคตา แปลว่า วิชชาตถาคตได้บรรลุแล้ว. คําที่เหลือเป็นคํากล่าวสรรเสริญ.อนึ่ง ในพระดํารัสตอนนี้มีการประกอบความดังนี้ว่า วิชชานี้แลเราตถาคตได้บรรลุแล้ว เมื่อเราตถาคตนั้นได้บรรลุวิชชาแล้ว อวิชชาจึงถูกขจัดอธิบายว่า พินาศไป.

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 312

ถามว่า เพราะเหตุไร อวิชชาจึงพินาศไป?

ตอบว่า เพราะวิชชาเกิดขึ้น.

แม้ในสองบทนอกนี้ก็นัยนี้.

บทว่า ยถา ในคําว่า ยถาตํ ใช้ในความหมายว่า อุปมา (เปรียบเทียบ).

บทว่า ตํ เป็นนิบาต. บุคคลชื่อว่าไม่ประมาท เพราะความไม่อยู่ปราศจากสติ ชื่อว่ามีความเพียรเครื่องเผากิเลสด้วยธรรมเครื่องทํากิเลสให้เร่าร้อนทั่วคือวิริยะ ชื่อว่า มีตน (จิต) อันส่งไปแล้ว เพราะไม่มีความห่วงใยในร่างกายและชีวิต.

บทว่า ปหิตตฺตสฺส ความว่า มีตนอันส่งไปแล้ว. มีอธิบาย (เพิ่มเติม) ดังนี้ว่า เมื่อโยคาวจรบุคคลไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ อวิชชาพึงถูกกําจัด วิชชาพึงเกิดขึ้น ความมืดพึงถูกกําจัด แสงสว่างพึงเกิดขึ้นฉันใด สําหรับเราตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน อวิชชาถูกขจัดแล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น ความมืดถูกขจัดแล้ว แสงสว่างก็เกิดขึ้น เราตถาคตได้ผลที่สมควรกับการบําเพ็ญเพียรนั้น.

กถาว่าด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จบ

กถาว่าด้วยจุตูปปาตญาณ

[๔๙] ในกถาว่าด้วยจุตูปปาตญาณพึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ ก็เพราะเหตุที่ในที่นี้ บาลีมาแล้วด้วยอํานาจพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปสฺสามิ ปชานามิ (เราตถาคตเห็นอยู่

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 313

รู้อยู่). ความแปลกกันมีอยู่เท่านี้. คําที่เหลือเหมือนกับที่ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเลยทีเดียว.

ก็ในกถานี้ บทว่า วิชฺชา ได้แก่วิชชา คือทิพยจักษุญาณ.

บทว่า อวิชฺชา ได้แก่อวิชชาที่ปกปิดจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย. คําที่เหลือเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วทีเดียว.

ก็เพราะเหตุที่พระมหาสัตว์ทั้งหลายได้บําเพ็ญบารมีมาแล้ว จึงไม่มีความจําเป็นต้องทําบริกรรม เพราะว่าท่านเหล่านั้นพอน้อมจิตไปเท่านั้นก็จะระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในกาลก่อนได้มากมาย จะเห็นสัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุ ฉะนั้น วิธีเจริญวิชชาเหล่านั้นเริ่มต้นตั้งแต่ทําบริกรรมที่กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น จึงไม่จําเป็นต้องนํามาแสดงไว้ในที่นี้.

กถาว่าด้วยอาสวักขยญาณ

[๕๐] ในวิชชาที่ ๓ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :

ในคําว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต เราตถาคตนั้น เมื่อจิตตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว จิตที่ตั้งมั่นพึงทราบว่า คือจตุตถฌานอันเป็นพื้นฐานสําหรับเจริญวิปัสสนา.

บทว่า อาสวานํ ขยาณาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่อรหัตตมรรคญาณ. แท้จริงอรหัตตมรรคเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะทําอาสวะให้พินาศ และญาณนี้ย่อมมีในอรหัตตมรรคนั้นเพราะนับเนื่องในอรหัตตมรรคนั้น

สองบทว่า จิตฺตํ อภินินฺนาเมสิํ คือน้อมจิตที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาไป.

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 314

ในคํามีอาทิอย่างนี้ว่า โส อิทํ ทุกฺขํ นักศึกษาพึงทราบความหมายอย่างนี้ว่า เราตถาคตได้ทราบคือรู้ ได้แก่แทงตลอดซึ่งทุกขสัจแม้ทั้งหมดว่า ทุกข์มีจํานวนเท่านี้ ไม่มียิ่งไปกว่านี้ ตามความเป็นจริงด้วยการแทงตลอดลักษณะที่แท้จริง ได้ทราบ คือได้รู้ ได้แก่แทงตลอดซึ่งตัณหาที่ยังทุกข์นั้นให้เกิดว่า นี้เป็นทุกขสมุทัย ได้ทราบ คือได้รู้ได้แก่แทงตลอดซึ่งที่ที่ทุกข์และสมุทัยทั้ง ๒ มาถึงแล้วดับไป ได้แก่นิพพานอันเป็นแดนที่ทุกข์และสมุทัยทั้ง ๒ นั้นไม่เป็นไป ว่านี้เป็นทุกขนิโรธ ได้ทราบ คือได้รู้ ได้แก่แทงตลอดซึ่งอริยมรรคที่ให้บรรลุนิพพานนั้น ว่านี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ตามความเป็นจริงว่าด้วยการแทงตลอดลักษณะที่แท้จริง.

มรรค - ผล - ปัจจเวกขณญาณ

ครั้นทรงแสดงสัจจะทั้งหลายโดยสรูปอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงสัจจะทั้งหลาย โดยอ้อมด้วยอํานาจกิเลส พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคําว่า อิเม อาสวา ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า ตสฺส เม เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต แปลว่า เมื่อเราตถาคตนั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้. (ด้วยคํานี้) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงมรรคที่ถึงที่สุดพร้อมทั้งวิปัสสนา.

บทว่า กามาสวา แปลว่า จากกามาสวะ. ด้วยบทว่า หลุดพ้นแล้ว นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขณะแห่งผล. เพราะว่าจิตกําลังหลุดพ้นใน

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 315

ขณะแห่งมรรค. จัดว่าหลุดพ้นแล้วในขณะแห่งผล. ด้วยคําว่า เมื่อหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้วนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปัจจเวกขณญาณ. ด้วยคําว่า ชาติสิ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงภูมิของปัจจเวกขณญาณนั้น. เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอยู่ด้วยญาณนั้น จึงทรงทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น.

ถามว่า ก็ชาติไหนของพระผู้มีพระภาคเจ้าสิ้นแล้ว และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบชาตินั้นได้อย่างไร?

ตอบว่า ไม่ใช่ชาติอดีตของพระองค์สิ้นไป เพราะชาติอดีตนั้นสิ้นไปแล้วก่อนทีเดียว ไม่ใช่ชาติอนาคตของพระองค์สิ้นไป เพราะพระองค์ไม่มีความพยายามในอนาคต ไม่ใช่ชาติปัจจุบันสิ้นไป เพราะชาติปัจจุบันยังมีอยู่. แต่ว่าชาติ (ความเกิด) ใด ซึ่งแยกประเภทเป็น (ความเกิดของ) ขันธ์ ๑ ในเอกโวการภพ ขันธ์ ๔ ในจตุโวการภพและขันธ์ ๕ ในปัญจโวการภพจะพึงเกิดขึ้นได้ เพราะยังมิได้ทํา (อริยะ) มรรคให้เกิด ชาตินั้น (แหละ) จัดว่าสิ้นไปแล้ว เพราะถึงความเป็นสภาวะที่มีการไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เหตุที่ได้ทํา (อริยะ) มรรคให้เกิดมีแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบชาตินั้นโดยทรงพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วด้วยมรรคภาวนา (การทํามรรคให้เกิดมี) แล้วทรงทราบอยู่ว่าเมื่อกิเลสไม่มี การกระทําแม้จะยังมีอยู่ก็จะไม่ก่อให้เกิดปฏิสนธิอีกต่อไปดังนี้แล.

บทว่า วุสิตํ แปลว่า อยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว อธิบายว่า การทําแล้ว คือประพฤติแล้ว ได้แก่สําเร็จแล้ว.

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 316

บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่มรรคพรหมจรรย์. พระเสขะ ๗ จําพวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชน ชื่อว่ากําลังอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ พระขีณาสพเป็นผู้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอยู่ถึงการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของพระองค์ จึงทรงทราบว่า พรหมจรรย์เราตถาคตอยู่จบแล้ว.

บทว่า กตํ กรณียํ ความว่า กิจทั้ง ๑๖ อย่าง คือปริญญาการกําหนดรู้. ปหานะ การละ, สัจฉิกิริยา การทําให้แจ้ง, และภาวนาการทําให้เกิดมี ด้วยมรรค ๔ ในสัจจะ ๔ อันเราตถาคตให้สําเร็จลงแล้ว. เพราะว่า พระเสขะ ๗ จําพวกรวมทั้งกัลยาณปุถุชนกําลังทํากิจนั้นอยู่ (ส่วน) พระขีณาสพมีกิจที่ควรทำนั้น ทําเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอยู่ถึงกิจที่ควรทําของพระองค์จึงทรงทราบว่า กิจที่ควรทําเราตถาคตได้ทําเสร็จแล้ว.

บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า บัดนี้ กิจด้วยการทํามรรคให้เกิดมีเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือเพื่อเกิดกิจ ๑๖ อย่าง หรือเพื่อความสิ้นกิเลสอย่างนี้อีกของตถาคตไม่มี.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อิตฺถตฺตาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าขันธสันดาน (ความสืบต่อแห่งขันธ์) อย่างอื่นจากความเป็นอย่างนี้ คือจากประการอย่างนี้ ได้แก่จากความสืบต่อแห่งขันธ์ที่เป็นไปอยู่ในบัดนี้ของเราตถาคตไม่มี แต่ขันธ์ ๕ เหล่านั้นอันเราตถาคตกําหนดรู้อย่างรอบคอบแล้ว ตั้งอยู่เหมือนต้นไม้รากขาดฉะนั้น เพราะวิญญาณดวงสุดท้ายดับไป ขันธ์ ๕ เหล่านั้นก็จักดับเหมือนไฟที่หมดเชื่อฉะนั้น.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการบรรลุญาณเป็นที่สิ้น

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 317

ไปแห่งอาสวะทั้งหลายนั้น ซึ่งพระองค์ทรงกําหนดแล้วด้วยปัจจเวกขณญาณอย่างนี้ แก่พราหมณ์ จึงตรัสคําว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิชฺชา ได้แก่วิชชาในอรหัตตมรรคญาณ.

บทว่า อวิชฺชา ได้แก่อวิชชาที่ปกปิดสัจจะ ๔. คําที่เหลือมีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วทีเดียว

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศสงเคราะห์คุณแห่งความเป็นพระสัพพัญูแม้ทั้งหมดด้วยวิชชา ๓ อย่างนี้คือ ทรงสงเคราะห์อตีตังสญาณด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงสงเคราะห์ปัจจุปปันนังสญาณและอนาคตังสญาณด้วยทิพยจักษุญาณ (และ) ทรงสงเคราะห์โลกุตตรคุณทั้งหมดด้วยอาสวักขยญาณ ด้วยพระดํารัสดังกล่าวมานี้ จัดว่าได้ทรงแสดงการอยู่อย่างไม่งมงาย (ธรรมเครื่องอยู่อย่างไม่งมงาย) ของพระองค์แก่พราหมณ์.

ประโยชน์ของการอยู่ป่า ๒ อย่าง

[๕๑] ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมทรงปฏิญาณความเป็นพระสัพพัญู แต่แม้ในวันนี้พระองค์ก็ยังไม่ยอมทิ้งการอยู่ในป่า กิจที่ควรทําอะไรๆ แม้อย่างอื่นของพระองค์ยังมีอยู่หรือหนอแล. ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของพราหมณ์นั้นแล้วได้ตรัสคําว่า สยา โข ปน เต ดังนี้เป็นต้น เพื่อคล้อยตามอัธยาศัย.

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 318

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิยา โข ปน เต พฺราหฺมณ เอวมสฺส ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ บางครั้งท่านพึงมีความคิดอย่างนี้.

บทว่า น โข ปเนตํ พฺราหฺมณ เอวํ ทฏฺพฺพํ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็แลเมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ว่า การอยู่ในเสนาสนะอันสงัดของเราตถาคตเป็นเพราะสาเหตุมีความที่ราคะยังไม่หมดเป็นต้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่ (ดังกล่าวมานั้น) ในการอยู่ในเสนาสนะอันสงัดอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงถึงเหตุ (บ้าง) จึงตรัสคําว่า เทฺว โข อหํ ดังนี้เป็นต้น. ประโยชน์นั่นแหละในคําว่า อตฺถวเส นั้น ชื่อว่า อํานาจแห่งประโยชน์ เพราะฉะนั้น ในคําว่า เทฺว โข อหํ พฺราหฺมณ อตฺถวเส จึงมีคําอธิบายว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราตถาคตแลเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ ๒ อย่าง คือเหตุ ๒ อย่าง.

ในคําว่า อตฺตโน จ ทิฏฺธมฺมสุขวิหารํ (การอยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันของตน) อัตภาพที่เห็นประจักษ์อยู่นี้ ชื่อว่า ทิฏฐธรรน การอยู่ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ อย่างผาสุก ชื่อว่า สุขวิหาร (การอยู่อย่างเป็นสุข) พึงทราบอรรถาธิบายนี้ว่า เพราะว่าคนแต่ละคนมีอิริยาบถอื่นๆ ทั้งหมด โดยที่สุดการถ่ายอุจจาระปัสสาวะสะดวกสบาย เพราะฉะนั้น การอยู่อย่างเป็นสุขของอัตภาพที่เห็นประจักษ์อยู่ จึงชื่อว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร.

คําว่า ปจฺฉิมํ ชนตํ อนุกมฺปมาโน (อนุเคราะห์หมู่ชนรุ่นหลัง) พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์หมู่ชนรุ่นหลังด้วยการอยู่ป่าอย่างไร?

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 319

อธิบายว่า กุลบุตรทั้งหลายที่บวชด้วยศรัทธาเห็นการอยู่ป่าของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพากันคิดว่า แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ซึ่งไม่มีทุกขสัจที่จะต้องกําหนดรู้ ไม่มีสมุทยสัจที่ต้องละ ไม่มีมัคคสัจที่ต้องทําให้เกิดมี ไม่มีนิโรธสัจที่ต้องทําให้แจ้ง ก็ยังไม่ยอมละทิ้งเสนาสนะป่าเลย ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงเราทั้งหลายเล่า ดังนี้ แล้วจักพากันสําคัญเสนาสนะป่าว่าอันตนควรอยู่แท้ทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้ พวกเขาก็จักทําทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้โดยเร็วพลัน พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าทรงอนุเคราะห์หมู่ชนรุ่นหลังอย่างนี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้จึงตรัสว่า ปจฺฉิมฺจ ชนตํ อนุกมฺปมาโน ดังนี้.

ความหมายของศัพท์ว่า อภิกกันตะ

[๕๒] พราหมณ์ได้ฟังพระดํารัสนั้นแล้ว รู้สึกพอใจจึงได้กล่าวคําว่า อนุกมฺปิตรูปา ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุกมฺปิตรูปา แปลว่า เป็นชนิดที่พระโคดมผู้เจริญอนุเคราะห์แล้ว คือเป็นผู้อันพระโคดมผู้เจริญเกื้อหนุนแล้วเป็นสภาพ.

บทว่า ชนตา แปลว่า หมู่ชน.

บทว่า ยถาตํ อรหตา สมฺมาสมฺพุทฺเธน ความว่า (หมู่ชนรุ่นหลัง) อันพระโคดมผู้เจริญอนุเคราะห์แล้ว อย่างที่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพึงอนุเคราะห์.

ก็พราหมณ์ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความชื่นชมพระธรรมเทศนานั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก จึงได้กล่าวคํานี้กะพระผู้มี-

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 320

พระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระดํารัสของพระองค์จับใจยิ่งนัก พระดํารัสของพระองค์จับใจยิ่งนัก.

ในคําว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม เป็นต้นนั้น อภิกกันตศัพท์นี้ ใช้ในความหมายว่า ขยะ สิ้นไป, หมดไป, ล่วงเลย สุนทร ดี อภิรูปะ สวยงาม และ อัพภนุโมทนะ ชื่นชม, ยินดี.

ก็ อภิกกันตศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า "ขยะ" (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านพ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่ง (คอย) อยู่นานแล้ว.

ใช้ในความหมายว่า "สุนทระ" (เช่น) โนประโยคเป็นต้นว่า บรรดาบุคคล ๔ คนนี้ คนนี้ดีกว่า และประณีตกว่า.

ใช้ในความหมายว่า "อภิรูปะ" (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ใครช่างรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ มีผิวพรรณสวยงาม ทําทิศทั้งปวงให้สว่างไสว (มา) กราบเท้าของเราตถาคต.

ใช้ในความหมายว่า "อัพภนุโมทนะ" (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระดํารัสของพระองค์จับใจยิ่งนัก.

แม้ในที่นี้ อภิกกันตศัพท์ก็ใช้ในความหมาย แห่ง "อัพภนุโมทนะ ชื่นชม, ยินดี" เหมือนกัน. ก็เพราะเหตุที่อภิกกันตศัพท์ใช้ในความหมายแห่งอัพภนุโนทนะ. ฉะนั้น จึงควรทราบว่า (คําว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม) ท่านอธิบายไว้ว่าได้แก่ สาธุ สาธุ โภ โคตม ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระดํารัสของพระองค์ดีแล้ว ดีแล้ว พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 321

เหตุผลที่ใช้อภิกกันตศัพท์ ๒ ครั้ง

(นักปราชญ์ได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า)

ท่านผู้รู้พึงทําการกล่าวซ้ำ ใน (คําพูดแสดง) ความกลัว (ภเย) ความโกรธ (โกเธ) การสรรเสริญ (ปสํสายํ) ความรีบด่วน (ตุริเต) ความตื่นเต้น (โกตุหเล) ความอัศจรรย์ใจ (อจฺฉเร) ความร่าเริงยินดี (หาเส) ความโศก (โสเก) และความเลื่อมใส (ปาสาเท).

และด้วยลักษณะ (เหตุผลดังว่ามา) นี้ อภิกกันตศัพท์นี้พึงทราบว่า พราหมณ์กล่าวไว้ถึง ๒ ครั้งในที่นี้ ก็ด้วยอํานาจความเลื่อมใสและความสรรเสริญ.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อภิกฺกนฺตํ แปลว่า น่าใคร่อย่างยิ่ง คือน่าปรารถนาอย่างยิ่ง อธิบายว่า น่าพอใจอย่างยิ่ง คือ ดียิ่งนัก. ในอภิกกันตศัพท์ทั้ง ๒ นั้น พราหมณ์ชมเชยเทศนาด้วย อภิกกันตศัพท์ (ที่มีความหมาย) อย่างหนึ่ง ประกาศความเลื่อมใสของตนด้วยอภิกกันตศัพท์ (ที่มีความหมาย) อีกอย่างหนึ่ง.

ก็ในความหมายทั้ง ๒ นี้มีอธิบายดังนี้ว่า พระธรรมเทศนาของพระโคดมผู้เจริญ น่าจับใจยิ่งนัก ความเลื่อมใสของข้าพระองค์อาศัยธรรมเทศนาของพระโคดมผู้เจริญก็น่าพอใจยิ่งนัก หรือไม่ก็พราหมณ์นี้มุ่งใช้ความหมายทั้ง ๒ (ไปในการ) ชมเชยพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างเดียว. (คือชมเชยว่า) พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญ

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 322

นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะยังโทษให้พินาศไป นับว่าน่าจับใจยิ่งนักเพราะให้บรรลุคุณ อนึ่ง นักศึกษาพึงประกอบ (คําว่า) โภโต โคตมสฺส วจนํ อภิกฺกนฺตํ) เข้ากับบททั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า :-

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะทําให้เกิดศรัทธา นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะทําให้เกิดปัญญา.

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะพรั่งพร้อมด้วยอรรถะ (ความหมาย) นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ.

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะมีบทง่ายนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะมีความหมายลึกซึ้ง.

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะ (ฟังแล้ว) รื่นหู นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะ (ฟังแล้ว) ซึ้งใจ.

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะไม่ยกตน นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะไม่ข่มคนอื่น.

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะเยือกเย็นด้วยพระกรุณา นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะผ่องแผ้วด้วยพระปัญญา.

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะเป็นที่รื่นรมย์ตามคัลลอง นับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะทนต่อการถูกโจมตี.

พระดํารัสของพระโคดมผู้เจริญนับว่าจับใจยิ่งนัก เพราะฟังอยู่ก็เป็นสุข นับว่าจับ ใจยิ่งนัก เพราะใคร่ครวญอยู่ก็เป็นประโยชน์

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 323

อุปมา ๔ ข้อ

ต่อจากนั้น พราหมณ์ได้ชมเชยพระธรรมเทศนานั้นแลด้วยอุปมา ๔ ข้อ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกุชฺชิตํ ได้แก่ภาชนะที่วางคว่ําปากลงหรือที่มีปากอยู่ข้างใต้.

บทว่า อุกฺกุชฺเชยฺย ได้แก่พึงหงายปากขึ้น.

บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ ได้แก่ที่เขาปิดไว้ด้วยหญ้าและใบไม้เป็นต้น.

บทว่า วิวเรยฺย แปลว่าพึงเปิด.

บทว่า มุฬฺหสฺส ได้แก่ (บุคคล) ผู้หลงทิศ.

บทว่า มคฺคํ อาจิกฺเขยฺย ความว่า พึงจับที่มือแล้วบอกว่า นี่ทาง.

บทว่า อนฺธกาเร คือในความมืดมีองค์ ๔ (คือมืด) เพราะวันแรม ๑๔ ค่ํา เพราะเป็นเวลาเที่ยงคืน เพราะป่าทึบ และเพราะเมฆหนาบดบัง.

ความหมายของบทที่ไม่ง่ายมีเท่านี้ก่อน.

ส่วนคําอธิบายประกอบความหมายมีดังต่อไปนี้ว่า :-

พระโคดมผู้เจริญผู้ยังข้าพระองค์ผู้เบือนหน้าหนีจากสัทธรรม ตกไปในอสัทธรรม ให้พ้นมาจากอสัทธรรม เหมือนใครๆ พึงหงายของที่คว่ําขึ้นฉะนั้น ผู้เปิดเผยศาสนาซึ่งถูกปิดบังไว้ด้วยรกชัฏ คือมิจฉาทิฏฐิ จําเดิมแต่ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ อันตรธานไปเหมือนใครๆ พึงเปิดของที่ถูกปิดบังออกฉะนั้น ผู้บอกทางสวรรค์และนิพพานแก่ข้าพระองค์ผู้เดินหลงไปสู่ทางสายต่ํา คือทางที่ผิด เหมือนใครๆ

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 324

บอกทางแก่คนหลงทางฉะนั้น ชื่อว่า ได้ทรงประกาศธรรมะไว้แล้วโดยอเนกปริยายแก่ข้าพระองค์ เพราะทรงประกาศไว้แล้วโดยปริยายเหล่านี้ โดยทรงส่องแสงสว่างคือพระธรรมเทศนาอันกําจัดเสียซึ่งความมืด คือโมหะที่ปกปิดพระรัตนตรัยนั้นไว้ แก่ข้าพระองค์ผู้จมดิ่งลงไปในความมืดคือโมหะ มองไม่เห็นรูปพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เหมือนใครๆ พึงส่องแสงเพลิงในที่มืดฉะนั้น.

พราหมณ์ครั้นชมเชยพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพราะเทศนานี้ เมื่อจะทรงทําอาการของบุคคลผู้เลื่อมใส จึงกล่าวคําว่า เอสาหํ ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอสาหํ ตัดบทเป็น เอโส อหํ (ข้าพระองค์นั่น).

หลายบทว่า ภวนฺตํ โคตมํ สรณํ คจฺฉามิ ความว่า ข้าพเจ้าขอถึง ขอคบ ขอเสพ ขอเข้าไปนั่งใกล้พระโคดมผู้เจริญด้วยความประสงค์นี้ว่า ขอพระโคคมผู้เจริญจงเป็นที่ระลึก เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ทําลายความทุกข์และเป็นผู้สรรค์สร้างประโยชน์สุขให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด อีกอย่างหนึ่งความว่า ข้าพระองค์รู้ คือทราบอยู่อย่างนี้. เพราะว่า ธาตุเหล่าใดแปลว่า "ไป" ธาตุเหล่านั้นก็ย่อมแปลว่า "รู้" ได้ด้วย. เพราะฉะนั้น บทว่า คจฺฉามิ นี้ พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวความหมายไว้ดังนี้ว่า ชานามิ พุชฺณามิ (รู้อยู่, ทราบอยู่).

ก็ในคําว่า ธมฺมฺจ ภิกฺขุสงฺฆฺจ นี้พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-

ที่ชื่อว่า ธรรม เพราะมีความหมายว่า ทรงไว้ซึ่งบุคคลทั้งหลายผู้ได้บรรลุ (อริย) มรรค ผู้ทําให้แจ้งซึ่งนิโรธแล้ว (และ) ผู้ปฏิบัติ

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 325

ตามคําที่พระพุทธเจ้าทรงพร่ําสอนเป็นประจํามิให้ตกไปในอบาย ๔. ธรรมนั้น เมื่อว่าโดยความหมาย ก็ได้แก่ อริยมรรคและนิพพาน. สมจริงด้วยพระดํารัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมะที่เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) มีอยู่เท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ ตถาคตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งธรรมที่เป็นสังขตะเหล่านั้น ความพิสดารเป็นดังว่ามานี้. และไม่ใช่แต่อริยมรรคและนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น (ที่ชื่อว่าธรรม) โดยที่แท้แล แม้ปริยัติธรรมพร้อมทั้งอริยผลทั้งหลาย (ก็ชื่อว่าธรรม) สมจริงดังคําที่เทพบุตรกล่าวไว้ในฉัตตมาณวกวิมานวัตถุว่า

ท่านจงเข้าถึงธรรมนี้ซึ่งเป็นธรรมสําหรับสํารอกราคะไม่หวั่นไหว ไม่มีความโศก ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ปฏิกูล เป็นธรรมอันไพเราะที่พระพุทธเจ้าทรงเชี่ยวชาญแล้ว ทั้งยังได้ทรงจําแนกไว้เรียบร้อยเพื่อเป็นที่ระลึกที่พึ่งเถิด.

ในคาถานี้พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-

บทว่า เป็นธรรมสําหรับสํารอกราคะ คือเทพบุตรกล่าวถึงมรรค.

บทว่า เป็นธรรมไม่หวั่นไหว ไม่มีความโศก คือเทพบุตรกล่าวถึงผล.

บทว่า เป็นธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง คือเทพบุตรกล่าวถึงนิพพาน.

บทว่า ไม่ปฏิกูล เป็นธรรมอันไพเราะ ที่พระพุทธเจ้าทรงเชี่ยวชาญแล้วทั้งยังได้ทรงจําแนกไว้เรียบร้อยนี้ คือ เทพบุตรกล่าวถึง

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 326

พระธรรมขันธ์ทั้งหมดที่ทรงจําแนกไว้เป็นพระไตรปิฎก.

ที่ชื่อว่า สังฆะ (สงฆ์) เพราะหมายความว่า รวมกันด้วยเครื่องรวมคือทิฏฐิและศีล. สงฆ์นั้น เมื่อว่าโดยความหมาย คือหมู่พระอริยบุคคล ๘ จําพวก. สมจริงดังคําที่เทพบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์วิมานวัตถุนั้นเองว่า

ก็บัณฑิตกล่าวทานที่บุคคลถวายแล้วในบุคคล ๔ คู่เหล่าใด ซึ่งเป็นคู่บุคคลที่สะอาด บุคคล ๔ คู่เหล่านั้นคือบุคคล ๘ จําพวก ซึ่งเป็นผู้เห็นธรรม ขอท่านจงเข้าถึงพระสงฆ์นี้เพื่อเป็นที่ระลึกที่พึ่งเถิด.

หมู่แห่งภิกษุทั้งหลายชื่อว่า ภิกษุสงฆ์. พราหมณ์ได้ประกาศการถึงสรณะทั้ง ๓ ด้วยถ้อยคํามีเพียงเท่านี้.

สรณคมน์

บัดนี้ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในสรณคมน์เหล่านั้นจึงควรทราบวิธีนี้คือ สรณะ การถึงสรณะ ผู้ถึงสรณะ ประเภทแห่งการถึงสรณะ ผลแห่งการถึงสรณะ สังกิเลส (ความเศร้าหมอง) และเภทะ (ความหมดสภาพ).

ถามว่า วิธีนี้มีความหมายเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบว่า ควรทราบความหมายโดยความหมายเฉพาะบทก่อน. ที่ชื่อว่า สรณะ เพราะหมายความว่า เบียดเบียน อธิบายว่า ย่อมกําจัด คือทําความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความทุกข์ กิเลสที่เป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 327

ของบุคคลผู้ถึงสรณะให้พินาศไปด้วยการถึงสรณะนั้นแล. คําว่า สรณะ นั่นเป็นชื่อเรียกพระรัตนตรัย.

อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า พุทธะ เพราะหมายความว่า ขจัดซึ่งภัยของสัตว์ทั้งหลายโดยทําสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในประโยชน์เกื้อกูลและถอยกลับจากสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล.

ที่ชื่อว่า ธรรม เพราะทําสัตว์ทั้งหลายให้ช่วยข้ามพ้นจากกันดารคือภพและเพราะให้ความเบาใจแก่สัตว์ทั้งหลาย ที่ชื่อว่า สงฆ์ เพราะทําสักการะทั้งหลายแม้เป็นของน้อยค่าให้ได้รับผลอันไพบูลย์ เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยจึงชื่อว่า สรณะ โดยบรรยายนี้ด้วย.

จิตตุปบาท (ความเกิดความคิดขึ้น) ที่มีกิเลสอันถูกขจัดแล้วด้วยความเป็นผู้เคารพเลื่อมใสในสรณะนั้น อันเป็นไปโดยอาการที่มีความเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า ชื่อว่า สรณคมน์.

สัตว์ผู้พรั่งพร้อมด้วยสรณคมน์นั้น ชื่อว่า ถึงสรณะ. อธิบายว่า ย่อมเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ เหล่านี้ว่าเป็นสรณะ (ที่ระลึก ที่พึ่ง) ว่าเป็นปรายนะ (เครื่องนําทาง) ด้วยจิตตุปบาทมีประการดังกล่าวแล้ว. นักศึกษาพึงทราบ สรณะ การถึงสรณะ และผู้ถึงสรณะ ทั้ง ๓ อย่างนี้ก่อน.

ประเภทแห่งการถึงสรณะ

ส่วนในประเภทแห่งการถึงสรณะ (การถึงสรณะมีกี่ประเภท) พึงทราบอธิบายต่อไป. การถึงสรณะมี ๒ คือ การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระ ๑ การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะ ๑. ในสองอย่างนั้น การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระของบุคคลผู้เห็นสัจจะแล้ว เมื่อว่าโดยอารมณ์ย่อมมีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อว่าโดยกิจย่อมสําเร็จได้ในพระรัตนตรัยแม้ทั้งสิ้น เพราะ

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 328

ตัดขาดกิเลสที่เป็นเหตุขัดขวางการถึงสรณะได้ในขณะแห่งมรรค. (ส่วน) การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะของปุถุชน เมื่อว่าโดยอารมณ์ ย่อมมีพระพุทธคุณเป็นต้นเป็นอารมณ์ สําเร็จได้ด้วยการข่มกิเลสที่เป็นเหตุขัดขวางการถึงสรณะไว้ได้. การถึงสรณะนั้น เมื่อว่าโดยความหมาย ได้แก่ การได้ศรัทธาในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น และสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธา (ในพระรัตนตรัยนั้น) เป็นพื้นฐานท่านเรียกว่า ทิฏุชุกรรม (การทําความเห็นให้ตรง) (ซึ่งอยู่) ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.

การถึงสรณะแบบนี้นั้นมีอยู่ ๔ อย่างคือ (การถึง) ด้วยการมอบตน ๑ ด้วยการมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเครื่องนําทาง ๑ ด้วยการยอมเป็นศิษย์ ๑ ด้วยการถวายมือ (การประนมมือทําความเคารพ) ๑.

ใน ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า การมอบตน ได้แก่ การยอมสละตนแด่พระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น (ด้วยการกล่าว) อย่างนี้ว่านับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบตนถวายแด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม และแด่พระสงฆ์.

ที่ชื่อว่า การมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเครื่องนําทาง ได้แก่ การที่มีพระรัตนตรัยนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า (ด้วยการพูด) อย่างนี้ว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านทั้งหลายจงจําข้าพเจ้าไว้ว่า ข้าพเจ้าขอมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้นําทาง ขอมีพระธรรมเป็นผู้นําทาง ขอมีพระสงฆ์เป็นผู้นําทาง.

ที่ชื่อว่า การถวายมือ ได้แก่ การทําความนอบน้อมอย่างสูงในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น (ด้วยการพูด) อย่างนี้ว่า นับตั้งแต่

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 329

วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านทั้งหลายจงจําข้าพเจ้าไว้ว่า ข้าพเจ้าขอทําการกราบไหว้ การลุกรับ การประนมมือ การทําความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั่นแล.

ก็บุคคลเมื่อทําอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาการทั้ง ๔ อย่างนี้ จัดว่าได้รับการถึงสรณะแล้วทีเดียว.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบการมอบคน (ด้วยการพูด) แม้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสละตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม ( และ) แต่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอสละชีวิตแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม ( และ) แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าสละตนแล้วทีเดียวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม ( และ) แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าสละชีวิตแล้วทีเดียวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แด่พระธรรม ( และ) แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า (พระธรรม และพระสงฆ์) ว่าเป็นสรณะ โดยขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอพระพุทธเจ้า (พระธรรม และพระสงฆ์) จงเป็นที่ระลึกที่พึ่ง เป็นที่อาศัย เป็นที่ต้านทานของข้าพเจ้า.

พึงเห็นการเข้าถึงความเป็นศิษย์ (การยอมตัวเป็นศิษย์) เหมือนการเข้าถึงความเป็นศิษย์ในการถึงสรณะของพระมหากัสสปะ (ด้วยการพูด) แม้อย่างนี้ว่า ขอข้าพเจ้าพึงได้พบพระศาสดา พึงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอข้าพเจ้าพึงได้พบพระสุคต พึงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอข้าพเจ้าพึงได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า.

พึงทราบความที่มีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเครื่องนําทาง (เป็นที่ไปในเบื้องหน้า) เหมือนการถึงสรณะของชนทั้งหลายมีอาฬวกยักษ์เป็นต้น (ด้วยการพูด) แม้อย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 330

ข้าพเจ้านั้นจักเที่ยวไปจากหมู่บ้าน (นี้) สู่หมู่บ้าน (โน้น) จากเมือง (นี้) สู่เมือง (โน้น) (เพื่อ) นมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเป็นธรรมที่ดีแห่งพระธรรม (และความเป็นสงฆ์ที่ดีแห่งพระสงฆ์).

พึงเห็นการพนมมือไหว้ แม้อย่างนี้ว่า ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อพรหมายุ ลุกขึ้นจากที่นั่งทําผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้วซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า จูบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปาก นวดเฟ้นด้วยฝ่ามือแล้วประกาศชื่อว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อ พรหมายุ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ.

ก็การพนมมือไหว้นั้นมีอยู่ ๔ อย่างคือ (ถวายมือ) เพราะเป็นญาติ เพราะความกลัว เพราะเป็นอาจารย์ และเพราะเป็นทักขิไณยบุคคล.บรรดาการพนมมือไหว้ ๔ อย่างนั้น การถึงสรณะมีได้ด้วยการพนมมือไหว้เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ไม่ใช่เป็นด้วยเหตุ ๓ อย่างนอกจากนี้.

เพราะว่า สรณะอันบุคคลย่อมรับได้ด้วยบุคคลผู้ประเสริฐสุด จะหมดสภาพไป (ก็หมด) ด้วยอํานาจบุคคลผู้ประเสริฐสุดเหมือนกัน.เพราะฉะนั้น บุคคลใดจะมีเชื้อสายเป็นศากยะหรือเป็นโกลิยะก็ตาม ถวายบังคม (พระพุทธเจ้า) ด้วยสําคัญว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระญาติของเราทั้งหลาย บุคคลนั้นยังไม่จัดว่าได้รับสรณะเลย. หรือว่าบุคคลใดถวายบังคมพระพุทธเจ้าด้วยความกลัวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้อันพระราชา

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 331

บูชาแล้ว มีอานุภาพมาก เมื่อเราไม่ไหว้จะพึงทําความเสียหายให้แก่เราได้ บุคคลนั้นก็ยังไม่จัดว่าได้รับสรณะเหมือนกัน. แม้บุคคลใดระลึกถึงคําสอนบางอย่างที่ได้เรียนในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ หรือในพุทธกาลได้เรียนคําสอนทํานองนี้ว่า

บุคคลควรใช้สอย เลี้ยงชีวิตด้วยทรัพย์ส่วนหนึ่ง ลงทุนทํางานด้วยทรัพย์สองส่วน และส่วนที่สี่ควรเก็บไว้ (เพราะมันจะอํานวยประโยชน์ได้) เมื่อคราวมีความจําเป็นต้องใช้

(เกิดความเลื่อมใส) ถวายบังคมด้วยความรู้สึกว่า พระองค์เป็นพระอาจารย์ของเรา บุคคลนั้นก็ชื่อว่ายังไม่ได้รับสรณะเหมือนกัน.

ส่วนบุคคลใดถวายบังคมด้วยความสําคัญว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นอัครทักขิไณยบุคคลในโลก บุคคลนั้นแลจัดว่าได้รับสรณะแล้ว. อุบาสกหรืออุบาสิกาผู้ได้รับสรณะอย่างนี้แล้วจะไหว้ญาติแม้ที่บวชในสํานักอัญญเดียรถีย์ด้วยความรู้สึกว่า ท่านผู้นี้เป็นญาติของเรา ดังนี้ การถึงสรณะก็ยังไม่หมดสภาพไป (ไม่เสีย) จะป่วยกล่าวไปไยถึงบุคคลหรืออุบาสิกาผู้ไหว้ญาติที่ยังไม่บวชเล่า.

สําหรับอุบาสกหรืออุบาสิกาผู้ถวายบังคมพระราชาก็เหมือนกัน คือถวายบังคมด้วยอํานาจความกลัวว่า พระราชาพระองค์นั้นเพราะเป็นผู้ที่ชาวแว่นแคว้นบูชากันแล้ว เมื่อเราไม่ถวายบังคมก็จะทรงทําความเสียหายให้แก่เราได้ดังนี้ การถึงสรณะก็ยังไม่หมดสภาพไป (ยังไม่เสีย) เหมือน

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 332

เมื่อบุคคลแม้ไหว้เดียรถีย์ ผู้ให้การศึกษาศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยคิดว่าผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา การถึงสรณะ ก็ยังไม่หมดสภาพไป ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบประเภทแห่งการถึงสรณะอย่างนี้แล.

ก็การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระในที่นี้ มีสามัญญผล ๔ เป็นวิบากผล มีความสิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งมวลเป็นอานิสงสผล. สมด้วยพระดํารัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ก็บุคลใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ (ที่ระลึก ที่พึ่ง) บุคคลนั้นย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ ย่อมเห็นทุกข์ เหตุเกิดของทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางให้เข้าถึงความดับทุกข์ สรณะ (ที่ระลึก ที่พึ่ง) อย่างนั้นแลจึงจะเป็นสรณะอันเกษมเป็นสรณะอันสูงสุด เพราะอาศัยสรณะนั่น บุคคลจึงหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอานิสงสผลของการถึงสรณะนั่นแม้ด้วยอํานาจแห่งเหตุมีการไม่เข้าไปยึดถือ โดยความเป็นของเที่ยงเป็นต้น.สมจริงดังพระดํารัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส (เป็นไปไม่ได้เลย) ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ จะพึงเข้าไปยึดถือสังขารอะไรๆ ว่า เที่ยงว่า เป็นสุข จะพึงเข้าไปยึดถือธรรมอะไรๆ ว่า เป็นอัตตา จะพึงปลงชีวิตมารดา จะพึงปลงชีวิตบิดา จะพึงปลงชีวิตพระอรหันต์ จะพึงเป็น

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 333

ผู้มีจิตชั่วร้ายยังโลหิตของพระตถาคตให้ห้อ จะพึงทําลายสงฆ์ จะพึงอ้างศาสดาอื่น ฐานะอย่างนี้จะมีไม่ได้.

ส่วนการถึงสรณะที่เป็นโลกิยะย่อมมีภพสมบัติและโภคสมบัติเป็นผลเหมือนกัน. สมจริงดังพระดํารัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

บุคคลที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะจักไม่ไปสู่อบายภูมิ ครั้นละร่างกายที่เป็นมนุษย์แล้ว จักยังกายทิพย์ให้บริบูรณ์ (เกิดในหมู่เทพ).

แม้เรื่องอื่นท่านก็กล่าวไว้. (คือ) คราวครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยเทวดาแปดหมื่นได้เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ.พระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพ ผู้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งดังนี้ว่า ขอถวายพระพรพระองค์ผู้จอมเทพ การถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ เป็นการดีแท้ เพราะการถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ เป็นเหตุแล สัตว์บางพวกในโลกนี้ตายแล้ว จึงได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อย่างนี้ สัตว์เหล่านั้น (เกิดเป็นเทวดาแล้ว) ย่อมเด่นล้ำเทวดาพวกอื่นด้วยฐานะ ๑๐ คือ ด้วยอายุอันเป็นทิพย์ วรรณะอันเป็นทิพย์ สุขอันเป็นทิพย์ ยศอันเป็นทิพย์ ความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์ รูปอันเป็นทิพย์ เสียงอันเป็นทิพย์ กลิ่นอันเป็นทิพย์ รสอันเป็นทิพย์ โผฏฐัพพะอันเป็นทิพย์. ใน (การถึง) พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ก็นัยนี้. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบผลอันสําคัญของการถึงสรณะแม้ด้วยอํานาจแห่งสูตรมีเวลามสูตรเป็นต้น. พึงทราบผลแห่งการถึงสรณะอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 75  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 334

ในการถึงสรณะ ๒ อย่างนั้น การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะย่อมเศร้าหมองด้วยเหตุทั้งหลายมีความไม่รู้ ความสงสัย และความรู้ (ความเข้าใจ) ผิดเป็นต้นในพระรัตนตรัย เป็นการถึงสรณะที่ไม่มีความรุ่งเรืองมากไม่กว้างไกลมาก. (ส่วน) การถึงสรณะที่เป็นโลกุตตระไม่มีความเศร้าหมอง.

การถึงสรณะที่เป็นโลกิยะมีการหมดสภาพอยู่ ๒ อย่างคือ การหมดสภาพ (เภโท) แบบมีโทษ ๑ การหมดสภาพแบบไม่มีโทษ ๑. ในการหมดสภาพทั้งสองนั้น การหมดสภาพแบบมีโทษย่อมมีด้วยเหตุทั้งหลายมีการมอบตนในศาสดาอื่นเป็นต้น การหมดสภาพแบบนั้นมีผลไม่น่าปรารถนา. การหมดสภาพแบบไม่มีโทษในเพราะการทํากาลกิริยา การหมดสภาพแบบนั้นไม่มีผลเพราะไม่มีวิบาก. แต่การถึงสรณะแบบโลกุตตระไม่มีการหมดสภาพเลย. จริงอยู่ พระอริยสาวก (ตายแล้วไปเกิด) แม้ในภพอื่นก็จะไม่ยอมยกย่องคนอื่นว่าเป็นศาสดา (แทนพระพุทธเจ้า).พึงทราบความเศร้าหมอง และการหมดสภาพของการถึงสรณะดังพรรณนามาฉะนี้.

อุบาสก

บทว่า อุปาสกํ มํ ภวํ โคตโม ธาเรตุ ความว่า ขอพระโคดมผู้เจริญจงจํา อธิบายว่า จงรู้จักข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นอุบาสก.

ก็ในที่นี้เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงตนเป็นอุบาสกจึงควรทราบข้อปลีกย่อยนี้ว่า อุบาสกคือใคร? เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า อุบาสก?

 
  ข้อความที่ 76  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 335

อุบาสกนั้นมีศีลเป็นอย่างไร? มีอาชีพเป็นอย่างไร? มีวิบัติเป็นอย่างไร? มีสมบัติเป็นอย่างไร?

ในข้อปลีกย่อยเหล่านั้น ที่ว่า อุบาสกคืออะไร? ได้แก่ คฤหัสถ์คนใดคนหนึ่งผู้ถึงไตรสรณะ. สมจริงดังพระดํารัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนมหานาม เมื่อใดแลอุบาสกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม (และ) พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ดูก่อนมหานาม บุคคลย่อมเป็นอุบาสกด้วยอาการเท่านี้แล.

ที่ว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า อุบาสก? ได้แก่ เพราะเข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย. จริงอยู่บุคคลนั้น ชื่อว่า อุบาสก เพราะเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้า พระธรรม (และ) พระสงฆ์.

ที่ว่า อุบาสกนั้นมีศีลเป็นอย่างไร? ได้แก่ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น ๕ อย่าง. สมจริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนมหานาม เมื่อใดแล อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท (และ) จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือน้ำเมา อันได้แก่สุราและเมรัย ดูก่อนมหานาม อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศีลด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.

ที่ว่า มีอาชีพเป็นอย่างไร? ได้แก่ การละการค้าขายผิด ๕ อย่าง แล้วเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม สมจริงดังพระดํารัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้อันอุบาสกไม่ควรทํา ๕ อย่างมีอะไรบ้าง คือ การค้าขายศัสตราวุธ ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การค้าขายเนื้อ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างนี้แล อุบาสกไม่ควรทํา.

 
  ข้อความที่ 77  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 336

ที่ว่า มีวิบัติเป็นอย่างไร? ได้แก่ ความวิบัติแห่งศีลและอาชีวะของอุบาสกนั้นนั่นแลอันใด อันนี้เป็นความวิบัติของอุบาสกนั้น. อีกอย่างหนึ่ง อุบาสกนั้นเป็นคนจัณฑาลและเศร้าหมองด้วยมลทินต่างๆ ด้วยวิบัติอันใด แม้วิบัตินั้นก็พึงทราบว่า เป็นวิบัติของอุบาสกนั้นๆ. และความเป็นคนจัณฑาลนั้น เมื่อว่าโดยความหมาย ก็ได้แก่ธรรม ๕ ประการมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น. เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างย่อมเป็นอุบาสกจัณฑาล เป็นอุบาสกมีมลทิน เป็นอุบาสกมีความเศร้าหมองและเป็นอุบาสกต่ําช้า. ธรรม ๕ ประการอะไรบ้าง (คือ) เป็นผู้ไม่มีศรัทธา (ในพระรัตนตรัย) ๑ เป็นคนทุศีล ๑ เป็นคนถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อมงคล (ฤกษ์, ยาม) ไม่เชื่อกรรม ๑ แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกจากศาสนานี้ (พุทธศาสนา) ๑ บําเพ็ญกุศลในศาสนานั้น ๑.

ที่ว่า มีสมบัติเป็นอย่างไร? ได้แก่ ความถึงพร้อมด้วยศีลและความถึงพร้อมด้วยอาชีวะของอุบาสกนั้นชื่อว่า สมบัติ. อนึ่ง ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นต้นของอุบาสกนั้นเหล่าใด ธรรม ๕ ประการเหล่านั้นชื่อว่า สมบัติ. เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างย่อมเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสกดอกปทุม และเป็นอุบาสกดอกบุณฑริก. ธรรม ๕ อย่างมีอะไรบ้าง (คือ) เป็นผู้มีศรัทธา (ในพระรัตนตรัย) ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นคนไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ๑ ไม่แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพุทธศาสนานี้ ๑ บําเพ็ญกุศลในพุทธศาสนานี้ ๑.

 
  ข้อความที่ 78  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 337

ความหมายของ "อัคคะ" ศัพท์

อัคคะ ศัพท์นี้ในคําว่า อชฺชตคฺเค นี้ ย่อมใช้ในอรรถว่า เบื้องต้น (อาทิ) เบื้องปลาย (โกฏิ) ส่วน (โกฏฺาส) และประเสริฐที่สุด (เสฏฺ) ก็อัคคะ ศัพท์ใช้ในอรรถว่า

- เบื้องต้น (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า แน่ะนายประตูเพื่อนรักตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปข้าพเจ้าขอปิดประตูสําหรับพวกนิครนถ์.

- เบื้องปลาย (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า บุคคลพึงลูบคลํายอดอ้อย ยอดไผ่ ด้วยปลายนิ้วมือนั้นแล.

- ส่วน (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตให้แบ่งจากส่วนสิ่งของที่มีรสเปรี้ยว ที่มีรสหวาน หรือส่วนสิ่งของที่มีรสขมตามส่วนวิหารหรือตามส่วนบริเวณ.

- ประเสริฐที่สุด (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจํานวนเท่าใดที่ไม่มีเท้าก็ตาม ฯลฯ พระตถาคต บัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดของสัตว์เหล่านั้น.

แต่ในที่นี้ อัคคะ ศัพท์นี้พึงเห็นว่า ลงในอรรถว่า เบื้องต้น.เพราะฉะนั้น ในคําว่า อชฺชตคฺเค นี้ พึงเห็นความหมายอย่างนี้ว่า เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

บทว่า อชฺชตํ ได้แก่ อชฺชภาวํ (แปลว่า ความในวันนี้).บาลีว่า อชฺชทคฺเค ดังนี้ก็มี. ท อักษร (เป็นอาคม) ทําหน้าที่เชื่อมบท (ระหว่าง อชฺช กับ อคฺเค). แปลว่า เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้.

บทว่า ปาณุเปตํ แปลว่า เข้าถึงด้วยชีวิต. อธิบายว่า ขอพระโคดม

 
  ข้อความที่ 79  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 พ.ย. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 338

ผู้เจริญจงทรงจํา คือจงทรงทราบข้าพระองค์ไว้ว่าเป็นอุบาสก คือไวยาวัจกร (ผู้รับใช้พระ) ถึงสรณะด้วยไตรสรณคมน์แบบไม่มีศาสดาอื่น (นอกจากพระโคดม) ตลอดเวลาที่ชีวิตของข้าพระองค์ยังเป็นไปอยู่ เพราะว่าข้าพระองค์ ถ้าแม้นใครๆ จะพึงใช้มีดคมตัดศีรษะของข้าพเจ้าไซร้ ก็จะไม่ขอกล่าวพระพุทธเจ้าว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมว่าไม่ใช่พระธรรม (และ) พระสงฆ์ว่าไม่ใช่พระสงฆ์. พราหมณ์ครั้นถึงสรณะด้วยการมอบตนอย่างนี้แล้ว และปวารณาด้วยปัจจัย ๔ ลุกขึ้นจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเดินเวียนขวา (รอบพระผู้มีพระภาคเจ้า) ๓ รอบแล้วหลีกไปแล.

จบ อรรถกถาภยเภรวสูตร

จบ สูตรที่ ๔