พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ทุติยภัททิยสูตร ว่าด้วยบุคคลตัดวัฏฏะได้แล้วย่อมสิ้นทุกข์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35343
อ่าน  368

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 664

๒. ทุติยภัททิยสูตร

ว่าด้วยบุคคลตัดวัฏฏะได้แล้วย่อมสิ้นทุกข์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 664

๒. ทุติยภัททิยสูตร

ว่าด้วยบุคคลตัดวัฏฏะได้แล้วย่อมสิ้นทุกข์

[๑๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 665

ท่านพระสารีบุตร สำคัญท่านพระลกุณฐกภัททิยะว่าเป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยอเนกปริยายยิ่งกว่าประมาณ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระสารีบุตรสำคัญท่านพระลกุณฐกภัททิยะว่าเป็นพระเสขะ ชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยอเนกปริยายยิ่งกว่าประมาณ.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

บุคคลตัดวัฏฏะได้แล้ว บรรลุถึงนิพพานอันเป็นสถานที่ไม่มีตัณหา ตัณหาที่บุคคลให้เหือดแห้งแล้ว ย่อมไม่ไหลไป วัฏฏะที่บุคคลตัดได้แล้ว ย่อมไม่เป็นไป นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์.

จบทุติยภัททิยสูตรที่ ๒

อรรถกถาทุติยภัททิยสูตร

ทุติยภัททิยสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เสโขติ มญฺมาโน ได้แก่ สำคัญว่า ท่านพระภัททิยะนี้เป็นพระเสขะ. ในคำนั้น มีวจนัตถะดังต่อไปนี้ ชื่อว่าเสขะ เพราะยังต้องศึกษา. ศึกษาอะไร? ศึกษาอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา. อีกอย่างหนึ่ง การศึกษา ชื่อว่าสิกขา การศึกษานั้นเป็นปกติของผู้นั้น เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีการศึกษา. จริงอยู่ ผู้นั้นชื่อว่ามีการศึกษาเป็นปกติโดยส่วนเดียว เพราะมีการศึกษายังไม่จบ และเพราะน้อมใจไปในการศึกษานั้น แต่มิใช่ผู้จบการศึกษาเหมือนอย่างพระอเสขะ ผู้ระงับการขวนขวายในการศึกษานั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 666

ทั้งมิใช่ผู้ละทิ้งการศึกษา เหมือนชนมากมายผู้ไม่น้อมใจไปในการศึกษานั้น. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเสขะ เพราะเกิดสิกขา ๓ หรือมีในสิกขา ๓ นั้น โดยอริยชาติ.

บทว่า ภิยฺโยโส มตฺตาย แปลว่า ยิ่งโดยประมาณ อธิบายว่า ยิ่งเกินประมาณ.

จริงอยู่ ท่านลกุณฏกภัททิยะ นั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละบรรลุธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะ ด้วยโอวาทแรกตามวิธีดังกล่าวในสูตรแรก. ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีไม่ทราบการบรรลุพระอรหัตนั้นของท่าน โดยมิได้คำนึงถึง สำคัญว่ายังเป็นพระเสขะอยู่ตามเดิม เหมือนบุรุษผู้มีใจกว้างขวาง เขาขอน้อยก็ให้มากฉะนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อสิ้นอาสวะโดยอเนกปริยายยิ่งๆ ขึ้นไปทีเดียว. ฝ่ายท่านลกุณฏกภัททิยะมิได้คิดว่า บัดนี้ เราทำกิจเสร็จแล้ว จะมีประโยชน์อะไรด้วยโอวาทนี้ จึงฟังโดยเคารพเหมือนในกาลก่อนทีเดียว เพราะความเคารพในพระสัทธรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นดังนั้น ประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎีนั่นแหละ ทรงกระทำโดยที่พระธรรมเสนาบดีรู้ธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสของท่านด้วยพุทธานุภาพ จึงทรงเปล่งอุทานนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน เป็นต้น.

คำที่จะพึงกล่าวในข้อนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในอนันตรสูตร นั้นแล.

ก็ในคาถามีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า อจฺเฉจฺฉิ วฏฺฏํ ความว่า ตัดกิเลสวัฏได้เด็ดขาด ก็เมื่อตัดกิเลสวัฏได้แล้ว ก็เป็นอันชื่อว่าตัดกัมมวัฏได้ด้วย. ตัณหาท่านเรียกว่า อาสา ความหวัง ในคำว่า พฺยาคา นิราสํ นี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 667

พระนิพพาน ชื่อว่า นิราสะ เพราะไม่มีความหวัง ชื่อว่า พฺยาคา เพราะถึงคือบรรลุพระนิพพาน อันปราศจากความหวังนั้นโดยพิเศษ. อธิบายว่า เพราะบรรลุอรหัตมรรคแล้ว จึงชื่อว่าบรรลุโดยเว้นจากเหตุแห่งความบรรลุอีก.

เพราะเหตุที่ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ กิเลสชื่อว่าอันท่านยังละไม่ได้ด้วยการละนั้น ย่อมไม่มี ฉะนั้น เมื่อจะแสดงการละตัณหาให้พิเศษแก่ท่าน จึงตรัสคำว่า ตัณหาที่บุคคลให้เหือดแห้งแล้ว ย่อมไม่ไหลไป ดังนี้เป็นต้น.

คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ แม่น้ำ คือ ตัณหา อันบุคคลให้เหือดแห้งโดยไม่มีส่วนเหลือ ด้วยทำมรรคญาณที่ ๔ ให้เกิดขึ้น เหมือนแม่น้ำใหญ่เหือดแห้งไป เพราะปรากฏพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ในบัดนี้ ย่อมไม่ไหลไป คือ ตั้งแต่นี้ไป ย่อมไม่เป็นไป. ก็ตัณหาท่านเรียกว่า สริตา. อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

โสมนัสทั้งหลาย อันซ่านไป และมีใยยางย่อมมีแก่สัตว์.

และว่า ตัณหา อันชื่อว่าสริตา ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ดุจเครือเถา.

บทว่า ฉินฺนํ วฏฺฏํ น วตฺตติ ความว่า วัฏฏะอันขาดแล้ว ด้วยการตัดขาดกิเลสวัฏอย่างนี้ กัมมวัฏที่ตัดขาด ด้วยการให้ถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรม และความไม่มีวิบากเป็นธรรม ย่อมไม่เป็นไป คือ ย่อมไม่เกิด.

บทว่า เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส ความว่า ความไม่เป็นไปแห่งกัมมวัฏเพราะกิเลสวัฏไม่มีโดยประการทั้งปวงนั้น คือ ความไม่เกิดขึ้นแห่งวิปากวัฏต่อไป

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 668

โดยส่วนเดียวแท้ๆ เป็นที่สุด เป็นเขตกำหนด เป็นภาวะที่หมุนเวียนของสังสารทุกข์ แม้ทั้งสิ้น.

จบอรรถกถาทุติยภัททิยสูตรที่ ๒