พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมภัททิยสูตร ว่าด้วยผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35342
อ่าน  348

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 660

จูฬวรรคที่ ๗

๑. ปฐมภัททิยสูตร

ว่าด้วยผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 660

จูฬวรรคที่ ๗

๑. ปฐมภัททิยสูตร

ว่าด้วยผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว

[๑๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระลกุณฐกภัททิยะเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาโดยอเนกปริยาย ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระลกุณฐกภัททิยะให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาโดยอเนกปริยาย จิตของท่านพระลกุณฐกภัททิยะหลุดพ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระลกุณฐกภัททิยะผู้อันท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาโดยอเนกปริยาย จิตของท่านพระลกุณฐกภัททิยะหลุดพ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วในสิ่งทั้งปวงในเบื้องบนในเบื้องต่ำ ไม่ตามเห็นว่า เราเป็นนี้ บุคคลพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะที่ตนยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก.

จบปฐมภัททิยสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 661

จูฬวรรควรรณนาที่ ๗

อรรถกถาปฐมภัททิยสูตร

จูฬวรรค ปฐมภัททิยสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ภทฺทิโย ในคำว่า ลกุณฺฏกภทฺทิยํ นี้ เป็นชื่อของท่านผู้มีอายุนั้น. ก็เพราะท่านมีรูปร่างเตี้ย เขาจึงจำท่านได้ว่า ลกุณฏกภัททิยะ. (๑)

เล่ากันมาว่า ท่านเป็นกุลบุตรชาวกรุงสาวัตถี มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก แต่มีรูปร่างไม่น่าเลื่อมใส มีวรรณะไม่งาม ไม่น่าดู ค่อม. วันหนึ่ง เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ท่านพร้อมด้วยอุบาสก ไปยังวิหาร ฟังธรรมเทศนา กลับได้ศรัทธา ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา บำเพ็ญวิปัสสนา บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว. ในกาลนั้น เหล่าภิกษุผู้เสกขบุคคลโดยมากเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ขอกัมมัฏฐาน ขอฟังธรรมเทศนา ถามปัญหาเพื่อมรรคเบื้องสูง. ท่านพระสารีบุตร เมื่อจะทำความประสงค์ของท่านเหล่านั้นให้บริบูรณ์ จึงบอกกัมมัฏฐาน แสดงธรรม แก้ปัญหา. ภิกษุเหล่านั้นพากเพียรพยายามอยู่ บางพวกบรรลุสกทาคามิผล บางพวกบรรลุอนาคามิผล บางพวกบรรลุอรหัตผล บางพวกได้วิชา ๓ บางพวกได้อภิญญา ๖ บางพวกได้ปฏิสัมภิทา ๔. ฝ่ายท่านลกุณฏกภัททิยะเห็นเหตุนั้นแล้ว ถึงเป็นพระเสขบุคคล ก็รู้จักกาล และกำหนดความที่ตนบกพร่องในทางจิต เข้าไปหาพระธรรมเสนาบดี ได้รับการปฏิสันถารแล้ว ขอให้แสดงธรรมเทศนา. ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีก็ได้แสดงธรรมอันเหมาะสมแก่อัธยาศัยของท่าน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร แสดงกะท่านลกุณฏกภัททิยะ ด้วยธรรมีกถา โดยอเนกปริยายเป็นต้น.


(๑) บาลีเป็น ลกุณฐกภัททิยะ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 662

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกปริยาเยน ความว่า ด้วยเหตุมากมายอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ เบญจขันธ์จึงเป็นของไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้ เบญจขันธ์จึงเป็นทุกข์ แม้เพราะเหตุนี้ เบญจขันธ์จึงเป็นอนัตตา.

บทว่า ธมฺมิยา กถาย ได้แก่ ด้วยธรรมีกถาอันประกาศความเกิดและดับไปเป็นต้น แห่งอุปาทานขันธ์ ๕.

บทว่า สนฺทสฺเสติ ได้แก่ แสดงโดยชอบซึ่งลักษณะ มีอนิจลักษณะเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล และญาณมีอุทยัพพยญาณเป็นต้น คือ แสดงโดยประจักษ์ ดุจเอามือจับ.

บทว่า สมาทเปติ ความว่า ให้ถือเอาโดยชอบซึ่งวิปัสสนา อันมีลักษณะเป็นอารมณ์ในลักษณะเหล่านั้น คือ ให้ถือเอาโดยประการที่จิตดำเนินไปตามวิถี.

บทว่า สมุตฺเตเชติ ความว่า เมื่อเริ่มวิปัสสนา เมื่ออุทยัพพยญาณเป็นต้นแห่งสังขารปรากฏ ท่านย่อมยังวิปัสสนาให้หยั่งลงสู่วิถีอันเป็นสายกลางโดยอนุวัตตามโพชฌงค์ ด้วยการประคอง การข่ม และการพิจารณาตามเวลาแล้ว ยังวิปัสสนาจิตให้เกิดความอาจหาญโดยชอบ คือ ให้ผ่องแผ้ว ด้วยการทำวิปัสสนาจิตให้หมดจด เพราะกระทำอินทรีย์ให้หมดจด เหมือนวิปัสสนาญาณนำมาซึ่งความเป็นธรรมชาติกล้า ผ่องใส ฉะนั้น.

บทว่า สมฺปหํเสติ ความว่า ย่อมยังจิตให้ร่าเริงโดยชอบ หรือให้ยินดีด้วยดี โดยความยินดีที่ได้มาโดยการเจริญวิปัสสนา อันให้เป็นไปอยู่อย่างนั้น ให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ และโดยพลังแห่งภาวนาที่จะพึงได้สูงๆ ขึ้นไป.

บทว่า อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตํ วิมุจฺจิ ความว่า เมื่อเธอพิจารณาลักษณะที่ถ่องแท้ ยังญาณให้เป็นไปตามกระแสเทศนา เพราะเธอถึงความแก่กล้าแห่งญาณตามอานุภาพเทศนาของพระเถระ และเพราะตนสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย โดยประการที่พระธรรมเสนาบดีแสดงธรรม จิตของ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 663

ท่านไม่ยึดอาสวะอะไรๆ มีกามาสวะเป็นต้น หลุดพ้นโดยเด็ดขาดตามลำดับแห่งมรรค อธิบายว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบโดยอาการทั้งปวงซึ่งอรรถนี้ กล่าวคือ ท่านพระลกุณฏกภัททิยะยินดีในพระอรหัตผลแล้ว จึงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺธํ ได้แก่ ในรูปธาตุ และอรูปธาตุ. บทว่า อโธ แปลว่า ในกามธาตุ.

บทว่า สพฺพธิ แปลว่า ในสังขารแม้ทั้งหมด.

บทว่า วิปฺปมุตฺโต ได้แก่ หลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวงด้วยวิกขัมภนวิมุตติในส่วนเบื้องต้น และด้วยสมุจเฉทวิมุตติ และปฏิปัสสัทธิวิมุตติในส่วนเบื้องปลาย.

ก็ในบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อุทฺธํ วิปฺปมุตฺโต นี้ ทรงแสดงถึงการละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕. ด้วยบทว่า อโธ วิปฺปมุตฺโต นี้ ทรงแสดงถึงการละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕.

ด้วยคำว่า สพฺพธิ วิปฺปมุตฺโต นี้ ทรงแสดงถึงการละอกุศลทั้งปวงที่เหลือ.

อีกอย่างหนึ่ง. บทว่า อุทฺธํ เป็นศัพท์แสดงอนาคตกาล. บทว่า อโธ เป็นศัพท์แสดงอดีตกาล. ด้วยศัพท์ทั้งสองนั้นแหละ เป็นอันถือเอาปัจจุบันนัทธา เพราะเกี่ยวกับระหว่างอดีตกาลกับอนาคตกาล. ในสองศัพท์นั้น ด้วยอนาคตกาลศัพท์ เป็นอันถือเอาขันธ์ อายตนะ ธาตุ อันเป็นอนาคต. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า สพฺพธิ ได้แก่ ในภพทั้งปวงมีกามภพเป็นต้น. มีคำอธิบายดังต่อไปนี้ว่า หลุดพ้นแล้วในภพทั้งปวง ที่สงเคราะห์ด้วย ๓ กาล อย่างนี้ คือ อนาคตกาล อดีตกาล และปัจจุบันนกาล.

บทว่า อยมหมสฺมีติ อนานุปสฺสิ ความว่า ผู้ใดหลุดพ้นอย่างนี้ ผู้นั้นย่อมไม่ตามเห็นในรูปเวทนาเป็นต้นอย่างนี้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 664

โดยสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐิและมานะว่า เราเป็นธรรมชื่อนี้ อธิบายว่า ผู้นั้นไม่มีเหตุในทัสนะเช่นนั้น.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อยมหมสฺมีติ อนานุปสฺสิ นี้ เป็นบทแสดงอุบายเครื่องบรรลุวิมุตติตามที่กล่าวแล้ว. วิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินีอันเป็นส่วนเบื้องต้น อันกระทำความไม่ตั้งมั่นด้วยความสำคัญอันมีสภาวะที่เป็นไปในสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ ซึ่งสงเคราะห์ด้วยกาล ๓ ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวของเรา แล้วเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวของเรา ดังนี้ วิปัสสนานั้นเป็นปทัฏฐานของวิมุตติ.

บทว่า เอวํวิมุตฺโต อุทตาริ โอฆํ อติณฺณปุพฺพํ อปุนพฺภวาย ความว่า พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวงจากสังโยชน์ ๑๐ และจากอกุศลทั้งปวงด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามโอฆะ ๔ อย่างนี้ คือ โอฆะคือกาม ๑ โอฆะคือภพ ๑ โอฆะคือทิฏฐิ ๑ โอฆะคืออวิชชา ๑ ที่ตนยังไม่เคยข้าม แม้ในที่สุดแห่งความฝัน ในกาลก่อนแต่การบรรลุอริยมรรค หรือข้ามขึ้น คือข้ามพ้นโอฆะใหญ่ คือสงสารนั่นเอง โดยไม่มีภพใหม่ คือ โดยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อธิบายว่า ข้ามพ้น ดำรงอยู่ในฝั่ง.

จบอรรถกถาปฐมภัททิยสูตรที่ ๑