พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. โคปาลสูตร ว่าด้วยตรัสให้เห็นแจ้งสมาทานอาจหาญร่าเริง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35314
อ่าน  406

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 418

๓. โคปาลสูตร

ว่าด้วยตรัสให้เห็นแจ้งสมาทานอาจหาญร่าเริง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 418

๓. โคปาลสูตร

ว่าด้วยตรัสให้เห็นแจ้งสมาทานอาจหาญร่าเริง

[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแวะออกจากทางแล้ว เสด็จเข้าไปยังโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วประทับนั่งที่อาสนะอันบุคคลปูลาดไว้แล้ว ครั้งนั้นแล นายโคบาลคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้นายโคบาลนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้นแล นายโคบาลนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจ้งให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงรับภัตของข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้เถิด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ลำดับนั้นแล นายโคบาลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว ลุกออกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป พอล่วงราตรีนั้นไป นายโคบาลสั่งให้ตกแต่งข้าวปายาส มีน้ำน้อย และสัปปิใหม่ อันเพียงพอ ในนิเวศน์ของตน แล้วให้กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตเสร็จแล้ว ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายโคบาลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วประทับนั่งที่อาสนะที่เขาปูลาดถวาย ลำดับนั้นแล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 419

นายโคบาลอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยข้าวปายาสมีน้ำน้อยและสัปปิใหม่ให้อิ่มหนำสำราญด้วยมือของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ ชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว นายโคบาลถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้นายโคบาลนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป.

[๙๒] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน บุรุษคนหนึ่งได้ปลงชีวิตนายโคบาลนั้นในระหว่างเขตบ้าน ลำดับนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า นายโคบาลอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวปายาสมีน้ำน้อยและสัปปิใหม่ด้วยมือของตนในวันนี้แล้ว ถูกบุรุษคนหนึ่งปลงชีวิตเสียแล้วในระหว่างเขตบ้าน.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

โจรหัวโจกเห็นโจรหัวโจกแล้ว พึงทำความฉิบหายหรือความทุกข์ให้ ก็หรือคนมีเวรเห็นคนมีเวรแล้ว พึงทำความฉิบหายหรือความทุกข์ให้ จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงยังเขาให้เลวกว่านั้น.

จบโคปาลสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 420

อรรถกถาโคปาลสูตร

โคปาลสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โกสเลสุ ความว่า พระราชกุมารชาวชนบท ชื่อว่าโกศล. ชนบทแห่งหนึ่ง อันเป็นที่อยู่ของพระราชกุมารเหล่านั้น ก็เรียกว่าโกศลเหมือนกัน ในโกศลชนบทนั้น.

บทว่า จาริกํ จรติ ได้แก่ เสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบท โดยเสด็จไปอย่างไม่รีบด่วน.

บทว่า มหตา ความว่า ชื่อว่าใหญ่ เพราะใหญ่โดยคุณบ้าง ชื่อว่าใหญ่ เพราะใหญ่โดยจำนวน เพราะกำหนดนับไม่ได้บ้าง.

บทว่า ภิกฺขุสงฺเฆน ได้แก่ ด้วยหมู่สมณะอันทัดเทียมกันด้วยทิฏฐิและศีล.

บทว่า สทฺธึ แปลว่า ด้วยกัน.

บทว่า มคฺคา โอกฺกมฺม แปลว่า แวะออกจากทาง.

บทว่า อญฺตรํ รุกฺขมูลํ ได้แก่ มูล กล่าวคือ ที่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ มีใบเขียวทึบ มีร่มเงาสนิท.

บทว่า อญฺตโร โคปาลโก ความว่า ผู้รักษาฝูงโคคนหนึ่ง โดยชื่อ ชื่อว่านันทะ. ได้ยินว่า นายนันทะนั้นเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก รักษาฝูงโคของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หลีกเลี่ยงการกดขี่ของพระราชาโดยทำเป็นคนเลี้ยงโค รักษาทรัพย์ของตน เหมือนเกณิยชฎิลหลีกเลี่ยงการกดขี่ด้วยเพศบรรพชาฉะนั้น. เขาถือเอาปัญจโครสตามกาลเวลามายังสำนักของมหาเศรษฐีแล้วมอบให้ แล้วไปยังสำนักพระศาสดา พบพระศาสดา ฟังธรรม และอ้อนวอนพระศาสดาเพื่อเสด็จมายังที่อยู่ของตน. พระศาสดาทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของเธอนั่นแหละ ภายหลังทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกไปในชนบท ทราบว่า บัดนี้ เธอมีญาณแก่กล้าแล้ว จึงเสด็จแวะลงจากทางไม่ไกลแต่ที่ที่เธออยู่ ประทับนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง รอการมาของเธอ, ผ่ายนายนันทะทราบว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 421

ข่าวว่า พระศาสดาเสด็จจาริกชนบทไปจากนี้ จึงหรรษาร่าเริง รีบไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม อันพระศาสดาทรงกระทำปฏิสันถาร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เธอ. เธอดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ถวายข้าวปายาส ๗ วัน. ในวันที่ ๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จหลีกไป. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงนายโคบาลนั้น ผู้นั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล ด้วยธรรมีกถา ฯลฯ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺทสฺเสสิ ความว่า พระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมมีกุศลเป็นต้น วิบากของกรรม โลกนี้โลกหน้า โดยประจักษ์ ในนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ในเวลาจบอนุบุพพิกถา จึงทรงชี้แจงอริยสัจ ๔.

บทว่า สมาทเปสิ ความว่า ให้เธอยึดเอาธรรมมีศีลเป็นต้นโดยชอบ คือ ให้เธอตั้งอยู่ในธรรมมีศีลเป็นต้นนั้น โดยนัยมีอาทิว่า เพื่อบรรลุสัจจะ เธอให้ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในตน.

บทว่า สมุตฺเตเชสิ ความว่า ทรงให้ธรรมเหล่านั้นที่สมาทาน แล้วอบรมโดยลำดับ อันเป็นส่วนแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ มีความเข้มแข็ง และสละสลวย ให้อาจหาญโดยชอบ คือ ให้รุ่งเรืองโดยชอบทีเดียว โดยประการที่จะนำมาซึ่งอริยมรรคโดยพลัน.

บทว่า สมฺปหํเสสิ ความว่า ทรงให้ร่าเริงด้วยดี โดยทำจิตให้ผ่องแผ้ว ด้วยการแสดงภาวะแห่งภาวนา มีคุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย. อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้ พึงทราบการชี้แจงด้วยบรรเทาสัมโมหะในธรรมที่มีโทษและหาโทษมิได้ และในสัจจะ มีทุกขสัจเป็นต้น การให้สมาทานด้วยการบรรเทาความประมาทใน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 422

สัมมาปฏิบัติ การให้อาจหาญด้วยการบรรเทาการถึงความคร้านแห่งจิต และความร่าเริงด้วยการสำเร็จสัมมาปฏิบัติ. ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

บทว่า อธิวาเสสิ ความว่า พระองค์ผู้อันนายโคบาลนั้น ผู้มีสัจจะอันเห็นแล้วทูลนิมนต์โดยนัยมีอาทิว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ของข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า ไม่ทรงทำองค์คือกายและวาจาให้ไหว ทรงรับ คือ ยินดีด้วยพระทัยนั่นเอง. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า ตุณฺหีภาเวน.

บทว่า อปฺโปทกปายาสํ แปลว่า ข้าวปายาสมีน้ำน้อย.

บทว่า ปฏิยาทาเปตฺวา แปลว่า จัดแจง คือ ตระเตรียม.

บทว่า นวญฺจ สปฺปึ ได้แก่ เอาเนยข้นมาปรุงให้เหลวและให้เป็นเนยใสในขณะนั้นนั่นเอง.

บทว่า สหตฺถา ความว่า เกิดความเอื้อเฟื้อ อังคาสด้วยมือของตนเอง.

บทว่า สนฺตปฺเปสิ ความว่า ให้เสวยโภชนะที่จัดแจงไว้.

บทว่า สมฺปวาเรสิ ได้แก่ ทรงห้ามด้วยพระวาจาว่า พอละ พอละ.

บทว่า ภุตฺตาวึ ได้แก่ กิจ คือ การเสวยพระกระยาหาร.

บทว่า โอนีตปตฺตปาณึ ได้แก่ ละพระหัตถ์จากบาตร. ปาฐะว่า โธตปตฺตปาณึ ดังนี้ก็มี. ความว่า ล้างพระหัตถ์ในบาตร.

บทว่า นีจํ แปลว่า ไม่สูง. การถือเอาอาสนะ (ที่ไม่สูง) แล้วนั่งบนอาสนะนั้นแหละ เป็นจารีตของผู้อยู่ในอารยประเทศ ก็เธอนั่งในที่ใกล้อาสนะอันทำด้วยแผ่นกระดานที่จัดไว้โดยเป็นอุปจาร ในสำนักพระศาสดา.

บทว่า ธมฺมิยา กถาย เป็นต้น ตรัสหมายเอาอนุโมทนาที่ทรงกระทำในวันที่ ๗. ได้ยินว่า เธอนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุอยู่ในที่นั้นตลอด ๗ วัน แล้วบำเพ็ญมหาทาน.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 423

ก็ในวันที่ ๗ ได้ถวายมธุปายาสมีน้ำน้อย. พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จหลีกไปเลย เพราะเธอไม่มีญาณแก่กล้าเพื่อมรรคชั้นสูงในอัตภาพนั้น.

บทว่า สีมนฺตริกาย ได้แก่ ในระหว่างแดน คือ ในระหว่างบ้านนั้น. ได้ยินว่า พวกชาวบ้านอาศัยสระแห่งหนึ่ง ได้ทำการทะเลาะกับเธอ. เธอข่มพวกชาวบ้านนั้นแล้วยึดเอาสระนั้น. เพราะเหตุนั้น ชายคนหนึ่งจึงผูกอาฆาต ใช้ลูกศรยิงฆ่าเธอ ผู้ถือบาตรของพระศาสดาตามส่งไปไกล เมื่อพระองค์ตรัสว่า กลับเถอะ อุบาสก เธอจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณ และกระทำอัญชลีภิกษุสงฆ์ แล้วประคองอัญชลีอันรุ่งโรจน์ด้วยทสนขสโมธาน จนกระทั่งลับสายตา แล้วกลับไปแต่ผู้เดียวในอรัญประเทศ ในระหว่างบ้านทั้งสอง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อจีรปกฺกนฺตสฺสฯ เปฯ โวโรเปสิ ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลายผู้ล่าช้าด้วยกรณียกิจบางอย่างไปทีหลัง เห็นนายโคบาลตายเช่นนั้น จึงกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า อถ โข สมฺพหุลา ภิกฺขู ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบเนื้อความนี้ว่า เพราะเหตุที่บุรุษผู้ฆ่านันทะ อริยสาวกผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ขวนขวายแต่อนันตริยกรรมซึ่งมิใช่บุญมากมาย ฉะนั้น จิตที่ตั้งไว้ผิดของสัตว์เหล่านี้ ย่อมกระทำกรรมอันร้ายแรงกว่ากรรมที่โจรกับคนผู้มีเวรพึงทำแก่กัน ดังนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้อันแสดงเนื้อความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิโส ทิสํ ความว่า โจรโจกเห็นโจรโจก คือ โจรเห็นโจร. บาลีที่เหลือว่า ทิสฺวา พึงนำมาเชื่อมเข้า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 424

บทว่า ยนฺตํ กยิรา ได้แก่ พึงกระทำความวอดวายให้แก่โจรหรือคนผู้มีเวรนั้น. แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า โจรผู้มักประทุษร้ายมิตรคนหนึ่ง ผิดในวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ มีบุตร ภรรยา นา สวน โค และกระบือเป็นต้นของโจรคนหนึ่ง ตนผิดต่อโจรใด เห็นโจรแม้นั้นผิดในตนเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็หรือว่า คนมีเวรเห็นคนมีเวร ผู้ผูกเวรด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง พึงกระทำความวอดวายให้แก่ผู้มีเวรนั้น หรือพึงเบียดเบียนบุตรและภรรยา ก็หรือว่าพึงปลงเขาเสียจากชีวิต เพราะความที่ตนเป็นคนหยาบช้าทารุณ จิตที่ชื่อว่าตั้งไว้ผิด เพราะตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ พึงทำเขาให้เลวกว่านั้น คือ พึงทำบุรุษนั้นให้เลวกว่านั้น. ความจริง โจรโจกหรือคนมีเวรมีประการดังกล่าวแล้ว พึงทำทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่โจรโจกหรือคนมีเวร หรือทำโจรโจกหรือคนมีเวรให้สิ้นชีวิตในอัตภาพนี้เท่านั้น ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ ย่อมทำเขาให้ถึงความวอดวายในปัจจุบันนี้นั่นแหละ ย่อมซัดไปในอบาย ๔ ไม่ให้เขาเงยศีรษะขึ้นได้ แม้ในแสนอัตภาพ.

จบอรรถกถาโคปาลสูตรที่ ๓