พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อุทธตสูตร ว่าด้วยอํานาจแห่งมาร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35313
อ่าน  374

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 413

๒. อุทธตสูตร

ว่าด้วยอํานาจแห่งมาร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 413

๒. อุทธตสูตร

ว่าด้วยอำนาจแห่งมาร

[๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่สาลวัน อันเป็นที่เสด็จประพาสของมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ใกล้กรุงกุสินารา ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง กลับกลอก ปากกล้า วาจาพล่อย มีสติหลงลืม ไม่สำนึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ อยู่ในกุฎีที่เขาสร้างไว้ในป่า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้น ผู้มีจิตฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง กลับกลอก ปากกล้า วาจาพล่อย มีสติหลงลืม ไม่สำนึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ อยู่ในกุฎีที่เขาสร้างไว้ในป่า ในที่ไม่ไกล.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ภิกษุมีกายไม่รักษาแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ และถูกถีนมิทธะครอบงำแล้ว ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมาร เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 414

รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้วครอบงำถีนมิทธะ พึงละทุคติทั้งหมดได้.

จบอุทธตสูตรที่ ๒

อรรถกถาอุทธตสูตร

อุทธสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กุสินารายํ ได้แก่ ใกล้นครของเจ้ามัลละ ชื่อว่ากุลินารา.

บทว่า อุปวตฺตเน มลฺลานํ สาลวเน ความว่า อุทยานแห่งกุสินารานคร มีอยู่ในทักษิณทิศและปัจฉิมทิศ เหมือนถูปารามแห่งอนุราธบุรี. ทางจากถูปารามเข้าไปยังนครโดยประตูด้านทักษิณทิศ ตรงไปด้านปาจีนทิศ วกกลับทางด้านอุดรทิศ ฉันใด แนวไม้สาละจากอุทยานตรงไปด้านปาจีนทิศ วกกลับทางด้านอุตรทิศ ก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า อุปวัตตนะ เป็นที่แวะเวียน (ทางโค้ง). ในสาลวันของเจ้ามัลละอันเป็นที่แวะเวียนนั้น.

บทว่า อรญฺกุฏิกายํ ได้แก่ กระท่อมที่สร้างไว้ในที่อันดาดาษไปด้วยต้นไม้และกอไม้ ไม่ไกลจากแถวต้นสาละซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า อรญฺกุฏิกายํ วิหรนฺติ. ก็ภิกษุเหล่านั้นเว้นการพิจารณา มีความเพียรย่อหย่อน อยู่ด้วยความประมาท. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุทฺธตา ดังนี้เป็นต้น.

ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ชื่อว่า อุทธตะ เพราะมีจิตไม่สงบ เหตุมากไปด้วยอุทธัจจะ. มานะชื่อว่านฬะ เพราะเป็นเหมือนไม้อ้อ โดยเป็นของเปล่า. ภิกษุชื่อว่า อุนนฬะ เพราะมีนฬะ กล่าวคือ มานะสูง อธิบายว่า มีมานะสูงเปล่า. ชื่อว่า จปละ เพราะประกอบหรือมากไปด้วยความกวัดแกว่ง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 415

มีประดับบาตรและจีวรเป็นต้น. ชื่อว่า มุขระ เพราะมีปากกล้า เหตุมีวาจาหยาบ. ชื่อว่า วิกิณณวาจา เพราะมีวาจาพล่อย คือ เหลวไหล เหตุมากไปด้วยดิรัจฉานกถา. ชื่อว่า มุฏฐัสสติ เพราะมีสติหลงลืม. อธิบายว่า เว้นจากสติ คือ อยู่ด้วยความประมาท. ชื่อว่า อสัมปชานะ เพราะไม่มีสัมปชัญญะโดยประการทั้งปวง. ชื่อว่า อสมาหิตะ เพราะมีจิตไม่ตั้งมั่น โดยไม่มีความตั้งมั่นแห่งจิต ตลอดเวลามีการพูดคุยเป็นประมาณ. ชื่อว่า วิพภันตจิตตะ เพราะมีส่วนเปรียบด้วยมฤคตื่นตูม เหตุมีความโลเลเป็นสภาวะ. ชื่อว่า ปากตินทรีย์ เพราะเป็นผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยไม่สำรวมอินทรีย์ มีมนินทรีย์เป็นที่ ๖.

บทว่า เอตมตฺถํ วิหิตฺวา ความว่า ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นอยู่ด้วยความประมาท ด้วยอำนาจอุทธัจจะเป็นต้นนี้.

บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้อันประกาศโทษและอานิสงส์ตามลำดับ ในการอยู่ด้วยความประมาทและอยู่ด้วยความไม่ประมาท.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรกฺขิเตน ความว่า ชื่อว่าไม่คุ้มครอง เพราะไม่มีสติเป็นอารักขา.

บทว่า กาเยน ได้แก่ ด้วยกายวิญญาณ ๖. ก็เพราะเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ แล้วไม่ใช้สติรักษาทวารแห่งวิญญาณ โดยให้อภิชฌาเป็นต้นเกิดด้วยการถือนิมิตและอนุพยัญชนะในรูปนั้น. แม้ในโสตวิญญาณก็นัยนี้เหมือนกัน. พระองค์ตรัสว่า อรกฺขิเตน กาเยน หมายถึงความที่ภิกษุไม่รักษาวิญญาณกาย ๖ ด้วยอาการอย่างนี้. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวอรรถว่า กาเยน ดังนี้. พึงประกอบสติด้วยอรรถโยชนาของอาจารย์บางพวกแม้เหล่านั้น โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า อรกฺขิเตน จิตฺเตน. อรรถของอาจารย์อีกพวกหนึ่งแม้นั้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 416

บทว่า มิจฺฉาทิฏฺิหเตน ได้แก่ ถูกความถือผิดว่าเที่ยงเป็นต้นประทุษร้ายแล้ว.

บทว่า ถีนมิทฺธาภิภูเตน ความว่า ถูกถีนะอันมีความที่จิตไม่ควรแก่การงานเป็นลักษณะ และถูกมิทธะมีความที่กายไม่ควรแก่การงานเป็นลักษณะครอบงำแล้ว เชื่อมความว่าด้วยกายนั้น หรือว่าด้วยจิตนั้น.

บทว่า วสํ มารสฺส คจฺฉติ ความว่า เข้าถึงอำนาจ คือ ความที่ตนถูกมารทั้งหมดมีกิเลสมารเป็นต้นทำเอาตามปรารถนา อธิบายว่า ไม่ล่วงเลยวิสัยของมารเหล่านั้นไปได้.

จริงอยู่ ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงวัฏฏะโดยมุข คือ ทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นผู้อยู่ด้วยความประมาทว่า ภิกษุเหล่าใด ไม่รักษาจิตโดยประการทั้งปวง เพราะไม่มีสติเป็นอารักขา ผู้ยึดถือการแสวงหาผิดโดยนัยมีอาทิว่าเที่ยง โดยอโยนิโสผุดขึ้น เพราะไม่มีปัญญาอันเป็นเหตุแห่งโยนิโสมนสิการ เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ภิกษุเหล่านั้นจึงชื่อว่าถูกโกสัชชะครอบงำ เพราะไม่มีวิริยารัมภะในการบำเพ็ญกุศล จักเงยศีรษะขึ้นจากวัฏฏะไม่ได้ บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะ (คือ นิพพาน) จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส ดังนี้ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสสฺส ความว่า ก็เพราะเหตุที่ภิกษุผู้ไม่รักษาจิต ถูกมารทำเอาตามประสงค์ จึงอยู่ในสงสารเท่านั้น ฉะนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิตด้วยรักษาคือปิดกั้นอินทรีย์ทั้งหลาย มีมนินทรีย์เป็นที่ ๖ ด้วยสติสังวร. เพราะเมื่อเธอรักษาจิตได้แล้ว เป็นอันชื่อว่ารักษาอินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้นได้ด้วยแล.

บทว่า สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร ความว่า เพราะเหตุที่ภิกษุมีมิจฉาสังกัปปะเป็นอารมณ์ จึงตรึกโดยไม่แยบคาย ยึดถือมิจฉาทัสสนะต่างๆ มีจิตอันมิจฉาทิฏฐิขจัดแล้ว

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 417

เป็นผู้ถูกมารทำเอาตามปรารถนา ฉะนั้น เมื่อจะทำกรรมโดยโยนิโสมนสิการ พึงเป็นผู้มีความดำริชอบ มีความดำริในการออกจากกามเป็นต้นเป็นอารมณ์ พึงกระทำความดำริชอบอันสัมปยุตด้วยฌานเป็นต้นเท่านั้น ให้เป็นฐานที่เป็นไปแห่งจิตของตน.

บทว่า สมฺมาทิฏฺิปุเรกฺขาโร ความว่า ภิกษุผู้กำจัดมิจฉาทัสสนะด้วยความเป็นผู้มีสัมมาสังกัปปะเป็นอารมณ์ พุ่งมุ่งกระทำสัมมาทิฏฐิ. อันมีความดีที่สัตว์มีกรรมเป็นของตนเป็นเบื้องหน้าเป็นลักษณะ และต่อจากนั้นมียถาภูตญาณเป็นลักษณะ จึงขวนขวายประกอบในศีลและสมาธิ โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล เริ่มวิปัสสนา พิจารณาสังขาร รู้ความเกิดและความดับแห่งสังขาร กำหนดการเกิดและการดับในอุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยอาการ ๕๐ ถ้วน บรรลุอุทยัพพยญาณ ต่อจากนั้น จึงบำเพ็ญวิปัสสนาด้วยอำนาจภังคานุปัสสนาญาณเป็นต้น ยึดเอาอริยมรรคได้โดยลำดับ ชื่อว่าเป็นภิกษุผู้ครอบงำถีนมิทธะ ละทุคติทั้งปวงได้ด้วยอรหัตมรรคแล. ด้วยอาการอย่างนี้ เธอชื่อว่าเป็นภิกษุผู้ขีณาสพทำลายกิเลสโดยประการทั้งปวง เพราะละกิเลสอันมรรคเบื้องต่ำพึงฆ่าได้ก่อน เพราะตัดขาดถีนมิทธะอันเกิดในจิตตุปบาทที่เกิดพร้อมด้วยโลภะที่เป็นทิฏฐิวิปยุตด้วยอรหัตมรรคที่ตนบรรลุ จากนั้นจึงละกิเลสมีมานะเป็นต้น อันรวมอยู่ในฐานเดียวกันกับโลภะนั้น เพราะตัดมูลแห่งภพได้เด็ดขาด จึงชื่อว่าละ คือ ละขาดคติทั้งปวง กล่าวคือ ทุคติ เพราะประกอบด้วยความเป็นทุกข์ ๓ ประการ อธิบายว่า พึงตั้งอยู่ในส่วนอื่นของคติเหล่านั้น คือ ในพระนิพพาน.

จบอรรถกถาอุทธตสูตรที่ ๒