พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ปิณฑปาตสูตร ว่าด้วยภิกษุสนทนาเรื่องบิณฑบาต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35309
อ่าน  376

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 348

๘. ปิณฑปาตสูตร

ว่าด้วยภิกษุสนทนาเรื่องบิณฑบาต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 348

๘. ปิณฑปาตสูตร

ว่าด้วยภิกษุสนทนาเรื่องบิณฑบาต

[๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต นั่งประชุมกันในโรงกลมใกล้ต้นกุ่ม สนทนากันถึงเรื่องเป็นไปในระหว่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ย่อมได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจด้วยจักษุ ย่อมได้ฟังเสียงอันเป็นที่พอใจด้วยหู ย่อมได้ดมกลิ่นอันเป็นที่พอใจด้วยจมูก ย่อมได้ลิ้มรสอันเป็นที่พอใจด้วยลิ้น ย่อมได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอันเป็นที่พอใจด้วยกาย ตามกาลอันสมควร ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 349

เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ย่อมเที่ยวไปบิณฑบาต ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผิฉะนั้น เราทั้งหลายจงถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้เราทั้งหลายก็จักได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจด้วยจักษุ ได้ฟังเสียงอันเป็นที่พอใจด้วยหู ได้ดมกลิ่นอันเป็นที่พอใจด้วยจมูก ได้ลิ้มรสอันเป็นที่พอใจด้วยลิ้น ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอันเป็นที่พอใจด้วยกาย ตามกาลอันสมควร แม้เราทั้งหลายก็จักเป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง เที่ยวไปบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นสนทนากถาค้างอยู่ในระหว่างเพียงนี้ ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้วได้เสด็จเข้าไปถึงโรงกลมใกล้ต้นกุ่ม แล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเธอทั้งหลายสนทนาเรื่องอะไรค้างไว้ในระหว่าง ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต นั่งประชุมกันในโรงกลมใกล้ต้นกุ่มนี้ เกิดสนทนากันในระหว่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวไปบิณฑบาตอยู่ ย่อมได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจด้วยจักษุ... แม้เราทั้งหลายก็จักเป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง เที่ยวไปบิณฑบาต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนาเรื่องค้างไว้ในระหว่างนี้แล ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พึงกล่าว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 350

เรื่องเห็นปานนี้นั้น ไม่สมควรเลย เธอทั้งหลายประชุมกันแล้วพึงกระทำอาการ ๒ อย่าง คือ ธัมมีกถา หรือดุษณีภาพเป็นอริยะ.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ถ้าว่าภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญแล้วไซร้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน มิใช่ผู้เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่.

จบปิณฑปาตสูตรที่ ๘

อรรถกถาปิณฑปาตสูตร

ปิณฑปาตสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปจฺฉาภตฺตํ ความว่า แม้เวลาภายในเที่ยงวันของภิกษุถือเอกาสนิกังคธุดงค์และขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ผู้ฉันอาหารเช้าแล้ว ก็เป็นปัจฉาภัตเหมือนกัน. แต่ในที่นี้ ภายหลังแต่ฉันอาหารตามปกตินั่นแหละ พึงทราบว่า เป็นปัจฉาภัต.

บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺตานํ ความว่า ผู้กลับจากบิณฑบาต คือ แสวงหาบิณฑบาตแล้วกลับจากบิณฑบาตนั้น โดยทำภัตกิจให้สำเร็จ.

บทว่า กเรริ ในบทว่า กเรริมณฺฑลมาเฬ เป็นชื่อของไม้กุ่ม. เล่ากันว่า ไม้กุ่มนั้น อยู่ภายในระหว่างมณฑปกับศาลาพระคันธกุฎี ด้วยเหตุนั้น แม้พระคันธกุฎี ท่านเรียกว่า กเรริกุฏิกา. มณฑปก็ดี ศาลาก็ดี ท่านเรียกว่า กเรริมัณฑลมาฬ โรงกลมใกล้ต้นไม้กุ่ม. เพราะเหตุไร ในโรงกลม กล่าวคือ ศาลาที่นั่งซึ่งสร้างไว้ไม่ไกลต้นกุ่มนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 351

อาจารย์บางพวกกล่าวถึงหลังคาที่มุงด้วยหญ้าและใบไม้ฝนไม่รั่วรดว่า โรงกลม. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า มณฑปที่มุงด้วยเถาวัลย์ มีอติมุตตกเถาวัลย์เป็นต้น ชื่อว่าโรงกลม.

บทว่า กาเลน กาลํ ได้แก่ ในระหว่างเวลาหนึ่งๆ อธิบายว่า ในสมัยนั้นๆ.

บทว่า มนาปิเก แปลว่า น่าเจริญใจ อธิบายว่า ปิยรูปที่น่าปรารถนา. ก็ความเป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ พึงถือเอาด้วยอำนาจบุคคล และด้วยอำนาจทวาร. จริงอยู่ ความเป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์นั้น เข้าใจกันว่า เป็นสิ่งน่าปรารถนาของคนบางคน ไม่น่าปรารถนาของคนบางคน สมมติว่า ไม่น่าปรารถนาของคนบางคน น่าปรารถนาของคนบางคน. อนึ่ง น่าปรารถนาของทวารหนึ่ง ไม่น่าปรารถนาของทวารหนึ่ง. แต่ในที่นี้ พึงทราบวินิจฉัยด้วยอำนาจวิบาก จริงอยู่ กุศลวิบาก น่าปรารถนาโดยส่วนเดียว อกุศลวิบาก ไม่น่าปรารถนาเลยแล.

บทว่า จกฺขุนา รูเป ปสฺสิตุํ ความว่า ภิกษุไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อพวกอุบาสกนิมนต์ให้เข้าไปยังเรือน นำอาสนะและเพดานเป็นต้นเข้าไป เพื่อทำการบูชาสักการะ ได้เห็นรูปที่น่ายินดี กล่าวคือ รูปที่รุ่งเรืองด้วยความงดงามต่างๆ และรูปที่มีวิญญาณครองอย่างอื่น ด้วยวิญญาณอันไปทางจักษุทวาร.

บทว่า สทฺเท ความว่า ภิกษุเข้าไปสู่เรือนอิสรชน ได้ยินเสียงเพลงขับและประโคม ที่เขาบรรเลงเพื่ออิสรชนเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

บทว่า คนฺเธ ความว่า เพื่อดมกลิ่น มีกลิ่นดอกไม้และกลิ่นธูปเป็นต้น ที่เขาเหล่านั้นน้อมเข้านำเข้าไป โดยบูชาและสักการะก็เหมือนกัน.

บทว่า รเส ความว่า เพื่อลิ้มรสเลิศต่างๆ ในการบริโภคอาหารที่เขาเหล่านั้นถวาย.

บทว่า โผฏฺพฺเพ ความว่า เพื่อถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ เป็นสุขสัมผัส

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 352

ในกาลนั่งบนอาสนะที่ลาดไว้มีค่ามาก. ก็แล ครั้นทรงระบุถึงการได้อิฏฐารมณ์ที่เป็นไปทางทวาร ๕ ดังกล่าวมาแล้วนี้ บัดนี้เพื่อแสดงการได้อิฏฐารมณ์ที่เป็นไปทางมโนทวาร จึงตรัสคำมีอาทิว่า สกฺกโต ดังนี้. คำนั้นมีอรรถดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.

ถามว่า ก็นัยนี้ สำหรับภิกษุผู้ไม่ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ย่อมไม่ได้หรือ?

ตอบว่า ได้. จริงอยู่ ในเวลาที่ภิกษุแม้เหล่านั้น เข้าไปยังบ้าน เพื่อนิมันตภัตและสลากภัตเป็นต้น อุบาสกทั้งหลาย ผู้มีสมบัติมาก ย่อมกระทำสักการะและสัมมานะเช่นนั้นเหมือนกัน. แต่ข้อนั้น ไม่แน่นอนนัก. ส่วนสำหรับภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แน่นอนในกาลนั้น. ภิกษุเหล่านั้น เห็นเขากำลังทำการบูชาและสักการะในที่นั้น ดำรงอยู่ในทางไม่เป็นที่สลัดออก (จากทุกข์) เพราะยังหนักในสักการะ จึงกล่าวอย่างนั้น ด้วยอโยนิโสมนสิการ. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล จึงกล่าวคำมีอาทิว่า หนฺทาวุโส มยํ ปิณฺฑปาติกา โหม อาวุโส ช่างเถิด พวกเราเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร.

บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า สละ.

บทว่า ลจฺฉาม แปลว่า จักได้.

บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พระองค์ประทับนั่งในพระคันกุฎีมีกลิ่นหอมนั้น ทรงสดับการเจรจาปราศรัยนั้นของภิกษุเหล่านั้น จึงเสด็จเข้าไปยังโรงกลม ด้วยหมายพระทัยว่า ภิกษุเหล่านี้ บวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา แม้อยู่ในวิหารเดียวกันกับเรา ก็ยังใช้ถ้อยคำโดยอโยนิโสมนสิการอย่างนี้ ไม่ประพฤติในการขัดเกลา เอาเถิด เราจักห้ามภิกษุเหล่านั้นจากเหตุนั้น แล้วประกอบ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 353

ไว้ในธรรมเป็นเครื่องอยู่ขัดเกลา. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบเนื้อความนี้ว่า แม้เทพทั้งหลาย ย่อมกระหยิ่มต่อท่านผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพื่อกำจัดกิเลส เพื่อทำตัณหาให้เหือดแห้ง ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลาคือมักน้อยและสันโดษ เกิดความเอื้อเฟื้อในการปฏิบัติประพฤติรักใคร่ต่อท่าน ไม่ประพฤติรักใคร่อย่างอื่นจากนี้ ดังนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงเนื้อความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โน เจ สิโลกนิสฺสิโต ความว่า หากไม่อยากได้อาศัยความสรรเสริญ กล่าวคือ เสียงที่ชนเหล่าอื่นยกย่อง โดยนัยมีอาทิว่า น่าอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ มีความประพฤติขัดเกลาอย่างยิ่ง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อเสียง ได้แก่ การโฆษณา ชมเชยคุณเฉพาะหน้า สรรเสริญ ได้แก่ การชมเชยลับหลัง หรือความเป็นผู้มียศแผ่ไป. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวไว้ในสูตรอันเป็นลำดับนั้นแล.

จบอรรถกถาปิณฑปาตสูตรที่ ๘