พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี [๘๓]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34869
อ่าน  411

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 434

๓. เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี [๘๓]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 434

๓. เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี [๘๓]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางกุณฑลเกสี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย จ คาถา สตํ ภาเส" เป็นต้น.

ธิดาเศรษฐีได้โจรเป็นสามี

ดังได้สดับมา ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ มีอายุย่าง ๑๖ ปี มีรูปสวย น่าดู ก็นารีทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในวัยนั้น ย่อมมีความฝักใฝ่ในบุรุษ โลเลในบุรุษ ครั้งนั้น มารดาบิดาให้ธิดานั้นอยู่ในห้องอันมีสิริ บนพื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น ได้กระทำทาสีคนเดียวเท่านั้น ให้เป็นผู้บำรุงบำเรอนาง.

ครั้งนั้น พวกราชบุรุษจับกุลบุตรคนหนึ่ง ผู้กระทำโจรกรรม ได้มัดมือไพล่หลัง โบยด้วยหวายครั้งละ ๔ เส้นๆ แล้วนำไปสู่ที่สำหรับฆ่า ธิดาเศรษฐีได้ยินเสียงของมหาชน คิดว่า นี่อะไรกันหนอแล ยืนแลดูอยู่บนพื้นปราสาท เห็นโจรนั้นแล้ว ก็มีจิตปฏิพัทธ์ปรารถนาอยู่ ห้ามอาหารแล้ว นอนบนเตียง ลำดับนั้น มารดาถามนางว่า "แม่ นี้อย่างไรกัน".

ธิดาเศรษฐี. ถ้าดิฉันจักได้บุรุษคนที่ถูกเขาจับนำไปว่า เป็นโจร นั่นไซร้ ดิฉันจักเป็นอยู่ ถ้าไม่ได้ ชีวิตดิฉันก็จะไม่มี ดิฉันจักตาย ในที่นี้นี่แหละ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 435

มารดา. แม่ เจ้าอย่ากระทำอย่างนั้นเลย เจ้าจักได้สามีอื่นซึ่งเสมอกันโดยชาติและโภคะของเรา.

ธิดาเศรษฐี. กิจด้วยบุรุษอื่นสำหรับดิฉันไม่มี ดิฉันเมื่อไม่ได้บุรุษคนนี้จักตาย.

มารดา เมื่อไม่อาจยังธิดาให้ยินยอมได้จึงบอกแก่บิดา ถึงบิดานั้นก็ไม่อาจยังธิดานั้นให้ยินยอมได้ คิดว่า เราอาจจะกระทำอย่างไรได้ ส่งห่อภัณฑะพันหนึ่งแก่ราชบุรุษ ผู้ให้จับโจรนั้นแล้วเดินไปอยู่ ด้วยคำว่า "ท่านจงรับภัณฑะนี้ไว้แล้ว ให้บุรุษคนนั้นแก่ฉัน" ราชบุรุษนั้นรับคำว่า "ดีล่ะ" แล้วรับกหาปณะ ปล่อยโจรนั้นไป ฆ่าบุรุษอื่นแล้ว กราบทูลแด่พระราชาว่า "ขอเดชะ ข้าพระองค์ฆ่าโจรแล้ว".

แม้เศรษฐีได้ให้ธิดาแก่โจรนั้นแล้ว นางคิดว่า จักยังสามีให้ยินดี จึงตกแต่งด้วยเครื่องประดับทั้งปวง จัดแจงยาคูเป็นต้นแก่โจรนั้นเองทีเดียว.

โจรคิดอุบายพาภรรยาไปฆ่า

โดยกาลล่วงไป ๒ - ๓ วัน โจรคิดว่า ในกาลไรหนอแล เราจักได้เพื่อฆ่าหญิงนี้ ถือเอาเครื่องประดับของหญิงนี้ ขายกินในโรงสุราแห่งหนึ่ง โจรนั้นคิดว่า อุบายนี้มีอยู่ จึงห้ามอาหารเสียนอนบนเตียง ทีนั้น นางเข้าไปหาโจรนั้นแล้ว ถามว่า "นาย อะไรเสียดแทงท่าน".

โจร. อะไรๆ ไม่ได้เสียดแทงดอก นางผู้เจริญ.

ธิดาเศรษฐี. ก็มารดาบิดาของดิฉัน โกรธท่านแลหรือ.

โจร. ไม่โกรธ นางผู้เจริญ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 436

ธิดาเศรษฐี. เมื่อเป็นเช่นนั้น นี่ชื่ออะไร.

โจร. นางผู้เจริญ ฉันถูกจับนำไปในวันนั้น บนบาน (๑) ไว้ต่อเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ภูเขาทิ้งโจร ได้ชีวิตแล้ว แม้หล่อน ฉันก็ได้ด้วยอานุภาพแห่งเทวดานั้นเหมือนกัน นางผู้เจริญ ฉันคิดว่า ฉันตั้งพลีกรรมนั้นไว้ต่อ เทพดา.

ธิดาเศรษฐี. นาย อย่าคิดเลย ดิฉันจักกระทำพลีกรรม ท่านจงบอก ต้องการอะไร.

โจร. ต้องการข้าวมธุปายาสชนิดมีน้ำน้อย และดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ ๕.

ธิดาเศรษฐี. ดีละ นาย ดิฉันจักจัดแจง.

ธิดาเศรษฐีนั้นจัดแจงพลีกรรมทุกอย่างแล้ว จึงกล่าวว่า "มาเถิด นาย เราไปกัน".

โจร. นางผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น หล่อนให้พวกญาติของหล่อนกลับเสีย ถือเอาผ้าและเครื่องประดับที่มีค่ามากแล้วจงตกแต่งตัว เราจักหัวเราะเล่นพลางเดินไปอย่างสบาย.

นางได้กระทำอย่างนั้นแล้ว ทันทีนั้น ในเวลาถึงเชิงเขา โจรนั้นกล่าวกะนางว่า "นางผู้เจริญ เบื้องหน้าแต่นี้ เราจักไปกัน ๒ คน หล่อนจงให้คนที่เหลือกลับพร้อมกับยาน ยกภาชนะพลีกรรมถือไปเอง" นางได้กระทำอย่างนั้น โจรพานางขึ้นสู่ภูเขาทิ้งโจร.

ก็มนุษย์ทั้งหลายย่อมขึ้นไปโดยข้างๆ หนึ่งแห่งภูเขานั้น ข้างๆ หนึ่งเป็นโกรกชัน มนุษย์ทั้งหลายยืนอยู่บนยอดเขาแล้ว ย่อมทิ้งโจร


(๑) พลิกมฺมํ ปฏิสฺสณิตฺวา รับซึ่งพลีกรรม คือการบวงสรวง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 437

ทั้งหลายโดยทางข้างนั้น โจรเหล่านั้นเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยตกลงไปที่พื้น เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า "เขาทิ้งโจร" นางยืนอยู่บนยอดเขานั้นกล่าวว่า "นาย ท่านจงทำพลีกรรมของท่าน" โจรนั้นได้นิ่งแล้ว เมื่อนางกล่าวอีกว่า "นาย เหตุไรท่านจึงนิ่งเสียเล่า" จึงบอกกะนางว่า "ฉันไม่ต้องการพลีกรรมดอก แต่ฉันล่อลวงพาหล่อนมา".

ธิดาเศรษฐี. เพราะเหตุไร นาย.

โจร. เพื่อต้องการฆ่าหล่อนเสีย แล้วถือเอาเครื่องประดับของหล่อนหนีไป.

นางถูกมรณภัยคุกคามแล้วกล่าวว่า "นายจ๋า ดิฉันและเครื่องประดับของดิฉันก็เป็นของๆ ท่านทั้งนั้น เหตุไร ท่านจึงพูดอย่างนี้" โจรนั้นแม้ถูกอ้อนวอนบ่อยๆ ว่า "ท่านจงอย่ากระทำอย่างนี้" ก็กล่าวว่า "ฉันจะฆ่าให้ได้" นางกล่าวว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะต้องการอะไร ด้วยความตายของดิฉัน ท่านถือเอาเครื่องประดับเหล่านี้ แล้วให้ชีวิตแก่ดิฉันเถิด จำเดิมแต่นี้ท่านจงจำดิฉันว่า ตายแล้ว หรือว่า ดิฉันจักเป็นทาสีของท่านกระทำหัตถกรรม" ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า.

"สายสร้อยทองคำเหล่านี้ ล้วนสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ ท่านผู้เจริญ ท่านจงถือเอาทั้งหมดและจงประกาศว่าดิฉันเป็นทาสี".

โจรฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่า "เมื่อฉันกระทำอย่างนั้น หล่อนไปแล้ว ก็จักบอกแก่มารดาบิดา ฉันจักฆ่าให้ได้ หล่อนอย่าคร่ำครวญไปนักเลย" ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 438

"หล่อนอย่าคร่ำครวญนักเลย จงรีบห่อสิ่งของเข้าเถิด ชีวิตของหล่อนไม่มีดอก ฉันจะถือเอาสิ่งของทั้งหมด".

ธิดาเศรษฐีผลักโจรตกเขาตาย

นางคิดว่า โอ กรรมนี้หนัก ชื่อว่าปัญญา ธรรมดามิได้สร้างมาเพื่อประโยชน์แกงกิน ที่แท้สร้างมาเพื่อประโยชน์พิจารณา เราจักรู้สิ่งที่ควรกระทำแก่เขา.

ลำดับนั้น นางกล่าวกะโจรนั้นว่า "นาย ท่านถูกจับนำไปว่า เป็นโจร ในกาลใด ในกาลนั้น ดิฉันบอกแก่มารดาบิดา ท่านทั้งสองนั้นสละทรัพย์พันหนึ่ง ให้นำท่านมากระทำไว้ในเรือน จำเดิมแต่นั้นดิฉันก็อุปการะท่าน วันนี้ท่านจงให้ดิฉันกระทำตัว (ท่าน) ให้เห็นถนัดแล้วไหว้".

โจรนั้นกล่าวว่า "ดีละ นางผู้เจริญ หล่อนจงทำตัว (ฉัน) ให้เห็นได้ถนัด แล้วไหว้เถิด" ดังนี้แล้ว ก็ได้ยืนอยู่บนยอดเขา ทีนั้น นางทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ไหว้โจรนั้นในที่ ๔ สถานแล้ว กล่าวว่า "นาย นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้ายของดิฉัน บัดนี้การที่ท่านเห็นดิฉันหรือการที่ดิฉันเห็นท่านไม่มีละ" แล้วสวมกอดข้างหน้าข้างหลัง ยืนที่ข้างหลังเอามือข้างหนึ่งจับโจรผู้ประมาทยืนอยู่บนยอดเขา ตรงคอ เอามือข้างหนึ่งจับตรงรักแร้ข้างหลัง ผลักลงไปในเหวแห่งภูเขา โจรนั้นถูกกระทบที่ท้องแห่งเขา เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตกลงไปแล้วที่พื้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 439

หญิงผู้มีปัญญาก็เป็นบัณฑิตได้

เทวดาผู้สถิตอยู่บนยอดเขาที่ทิ้งโจร เห็นกิริยาแม้ของชนทั้งสองนั้น จึงให้สาธุการแก่หญิงนั้น แล้วกล่าวคาถานี้ว่า.

"บุรุษนั่น เป็นบัณฑิตในที่ทุกสถาน ก็หาไม่ แม้สตรี ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ก็เป็นบัณฑิตได้ ในที่นั้นๆ ".

ธิดาเศรษฐีแม้นั้น ครั้นผลักโจรลงไปในเหวแล้ว (คิดว่า) หากว่า เราจักไปบ้าน มารดาบิดาจักถามว่า "สามีของเจ้าไปไหน" หากเราถูกถามอย่างนั้นจะตอบว่า "ดิฉันฆ่าเสียแล้ว" ท่านจักทิ่มแทงเราด้วยหอกคือปากว่า "นางคนหัวดื้อ เจ้าให้ทรัพย์พันหนึ่งให้นำผัวมา บัดนี้ ก็ฆ่าเขาเสียแล้ว" แม้เมื่อเราบอกว่า "เขาปรารถนาจะฆ่าดิฉัน เพื่อต้องการเครื่องประดับ" ท่านก็จักไม่เชื่อ อย่าเลยด้วยบ้านของเรา ดังนี้แล้ว ทิ้งเครื่องประดับไว้ในที่นั้นนั่นเอง เข้าไปสู่ป่าเที่ยวไปโดยลำดับ ถึงอาศรมของพวกปริพาชกแห่งหนึ่ง ไหว้แล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงให้การบรรพชา ในสำนักของท่านแก่ดิฉันเถิด" ลำดับนั้น ปริพาชกทั้งหลายให้นางบรรพชาแล้ว.

ธิดาเศรษฐีบวชเป็นปริพาชิกา

ธิดาเศรษฐีนั้นพอบวชแล้ว ถามว่า "ท่านผู้เจริญ อะไรเป็นสูงสุดแห่งบรรพชาของท่าน".

ปริพาชก. นางผู้เจริญ บุคคลกระทำบริกรรมในกสิณ ๑๐ แล้ว

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 440

พึงยังฌานให้บังเกิดบ้าง พึงเรียนวาทะพันหนึ่งบ้าง นี้เป็นประโยชน์สูงสุดแห่งบรรพชาของพวกเรา.

ธิดาเศรษฐี. ดิฉันไม่อาจจะยังฌานให้เกิดได้ก่อน แต่จักเรียนวาทะพันหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้า.

ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้น ยังนางให้เรียนวาทะพันหนึ่งแล้ว กล่าวว่า "ศิลปะ ท่านก็เรียนแล้ว บัดนี้ ท่านจงเที่ยวไปบนพื้นชมพูทวีป ตรวจดูผู้สามารถจะกล่าวปัญหากับตน" แล้วให้กิ่งหว้าในมือแก่นาง ส่งไปด้วยสั่งว่า "ไปเถิด นางผู้เจริญ หากใครๆ เป็นคฤหัสถ์ อาจกล่าวปัญหากับท่านได้ ท่านจงเป็นบาทปริจาริกาของผู้นั้นเทียว หากเป็นบรรพชิต ท่านจงบรรพชาในสำนักผู้นั้นเถิด" นางมีชื่อว่า ชัมพุปริพาชิกา ตามนาม (ไม้) ออกจากที่นั้น เที่ยวถามปัญหากะผู้ที่ตนเห็นแล้วๆ คนชื่อว่าผู้สามารถจะกล่าวกับนาง ไม่ได้มีแล้ว มนุษย์ทั้งหลายพอฟังว่า "นางชัมพุปริพาชิกามาแต่ที่นี้" ย่อมหนีไป นางเข้าไปสู่บ้านหรือตำบลเพื่อภิกษา ก่อกองทรายไว้ใกล้ประตูบ้าน ปักกิ่งหว้า บนกองทรายนั้น กล่าวว่า "ผู้สามารถจะกล่าวกับเรา จงเหยียบกิ่งหว้า" แล้วก็เข้าไปสู่บ้าน ใครๆ ชื่อว่าสามารถจะเข้าไปยังที่นั้น มิได้มี แม้นางย่อมถือกิ่งอื่น ในเมื่อกิ่งหว้า (เก่า) เหี่ยวแห้ง เที่ยวไปโดยทำนองนี้ ถึงกรุงสาวัตถี ปักกิ่ง (หว้า) ใกล้ประตูบ้าน พูดโดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล เข้าไปเพื่อภิกษา เด็กเป็นอันมากได้ยืนล้อมกิ่งไม้ไว้แล้ว.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 441

ธิดาเศรษฐีมีชื่อว่ากุณฑลเกสีเถรี

ในกาลนั้น พระสารีบุตรเถระเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต กระทำภัตกิจ แล้วออกไปจากเมือง เห็นเด็กเหล่านั้นยืนล้อมกิ่งไม้ จึงถามว่า "นี้ อะไร" เด็กทั้งหลายบอกเรื่องนั้นแก่พระเถระแล้ว พระเถระกล่าวว่า "เด็กทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงเหยียบกิ่งไม้นี้".

พวกเด็ก. พวกกระผมกลัว ขอรับ.

พระเถระ. เราจักกล่าวปัญหา พวกเจ้าเหยียบเถิด.

เด็กเหล่านั้น เกิดความอุตสาหะด้วยคำของพระเถระ กระทำอย่างนั้น โห่ร้องอยู่ โปรยธุลีขึ้นแล้ว.

นางปริพาชิกามาแล้วดุเด็กเหล่านั้น กล่าวว่า "กิจด้วยปัญหาของเรากับพวกเจ้าไม่มี เหตุไร พวกเจ้าจึงพากันเหยียบกิ่งไม้ของเรา" พวกเด็กกล่าวว่า "พวกเรา อันพระผู้เป็นเจ้าใช้ให้เหยียบ".

นางปริพาชิกา. ท่านผู้เจริญ ท่านใช้พวกเด็กเหยียบกิ่งไม้ของดิฉันหรือ.

พระเถระ. เออ น้องหญิง.

นางปริพาชิกา. ถ้าอย่างนั้น ท่านจงกล่าวปัญหากับดิฉัน.

พระเถระ. ดีละ เราจักกล่าว.

นางปริพาชิกานั้น ได้ไปสู่สำนักของพระเถระเพื่อถามปัญหา ในเวลาเงาไม้เจริญ (คือเวลาบ่าย) ทั่วทั้งเมืองลือกระฉ่อนกันว่า "พวกเราจักฟังถ้อยคำของ ๒ บัณฑิต" พวกชาวเมืองไปกับนางปริพาชิกานั้น เหมือนกัน ไหว้พระเถระแล้วนั่ง ณ ที่สุดข้างหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 442

นางปริพาชิกา กล่าวกะพระเถระว่า "ท่านผู้เจริญ ดิฉันจักถามปัญหากะท่าน".

พระเถระ. ถามเถิด น้องหญิง.

นางถามวาทะพันหนึ่งแล้ว พระเถระแก้ปัญหาที่นางถามแล้วๆ.

ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะนางว่า "ปัญหาของท่านมีเท่านี้ ปัญหาแม้อื่นมีอยู่หรือ".

นางปริพาชิกา. มีเท่านี้แหละ ท่านผู้เจริญ.

พระเถระ. ท่านถามปัญหาเป็นอันมาก แม้เราจักถามสักปัญหาหนึ่ง ท่านจักแก้ได้หรือไม่.

นางปริพาชิกา. ดิฉันรู้ก็จักแก้ จงถามเถิด ท่านผู้เจริญ.

พระเถระ ถามปัญหาว่า "อะไร ชื่อว่าหนึ่ง" นางปริพาชิกานั้นไม่รู้ว่า ปัญหานี้ ควรแก้อย่างนี้ จึงถามว่า "นั่นชื่อว่าอะไร ท่านผู้เจริญ".

พระเถระ. ชื่อพุทธมนต์ น้องหญิง.

นางปริพาชิกา. ท่านจงให้พุทธมนต์นั้น แก่ดิฉันบ้าง ท่านผู้เจริญ.

พระเถระ. หากว่า ท่านจักเป็นเช่นเรา เราจักให้.

นางปริพาชิกา. ถ้าเช่นนั้น ขอท่านยังดิฉันให้บรรพชาเถิด.

พระเถระ บอกแก่นางภิกษุณีทั้งหลายให้บรรพชาแล้ว นางครั้นได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว มีชื่อว่า กุณฑลเกสีเถรี บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายโดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 443

ชนะกิเลสประเสริฐ

ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในโรงธรรมว่า "การฟังธรรมของนางกุณฑลเกสีเถรีไม่มีมาก กิจแห่งบรรพชิตของนางถึงที่สุดแล้ว ได้ยินว่า นางทำมหาสงครามกับโจรคนหนึ่งชนะแล้วมา".

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ" เมื่อภิกษุทั้งหลายนั้น กราบทูลว่า "ถ้อยคำชื่อนี้" จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่านับธรรมที่เราแสดงแล้วว่า น้อยหรือมาก บทที่ไม่เป็นประโยชน์แม้ ๑๐๐ บท ไม่ประเสริฐ ส่วนบทแห่งธรรมแม้บทเดียวประเสริฐกว่าเทียว อนึ่ง เมื่อบุคคลชนะโจรที่เหลือ หาชื่อว่าชนะไม่ ส่วนบุคคลชนะโจรคือกิเลส อันเป็นไปภายในนั่นแหละ จึงชื่อว่าชนะ" เมื่อจะทรงสืบอันสนุธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า.

๓. โย จ คาถา สตํ ภาเส อนตฺถปทสญฺหิตา เอกํ ธมฺมปทํ เสยฺโย ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ.

โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม.

"ก็ผู้ใด พึงกล่าวคาถาตั้งร้อย ซึ่งไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์ บทแห่งธรรมบทเดียวที่บุคคลฟังแล้ว สงบระงับได้ ประเสริฐกว่า (การกล่าวคาถาตั้ง ๑๐๐ ของผู้นั้น).

ผู้ใด พึงชนะมนุษย์พันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่ง (คือ ๑ ล้าน) ในสงคราม ผู้นั้น หาชื่อว่าเป็นยอดแห่งชนผู้ชนะในสงครามไม่ ส่วนผู้ใด ชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแล เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม".

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 444

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า คาถา สตํ ความว่า ก็บุคคลใด พึงกล่าวคาถากำหนดด้วยร้อย คือเป็นอันมาก.

บาทพระคาถาว่า อนตฺถปทสญฺหิตา ความว่า ประกอบด้วยบททั้งหลายอันไม่มีประโยชน์ ด้วยอำนาจพรรณนาอากาศเป็นต้น.

บทที่ปฏิสังยุตด้วยธรรมมีขันธ์เป็นต้น สำเร็จประโยชน์ ชื่อว่า บทธรรม. บรรดาธรรม ๔ ที่พระศาสดาตรัสไว้อย่างนี้ว่า "ปริพาชกทั้งหลาย บทธรรม ๔ เหล่านี้ ๔ คืออะไรบ้าง ปริพาชกทั้งหลาย บทธรรมคือความไม่เพ่งเล็ง บทธรรมคือความไม่ปองร้าย บทธรรมคือความระลึกชอบ บทธรรมคือความตั้งใจไว้ชอบ บทธรรมแม้บทเดียวประเสริฐกว่า."

บาทพระคาถาว่า โย สหสฺสํ สหสฺเสน ความว่า ผู้ใดคือนักรบในสงคราม พึงชนะมนุษย์พันหนึ่งซึ่งคูณด้วยพันในสงครามครั้งหนึ่ง ได้แก่ ชนะมนุษย์ ๑๐ แสนแล้ว พึงนำชัยมา แม้ผู้นี้ ก็หาชื่อว่า เป็นยอดแห่งชนทั้งหลายผู้ชนะในสงครามไม่.

บาทพระคาถาว่า เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ความว่า ส่วนผู้ใด พิจารณากัมมัฏฐานอันเป็นไปในภายใน ในที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน พึงชนะตน ด้วยการชนะกิเลสมีโลภะเป็นต้น ของตนได้.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 445

บาทพระคาถาว่า ส เว สงฺคามชุตฺตโม ความว่า ผู้นั้นชื่อว่า เป็นยอด คือประเสริฐ แห่งชนทั้งหลายผู้ชนะในสงคราม ได้แก่ เป็นนักรบเยี่ยมในสงคราม.

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี จบ.