พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. เรื่องพระทารุจีริยเถระ [๘๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34868
อ่าน  444

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 425

๒. เรื่องพระทารุจีริยเถระ [๘๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 425

๒. เรื่องพระทารุจีริยเถระ [๘๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระทารุจีริยเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สหสฺสมปิ เจ คาถา" เป็นต้น.

ทารุจีริยะสำคัญว่าตนเป็นอรหันต์

ความพิสดารว่า ในกาลหนึ่ง มนุษย์เป็นอันมากแล่นเรือไปสู่มหาสมุทร เมื่อเรืออับปางในภายในมหาสมุทร ได้เป็นภักษาของเต่าและปลาแล้ว บรรดามนุษย์เหล่านั้น บุรุษคนหนึ่งแลจับกระดานไว้ได้แผ่นหนึ่ง พยายามกระเสือกไป สู่ฝั่งแห่งท่าเรือชื่อ สุปปารกะ ผ้านุ่งห่มของเขาไม่มี บุรุษนั้นไม่เห็นอะไรอื่น จึงเอาปอพันท่อนไม้แห้งทำเป็นผ้านุ่งห่ม ถือกระเบื้องจากเทวสถาน ได้ไปสู่ท่าเรือสุปปารกะ มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาแล้วให้ยาคูและภัตเป็นต้นแล้วยกย่องว่า "ผู้นี้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง" บุรุษนั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายนำผ้าเข้าไปให้ คิดว่า ถ้าเราจักนุ่งหรือจักห่ม ลาภสักการะของเราจักเสื่อม จึงห้ามผ้าที่เขานำมาเสีย นุ่งห่มแต่เปลือกไม้เท่านั้น.

ครั้งนั้น เมื่อเขาถูกมนุษย์เป็นอันมากกล่าวอยู่ว่า "เป็นพระอรหันต์" ความปริวิตกแห่งใจจึงเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า "พระอรหันต์ หรือ ผู้บรรลุพระอรหัตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งแลในโลก บรรดาพระอรหันต์เหล่านั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 426

เราก็เป็นพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่ง ทีนั้นเทวดาผู้เป็นสาโลหิตกันในกาลก่อนแห่งบุรุษนั้น ก็คิดแล้วอย่างนั้น.

ประวัติเดิมของทารุจีริยะ

ข้อว่า ผู้เป็นสาโลหิตกันในกาลก่อน คือกระทำสมณธรรมร่วมกันในครั้งก่อน ได้ยินว่า ในกาลก่อนเมื่อศาสนาของพระทศพลพระนามว่า กัสสปะ เสื่อมลงอยู่ ภิกษุ ๗ รูป เห็นประการอันแปลกแห่งบรรพชิตทั้งหลายมีสามเณรเป็นต้นแล้ว ถึงความสลดใจคิดว่า ความอันตรธานแห่งพระศาสนายังไม่มีเพียงใด พวกเราจักกระทำที่พึ่งแก่ตนเพียงนั้น ไหว้พระเจดีย์ทองคำแล้ว เข้าไปสู่ป่า เห็นภูเขาลูกหนึ่ง จึงกล่าวว่า "ผู้มีอาลัยในชีวิตจงกลับไป ผู้ไม่มีอาลัยจงขึ้นภูเขาลูกนี้" พาดบันไดแล้ว แม้ทั้งหมดขึ้นสู่ภูเขานั้น ผลักบันไดแล้วกระทำสมณธรรม บรรดาภิกษุเหล่านั้น พระสังฆเถระบรรลุพระอรหัตโดยล่วงไปราตรีเดียวเท่านั้น พระเถระนั้นเคี้ยวไม้ชำระฟันชื่อนาคลดา ในสระอโนดาต นำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป แล้วกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเคี้ยวไม้ชำระฟันนี้ บ้วนปากแล้วจงฉันบิณฑบาตนี้".

ภิกษุ. ท่านผู้เจริญ ก็พวกเราทำกติกากัน ไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุใดบรรลุพระอรหัตก่อน ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ จักฉันบิณฑบาตที่ภิกษุนั้นนำมาหรือ.

พระเถระ. ผู้มีอายุ ข้อนั้นไม่มีเลย.

ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น แม้พวกเราพึงยังคุณวิเศษให้บังเกิดเหมือนท่าน พวกเราจักนำมาบริโภคเอง" ดังนี้แล้ว ก็ไม่ปรารถนา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 427

ในวันที่ ๒ พระเถระองค์ที่ ๒ บรรลุอนาคามิผลแล้ว แม้พระเถระนั้นนำบิณฑบาตมาแล้ว ก็นิมนต์ภิกษุนอกนี้อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านผู้เจริญ ก็พวกเราทำกติกากันไว้อย่างนี้ว่า พวกเราจักไม่บริโภคบิณฑบาตที่พระมหาเถระนำมา แต่จักบริโภคบิณฑบาตที่พระอนุเถระนำมาหรือ".

พระเถระองค์ที่ ๒. ผู้มีอายุ ข้อนั้นไม่มีเลย.

ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้พวกเรายังคุณวิเศษให้บังเกิดเหมือนท่านแล้ว อาจเพื่อบริโภคด้วยความเพียรแห่งบุรุษของตนได้ จึงจักบริโภค" ดังนี้แล้ว ก็ไม่ปรารถนา.

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้บรรลุพระอรหัตปรินิพพานแล้ว ภิกษุผู้เป็นอนาคามีบังเกิดในพรหมโลก ภิกษุ ๕ รูปนอกนี้ไม่อาจยังคุณวิเศษให้บังเกิดได้ ผ่ายผอมแล้วกระทำกาละในวันที่ ๗ บังเกิดในเทวโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว บังเกิดในเรือนแห่งตระกูลนั้นๆ.

บรรดาคนเหล่านั้น คนหนึ่งได้เป็นพระราชาพระนามว่า ปุกกุสาติ คนหนึ่งได้เป็น พระกุมารกัสสป คนหนึ่งได้เป็นพระทารุจีริยะ คนหนึ่งได้เป็น พระทัพพมัลลบุตร คนหนึ่งได้เป็นปริพาชกชื่อ สภิยะ แล คำว่า เทวดาผู้เป็นสาโลหิตกันในกาลก่อนนี้ ท่านกล่าวหมายเอาภิกษุผู้ที่บังเกิดในพรหมโลกนั้น.

พรหมบอกความจริงแก่ทารุจีริยะ

พรหมนั้น ได้มีความปริวิตกอย่างนั้นว่า บุรุษนี้พาดบันไดแล้วขึ้นสู่ภูเขา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 428

ได้กระทำสมณธรรมกับเรา เดี๋ยวนี้เขาถือลัทธินี้เที่ยวไป พึงฉิบหาย เราจักยังเขาให้สลดใจ ทีนั้นพรหมนั้นเข้าไปหาบุรุษนั้น แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า "พาหิยะ ท่านไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ดอก ท่านยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตมรรคเลย ถึงปฏิปทาของท่านเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์หรือเป็นผู้บรรลุพระอรหัตมรรค ก็ยังไม่มี" พาหิยะแลดูมหาพรหมผู้ยืนพูดอยู่ในอากาศจึงคิดว่า โอ เราทำกรรมหนัก เราคิดว่า เราเป็นพระอรหันต์ ก็มหาพรหมผู้นี้พูดกะเราว่า "ท่านไม่ใช่ พระอรหันต์ ท่านยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตมรรคเลย" พระอรหันต์อื่นมีอยู่ในโลกหรือหนอแล ทีนั้นเขาถามมหาพรหมนั้นว่า "ท่านผู้เป็นเทวดา เดี๋ยวนี้พระอรหันต์หรือผู้บรรลุพระอรหัตมรรค มีอยู่ในโลกหรือ หนอแล".

ครั้งนั้น เทวดาบอกแก่พาหิยะนั้นว่า "พาหิยะ นครชื่อ สาวัตถี มีอยู่ในชนบทแถบอุดร เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะนั้น ประทับอยู่ในพระนครนั้น พาหิยะ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ด้วย ทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย".

ทารุจีริยะไปเฝ้าพระศาสดา

พาหิยะฟังคำของเทวดาในส่วนแห่งราตรีแล้ว มีใจสลด ในทันใดนั้นนั่นเอง ออกจากท่าเรือสุปปารกะได้ไปถึงกรุงสาวัตถี ด้วยการพักโดยราตรีเดียว เขาได้เดินทางประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ทั้งหมดโดยการพักราตรีเดียวเท่านั้น ก็แล เมื่อไป ไปแล้วด้วยอานุภาพของเทวดา.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 429

อาจารย์บางพวกกล่าวว่า "ไปด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าบ้าง" ทีเดียว.

ก็ในขณะนั้น พระศาสดาเสด็จเข้าไปสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต พาหิยะนั้นถามภิกษุทั้งหลายผู้ฉันอาหารเช้าแล้ว เดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง เพื่อต้องการเปลื้องความคร้านทางกายว่า "เดี๋ยวนี้ พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน" ภิกษุทั้งหลายตอบว่า "เสด็จเข้าไปกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต" แล้วถามบุรุษนั้นว่า "ก็ท่านมาแต่ที่ไหนเล่า".

ทารุจีริยะ. ข้าพเจ้ามาแต่ท่าเรือสุปปารกะ.

ภิกษุ. ท่านออกในกาลไร.

ทารุจีริยะ. ข้าพเจ้าออกในเวลาเย็นวานนี้.

ภิกษุ. ท่านมาแต่ที่ไกล จงนั่งก่อน ล้างเท้าแล้วทาด้วยน้ำมัน แล้วจงพักเหนื่อยเสียหน่อย ท่านจักเห็นพระศาสดา ในเวลาที่เสด็จมา.

ทารุจีริยะ. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของพระศาสดาหรือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้หยุด ไม่ได้นั่งในที่ไหน เดินมาสิ้นทาง ๑๒๐ โยชน์โดยคืนเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าพอเห็นพระศาสดาแล้ว จึงจักพักเหนื่อย.

พาหิยะนั้น กล่าวอย่างนั้นแล้ว มีทีท่าเร่งร้อน (๑) เข้าไปยังกรุงสาวัตถี เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตด้วยพุทธสิริอันหาที่เปรียบมิได้ คิดว่า นานหนอ เราเห็นพระโคดมสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้แล้ว ก็น้อมตัวเดินไปตั้งแต่ที่ๆ ตนเห็น ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในระหว่างถนน จับที่ข้อพระบาททั้งสองแน่น แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า


(๑) ตรมานรูโป=มีรูปแห่งบุคคลผู้ด่วน แปลตรงศัพท์ ไม่ได้ความแก่ภาษา เพื่อให้ได้ความแก่ภาษาและเหมาะแก่เรื่อง จึงได้แปลอย่างนั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 430

" พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมอันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด".

ทารุจีริยะบรรลุพระอรหัตแต่ยังเป็นคฤหัสถ์

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสห้ามเขาว่า "พาหิยะ ไม่ใช่กาลก่อน เราเป็นผู้เข้าไปสู่ระหว่างถนนเพื่อบิณฑบาต" พาหิยะฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้วกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ผู้ท่องเที่ยวไปในสงสาร ไม่เคยได้อาหาร คือคำข้าวเลยหรือ ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของพระองค์หรือของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด" แม้ครั้งที่ ๒ พระศาสดาก็ตรัสห้ามแล้วเหมือนกัน ได้ยินว่า พระศาสดานั้นได้ทรงปริวิตกอย่างนั้นว่า จำเดิมแต่กาลที่พาหิยะนี้เห็นเราแล้ว สรีระทั้งสิ้น (ของเขา) อันปีติท่วมทับไม่มีระหว่าง ผู้มีปีติมีกำลัง แม้ฟังธรรมแล้วจักไม่อาจแทงตลอด (ของจริง) ได้ เขาจงตั้งอยู่ในอุเบกขาคือความมัธยัสถ์ก่อน แม้ความกระวนกระวายของเขาจะมีกำลัง เพราะเป็นผู้เดินมาสิ้นทาง ๑๒๐ โยชน์โดยคืนเดียวเท่านั้น แม้ความกระวนกระวายนั้นจงระงับเสียก่อน เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสห้ามถึง ๒ ครั้ง ถูกเขาอ้อนวอนแม้ครั้งที่ ๓ ประทับยืนในระหว่างถนนนั่นเอง ทรงแสดงธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า "พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาในศาสนานี้ อย่างนั้นว่า เมื่อรูปเราได้เห็นแล้ว รูปจักเป็นเพียงเราเห็น" พาหิยะนั้นกำลังฟังธรรมของพระศาสดานั้นแล ยังอาสวะทั้งหมดให้สิ้นไป บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ แล้ว

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 431

ก็แล ขณะนั้นนั่นเองเขาทูลขอบรรพชากะพระผู้มีพระภาคเจ้า ถูกตรัสถามว่า "บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ" ทูลตอบว่า "ยังไม่ครบ" ทีนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า "ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสวงหาบาตรจีวร" แล้วก็เสด็จหลีกไป.

ได้ยินว่า พาหิยะนั้นกระทำสมณธรรมสิ้น ๒ หมื่นปี คิดว่า ธรรมดาภิกษุได้ปัจจัยด้วยตนแล้ว ไม่เหลียวแลผู้อื่น บริโภคเองเท่านั้น จึงควร ดังนี้แล้ว ไม่ได้กระทำการสงเคราะห์ด้วยบาตรหรือจีวร แม้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพราะฉะนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า บาตรจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ จักไม่เกิดขึ้น จึงไม่ได้ประทานบรรพชา ด้วยความเป็นเอหิภิกษุแก่เขา แม้พาหิยะนั้นแสวงหาบาตรจีวรอยู่นั่นแล ยักษิณีตนหนึ่งมาด้วยรูปแม่โคนม ขวิดถูกตรงขาอ่อนข้างซ้าย ให้ถึงความสิ้นชีวิต.

พระศาสดาเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว เสด็จออกไปพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ทรงเห็นสรีระของพาหิยะถูกทิ้งในที่กองขยะ จึงทรงบัญชาภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยืนใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่ง ให้นำเตียงมาแล้ว นำสรีระนี้ออกจากเมือง เผาแล้วกระทำสถูปไว้" ภิกษุทั้งหลายกระทำดังนั้นแล้ว ก็แล ครั้นกระทำแล้ว ไปยังวิหารเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลบอกกิจที่ตนกระทำแล้ว ทูลถามอภิสัมปรายภพของพาหิยะนั้น.

ทารุจีริยะเลิศในทางขิปปาภิญญา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกความที่พาหิยะนั้นปรินิพพาน

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 432

แล้วแก่ภิกษุเหล่านั้น ทรงตั้งไว้ในเอคทัคคะ (๑) ว่า "ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะ (ผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้) เป็นเลิศกว่าภิกษุผู้สาวกของเรา ผู้ตรัสรู้เร็ว" ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า พาหิยะ ทารุจีริยะ บรรลุพระอรหัต เขาบรรลุพระอรหัตเมื่อไร".

พระศาสดา. ในกาลที่เขาฟังธรรมของเรา ภิกษุทั้งหลาย.

ภิกษุ. ก็พระองค์ตรัสธรรมแก่เขาเมื่อไรเล่า.

พระศาสดา. เรากำลังเที่ยวบิณฑบาต ยืนในระหว่างถนน กล่าวธรรมแก่เขา.

ภิกษุ. พระเจ้าข้า ก็ธรรมที่พระองค์ประทับยืนในระหว่างถนนตรัสแล้ว มีประมาณเล็กน้อย เขายังคุณวิเศษให้บังเกิดด้วยธรรมมีประมาณเพียงนั้นอย่างไร.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่านับธรรมของเราว่า น้อยหรือมาก ด้วยคาถาว่าพันหนึ่งแม้เป็นอเนกที่ไม่อาศัยประโยชน์ ไม่ประเสริฐ ส่วนบทแห่งคาถาแม้บทเดียวอาศัยประโยชน์ ประเสริฐกว่า" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๒. สหสฺสมปิ เจ คาถา อนตฺถปทสญฺหิตา เอกํ คาถาปทํ เสยฺโย ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ.

"หากว่า คาถาแม้พันหนึ่ง ไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์ (ไม่ประเสริฐ) บทแห่งคาถาบทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้ว สงบระงับได้ ประเสริฐกว่า".


(๑) อัง. เอก. ๒๐/๓๒.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 433

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า เอกํ คาถาปทํ ความว่า แม้คาถาๆ เดียว เห็นปานนี้ว่า "ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ ฯลฯ เหมือนคนตายแล้ว" ประเสริฐกว่า.

บทที่เหลือพึงทราบตามนัยก่อน นั่นแล.

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระทารุจีริยเถระ จบ.