พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์ [๘๔]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34870
อ่าน  382

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 446

๔. เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์ [๘๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 446

๔. เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์ [๘๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอนัตถปุจฉกพราหมณ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อตฺตา หเว" เป็นต้น.

ความฉิบหายย่อมมีแก่ผู้เสพกรรม ๖ อย่าง

ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวหรือหนอแล หรือทรงทราบแม้สิ่งมิใช่ประโยชน์ เราจักทูลถามพระองค์ ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า "พระเจ้าข้า พระองค์เห็นจะทรงทราบสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว ไม่ทรงทราบสิ่งที่มิใช่ประโยชน์".

พระศาสดา. พราหมณ์ เรารู้ทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งสิ่งที่มิใช่ประโยชน์.

พราหมณ์. ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ แก่ข้าพระองค์เถิด.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสพระคาถานี้ แก่พราหมณ์นั้นว่า

"การนอนจนตะวันขึ้น (นอนตื่นสาย) ความเกียจคร้าน ความดุร้าย การผัดวันประกันพรุ่ง (๑) การเดินทางไกลของคนคนเดียว การเข้าไปเสพภรรยาของผู้อื่น พราหมณ์ ท่านจงเสพกรรม ๖ อย่างนี้เถิด สิ่งมิใช่ประโยชน์ (ความฉิบหาย) จักมีแก่ท่าน".


(๑) ทีฆโสตฺติยํ หมายความว่า การผัดเพี้ยนกาลเวลา การผัดวันประกันพรุ่ง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 447

พราหมณ์ฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว ได้ให้สาธุการว่า "ดีละ ดีละ ท่านผู้เป็นอาจารย์ของคณะ ท่านผู้เป็นใหญ่ในคณะ พระองค์เทียว ย่อมทรงทราบทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งสิ่งที่มิใช่ประโยชน์".

พระศาสดา. อย่างนั้น พราหมณ์ ขึ้นชื่อว่า ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งมิใช่ประโยชน์ เช่นกับด้วยเรา ไม่มี.

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูอัธยาศัยของพราหมณ์นั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า "พราหมณ์ ท่านเป็นอยู่ (เลี้ยงชีพ) ด้วยการงานอะไร".

พราหมณ์. ด้วยการงาน คือเล่นสกา (การพนัน) พระโคดมผู้เจริญ.

พระศาสดา. ก็ท่านชนะหรือแพ้เล่า.

ชนะตนเป็นการชนะประเสริฐ

เมื่อพราหมณ์นั้นทูลว่า "ชนะบ้าง แพ้บ้าง" ดังนี้แล้ว พระศาสดาจึงตรัสว่า "พราหมณ์ นั่นยังมีประมาณน้อย ขึ้นชื่อว่าความชนะของบุคคลผู้ชนะผู้อื่นไม่ประเสริฐ ส่วนผู้ใดชนะตนได้ ด้วยชนะกิเลส ความชนะของผู้นั้นประเสริฐ เพราะว่าใครๆ ไม่อาจทำความชนะนั้นให้กลับพ่ายแพ้ได้".

เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า.

๔. อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย ยา จายํ อิตรา ปชา อตฺตทนฺตสฺส โปสสฺส นิจฺจํ สญฺตจาริโน เนว เทโว น คนฺธพฺโพ น มาโร สห พฺรหฺมุนา ชิตํ อปชิตํ กยิรา ตถารูปสฺส ชนฺตุโน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 448

"ตนนั่นแล บุคคลชนะแล้ว ประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ บุคคลชนะแล้ว ไม่ประเสริฐเลย (เพราะ) เมื่อบุรุษฝึกตนแล้ว ประพฤติสำรวมเป็นนิตย์ เทวดา คนธรรพ์ มาร พร้อมทั้งพรหม พึงทำความชนะของสัตว์เห็นปานนั้น ให้กลับแพ้ไม่ได้เลย".

แก้อรรถ

ในพระคาถานั้น ศัพท์ว่า หเว เป็นนิบาต.

ศัพท์ว่า ชิตํ เป็นลิงควิปลาส. ความว่า ตนอันบุคคลชนะแล้ว ด้วยความชนะกิเลสของตน ประเสริฐ.

บาทพระคาถาว่า ยา จายํ อิตรา ปชา ความว่า ส่วนหมู่สัตว์นี้ใด คือที่เหลือ พึงเป็นผู้อันเขาชนะด้วยการเล่นสกาก็ดี ด้วยการฉ้อทรัพย์ก็ดี ด้วยการครอบงำพลในสงครามก็ดี ความชนะที่บุคคลผู้ชนะหมู่สัตว์นั้นชนะแล้ว ไม่ประเสริฐ.

ถามว่า. ก็เหตุไร ความชนะนั้นเท่านั้น ประเสริฐ ความชนะนี้ ไม่ประเสริฐ.

แก้ว่า. เพราะเมื่อบุรุษฝึกตนแล้ว ฯลฯ ของสัตว์เห็นปานนั้น ให้กลับแพ้ไม่ได้.

พระศาสดาตรัสคำนี้ไว้ว่า "เพราะว่า เมื่อบุรุษผู้ชื่อว่า ฝึกตนแล้ว เพราะเป็นผู้ไร้กิเลส ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีปกติประพฤติสำรวมทางกายเป็นต้นเป็นนิตย์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 449

เทวดาก็ดี คนธรรพ์ก็ดี ก็หรือมารพร้อมทั้งพรหม แม้พากเพียรพยายามอยู่ว่า เราจักทำความชนะของผู้นั้นให้กลับแพ้ จักทำกิเลสทั้งหลายที่เขาละได้ด้วยมรรคภาวนาให้เกิดอีก ก็ไม่พึงอาจเลย เพื่อจะทำ (ความชนะ) ของสัตว์เห็นปานนั้น คือผู้สำรวมแล้ว ด้วยการสำรวมทางกายเป็นต้นเหล่านั้น ให้กลับแพ้ เหมือนผู้แพ้ด้วยทรัพย์เป็นต้นแล้วเป็นปรปักษ์ชนะผู้ที่คนนอกนี้ชนะแล้ว พึงทำให้กลับแพ้อีกฉะนั้น".

ในเวลาจบเทศหา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์ จบ.