พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. จันทกุมารชาดก ทรงบําเพ็ญขันติบารมี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ก.ค. 2564
หมายเลข  34669
อ่าน  1,151

[เล่มที่ 64] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 123

๗. จันทกุมารชาดก

พระจันทกุมารทรงบําเพ็ญขันติบารมี

อรรถกถา จันทกุมารชาดก 149


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 64]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 123

๗. จันทกุมาร

พระจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี

[๗๗๕] พระราชาพระนามว่าเอกราช เป็นผู้มีกรรมอันหยาบช้า อยู่ในพระนครปุบผวดี ท้าวเธอตรัสถามขัณฑหาลปุโรหิต ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์ เป็นคนหลงว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเป็นผู้ฉลาดในธรรมวินัย ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา เหมือนอย่างนรชนทำบุญแล้วไปจากภพนี้สู่สุคติภพ ฉะนั้นเถิด.

[๗๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ นรชนให้แล้วซึ่งทานอันล่วงล้ำทาน ฆ่าแล้วซึ่งบุคคลอันไม่พึงฆ่า ชื่อว่าทำบุญแล้วย่อมไปสู่สุคติด้วยประการฉะนี้.

[๗๗๗] ก็ทานอันล่วงล้ำทานนั้นคืออะไร และคนจำพวกไหน เป็นผู้อันบุคคลไม่พึงฆ่าในโลกนี้ ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา เราจักบูชายัญ จักให้ทาน.

[๗๗๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ยัญพึงบูชาด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา พระมเหสี ชาวนิคม โคอุสุภราช ม้าอาชาไนย อย่างละ ๔ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ยัญพึงบูชาด้วยหมวด ๔ แห่งสัตว์ทั้งปวง.

[๗๗๙] ในพระราชวังมีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่เป็นอันเดียวน่าหวาดกลัว เพราะได้ฟังคำว่า พระกุมาร พระกุมารีและพระมเหสีจะต้องถูกฆ่า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 124

[๗๘๐] เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย คือ พระจันทกุมาร พระสุริยกุมาร พระภัททเสนกุมาร พระสุรกุมาร และ พระวามโคตกุมาร ว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.

[๗๘๑] เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย คือ พระอุปเสนากุมารี พระโกกิลากุมารี พระมุทิตากุมารีและพระนันทากุมารีว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.

[๗๘๒] อนึ่ง เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระนางวิชยา พระนางเอราวดี พระนางเกศินี และพระนางสุนันทา ผู้เป็นมเหสีของเราประกอบด้วยลักษณะอันประเสริฐว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.

[๗๘๓] เจ้าทั้งหลายจงไปบอกคฤหบดีทั้งหลาย คือ ปุณณมุขคฤหบดี ภัททิยคฤหบดี สิงคาลคฤหบดี และวัฑฒคฤหบดีว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.

[๗๘๔] คฤหบดีเหล่านั้น เกลื่อนกล่นไปด้วยบุตรภรรยา มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น ได้กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงกระทำข้าพระองค์ทุกคนให้เป็นคนมีแหยม (๑) หรือขอจงทรงประกาศข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นข้าทาสเถิด พระเจ้าข้า.


(๑.) ปอยผมที่เอาไว้เป็นกระจุกบนหัว นอกจากหัวจุก.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 125

[๗๘๕] เจ้าทั้งหลายจงรีบนำช้างของเรา คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคิรี ช้างอัจจุคคตะ (ช้างวรุณทันตะ) ช้างเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงรีบไปนำมาซึ่งม้าอัสดรของเรา คือ ม้าเกศี ม้าสุรามุข ม้าปุณณมุข ม้าวินัตกะ ม้าเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงรีบไปนำมาซึ่งโคอุสุภราชของเรา คือ โคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ โคควัมปติ จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่กัน เราจักบูชายัญ จักให้ทาน อนึ่ง จงตระเตรียมทุกสิ่งให้พร้อม วันพรุ่งนี้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงนำเอาพระจันทกุมารมา จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้ เจ้าทั้งหลายจงตั้งไว้แม้ทุกสิ่ง วันพรุ่งนี้ เมื่อ พระอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้ วันนี้เป็นคืนที่สุดแล.

[๗๘๖] พระราชมารดาเสด็จมาแต่พระตำหนัก ทรงกรรแสง พลางตรัสถามพระเจ้าเอกราชนั้นว่า พระลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระราชบุตรทั้ง ๔ หรือ.

[๗๘๗] เมื่อต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละ หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย แล้วจักไปสู่สุคติสวรรค์.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 126

[๗๘๘] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้น ข่าวที่ว่าสุคติจะมีเพราะเอาบุตรบูชายัญ ทางนั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ ดูก่อน ลูกโกณฑัญญะ พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเลย นี่เป็นทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะเอาบุตรบูชายัญ.

[๗๘๙] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีอยู่ หม่อมฉันจะฆ่าจันทกุมารและสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายอันสละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.

[๗๙๐] แม้พระเจ้าวสวัสดีพระราชบิดา ได้ตรัสถามพระราชโอรสของพระองค์นั้นว่า ลูกรักทราบว่า พ่อจักบูชายัญด้วยโอรสทั้ง ๔ หรือ.

[๗๙๑] เมื่อต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละ หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.

[๗๙๒] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้น ข่าวที่ว่าสุคติจะมีเพราะเอาบุตรบูชายัญ ทางนั้นเป็นทางไปนรกไม่ใช่ทางไปสวรรค์ ดูก่อน ลูกโกญฑัญญะ พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเลย นี่เป็นทางไปสู่สุคติ มิใช่เพราะเอาบุตรบูชายัญ.

[๗๙๓] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีอยู่ หม่อมฉันจักฆ่าจันทกุมารและสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายอันสละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 127

[๗๙๔] ดูก่อน ลูกโกญฑัญญะ พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเลย พ่อจงเป็นผู้อันพระราชบุตรห้อมล้อม รักษากาสิกรัฐและชนบทเถิด.

[๗๙๕] ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขันฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่จะก็จะขนมูลช้างให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 128

[๗๙๖] เจ้าทั้งหลายพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่เรานักแล จงปล่อยพระกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้ เราขอเลิกการเอาบุตรบูชายัญ.

[๗๙๗] ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียวว่าการบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ยินดีได้แสนยาก บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้วให้กระจัดกระจายเพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใด อนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ.

[๗๙๘] ขอเดชะ เหตุไรในกาลก่อน พระองค์จึงรับสั่งให้พราหมณ์กล่าวคำเป็นสวัสดีแก่ข้าพระบาททั้งหลาย มาบัดนี้จะรับสั่งฆ่าข้าพระบาททั้งหลายเพื่อต้องการบูชายัญ โดยหาเหตุนี้ได้เลย ข้าแต่พระราชบิดา เมื่อก่อนในเวลาที่ข้าพระบาทยังเป็นเด็ก พระองค์มิได้ทรงฆ่าและมิได้ทรงรับสั่งให้ฆ่า บัดนี้ ข้าพระบาททั้งหลาย ถึงความเจริญวัยเป็นหนุ่มแน่นแล้ว มิได้คิดประทุษร้ายพระองค์เลย เพราะเหตุไรจงรับสั่งให้ฆ่าเสีย ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์จงทอดพระเนตรข้าพระบาททั้งหลาย ผู้ขึ้นคอช้าง ขี่หลังม้า ผูกสอดเครื่องรบ ในเวลาที่รบมาแล้วหรือเมื่อกำลังรบ ก็บุตรทั้งหลายเช่นดังพระบาททั้งหลายย่อมไม่ควรจะฆ่าเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญเลย ข้าแต่พระราช

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 129

บิดา เมื่อเมืองชายแดนหรือเมื่อพวกโจรในดงกำเริบ เขาย่อมใช้คนเช่นดังข้าพระบาททั้งหลาย แต่ข้าพระบาททั้งหลายจะถูกฆ่าให้ตาย โดยมิใช่เหตุ ในมิใช่ที่ ขอเดชะ แม่นกเหล่าไรๆ เมื่อทำรังแล้วย่อมอยู่ ลูกทั้งหลายเป็นที่รักของแม่นกเหล่านั้น ส่วนพระองค์ได้ตรัสสั่งให้ฆ่าข้าพระบาททั้งหลายเพราะเหตุไร ขอเดชะ อย่าได้ทรงเชื่อขัณฑหาลปุโรหิต ขัณฑหาลปุโรหิตไม่พึงฆ่าข้าพระองค์ เพราะว่าเขาฆ่าข้าพระองค์แล้ว ก็จะพึงฆ่าแม้พระองค์ในลำดับต่อไป ข้าแต่พระมหาราชา พระราชาทั้งหลายย่อมพระราชทานบ้านอันประเสริฐ นิคมอันประเสริฐ แม้โภคะแก่พราหมณ์นั้น อนึ่ง พวกพราหมณ์ แม้ได้ข้าวน้ำอันเลิศในตระกูลบริโภคในตระกูล ยังปรารถนาจะประทุษร้ายต่อผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นอีก เพราะพราหมณ์เหล่านั้นโดยมากเป็นคนอกตัญญู ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 130

เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเกิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์นี้พระราชประสงค์เถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จัดเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต.

[๗๙๙] เจ้าทั้งหลายพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่เรานักแล จงปล่อยพระกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้ เราขอเลิกการเอาบุตรบูชายัญ.

[๘๐๐] ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียว การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ยินดีได้แสนยาก บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้วให้กระจัดกระจาย เพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชายัญอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่สุคติ.

[๘๐๑] ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายจุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมาไซร้ พราหมณ์จงบูชายัญก่อน พระองค์จัก

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 131

ทรงบูชายัญในภายหลัง ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมาไซร์ ขัณฑหาลพราหมณ์ผู้นี้แล จงบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายของตน ถ้าว่าขัณฑหาลพราหมณ์รู้อยู่อย่างนี้ เหตุไรจึงไม่ฆ่าบุตรทั้งหลาย ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่นรกทั้งหมด.

[๘๐๒] ได้ยินว่า พ่อเจ้าเรือนและแม่เจ้าเรือนทั้งหลายผู้รักบุตร ซึ่งมีอยู่ในพระนครนี้ ไฉนจึงไม่ทูลพระราชา อย่าให้ทรงฆ่าพระราชบุตรอันเกิดแต่พระอุระ ได้ยินว่า พ่อเจ้าเรือนและแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย ผู้รักบุตรซึ่งมีอยู่ในพระนครนี้ ไฉนจึงไม่ทูลทัดทานพระราชา อย่าให้ทรงฆ่าพระราชบุตรอันเกิดแต่พระองค์ เราปรารถนาประโยชน์แก่พระราชาด้วย ทำประโยชน์แก่ชาวชนบททั้งปวงด้วย ใครๆ จะมีความแค้นเคืองกับเราไม่พึงมี ชาวชนบทไม่ช่วยกราบทูลให้ทรงทราบเลย.

[๘๐๓] ดูก่อนแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปกราบทูลพระราชบิดา และวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า ขอจงอย่าฆ่าพระราชกุมารทั้งหลายผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ ดูก่อนแม่เจ้าเรือน

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 132

ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปกราบทูลพระราชบิดา และวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า ขอจงอย่าฆ่าพระราชกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่เพ่งที่หวังของโลกทั้งปวง.

[๘๐๔] ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลนายช่างรถ ในตระกูลปุกกุสะหรือพึงเกิดในหมู่พ่อค้า พระราชาก็ไม่พึงรับส่งให้ฆ่าในการบูชายัญวันนี้.

[๘๐๕] เจ้าผู้มีความคิดแม้ทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้าของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละเรียนว่า เรามิได้เห็นโทษเลย ดูก่อนแม่เจ้าเรือนแม้ทั้งปวง เจ้าจงไปหมอบลงแทบเท้าของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรในท่าน ขอท่านจงอดโทษเถิด.

[๘๐๖] พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุณ ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลายอันเขานำมาเพื่อบูชายัญ ทรงคร่ำครวญว่า ดังได้สดับมา พระราชบิดาของเราทรงปรารภสวรรค์ รับสั่งให้ตั้งยัญขึ้น.

[๘๐๗] พระวสุลราชนัดดากลิ้งไปกลิ้งมาเฉพาะพระพักตร์พระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระบาทยังเป็นเด็ก ไม่มีความเป็นหนุ่ม ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอย่าได้ฆ่าพระบิดาของข้าพระบาทเลย.

[๘๐๘] ดูก่อนวสุละ นั่นพ่อเจ้า เจ้าจงไปพร้อมกับบิดา เจ้าพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ย่อมให้เกิด

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 133

ทุกข์แก่ข้านัก จงปล่อยพระราชกุมารทั้งหลาย ณ บัดนี้ เราขอเลิกการเอาบุตรบูชายัญ.

[๘๐๙] ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียว การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ยินดีได้แสนยาก บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้วให้กระจัดกระจายเพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ.

[๘๑๐] ข้าแต่สมเด็จพระเอกราช ข้าพระบาทตระเตรียมยัญแล้วด้วยแก้วทุกอย่าง ตบแต่งไว้แล้วเพื่อพระองค์ ขอเดชะ เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้วเสด็จสู่สวรรค์ จักทรงบันเทิงพระหฤทัย.

[๘๑๑] หญิงสาว ๗๐๐ คน ผู้เป็นชายาของจันทกุมาร ต่างสยายผมแล้วร้องไห้ ดำเนินไปตามทาง ส่วนพวกหญิงอื่นๆ ออกแล้วด้วยความเศร้าโศก เหมือนเทวดาในนันทวัน ต่างก็สยายผมร้องไห้ไปตามทาง.

[๘๑๒] พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไปเพื่อบูชายัญของสมเด็จพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประ-

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 134

ดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าพระหฤทัยให้แก่พระชนนี พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายให้ดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญของพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าพระหฤทัยให้แก่พระชนนี พระจันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑลไล้ทากษฤณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน ในกาลก่อน พวกพลช้างย่อมตามเสด็จพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นคอช้างตัวประเสริฐ วันนี้ พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทั้งสองพระองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ในกาลก่อนพวกพลม้าย่อมตามเสด็จพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นหลังม้าตัวประเสริฐ วันนี้ พระจันทกุมารและพระสุริย-

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 135

กุมารทั้งสองพระองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ในกาลก่อน พวกพลรถย่อมตามเสด็จพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นทรงรถอันประเสริฐ วันนี้ พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทั้งสองพระองค์เสด็จดำเนินด้ายพระบาทเปล่า ในกาลก่อน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ราชบุรุษเชิญเสด็จออกด้วยม้าทั้งหลายอันตบแต่งเครื่องทอง วันนี้ ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า.

[๘๑๓] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรส ๔ พระองค์ นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดา ๔ พระองค์ นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์ นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยคฤหบดี ๔ คน นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรง

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 136

บูชายัญด้วยช้าง ๔ เชือก นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยม้า ๔ ตัว นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหลจะทรงบูชายัญด้วยโคอุสุภราช ๔ ตัว นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุบผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยสัตว์ทั้งปวงอย่างละ ๔.

[๘๑๔] นี่ปราสาทของท่านล้วนแล้วด้วยทองคำ เกลื่อนกล่นด้วยพวงมาลัย บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่เรือนยอดของท่านล้วนทองคำ เกลือนกล่นด้วยพวงมาลัย บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่พระอุทยานของท่าน มีดอกไม้บานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่ป่าอโศกของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่ป่ากรรณิการ์ของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่ป่าแคฝอยของท่าน มีดอก บานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 137

พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่สวนมะม่วงของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่สระโบกขรณีของท่าน ดารดาษไปด้วยดอกบัวหลวงและบัวขาว มีเรือทองอันงดงามวิจิตรด้วยลายเครือวัลย์ เป็นที่รื่นรมย์เป็นอันดี บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า.

[๘๑๕] นี่ช้างแก้วของท่าน ชื่อเอราวัณ เป็นช้างงามีกำลัง บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ นั้นถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่ม้าแก้วของท่านเป็นม้ามีกีบไม่แตก เป็นม้าวิ่งได้เร็ว บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ นั้นถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า นี่รถม้าของท่าน มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา เป็นรถงดงามวิจิตรด้วยแก้ว พระลูกเจ้าเสด็จไปในรถนี้ ย่อมงดงามดังเทพเจ้าในนันทวัน บัดนี้ พระเจ้าลูกทั้ง ๔ นั้นถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จึงจักทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรส ๔ พระองค์ ผู้งามเสมอด้วยทอง มีพระกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์ อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จึงจักทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดา ๔ พระองค์ ผู้งามเสมอด้วยทอง มีพระวรกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 138

อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จักทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์ผู้งามเสมอด้วยทอง มีพระวรกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์ อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จึงจักบูชายัญด้วยคฤหบดี ๔ คน ผู้งดงามเสมอด้วยทอง มีร่างกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์ คามนิคมทั้งหลายจะว่างเปล่า ไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ไป ฉันใด เมื่อพระราชารับสั่งให้เอาพระจันทกุมารและพระสุริยกุมารบูชายัญ พระนครปุบผวดีก็จักร้างว่างเปล่า ไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ไป ฉันนั้น.

[๘๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระบาทจักเป็นบ้า มีความเจริญถูกขจัดแล้ว มีสรีระเกลือกกลั้วด้วยธุลี ถ้าเขาฆ่าจันทกุมารลมปราณของข้าพระบาทก็จะแตกทำลาย ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระบาทจักเป็นบ้า มีความเจริญถูกขจัดแล้วมีสรีระเกลือกกลั้วด้วยธุลี ถ้าเขาฆ่าสุริยกุมาร ลมปราณของข้าพระบาทก็จะแตกทำลาย.

[๘๑๗] สะใภ้ของเราเหล่านี้ คือ นางฆัฏฏิกา นางอุปรักขี นางโปกขณี และนางคายิยา ล้วนกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน เพราะเหตุไรจึงไม่ฟ้อนรำขับร้องให้จันทกุมารและสุริยกุมารรื่นรมย์เล่า ใครอื่นที่จะเสมอด้วยนางทั้ง ๔ นั้นไม่มี.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 139

[๘๑๘] ดูก่อนเจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า แม่ของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนเจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า แม่ของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนเจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า ภรรยาของเจ้าจงประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนขัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อสุริยกุมารถูกนำไปเพื่อจะฆ่า ภรรยาของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนเจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ แม่ของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย ดูก่อนเจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวง แม่จงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย ดูก่อนเจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลายผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ ภรรยาของเจ้า จงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย ดูก่อนเจ้าขัณฑหาละเจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวง ภรรยาของเจ้า จงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 140

[๘๑๙] ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสีย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด พระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต ขอเดชะ หญิงทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร แม้จะเป็นคนยากจน ย่อมวอนขอบุตรต่อเทพเจ้า หญิงบางพวกละปฏิภาณแล้ว ไม่ได้บุตรก็มี หญิงเหล่านั้นย่อมกระทำความหวังว่า ขอลูกทั้งหลายจงเกิดแก่เรา แต่นั้นขอหลานจงเกิดอีก ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์รับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 141

ทั้งหลาย เพื่อต้องการทรงบูชายัญ โดยเหตุอันไม่สมควร ข้าแต่สมเด็จพระบิดา คนทั้งหลายเขาได้ลูกเพราะความวิงวอนเทพเจ้า ขอพระองค์อย่ารับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย อย่าทรงบูชายัญนี้ด้วยบุตรทั้งหลายที่ได้มาโดยยากเลยพระเจ้าข้า ข้าแต่สมเด็จพระบิดา คนทั้งหลายเขาได้บุตรเพราะความวิงวอนเทพเจ้า ขอพระองค์อย่ารับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลยพระเจ้าข้า ขอได้ทรงพระกรุณา โปรดอย่าได้พรากข้าพระองค์ทั้งหลายผู้เป็นบุตรที่ได้มาด้วยความยากจากมารดาเลยพระเจ้าข้า.

[๘๒๐] ข้าแต่พระมารดา พระมารดาย่อมย่อยยับ เพราะทรงเลี้ยงลูกจันทกุมารมาด้วยความลำบากมาก ลูกขอกราบพระบาทพระมารดา ขอพระราชบิดา จงทรงได้ปรโลกอันสมบูรณ์เถิด เชิญพระมารดาทรงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทให้ลูกกราบไหว้ ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ เพื่อประโยชน์แก่ยัญของสมเด็จพระราชบิดาเอกราช เชิญพระมารดาทรงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทให้ลูกกราบไหว้ ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าพระทัยให้พระมารดา เชิญพระมารดาทรงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทให้ลูกกราบไหว้ ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 142

[๘๒๑] ดูก่อนลูกโคตมี มาเถิด เจ้าจงรัดเมาลีด้วยใบบัว จงประดับดอกไม้อันแซมด้วยกลีบจำปา นี่เป็นปรกติของเจ้ามาเก่าก่อน มาเถิด เจ้าจงไล้ทาเครื่องลูบไล้ คือ จุรณจันทน์แดงของเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย เจ้าลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์แดงนั้นดีแล้ว ย่อมงดงามในราชบริษัท มาเถิดเจ้าจงนุ่งผ้ากาสิกพัสตร์ อันเป็นผ้าเนื้อละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย เจ้านุ่งผ้ากาสิกพัสตร์นั้นแล้ว ย่อมงดงามในราชบริษัท เชิญเจ้าประดับหัตถาภรณ์ อันเป็นเครื่องประดับทองคำฝังแก้วมุกดาและแก้วมณี เจ้าประดับด้วยหัตถาภรณ์นั้นแล้ว ย่อมงดงามในราชบริษัท.

[๘๒๒] พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองรัฐ ผู้เป็นทายาทของชนบท เป็นเจ้าโลกองค์นี้ จักไม่ทรงยังความสิเนหาได้เกิดในบุตรแน่ละหรือ.

[๘๒๓] ลูกทั้งหลายเป็นที่รักของเรา อนึ่ง แม้เจ้าทั้งหลายผู้เป็นภรรยาก็เป็นที่รักของเรา แต่เราปรารถนาสวรรค์ เหตุนั้นจึงได้ให้ฆ่าลูกทั้งหลาย.

[๘๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดรับสั่งให้ฆ่าข้าพระบาทเสียก่อน ขอความทุกข์อย่าได้ทำลายหทัยของข้าพระบาทเลย พระราชโอรสของพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ ประดับแล้วงดงาม ข้าแต่เจ้าชีวิต ขอได้โปรดฆ่าข้าพระบาทเสียก่อน ข้าพระบาทจักเป็นผู้มีความเศร้าโศกกว่าจันท-

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 143

กุมาร ขอพระองค์จงทรงทำบุญให้ไพบูลย์ ข้าพระบาททั้งสองจะเที่ยวไปในปรโลก.

[๘๒๕] ดูก่อนจันทาผู้มีตางาม เจ้าอย่าชอบใจความตายเลย เมื่อโคตมีบุตรผู้อันเราบูชายัญแล้ว พี่ผัวน้องผัวของเจ้าเป็นอันมากจักยังเจ้าให้รื่นรมย์ยินดี.

[๘๒๖] เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางจันทาเทวีก็ร่ำตีพระองค์ด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงรำพันว่าไม่มีประโยชน์ด้วยชีวิต เราจักดื่มยาพิษตายเสียในที่นี้ พระญาติพระมิตรของพระราชาพระองค์นี้ ผู้มีพระทัยดี ซึ่งจะกราบทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระราชโอรสอันเกิดแต่พระอุระเลย ย่อมไม่มีแน่แท้เทียว พระญาติพระมิตรของพระราชาพระองค์นี้ ผู้มีพระทัยดี ซึ่งกราบทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระราชโอรส อันเกิดแต่พระองค์เลย ย่อมไม่มีเป็นแน่แท้เทียว บุตรของข้าพระบาทเหล่านี้ประดับพวงดอกไม้ สวมกำไลทองต้นแขน ขอพระราชาจงเอาบุตรของข้าพระบาทเหล่านั้นบูชายัญ แต่ขอพระราชทานปล่อยโคตมีบุตรเถิด ข้าแต่พระมหาราชา ขอจงทรงตัดแบ่งข้าพระบาทให้เป็นร้อยส่วน แล้วทรงบูชายัญในสถานที่เจ็ดแห่ง อย่าได้ทรงฆ่าพระราชบุตรองค์ใหญ่ ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์เลย ข้าแต่พระมหาราช ขอจงตัดแบ่งข้า

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 144

พระบาทให้เป็นร้อยส่วนแล้ว ทรงบูชายัญในสถานที่เจ็ดแห่ง อย่าได้ทรงฆ่าพระราชบุตรองค์ใหญ่ผู้เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวงเลย.

[๘๒๗] เครื่องประดับเป็นอันมากล้วนแต่ของดีๆ คือ มุกดา มณี แก้วไพฑูรย์ เราให้แก่เจ้า เมื่อเจ้ากล่าวคำดี นี้เป็นของที่เราให้แก่เจ้าครั้งสุดท้าย.

[๘๒๘] เมื่อก่อน พวงมาลาบานเคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว จักฟันที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น เมื่อก่อน พวงมาลาอันวิจิตรเคยสวมที่พระศอของกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบอันเขาลับคมดีแล้ว จักฟันที่พระศอของกุมารเหล่านั้น ไม่ช้าแล้วหนอดาบจักฟันที่พระศอของพระราชบุตรทั้งหลาย ก็หทัยของเราจะไม่แตก แต่จะต้องมีเครื่องรัดอย่างมั่นคงเหลือเกิน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันสะอาด ประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทร์ เสด็จออกเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑลไล้ทากฤษณา และจรุณแก่นจันทน์ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกทำความเศร้าพระทัยแก่

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 145

พระชนนี พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาดประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณจันทน์ เสด็จออกกระทำความเศร้าพระทัยให้แก่พระชนนี พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหาร อันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจรุณแก่นจันทน์ เสด็จออกกระทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.

[๘๒๙] เมื่อเขาตกแต่งเครื่องบูชายัญทุกสิ่งแล้ว เมื่อพระจันทกุมารและพระสุริยกุมารประทับนั่ง เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาลราช ประนมอัญชลีเสด็จดำเนินเวียนในระหว่างบริษัททั้งปวงทรงกระทำสัจจกิริยาว่า ขัณฑหาละ

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 146

ผู้มีปัญญาทราม ได้กระทำกรรมชั่ว ด้วยความสัจจริงอันใด ด้วยสัจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี อมนุษย์เหล่าใดมีอยู่ในที่นี้ ยักษ์ สัตว์ที่เกิดแล้วและสัตว์ที่จะมาเกิดก็ดี ขอจงกระทำความขวนขวายช่วยเหลือข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี เทวดาทั้งหลายที่มาแล้วในที่นี้ ปวงสัตว์ที่เกิดแล้วและสัตว์ที่จะมาเกิด ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้แสวงหาที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลาย ขออย่าให้พวกข้าศึกชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย.

[๘๓๐] ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทานั้นแล้ว ทรงกวัดแกว่งค้อน ยังความกลัวให้เกิดแก่พระเจ้าเอกราชนั้นแล้วได้ตรัสกะพระราชาว่า พระราชากาลี จงรู้ไว้ อย่าให้เราตีเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้ ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน คนผู้ปรารถนาสวรรค์ฆ่าบุตรภรรยา เศรษฐี และคฤหบดี ผู้ไม่คิดประทุษร้าย.

[๘๓๑] ขัณฑหาลปุโรหิตและพระราชา ได้ฟังพระดำรัสของท้าวสักกะ ได้เห็นรูปอันอัศจรรย์แล้ว ให้เปลื้องเครื่องพันธนาการของสัตว์ทั้งปวง เหมือน

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 147

ดังเปลื้องเครื่องพันธนาการของคนผู้ไม่มีความชั่ว เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่ประชุมอยู่ ณ ที่นั้นในกาลนั้นทุกคน เอาก้อนดินคนละก้อน ทุ่มลง การฆ่าซึ่งขัณฑหาลปุโรหิตได้มีแล้วด้วยประการดังนี้.

[๘๓๒] คนผู้กระทำกรรมชั่วฉันใดฉันนั้นเป็นต้องเข้านรกทั้งหมด คนทำกรรมชั่วแล้ว ไม่พึงได้จากโลกนี้ไปสู่สุคติเลย.

[๘๓๓] เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นในกาลนั้น คือ พระราชาทั้งหลาย ประชุมกันอภิเษกพระจันทกุมาร เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นในกาลนั้น คือ เทวดาทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันอภิเษกพระจันทกุมาร เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือ เทพกัญญาทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันอภิเษกพระจันทกุมาร เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่ประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือ พระราชาทั้งหลายประชุมพร้อมกัน ต่างแกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อม

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 148

กัน ณ ที่นั้นในกาลนั้น คือ ราชกัญญาทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้นในกาลนั้น คือ เทพบุตรทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันต่างแกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้นในกาลนั้น คือ เทพกัญญาทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันต่างแกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ชนเป็นอันมากต่างก็รื่นรมย์ยินดี พวกเขาได้ประกาศความยินดีในเวลาที่พระจันทกุมารเสด็จเข้าสู่พระนคร และได้ประกาศความหลุดพ้นจากเครื่องจองจำของสัตว์ทั้งปวง.

จบจันทกุมารชาดกที่ ๗

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 149

อรรถกถาจันทกุมารชาดก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ราชาสิ ลุทฺทกมฺโม ดังนี้.

เรื่องของพระเทวทัตนั้น มาแล้วในสังฆเภทกขันธกะแล้วนั่นแล. เรื่องนั้น นับจำเดิมแต่เวลาที่ท่านออกผนวชแล้วตราบเท่าถึงให้ปลงพระชนมชีพของพระเจ้าพิมพิสาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในที่นั้นนั่นเอง.

ฝ่ายพระเทวทัต ครั้นให้ปลงพระชนมชีพพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า ดูก่อนมหาราช มโนรถของพระองค์ถึงที่สุดแล้ว ส่วนมโนรถของอาตมา ก็ยังหาถึงที่สุดก่อนไม่. พระราชาได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสถามว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ก็มโนรถของท่านเป็นอย่างไร? พระเทวทัต. ดูก่อนมหาราช เมื่อฆ่าพระทศพลแล้วอาตมาจักเป็นพระพุทธเจ้ามิใช่หรือ? พระราชาตรัสถามว่า ก็ในเพราะเรื่องนี้ควรเราจะทำอย่างไรเล่า? เทวทัต. ดูก่อนมหาราช ควรจะให้นายขมังธนูทั้งหลายประชุมกัน. พระราชาทรงรับว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ จึงให้ประชุมนายขมังธนูจำพวกที่ยิงไม่ผิดพลาด รวม ๕๐๐ ตระกูล ทรงเลือกจากคนเหล่านั้นไว้ ๓๑ คน ตรัสสั่งว่า พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงทำตามคำสั่งของพระเถระ ดังนี้แล้วจึงส่งไปยังสำนักพระเทวทัต. พระเทวทัตเรียกผู้เป็นใหญ่ในบรรดาพวกนายขมังธนูเหล่านั้นมา แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ พระสมณโคดมประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เสด็จจงกรมอยู่ในที่พักกลางวันในที่โน้น. ส่วนท่านจงไปในที่นั้น ยิงพระสมณโคดมด้วยลูกศรอาบด้วยยาพิษ ให้สิ้นพระชนมชีพแล้ว จงกลับโดยทางชื่อโน้น. พระเทวทัตนั้น ครั้นส่งนายขมังธนูผู้ใหญ่นั้นไปแล้ว จึงพักนายขมังธนู

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 150

ไว้ในทางนั้น ๒ คน ด้วยสั่งว่า จักมีบุรุษคนหนึ่งเดินทางมาโดยทางที่พวกท่านยืนอยู่ พวกท่านจงปลงชีวิตบุรุษนั้นเสีย แล้วกลับมาโดยทางโน้น. ในทางนั้น พระเทวทัตจึงวางบุรุษไว้สี่คนด้วยสั่งว่า โดยทางที่พวกท่านยืนอยู่ จักมีบุรุษเดินมา ๒ คน ท่านจงปลงชีวิตบุรุษ ๒ คนนั้นเสีย แล้วกลับมาโดยทางชื่อโน้น. ในทางนั้น พระเทวทัตวางคนไว้ ๘ คน ด้วยสั่งว่า โดยทางที่พวกท่านยืนอยู่ จักมีบุรุษ ๔ คนเดินทางมา พวกท่านจงปลงชีวิตบุรุษทั้ง ๔ คนนั้นเสีย แล้วกลับโดยทางชื่อโน้น. ในทางนั้น พระเทวทัตวางบุรุษไว้ ๑๖ คน ด้วยสั่งว่า โดยทางที่พวกท่านไปยืนอยู่ จักมีบุรุษเดินมา ๘ คน ท่านจงปลงชีวิตบุรุษทั้ง ๘ คนนั้นเสีย แล้วจงกลับมาโดยทางชื่อโน้น. ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระเทวทัตจึงทำอย่างนั้น. แก้ว่า เพราะปกปิดกรรมชั่วของตน. ได้ยินว่า พระเทวทัตได้ทำดังนั้น เพื่อจะปกปิดกรรมชั่วของตน.

ลำดับนั้น นายขมังธนูผู้ใหญ่ ขัดดาบแล้วทางข้างซ้าย ผูกแล่งและศรไว้ข้างหลังจับธนูใหญ่ทำด้วยเขาแกะ ไปยังสำนักพระตถาคตเจ้า จึงยกธนูขึ้นด้วยสัญญาว่า เราจักยิงดังนี้แล้ว จึงผูกสอดลูกศร ฉุดสายมาเพื่อจะยิง ก็ไม่สามารถจะยิงไปได้. พระศาสดาได้ทรงให้คร่าธนูมาแล้ว หาได้ประทานให้ยิงไปได้ไม่. นายขมังธนูผู้ใหญ่นั้น เมื่อไม่อาจแม้จะยิงลูกศรไปก็ดี ลดลงก็ดี ก็ได้เป็นคนลำบากใจ เพราะสีข้างทั้งสองเป็นเหมือนจะหักลง น้ำลายก็ไหลนองออกจากปาก. ร่างกายทั้งสิ้นเกิดแข็งกระด้าง ได้เป็นเสมือนถึงอาการอันเครื่องยนต์บีบคั้น. นายขมังธนูนั้นได้เป็นคนอันมรณภัยคุกคามแล้วยืนอยู่.

ลำดับนั้น พระศาสดา ทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้นแล้ว ทรงเปล่งด้วยเสียงอันไพเราะ ตรัสปลอบนายขมังธนูว่า พ่อบุรุษผู้โง่เขลาท่านอย่ากล่าวเลย จงมาที่นี้เถิด. ในขณะนั้น นายขมังธนูก็ทิ้งอาวุธเสีย กราบลงด้วยศีรษะแทบพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 151

โทษได้ล่วงข้าพระพุทธเจ้าแล้ว โดยที่เป็นคนเขลา คนหลง คนชั่วบาป ข้าพระพุทธเจ้ามิได้รู้จักคุณของพระองค์ จึงได้มาแล้ว เพื่อปลงพระชนมชีพของพระองค์ ตามคำเสี้ยมสอนของพระเทวทัตผู้เป็นอันธพาล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงอดโทษข้าพระพุทธเจ้า ข้าแต่พระสุคตขอพระองค์จงอดโทษข้าพระพุทธเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้รู้โลก ขอพระองค์จงอดโทษข้าพระพุทธเจ้า ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอดโทษให้ตนแล้วก็นั่งลงในที่สุดส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ยังนายขมังธนูให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ดำรัสสอนว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านอย่าเดินทางไปตามทางที่พระเทวทัตชี้ให้ จงไปเสียทางอื่น แล้วส่งนายขมังธนูนั้นไป. ก็แล้วครั้นส่งนายขมังธนูไปแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงจากที่จงกรมไปประทับอยู่ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง.

ลำดับนั้น เมื่อนายขมังธนูผู้ใหญ่มิได้กลับมา นายขมังธนูอีก ๒ คน ที่คอยอยู่ก็คิดว่า อย่างไรหนอเขาจึงล่าช้าอยู่ ออกเดินสวนทางไป ครั้นเห็นพระทศพล ก็เข้าไปถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาครั้นทรงประกาศพระอริยสัจแก่ชนทั้ง ๒ ยังเขาให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วดำรัสสอนว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านอย่าเดินไปทางที่พระเทวทัตบอก จงไปโดยทางนี้ แล้วก็ส่งเขาไป โดยอุบายนี้ เมื่อทรงประกาศพระอริสัจ ยังนายขมังธนูแม้นอกนี้ที่มานั่งเฝ้า ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ก็ทรงส่งไปโดยทางอื่น.

ลำดับนั้น นายขมังธนูผู้ใหญ่นั้น กลับมาถึงก่อนก็เข้าไปหาพระเทวทัต กล่าวว่า ข้าแต่พระเทวทัตผู้เจริญ ข้าพเจ้าหาได้อาจปลงพระชนมชีพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมทรงฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ ทรงอานุภาพอันยิ่งใหญ่. ส่วนบรรดานายขมังธนูเหล่านั้น รำพึงว่า เราทั้งหมด

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 152

นั้นอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้รอดชีวิตแล้ว ก็ออกบรรพชาในสำนักพระศาสดา แล้วทรงบรรลุพระอรหัตทุกท่าน.

เรื่องนี้ได้ปรากฏในภิกษุสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ได้ยินว่าพระเทวทัต ได้กระทำความพยายาม เพื่อจะปลงชีวิตชนเป็นอันมาก เพราะจิตก่อเวรในพระตถาคตเจ้าพระองค์เดียว แต่ชนเหล่านั้น อาศัยพระศาสดาได้รอดชีวิตแล้วทั้งสิ้น. ฝ่ายพระศาสดาเสด็จออกจากที่บรรทมอันประเสริฐได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ เสด็จมายังโรงธรรมสภาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็กระทำความพยายามเพื่อจะฆ่าชนเป็นอันมาก อาศัยเราผู้เดียว เพราะจิตมีเวรในเรา ดังนี้แล้วได้ทรงนิ่งเสีย เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลวิงวอนจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล กรุงพาราณสีนี้ ชื่อว่า เมือง ปุปผวดี. พระโอรสของพระเจ้าวสวัตดีทรงพระนามว่าเอกราชได้ครองราชสมบัติในเมืองนั้น. พระราชโอรสของพระองค์ ทรงพระนามว่า พระจันทกุมาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราช. พราหมณ์ชื่อว่า กัณฑหาละ (๑) ได้เป็นปุโรหิต. เขาถวายอนุศาสน์ทั้งอรรถและธรรมแด่พระราชา. ได้ยินว่า พระราชา ครั้นทรงสดับว่า กัณฑหาละเป็นบัณฑิต ก็ทรงให้ดำรงไว้ในหน้าที่ตัดสินอรรถคดี. ก็กัณฑหาลพราหมณ์นั้นเป็นคนมีจิตใจฝักใฝ่ในสินบน ครั้นได้รับสินบนแล้วก็ตัดสินให้ผู้มิใช่เจ้าของให้เป็นเจ้าของ ผู้เป็นเจ้าของมิให้ได้เป็นเจ้าของ. ครั้นภายหลังวันหนึ่ง มีบุรุษผู้แพ้คดีคนหนึ่ง โพนทนาด่าว่าอยู่ในที่เป็นที่วินิจฉัยอรรถคดี ครั้นออกมาภายนอก เห็นพระจันทกุมารจะเสด็จมาสู่ที่เฝ้าพระราชา


๑.บาลีเป็น ขัณฑหาละ.

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 153

ก็กราบลงแทบพระบาทแล้วร้องไห้ พระจันทกุมารนั้นถามเขาว่า เรื่องอะไรกัน บุรุษผู้เจริญ. เขาทูลว่า กัณฑหาลนี้ปล้นเขาในการตัดสินความ ถึงข้าพระองค์เมื่อเขารับสินบนแล้ว เขาก็ทำให้ถึงความพ่ายแพ้ในอรรถคดีพระเจ้าข้า. พระจันทกุมารตรัสปลอบว่า อย่ากลัวไปเลย ดังนี้แล้วก็ทรงพาบุรุษนั้นไปสู่โรงเป็นที่วินิจฉัยอรรถคดี กระทำผู้เป็นเจ้าของนั่นแลให้เป็นเจ้าของ ผู้มิใช่เจ้าของให้เป็นผู้มิใช่เจ้าของ. มหาชนพากันแซ่ซ้องสาธุการด้วยเสียงอันดัง. พระราชาได้ทรงสดับเสียงนั้นจึงตรัสถามว่า นั่นเสียงอะไร? มีผู้ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ได้ยินว่า มีอรรถคดีอันพระจันทกุมารทรงตัดสินแล้วโดยชอบธรรม เสียงนั้นคือเสียงสาธุการของมหาชน. เพราะฟังเสียงนั้นพระราชาจึงเกิดปีติ.

พระจันทกุมารเสด็จมาถวายบังคมพระราชบิดาแล้ว ก็ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสกะท่านว่า แน่ะ พ่อได้ยินว่า เจ้าได้ตัดสินความเรื่องหนึ่งหรือ? พระจันทกุมารทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระบาทได้ตัดสินเรื่องหนึ่ง พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ถ้ากระนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเจ้าคนเดียวจงยังการตัดสินอรรถคดีให้ดำเนินไปเถิด. แล้วทรงประทานหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดีแก่พระกุมาร. ผลประโยชน์ของกัณฑหาลพราหมณ์ ย่อมขาดไป. เขาก็ผูกอาฆาตประพฤติเป็นผู้เพ่งโทษจะจับผิดในพระจันทกุมารตั้งแต่นั้นมา.

ส่วนพระราชานั้นเป็นผู้มีปัญญาอ่อน วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่ง ได้ทรงสุบินเห็นปานนี้ว่า ได้ทอดพระเนตรเห็นดาวดึงส์พิภพ มีซุ้มประตูอันประดับแล้ว มีกำแพงแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มีวิถีอันแล้วไปด้วยทรายทอง กว้างประมาณ ๖๐ โยชน์ ประดับไปด้วยเวชยันตปราสาทสูงพันโยชน์ เป็นที่รื่นรมย์ไปด้วยสวนมีนันทวันเป็นต้น ประกอบด้วยสระโบกขรณี อันน่ายินดี

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 154

มีนันทโบกขรณีเป็นต้น มีหมู่เทพเกลื่อนกล่น. นางเทพอัปสรเป็นอันมาก ก็ฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี ในเวชยันตปราสาท ในดาวดึงส์พิภพนั้น. พระราชาได้ทรงเห็นดังนั้น ครั้นทรงตื่นบรรทม ใคร่จะเสด็จไปสู่พิภพนั้น จึงทรงดำริว่า พรุ่งนี้ในเวลาที่อาจารย์กัณฑหาละมาเฝ้า เราจะถามถึงหนทางอันเป็นที่ไปยังเทวโลก แล้วเราจักไปสู่เทวโลกโดยทางที่อาจารย์บอกให้นั้น. พระราชานั้นก็เสด็จสรงสนานแต่เช้าตรู่ ทรงนุ่งห่มภูษา เสวยโภชนาหารอันมีรสเลิศต่างๆ ทรงไล้ทาเครื่องหอมแล้วเสด็จประทับนั่ง ส่วนกัณฑหาลพราหมณ์ อาบน้ำแต่เช้าตรู่ นุ่งผ้า บริโภคอาหาร ไล้ทาเครื่องหอมแล้วไปยังที่บำรุงพระราชา เข้าไปยังพระราชนิเวศน์ แล้วทูลถามถึงพระสำราญ ในที่พระบรรทม. ลำดับนั้น พระราชาประทานอาสนะแก่กัณฑหาลพราหมณ์นั่นแล้ว จึงทรงถามปัญหา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสคาถาว่า

พระราชาพระนามว่า เอกราช เป็นผู้มีกรรมอันหยาบช้า อยู่ในพระนคร ปุปผวดี ท้าวเธอตรัสถามกัณฑหาลปุโรหิต ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์ เป็นผู้หลงว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเป็นผู้ฉลาดในธรรมวินัย ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา เหมือนอย่างนรชนทำบุญแล้ว ไปจากภพนี้สู่สุคติภพ ฉะนั้นเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชาสิ ความว่า ท่านเป็นพระราชา. บทว่า ลุทฺทกกมฺโม ได้แก่ ท่านเป็นผู้มีกรรมอันหยาบช้าทารุณ. บทว่า สคฺคานมคฺคํ ความว่า ทางแห่งสวรรค์. บทว่า ธมฺมวินยกุสโล ความว่า ด้วยบทว่า ยถา นี้ ท่านถามว่า เหมือนอย่างว่าคนทั้งหลาย ทำบุญแล้วจาก

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 155

โลกนี้ไปสุคติด้วยประการใด ขอท่านจงบอกทางแห่งสุคติแก่ข้าพเจ้า โดยประการนั้น ก็ปัญหานี้ ท่านควรจะถามกะพระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือกะพระโพธิสัตว์.

เพราะไม่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือพระสาวก ส่วนพระราชาทรงถามกะกัณฑหาลพราหมณ์ผู้ไม่รู้อะไรๆ เหมือนบุรุษผู้หลงทาง ๗ วัน พึงถามกะบุรุษคนอื่นผู้หลงทาง มาประมาณกึ่งเดือน.

กัณฑหาลพราหมณ์คิดว่า เวลานี้เป็นเวลาที่จะได้เห็นหลังปัจจามิตรของเรา บัดนี้เราจักกระทำพระจันทกุมารให้ถึงสิ้นชีวิตแล้ว จักทำมโนรถของเราให้สำเร็จบริบูรณ์ ครั้งนั้นกัณฑหาลพราหมณ์ ครั้นกราบทูลพระราชา แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ คนทั้งหลายให้ทานอันล่วงล้ำทาน ฆ่าแล้วซึ่งบุคคลอันไม่พึงฆ่า ชื่อว่า ทำบุญแล้ว ย่อมไปสู่สุคติด้วยประการฉะนี้.

ความแห่งคำในคาถานั้นมีดังนี้ว่า ดูก่อนมหาราช ชื่อว่า บุคคลผู้ไปสวรรค์ ย่อมให้ทานล่วงล้ำทาน ย่อมฆ่าบุคคลอันไม่ควรฆ่า ถ้าท่านปรารถนาจะไปสุคติไซร้ แม้ท่านก็จงทำอย่างนั้นนั่นแล.

ลำดับนั้น พระราชา จึงตรัสถามถึงอรรถแห่งปัญหากะกัณฑหาลพราหมณ์นั้นว่า

ก็ทานอันล่วงล้ำทานนั้นอะไร ใครเป็นบุคคลอันไม่พึงฆ่าในโลกนี้ ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา เราจักบูชายัญ เราจะให้ทาน.

กัณฑหาลพราหมณ์ ทูลแก้ปัญหาแก่พระราชานั้นว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ยัญพึงบูชาด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย ด้วยพระมเหสีทั้งหลาย ด้วยชาว

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 156

นิคมทั้งหลาย ด้วยโคอุสภราชทั้งหลาย ด้วยม้าอาชาไนยทั้งหลาย อย่างละ ๔ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ยัญพึงบูชาด้วยหมวด ๔ แห่งสัตว์ทั้งปวง.

กัณฑหาลพราหมณ์นั้น เมื่อจะถวายพยากรณ์แก่พระราชานั้น ถูกพระราชานั้นทรงถามถึงทางไปสู่สวรรค์ แต่กลับพยากรณ์ทางไปนรก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺเตหิ ความว่า พระราชบุตรเป็นที่รักทั้งหลาย พระธิดาทั้งหลายผู้เกิดแล้วแก่พระองค์ด้วย. บทว่า มเหสีหิ ได้แก่ ด้วยพระชายาทั้งหลาย. บทว่า เนคเมหิ แปลว่า ด้วยเศรษฐีทั้งหลาย. บทว่า อุสเภหิ ความว่า อุสภราชทั้งหลายอันขาวปลอด. บทว่า อาชานีเยหิ ความว่า ด้วยม้าอันเป็นมงคลทั้งหลาย. บทว่า จตูหิ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พึงบูชายัญด้วยหมู่ ๔ แห่งสัตว์ทั้งปวงอย่างนี้คือ สัตว์เหล่านี้ และสัตว์เหล่าอื่นทั้งหมด และสัตว์ ๔ เหล่ามีช้างเป็นต้น. กัณฑหาลพราหมณ์ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยว่า พระราชาทั้งหลายผู้ทรงบูชายัญ เมื่อได้ตัดศีรษะแห่งสัตว์ทั้งหลาย มีพระราชบุตรเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระขรรค์ ถือเอาโลหิตในลำคอด้วยถาดทองคำ ทิ้งลงไปในหลุมยัญแล้ว ย่อมเสด็จไปสู่เทวโลกพร้อมทั้งพระสรีระกายนั่นเอง ข้าแต่มหาราช อันการให้ทาน มีให้ของกิน และเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น แก่สมณพราหมณ์ คนยากไร้ คนเดินทางวณิพกและยาจก จะได้เป็นอติทาน ทานอันล่วงล้ำทานหามิได้เลย ส่วนการฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า มีบุตรและธิดาเป็นต้น แล้วกระทำยัญบูชาด้วยเลือดในลำคอของคนจำพวกนั้น ชื่อว่า อติทาน กัณฑหาลพราหมณ์นั้นคิดดังนี้ ว่าถ้าเราจักจับแต่พระจันทกุมารคนเดียว คนทั้งหลายจักสำคัญถึงเหตุเพราะจิตมีเวร เพราะฉะนั้น เขาจึงรวมพระจันทกุมารเข้าในระหว่างมหาชน.

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 157

ฝ่ายชนชาวพระราชวังใน ได้สดับเรื่องที่พระราชาและกัณฑหาละเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ จึงตกใจกลัว ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังพร้อมเป็นเสียงเดียวกัน.

พระศาสดา เมื่อจะประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า

เสียงกึกก้องน่ากลัว ได้เกิดขึ้นในพระราชวัง เพราะได้สดับว่า พระกุมารและพระมเหสีทั้งหลายจะต้องถูกฆ่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ความว่า เพราะได้ฟังว่า พระราชกุมาร และพระมเหสีทั้งหลาย จะต้องถูกฆ่า. บทว่า เอโก ความว่า ได้มีเสียงกึกก้องเป็นอันเดียวกัน ทั่วพระราชนิเวศน์. บทว่า เภสฺมา แปลว่า น่ากลัว. บทว่า อจฺจุคฺคโต ความว่า ได้เกิดขึ้นอื้ออึง.

ในกาลนั้น ราชตระกูลทั้งสิ้น ได้เป็นดังป่าไม้รัง อันลมยุคันตวาตพัดต้องหักโค่นลงแล้ว.

ฝ่ายพราหมณ์ ทูลถามพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อาจเพื่อกระทำยัญบูชานี้หรือๆ ไม่อาจ. ราชาตรัสว่า ดูก่อนอาจารย์ ท่านกลัวอย่างไรเราบูชายัญแล้ว จักไปสู่เทวโลก. กัณฑหาลพราหมณ์ทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุรุษทั้งหลายเกิดมาเป็นคนขลาด มีอัธยาศัยอ่อนกำลัง ไม่ชื่อว่าเป็นผู้สามารถเพื่อจะบูชายัญได้ ขอพระองค์จงให้ประชุมสัตว์ มีลมปราณทั้งปวงไว้ในที่นี้ ข้าพระองค์จักกระทำกรรมในหลุมยัญ ดังนี้แล้วจึงพาพรรคพวกผู้มีกำลังสามารถของตนอันพอเพียง ออกจากพระนคร ไปกระทำหลุมยัญให้มีพื้นราบเรียบสม่ำเสมอ แล้วล้อมรั้วไว้ เพราะเหตุไร? เพราะว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้ทรงธรรม พึงมาแล้วห้ามการกระทำยัญนั้น เพราะเหตุนั้น พราหมณ์ในโบราณกาลจึงบัญญัติตั้งไว้ว่า หลุมยัญต้องล้อมรั้วจึงจะเป็นจารีต.

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 158

ฝ่ายพระราชา ทรงมีรับสั่งให้เรียกราชบุรุษทั้งหลายมาแล้วสั่งว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย เราฆ่าบุตร ธิดาและภรรยาทั้งหลายของเราบูชายัญแล้ว เราจักไปสู่เทวโลก เจ้าจงไปทูลพระราชบุตร พระราชธิดา และพระมเหสีเหล่านั้นแล้วพามาสู่ที่นี้ทั้งสิ้น ดังนี้แล้ว เพื่อจะให้ราชบุรุษนำพระราชบุตรทั้งหลายมาก่อน จึงได้ตรัสว่า

พวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย คือพระจันทกุมาร พระสุริยกุมาร พระภัททเสนกุมาร พระสูรกุมาร พระรามโคตตกุมารว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่ยัญอันจะพึงบูชา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺทญฺจ สุริยญฺจ ความว่า พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทั้ง ๒ เป็นพระราชบุตรของพระนางโคตมีเทวีพระอัครมเหสี พระภัททเสนกุมาร พระสูรกุมาร พระรามโคตตกุมาร เป็นพระภาดาต่างมารดาของพระจันทกุมารแลพระสุริยกุมารเหล่านั้น. บทว่า ปสุ กิร โหถ ความว่า ขอท่านจงอยู่เป็นเป็นหมู่เป็นกองในที่เดียวกัน อธิบายว่า จงอย่ากระจัดกระจายกัน.

ราชบุรุษเหล่านั้นไปยังสำนักพระจันทกุมารก่อนแล้วทูลว่า ดูก่อนพ่อกุมาร ดังได้สดับมาว่าพระราชบิดาของพระองค์ ทรงพระประสงค์จะฆ่าพระองค์แล้ว เสด็จไปสู่เทวโลก ทรงสั่งพวกข้าพระองค์มาเพื่อคุมพระองค์ไป.

พระจันทกุมารตรัสว่า พระราชานั้นใช้ให้ท่านมาจับเราตามคำของใคร? ราชบุรุษทูลว่า ตามคำของกัณฑหาลพราหมณ์ พระเจ้าข้า.

จันทกุมาร ตรัสถามว่า อย่างไรพระองค์ทรงใช้ให้ท่านมาจับเราคนเดียว หรือว่าให้จับคนอื่นด้วย.

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 159

ราชบุรุษทูลว่า พระองค์โปรดให้จับผู้อื่นด้วย ได้ยินว่า พระองค์ทรงใคร่จะบูชาด้วยหมวด ๔ แห่งสัตว์ทั้งปวง พระจันทกุมารคิดว่า กัณฑหาลพราหมณ์นี้มิได้จองเวรกับด้วยผู้อื่น แต่เมื่อไม่ได้กระทำการปล้นทางวินิจฉัยอรรถคดี ก็จะฆ่าคนเสียเป็นอันมาก เพราะจิตคิดจองเวรในเราแต่ผู้เดียว เมื่อเราได้ช่องเฝ้าพระราชบิดา ความพ้นภัยของคนทั้งหมดนี้ จักเป็นภาระของเราเป็นแน่. ลำดับนั้น พระจันทกุมารจึงตรัสแก่ราชบุรุษว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงทำตามพระราชบัญชาของพระบิดาเถิด. ราชบุรุษเหล่านั้นนำพระจันทกุมารมาให้ประทับที่พระลานหลวง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นำพระราชกุมารอื่นอีก ๓ พระองค์มาประทับใกล้ๆ กันแล้ว ก็ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ ข้าพระองค์ได้นำพระราชโอรสทั้งหลายของพระองค์มาแล้ว. พระราชานั้นได้ทรงสดับคำของราชบุรุษเหล่านั้นแล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย บัดนี้เจ้าจงไปนำพระราชธิดาทั้งหลายของเรามาแล้ว จึงให้ประทับในที่ใกล้แห่งพระภาดาของเธอ. เพื่อจะให้เขานำพระราชธิดาทั้ง ๔ มา จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า

เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย คือพระอุปเสนากุมารี พระโกกิลากุมารี พระมุทิตากุมารี และพระนันทากุมารีว่า ขอท่านหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.

ราชบุรุษเหล่านั้นไปสู่สำนักพระราชธิดาทั้งหลายด้วยคิดว่า เราจักกระทำด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล้วนำพระธิดาเหล่านั้นผู้กำลังทรงกรรแสงคร่ำครวญให้มาประทับในที่ใกล้พระภาดา. จากนั้นพระราชา เมื่อจะให้ราชบุรุษไปคุมพระมเหสีทั้งหลายของพระองค์มา จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า

อนึ่ง เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระนางวิชยา พระนางเอราวดี พระนางเกศินีและพระนางสุนันทา ผู้เป็น

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 160

มเหสีของเรา ผู้สมบูรณ์ด้วยพระลักษณะอันประเสริฐว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลกฺณวรูปปนฺนา ความว่า ท่านทั้งหลาย จงทูลพระมเหสีแม้เหล่านี้ ผู้เลอโฉม ผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งสัตว์อันอุดม ๖๔ ประการ

ราชบุรุษเหล่านั้น ก็นำพระนางทั้ง ๔ อันกำลังปริเทวนาการคร่ำครวญอยู่แม้เหล่านั้นมา ให้ประทับอยู่ในที่ใกล้พระกุมาร. ลำดับนั้นพระราชาเมื่อจะทรงให้ราชบุรุษนำเศรษฐีทั้ง ๔ มา ตรัสพระคาถานอกนี้ว่า

เจ้าทั้งหลายจงไปบอกคฤหบดีทั้งหลายคือ ปุณณมุขคฤหบดี ภัททิยคฤหบดี สิงคาลคฤหบดี และ วัฑฒคฤหบดีว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.

ราชบุรุษทั้งหลายก็ไปนำคฤหบดีเหล่านั้นมา เมื่อพระราชาให้จับกุมพระกุมาร และพระมเหสีทั้งหลาย ทั่วพระนครไม่มีใครๆ ได้กล่าวคำอะไรเลย แต่ตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งหลาย ย่อมมีเครือญาติเกี่ยวพันกันเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นในกาลที่เศรษฐีเหล่านั้นถูกจับกุม มหาชนจึงพากันกำเริบขึ้นทั่วพระนคร. คนเหล่านั้นพูดกันว่า เราจักไม่ยอมให้พระราชาฆ่าเศรษฐีบูชายัญ ดังนี้แล้วก็พากันแวดล้อมเศรษฐีไว้. ลำดับนั้น เศรษฐีเหล่านั้น มีหมู่ญาติห้อมล้อมอยู่รอบด้าน ถวายบังคมพระราชาแล้ว ก็ขอประทานชีวิตของตน.

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า

คฤหบดีเหล่านั้น เกลื่อนกล่นไปด้วยบุตรและภรรยา มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น ได้กราบทูลพระราชา

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 161

ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงกระทำข้าพระองค์ทุกคนให้เป็นคนมีแหยม หรือขอจงทรงประกาศข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นข้าทาสเถิด พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพ สิขิโน ความว่า ขอพระองค์จงทรงกระทำให้ข้าพระองค์ทุกคนมุ่นจุกผมบนกระหม่อม จงกระทำให้พวกข้าพระองค์เป็นคนรับใช้ของพระองค์ ข้าพระองค์จักกระทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ของพระองค์. บทว่า อถ วา โน ทาเส สาเวหิ ความว่า เมื่อไม่ไว้พระทัยเชื่อข้าพระองค์ ก็จงให้ประชุมกองทัพทั้งหมด แล้วจงประกาศในท่ามกลางกองทัพเหล่านั้น ให้พวกข้าพระองค์เป็นทาส ข้าพระองค์ทั้งหลายก็จักกระทำวัตรของทาสแด่พระองค์.

คฤหบดีเหล่านั้น แม้ทูลอ้อนวอนขอชีวิตอยู่อย่างนี้ ก็หาอาจได้ไม่. ราชบุรุษทั้งหลายให้คฤหบดีทั้งหมดนั้นถอยกลับไปแล้ว ก็คุมเอาพวกเขาไปให้นั่งในที่ใกล้พระราชกุมารนั่นแล.

ภายหลังพระราชา เมื่อจะทรงสั่งราชบุรุษเพื่อให้นำสัตว์ทั้งหลายมีช้างเป็นต้น จึงตรัสว่า

เจ้าทั้งหลายจงรีบนำช้างของเรา คือช้างอภยังกร ช้างนาฬาคิรี ข้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ ช้างเหล่านี้จักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงรีบไปนำมาซึ่งม้าอัสดรของเรา คือม้าเกศี ม้าสุรามุข ม้าปุณณมุข ม้าวินัตกะ ม้าเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงรีบไปนำมาซึ่งโคอุสุภราชของเรา คือโคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 162

โคควัมปติ จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่กัน เราจักบูชายัญ จักให้ทาน อนึ่ง จงตระเตรียมทุกสิ่งให้พร้อม วันพรุ่งนี้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงนำเอาพวกกุมารมา จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้ เจ้าจงตั้งไว้แม้ทุกสิ่ง วันพรุ่งนี้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เราจะบูชายัญ เจ้าทั้งหลาย จงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้วันนี้เป็นคือสุดท้าย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุหํ กโรนฺตุ สพฺพํ ความว่า จงกระทำให้เป็นหมวดละสิ่งๆ ไม่ใช่แต่สัตว์ทั้งหมดมีประมาณเท่านี้ แม้สัตว์ทั้งปวงที่เหลือจากนี้ จำพวกสัตว์ ๔ เท้าก็ดี จำพวกนกก็ดี ก็จงกระทำให้เป็นหมวดละ ๔ แล้วรวมไว้เป็นกอง เราจักบูชายัญอันประกอบด้วยหมวด ๔ แห่งสัตว์ทุกชนิด เราจักให้ทานแก่ยาจกทั้งหลาย และสมณพราหมณ์ทั้งหลาย. บทว่า สพฺพํปิ ปฏิยาเทถ ความว่า จงจัดตั้งสิ่งที่เหลือที่เรากล่าวแล้วนั้น. บทว่า อุคฺคตมฺหิ ความว่า ส่วนเราจักบูชายัญในวันพรุ่งนี้ แต่เช้าตรู่ ในเมื่อพระอาทิตย์อุทัย. บทว่า สพฺพํปิ อุปฏฺเปถ ความว่า จงจัดตั้งเครื่องอุปกรณ์แก่ยัญแม้ที่เหลือทั้งหมด.

ส่วนพระราชมารดาและพระราชบิดาของพระราชานั้น ยังมีพระชนม์อยู่ทั้งสองพระองค์. ลำดับนั้น พวกอำมาตย์จึงไปทูลพระราชมารดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระลูกเจ้าของพระองค์ทรงใคร่จะฆ่าพระราชบุตร และพระชายา แล้วบูชายัญ. พระราชมารดาตรัสว่า พ่อเอ๋ย นี่เจ้าพูดอะไรอย่างนี้ แล้วก็ข้อนพระทรวงเข้าด้วยพระหัตถ์ กรรแสงคร่ำครวญเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนลูก ได้ยินว่าพ่อจะกระทำยัญบูชาเห็นปานนี้จริงหรือ?

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 163

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า

พระราชมารดาเสด็จมาแต่พระตำหนัก ทรงกรรแสงพลางตรัสถามพระเอกราชนั้นว่า พระลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระราชบุตรทั้ง ๔ หรือ?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ตํ ได้แก่ ซึ่งพระเจ้าเอกราชนั้น. บทว่า สวิมานโต ได้แก่ จากพระตำหนักของพระองค์.

พระราชากราบทูลว่า

เมื่อต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคน หม่อมฉันก็สละ หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย แล้วจักไปสู่สุคติสวรรค์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตา ความว่า เมื่อต้องฆ่าจันทกุมารนั่นแล บุตรแม้ทั้งหมดหม่อมฉันก็สละ เพื่อบูชายัญ.

ลำดับนั้น พระราชมารดาตรัสกะพระราชานั้นว่า

ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้น ข่าวที่ว่า สุคติจะมีเพราะเอาบุตรบูชายัญ ทางนั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ ดูก่อนลูกโกณฑัญญะ พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเลย นี่เป็นทางไปสู่สุคติ ทางไปสู่สุคติ ไม่ใช่เพราะเอาบุตรบูชายัญ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิรยาเนโส ความว่า นั่นเป็นทางแห่งอบาย ๔ ที่ชื่อว่า นรก เพราะไม่มีความแช่มชื่น. พระราชมารดาเรียกพระราชาด้วยพระโคตรว่า โกณฑัญญะ. บทว่า ภูตภพฺยานํ ความว่า แก่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว และแก่สัตว์ที่จะพึงเกิด. บทว่า ยญฺเน ความว่า ชื่อว่า ทางไปสวรรค์ ย่อมไม่มีด้วยการฆ่าบุตรและธิดาบูชายัญเห็นปานนี้.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 164

พระราชาทูลว่า

คำของอาจารย์ทั้งหลายมีอยู่ หม่อมฉันจักฆ่าจันทกุมาร และสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย อันสละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาจริยานํ วจนํ ความว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า มตินี้จะเป็นของข้าพระองค์ก็หามิได้ คำกล่าวนี้ คำสั่งสอนนี้เป็นของกัณฑหาลาจารย์ ผู้ยังข้าพระองค์ให้ศึกษาซึ่งความประพฤติชอบ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักฆ่าบุตรทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อบูชายัญแล้วด้วยบุตรอันสละได้ยาก ข้าพระองค์จักไปสู่สวรรค์.

ลำดับนั้น พระราชมารดา เมื่อมิอาจจะยังพระราชาให้เชื่อถือพระวาจาของพระองค์ได้ ก็เสด็จหลีกไป พระราชบิดาได้ทรงสดับข่าวนั้นแล้ว ก็เสด็จมาทรงได้ถามพระเจ้าเอกราชนั้น

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า

แม้พระเจ้าวสวัตดีพระราชบิดาได้ตรัสถามพระราชโอรสของพระองค์นั้นว่า ดูก่อนลูกรัก ทราบว่าพ่อจักบูชายัญด้วยโอรสทั้ง ๔ หรือ?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสวตฺติ นี้เป็นชื่อของพระราชานั้น.

พระราชาทูลว่า

เมื่อต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละ หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.

ลำดับนั้น พระราชบิดาตรัสว่า

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 165

ลูกเอ๋ย พ่อจงอย่าเชื่อคำนั้น ข่าวที่ว่าสุคติ จะมีเพราะฆ่าบุตรแล้วบูชายัญ ทางนั้นเป็นทางไปสู่นรก หาใช่หนทางไปสู่สวรรค์ไม่ ดูก่อนโกณฑัญญะ พ่อจงให้ทาน ไม่เบียดเบียนซึ่งสัตว์ทั้งปวงอันเกิดมาแล้ว และจะพึงเกิด นี้เป็นทางไปสู่สุคติ มิใช่ทางที่ไปด้วยการฆ่าบุตรบูชายัญ.

พระราชาตรัสว่า

คำของอาจารย์ทั้งหลายมีอยู่ หม่อมฉันจักฆ่าจันทกุมาร และสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายอันสละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์. ลำดับนั้น พระราชบิดาจึงตรัสกะพระราชาว่า

ดูก่อนโกณฑัญญะ พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเลย พ่อจงเป็นอันพระราชบุตรห้อมล้อมรักษากาสิกรัฐ และชนบทเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺตปริวุโต แปลว่า อันบุตรทั้งหลายห้อมล้อมแล้ว. บทว่า รฏฺํ ชนปทญฺจ ความว่า ท่านสามารถจะรักษากาสิกรัฐทั้งสิ้น และชนบท อันเป็นส่วนนั้นๆ ของกาสิกรัฐนั้นนั่นแล.

ครั้งนั้นพระราชบิดาก็หาอาจกระทำให้พระเจ้าเอกราชทรงเชื่อถือพระราชดำรัสของพระองค์ไม่ ลำดับนั้น พระจันทกุมารทรงพระดำริว่า อาศัยเราผู้เดียว ทุกข์เกิดขึ้นแล้วแก่คนมีประมาณเท่านี้ เราจะทูลวิงวอนพระราชบิดาของเรา แล้วปล่อยชนมีประมาณเท่านี้เสียให้พ้นจากทุกข์ คือความตาย พระองค์เมื่อจะทรงเจรจากับด้วยพระราชบิดาตรัสว่า

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 166

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์อย่าได้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิด พระเจ้าข้า ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสีย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิคฬพนฺธกาปิ ความว่า ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่. บทว่า ยสฺส โหนฺติ ตว กามา ความว่า แม้ถ้าท่านปรารถนาจะให้แก่กัณฑหาลปุโรหิต ท่านจงกระทำพวกข้าพระองค์ให้เป็นทาสแล้วให้กัณฑหาลปุโรหิตเถิด แล้วกล่าวว่า พวกเราจักกระทำกรรมคือ ความเป็นทาสแก่กัณฑหาลปุโรหิต ด้วยบทว่า อปิ รฏฺา นี้ ท่านบ่นพร่ำว่า ถ้าพวกข้ามีโทษอะไรๆ ท่านจงขับพวกข้าพระองค์เสียจากแว่นแคว้น อนึ่ง พวกข้าพระองค์ถูกขับไล่จากพระนครแล้ว จักถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน เหมือนคนกำพร้า ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าข้าพระองค์เลย จงให้ชีวิตแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด.

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 167

พระราชาได้ทรงฟังคำพร่ำกล่าวมีประการต่างๆ นั้น ของพระราชกุมารแล้ว ถึงซึ่งความทุกข์ ประหนึ่งว่าพระอุระจะแตก มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล ประกาศว่า ใครๆ ย่อมไม่ได้เพื่อฆ่าลูกเรา ความต้องการด้วยเทวโลกไม่มีแก่เราแล้ว เพื่อจะปล่อยคนทั้งปวงนั้น จึงตรัสคาถาว่า

เจ้าพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ย่อมให้ทุกข์แก่เรานักแล พวกท่านจงปล่อยพระกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้ เราขอพอกันทีด้วยการเอาบุตรบูชายัญ.

ราชบุรุษทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว ก็ปล่อยสัตว์ที่รวมไว้เป็นหมู่ๆ นั้นทั้งสิ้น ตั้งต้นแต่พระราชบุตรทั้งหลาย ตลอดไปถึงหมู่นกเป็นที่สุด.

ฝ่ายกัณฑหาลพราหมณ์กำลังจัดแต่งกรรมอยู่ในหลุมยัญ ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งกล่าวกะกัณฑหาละนั้นว่า เฮ้ย กัณฑหาละ คนชั่วร้าย พระราชบุตรและราชธิดาทั้งหลายนั้น พระราชาทรงปล่อยไปแล้ว เจ้าต้องฆ่าลูกเมียของตนเอง เอาเลือดในลำคอของคนเหล่านั้นบูชายัญ กัณฑหาลพราหมณ์นั้นคิดว่า นี่พระราชาทรงกระทำอย่างไรหนอ ลุกขึ้นแล่นมาด้วยกำลังเร็ว ประหนึ่งว่า ถูกไฟประลัยกัลป์เผาอยู่ฉะนั้น จึงกล่าวคาถาว่า

ข้าพระองค์ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียวว่า การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้แสนยาก บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญ ที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้ว ให้กระจัดกระจาย เพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่งชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหลาย ย่อมไปสู่สุคติ.

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 168

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ เมสิ วุตฺโต ความว่า ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียวมิใช่หรือว่า คนมีชาติขลาดกลัวเช่นพระองค์ ไม่สามารถจะบูชายัญ ขึ้นชื่อว่า บูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ความยินดีได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านชื่อว่ากระทำความซัดส่ายแห่งยัญ ซึ่งถูกทอดทิ้งในบัดนี้ของเรา. บาลีว่า วิขมฺภํ ดังนี้ ก็มี อธิบายว่า ปฏิเสธ. เขาแสดงว่า ดูก่อนมหาราช เพราะเหตุไรพระองค์จึงทรงกระทำอย่างนี้ ก็ชนประมาณเท่าใด บูชายัญด้วยตนเองก็ดี ให้บุคคลอื่นบูชาก็ดี อนุโมทนาที่ผู้อื่นบูชาแล้วก็ดี ทั้งหมดนั้นย่อมไปสู่สุคติอย่างเดียว.

พระราชาผู้บอดเขลา ทรงถือเอาคำของกัณฑหาลพราหมณ์ ผู้เป็นไปในอำนาจแห่งความโกรธ ผู้สำคัญว่าเป็นการชอบธรรม ก็ทรงให้ราชบุรุษไปจับกุมพระราชกุมารทั้งหลายกลับมาอีก.

เพราะเหตุนั้น พระจันทกุมาร เมื่อจะยังพระราชบิดาให้ทรงทราบ จึงทูลว่า

ขอเดชะ เหตุไรในกาลก่อน พระองค์จึงรับสั่งให้พราหมณ์กล่าวคำเป็นสวัสดีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย มาบัดนี้จะรับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเพื่อต้องการบูชายัญ โดยหาเหตุมิได้เลย ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อนในเวลาที่ข้าพระองค์ยังเป็นเด็ก พระองค์มิได้ทรงฆ่า และมิได้ทรงสั่งให้ฆ่า บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลาย ถึงความเจริญวัยเป็นหนุ่มแน่นแล้ว มิได้คิดประทุษร้ายพระองค์เลย เพราะเหตุไร จึงรับสั่งให้ฆ่าเสีย ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์จงทอดพระเนตรข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ขึ้นคอช้าง ขี่หลังม้า ผูกสอด

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 169

เครื่องรบในเวลาที่รบมาแล้วหรือเมื่อกำลังรบ ก็บุตรทั้งหลายเช่นดังข้าพระองค์ทั้งหลาย ย่อมไม่ควรจะฆ่าเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญเลย ข้าแต่พระราชบิดา เมื่อเมืองชายแดนหรือเมื่อพวกโจรในดงกำเริบ เขาใช้คนเช่นดังข้าพระองค์ทั้งหลาย แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกฆ่าให้ตายโดยมิใช่เหตุ ในมิใช่ที่ ขอเดชะ แม่นกเหล่าไรๆ เมื่อทำรังแล้วย่อมอยู่ ลูกทั้งหลายเป็นที่รักของแม่นกเหล่านั้น ส่วนพระองค์ได้ตรัสสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย เพราะเหตุไร ขอเดชะ อย่าได้ทรงเชื่อกัณฑหาลปุโรหิต กัณฑหาลปุโรหิตไม่พึงฆ่าพระองค์ เพราะว่าเขาฆ่าข้าพระองค์แล้ว ก็จะพึงฆ่าแม้พระองค์ในลำดับต่อไป ข้าแต่พระมหาราชา พระราชาทั้งหลายย่อมพระราชทานบ้านอันประเสริฐ นิคมอันประเสริฐ แม้โภคะแก่พราหมณ์นั้น อนึ่ง พวกพราหมณ์แม้ได้ข้าวน้ำอันเลิศในตระกูล บริโภคในตระกูลยังปรารถนาจะประทุษร้ายต่อผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นอีก เพราะพวกพราหมณ์เหล่านั้นโดยมากเป็นคนอกตัญญู ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 170

ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตตามที่พระองค์มีพระราชประสงค์เถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ ความว่า ข้าแต่พระบิดา ถ้าข้าพระองค์เป็นบุตรอันพระองค์พึงฆ่าไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้เพราะเหตุไรเล่า ในกาลก่อนคือในกาลที่ข้าพระองค์เกิดแล้ว ชนผู้เป็นญาติของข้าพระองค์ทั้งหลาย จึงได้ให้พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวคำเป็นสวัสดีมงคล ได้สดับมาว่า ในกาลนั้น กัณฑหาลพราหมณ์เองด้วย ตรวจตราลักษณะทั้งหลายของข้าพระองค์แล้วได้ทำนายว่า ภัยอันมาในระหว่างใดๆ จักไม่มีแก่พระราชกุมารองค์นี้ ในกาลเป็นที่สุดของพระองค์ พระราชกุมารองค์นี้จักยังรัฐให้เป็นไป คำหลังของกัณฑหาลพราหมณ์ฟังไม่สมกับคำต้นดังนี้ พราหมณ์คนนี้ย่อมเป็นคนกล่าวเท็จ แต่บัดนี้พระองค์ทรงถือเอาคำของกัณฑหาลพราหมณ์ จักฆ่าข้าพระองค์

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 171

ทั้งหลายเพื่อบูชายัญ โดยหาเหตุอันควรมิได้เลย ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมนรชน ขอพระองค์จงกำหนดให้จงดีว่า กัณฑหาลพราหมณ์คนนี้แล เป็นผู้ปรารถนาจะฆ่าชนหมู่ใหญ่ เพราะความเป็นเวรในข้าพระองค์คนเดียว. บทว่า ปุพฺเพว โน ความว่า ข้าแต่พระมหาราชา ถ้าแม้พระองค์ทรงใคร่จะฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเพราะเหตุไร ในกาลก่อน คือในกาลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายยังเยาว์วัย พระองค์จึงมิได้ฆ่าเองหรือให้ผู้อื่นฆ่าซึ่งข้าพระองค์ทั้งหลาย แต่มาบัดนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายรุ่นขึ้นเป็นหนุ่มตั้งอยู่ในปฐมวัย เจริญพร้อมด้วยบุตรและธิดาทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์เกิดมามิได้คิดปองร้ายต่อพระองค์เลย พระองค์จักฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเพราะเหตุไรเล่า. บทว่า ปสฺส โน ความว่า ขอพระองค์จงพิจารณาดูซึ่งข้าพระองค์ผู้พี่น้องชายทั้ง ๔ คน. บทว่า ยุชฺฌมาเน ความว่า ในการที่ศัตรูทั้งหลายล้อมพระนครแล้วตั้งอยู่ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูซึ่งพระราชบุตรทั้งหลายเช่นข้าพระองค์ รบอยู่ด้วยข้าศึกเหล่านั้น ก็พระราชาทั้งหลายอันไร้พระราชบุตร ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง. บทว่า มาทิสา ความว่า พระราชบุตรทั้งหลายอันกล้าหาญ มีกำลัง จึงไม่เป็น บุคคลที่ควรฆ่าเพื่อบูชายัญ. บทว่า นิโยชนฺติ ความว่า ท่านย่อมใช้เพื่อประโยชน์อันจับกุมปัจจามิตรทั้งหลาย. บทว่า อถ โน แก้เป็น อถ อมฺเห บทว่า อกรณสฺมา ความว่า เพราะเหตุอันไม่สมควร. บทว่า อภูมิยํ ความว่า ในโอกาสอันไม่สมควรเลย. อธิบายว่า เพราะเหตุไร พ่อ พวกเราจึงถูกฆ่า. บทว่า มา ตสฺส สทฺทเหสิ ความว่า ดูก่อนมหาราช กัณฑหาลพราหมณ์มิได้ฆ่าเรา ท่านอย่าเชื่อกัณฑหาลพราหมณ์แม้นั้น. บทว่า โภคํ ปิสฺส ความว่า พระราชาทั้งหลายไม่ให้แม้โภคะแก่พราหมณ์นั้น. บทว่า อถคฺคปิณฺฑิกาปิ ความว่า ก็พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อได้ซึ่งน้ำอันลิศ ก้อนข้าวอันเลิศ จึงชื่อ

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 172

ว่า ได้ก้อนข้าวอันเลิศ. บทว่า เตสํปิ ความว่า พวกเขาบริโภคในตระกูลของคนเหล่าใด พวกเขาอยากจะทำร้าย แม้คนผู้ให้ซึ่งก้อนข้าวเห็นปานนี้แม้เหล่านั้น.

พระราชาครั้นทรงสดับคำพร่ำกล่าวของกุมารนั้น จึงตรัสว่า

เจ้าทั้งหลายพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่เรานักแล จงปล่อยกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้ เราขอเลิกเอาบุตรบูชายัญ.

พระราชาครั้นทรงกล่าวคาถานี้แล้ว ก็โปรดให้ปล่อยกุมารทั้งหลายแม้อีก

กัณฑหาลพราหมณ์มาแล้ว กล่าวอีกว่า

ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วก่อนเทียว การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ยินดีได้แสนยาก บัดนี้ พระองค์ทรงกระทำยัญที่ข้าพระองค์เตรียมไว้แล้วให้กระจัดกระจายเพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่สุคติ.

ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ให้จับพระราชกุมารเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง. ลำดับนั้น พระกุมารเพื่อต้องการจะกล่าวไปตามกระแสความของกัณฑหาลพราหมณ์จึงทูลว่า

ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้ไปสู่เทวโลก ดังที่เล่ากันมาไซร้ พราหมณ์จงบูชายัญก่อน พระองค์จักทรงบูชา

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 173

ในภายหลัง ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลก ดังที่เล่ากันมาไซร้ กัณฑหาลพราหมณ์ผู้นี้แล จงบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายของตน ถ้ากัณฑหาลพราหมณ์รู้อยู่อย่างนี้ เหตุไรจึงไม่ฆ่าบุตรทั้งหลาย ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่นรกทั้งหมด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมโณ ตาว ความว่า จงบูชากัณฑหาลพราหมณ์ก่อน. บทว่า สเกหิ ความว่า แปลว่า จงบูชาด้วยบุตรทั้งหลายของตน. ลำดับนั้น พระจันทกุมาร เมื่อจะแสดงจึงได้ทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อกัณฑหาลพราหมณ์นั้นบูชายัญอย่างนี้แล้วไปสู่เทวโลก พระองค์จึงจักทรงบูชายัญภายหลัง แม้โภชนะมีรสอร่อย พระองค์จะเสวย ต่อเมื่อคนอื่นได้ลองชิมแล้ว ก็นี่ความตายของบุตรทีเดียว เหตุไรพระองค์จึงไม่โปรดให้คนอื่นทดลองก่อนแล้วจึงทรงกระทำ. บทว่า เอวํ ชานํ ความว่า เมื่อรู้อย่างนี้ว่า คนทั้งหลายฆ่าบุตรและธิดาแล้วไปสู่เทวโลก เพราะเหตุไรกัณฑหาลพราหมณ์จึงไม่ฆ่าบุตรทั้งหลายและพวกญาติของตนและตนเองเล่า ถ้าบุคคลใดรู้คุณแห่งการบูชายัญอย่างนี้ว่า ถ้าฆ่าผู้อื่นแล้วย่อมไปสู่เทวโลก ถ้าฆ่าตนเองแล้วจะได้ไปถึงพรหมโลกดังนี้ไซร้ ก็ไม่พึงฆ่าคนอื่น พึงฆ่าตนเองนั้นแล แต่กัณฑหาลพราหมณ์คนนี้ไม่กระทำอย่างนั้น กลับจะยังพระองค์ให้ฆ่าข้าพระองค์ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรง

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 174

ทราบซึ่งความกระทำของกัณฑหาลพราหมณ์ แม้ด้วยเหตุนี้ว่า เมื่อไม่ได้เพื่อจะกระทำการปล้นลูกความในการวินิจฉัยเขาจึงกระทำดังนี้. บทว่า เอทิสํ ได้แก่ ยัญที่ฆ่าบุตรเห็นปานนี้.

พระราชกุมาร เมื่อทูลความมีประมาณเท่านี้ ก็ไม่อาจจะกระทำให้พระราชบิดาทรงถือเอาถ้อยคำของพระองค์ จึงทรงปรารภราชบริษัทที่ห้อมล้อมพระราชาอยู่นั้น ตรัสว่า

ได้ยินว่า พ่อเจ้าเรือนและแม่เจ้าเรือนทั้งหลายผู้รักบุตร ซึ่งมีอยู่ในพระนครนี้ ไฉนจึงไม่ทูลพระราชา อย่าให้ทรงฆ่าพระราชบุตรอันเกิดแต่พระอุระ ได้ยินว่าพ่อเจ้าเรือนและแม่เจ้าเรือนทั้งหลายผู้รักบุตร ซึ่งมีอยู่ในพระนครนี้ ไฉนจึงไม่ทูลทัดทานพระราชา อย่าให้ทรงฆ่าพระราชบุตรอันเกิดแต่พระองค์ เราปรารถนาประโยชน์แก่พระราชาด้วย ทำประโยชน์แก่ชาวชนบททั้งปวงด้วย ใครๆ จะมีความแค้นเคืองกับเรา ไม่พึงมี ชาวชนบทไม่ช่วยกราบทูลให้ทรงทราบเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ปุตฺตกามาโย ท่านกล่าวหมายเอาแม่เจ้าเรือนเท่านั้น. อนึ่ง พ่อเจ้าเรือนก็ชื่อว่า เป็นผู้ปรารถนาบุตร. บทว่า อุปวทนฺติ ความว่า ไม่เข้าไปกล่าวโทษ คือไม่ว่ากล่าว. บทว่า อตฺรชํ แปลว่า เกิดด้วยตน. แม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้ ใครๆ ชื่อว่าเป็นผู้สามารถเพื่อจะทูลกับพระราชา ไม่ได้มีเลย. บทว่า น โกจิ อสฺส ปฏิฆํ มยา ความว่า ใครๆ แม้เพียงคนเดียว ชื่อว่า กระทำความแค้นเคืองกับเราว่า พระราชกุมารองค์นี้รับสินบนของเรา หรือว่าก่อทุกข์ชื่อนี้ให้แก่เรา เพราะความ

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 175

เมาด้วยความเป็นใหญ่ ดังนี้มิได้มีเลย. บทว่า ชนปโท น ปเวเทติ ความว่า ชาวชนบทไม่ช่วยกันประกาศ คือกราบทูลให้พระราชาทรงทราบว่า เราเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ของพระราชาและของชาวชนบท ด้วยประการฉะนี้ ทำไมชาวชนบทนี้จึงไม่กราบทูลพระราชบิดาของเราว่า พระราชบุตรของพระองค์เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม.

แม้เมื่อพระจันทกุมารตรัสอย่างนี้แล้ว ใครๆ มิได้พูดอะไรเลย. เพราะเหตุนั้น พระกุมารเมื่อจะส่งพระชายาของพระองค์ ๗๐๐ นาง ให้ไปเพื่อวิงวอนจึงตรัสว่า

ดูก่อนแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปกราบทูลพระราชบิดา และวิงวอนกัณฑหาลพราหมณ์ว่า ขอจงอย่าฆ่าพระราชกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ ดูก่อนแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปกราบทูลพระราชบิดา และวิงวอนกัณฑหาลพราหมณ์ว่า ขอจงอย่าฆ่าพระราชกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่เพ่งที่หวังของโลกทั้งปวง.

แม่เจ้าเรือนเหล่านั้นไปกราบทูลวิงวอนแล้ว. พระราชาไม่ทอดพระเนตรดูเลย เพราะฉะนั้น พระราชกุมารไร้ที่พึ่งแล้ว จึงพร่ำเพ้อกล่าวคาถาว่า

ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลนายช่างรถ ในตระกูลปุกกุสะ หรือพึงเกิดในหมู่พ่อค้า พระราชาก็ไม่พึงรับสั่งให้ฆ่าในการบูชายัญวันนี้.

ครั้นกล่าวดังนี้ พระกุมารเมื่อจะส่งพระชายาทั้งหลายไปอีกครั้งหนึ่ง จึงตรัสว่า

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 176

เจ้าผู้มีความคิดแม้ทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้าของผู้เป็นเจ้ากัณฑหาละ เรียนว่า เรามิได้เห็นโทษเลย ดูก่อนแม่เจ้าเรือนแม้ทั้งปวง เจ้าจงไปหมอบลงแทบเท้าของผู้เป็นเจ้ากัณฑหาละ เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรในท่าน ขอท่านจงอดโทษเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปราธาหํ น ปสฺสามิ ความว่า ข้าแต่อาจารย์กัณฑหาละ ข้าพเจ้าไม่เห็นความผิดของตน. บทว่า กินฺเต ภนฺเต ความว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้ากัณฑหาละ พวกเราไม่เห็นความผิดอะไรของท่าน ก็ถ้าจันทกุมารมีโทษไซร้ ขอท่านจงกล่าวกะจันทกุมารนั้นว่า ขอท่านจงอดโทษเถิด.

ลำดับนั้น พระกนิษฐภคินีของพระจันทกุมารทรงนามว่า เสลากุมารี เมื่อไม่อาจอดกลั้นความโศกเศร้า ก็กราบลงแทบบาทมูลของพระราชบิดาแล้วคร่ำครวญ.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า

พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุญ ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลาย อันเขานำมาเพื่อบูชายัญ ทรงคร่ำครวญว่า ดังได้สดับมา พระราชบิดาของเราทรงปรารถนาสวรรค์ รับสั่งให้ตั้งยัญขึ้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนีตตฺเต แปลว่า มีสภาวะอันเขานำมาเพื่อบูชายัญ. บทว่า อุกฺขิปิโต ความว่า พระราชบิดารับสั่งให้ยกขึ้นตั้งไว้ คือให้เป็นไปอยู่. ด้วยบทว่า สคฺคถาเมน นี้ พระเสลาคร่ำครวญอยู่ว่า

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 177

พระราชบิดาฆ่าพี่ชายทั้งหลายของเราปรารถนาสวรรค์. พระองค์จักฆ่าพี่ชายเหล่านี้แล้วไปสวรรค์หรือ?

พระราชาไม่ทรงยึดถือถ้อยคำแม้ของนาง. ลำดับนั้น โอรสของพระจันทกุมาร ทรงนามว่า วสุละ ครั้นเห็นพระบิดาได้รับทุกข์ คิดว่า เราจักเข้าไปทูลวิงวอนพระอัยกา ให้ประทานชีวิตแก่บิดาของเรา ดังนี้แล้วหมอบลงแทบบาทมูลแห่งพระราชาแล้วคร่ำครวญ.

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า

พระวสุลราชนัดดา กลิ้งไปกลิ้งมาเบื้องพระพักตร์พระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระบาทยังเป็นเด็กไม่ถึงความเป็นหนุ่ม ขอพระองค์ได้ทรงโปรด อย่าได้ฆ่าพระบิดาของข้าพระองค์เลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทหรมฺหา อโยพฺพนปฺปตฺตา ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกข้าพระองค์ยังเป็นเด็กอ่อน ยังไม่ถึงความเป็นหนุ่มก่อน ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพระบิดาของพวกข้าพระองค์ ด้วยความเอ็นดูแม้ในพวกข้าพระองค์ก่อนเถิด.

พระราชาทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระวสุละมีพระอุระประดุจจะแตกทำลายแล้ว สวมกอดพระราชนัดดา มีพระเนตรเต็มไปด้วยพระอัสสุชล ตรัสว่า หลานรัก เจ้าจงได้คืนลมหายใจเถิด ปู่จะปล่อยพ่อเจ้า แล้วก็ทรงกล่าวพระคาถาว่า

ดูก่อนวสุละ พ่อเจ้าอยู่นี่ เจ้าจงไปพร้อมกับบิดา เจ้าพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ย่อมให้เกิดทุกข์แก่ปู่นัก จงปล่อยพระราชกุมารทั้งหลาย ณ บัดนี้ เราขอเลิกการเอาบุตรบูชายัญ.

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 178

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺเต ปรสฺมึ ได้แก่ ในภายในพระราชวัง.

กัณฑหาลพราหมณ์มากล่าวอีกว่า

ข้าพระองค์ได้ทูลไว้แล้วในกาลก่อนเทียว การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้ยินดีได้แสนยาก บัดนี้พระองค์ทรงกระทำยัญ ที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้วให้กระจัดกระจาย เพราะเหตุไร ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี และชนเหล่าใดให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี อนึ่ง ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของบุคคลผู้บูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ.

ฝ่ายพระราชาผู้มืดเขลา ก็ให้ราชบุรุษไปจับกุมพระราชบุตรทั้งหลายมาอีกครั้งหนึ่ง ตามคำของกัณฑหาลพราหมณ์. เพราะเหตุนั้นกัณฑหาลพราหมณ์จึงคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ใจอ่อน ประเดี๋ยวให้ปล่อย ประเดี๋ยวก็ให้จับพระราชบุตรทั้งหลาย พระองค์จะปล่อยพระราชบุตรทั้งหลายตามคำของทารกทั้งหลายอีก อย่ากระนั้นเลยเราจะพาพระองค์ไปสู่หลุมยัญเสียเลย. ลำดับนั้นจึงกล่าวคาถา เพื่อจะให้พระองค์เสด็จไปในที่นั้นว่า

ข้าแต่สมเด็จพระเอกราช ข้าพระองค์ตระเตรียมยัญแล้วด้วยแก้วทุกอย่าง ตกแต่งไว้แล้วเพื่อพระองค์ ขอเดชะ เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้วเสด็จสู่สวรรค์ จักทรงบันเทิงพระหฤทัย.

ความแห่งคำเป็นคาถานั้นว่า ข้าแต่มหาราช ยัญข้าพระองค์ตระเตรียมแล้วด้วยแก้วทุกประการเพื่อพระองค์ บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะเสด็จ

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 179

ไป เพราะฉะนั้นจักเสด็จออกไปบูชายัญแล้วไปสู่สวรรค์ทรงบันเทิงพระหฤทัย. ครั้นในเวลาที่เขาพาพระโพธิสัตว์ไปยังหลุมเป็นที่บูชายัญ นางห้ามทั้งหลายของพระโพธิสัตว์นั้น ก็ได้ออก (จากที่นี้) โดยพร้อมกัน.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า

หญิงสาว ๗๐๐ นาง ผู้เป็นชายาของพระจันทกุมาร ต่างสยายผมแล้วร้องไห้ ดำเนินไปตามทาง ส่วนพวกหญิงอื่นๆ ออกไปแล้วด้วยความเศร้าโศก เหมือนเทวดาในนันทวัน ต่างก็สยายผมร้องไห้ไปตามทาง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นนฺทเน วิย เทวา ความว่า เหมือนเทวดาทั้งหลายห้อมล้อมเทพบุตร ผู้มีอันจุติเป็นธรรมดาในนันทวัน.

พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับด้วยกุณฑลไล้ทาด้วยกฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไปเพื่อบูชายัญของสมเด็จพระเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันสะอาดประดุจกุณฑล ไล้ทาด้วยกฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุตรนำไป ทำความเศร้าพระหฤทัยให้แก่พระชนนี พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทาด้วยกฤษณา และจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 180

เสวยกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายให้ดีแล้ว ประดับกุณฑล ทำความเศร้าพระหฤทัยให้แก่พระชนกชนนี พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทาด้วยกฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน. ในกาลก่อน พวกพลช้างย่อมตามเสด็จพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นสู่คอช้างเชือกประเสริฐ วันนี้ พระจันทกุมาร และพระสุริยกุมาร ทั้ง ๒ พระองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ในกาลก่อน พวกพลม้าย่อมตามเสด็จพระจันทกุมาร และพระสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นหลังม้าตัวประเสริฐ วันนี้ พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทั้ง ๒ พระองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ในกาลก่อน พวกพลรถย่อมเสด็จตามพระจันทกุมารและพระสุริยกุมารผู้เสด็จขึ้นทรงรถอันประเสริฐ วันนี้ พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทั้ง ๒ พระองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ในกาลก่อน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ราชบุรุษนำเสด็จออกด้วยม้าทั้งหลายอันตบแต่งด้วยเครื่องทอง วันนี้ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า.

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 181

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาสิกสุจิวตฺถธรา ความว่า พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด. บทว่า จนฺทสุริยา ได้แก่ พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร. บทว่า นหาปกสุนหาตา ชื่อว่า สนานสระสรงพระกายดี เพราะไล้ทาด้วยจุรณจันทน์ แล้วกระทำการประพรมด้วยเครื่องสนานทั้งหลาย. บทว่า เย อสฺสุ ในบท ยสฺสุ นี้เป็นเพียง นิบาต. อธิบายว่า ซึ่งกุมารเหล่าใด. บทว่า ปุพฺเพ แปลว่า ในกาลก่อนแต่นี้. บทว่า หตฺถิวรธุรคเต ได้แก่ ผู้เสด็จขึ้นสู่คอช้างเชือกประเสริฐ คือ ผู้เสด็จขึ้นสู่คอช้างเชือกประเสริฐอันเขาประดับตกแต่งแล้ว. บทว่า อสสวรธุรคเต แปลว่า ผู้ขึ้นสู่หลังม้าตัวประเสริฐ. บทว่า รถวรธุรคเต แปลว่า ผู้เสด็จทรงท่ามกลางรถอันประเสริฐ. บทว่า นียึสุ แปลว่า ออกไปแล้ว.

เมื่อหญิงเหล่านั้น ปริเทวนาการอยู่อย่างนี้นั่นแล ราชบุรุษนำพระโพธิสัตว์ออกจากพระนคร ในกาลนั้น ทั่วพระนครก็กำเริบขึ้น. ชาวนครปรารภจะออก. เมื่อมหาชนกำลังออกไป ประตูทั้งหลายไม่เพียงพอ. พราหมณ์เห็นคนมากเกินไป จึงคิดว่า ใครจะรู้ว่าเหตุอะไรจักเกิดขึ้น ก็สั่งให้ปิดประตูพระนครเสีย มหาชนเมื่อจะออกไปไม่ได้ ก็พากันร้องอื้ออึ้งอยู่ใกล้ๆ สวนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ริมประตูภายในพระนคร ฝูงนกทั้งหลายพากันตกใจกลัวด้วยเสียงอื้ออึงนั้นก็บินขึ้นสู่อากาศ. มหาชนเรียกนกนั้นๆ แล้วพร่ำเพ้อกล่าวว่า

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบนไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหลจะทรงบูชายัญด้วยราชโอรส ๔ พระองค์.

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหลจะทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดา ๔ พระองค์.

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 182

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์.

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยคฤหบดี ๔ คน.

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยช้าง ๔ เชือก.

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยม้า ๔ ตัว

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยโคอุสุภราช ๔ ตัว

นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ เจ้าจงบินไปทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยสัตว์ทั้งปวงอย่างละ ๔.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มํสมิจฺฉสิ ความว่า นกผู้เจริญเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ. บทว่า อุยฺยสฺสุ ปุพฺเพน ปุปฺผวติยา ความว่า เจ้าจงบินไปในที่ๆ มีการปิดกั้นเพื่อบูชายัญ ทางทิศบูรพาแห่งปุปผวดีนคร. บทว่า ยชเตตฺถ ความว่า ในที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้หลงใหล พระองค์ทรงเชื่อถ้อยคำของกัณฑหาลพราหมณ์ บูชายัญด้วยพระราชโอรส ๔ พระองค์ แม้ในคาถาที่เหลือพึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 183

มหาชนพากันคร่ำครวญในที่นั้นด้วยอาการอย่างนี้ จึงไปยังสถานที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ เมื่อกระทำประทักษิณปราสาท แลเห็นพระตำหนักเรือนยอดในภายในพระนคร และสถานที่ต่างๆ มีพระอุทยานเป็นต้น จึงกล่าวคร่ำครวญอยู่ด้วยคาถาว่า

นี้ปราสาทของท่านล้วนด้วยทองคำภายในพระราชวัง น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้เรือนยอดของท่านล้วนแล้วด้วยทองคำ เกลื่อนกล่นด้วยพวงมาลัย บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้พระอุทยานของท่าน มีดอกไม้บานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้ป่าอโศกของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้ป่ากรรณิการ์ของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้ป่าแคฝอยของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้สวนมะม่วงของท่าน มีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 184

พระองค์ ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้สระโบกขรณีของท่าน ดารดาษไปด้วยดอกบัวหลวงและบัวขาบ มีเรือทองอันงดงามวิจิตด้วยลายเครือวัลย์ เป็นที่รื่นรมย์ดี บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกนำไปเพื่อจะฆ่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตทานิ ความว่า บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ ของเรา มีพระจันทกุมารเป็นหัวหน้า ละทิ้งปราสาทเห็นปานนี้ ถูกนำไปเพื่อจะฆ่า. บทว่า โสวณฺณวิกตา แปลว่า ขจิตด้วยทองคำ.

คนทั้งหลายพร่ำเพ้อในที่มีประมาณเท่านี้ จึงพากันไปสู่โรงช้างเป็นต้นอีกแล้วกล่าวว่า

นี้ช้างแก้วของท่าน ชื่อเอราวัณ เป็นช้างมีกำลัง บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ นั้น ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้ม้าแก้วของท่าน เป็นม้ามีกีบไม่แตก เป็นม้าวิ่งได้เร็ว บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ นั้น ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

นี้รถม้าของท่าน มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา เป็นรถงดงามวิจิตรด้วยแก้ว พระลูกเจ้าเสด็จไปในรถนี้ ย่อมงดงามดังเทพเจ้าในนันทวัน บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ นั้น ถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า

อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จึงจักทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรส ๔ พระองค์ ผู้งามเสมอทอง มีพระวรกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์

อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จึงจักทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดา ๔ พระองค์ ผู้งามเสมอด้วยทอง มีพระวรกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 185

อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์ ผู้งามเสมอด้วยทอง มีพระวรกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์.

อย่างไรพระราชาผู้หลงใหล จึงจักบูชายัญด้วยคฤหบดี ๔ คน ผู้งดงามเสมอด้วยทอง มีร่างกายไล้ทาด้วยจุรณจันทน์ คามนิคมทั้งหลายจะว่างเปล่า ไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ไป ฉันใด เมื่อพระราชารับสั่งให้เอาพระจันทกุมารและสุริยกุมารบูชายัญ พระนครปุปผวดีก็จักร้างว่างเปล่า ไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ไป ฉันนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอราวโณ นี้ เป็นชื่อของช้างนั้น. บทว่า เอกขุโร ได้แก่ มีกีบไม่แตก. บทว่า สาลิยา วิย นิคฺโฆโส ความว่า ในเวลาไป ประกอบด้วยเสียงกังวาลไพเราะ ดุจกังวานแห่งนกสาลิกาทั้งหลาย. บทว่า กถนฺนาม สามสมสุนฺทเรหิ ความว่า มีผิวเหลืองดังทองคำ เสมอซึ่งกันและกันโดยกำเนิด ชื่อว่า งามเพราะปราศจากโทษ. บทว่า จนฺทนมรุกคตฺเตหิ แปลว่ามีอวัยวะไล้ทาด้วยจันทน์แดง. บทว่า พฺรหารญฺา ความว่า คามและนิคมเหล่านั้นว่างไม่มีมนุษย์ กลายเป็นป่าใหญ่ฉันใด เมื่อพระราชาทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ แม้พระนครปุปผวดี ก็จักร้างว่างเปล่าเป็นเสมือนป่าใหญ่ไปฉันนั้น.

คนเป็นอันมากนั้น เมื่อไม่ได้เพื่อจะออกไปภายนอก ก็พากันคร่ำครวญเที่ยวไปภายในพระนครนั่นเอง. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ถูกนำไปสู่หลุมที่บูชายัญ. ลำดับนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงนามว่า โคตมีเทวี ซบลงแทบบาทมูลของพระราชาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์จงประทานชีวิตแก่บุตรทั้งหลายของข้าพระบาท ทรงกรรแสงพลางกล่าวว่า

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 186

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระบาทจักเป็นบ้า มีความเจริญถูกขจัดแล้ว มีสรีระเกลือกกลั้วด้วยธุลี ถ้าเขาฆ่าจันทกุมาร ลมปราณของข้าพระบาทก็จะแตกทำลาย ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระบาทจักเป็นบ้า มีความเจริญถูกขจัดแล้ว มีสรีระเกลือกกลั้วด้วยธุลี ถ้าเขาฆ่าสุริยกุมาร ลมปราณของข้าพระบาทก็จะแตกทำลาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภูนหตา แปลว่า มีความเจริญถูกขจัด แล้ว. บทว่า ปํสุนาว ปริกิณฺณา ความว่า ข้าพระบาทมีสรีระเหมือนเกลือกกลั้วด้วยฝุ่น จักเป็นบ้าเที่ยวไป.

พระนางโคตมีเทวี เมื่อคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ มิได้รับพระดำรัสอย่างไรจากสำนักพระราชา จึงทรงกล่าวแก่พระสุณิสาทั้งหลายว่า ชรอยลูกเราโกรธเจ้าแล้วจึงจักไปเสียกระมัง เหตุไรเจ้าไม่ยังเขาให้กลับมา ทรงสวมกอดชายาทั้ง ๔ ของพระกุมารเข้าแล้ว ก็ทรงกล่าวคร่ำครวญว่า

สะใภ้เราเหล่านี้ คือ นางฆัฏฏิกา นางอุปริกขี นางโปกขรณี และนางคายิกา ล้วนกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน เพราะเหตุไร จึงไม่ฟ้อนรำขับร้องให้จันทกุมาร และสุริยกุมารรื่นรมย์เล่า ใครอื่นที่จะเสมอด้วยนางทั้ง ๔ นั้นไม่มี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺนุมา น รมาเปยฺยุํ ความว่า เพราะเหตุไร สะใภ้ทั้ง ๔ มีนางฆัฏฏิกาเป็นต้นนี้ จึงไม่พูดคำพึงใจแก่กันและกัน ฟ้อนรำขับร้องให้ราชโอรสทั้งสองของเราเพลิดเพลิน ไม่ให้เบื่อ


๑. อรรถกถาว่า โคปรักขี.

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 187

หน่าย อธิบายว่า จริงอยู่ ในการฟ้อนรำหรือขับร้อง ในชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้ ใครอื่นที่จะเสมอด้วยนางทั้ง ๔ นี้ย่อมไม่มี.

พระนางทรงคร่ำครวญกะพระสุณิสาดังนี้แล้ว เมื่อไม่มองเห็นอุบายอันควรถืออย่างอื่น จึงทรงกล่าวคาถา ๘ คาถา แช่งด่ากัณฑหาลพราหมณ์ว่า

ดูก่อนกัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใด ย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า แม่ของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนกัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปจะฆ่า แม่ของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า ภรรยาของเจ้าจงประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ ความโศกเศร้าใจใดย่อมเกิดมีแก่เรา ในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปเพื่อจะฆ่า ภรรยาของเจ้าจงได้ประสบความโศกเศร้าใจของเรานี้ ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ แม่ของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวง แม่ของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 188

ภรรยาของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย ดูก่อนเจ้ากัณฑหาละ เจ้าได้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวง ภรรยาของเจ้าจงอย่าได้เห็นพวกลูกๆ และอย่าได้เห็นสามีเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมํ มยฺหํ ความว่า ความโศกเศร้าใจของเรานี้ จัดเป็นทุกข์. บทว่า ปฏิมุญฺจตุ ความว่า จงเข้าไป คือจงถึง. บทว่า โย ฆาเตสิ ความว่า เจ้าใดย่อมฆ่า. บทว่า อเปกฺขิเต ความว่า เจ้าย่อมฆ่าผู้ที่ชาวโลกทั้งปวงหวังอยู่ คือปรากฏอยู่.

พระโพธิสัตว์เมื่อทูลวิงวอนที่หลุมยัญ จึงกล่าวว่า

ขอเดชะ อย่าได้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดทรงพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขา ขอเดชะ โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิดพระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย โปรดพระราชทาน

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 189

ข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด พระเจ้าข้า ถึงแม้ว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย จะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จะเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต ขอเดชะ หญิงทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร แม้จะเป็นคนยากจน ย่อมวอนขอบุตรต่อเทพเจ้า หญิงบางพวกละปฏิภาณแล้ว ไม่ได้บุตรก็มี หญิงเหล่านั้นย่อมกระทำความหวังว่า ขอลูกทั้งหลายจงเกิดแก่เรา แต่นั้นขอหลานจงเกิดอีก ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์รับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย เพื่อต้องการทรงบูชายัญ โดยเหตุอันไม่สมควร ข้าแต่สมเด็จพระบิดา คนทั้งหลายเขาได้ลูกเพราะความวิงวอนของเทพเจ้า ขอพระองค์อย่ารับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย อย่าทรงบูชายัญนี้ด้วยบุตรทั้งหลายที่ได้มาโดยยากเลยพระเจ้าข้า ข้าแต่สมเด็จพระบิดา คนทั้งหลายเขาได้บุตร เพราะความวิงวอนเทพเจ้า ขอพระองค์อย่ารับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลยพระเจ้าข้า ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดอย่าได้พรากข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้เป็นบุตรที่ได้มาด้วยความยากจากพระมารดาเลยพระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิพฺยํ ความว่า แต่ก่อนพระองค์ผู้สมมติเทพ นารีทั้งหลายผู้ไร้บุตรแม้เป็นผู้ยากจน เป็นผู้มีความต้องการบุตร นำบรรณาการเป็นอันมาก ไปวอนขอเทพเจ้าว่า ขอเราจักได้ซึ่งลูกหญิงหรือลูกชายดังนี้. บทว่า ปฏิภาณานิปิ หิตฺวา ความว่า แม้ละแล้ว

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 190

คือไม่ได้แล้วซึ่งการตั้งครรภ์ ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ข้าแต่มหาราช ก็ครรภ์ของนารีทั้งหลาย ผู้ไม่ได้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมซูบซีดไป ฉิบหายไป. ในบรรดาหญิงเหล่านั้น บางพวกเมื่อไม่ได้บุตรก็ขอ, บางนางได้แล้วละการตั้งครรภ์ แล้วไม่บริโภค ก็ไม่ได้ซึ่งบุตร, บางนางเมื่อไม่ได้ความตั้งครรภ์ก็ไม่ได้ซึ่งบุตร แต่มารดาของข้าพระบาท ได้แล้วซึ่งการตั้งครรภ์และบริโภค และมิได้ปล่อยให้ครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้วพินาศไปเสีย จึงได้บุตรทั้งหลาย. พระราชกุมารทรงวิงวอนว่า ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลาย อันเป็นราชบุตรที่ได้มาด้วยประการฉะนี้. บทว่า อสฺสาสกานิ ความว่า ข้าแต่มหาราช สัตว์เหล่านี้ย่อมกระทำความหวังว่า อย่างไร ขอบุตรทั้งหลายจงเกิดแก่เรา. บทว่า ตโต จ ปุตฺตา ความว่า ขอบุตรทั้งหลายจงเกิดแม้แก่บุตรทั้งหลายของเราด้วย. บทว่า อถ โน อการณสฺมา ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ได้ชื่อว่า ฆ่าพวกข้าพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญด้วยเหตุอันไม่สมควรเลย. บทว่า อุปยาจิตเกน ได้แก่ ด้วยความวิงวอนเทพทั้งหลาย. บทว่า กปณลทฺธเกหิ พระราชโอรสตรัสว่า ขอพระองค์จงอย่าได้กระทำความพลัดพรากจากมารดาของพวกข้าพระองค์ กับพวกข้าพระองค์ ซึ่งเป็นบุตรที่มารดาได้มาด้วยความยากเลย และจงอย่าทำความพลัดพรากข้าพระองค์กับมารดาเลย.

พระจันทกุมาร แม้เมื่อทูลวิงวอนด้วยอาการอย่างนี้ ก็ไม่ตอบอะไรๆ จึงหมอบลงแทบบาทมูลของพระมารดา พลางปริเทวนาการกล่าวว่า

ข้าแต่พระมารดา พระมารดาย่อมย่อยยับ เพราะทรงเลี้ยงลูกจันทกุมาร มาด้วยความลำบาก ลูกขอกราบพระบาทพระมารดา ขอพระราชบิดา จงทรง

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 191

ได้ปรโลกอันสมบูรณ์เถิด เชิญพระมารดาทรงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทให้ลูกได้กราบไหว้ ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ เพื่อประโยชน์แก่ยัญของพระราชบิดาเอกราช เชิญพระมารดาสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทให้ลูกกราบไหว้ ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าพระทัยให้พระมารดา เชิญพระมารดาสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทให้ลูกกราบไหว้ ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุทุกฺขโปสิยา ความว่า พระมารดาทรงเลี้ยงลูกมาโดยความลำบากมาก. บทว่า จนฺทํ ความว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระองค์ทรงเลี้ยงซึ่งบุตรคือพระจันทกุมาร ด้วยประการฉะนี้ บัดนี้พระแม่เจ้าย่อมทรงชราลง. บทว่า ลภตํ ตาโต ปรโลกํ ความว่า ขอพระราชบิดาของข้าพระองค์ จงได้ปรโลกอันสมบูรณ์ด้วยโภคะเถิด. บทว่า อุปคุยฺห ความว่า จงสวมกอด คือโอบกอด. บทว่า ปวาสํ ความว่า เป็นการพลัดพรากจากไปอย่างแท้จริง โดยมิได้หวนกลับมาอีก.

ลำดับนั้น พระมารดาของจันทกุมาร เมื่อจะทรงปริเทวนาการ จึงตรัสคาถา ๔ คาถาว่า

ดูก่อนลูกโคตมีมาเถิดเจ้าจงรัดเมาลีด้วยใบบัว จงประดับดอกไม้อันแซมด้วยกลีบจำปา นี่เป็นปรกติของเจ้ามาแต่ก่อน มาเถิด เจ้าจงไล้ทาเครื่องลูบไล้ คือจุรณจันทน์แดงของเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย. เจ้าลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์แดงนั้นดีแล้ว ย่อมงดงามในราชบริษัท มา

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 192

เถิด เจ้าจงนุ่งผ้ากาสิกพัสตร์ อันเป็นผ้าเนื้อละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย ครั้นนุ่งผ้ากาสิกพัสตร์นั้นแล้ว ย่อมงดงามในบริษัท เชิญเจ้าประดับหัตถาภรณ์ อันเป็นเครื่องประดับทองคำฝังแก้วมุกดาและแก้วมณี เจ้าประดับด้วยหัตถาภรณ์นั้นแล้วย่อมงดงามในบริษัท.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปทุมปตฺตานํ ความว่า ซึ่งเครื่องประดับอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปทุมปัตตเวฐนะผ้าโพกสำหรับรัดเมาลีทำด้วยใบบัว พระนางโคตมีทรงพระประสงค์เอาเครื่องประดับนั้นนั่นแล จึงตรัสอย่างนั้น อธิบายว่า เจ้าจงรวบขึ้นซึ่งเมาลีของเจ้าอันกระจัดกระจายแล้วจงพันด้วยปทุมปัตตเวฐนะ. ทรงเรียกพระจันทกุมารด้วยคำว่า โคตมิปุตฺต. บทว่า จมฺปกทลมิสฺสาโย ความว่า เจ้าจงประดับระเบียบดอกไม้นานาชนิดอันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น แซมด้วยกลีบจำปาสอดสลับ ณ ภายใน. ด้วยบทว่า เอสา เต นี้พระนางพร่ำว่า นี้เป็นปกติของเจ้ามาแต่ครั้งก่อน จงลูบไล้เครื่องลูบไล้เครื่องจุรณจันทน์นั้นนั่นแลลูก. บทว่า เยหิ จ ความว่า เจ้าลูบไล้ด้วยเครื่องลูบไล้คือจันทน์แดงเหล่าใดแล้ว เจ้าจะงดงามในราชบริษัท เจ้าจงลูบไล้ด้วยเครื่องลูบคือจุรณจันทน์แดงเหล่านั้นเถิด. บทว่า กาสิกํ ได้แก่ ผ้ากาสิกพัสตร์ อันมีค่าแสนหนึ่ง. บทว่า คณฺหสฺส ความว่า จงประดับ.

บัดนี้ พระนางจันทา ผู้เป็นอัครมเหสีของพระจันทกุมาร หมอบลงแทบบาททูลของพระราชา พลางร่ำไรกล่าวว่า

พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองรัฐ ผู้เป็นทายาทของชนบท เป็นเจ้าโลกองค์นี้ จักไม่ทรงยังความสิเนหาให้เกิดในบุตรแน่ละหรือ.

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 193

พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสพระคาถาว่า

ลูกทั้งหลายเป็นที่รักของเรา (ตนเองก็เป็นที่รัก) อนึ่ง แม้เจ้าทั้งหลายผู้เป็นภรรยาก็เป็นที่รักของเรา แต่เราปรารถนาสวรรค์ เหตุนั้นจึงได้ให้ฆ่าเจ้าทั้งหลาย.

เนื้อความแห่งพระดำรัสนั้นว่า เพราะเหตุไรเราจึงไม่บังเกิดความรักลูก แท้จริงบุตรทั้งหลายเป็นที่รักของเรา ไม่ใช่แต่พระโคตมีองค์เดียวเท่านั้น แม้เราก็มีความรักบุตรทั้งหลาย ตนเองก็ดีก็เป็นที่รัก เจ้าทั้งหลายผู้เป็นสะใภ้ก็ดี ภรรยาทั้งหลายก็ดี ก็เป็นที่รักของเราเหมือนกัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เราปรารถนาซึ่งสวรรค์นั้น เพราะเหตุนั้น เราจักฆ่าเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ เจ้าอย่าคิดไปเลย แม้เจ้าทั้งหลายของเราเหล่านี้ ก็ไปอยู่กับเราในเทวโลกทั้งสิ้น.

พระนางจันทาทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดรับสั่งให้ฆ่าข้าพระบาทเสียก่อน ขอความทุกข์อย่าได้ทำลายหทัยของข้าพระบาทเลย พระราชโอรสของพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ ประดับแล้วงดงาม ข้าแต่เจ้าชีวิต ขอได้โปรดฆ่าข้าพระบาทเสียก่อน ข้าพระบาทจักเป็นผู้มีความโศกเศร้ากว่าจันทกุมาร ขอพระองค์จงทรงทำบุญให้ไพบูลย์ ข้าพระบาททั้งสองจะเที่ยวไปในปรโลก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงฆ่าข้าพระบาทก่อนกว่าพระสวามีของข้าพระบาท. บทว่า ทุกฺขํ ความว่า ทุกข์แต่ความตายของพระจันทกุมารนั้น ขออย่าได้ยังหัวใจ


๑. ในอรรถกถา เพิ่มคำว่า อตฺตา จ ตนเองก็เป็นที่รัก

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 194

ของข้าพระบาทให้แตกเสียเลย. บทว่า อลงฺกโต ความว่า ประดับแล้วด้วยอาการอย่างนี้คือพระกุมารองค์นี้องค์เดียว เขาประดับตกแต่งแล้วสำหรับข้าพระบาท. บทนี้ย่อมแสดงว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ไม่ทรงรักใคร่ซึ่งพระราชบุตรองค์นี้ว่าเป็นลูกของเรา. บทว่า หนฺทยฺย ตัดบทเป็น หนฺท อยฺย. พระนางพร่ำเพ้อพลางทูลอย่างนี้กะพระราชา. บทว่า สโสกา ความว่า เป็นไปกับด้วยความโศกเศร้ากับพระจันทกุมาร. บทว่า เหสฺสามิ แปลว่า จักเป็น. บทว่า วิจราม อุโภ ปรโลเก ความว่า ข้าพระองค์แลพระจันทกุมารอันพระองค์ให้ฆ่ารวมกัน แม้ข้าพระองค์ทั้งสองจะเสวยสุขเที่ยวไปในปรโลก ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำอันตรายแก่สวรรค์ของข้าพระบาททั้งสองเลย.

พระราชาตรัสว่า

ดูก่อนจันทาผู้มีตางาม เจ้าอย่าชอบใจความตายเลยเมื่อโคตมีบุตรผู้อันเราบูชายัญแล้ว พี่ผัวน้องผัวของเจ้าเป็นอันมาก จักยังเจ้าให้รื่นรมย์ยินดี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา ตฺวํ จนฺเท รุจิ ความว่า เจ้าอย่าชอบใจความตายของตนเลย. บาลีว่า มา รุทิ ดังนี้ก็มี ความว่า อย่าร้องไห้ไปเลย. บทว่า เทวรา ความว่า พี่ผัวน้องผัวของเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ.

ต่อแต่นั้น พระศาสดาจึงตรัสกึ่งคาถาว่า

เมื่อพระราชาตรัสอย่างนั้นแล้ว พระนางจันทาเทวีก็ร่ำไห้ตีพระองค์ด้วยฝ่าพระหัตถ์.

ต่อแต่นั้น พระนางก็ทรงรำพันว่า

ไม่มีประโยชน์อะไรด้วยชีวิต เราจักดื่มยาพิษตายเสียในที่นี้ พระญาติและมิตรของพระราชาพระ

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 195

องค์นี้ผู้มีพระทัยดี ซึ่งจะกราบทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระราชโอรสอันเกิดแต่พระอุระเลย ย่อมไม่มีเลย พระญาติและมิตรของพระราชาองค์นี้ผู้มีพระทัยดี ซึ่งจะกราบทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระราชโอรส อันเกิดแต่พระอุระพระองค์นี้ เลยย่อมไม่มีเป็นแน่ทีเดียว บุตรของข้าพระบาทเหล่านี้ ประดับพวงดอกไม้สวมกำไลทองต้นแขน ขอพระราชาจงเอาบุตรของข้าพระบาทเหล่านั้นบูชายัญ แต่ขอพระราชทานปล่อยโคตมีบุตรเถิด ข้าแต่พระมหาราชา ขอจงทรงตัดแบ่งข้าพระบาทให้เป็นร้อยส่วนแล้วทรงบูชายัญในสถานที่ ๗ แห่ง อย่าทรงฆ่าพระราชโอรสองค์ใหญ่ ผู้ไม่ผิดไม่ประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์เลย ข้าแต่พระมหาราชา ขอจงตัดแบ่งข้าพระบาทให้เป็นร้อยส่วนแล้วทรงบูชายัญในสถานที่ ๗ แห่ง อย่าได้ทรงฆ่าพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นที่มุ่งหวังของโลกทั้งปวงเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ ความว่า เมื่อพระเจ้าเอกราชตรัสอย่างนั้น. ด้วยบทว่า หนฺติ พระนางทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เหตุไรหรือพระองค์จึงตรัสเช่นนั้น แล้วทุบตีพระองค์ด้วยฝ่าพระหัตถ์. บทว่า ปิสฺสามิ แปลว่า จักดื่ม. บทว่า อิเม เตปิ ความว่า ทรงจับมือเด็กที่เหลือแม้เหล่านี้ตั้งต้นแต่วสุลกุมาร ประทับยืนอยู่ใกล้บาทมูลของพระราชา แล้วได้กล่าวอย่างนั้น. บทว่า คุณิโน ความว่า ประกอบด้วยอาภรณ์คือ กลุ่มดอกไม้. บทว่า กายุรธาริโน ความว่า ทรงไว้ซึ่งเครื่องประดับคือกำไล

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 196

ทอง. บทว่า วิลสตํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ฆ่าข้าพระบาทแล้วแบ่งเป็นร้อยส่วน. บทว่า สตฺตธา ความว่า จงบูชายัญในที่ ๗ แห่ง.

ดังนั้น พระนางจันทาเทวีนั้น ทรงคร่ำครวญในสำนักพระราชาด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว เมื่อไม่ได้มีความโล่งใจจึงเสด็จไปสำนักพระโพธิสัตว์นั่นแล แล้วยืนร่ำไรอยู่. ลำดับนั้น พระจันทกุมารตรัสแก่พระนางจันทาว่า ดูก่อนจันทา เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราให้อาภรณ์แก่เจ้ามากมายมีแก้วมุกดาเป็นต้น เมื่อเรื่องนั้นๆ เจ้าเล่า เจ้ากล่าวแล้วด้วยดี แต่วันนี้เราจะให้อาภรณ์อันประดับอยู่กับกายเรานี้ เป็นของเราให้อันท้ายที่สุด เจ้าจงรับอาภรณ์นี้ไว้.

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า

เครื่องประดับเป็นอันมากล้วนแต่ของดีๆ คือ มุกดา มณี แก้วไพฑูรย์เราให้แก่เจ้า เมื่อเจ้ากล่าวคำดี นี้เป็นของที่เราให้แก่เจ้าครั้งสุดท้าย.

ฝ่ายพระนางจันทาเทวี ครั้นสดับคำพระสวามีแล้ว ก็พลางรำพันกล่าวด้วยคาถา ๙ คาถาอื่นจากนั้นว่า

เมื่อก่อนพวงมาลาบานเคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว จักฟันที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น เมื่อก่อนพวงมาลาอันวิจิตรเคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบอันลับคมดีแล้ว จักฟันที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น ไม่ช้าแล้วหนอ ดาบจักฟันที่พระศอของพระราชบุตรทั้งหลาย ก็หทัยของเราจะไม่แตก แต่จะต้องมีเครื่องรัดอย่างมั่นคงเหลือเกิน พระจันทกุมารและ

 
  ข้อความที่ 75  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 197

พระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันสะอาด ประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกทำความเศร้าพระหฤทัยแก่พระชนนี พระจันทกุมารและสุริยกุมารทรงผ้าแกว้นกาสีอันขาวสะอาดประดับกุณฑลไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารอันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้วประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ เสด็จออกเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช พระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงพระกายดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณจันทน์ เสด็จออกกระทำความเศร้าพระทัยให้แก่พระชนนี พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารเสวยพระกระยาหาร อันปรุงด้วยรสเนื้อ ช่างสนานสระสรงกายดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์เสด็จออกกระทำความเศร้าใจให้แก่ประชุมชน.

 
  ข้อความที่ 76  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 198

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผุลฺลา มาลา ได้แก่ พวงดอกไม้. บทว่า เตสชฺช ตัดเป็น เตสํ อชฺช. บทว่า เนตฺตึโส แก้เป็น อสิ. บทว่า วิวตฺติสฺสติ แปลว่า จักตก. บทว่า อจิรา วต แปลว่า ไม่นานหนอ. บทว่า น ผาเลติ แปลว่า ไม่แตก. บทว่า ตาว ทฬฺหพนฺธนญฺจ เม อาสิ ความว่า จักมีเครื่องผูกมัดอันมั่นยิ่งนัก จักผูกมัดหทัยของเรา.

เมื่อพระนางจันทา คร่ำครวญอยู่อย่างนั้น การงานทุกอย่างในหลุมยัญสำเร็จแล้ว. อำมาตย์ทั้งหลายนำพระราชบุตรมาแล้ว ให้ก้มพระศอลงนั่งอยู่. กัณฑหาลพราหมณ์น้อมถาดทองคำเข้าไปใกล้แล้วหยิบดาบมาถือยืนอยู่ ด้วยหมายใจว่า เราจักตัดพระศอพระราชกุมาร พระนางจันทาเทวีเห็นดังนั้น คิดว่า ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราจักกระทำความสวัสดีของพระสวามีด้วยกำลังความสัตย์ของเรา จึงประคองอัญชลีดำเนินไปในระหว่างแห่งที่ชุมนุมชนแล้วทรงกระทำสัจจกิริยา.

เมื่อเขาตกแต่งเครื่องบูชายัญทุกสิ่งแล้ว เมื่อพระจันทกุมารและพระสุริยกุมารประทับนั่งเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาลราช ประนมอัญชลีเสด็จดำเนินเวียนในระหว่างบริษัททั้งปวง ทรงกระทำสัจจกิริยาว่า กัณฑหาละผู้มีปัญญาทรามได้กระทำกรรมอันชั่ว ด้วยความสัจจริงอันใด ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี อมนุษย์เหล่าใดมีอยู่ในที่นี้ ยักษ์ สัตว์ที่เกิดแล้วและสัตว์ที่จะมาเกิดก็ดี ขอจงกระทำความขวนขวายช่วยเหลือข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี เทวดาทั้งหลายที่มาแล้วในที่นี้ ปวงสัตว์ที่เกิดแล้วและ

 
  ข้อความที่ 77  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 199

สัตว์ที่จะมาเกิด ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้เสวงหาที่พึ่ง ผู้ไร้ที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลาย ขออย่าให้พวกข้าศึกชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปกฺขตสฺมึ ความว่า เมื่อเขาจัดตกแต่งเครื่องบูชายัญพร้อมทุกสิ่ง. บทว่า สมงฺคินี ความว่า ขอข้าพเจ้า จงเป็นผู้ประกอบพร้อม คือประกอบเป็นอันเดียวกัน ได้แก่ เป็นผู้อยู่ร่วมกัน. บทว่า เยธตฺถิ ตัดเป็น เย อิธ อตฺถิ ชนเหล่าใดมีอยู่ในที่นี้. บทว่า ยกฺขภูตภพฺยานิ ความว่า ยักษ์กล่าวคือเทวดา ภูตกล่าวคือสัตว์ที่เจริญแล้วดำรงอยู่ และเหล่าสัตว์ที่พึงเกิดกล่าวคือสัตว์ผู้เจริญในบัดนี้. บทว่า เวยฺยาวฏิกํ ความว่า จงกระทำขวนขวายเพื่อข้าพเจ้า. ตายถ มํ ความว่า จงรักษาข้าพเจ้า. บทว่า ยาจามิ โว ความว่า ข้าพเจ้าขอร้องท่านทั้งหลาย. บทว่า ปติมาหํ ตัดเป็น ปติ อหํ. บทว่า อเชยฺยํ ความว่า ขอข้าศึกอย่าพึงชนะ คือไม่ชนะ.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช ทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทาเทวีนั้นทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ในขณะนั้นนั่นเอง ฉวยเอาค้อนเหล็กอันลุกโพลง แล้วเสด็จมาขู่พระราชาแล้ว ให้ปล่อยคนเหล่านั้นทั้งหมด.

พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า

ท้าวสักกเทวราช ได้ทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทาเทวีนั้นแล้ว ทรงกวัดแกว่งค้อนยังความกลัวให้เกิดแก่พระเจ้าเอกราชนั้นแล้ว ได้ตรัสกะพระราชาว่า พระราชากาลี จงรู้ไว้อย่าให้เราตีเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้ ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่

 
  ข้อความที่ 78  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 200

ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน? คนผู้ปรารถนาสวรรค์ ฆ่าบุตร ภรรยา เศรษฐี และคฤหบดีผู้ไม่คิดประทุษร้าย.

กัณฑหาลปุโรหิตและพระราชาได้ฟังพระดำรัสของท้าวสักกะ ได้เห็นรูปอันน่าอัศจรรย์แล้ว ให้เปลื้องเครื่องพันธนาการของสัตว์ทั้งปวง เหมือนดังเปลื้องเครื่องพันธนาการของคนผู้ไม่มีความชั่ว เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่ประชุมอยู่ ณ ที่นั้นในกาลนั้นทุกคน เอาก้อนดินคนละก้อนทุ่มลง การฆ่าซึ่งกัณฑหาลปุโรหิตได้มีแล้วด้วยประการดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมนฺสฺโส ได้แก่ ท้าวสักกเทวราช. บทว่า พชฺฌสฺสุ แปลว่า ทรงรู้คือทรงกำหนด. บทว่า ราชกลิ ความว่า ดู ก่อนพระราชาผู้กาลกิณี พระราชาผู้ลามก. บทว่า มา เตหํ ความว่า ดูก่อนพระราชาชั่ว ท่านจงรู้ อย่าให้เราตี คือประหารกระหม่อมของท่าน. บทว่า โก เต ทิฏฺโ ความว่า ใครที่ไหน ที่ท่านเคยเห็น. ศัพท์ว่า หิ ในบทว่า สคฺคกามา หิ นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ผู้ใคร่ต่อสวรรค์ คือผู้ปรารถนาสวรรค์. บทว่า ตํ สุตฺวา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัณฑหาลปุโรหิตฟังคำแห่งท้าวสักกเทวราชแล้ว. บทว่า อพฺภูตมิทํ ความว่า อนึ่งพระราชาทรงเห็นแล้วซึ่งการแสดงรูปแห่งท้าวสักกเทวราชนี้อันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาก่อนเลย. บทว่า ยถา ตํ ความว่า ให้ปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวง เหมือนเปลื้องคนหาความชั่วมิได้ฉะนั้น. บทว่า เอเกกเลฑฺฑุมกํสุ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายทั้งปวงมีประมาณเท่าใด ประชุมกัน

 
  ข้อความที่ 79  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 201

แทบหลุมยัญนั้นกระทำเสียงเอิกเกริก ได้ให้การประหารกัณฑหาลปุโรหิตด้วยก้อนดินคนละก้อน. บทว่า เอส วโธ ความว่า นั่นได้เป็นการฆ่ากัณฑหาลปุโรหิต. อธิบายว่า ให้กัณฑหาลปุโรหิตถึงความสิ้นชีวิตในที่นั้นนั่นเอง.

ส่วนมหาชน ครั้นฆ่ากัณฑหาลพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เริ่มเพื่อจะฆ่าพระราชา. พระโพธิสัตว์สวมกอดพระราชบิดาไว้แล้ว มิได้ประทานให้เขาฆ่า. มหาชนกล่าวว่า เราจะให้แต่ชีวิตเท่านั้นแก่พระราชาชั่วนั้น แต่พวกเราจะไม่ยอมให้ฉัตรและที่อยู่อาลัยในพระนครแก่พระราชานั่น เราจักทำพระราชาให้เป็นคนจัณฑาลแล้วให้ไปอยู่เสียภายนอกพระนคร แล้วก็ให้นำออกเสียซึ่งเครื่องทรงสำหรับพระราชา ให้ทรงผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ให้โพกพระเศียรด้วยท่อนผ้าย้อมด้วยขมิ้น กระทำให้เป็นจัณฑาลแล้ว ส่งไปสู่ที่เป็นอยู่ของคนจัณฑาล. ส่วนคนพวกใด บูชายัญอันประกอบด้วยการฆ่าปศุสัตว์ก็ดี ใช้ให้บูชาก็ดี พลอยยินดีตามก็ดี ชนเหล่านั้นได้เป็นคนมีนิรยาบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าทั้งสิ้นทีเดียว.

พระศาสดาเมื่อจะประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า

คนทำกรรมชั่วโดยวิธีใดแล้ว ต้องตกนรกทั้งหมด คนทำกรรมชั่วแล้ว ไปจากโลกนี้ไม่ได้สุคติเลย.

แม้มหาชนเหล่านั้น ครั้นนำคนกาลกิณีทั้งสองนั้นออกไปแล้ว ก็นำมาซึ่งเครื่องอุปกรณ์แห่งพิธีอภิเษก แล้วทรงอภิเษกพระจันทกุมารในที่นั้นนั้นนั่นเอง.

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า

เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นในกาลนั้น คือพระราชา

 
  ข้อความที่ 80  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 202

ทั้งหลายประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นในกาลนั้น คือ เทวดาทั้งหลายประชุมพร้อมกันอภิเษกพระจันทกุมาร เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือ เทพกัญญาทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันอภิเษกพระจันทกุมาร เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่ประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือ พระราชาทั้งหลายประชุมพร้อมกัน ต่างแกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น คือ ราชกัญญาทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือ เทพบุตรทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันต่างแกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ผู้ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น ในกาลนั้น คือ เทพกัญญาทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันต่างแกว่งผ้าและโบกธง เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ชนเป็นอันมากต่างก็รื่นรมย์ยินดี พวกเขาได้ประกาศความยินดีในเวลาที่พระจันทกุมารเสด็จเข้าสู่พระนคร และได้ประกาศความหลุดพ้นจากเครื่องจองจำของสัตว์ทั้งปวง.

 
  ข้อความที่ 81  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 203

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชปริสา จ ความว่า ฝ่ายบริษัทแห่งพระราชาทั้งหลาย ก็ได้ถวายน้ำอภิเษกกะพระจันทกุมารนั้น ด้วยสังข์ทั้ง ๓. บทว่า ราชกญฺาโย ความว่า แม้ขัตติยราชธิดาทั้งหลายก็ถวายน้ำอภิเษกพระจันทกุมาร. บทว่า เทวปริสา ความว่า ท้าวสักกเทวราช ก็ถือสังข์วิชัยยุตรถวายน้ำอภิเษกพร้อมด้วยเทพบริษัท. บทว่า เทวกญฺาโย ความ ว่า แม้นางสุชาดาเทพธิดา พร้อมด้วยนางเทพกัญญาทั้งหลาย ก็ถวายน้ำอภิเษก. บทว่า เจลุกฺเขปมกรุํ ความว่า ได้ให้ยกธงทั้งหลายพร้อมผ้าสีต่างๆ ชักขึ้นซึ่งผ้าห่มทั้งหลายทำให้เป็นแผ่นผ้าในอากาศ. บทว่า ราชปริสา ความว่า ราชบริษัททั้งหลาย และอีก ๓ เหล่า (คือราชกัญญา เทวบริษัท เทพกัญญา) ซึ่งเป็นผู้กระทำอภิเษกพระจันทกุมาร รวมเป็นสี่หมู่ด้วยกัน ได้กระทำการชัก โบกผ้าและธงนั่นแล. บทว่า อานนฺทิโน อหุวาทึสุ ความว่า คนทั้งหลายผู้บันเทิงทั่ว บันเทิงยิ่งแล้ว. บทว่า นนฺทิปฺปเวสนครํ ความว่า คนทั้งหลายผู้บันเทิงร่าเริงทั่วแล้ว ในกาลที่พระจันทกุมารเสด็จเข้าสู่พระนครให้กั้นฉัตร แล้วตีกลองอานันทเถรีร้องประกาศไปทั่วพระนคร. ถามว่า เพื่อประโยชน์อะไร? แก้ว่า พระจันทกุมารของเราทั้งหลายพ้นแล้วจากเครื่องจองจำฉันใด คนทั้งปวงหลุดพ้นจากการจองจำฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า พนฺธโมกฺโข อโฆสถ ได้ประกาศการพ้นจากเครื่องจำดังนี้.

ลำดับนั้นแล พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มตั้งวัตรปฏิบัติต่อพระราชบิดา. พระราชบิดาไม่ได้เสด็จเข้าสู่พระนคร. ในกาลเมื่อเสบียงอาหารสิ้นไป พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปเพื่อประโยชน์แก่กิจต่างๆ มีการเล่นสวนเป็นต้น ก็เข้าไปเฝ้าพระราชบิดานั้น แต่ก็มิได้ถวายบังคม. ฝ่ายพระเจ้าเอกราชกระทำอัญชลี

 
  ข้อความที่ 82  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 204

แล้วตรัสว่า ขอพระองค์จงทรงมีพระชนม์ยืนนาน พระเจ้าข้า. เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า พระบิดาต้องประสงค์ด้วยสิ่งใด พระเจ้าเอกราชจึงทูลความปรารถนาแล้ว. พระโพธิสัตว์ก็โปรดให้ถวายค่าจับจ่ายใช้สอยแก่พระราชบิดา. พระโพธิสัตว์นั้นครองราชสมบัติโดยเที่ยงธรรมแล้ว ในกาลเป็นที่สุดแห่งอายุก็ได้เสด็จไปยังเทวโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ประกาศอริยสัจแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตพยายามเพื่อฆ่าคนเป็นอันมาก เพราะอาศัยเราแม้ผู้เดียว ดังนี้แล้วจึงทรงประชุมชาดก. กัณฑหาลพราหมณ์ ในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัต พระนางโคตมีเทวี เป็นพระมหามายา พระนางจันทาเทวี เป็นราหุลมารดา พระวสุละ เป็นพระราหุล พระเสลากุมารี เป็นอุบลวรรณา พระสุรกุมาร เป็นพระอานนท์ พระรามโคตตะ (๑) เป็นกัสสปะ พระภัททเสนเป็น โมคคัลลานะ พระสุริยกุมารเป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกเทวราช เป็นอนุรุทธะ บริษัทในกาลนั้นได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพระจันทกุมารนั้น คือเราสัมมาสัมพุทธะดังนี้แล.

จบอรรถกถาจันทกุมารชาดกที่ ๗


๑. บาลีเป็น วามโคตตะ