พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. มหาลิสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 ก.ค. 2564
หมายเลข  34620
อ่าน  722
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 93

๖. มหาลิสูตร

[๒๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ กูฏาคารสาลา (๑) ในป่ามหาวัน (๒) ใกล้นครเวสาลี ก็สมัยนั้นแล พราหมณทูตชาวโกศล และพราหมณทูตชาวมคธมากด้วยกัน พักอยู่ในนครเวสาลี ด้วยกรณียะเพียงบางอย่าง พราหมณทูตเหล่านั้น ได้สดับว่า พระสมณโคดม พระโอรสแห่งศากยะ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล ประทับอยู่ ณ กูฏคารสาลา ในป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมนั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกพระธรรม พระองค์ทรงทําให้แจ้งซึ่งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก ฯลฯ การได้เห็น พระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น เป็นการดี ดังนี้ พราหมณทูตเหล่านั้น ได้เดินผ่านเข้าไปยังกูฏคารสาลา ในป่ามหาวัน

[๒๔๐] ก็แลสมัยนั้น ท่านพระนาคิตะ เป็นพระอุปัฏฐากแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พราหมณ์ทูตเหล่านั้นเข้าไปหา ท่านพระนาคิตะแล้วถาม อย่างนี้ว่า ท่านพระนาคิตะ บัดนี้ท่านพระโคดมนั้น ประทับอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้า


(๑) กูฏาคารสาลา เป็นชื่อแห่งสังฆาราม อันตั้งอยู่ในป่ามหาวัน ที่ได้ชื่อดังนั้น เพราะมี ปราสาท ปานประหนึ่งเทพวิมาน อันเขาทําตามแบบ กูฏาคารสาลา สาลา คือ เรือนยอด

(๒) ป่ามหาวัน คือ ป่าใหญ่เกิดเอง ตั้งอยู่ต่อเนื่องป่าหิมพานต์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 94

ทั้งหลาย ใคร่จะเฝ้าท่านพระโคดมนั้นจริงๆ ท่านพระนาคิตะกล่าวว่า ยังไม่เป็นกาลอันควรเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลีกเร้นอยู่. จึงพราหมณทูตเหล่านั้น ได้นั่งอยู่ส่วนข้างหนึ่ง ใกล้กูฏาคารสาลานั้น ด้วยคิดว่า เราได้เฝ้าท่านพระโคดมนั้นแล้วจึงจักไป.

    [๒๔๑] แม้เจ้าลิจฉวี นามว่า โอฏฐัทธะ พร้อมด้วยลิจฉวีบริวารอันใหญ่ เข้าไปหาท่านพระนาคิตะ ณ กูฏาคารสาลา ในป่ามหาวัน กราบท่านพระนาคิตะแล้ว ยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง. กล่าวกะท่านพระนาคิตะอย่างนี้ว่า ท่านพระนาคิตะเจ้าข้า บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ประทับอยู่ ณ ที่ไหน ข้าพเจ้าทั้งหลาย ใคร่จะเฝ้าพระองค์จริงๆ . ท่านพระนาคิตะกล่าวว่า ยังไม่เป็นกาลอันควร เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลีกเร้นอยู่. แม้โอฏฐัทธลัจฉวี ก็ได้นั่งอยู่ส่วนข้างหนึ่ง ใกล้กูฏาคารสาลานั้นเหมือนกัน ด้วยคิดว่า เราได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล้ว จึงจักไป.

    [๒๔๒] ลําดับนั้น สามเณรสีหะ เข้าไปหา ท่านพระนาคิตะ กราบแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระนาคิตะอย่างนี้ว่า ท่านกัสสปะเจ้าข้า พราหมณทูตชาวโกศล และพราหมณทูตชาวมคธ เป็นอันมากเหล่านี้ ได้เข้ามาในที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เจ้าลิจฉวีนามว่า โอฏฐัทธะ พร้อมด้วยลิจฉวีบริวารอันใหญ่ ได้เข้ามาในที่นี้เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเจ้าข้า จะเป็นการดี ขอหมู่ชนนี้จงได้เฝ้าพระผู้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 95

มีพระภาคเจ้าเถิด. ท่านพระนาคิตะ กล่าวว่า แน่ะสีหะ ถ้ากระนั้นเธอนั่นแหละ จงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบเถิด. สามเณรสีหะรับคํา ท่านพระนาคิตะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า พราหมณทูตชาวโกศล และพราหมณทูตชาวมคธเป็นอันมากเหล่านี้ ได้เข้ามาในที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เจ้าลิจฉวีนามว่าโอฏฐัทธะ พร้อมด้วยลิจฉวีบริวารอันใหญ่ ได้เข้ามาในที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธเจ้าข้า จะเป็นการดี ขอหมู่ชนนี้ จงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แน่ะสีหะ ถ้ากระนั้น เธอจงปูอาสนะที่ร่มเงาหน้าวิหาร. สามเณรสีหะ รับพระพุทธาณัติแล้ว ได้ปูอาสนะ ณ ร่มเงาหน้าพระวิหาร. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระวิหาร ประทับนั่งบนอาสนะ ที่สามเณรสีหะปูไว้ ณ ร่มเงาหน้าพระวิหาร. ลําดับนั้น พราหมณทูตชาวโกศล และพราหมณทูตชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บันเทิงกับพระผู้มีพระภาคเจ้า สนทนาพอเป็นที่ชื่นชมระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    [๒๔๓] แม้โอฏฐัทธลิจฉวี พร้อมด้วยลิจฉวีบริวารอันใหญ่ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า วันก่อนหลายวันมาแล้ว ลิจฉวีบุตร นามว่า สุนักขัตตะ ได้เข้าไปหาข้าพระองค์แล้ว

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 96

ได้กล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า มหาลิ ชั่วเวลาที่ข้าพเจ้าเข้าไปอาศัย พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ไม่นานเพียง ๓ ปี ข้าพเจ้าเห็นรูปทั้งหลาย อันเป็นทิพย์ น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี แต่ฟังเสียง อันเป็นทิพย์ น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดีไม่ได้ เสียงทิพย์อันน่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ที่สุนักขัตตลัจฉวีบุตร ไม่ได้ฟังนั้น มีจริงหรือไม่ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาลิ เสียงทิพย์อันน่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ที่สุนักขัตตลิจฉวีบุตรไม่ได้ฟัง มีอยู่จริง มิใช่ไม่มี. โอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า พระเจ้าข้า อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สุนักขัตตลิจฉวีบุตรไม่ได้ฟังเสียง อันเป็นทิพย์น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ซึ่งมีอยู่จริง มิใช่ไม่มี.

    [๒๔๔] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสมาธิได้อบรมแล้วส่วนเดียว เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ในทิศเบื้องหน้า แต่มิได้อบรมแล้ว เพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ภิกษุนั้นเมื่อได้อบรมสมาธิส่วนเดียว เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้า แต่มิได้อบรมเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ย่อมเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้าได้ แต่ฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้นย่อมเป็นอย่างนั้น ในเมื่อภิกษุได้อบรมสมาธิส่วนเดียว เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้า แต่มิได้อบรมเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ

    [๒๔๕] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีสมาธิ ได้อบรมแล้วส่วนเดียว เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องขวา ฯลฯ ในทิศเบื้องหลัง ฯลฯ ใน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 97

ทิศเบื้องซ้าย ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง (๑) แต่มิได้อบรม เพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ภิกษุนั้น เมื่อได้อบรมสมาธิส่วนเดียว เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แต่มิได้อบรมเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ย่อมเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางได้ แต่ฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้นย่อมเป็นอย่างนั้น ในเมื่อภิกษุได้อบรมสมาธิส่วนเดียว เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แต่มิได้อบรมเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ

[๒๔๖] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสมาธิได้อบรมแล้วส่วนเดียว เพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ในทิศเบื้องหน้า แต่มิได้อบรมเพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ภิกษุนั้น เมื่อได้อบรมสมาธิส่วนเดียว เพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบิ้องหน้า แต่มิได้อบรมเพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ย่อมได้ฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้าได้ แต่เห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้นย่อมเป็นอย่างนั้น ในเมื่อภิกษุอบรมสมาธิส่วนเดียว เพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้า แต่มิได้อบรมเพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ

[๒๔๗] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีสมาธิได้อบรมแล้วส่วนเดียว เพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องขวา ฯลฯ ในทิศเบื้องหลัง ฯลฯ ในทิศเบื้องซ้าย ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แต่มิได้อบรมแล้ว เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ภิกษุนั้น เมื่อเธอได้อบรมสมาธิส่วนเดียวเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แต่มิได้อบรมเพื่อ


(๑) เบื้องขวาง คือ ทิศน้อย ๔

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 98

เห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ย่อมฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางได้ แต่เห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้น ย่อมเป็นอย่างนั้น ในเมื่อภิกษุอบรมสมาธิส่วนเดียว เพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แต่มิได้อบรมเพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ ฯลฯ

    [๒๔๘] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสมาธิได้อบรมแล้วทั้งสองส่วน เพื่อเห็นรูปอันเป็นทิพย์ น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี และเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ในทิศเบื้องหน้า. ภิกษุนั้น เมื่อได้อบรมสมาธิทั้งสองส่วน เพื่อเห็นรูป และเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้า ย่อมเห็นรูปและย่อมฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้นย่อมเป็นอย่างนั้น ในเมื่อภิกษุได้อบรมสมาธิทั้งสองส่วน เพื่อเห็นรูปและเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องหน้า.

    [๒๔๙] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีสมาธิได้อบรมแล้วทั้ง ๒ ส่วน เพื่อเห็นรูป และเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในทิศเบื้องขวา ฯลฯ ในทิศเบื้องหลัง ฯลฯ ในทิศเบื้องซ้าย ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง. ภิกษุนั้นเมื่อได้อบรมสมาธิทั้ง ๒ ส่วน เพื่อเห็นรูป และเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ย่อมเห็นรูป และย่อมฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้น ย่อมเป็นอย่างนั้น ในเมื่อภิกษุได้อบรมสมาธิทั้งสองส่วน เพื่อเห็นรูป และเพื่อฟังเสียงอันเป็นทิพย์ ฯลฯ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 99

มหาลิ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สุนักขัตตลิจฉวีบุตร ไม่ได้ฟังเสียงอันเป็นทิพย์ น่ารัก ยั่วยวน ควรยินดี ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มี.

[๒๕๐] โอฏฐัทธลิจฉวี กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลาย ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุจะทําให้แจ้ง ซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านี้ เป็นแน่. ตรัสตอบว่า มหาลิ ภิกษุทั้งหลาย จะประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เหตุจะกระทําให้แจ้ง ซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านี้ หามิได้เลย ธรรมเหล่าอื่น ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เหตุจะกระทําให้แจ้งที่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า ยังมีอยู่อีก. โอฏฐัทธลัจฉวี ทูลถามว่า พระเจ้าข้า ก็ธรรมเหล่าไหน ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุจะกระทําให้แจ้งที่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า. ตรัสตอบว่า มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นโสดาบันมีความไม่ตกต่ําเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนแล้ว มีความตรัสรู้ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์ ๓ ธรรมนี้แล้ว ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เหตุจะกระทําให้แจ้งที่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า.

[๒๕๑] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นพระสกทาคามี จะมาสู่โลกนี้ครั้งเดียวเท่านั้น แล้วกระทําที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์ ๓ เพราะความเบาบางแห่งราคะโทสะและโมหะ ธรรมนี้แล ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เหตุจะกระทําให้แจ้ง ที่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า.

[๒๕๒] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีอันจะบังเกิด ในอุปปาติกกําเนิด (๑) จะปรินิพพานในอุปปาติกกําเนิดนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา (พระอนาคามี) เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ํา ๕ ธรรม


(๑) อุปปาติกกําเนิด ในที่นี้ หมายเอาสุทธาวาส ๕.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 100

นี้แล ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เหตุจะกระทําให้แจ้ง ที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า.

    [๒๕๓] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุทําให้แจ้ง เพราะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย อยู่ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) เทียว แม้ธรรมนี้แล ซึ่งภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เหตุจะกระทําให้แจ้ง ที่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า. มหาลิ ธรรมเหล่านี้แล ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ในเราเหตุจะกระทําให้แจ้ง ที่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า.

    [๒๕๔] โอฏฐัทธลิจฉวี ทูลถามว่า ทางดําเนินเพื่อทําให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น มีอยู่หรือพระเจ้าข้า. ตรัสตอบว่า มีอยู่ มหาลิ. ทางดําเนินเพื่อทําให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น เป็นไฉนเล่า พระเจ้าข้า. มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นของพระอริยเจ้านี้แล คือ ความเห็นชอบ ความดําริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบตั้งมั่นชอบ นี้แล เป็นทางดําเนิน เพื่อทําให้แจ้ง ซึ่งธรรมเหล่านั้น.

    [๒๕๕] มหาลิ สมัยหนึ่ง เราอยู่ในโฆสิตารามใกล้นครโกสัมพี ครั้งนั้น ๒ บรรพชิต คือมัณฑิยปริพพาชก ๑ ชาลิยะ ศิษย์ทารุปัตติกะ ๑ ได้เข้าไปหาเรา เจรจาปราศรัยกับเราแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ท่านโคดม ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือหนอ หรือชีพอันอื่น สรีระอันอื่น. เราได้กล่าวว่า แน่ะท่าน ถ้าอย่างนั้น จงฟังจงกระทําในใจให้ดี เราจักกล่าว. พระตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเองแล้ว ฯลฯ (นักปราชญ์พึงให้เนื้อความพิสดารเหมือน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 101

ในสามัญญผลสูตร) ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีลอย่างนี้ ฯลฯ บรรลุฌานที่ต้น มีวิตก มีวิจาร มีปิติ และสุขเกิดแต่วิเวกแล้วอยู่. ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นั่นเป็นการสมควรแก่ภิกษุนั้นหรือหนอ เพื่อจะกล่าวว่าชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอันอื่น สรีระอันอื่น ดังนี้. ภิกษุนั้นใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นั่นไม่เป็นการสมควรแก่ภิกษุนั้น เพื่อจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอันอื่น สรีระอันอื่น. ก็แลความข้อนี้ เรารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ดังนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอันอื่น สรีระอันอื่น ดังนี้. ภิกษุบรรลุฌานที่ ๒ ฯลฯ ภิกษุบรรลุฌานที่ ๓ ฯลฯ ภิกษุบรรลุฌานที่ ๔ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะสิ้นไปแห่งโสมนัส และโทมนัสในกาลก่อน มีความบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาและสติแล้วอยู่. ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นั่นเป็นการสมควรแก่ภิกษุนั้นหรือหนอ เพื่อจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้นสรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอันอื่นสรีระอันอื่น ดังนี้. ภิกษุนั้นใด รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นั่นไม่เป็นการสมควรแก่ภิกษุนั้น เพื่อจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอันอื่น สรีระอันอื่น. ก็แลความข้อนี้ เรารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ดังนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอันอื่น สรีระก็อันอื่น.

    เธอนําจิตไปเฉพาะ น้อมจิตไปเฉพาะ เพื่อญาณทัสสนะ (คือ ปัญญาเครื่องรู้ เครื่องเห็น) . ภิกษุใด ฯลฯ เธอรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทํา ทําเสร็จแล้ว กิจอื่นอีก เพื่อความเป็นเช่นนี้ย่อมไม่มี ดังนี้. ภิกษุใด รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นั่นเป็นการสมควรแก่

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 102

ภิกษุนั้นหรือหนอ เพื่อจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอันอื่น สรีระอันอื่น ดังนี้. ภิกษุนั้นใด รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นั่นไม่เป็นการสมควรแก่ภิกษุนั้น เพื่อจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอันอื่น สรีระอันอื่น. ก็แลความข้อนี้ เรารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ดังนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอันอื่น สรีระอันอื่น ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสเวยยากรณพจน์นี้แล้ว. โอฏฐัทธลิจฉวี มีใจยินดี ชื่นชมภาสิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.

    จบ มหาลิสูตร ที่ ๖

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 103

อรรถกถามหาลิสูตร

เอวมฺเม สุตํฯปฯ เวสาลิยนฺติ มหาลิสุตฺตํ

ใน มหาลิสูตรนั้น มีการพรรนาตามลําดับบทดังนี้. บทว่า เวสาลิยํ ความว่า ใกล้นครอันได้นามว่า เวสาลี เพราะเมืองนี้ถึงความไพศาลเนืองๆ บทว่า มหาวเน ความว่า ในป่าใหญ่เกิดเอง ตั้งอยู่ต่อเนื่องกับป่าหิมพานต์ ภายนอกนคร ซึ่งเรียกว่า มหาวัน เพราะความที่เป็นป่าใหญ่นั้น. บทว่า กูฏาคารสาลายํ ความว่า ได้สร้างสังฆาราม ในราวป่านั้น. ได้สร้างปราสาท เช่นกับเทพวิมาน ทําตามแบบกูฏาคารศาลา ยกช่อฟ้าบนเสาทั้งหลายในสังฆารามนั้น. หมายถึง ปราสาทนั้น สังฆารามแม้ทั้งสิ้น จึงปรากฏว่า กูฏาคารศาลา. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัยนครเวสาลีนั้น ประทับอยู่ ณ สังฆารามนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เวสาลิยํ วิหรติ มหาวเน กูฏาคารสาลายํ ดังนี้.

บทว่า โกสลกา คือ ชาวแคว้นโกศล. บทว่า มาคธกา คือ ชาวแคว้นมคธ. บทว่า กรณีเยน ความว่า ด้วยการงานที่พึงทําแน่แท้. ก็การงานที่แม้จะไม่กระทําก็ได้ เรียกว่ากิจ การงานที่ควรทําแน่แท้ทีเดียวชื่อว่า กรณียะ.

บทว่า ปฏิสลฺลีโน ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหลีกเร้น คือ ทรงหลบจากเรื่องอารมณ์ต่างๆ ทรงอาศัย เอกีภาพ เสวยความยินดีในฌาน ในเอกัคคตารมณ์. บทว่า ตตฺเถว คือ ในวิหารนั้น. บทว่า เอกมนฺตํ ความว่า พราหมณทูตเหล่านั้น ไม่ละที่นั้น พากันนั่ง ณ เงาต้นไม้นั้นๆ.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 104

    บทว่า โอฏทฺโธ ความว่า เจ้าลิจฉวีผู้ได้นามอย่างนั้น เพราะมีริมฝีปากเปียกชุ่ม. บทว่า มหติยา ลิจฺฉวีปริสาย ความว่า เจ้าลิจฉวี นามว่าโอฏฐัทธะ ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ในปุเรภัตอธิษฐานองค์อุโบสถศีล ในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้คนถือสิ่งของมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ป่าวประกาศให้บริวารเจ้าลิจฉวีหมู่ใหญ่ประชุมกันแล้วเ ข้าไปพร้อมกับบริวารลิจฉวีหมู่ใหญ่นั้น ซึ่งประดับประดาด้วยผ้าอาภรณ์และเครื่องลูบไล้ มีสีเขียวและเหลืองเป็นต้น อันสวยงามประหนึ่งเทพบริวารชั้นดาวดึงส์. บทว่า อกาโล โข มหาลิ ความว่า โอฏฐัทธะ นั้น เดิมชื่อว่า มหาลิ พระเถระเรียกมหาลินั้นตามชื่อเดิมนั้น. บทว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ ความว่า โอฏฐัทธลิจฉวี นั่งสรรเสริญพระคุณของพระรัตนตรัย พร้อมด้วยบริวาร ลิจฉวีหมู่ใหญ่ ณ เงาไม้อันสมควร.

    บทว่า สีโห สมณุทฺเทโส ความว่า สามเณร ชื่อว่า สีหะ เป็นหลานของพระนาคิตะ บวชในกาลที่มีอายุได้เจ็ดขวบ ขยันหมั่นเพียรในพระศาสนา. ได้ยินว่า สามเณรเห็นชุมชนใหญ่แล้ว จึงคิดว่า ชุมชนหมู่ใหญ่นี้นั่งเต็มวิหารทั้งสิ้น วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงแสดงพระธรรมด้วยพระอุตสาหะใหญ่ แก่ชุมชนนี้แน่ อย่าเลย เราจะบอกพระอุปัชฌายะให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ ถึงชุมชนหมู่ใหญ่มาประชุมกันแล้ว จึงเข้าไปหาพระนาคิตะ. บทว่า ภนฺเต กสฺสป ความว่า สามเณรกล่าวกะ พระเถระด้วยโคตร.บทว่า เอสา ชนตา ความว่า ชุมนุมชนนั่น. บทว่า ตฺวญฺเญว ภควโต อาโรเจหิ ความว่า ได้ยินว่า สีหสามเณรเป็นผู้สนิทสนมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็พระเถระนี้อ้วน ในการที่จะลุกหรือนั่งเป็นต้น ก็อุ้ยอ้ายอืดอาด เพราะพระเถระมีร่างกายหนัก จึงดูราวกะว่า

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 105

ไม่ค่อยจะเคลื่อนไหวได้ด้วยเหตุนั้น สามเณรนี้จึงได้กระทําวัตรถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทุกเวลา เพราะเหตุนั้น พระเถระ จึงกล่าวกะสามเณรนั้นว่า แม้เธอเป็นผู้โปรดปรานของพระทศพล จึงกล่าวว่า เธอนั้นแหละ ไปกราบทูลให้ทรงทราบ ดังนี้.

    บทว่า วิหารปจฺฉายายํ ความว่า ใต้ร่มเงาพระวิหาร อธิบายว่า ในโอกาสแห่งเงา กูฏาคารหลังใหญ่แผ่ไปถึง. ได้ยินว่า กูฏาคารศาลานั้น ยาวไปทางทิศใต้ และทิศเหนือ มีมุขทางทิศตะวันออก. ด้วยเหตุนั้นเงาใหญ่จึงแผ่ไปข้างหน้าแห่งกูฏาคารศาลานั้น. แม้สีหสามเณรได้ปูอาสนะถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าที่ร่มเงาหน้าพระวิหารนั้น. ลําดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธรังสี ๖ ประการ เปล่งรัศมีออกจาก ช่องประตู และช่องหน้าต่าง เสด็จออกจากกูฏาคารศาลา เหมือนพระจันทร์เพ็ญออกจากกลีบเมฆ ฉะนั้น ประทับนั่งบน วรพุทธอาสน์ที่ปูไว้แล้ว. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จออกจากพระวิหาร ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว ใต้ร่มเงาพระวิหาร.

    ในบทว่า ปุริมานิ ภนฺเต ทิวสานิ ปุริมตรานิ นี้ ความว่า วันวาน ชื่อว่า วันก่อน วันอื่น ต่อจากวันนั้น ชื่อว่า วานซืน ก็ตั้งแต่วันนั้นทั้งหมด จัดเป็นวันก่อนๆ . บทว่า ยทคฺเค ความว่า ข้าพเจ้าอยู่ชั่วเวลาตั้งแต่วันแรก. ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าอยู่ชั่วคราว. บัดนี้ สุนักขัตตลิจฉวีบุตร เมื่อจะแสดงประมาณแห่งวันนั้น จึงกล่าวว่า ไม่นาน เพียง ๓ ปี. อีกประการหนึ่ง. บทว่า ยทคฺเค ความว่า ข้าพเจ้าอยู่ชั่วคราวไม่นาน. เพียง ๓ ปี. ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าอยู่ชั่วคราวไม่นาน เพียง ๓ ปีเท่านั้น. ได้ยินว่า สุนักขัตตลิจฉวีบุตร นี้ รับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรนนิบัติพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ ปี. สุนักขัตตลิจฉวีบุตรหมายถึง ๓ ปี

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 106

นั้น จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ปิยรูปานิ ได้แก่ น่ารัก คือ น่ายินดี. บทว่า กามูปสฺหิตานิ คือ ประกอบด้วยความยินดีในกาม. บทว่า รชนียานิ ความว่า ก่อให้เกิดราคะ.

    บทว่า โน จ โข ทิพฺพานิ สทฺทานิ ความว่า สุนักขัตตะฟังเสียงทิพย์เหล่านั้นไม่ได้ เพราะเหตุอะไร ได้ยินว่า สุนักขัตตะนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทูลขอบริกรรมทิพยจักษุ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกแก่เขา. เขาได้ปฏิบัติตามที่ทรงสอน ยังทิพยจักษุให้เกิดขึ้น เห็นรูปทั้งหลายของเทวดาทั้งหลายแล้ว คิดว่า ในสรีรสัณฐานนี้ พึงมีเสียงไพเราะ เราพึงฟังเสียงนั้นได้ อย่างไรหนอ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามถึงการบริกรรมทิพยโสต. ก็ในอดีตกาล สุนักขัตตะนี้ ตีกกหูภิกษุผู้มีศีลรูปหนึ่ง ทําให้เป็นพระหูหนวก เพราะฉะนั้น แม้เธอจะทําบริกรรม ก็ไม่สามารถบรรลุถึงทิพยโสตได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงไม่ตรัสบอกบริกรรม. เขาผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงคิดว่า พระดําริอย่างนี้ ย่อมมีแก่พระสมณโคดมแน่ว่า แม้เราก็เป็นกษัตริย์ถึงโอฏฐัทธะนี้ ก็เป็นกษัตริย์ ถ้าญาณจักเจริญแก่เขา แม้เขาก็จักเป็นสัพพัญู เพราะเหตุนั้นจึงไม่ตรัสบอกแก่เรา เพราะความริษยา. เขาถึงความเป็นคฤหัสถ์โดยลําดับ เมื่อจะบอกเนื้อความนั้นแก่ มหาลิลิจฉวี จึงกล่าวอย่างนี้.

    บทว่า เอกํสภาวิโต ความว่า มีสมาธิอันได้อบรมแล้ว ส่วนเดียว คือ ส่วนหนึ่ง อธิบายว่า อบรมเพื่อต้องการจะเห็นรูปอันเป็นทิพย์ หรือเพื่อต้องการจะได้ฟังเสียงอันเป็นทิพย์. บทว่า ติริยํ ความว่า ทิศเฉียง. บทว่า อุภยํสภาวิโต ความว่า มีสมาธิได้อบรมแล้ว ทั้งสองส่วน คือ โกฏฐาส

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 107

ทั้งสอง. บทว่า อยํ โข มหาลิ เหตุ ความว่า สมาธิที่สุนักขัตตะ อบรมแล้วส่วนเดียว เพื่อเห็นรูปทั้งหลาย อันเป็นทิพย์เท่านั้น นี้เป็นเหตุ.

    ลิจฉวีนั้นได้ฟังอรรถนี้แล้ว จึงคิดว่า ภิกษุฟังเสียงนี้ ด้วยทิพยโสต ทิพยโสต เห็นจะเป็นของสูง เป็นของมีประโยชน์ในศาสนานี้แน่ ภิกษุเหล่านั้น ประพฤติพรหมจรรย์ ๕๐ ปีบ้าง ๖๐ ปีบ้าง มิใช่น้อย เพื่อประโยชน์แก่ทิพยโสตนี้ หรือหนอ ถ้ากระไรเราพึงทูลถามเนื้อความนี้ กะพระทศพล. ต่อแต่นั้น เมื่อจะทูลถามเนื้อความนั้น จึงกราบทูลว่า เอตาสํ นูน ภนฺเต เป็นต้น. ในบทว่า สมาธิภาวนานํ นี้ สมาธินั่นเทียวื ชื่อว่า สมาธิภาวนา ความว่า ซึ่งสมาธิอันได้อบรมแล้ว ทั้งสองส่วน.

    อนึ่ง เพราะสมาธิภาวนาเหล่านั้น เป็นของนอกศาสนา ไม่เป็นไปในภายใน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงปฏิเสธสมาธิภาวนาเหล่านั้น เมื่อจะทรงแสดงประโยชน์ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า น โข มหาลิ เป็นต้น.

    บทว่า ติณฺณํ สํโยชนานํ ได้แก่ สังโยชน์เครื่องผูกพัน สามอย่าง มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น. จริงอยู่ สังโยชน์เหล่านั้น ท่านเรียกว่า สังโยชน์ เพราะเป็นเครื่องผูกพันสัตว์ทั้งหลายไว้ในรถ (คือภพ) ที่แล้วด้วยวัฏฏทุกข์. บทว่า โสตาปนฺโน โหติ ความว่า เป็นผู้ถึงกระแสแห่งมรรค. บทว่า อวินิปาตธมฺโม คือ มีอันไม่ตกไปในอบายทั้ง ๔ อย่างเป็นธรรมดา. บทว่า นิยโต คือ ผู้แน่นอนแล้ว โดยธรรมนิยาม. บทว่า สมฺโพธิปรายโน ความว่า ความตรัสรู้ กล่าวคือ มรรคเบื้องสูง ๓ อย่าง อันภิกษุนั้น พึงบรรลุเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ผู้มีความตรัสรู้ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 108

    บทว่า ตนุตฺตา ความว่า เพราะความที่กิเลส เป็นเครื่องกลุ้มรุมจิตมีน้อย และเพราะความที่การอุบัติ ในโลกไหน ในกาลใด เป็นของเบาบาง.

    บทว่า โอรมฺภาคิยานํ ความว่า สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ํา ซึ่งเป็นเครื่องผูกพันไม่ให้เกิดในภูมิสุทธาวาสชั้นสูง. คําว่า โอปปาติโก นั้น เป็นคําปฏิเสธกําเนิดที่เหลือ. ในบทเหล่านั้น บทว่า ปรินิพฺพายี คือ มีนิพพานธรรมในภพเบื้องหน้า นั่นเทียว. บทว่า อนาวตฺติธมฺโม ความว่า มีอันไม่กลับมาจากพรหมโลกนั้น มาเกิดอีกเป็นธรรมดา.

    บทว่า เจโตวิมุตฺตึ คือ จิตตวิสุทธิ. คํานั่นเป็นชื่อแห่ง อรหัตตผลจิต ซึ่งหลุดพ้นจากเครื่องผูกพัน คือ กิเลสทั้งปวง, ปัญญา คือ อรหัตตผลนั่นเทียว ซึ่งหลุดพ้นจากเครื่องผูกพันคือกิเลสทั้งปวง พึงทราบว่า ปัญญาวิมุตติ แม้ในบทว่า ปฺาวิมุตฺตึ นี้. บทว่า ทิฏเว ธมฺเม คือ ในอัตภาพนี้นั่นเอง. บทว่า สยํ คือ เอง. บทว่า อภิฺา คือรู้เฉพาะยิ่ง. บทว่า สจฺฉิกตฺวา คือกระทําให้ประจักษ์. อนึ่ง บทว่า อภิฺา สจฺฉิกตฺวา ความว่า กระทําให้แจ้งด้วยอภิญญา คือด้วยญาณอันละเอียดอย่างยิ่ง ดังนี้ก็มี. บทว่า อุปสมฺปชฺช คือ บรรลุแล้ว ได้แก่ ได้รับแล้ว.

    เจ้าลิจฉวีได้ฟังอรรถนี้แล้ว จึงคิดว่า ธรรมอันประเสริฐอันใครๆ ไม่อาจจะบรรลุได้เหมือนนกบินบ้าง เหมือนเหี้ยคลานไปด้วยอกบ้าง สําหรับภิกษุบรรลุพระธรรมนี้ จะพึงมีข้อปฏิบัติในส่วนเบื้องต้นแน่ เราจะทูลถามถึงพระธรรมนั้นก่อน. แต่นั้น เมื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลว่า อตฺถิ ปน ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น. บทว่า อฏงฺคิโก ความว่า มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เหมือนดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ และเหมือนบ้านประกอบด้วยตระกูล ๘ จึงชื่อว่า ประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมดามรรคอื่นจากองค์ไม่มี. ด้วยเหตุนั้นเทียว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏิ ฯเปฯ สมฺมาสมาธิ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 109

    ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาทิฏฐิ มีลักษณะเห็นชอบ. สัมมาสังกัปปะ มีลักษณะน้อมนึกชอบ. สัมมาวาจา มีลักษณะใคร่ครวญชอบ. สัมมากัมมันตะ มีลักษณะให้ตั้งมั่นชอบ. สัมมาอาชีวะ มีลักษณะให้ผ่องแผ้วชอบ. สัมมาวายามะ มีลักษณะประคองชอบ. สัมมาสติ มีลักษณะเข้าไปตั้งอยู่ชอบ. สัมมาสมาธิ มีลักษณะตั้งมั่นชอบ. ในมรรคมีองค์ ๘ เหล่านั้น แต่ละองค์มีกิจ ๓ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ ย่อมละมิจฉาทิฏฐิพร้อมกับกิเลสอันเป็นข้าศึกแก่ตน แม้เหล่าอื่นก่อน ย่อมทํานิโรธให้เป็นอารมณ์ และเห็นแจ้งซึ่งสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย เพราะไม่ลุ่มหลงงมงาย ด้วยสามารถกําจัดโมหะอันปกปิดความเห็นชอบนั้น. ธรรมทั้งหลาย แม้มีสัมมาสังกัปปะ เป็นต้น ย่อมละมิจฉาสังกัปปะ เป็นต้น และทํานิโรธให้เป็นอารมณ์ เหมือนอย่างนั้น. ก็ในที่นี้โดยพิเศษ สัมมาสังกัปปะ ย่อมน้อมนึกถึงสหชาตธรรมทั้งหลาย สัมมาวาจา ย่อมพิเคราะห์โดยชอบ สัมมากัมมันตะ ย่อมให้ตั้งมั่นโดยชอบ สัมมาอาชีวะ ย่อมให้ผ่องใสโดยชอบ สัมมาวายามะ ย่อมประคองโดยชอบ สัมมาสติ ย่อมให้เข้าไปตั้งอยู่โดยชอบ สัมมาสมาธิ ย่อมตั้งใจโดยชอบ.

    อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาสัมมาทิฏฐินั้น ในส่วนบุพพภาคมีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน ในขณะแห่งมรรคมีขณะเดียว มีอารมณ์เดียว แต่โดยกิจย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง มีญาณในทุกข์เป็นต้น ธรรมทั้งหลายแม้มีสัมมาสังกัปปะ เป็นต้น ในบุพพภาคมีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน ในขณะแห่งมรรคมีขณะเดียว มีอารมณ์เดียว. ในธรรมเหล่านั้น สัมมาสังกัปปะโดยกิจย่อมได้ชื่อ ๓ อย่าง มีเนกขัมมสังกัปปะ เป็นต้น. ธรรม ๓ อย่าง มีสัมมาวาจา เป็นต้น เป็นวิรัติบ้าง เป็นเจตนาบ้าง แต่ในขณะแห่งมรรคเป็นวิรัติอย่างเดียว. สองอย่างแม้นี้คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ โดยกิจย่อมได้ชื่อ ๔

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 110

อย่างด้วยอํานาจสัมมัปปธาน และสติปัฏฐาน. ส่วนสัมมาสมาธิในบุพพภาคก็ดี ในขณะแห่งมรรคก็ดี ย่อมเป็นสัมมาสมาธิอย่างเดียว.

    ในธรรม ๘ อย่างนี้ สัมมาทิฏฐิ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงก่อน เพราะความที่สัมมาทิฏฐิเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่พระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน. ก็ปัญญานี้ท่านกล่าวว่า ปัญญาปัชโชตะ และปัญญาสัตถะ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจร จึงกําจัดความมืด คืออวิชชาด้วยสัมมาทิฏฐิ กล่าวคือ วิปัสสนาญาณในบุพพภาคนั้น ฆ่าโจร คือ กิเลส บรรลุนิพพานด้วยเขมะ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาทิฏฐิก่อน เพราะความที่สัมมาทิฏฐิ เป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่พระโยคี ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน.

    ก็สัมมาสังกัปปะมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสไว้ในลําดับแห่งสัมมาทิฏฐินั้น. เหมือนเหรัญญิกเอามือพลิกไปพลิกมา มองดูกหาปณะด้วยตา ย่อมรู้ว่า กหาปณะนี้ปลอมนี้แท้ ฉันใด แม้พระโยคาวจรก็ฉันนั้น ในบุพภาคตรึกตรองด้วยวิตกมองดูด้วยวิปัสสนาปัญญา ย่อมรู้ว่าธรรมเหล่านี้เป็นกามาวจร เหล่านี้เป็นรูปาวจรเป็นต้น. ก็หรือเหมือนช่างถาก ถากไม้ใหญ่ ที่คนจับปลายพลิกไปพลิกมา ด้วยขวาน ย่อมนําไปใช้การงานได้ ฉันใด พระโยคาวจรกําหนดธรรมทั้งหลาย ที่วิตกตรึกตรองให้แล้วโดยนัยว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาวจร เหล่านี้เป็นรูปาวจรเป็นต้น ด้วยปัญญา ย่อมนําไปใช้การงานได้ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ก็สัมมาสังกัปปะมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ ในลําดับแห่งสัมมาทิฏฐินั้น ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 111

    สัมมาสังกัปปะนี้นั้น ก็มีอุปการะแม้แก่ สัมมาวาจา เหมือนมีอุปการะแก่ สัมมาทิฏฐิ ฉะนั้น. เหมือนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า คหบดีตรึกตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจาในภายหลัง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส สัมมาวาจาในลําดับแห่ง สัมมาสังกัปปะนั้น.

    ก็เพราะคนทั้งหลาย ตระเตรียมด้วยวาจาก่อนว่า เราจักทําการงานนี้ และการงานนี้ แล้วจึงประกอบการงานทั้งหลายในโลก เพราะฉะนั้น วาจาจึงเป็นอุปการะแก่กายกรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส สัมมากัมมันตะ ในลําดับแห่งสัมมาวาจา

    ก็ อาชีวัฏฐมกศีล ย่อมบริบูรณ์แก่บุคคลผู้ละวจีทุจริต ๔ อย่าง และกายทุจริต ๓ อย่าง บําเพ็ญสุจริตทั้ง ๒ อย่างเท่านั้น หาบริบูรณ์แก่บุคคลนอกนี้ไม่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส สัมมาอาชีวะ ในลําดับแห่งสุจริตทั้ง ๒ นั้น.

    อนึ่ง บุคคลมีอาชีวะบริสุทธิ์อย่างนี้ ทําความยินดีด้วยเหตุเพียงนี้ว่า อาชีวะของเราบริสุทธิ์แล้ว ไม่ควรอยู่อย่างคนหลับ หรือประมาท ดังนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาวายามะ ในลําดับแห่งสัมมาอาชีวะนั้น เพื่อทรงแสดงว่า บุคคลควรปรารภความเพียรนี้ในทุกอิริยาบถ.

    แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สัมมาสติ ในลําดับแห่งสัมมาวายามะนั้น เพื่อทรงแสดงว่า สติอันดํารงมั่นดีแล้ว ในวัตถุทั้ง ๔ มีกาย เป็นต้น แม้บุคคลผู้ปรารภความเพียรแล้วก็ควรทํา.

    ก็เพราะสติที่ตั้งมั่นดีแล้วอย่างนี้ ย่อมอํานวยคติแห่งธรรมทั้งหลาย ที่อุปการะแก่สมาธิเพียงพอ เพื่อจิตมั่นในเอกัคคตารมณ์ เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงสัมมาสมาธิในลําดับแห่งสัมมาสติ.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 112

    บทว่า เอเตสํ ธมฺมานํ สจฺฉิกิริยาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การ กระทําให้ประจักษ์ซึ่งธรรมมีโสดาปัตติผล เป็นต้นเหล่านั้น.

    บทว่า เอกมิทาหํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภเพราะเหตุอะไร. ได้ยินว่าพระราชานี้มีลัทธิอย่างนี้ว่า รูปเป็นอัตตา. ด้วยเหตุนั้น จิตของ พระราชานั้นจึงไม่น้อมไปในเทศนา. ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง ทรงปรารภถึงข้อนี้ เพื่อทรงนํามาซึ่งเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อทรงทําให้แจ้งซึ่ง ลัทธิของพระราชานั้น. ในเรื่องนั้นมีเนื้อความโดยย่อดังนี้. สมัยหนึ่ง เราอยู่ ในโฆษิตาราม ครั้งนั้นบรรพชิตสองรูปนั้น ถามเราอย่างนี้. ลําดับนั้นเราจึง แสดงถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า แก่บรรพชิตเหล่านั้น เมื่อจะแสดงตันติธรรม จึงได้กล่าวข้อนี้ว่า ผู้มีอายุ กุลบุตรผู้ชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยศรัทธา บวชในศาสนาของพระศาสดา เห็นปานนี้ บําเพ็ญศีล ๓ อย่าง บรรลุถึง ฌานมีปฐมฌานเป็นต้น ดํารงอยู่อย่างนี้ พึงกล่าวคําเป็นต้นว่า ชีพก็อันนั้น คํานั้นสมควรแก่กุลบุตรนั้นหรือหนอ. ลําดับนั้น ครั้นบรรพชิตทั้ง สองนั้นกล่าวว่า สมควรก็เราแลได้คัดค้านวาทะนั้นว่า ผู้มีอายุ ความข้อนี้ เรารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ดังนั้นแล เราจึงไม่กล่าวอย่างนี้ แล้วแสดงพระขีณาสพยิ่งๆ ขึ้นไป บอกแก่กุลบุตรนี้ว่า ไม่ควรกล่าวอย่างนี้ บรรพชิตเหล่านั้น ฟังคําพูดของเราแล้ว เป็นผู้มีใจยินดี ดังนี้.

    ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาแม้นั้นก็มีใจยินดี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณ์พจน์นี้แล้ว โอฏฐัทธลิจฉวี มีใจยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

    อรรถกถามหาลิสูตร ในอรรกถาทีฆนิกาย ชื่อ สุมังคลวิลาสินี จบด้วยประการฉะนี้

    จบอรรถกถามหาลิสูตรที่ ๖