พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. กูฏทันตสูตร เรื่องกูฏทันตพราหมณ์

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 40

๕. กูฏทันตสูตร

เรื่องกูฏทันตพราหมณ์

[๑๙๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึงพราหมณคามของ ชาวมคธชื่อ ขานุมัตตะ ได้ยินว่า ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะ สมัยนั้นพราหมณ์กูฏทันตะ อยู่ครองบ้านขานุมัตตะ อันคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติ อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ จอมเสนา พระนามว่า พิมพิสาร พระราชทานปูนบําเหน็จ ให้เป็นส่วนพรหมไทย

มหายัญของกูฏทันตพราหมณ์

[๒๐๐] ก็ในสมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้เตรียมมหายัญ โคผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคเมีย ๗๐๐ ตัว แพะ ๗๐๐ ตัว และแกะ ๗๐๐ ตัว ถูกนําเข้าไปผูกไว้ที่หลัก เพื่อบูชายัญ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านขานุมัตตะ ได้สดับว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านขานุมัตตะ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกาใกล้ บ้านขานุมัตตะ เกียรติศัพท์อันงามของพระสมณโคดม พระองค์นั้นขจรไป แล้วอย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 41

พระพุทธคุณ

แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบ ด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกพระธรรม พระตถาคตองค์นั้น ทรงทําโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งด้วยพระปัญญา อันยิ่งของพระองค์แล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล้ว ดังนี้. ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะ ออกจากบ้านขานุมัตตะเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา.

[๒๐๑] สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ขึ้นนอนกลางวันในปราสาทชั้นบน ได้เห็นพราหมณ์ และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะ ออกจากบ้านขานุมัตตะรวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกที่ปรึกษามาถามว่า ท่านที่ปรึกษา พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะ ออกจากบ้านขานุมัตตะรวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา ทําไมกัน. ที่ปรึกษาบอกว่า เรื่องมีอยู่ ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านขานุมัตตะ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะ เกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ ฟุ้งขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นอรหันต์ ตรัสรู้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 42

เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกพระธรรม พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น พากันเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมพระองค์นั้น. ลําดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้เกิดความคิดเช่นนี้ว่า ก็เราได้สดับข่าวนี้มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แต่เราไม่ทราบ และเราก็ปรารถนาจะบูชามหายัญ ถ้ากระไร เราควรเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ทูลถามยัญ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖. ลําดับนั้น พราหมณ์กูฎทันตะได้เรียกที่ปรึกษามาสั่งว่า ท่านที่ปรึกษา ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหาพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะ แล้วบอกเขาอย่างนี้ว่าท่านทั้งหลาย พราหมณ์กูฏทันตะสั่งมาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อนแม้พราหมณ์กูฏทันตะก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย. ที่ปรึกษารับคําแล้วไปหาพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะ แล้วบอกว่า ท่านทั้งหลายพราหมณ์กูฏทันตะสั่งมาว่าขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน แม้พราหมณ์กูฏทันตะก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย.

[๒๐๒] สมัยนั้น พราหมณ์หลายร้อยคนพักอยู่ในบ้านขานุมัตตะด้วยหวังว่า พวกเราจักบริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ. พราหมณ์เหล่านั้นได้ทราบว่า พราหมณ์กูฏทันตะจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะแล้วถามว่า ได้ทราบว่า ท่านจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จริงหรือ. กูฏทันตะ เราคิดว่าจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จริง. พราหมณ์ อย่าเลยท่านกูฏทันตะ ท่านไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าท่านไปเฝ้า ท่านจะเสียเกียรติยศ เกียรติยศของพระสมณโคดมจักรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่าง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 43

หากควรจะมาหาท่าน อนึ่ง ท่านเป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคน ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วย การกล่าวอ้างถึงชาติได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน อนึ่ง ท่านเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีเครื่องใช้สอยอันน่าปลื้มใจมาก มีทองและเงินมาก อนึ่ง ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจํามนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาส เป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชํานาญในคัมภีร์โลกายตะและมหาปุริสลักษณะ อนึ่ง ท่านมีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีฉวีวรรณคล้ายพรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม น่าดูน่าชมไม่น้อย อนึ่ง ท่านเป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน อนึ่ง ท่านเป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีสําเนียงไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย หาโทษมิได้ ให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ชัด อนึ่ง ท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของชนหมู่มาก สอนมนต์มาณพถึง ๓๐๐ พวกมาณพเป็นอันมากต่างทิศต่างชนบท ผู้ต้องการมนต์จะเรียนมนต์ในสํานักของท่านพากันมา อนึ่ง ท่านเป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลําดับ ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม และบวชแต่ยังหนุ่ม อนึ่ง ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ จอมเสนา พระนามว่าพิมพิสาร ทรงสักการะเคารพนับถือบูชา นอบน้อม อนึ่ง ท่านเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติ สักการะ เคารพนับถือบูชานอบน้อม อนึ่ง ท่านครองบ้านขานุมัตตะอันคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้าด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้ากรุงมคธ ทรงพระนามว่า เสนิยะ พิมพิสาร พระราชทานปูนบําเหน็จให้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 44

เป็นส่วนพรหมไทย เพราะเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดมพระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน.

[๒๐๓] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กูฏทันตะจึงได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นขอจงฟังข้าพเจ้าบ้าง เรานี้แหละควรไปเฝ้าพระสมณโคดมพระองค์นั้น พระสมณโคดมไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา เพราะได้ยินว่า ท่านเป็นอุโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคน ไม่มีใครคัดค้านติเตียน ด้วยการกล่าวอ้างถึงพระชาติ เพราะเหตุนี้แหละ พระโคดมจึงไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา ที่ถูกเรานี้แหละ ควรไปเฝ้าพระองค์. ได้ยินว่า พระสมณโคดมทรงละพระญาติหมู่ใหญ่ ออกผนวชแล้วพระองค์ทรงสละเงินและทองเป็นอันมาก ทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในอากาศออกผนวช พระองค์กําลังรุ่น มีพระเกศาดําสนิท ยังหนุ่มแน่นตั้งอยู่ในปฐมวัย เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระมารดาและพระบิดา ไม่ทรงปรารถนาให้ผนวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ พระองค์ได้ทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต พระองค์มีพระรูปงามน่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยพระฉวีวรรณ ผุดผ่องยิ่งนัก มีพระฉวีวรรณคล้ายพรหม มีพระสรีระคล้ายพรหม น่าดู น่าชม มิใช่น้อย พระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลประเสริฐ มีศีลเป็นกุศล ประกอบด้วยศีลเป็นกุศล พระองค์มีพระวาจาไพเราะ มีพระสําเนียงไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย หาโทษมิได้ ให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ชัดพระองค์เป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก พระองค์สิ้นกามราคะแล้ว เลิกประดับตกแต่ง พระองค์เป็นกรรมวาที เป็นกิริย-

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 45

วาที ไม่ทรงมุ่งร้ายต่อพวกพราหมณ์ พระองค์ทรงผนวชจากสกุลสูง คือสกุลกษัตริย์อันไม่เจือปน พระองค์ผนวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคสมบัติมาก ชนต่างรัฐต่างชนบทพากันมาทูลถามปัญหากะพระองค์เทวดาหลายพันมอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะ เกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ฟุ้งขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกพระธรรม พระองค์ทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ พระองค์มีปกติกล่าวเชื้อเชิญ เจรจาผูกไมตรี ช่างปราศรัย มีพระพักตร์ไม่สยิ้ว มีพระพักตร์เบิกบาน มีปกติตรัสก่อน พระองค์เป็นผู้อันบริษัท ๔ สักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก เลื่อมใสในพระองค์ยิ่งนัก พระองค์ทรงพํานักอยู่ในบ้านหรือนิคมใด บ้านหรือนิคมนั้น อมนุษย์ไม่เบียดเบียนมนุษย์ พระองค์เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ และเป็นคณาจารย์ ได้รับยกย่องว่า เป็นยอดของเจ้าลัทธิเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านี้เรืองยศด้วยประกาศใดๆ แต่พระสมณโคดม ไม่เรืองยศอย่างนั้น ที่แท้พระสมณโคดม เรืองยศด้วย วิชชา และจรณสมบัติ อันยอดเยี่ยมพระเจ้ากรุงมคธทรงพระนามว่า เสนิยะ พิมพิสาร พร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริพารและอํามาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะพระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริพารและอํามาตย์ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะ พราหมณ์โปกขรสาติพร้อมทั้งบุตรและภริยา ทั้งบริวารและอํามาตย์ มอบชีวิตถึงพระองค์

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 46

เป็นสรณะ พระองค์เป็นผู้อันพระเจ้ากรุงมคธ ทรงพระนามว่า เสนิยะพิมพิสาร ทรงสักการะ เคารพนับถือ บูชา นอบน้อม พระองค์เป็นผู้อันพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสักการะเคารพนับถือ บูชา นอบน้อม พระองค์เป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติ สักการะ เคารพนับถือ บูชานอบน้อม พระองค์เสด็จถึงบ้านขานุมัตตะ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกาใกล้บ้านขานุมัตตะ สมณหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มาสู่เขตบ้านของเรา เหล่านั้นจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกซึ่งเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม เพราะเหตุที่พระสมณโคดมเสด็จถึงบ้านขานุมัตตะ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกที่เราควรสักการะ เคารพนับถือ บูชา นอบน้อม นี้แหละ พระองค์จึงไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา ที่ถูกเราต่างหาก ควรไปเฝ้าพระองค์ ข้าพเจ้าทราบพระคุณของพระโคดมเพียงเท่านี้ แต่พระโคดมมิใช่มีพระคุณเพียงเท่านี้ ความจริง พระองค์มีพระคุณหาประมาณมิได้.

    [๒๐๔] เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะ กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่าท่านกูฏทันตะ กล่าวชมพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากพระองค์จะประทับอยู่ไกลจากที่นี้ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ก็ควรแท้ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเฝ้า แม้ต้องนําเสบียงไปก็ควร. พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราทั้งหมดจักเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม. ลําดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ พร้อมด้วยคณะพราหมณ์ผู้ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายพราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านขานุมัตตะ บางพวกก็ถวาย

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 47

บังคม บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่างพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พราหมณ์กูฏทันตะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ส่วนข้าพระองค์ไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า.

ยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

[๒๐๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อน พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟังจงตั้งใจให้ดีเราจักบอก. เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะทูลรับแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อน พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยอันน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางบริบูรณ์. ดูก่อน พราหมณ์ ครั้งนั้นพระเจ้ามหาวิชิตราช ได้เสด็จเข้าไปสู่ที่ลับเร้นอยู่ ได้เกิดพระปริวิตกอย่างนี้ว่า เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชนะปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไร เราพึงบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์ และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. ดูก่อน พราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งให้เรียก พราหมณ์ปุโรหิตมาแล้วตรัสว่า วันนี้เราได้เข้าสู่ที่ลับเร้นอยู่ ได้เกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชนะปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไร เราพึงบูชามหายัญที่จะเป็นไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. ดูก่อน พราหมณ์

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 48

เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน.

    [๒๐๖] ดูก่อน พราหมณ์ เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดี ทําร้ายในหนทางเปลี่ยวก็ดี ยังปรากฏอยู่. พระองค์จะโปรดยกภาษีอากร ในเมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน ด้วยเหตุที่ยกเสียนั้น จะพึงชื่อว่า ทรงกระทําการมิสมควร. บางคราวพระองค์จะทรงดําริอย่างนี้ว่า เราจักปราบปรามเสี้ยนหนาม คือโจรด้วยการประหาร ด้วยการจองจํา ด้วยการปรับไหม ด้วยการตําหนิ หรือเนรเทศ. อันการปราบปรามด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ. เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือ จากถูกกําจัดจักยังมีอยู่ ภายหลังมันก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์. แต่ว่าการปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรนั้น จะชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะอาศัยว่าการดังต่อไปนี้

    พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในกสิกรรม และโครักขกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูก และข้าวกินให้แก่พลเมืองเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร พลเมืองเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร ข้าราชการเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ขยัน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยง และเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ จักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ จักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์. อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจํานวนมาก จักเกิดแก่พระองค์ บ้านเมืองก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษม

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 49

หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองจักชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก จักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่. ดูก่อน พราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคําพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ได้พระราชทานข้าวปลูก และข้าวกินแก่พลเมืองในบ้านเมือง ของพระองค์ ที่ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานเบี้ยเลี้ยง และเงินเดือนแก่ข้าราชการในเมืองของพระองค์ที่ขยัน พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ ได้เป็นผู้ขวนขวายในการงานตามหน้าที่ของตนๆ ไม่ได้เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์. อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจํานวนมาก ได้เกิดมีแล้วแก่พระองค์ บ้านเมืองได้ดํารงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่แล้ว.

    [๒๐๗] ดูก่อน พราหมณ์ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทรงรับสั่งให้ พราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้าแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ โจรที่เป็นเสี้ยนหนามนั้น เราได้ปราบปรามดีแล้ว เพราะอาศัยวิธีการของท่าน และกองพระราชทรัพย์ใหญ่ได้บังเกิดแก่เรา บ้านเมืองก็ได้ดํารงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ดูก่อน พราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ถ้าเช่นนั้น อนุยนตกษัตริย์เหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียก อนุยนตกษัตริย์เหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. อํามาตย์ราชบริพารเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 50

พระองค์ ขอพระองค์จงเรียกอํามาตย์ราชบริพารเหล่านั้น มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. พราหมณ์มหาศาลเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกพราหมณ์มหาศาลเหล่านั้น มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกคฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้น มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. ดูก่อน พราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคําปุโรหิตแล้ว ทรงเรียกอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. อนุยนตกษัตริย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงบูชายัญเถิดขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกอํามาตย์ราชบริพาร ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขต ของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแต่เราตลอดกาลนาน อํามาตย์ราชบริพารเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเราเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 51

มหาศาลเหล่านั้น กราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ. ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดํารัส ๔ เหล่านี้ จัดเป็นบริวารของยัญนั้น ดังนี้แล.

    [๒๐๘] พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ

    ๑. ทรงเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายพระมารดา และพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคน ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยการกล่าวอ้างถึงพระชาติได้

    ๒. ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพระฉวีวรรณคล้ายพรหม มีพระรูปคล้ายพรหม น่าดูน่าชมมิใช่น้อย

    ๓. ทรงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางบริบูรณ์

    ๔. ทรงมีกําลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนา มีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัยคอยปฏิบัติตามพระราชอํานาจ มีพระบรมเดชานุภาพดังว่า จะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ

    ๕. ทรงพระราชศรัทธา เป็นทายก เป็นทานบดี มิได้ปิดประตู เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกําพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบําเพ็ญพระราชกุศล

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 52

๖. ได้ทรงศึกษาทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก

๗. ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษา และภาษิตนั้นๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้

๘. ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระราชดําริอรรถ อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้.

พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ดังกล่าวมานี้. องค์ ๘ ประการ แม้เหล่านี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการฉะนี้.

[๒๐๙] พราหมณ์ปุโรหิต ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ

๑. เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคน ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนด้วยการกล่าวอ้างถึงชาติได้

๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจํามนต์รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชํานาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ

๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน

๔. เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญาเป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน.

พราหมณ์ปุโรหิต ประกอบด้วยองค์ ๔ ดังแสดงมานี้. องค์ ๔ ประการเหล่านี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการฉะนี้.

ยัญสัมปทา ๓ มีบริวาร ๑๖

[๒๑๐] ดูก่อน พราหมณ์ ลําดับนั้นแล พราหมณ์ปุโรหิต ได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราช ก่อนทรงบูชายัญว่า

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 53

    ๑. เมื่อพระองค์ทรงบูชายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติใหญ่ของเราจักหมดเปลืองดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทําความวิปฏิสารเช่นนั้น

    ๒. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติใหญ่ของเรา กําลังหมดเปลืองไปอยู่ดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทําความวิปฏิสารเช่นนั้น

    ๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติใหญ่ของเรา ได้หมดเปลืองไปแล้วดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทําความวิปฏิสารเช่นนั้น.

    ดูก่อน พราหมณ์ พรหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการดังแสดงมานี้ ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราช ก่อนทรงบูชายัญทีเดียว.

    [๒๑๑] ดูก่อน พราหมณ์ ลําดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตได้กําจัดความวิปฏิสาร ของพระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะพวกปฏิคาหกโดยอาการ ๑๐ ประการ ก่อนทรงบูชายัญ.

    ๑. พวกคนทําปาณาติบาตก็ดี พวกที่งดเว้นจากปาณาติบาตก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จําพวกที่ทําปาณาติบาต จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงปรารภเฉพาะที่งดเว้นจากปาณาติบาตเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๑๒] ๒. พวกคนที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ก็ดี พวกที่งดเว้นจากการเอาถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ในชนเหล่านั้น จําพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะที่งดเว้นจากการ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 54

ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๑๓] ๓. พวกคนที่ประพฤติผิดในกามทั้งหลายก็ดี พวกที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น จําพวกที่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้น จากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายเหล่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๑๔] ๔. พวกที่กล่าวคําเท็จก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําเท็จก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้นจําพวกที่กล่าวคําเท็จ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะ พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําเท็จเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๑๕] ๕. พวกที่กล่าวคําส่อเสียดก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําส่อเสียดก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้นจําพวกที่กล่าวคําส่อเสียด จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงปรารภเฉพาะ พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําส่อเสียดเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๑๖] ๖. พวกที่กล่าวคําหยาบก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําหยาบคาย ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้นจําพวกที่กล่าวคําหยาบจักได้รับผล เพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะ พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําหยาบเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 55

    [๒๑๗] ๗. พวกที่กล่าวคําเพ้อเจ้อก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําเพ้อเจ้อก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น จําพวกที่กล่าวคําเพ้อเจ้อ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง พระองค์ทรงปรารภเฉพาะ พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคําเพ้อเจ้อเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๑๘] ๘. พวกที่โลภอยากได้ของของผู้อื่นก็ดี พวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้นจําพวกที่โลภอยากได้ของผู้อื่น จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะ พวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นเท่านั้น แล้วทรงบูชายัญ ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๑๙] ๙. พวกที่มีจิตพยาบาทก็ดี พวกที่มีจิตไม่พยาบาทก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้นจําพวกที่มีจิตพยาบาท จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะ พวกที่มีจิตไม่พยาบาทเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๒๐] ๑๐. พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ดี พวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้นจําพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะ พวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด. ดูก่อน พราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้กําจัดความวิปฏิสาร ของพระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะพวกปฏิคาหก โดยอาการ ๑๐ ประการ ดังแสดงมานี้แล ก่อนทรงบูชาทีเดียว

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 56

    [๒๒๑] ดูก่อน พราหมณ์ ลําดับนั้นพราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราฃ ซึ่งทรงบูชามหายัญอยู่ ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ.

    ๑. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แต่เฉพาะพระองค์. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ก็ได้ทรงเรียกเหล่า อนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท มาทรงปรึกษาแล้ว แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๒๒] ๒. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงชักชวนเหล่าอํามาตย์ราชบริพาร ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แต่เฉพาะพระองค์ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ก็ได้ทรงเรียกเหล่าอํามาตย์ราชบริพาร ซึ่งเป็นชาวนิคม และชาวชนบท มาทรงปรึกษาแล้ว แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๓. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ก็มิได้ชักชวนเหล่าพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนี้ แต่เฉพาะพระองค์ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าว

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 57

พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคม และชาวชนบท มาทรงปรึกษาแล้ว แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๔. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงชักชวนเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคม และชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น เฉพาะพระองค์. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคม และชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๒๓] ๕. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้าวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มิได้มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคน เป็นผู้อันใครๆ คัดค้านติเตียนด้วยการกล่าวอ้างถึงพระชาติได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคนไม่มีใครคัดค้านติเตียน ด้วยการกล่าวอ้างถึงพระชาติได้. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 58

    [๒๒๔] ๖. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มีพระรูปไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส ไม่ทรงประกอบด้วยพระฉวีวรรณอันผุดผ่อง มิได้ทรงมีพระฉวีวรรณคล้ายพรหม มิได้ทรงมีพระรูปคล้ายพรหม ไม่น่าดู ไม่น่าชมเสียเลย และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้ โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ทรงประกอบด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ทรงมีพระฉวีวรรณคล้ายพรหม ทรงมีพระรูปคล้ายพรหม น่าดู น่าชมมิใช่น้อย แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๗. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 59

    ๘. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์มีกําลัง มิได้ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัย คอยปฏิบัติตามคําสั่ง มิได้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพ ดังว่าจะเผาผลาญศัตรูได้ ด้วยพระราชอิสริยยศ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกําลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัย คอยปฏิบัติตามคําสั่ง ทรงมีพระบรมเดชานุภาพ ดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ ด้วยพระราชอิสริยยศ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๙. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีศรัทธา มิได้ทรงเป็นทายก มิได้ทรงเป็นทานบดี มีประตูปิด มิได้เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณะและพราหมณ์ คนกําพร้า คนเดินทางวณิพกยาจก มิได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศล และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีศรัทธา ทรงเป็นทายก เป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณะและพราหมณ์ คนกําพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 60

    ๑๐. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะพึงกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงศึกษา ทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้ทรงศึกษา ทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์ จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๑๑. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษา และภาษิตนั้นๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ ที่ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษา และภาษิตนั้นๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์ จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๑๒. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะพึงกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นบัณฑิต มิได้ทรงเฉียบแหลม มิได้ทรงพระปรีชา มิได้สามารถจะทรงดําริถึง อรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต ทรงเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถที่จะทรงดําริถึง อรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันได้

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 61

แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชาทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๒๕] ๑๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะพึงกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ มิได้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มิได้มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคน เป็นผู้อันใครๆ กล่าวคัดค้านติเตียนไม่ได้ ด้วยการกล่าวอ้างถึงชาติ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นอุภโตสุชาต มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วคน ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ ด้วยการกล่าวอ้างถึงชาติ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    [๒๒๖] ๑๔. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ มิได้เป็นผู้คงแก่เรียน มิได้ทรงจํามนต์ มิได้รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ มิได้เป็นผู้เข้าใจตัวบท มิได้เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ มิได้ชํานาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจํามนต์รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจ

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 62

ไวยากรณ์ ชํานาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงบันเทิง ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๑๕. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้มีศีล มิได้มีศีลยั่งยืน มิได้ประกอบด้วยศีลยั่งยืน และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงบันเทิง ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.

    ๑๖. เมื่อพระองค์กําลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆ จะพึงกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ มิได้เป็นบัณฑิต มิได้เป็นผู้เฉียบแหลม มิได้มีปัญญา มิได้เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นบัณฑิต เป็นผู้เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงบันเทิง ทรงทําพระทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด. ดูก่อน พราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้ยังพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้ทรงบูชามหายัญอยู่ ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรงร่าเริงโดยอาการ ๑๖ ประการ ดังแสดงมานี้แล.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 63

    [๒๒๗] ดูก่อน พราหมณ์ในยัญนั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทําเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามา เพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่นๆ แม้ชนเหล่าใดที่เป็นทาส เป็นคนใช้เป็นกรรมกร ของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น ชนเหล่านั้น ก็มิได้ถูกอาญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม มิได้มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้กระทําการงาน. ที่จริงคนที่ปรารถนาจะกระทําจึงกระทํา ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องกระทํา. ปรารถนาจะกระทําการงานใด ก็กระทําการงานนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทําการงานใด ไม่ต้องกระทําการงานนั้น และยัญนั้น ได้สําเร็จแล้วด้วยลําพัง เนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเท่านั้น.

    [๒๒๘] ดูก่อน พราหมณ์ ลําดับนั้นแล พวกอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พวกอํามาตย์ราชบริพาร ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พวกพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พวกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ต่างก็พากันนําทรัพย์มากมายมาเข้าไปเฝ้า พระเจ้ามหาวิชิตราช กราบทูลว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าได้นําทรัพย์มากมายนี้ มาถวายเฉพาะพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับเถิด พระเจ้ามหาวิชิตราชตรัสว่า อย่าเลยพ่อ แม้ทรัพย์เป็นอันมากนี้ของข้าพเจ้า ก็ได้รวบรวมมาแล้ว จากภาษีอากรที่เป็นธรรม ทรัพย์ที่ท่านนํามานั้น จงเป็นของพวกท่านเถิด ก็และท่านจงนําทรัพย์จากที่นี้เพิ่มไปอีก อนุยนตกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น ถูกพระราชาปฏิเสธ ต่างพากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง คิดร่วมกันอย่างนี้ว่า การที่พวกเราจะรับทรัพย์เหล่านี้คืนไปบ้านของตนๆ อีกนั้น ไม่เป็นการสมควรแก่พวกเราเลย พระเจ้ามหาวิชิตราชกําลังทรงบูชามหายัญอยู่ เอาเถอะ พวกเรามาบูชายัญตามเสด็จพระองค์บ้าง.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 64

[๒๒๙] ดูก่อน พราหมณ์ ลําดับนั้นพวกอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ได้เริ่มบําเพ็ญทานทางด้านบูรพาแห่งหลุมยัญ พวกอํามาตย์ราชบริพาร ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ได้เริ่มบําเพ็ญทานทางด้านทักษิณแห่งหลุมยัญ. พวกพราหมณ์มหาศาลซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ได้เริ่มบําเพ็ญทานทางด้านปัจฉิมแห่งหลุมยัญ พวกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ได้เริ่มบําเพ็ญทานทางด้านอุดรแห่งหลุมยัญ. ดูก่อนพราหมณ์ แม้ในยัญของอนุยนตกษัตริย์ เป็นต้นแม้เหล่านั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทําเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามา เพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น. คนเหล่าใดที่เป็นทาสเป็นคนใช้ เป็นกรรมกร ของพวกอนุยนตกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น แม้คนเหล่านั้น ก็มิได้ถูกอาชญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม มิได้มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้ทําการงาน. ที่จริง คนที่ปรารถนาจะกระทําจึงกระทํา ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องกระทํา. ปรารถนาจะกระทําการงานใด ก็กระทําการงานนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทําการงานใด ก็ไม่ต้องกระทําการงานนั้น. ยัญนั้นได้สําเร็จแล้ว ด้วยลําพังเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูก่อน พราหมณ์ สมัยนั้นเราได้เป็นพราหมณ์ปุโรหิต ผู้อํานวยการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น.

นิตยทาน

[๒๓๐] พราหมณ์กูฏทันตะทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้มีอยู่หรือ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อน พราหมณ์ มีอยู่ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้.

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 65

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้เป็นไฉน. ดูก่อน พราหมณ์ นิตยทาน อันเป็นอนุกูลยัญอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล ก็ยัญนี้แล เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้นิตยทาน อันเป็นอนุกูลยัญนั้น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้. ดูก่อน พราหมณ์ พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมรรคก็ดีย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะในยัญนั้น ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับไสคอกันบ้าง ฉะนั้น พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมรรคก็ดี ย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ดูก่อน พราหมณ์ ส่วนนิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมรรคก็ดี ย่อมเข้าไปสู่ยัญเช่นนั้นโดยแท้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะในยัญนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้ การจับไสคอกันเลย ฉะนั้น พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมรรคก็ดี ย่อมเข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ดูก่อน พราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้นิตยทาน อันเป็นอนุกูลยัญนั้น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 66

การสร้างวิหารเพื่อพระสงฆ์ผู้มาแต่ ๔ ทิศ

[๒๓๒] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญก็ยัญอย่างอื่น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ และกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้ ยังมีอยู่หรือ. ดูก่อน พราหมณ์ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า การตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ และกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้มีอยู่. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน. ดูก่อน พราหมณ์ ยัญของบุคคลที่สร้างวิหาร อุทิศแก่พระสงฆ์ผู้มาแต่ ๔ ทิศนี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ และกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้.

สรณคมน์

[๒๓๓] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ และกว่าวิหารทานนี้ยังมีอยู่หรือ. มีอยู่ พราหมณ์. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญก็ยัญนั้นเป็นไฉน. ดูก่อน พราหมณ์ ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ดูก่อน พราหมณ์ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช่ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ และกว่าวิหารทานนี้.

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 67

การสมาทานศีล ๕

[๒๓๔] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยมาก มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์เหล่านี้ ยังมีอยู่หรือ. มีอยู่ พราหมณ์.ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน. ดูก่อน พราหมณ์ การที่บุคคลเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบททั้งหลาย คือ งดเว้นจากปาณาติบาตงดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากมุสาวาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อน พราหมณ์นี้แหละ เป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้.

[๒๓๕] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่าสิกขาบทเหล่านี้ ยังมีอยู่หรือ. มีอยู่พราหมณ์. ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่าสิกขาบทเหล่านี้. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 68

น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ กว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่าสิกขาบทเหล่านี้ เป็นไฉน. ดูก่อน พราหมณ์ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ [พึงดูพิสดารในสามัญญผลสูตร] ฯลฯ ดูก่อน พราหมณ์ ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยประการนี้แล. ภิกษุเข้าถึงปฐมฌานอยู่. ดูก่อน พราหมณ์ ยัญนี้แล ใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า ยัญทั้งหลายข้างต้น. ทุติยฌาน. ตติยฌาน. เธอเข้าถึงจตุตถฌานอยู่. ดูก่อน พราหมณ์ ยัญแม้นี้แล ใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญทั้งหลายข้างต้น. เธอย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อญาณทัสนะย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทําได้ทําเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูก่อน พราหมณ์ ยัญนี้แลใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อนๆ ดูก่อน พราหมณ์ ยัญสมบัติอื่นที่ดีกว่า หรือประณีตกว่า กว่ายัญสมบัตินี้ไม่มี.

กูฏทันตพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

[๒๓๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว กูฏทันตพราหมณ์ได้กราบทูลคํานี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 69

บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรม โดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ ทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงจําข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะอย่างมอบกายถวายชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ได้ปล่อยโคผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๗๐๐ ตัวลูกโคเมีย ๗๐๐ ตัว แพะ ๗๐๐ ตัว แกะ ๗๐๐ ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้น จงได้กินหญ้าเขียวสด จงได้ดื่มน้ำเย็น ขอลมที่เย็นจงพัดถูกสัตว์เหล่านั้นเถิด.

กูฏทันตพราหมณ์บรรลุโสดาปัตติผล

[๒๓๗] ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอนุปุพพิกถา แก่กูฏทันตพราหมณ์ คือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ําช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์การออกจากกาม เมื่อทรงทราบว่ากูฏทันตพราหมณ์ มีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตร่าเริง มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศ พระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดกูฏทันตพราหมณ์ เปรียบเหมือนผ้าที่สะอาด ปราศจากสีดํา ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ฉันใด กูฏทันตพราหมณ์ฉันนั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั้นนั่นเอง. ลําดับนั้น กูฏทันตพราหมณ์เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งทราบถึงธรรม

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 70

ทั่วถึงแล้ว ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคําสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ กับพระภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ. เมื่อกูฏทันตพราหมณ์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทําประทักษิณหลีกไป.

    [๒๓๘] ครั้งนั้น พอถึงเวลารุ่งเช้า กูฏทันตพราหมณ์ได้สั่งให้คนแต่งของเคี้ยว และของฉันอย่างประณีต ในสถานที่บูชายัญของตน แล้วให้คนไปกราบทูล เวลาเสด็จแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ลําดับนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จไปสู่ สถานที่บูชายัญ ของกูฏทันตพราหมณ์ ครั้นเสด็จไปถึงแล้วประทับนั่งบน อาสนะที่เขาปูไว้แล้ว. ลําดับนั้นแล กูฏทันตพราหมณ์ได้อังคาสพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนําเพียงพอ ด้วยของขบเคี้ยว และของฉันอันประณีต ด้วยมือของตนเอง. เมื่อทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เสวยเสร็จแล้ว ทรงลดพระหัตถ์ลงจากบาตรแล้ว จึงได้ถือเอาอาสนะที่ต่ําแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยังกูฏทันตพราหมณ์ ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นั้นแล ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป.

    จบกูฏทันตสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 71

อรรถกถากูฏทันตสูตร

กูฏทันตสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํฯ เปฯ มคเธสูติ กูฏทนฺตสุตฺตํ.

ใน กูฏทันตสูตร นั้น มีการพรรณนาตามลําดับบท ดังต่อไปนี้.

บทว่า ในมคธชนบท ความว่า ราชกุมารทั้งหลาย ผู้มีปกติอยู่ในชนบท มีชื่อว่า มคธะ ชนบทแม้ชนบทเดียว อันเป็นที่อยู่ของราชกุมารเหล่านั้น ท่านเรียกว่า มคธา ด้วยศัพท์ที่เพิ่มเข้ามา. ในชนบท ในแคว้นมคธนั้น. เบื้องหน้าแต่นี้ไป มีนัยดังกล่าวแล้ว ในสูตรทั้งสองเบื้องต้นนั้นแหละ. สวนอัมพลัฏฐิกา ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในพรหมชาลสูตร. คําว่า กูฏทันตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น.

บทว่า เตรียมการ คือ จัดแจง. บทว่า วจฺฉตรสตานิ คือ ลูกโคผู้หลายร้อย. แพะตัวเล็กๆ ท่านเรียกว่า อุรัพภะ. สัตว์เท่านั้น มีมาในพระบาลีเพียงแค่นี้เท่านั้น. แต่เนื้อและนกเป็นอันมากอย่างละ ๗๐๐ แม้มิได้มีมาในพระบาลี ก็พึงทราบว่า ท่านประมวลเข้ามาด้วยเหมือนกัน. ได้ทราบว่ากูฏทันตพราหมณ์นั้น มีประสงค์จะบูชายัญอย่างละ ๗๐๐ ทุกอย่าง. บทว่า ถูกเขานําไปผูกไว้ที่หลัก คือ ถูกเขานําเข้าไปสู่หลัก กล่าวคือ หลักยัญเพื่อต้องการจะผูกวางไว้. บทว่า พักอยู่ คือ พวกพราหมณ์ทั้งหลายพักอยู่ เพื่อต้องการบริโภคของที่เขาให้เป็นทาน. บทว่า สามอย่าง ความว่า การตั้งไว้ คือ การแต่งตั้ง ท่านเรียกว่า วิธ ในคํานี้. บทว่า มีบริขาร ๑๖ คือ มีบริวาร ๑๖

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 72

    พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงบุรพจริตที่ภพปกปิดไว้ เหมือนคนขุดขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ในดิน แล้วกระทําให้เป็นกองไว้ต่อหน้า จึงตรัสพระดํารัสนี้ว่า เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว ดังนี้. บทว่า มีพระนามว่า มหาวิชิตะ ความว่า ได้ยินว่า พระราชานั้นทรงชํานะปฐพีมณฑล ซึ่งมีทะเลเป็นที่สุด เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงถึงความนับว่า มหาวิชิตราช เพราะปฐพีมณฑล ที่พระองค์ทรงชํานะแล้วใหญ่.

    ในบทว่า มั่งคั่ง เป็นต้น ความว่า ใครก็ตามเป็นคนมั่งคั่ง ด้วยทรัพย์สมบัติ อันเป็นของตน. แต่พระเจ้ามหาวิชิตราชนี้ หาเป็นผู้มั่งคั่งอย่างเดียวเท่านั้นไม่ พระองค์ยังเป็นผู้ชื่อว่ามีทรัพย์มาก คือ ถึงพร้อมด้วยทรัพย์มากมาย คือ นับไม่ถ้วน. ชื่อว่า มีโภคสมบัติมาก เพราะมีโภคสมบัติมากมาย คือยิ่งใหญ่ด้วยอํานาจแห่งกามคุณห้า. ชื่อว่า มีทองและเงินมากมาย เพราะความที่ทองและเงินเป็นแท่งๆ และด้วยอํานาจเป็นมาสกทองคําและมาสกเงิน เป็นต้น. อธิบายว่า ถึงพร้อมด้วยทองและเงินนับด้วยโกฏิเป็นอันมาก.

    บทว่า ความปลื้มใจ คือความยินดี. เครื่องอุปกรณ์แห่งความปลื้มใจ ชื่อ วิตตูปกรณะ ความว่า เหตุแห่งความยินดี. ผู้ชื่อว่า มีเครื่องอุปกรณ์แห่งความปลื้มใจมากมาย เพราะเขามีเครื่องอุปกรณ์แห่งความปลื้มใจมากมายหลายประเภท เป็นต้นว่า เครื่องประดับนานาชนิด และภาชนะทองเงิน เป็นต้น. ผู้ชื่อว่า มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย เพราะทรัพย์กล่าวคือแก้ว ๗ ประการที่ฝังเก็บไว้ และข้าวเปลือกอันรวมตลอดถึงบุพพัณชาติและอปรัณชาติทั้งปวงมีมากมาย. อีกนัยหนึ่ง บทนี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยอํานาจการ

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 73

ให้ และการรับทรัพย์สินทุกวันของเขา ด้วยอํานาจทรัพย์ และข้าวเปลือกที่แลกเปลี่ยนกัน.

    บทว่า มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ ความว่า คลังที่เก็บสิ่งของ ท่านเรียกว่า คลัง อธิบายว่า มีคลังเต็มบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ที่ฝังเก็บไว้ มีฉางเต็มบริบูรณ์ด้วยข้าวเปลือก. อีกนัยหนึ่ง. คลังมี ๔ อย่างคือ ช้าง ม้า รถ ทหารราบ. ฉางมี ๓ อย่างคือ ฉางเก็บทรัพย์ ฉางเก็บข้างเปลือก ฉางเก็บผ้า. ทุกสิ่งทุกอย่างแม้ทั้งหมดนั้น ของเขาบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น เขาจึงชื่อว่า มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์.

    บทว่า ได้เกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นแล้ว. ได้ยินว่า ในวันหนึ่ง พระราชานี้เสด็จออกไปเที่ยวตรวจดูรัตนะ. พระองค์ตรัสถามผู้รักษาคลังเก็บสิ่งของว่า แน่ะพ่อ ทรัพย์มากมายอย่างนี้ ใครเก็บสะสมมา. ภัณฑาคาริกทูลว่า พระราชบิดาและพระเจ้าปู่ เป็นต้น ของพระองค์สะสมมาตลอดชั่ว ๗ ตระกูล. พระราชาตรัสถามว่า ก็ชนเหล่านั้นสะสมทรัพย์นี้ไว้แล้ว ไปที่ไหนกัน. ภัณฑาคาริกทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชนเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว ไปสู่อํานาจของความตาย. พระราชาตรัสถามว่า พวกเขาไม่ถือเอาทรัพย์ของตนไปด้วยหรือ. ภัณฑาคาริกทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ตรัสอะไร พวกเขาต้องละทิ้งทรัพย์นั้นไปโดยแท้ ถือเอาไปไม่ได้. ลําดับนั้น พระราชาเสด็จกลับมาแล้ว ประทับนั่งในห้องอันมีสิริ ทรงดําริว่า เราครอบครองโภคสมบัติมากมายดังนี้ เป็นต้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ได้เกิดปริวิตกทางใจอย่างนี้ ดังนี้. บทว่า ตรัสเรียกพราหมณ์ ถามว่า เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกมา. ได้ยินว่า พระราชานี้ ทรงดําริอย่างนี้ว่า ธรรมดาคนที่จะให้ทาน ได้ปรึกษากับบัณฑิตสักคนหนึ่งก่อนแล้วให้ จึงจะควร เพราะกรรมที่มิได้ปรึกษา

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 74

กระทําลงไป ย่อมทําความเดือดร้อนในภายหลัง ดังนี้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกมา.

    ลําดับนั้น พราหมณ์คิดว่า พระราชานี้มีพระราชประสงค์ จะถวายมหาทาน และในชนบทของพระองค์ ยังมีโจรมากมาย โจรเหล่านั้นก็ยังไม่สงบ เมื่อพระองค์ถวายทานอยู่ บ้านเรือนของเหล่าชน ผู้นําเครื่องสัมภาระแห่งทานมี นมสด นมส้ม และ ข้าวสาร เป็นต้นมา ย่อมไม่มีคนเฝ้า โจรเหล่านั้นก็จักปล้น ชนบทก็จะเกลื่อนกล่นไปด้วยโจรภัย ที่นั้นทานของพระราชา ก็จักไม่ดําเนินไปได้นาน แม้พระทัยของพระองค์ ก็จักไม่แน่วแน่เอาเถอะ เราจะให้พระองค์ ทรงเข้าพระทัยเนื้อความนี้ ดังนี้. ลําดับนั้น เขาเมื่อจะยังพระองค์ ให้ทรงเข้าพระทัยเนื้อความนั้น จึงกล่าวคําว่า ชนบทของพระราชาผู้เจริญ เป็นต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า มีเสี้ยนหนาม คือ ยังมีเสี้ยนหนาม ด้วยเสี้ยนหนาม คือ โจร. บทว่า ปณฺทุหนา แปลว่า การปล้นในทางเปลี่ยว ความว่า การฆ่ากันในทางเปลี่ยว. บทว่า พึงเป็นผู้กระทํากิจที่ไม่ควรทํา ความว่า พึงเป็นผู้กระทํากิจที่ไม่พึงกระทํา คือ พึงเป็นผู้ประพฤติไม่เป็นธรรม. บทว่า ทุสฺสุขีลํ แปลว่า เสี้ยนหนามคือโจร. บทว่า ด้วยการฆ่า คือ ด้วยการให้ตาย หรือ ด้วยการทุบ. บทว่า ด้วยการจองจํา คือ ด้วยการจองจํามีการจองจําด้วยขื่อ เป็นต้น. บทว่า ด้วยการปรับไหม คือ ด้วยการเสียทรัพย์. อธิบายว่า ด้วยอาชญาเป็นไปอย่างนี้ว่า พวกท่านจงเรียกเอา ๑๐๐ จงเรียกเอา ๑,๐๐๐. บทว่า ด้วยการตําหนิโทษ คือ ด้วยให้ได้รับการตําหนิโทษ กระทําโทษ เป็นต้นอย่างนี้ คือทําให้มี ๕ แกละ โกนหัวให้โล้น เอามูลโครดและจองจําด้วยคาที่คอ. บทว่า ด้วยการเนรเทศ คือ ด้วยการขับออกจากแว่นแคว้น. บทว่า จักปราบปราม คือ

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 75

เราจักกําจัดให้หมดไปโดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยนัย โดยการณ์อันควร.

    บทว่า ที่เหลือจากกําจัดแล้ว คือ ที่เหลือจากตายแล้ว.

    บทว่า ขยันขันแข็ง คือกระทําความอุตสาหะ. บทว่า จงเพิ่มให้ ความว่า เมื่อสิ่งที่พระราชทานแล้วไม่เพียงพอ โปรดพระราชทาน พืชภัตร และสิ่งของที่เป็นเครื่องมือในการกสิกรรม แม้อย่างอื่นทุกอย่างอีก. บทว่า จงเพิ่มให้ซึ่งต้นทุน ความว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งของต้นทุน ด้วยอํานาจตัดขาดเงินต้นไปเลย ไม่ต้องทําพยานหลักฐาน ไม่ต้องลงบัญชี. คําว่า ต้นทุน นี้ เป็นชื่อของสิ่งของอันเป็นทุนเดิม. เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

คนมีปัญญา มีวิจารณญาณ ย่อมตั้งตัวไว้ด้วยทรัพย์ อันเป็นต้นทุนแม้เพียงเล็กน้อย เหมือนคนเริ่มก่อไฟกองน้อยก่อน ฉะนั้น ดังนี้.

    บทว่า เบี้ยเลี้ยงรายวันและค่าจ้าง คือ ค่าอาหารประจําวัน และทรัพย์สินมีเงินมาสก เป็นต้น. ความว่า จงพระราชทานพร้อมกับพระราชทาน ฐานันดร บ้านและนิคม เป็นต้น โดยสมควรแก่ตระกูล การงานและความกล้าหาญของเขาๆ . บทว่า ผู้ขวนขวายในการงานของตน คือเป็นผู้เพียรกระทํา ได้แก่ ใฝ่ใจกระทํา ในการงานของตน มีกสิกรรมและพาณิชยกรรม เป็นต้น. บทว่า กอง คือ กองแห่งทรัพย์และข้าวเปลือก. บทว่า ตั้งอยู่ในความเกษม คือดํารงอยู่ด้วยความปลอดโปร่ง คือ ไม่มีภัย. บทว่า ไม่มีเสี้ยนหนาม คือ เว้นจากเสี้ยนหนามคือโจร. บทว่า โมทา โมทมานา แปลว่า ต่างชื่นชมยินดีต่อกัน. อีกประการหนึ่ง คํานี้นี่แหละเป็นพระบาลี. อธิบายว่า ต่างมีจิตพลอยยินดีซึ่งกันและกัน. บทว่า ไม่ต้องปิดประตูเรือน ความว่า เพราะไม่มีพวกโจร จึงไม่ต้องปิดประตูเรือน เปิดประตูเรือนไว้ได้.

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 76

    บทว่า ได้ตรัสพระดํารัสนี้ คือ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทราบความที่บ้านเมืองมั่งคั่ง และเจริญโดยอาการทั้งปวงแล้ว จึงได้ตรัสพระดํารัสนี้. บทว่า เตนหิ ภวํ ราชา ความว่า ได้ยินว่า พราหมณ์คิดว่า พระราชานี้เกิดพระอุตสาหะยิ่งนัก ที่จะถวายมหาทาน แต่ถ้าพระองค์ไม่ทรงปรึกษาเหล่ากษัตริย์ประเทศราช เป็นต้นแล้วถวาย กษัตริย์ประเทศราชเป็นต้นเหล่านั้นของพระองค์ จักน้อยพระทัย เราจักกระทําโดยประการที่จะมิให้กษัตริย์เหล่านั้นน้อยพระทัยได้ ณ บัดนี้ดังนี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงกราบทูลว่า ถ้ากระนั้น พระราชา ดังนี้เป็นต้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาวนิคม คือผู้ที่อาศัยอยู่ในนิคม. บทว่า ชาวชนบท คือ ผู้อาศัยอยู่ในชนบท. บทว่า จงทรงปรึกษา คือจงทรงหารือ ได้แก่ จงทรงบอกกล่าวให้ทราบ. บทว่า ยํ มม อสฺส คือการร่วมมือของพวกท่าน พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เรา. บทว่า อมจฺจา แปลว่า สหายผู้สนิท. บทว่า ปาริสชฺชา คือผู้ที่เป็นลูกน้อยที่เหลือ. บทว่า ยชตํ ภวํ ราชา แปลว่า ขอเดชะ ขอพระราชาจงทรงบูชายัญเถิด. ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นยินดีว่า พระราชานี้ไม่ทรงข่มขืนถวายทาน ด้วยคิดว่าเราเป็นใหญ่ ยังทรงเรียกพวกเรามาปรึกษา น่าอัศจรรย์จริงพระองค์ทรงกระทําดีแล้ว ดังนี้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น. แต่เมื่อพวกเขามิได้รับเชิญมา พวกเขาก็ไม่พึงมา แม้เพื่อจะดูที่บูชายัญของพระราชานั้น. บทว่า ข้าแต่มหาราช เป็นกาลควรแล้วที่จะบูชายัญ ความว่า พวกเขาเมื่อจะแสดงว่า ก็เมื่อไทยธรรมไม่มี ถึงในเวลาแก่แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะให้ทานเห็นปานนี้ได้ แต่ท่านร่ำรวย และยังหนุ่มแน่น เพราะเหตุนั้น จึงเป็นกาลสมควรที่จะบูชายัญของท่านแล้วดังนี้ จึงได้กล่าวขึ้น. บทว่า ชนผู้ที่เห็นชอบ คือฝ่ายที่

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 77

เห็นด้วย อธิบายว่า ผู้ให้ความยินยอม. บทว่า เป็นบริขาร คือเป็นบริวาร. แต่ในคํานี้ว่า รถมีศีลและเครื่องประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ ดังนี้ เครื่องประดับท่าน เรียกว่า บริขาร.

    บทว่า ด้วยองค์ ๘ คือ ด้วยองค์ ๘ มี อุภโตสุชาต เป็นต้น. บทว่า ด้วยพระยศ คือด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะลงอาญาได้. บทว่า มีศรัทธา คือเชื่อว่าผลของทานมีอยู่. บทว่า เป็นผู้ให้ คือเป็นผู้กล้าหาญในการให้. อธิบายว่า มิใช่ดํารงอยู่แต่เพียงมีศรัทธาเท่านั้น แต่สามารถที่จะสละด้วย. บทว่า เป็นนายของทาน คือเป็นนายของทานที่ตนให้ ไม่เป็นทาส ไม่เป็นสหาย. อธิบายว่า

    ก็ผู้ใดบริโภคของอร่อยด้วยตนเอง ให้ของไม่อร่อยแก่ผู้อื่น ผู้นั้นจัดว่าเป็นทาสแห่งไทยธรรมกล่าวคือ ทานให้ผู้ใดบริโภคสิ่งใดด้วยตนเอง ก็ให้สิ่งนั้นนั่นแหละ ผู้นั้นจัดเป็นสหายให้ ส่วนผู้ใดตนเองก็ยังชีพด้วยอาหารตามมีตามเกิด แต่ให้ของอร่อยแก่ผู้อื่นผู้นั้นจัดว่าเป็นนาย คือ เป็นเจ้าของผู้ยิ่งใหญ่ให้ พระเจ้ามหาวิชิตราชนี้ ทรงเป็นเช่นนั้น ดังนี้.

    ในบทนี้ว่า แก่สมณพราหมณ์ คนกําพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจก ความว่า ผู้มีบาปอันสงบแล้ว ชื่อว่า สมณะ. ผู้มีบาปอันลอยแล้ว ชื่อว่า พราหมณ์. ผู้เข็ญใจ คือคนที่ยากจน ชื่อว่า คนกําพร้า. บทว่า อทฺธิกา แปลว่า ผู้เดินทางไกล. ชนเหล่าใด เที่ยวสรรเสริญคุณแห่งทาน โดยนัยเป็นต้นว่า ท่านผู้เจริญ ผู้ให้ทานน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่มีโทษ ตามกาลอันควร ทําจิตให้เลื่อมใสแล้ว จงไปสู่พรหมโลก ดังนี้ชนเหล่านั้น ชื่อว่า วณิพก. ชนเหล่าใดกล่าวคําเป็นต้นว่า ขอท่านจงให้สัก

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 78

ฟายมือหนึ่งเถิด ขอท่านจงให้สักขันหนึ่งเถิด เที่ยวขอเขาไป ชนเหล่านั้นชื่อว่า ยาจก. บทว่า เป็นดุจบ่อที่ลงดื่ม คือดุจบ่อน้ำ. อธิบายว่า เป็นดุจสระโบกขรณี ที่เขาขุดไว้ที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง เป็นที่บริโภคทั่วไปของคนทั้งปวง. ในบทว่า แห่งข้อที่ทรงศึกษาแล้ว นี้คือ ข้อที่ทรงศึกษาแล้วนั่นแหละ ชื่อว่า ทรงศึกษาแล้ว.

    ในบทว่า สามารถที่จะทรงคิดอรรถอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ พึงทราบใจความว่า พระองค์เมื่อทรงคิดได้อย่างนี้ว่า เพราะเหตุที่เราได้ทําบุญไว้ในอดีตนั่นเอง เราจึงมีสมบัติดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงสามารถคิดอรรถอันเป็นอดีต. เมื่อทรงคิดได้ว่า เราทําบุญในบัดนี้ นี่แหละ สามารถที่จะได้รับสมบัติในอนาคต ดังนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ทรงสามารถคิดอรรถอันเป็นอนาคต. เมื่อทรงคิดได้ว่า ชื่อว่ากรรมอันเป็นบุญนี้ เป็นอาจิณกรรมของสัตบุรุษ แม้โภคทรัพย์ของเราก็มีอยู่ ทั้งจิตคิดจะให้ก็มีอยู่ เอาเถอะเราจะทําบุญ ดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงสามารถคิดอรรถอันเป็นปัจจุบัน ดังนี้.

    บทว่า องค์เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ คือองค์เหล่านี้ ตามที่กล่าวมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้. ได้ยินว่า มหาชนจากทิศทั้งปวง ย่อมเข้าไปหาทานของบุคคล ผู้ถึงพร้อมด้วยองค์ทั้ง ๘ เหล่านี้. บางคนคิดเห็นเหตุเป็นต้น อย่างนี้ว่า ผู้นี้เกิดไม่ดีแล้ว จักให้ทานไปนานสักเท่าไร บัดนี้เอง เขาก็เดือดร้อนแล้ว จักตัดขาดเสีย ดังนี้แล้วย่อมไม่สําคัญถึงทานว่า ควรจะเข้าไปหา เพราะฉะนั้น องค์ทั้ง ๘ เหล่านี้ท่านจึงกล่าวว่า เป็นบริขาร.

    บทว่า ผู้รับการบูชา คือผู้ถือทัพพีให้ทาน ในที่ที่รับการให้ทานอย่างใหญ่. บทว่า ด้วยองค์ ๔ เหล่านี้ คือด้วยองค์มีเกิดดีแล้ว เป็นต้นเหล่านี้. เหล่าชนผู้ที่กล่าวคําเป็นต้นว่า เมื่อองค์มีการเกิดดีแล้ว เป็นต้นมีอยู่

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 79

ทานที่เป็นไป ด้วยการจัดแจงของผู้ที่เกิดไม่ดีแล้ว อย่างนี้ จักเป็นไปนานสักเท่าไร ดังนี้ จะไม่เข้าไปหาเลย แต่จะเข้าไปหา เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงติเตียนเท่านั้น เพราะเหตุนั้น องค์แม้เหล่านี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นบริขาร.

    บทว่า แสดงยัญวิธี ๓ ประการ คือแสดงการตั้งมั่น ๓ อย่าง. ได้ยินว่า เขาคิดว่า ธรรมดาผู้ให้ทานอยู่ย่อมหวั่นไหว ในฐานะใด ฐานะหนึ่ง บรรดาฐานะทั้ง ๓ นั้น เอาเถอะ เราจะกระทําพระราชานี้ มิให้ทรงหวั่นไหว ในฐานะเหล่านี้ ก่อนอื่นใดทีเดียว ดังนี้แล้ว จึงแสดงยัญวิธี ๓ อย่างแก่พระราชานั้น. คํานี้ว่า โส โภโต รฺโ เป็นฉัฏฐีวิภัติลงในอรรถตติยาวิภัติ.อีกนัยหนึ่ง บาลีว่า โภตา รฺา ดังนี้ ก็มี. บทว่า ไม่ควรทําความวิปฏิสาร ท่านแสดงว่า ไม่ควรทําความเดือดร้อนในภายหลัง อันมีความสิ้นเปลืองไปแห่งโภคสมบัติเป็นเหตุ แต่บุพพเจตนาควรให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เพราะทานนั้นย่อมมีผลมาก ด้วยประการฉะนี้. ในฐานะ ๒ อย่าง แม้นอกนี้ ก็มีนัยเช่นนี้ เหมือนกัน. ก็เจตนาที่กําลังบริจาคก็ดี เจตนาที่ตามระลึกถึงในภายหลังก็ดี ควรกระทํามิให้หวั่นไหว เมื่อไม่กระทําเช่นนั้น ทานย่อมไม่มีผลมาก ทั้งจิตก็จะไม่น้อมไป ในโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ เหมือนทานของเศรษฐีคฤหบดี ผู้ไปเกิดในมหาโรรุวนรก ฉะนั้น.

    บทว่า ด้วยอาการ ๑๐ คือ ด้วยเหตุ ๑๐. ได้ยินว่า พราหมณ์ปุโรหิตนั้น ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพระราชานี้ ทรงเห็นผู้ทุศีลแล้วคิดว่า ทานของเราจักฉิบหายแน่ คนทุศีลเห็นปานนี้ บริโภคทานของเราดังนี้ แม้ในคนผู้มีศีล ก็จักให้เกิดความวิปฏิสารได้ ทานก็จักไม่มีผลมาก ก็ธรรมดาความวิปฏิสารย่อมเกิดขึ้นแก่ พวกทายกเพราะปฏิคาหกโดยแท้ เอาเถอะ เราจะบรรเทาความวิปฏิสารนั้นของพระองค์ เป็นอันดับแรกทีเดียว ดังนี้

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 80

เพราะฉะนั้น เขาจึงบรรเทาความวิปฏิสาร แม้ในตัวปฏิคาหก ที่ควรจะตัดให้ขาด ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง. บทว่า เตสํเยว เตน ท่านแสดงว่า ผลอันไม่พึงปรารถนา เพราะบาปนั้นจักมีแก่เขาเหล่านั้นเท่านั้น จักไม่มีแก่คนอื่น. บทว่า ยชตํ ภวํ แปลว่า ขอพระองค์จงพระราชทานเถิด. บทว่า สชฺชตํ แปลว่า ขอจงทรงเสียสละเถิด. บทว่า อนฺตรํ แปลว่า ในภายใน.

    ในบทนี้ว่า แสดงให้จิตเห็นจริงด้วยอาการ ๑๖ พราหมณ์ปรารภ การอนุโมทนามหาทานของพระราชา. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า แสดงให้เห็นจริง คือ กล่าวแสดงแล้วแสดงอีกว่า ผู้ให้ทานนี้ จักได้สมบัติเห็นปานฉะนี้ ดังนี้. บทว่า ให้ยึดถือมั่น คือกล่าวให้ยึดถือใจความนั้นโดยชอบ. บทว่า ให้อาจหาญ ทําให้จิตใจของพระราชานั้นผ่องใส ด้วยการบรรเทาความวิปฏิสาร. บทว่า ให้ร่าเริง คือกล่าวสรรเสริญว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เมื่อถวายทานอยู่ ทรงกระทําดีแล้ว ดังนี้. บทว่า ผู้กล่าวโดยธรรมไม่มี คือผู้กล่าวโดยธรรม คือโดยชอบ ได้แก่ โดยเหตุไม่มี.

    บทว่า ไม่ตัดต้นไม้ เพื่อต้องการทําหลักยัญ ไม่ตัดหญ้าแพรก เพื่อต้องการเบียดเบียนผู้อื่น พราหมณ์แสดงว่า ชนเหล่าใดให้ตั้งเสาใหญ่ ที่มีชื่อว่า เสายัญ แล้วเขียนชื่อว่า พระราชาโน้น อํามาตย์โน้น พราหมณ์โน้น ย่อมบูชามหายัญเห็นปานนี้ ดังนี้แล้ว ตั้งไว้ และเกี่ยวหญ้าแพรก แวดวงศาลายัญ โดยสังเขปว่า เป็นละเมาะป่า หรือลาดบนพื้นดิน ชนแม้เหล่านั้น มิได้ตัดต้นไม้ มิได้เกี่ยวหญ้าแพรก ก็พวกเขาจักฆ่าวัว หรือสัตว์ มีแพะเป็นต้น ทําไมกัน ดังนี้.

    บทว่า ทาส คือทาส มีทาสที่เกิดภายในเรือนเป็นต้น. ชนเหล่าใด ถือเอาทรัพย์ก่อนแล้วจึงทําการงานให้ชนเท่านั้น ชื่อว่า คนรับใช้.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 81

ชนเหล่าใด รับเบี้ยเลี้ยงรายวัน และค่าจ้างทําการงานให้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กรรมกร. ชนผู้ที่เขาถือท่อนไม้ และไม้ค้อน เป็นต้น คุกคามอย่างนี้ว่าจงทํางาน จงทํางาน ชื่อว่า ผู้ถูกอาญาคุกคาม. ชนผู้ที่เขาคุกคามด้วยกันอย่างนี้ว่า ถ้าเจ้าทํางาน ข้อนั้นก็ดีไป หากไม่ทํา เราจักตัด หรือจักจําจอง หรือจักฆ่าเสีย ดังนี้ ชื่อว่า ผู้ถูกภัยคุมคาม. แต่ชนเหล่านั้น มิได้ถูกอาญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม มิได้มีน้ำตานองหน้าร้องไห้รําพันอยู่. โดยที่แท้พวกเขาต่างทํางาน ทักทายปราศัยกัน ด้วยคําทักทายที่น่ารักทีเดียว เพราะในชนเหล่านั้น พวกเขาไม่เรียก ทาสว่าเป็นทาส คนรับใช้ว่าเป็นคนรับใช้ คนงานว่าเป็นกรรมกร แต่กลับเรียกกันด้วยคําทักทายที่น่ารัก ตามความชอบใจ ต่างแสดงการงานตามสมควร ที่เป็นหญิง เป็นชาย มีกําลังและทุพลภาพ ต่างพูดกันว่า พวกท่านจงทํางานนี้ๆ แม้เขาเหล่านั้นก็กระทํา ด้วยอํานาจความชอบใจของตน. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

    ชนเหล่าใดชอบใจชนเหล่านั้นก็กระทํา ชนเหล่าใดไม่ชอบใจชนเหล่านั้นก็ไม่กระทํา ชอบใจสิ่งใดก็กระทําสิ่งนั้น ไม่ชอบใจสิ่งใดก็ไม่กระทําสิ่งนั้น ดังนี้.

    บทว่า ยัญนั้น ได้ถึงความสําเร็จได้ ด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย ความว่า ได้ยินว่า พระราชา รับสั่งให้สร้างโรงทานใหญ่ขึ้นในที่ ๕ แห่ง คือที่ประตูนอกนคร ๔ แห่ง และตรงกลางภายในนคร ๑ แห่ง ที่โรงทานแต่ละแห่ง ทรงตั้งงบประมาณไว้แห่งละแสนๆ ทรงสละทรัพย์วันละห้าแสนๆ จําเดิมแต่พระอาทิตย์ขึ้น ทรงถือทัพพีทองด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ให้มหาชนอิ่มหนํา ด้วยข้าวต้มของขบเคี้ยว

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 82

ข้าวสวยกับข้าว และแกง เป็นต้น รวมด้วยเนยใส และน้ำมัน เป็นต้น อันประณีตตามควรแก่เวลานั้นๆ สําหรับผู้ที่มีประสงค์จะถือเอาไป ก็ทรงให้โดยทํานองนั้นนั่นแหละ จนเต็มภาชนะ. แต่ในเวลาเย็น ทรงบูชาด้วยผ้าของหอม และดอกไม้ เป็นต้น ส่วนตุ่มใหญ่สําหรับใส่เนย เป็นต้น ก็ให้ใส่ให้เต็ม แล้วตั้งไว้ในที่หลายร้อยแห่ง ด้วยตั้งพระทัยว่า ผู้ใดมีประสงค์จะบริโภคสิ่งใด ผู้นั้นจงบริโภคสิ่งนั้นเถิด ดังนี้. ท่านหมายเอาเหตุนั้นจึงกล่าวว่า ยัญนั้นได้ถึงความสําเร็จได้ ด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย ดังนี้.

    บทว่า นําเอาทรัพย์มามากมาย คือถือเอาทรัพย์มากล้น. ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นคิดว่า พระราชานี้ มิได้ทรงให้นําเนยใส และน้ำมัน เป็นต้น มาจากชนบท ทรงนําสิ่งของอันเป็นส่วนของพระองค์เท่านั้น ออกมาให้เป็นมหาทาน การที่พวกเราจะนิ่งเสียด้วยคิดว่า ก็พระราชา ไม่ทรงให้พวกเรานําสิ่งใดมา ดังนี้หาควรไม่ ดังนี้เพราะว่าทรัพย์ในเรือนของพระราชา จะไม่หมด ไม่สิ้นไป เป็นธรรมดาก็หาไม่ ก็เมื่อพวกเราไม่ให้อยู่ ใครอื่นจักถวายแด่พระราชา เอาเถอะ เราจะรวบรวมทรัพย์มาถวายแด่พระองค์. พวกเขาจึงรวบรวมทรัพย์ตามส่วนของบ้าน ตามส่วนของนิคม และตามส่วนของนคร บรรทุกจนเต็มเกวียนแล้ว นําไปถวายแด่พระราชา. ท่านหมายเอาทรัพย์นั้น จึงกล่าวคําว่า "ทรัพย์มากมาย" เป็นต้น.

    บทว่า ทางด้านทิศบูรพา แห่งหลุมยัญ คือในส่วนแห่งทิศบูรพา ของโรงทานที่ประตูนครทางทิศบูรพา ชนทั้งหลายตั้งทานไว้ ในที่ที่เหมาะเจาะ โดยประการที่พวกชน ผู้มาจากทิศบูรพา ดื่มข้าวยาคูในโรงทาน

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 83

ของกษัตริย์แล้ว บริโภคในโรงทานของพระราชา ก็เข้าไปสู่ตัวเมืองได้. บทว่า ทางด้านทิศใต้ แห่งหลุมยัญ ความว่า ชนทั้งหลายตั้งทานไว้ ในส่วนทิศใต้ ตามนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแหละ ของโรงทานที่ประตูนคร ทางทิศใต้ แม้ในทิศตะวันตก และทิศเหนือ ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.

    บทว่า ยัญ โอ ยัญสมบัติ ความว่า พวกพราหมณ์ได้ฟังการถึงความสําเร็จของยัญด้วยเนยใส เป็นต้น ต่างมีจิตยินดีว่า สิ่งใดมีรสอร่อยในโลก พระสมณโคดม ตรัสถึงสิ่งนั้น เอาเถอะ พวกเราจะสรรเสริญยัญของพระองค์ดังนี้ เมื่อจะสรรเสริญ จึงได้กราบทูลดังนั้น. บทว่า กูฏทันตพราหมณ์ นั่งนิ่งเฉยอยู่ คือ เขากําลังคิดเนื้อความ ที่จะพึงกล่าวต่อไป จงนั่งนิ่งเงียบเสียงเสีย. พราหมณ์เมื่อจะทูลถาม โดยเลี่ยงถาม จึงกราบทูลคํานี้ว่า ก็พระโคดมผู้เจริญย่อมทรงทราบชัดหรือ ดังนี้. เพราะเขาเมื่อจะถาม โดยประการอื่นตรงๆ อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในกาลนั้นพระองค์ได้เป็นพระราชา หรือว่าพราหมณ์ปุโรหิต ดังนี้ ก็จะเป็นเหมือนว่า ไม่เคารพ.

    พราหมณ์เมื่อจะทูลถามเนื้อความนี้ว่า การที่จะลุกขึ้นแล้ว ลุกขึ้นเล่า ให้ทาน เป็นของหนักของชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น และชาวชนบททั้งสิ้น เมื่อไม่ทําการงานของตน ก็จักพินาศ ยัญอย่างอื่น จากยัญนี้ ที่มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่าของพวกข้าพระองค์ มีอยู่หรือไม่หนอแล ดังนี้ จึงกราบทูลคํานี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญก็มีอยู่หรือ ดังนี้.

    บทว่า นิจทาน คือทานประจํา ได้แก่ นิตยภัตร. บทว่า อนุกูลยัญ คือทานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขากระทําด้วยคิดว่า พ่อ และปู่ เป็นต้น

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 84

ของพวกเราเคยทํามาแล้ว ดังนี้ แม้เขาจะเป็นคนเข็ญใจ ในภายหลังก็ควรให้ทําต่อไป ตามที่สืบต่อกันมาของตระกูล. ได้ยินว่า ทาน ที่ถวายเจาะจงท่านผู้มีศีลเป็นประจํา เห็นปานนี้ แม้พวกยากจนในตระกูล ย่อมไม่ตัดเสีย. ในข้อนี้ มีเรื่องดังต่อไปนี้.

    ได้ยินว่า ในเรือนของอนาถปิณฑิกะ ชนทั้งหลายถวายนิตยภัตร ๕๐๐ ที่ ได้มีสลากทําด้วยงา ๕๐๐ ที่ ได้มีสลากทำด้วยงา ๕๐๐ อัน. ต่อมาตระกูลนั้น ถูกความยากจนครอบงําโดยลําดับ. เด็กหญิงคนหนึ่งในตระกูลนั้น ไม่สามารถถวายยิ่งไปกว่า สลากอันหนึ่งได้. แม้เด็กหญิงนั้น ภายหลังถึงรัชสมัยของ พระเจ้าเสตวาหนะ ก็ได้ถวายสลากนั้นด้วย ข้าวเปลือกที่ล้างลานได้มา. พระเถระรูปหนึ่ง ได้ถวายพระพรแด่พระราชา. พระราชาทรงพานางมาแล้ว ตั้งไว้ในตําแหน่งอัครมเหสี. จําเดิมแต่กาลนั้น นางก็ได้ถวายสลากภัตร ๕๐๐ ที่อีก.

    บทว่า การประการด้วยท่อนไม้ ความว่า การประหารด้วยท่อนไม้บ้าง การจับที่คอบ้าง ที่เขากล่าวคํา เป็นต้นว่า พวกเจ้าจงยืน พวกเจ้าจงยืนตามลําดับ ดังนี้. และว่าพวกเจ้าจงจับ พวกเจ้าจงจับ ทําให้ตรงดังนี้ ให้อยู่ ยังปรากฏอยู่. ในบทนี้ว่า พราหมณ์นี้แลเป็นเหตุ ฯลฯ มีอานิสงส์มากกว่า ความว่า ความต้องการด้วยคน ที่จะทําการช่วยเหลือหรือด้วยเครื่องอุปกรณ์เป็นอันมาก มิได้มีในสลากภัตรนี้ เหมือนในมหายัญ เพราะฉะนั้น ทานนั้นจึงชื่อว่า ใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า. การเตรียมการ กล่าวคือ การเบียดเบียน ด้วยอํานาจการตัดรอนแห่งกรรมของชนหมู่มาก ในทานนี้ไม่มี เพราะเหตุนั้น ทานนี้จึงชื่อว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า. อนึ่ง ทานนี้เขาถวาย คือบริจาคแก่สงฆ์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ยัญ. ก็ทานนี้ มิใช่เป็นของที่จะทําได้ง่ายนัก เพื่อกระทําการกะกําหนด อันหลั่งไหลมาของ

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 85

บุญแห่งทักษิณา อันประกอบพร้อมด้วยองค์ ๖ เหมือนน้ำในมหาสมุทร ใครจะกะประมาณมิได้ฉะนั้น ทานนี้ก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ทานนั้นพึงทราบว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า.

    พราหมณ์ได้ฟังคํานี้แล้วคิดว่า เมื่อบุคคลลุกขึ้นแล้ว ลุกขึ้นเล่า ถวายนิตยภัตรแม้นี้ทุกวันๆ การงานของบางคนก็จะเสีย จะต้องปลูกฝังความอุตสาหะใหม่ๆ ขึ้นเรื่อย ยัญอย่างอื่นแม้จากนี้ ที่มีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีการตระเตรียมน้อยกว่า มีอยู่หรือไม่หนอ เพราะฉะนั้น เขาจึงกราบทูลคํานี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็....มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้. ในทานเหล่านั้น ในสลากภัตรไม่มีที่สิ้นสุด แห่งกิจที่จะพึงทํา บางคนจะต้องลุกขึ้นแล้ว ลุกขึ้นเล่า ไม่ต้องทํางานอย่างอื่น จัดแจงแต่สลากภัตรเท่านั้น. ส่วนในวิหารทาน มีที่สิ้นสุดแห่งกิจที่จะพึงทํา จริงอยู่ การสร้างบรรณศาลา หรือการสละทรัพย์ สักโกฏิหนึ่ง สร้างมหาวิหาร เขาทําการบริจาคทรัพย์ครั้งเดียว สร้างขึ้นไว้ ก็จะคงยืนไปได้ ๗ - ๘ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ๑,๐๐๐ ปีบ้างทีเดียว จะต้องกระทําบ้าง ก็เพียงปฏิสังขรณ์ในที่ที่ทรุดโทรม และชํารุดอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น วิหารทานนี้ จึงใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าสลากภัตรทาน. ก็ในวิหารทานนี้ ท่านกล่าวอานิสงส์ไว้ ๙ ประการมีว่า เพียงเพื่อกําจัดความหนาว เป็นต้น โดยปริยายแห่งพระสูตร แต่โดยปริยายแห่งขันธกะ ท่านกล่าวอานิสงส์ไว้ถึง ๑๗ ประการว่า

    การถวายวิหารแก่พระสงฆ์ ย่อมกําจัดเสียได้ ซึ่งความหนาวความร้อน ต่อนั้นก็สัตว์ร้าย งู ยุง ทั้งน้ำค้างฝน ต่อนั้นก็กำจัดเสียได้ ซึ่งลมและแดดอันกล้า ซึ่งเกิด

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 86

ขึ้น ทั้งเป็นไปเพื่อเป็นที่หลีกเร้น เพื่อความสุข เพื่อบําเพ็ญฌาน และเพื่อเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสรรเสริญว่า เป็นยอดทาน เพราะเหตุนั้นแล คนผู้ฉลาดเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงให้สร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ ถวายให้ภิกษุพหูสูตอาศัยอยู่ในวิหารนั้น และพึงถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะ แก่ภิกษุเหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้ตรงด้วยน้ำใจ ที่เลื่อมใสภิกษุเหล่านั้น จะแสดงธรรม เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา ซึ่งเขารู้แจ้งแล้ว จะเป็นผู้หมดอาสวะ ปรินิพพาน ดังนี้

    เพราะฉะนั้น วิหารทานนี้ พึงทราบว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า สลากภัตรทาน. แต่ท่านเรียกว่า ยัญ เพราะเป็นทานที่เขาบริจาคแก่สงฆ์.

    พราหมณ์ฟังแม้ข้อนี้แล้ว คิดว่า ขึ้นชื่อว่า การทําการบริจาคทรัพย์แล้ว สร้างวิหารถวายกระทําได้ด้วยยาก เพราะเงินเพียงกากณิกหนึ่งที่เป็นของตน ยากที่จะบริจาคให้ผู้อื่น เอาเถอะ เราจะทูลถามยัญที่ใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และที่มีการตระเตรียมน้อยกว่า แม้วิหารทานนี้ ดังนี้. ลําดับนั้น เขาเมื่อจะทูลถามยัญนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็........ มีอยู่หรือ ดังนี้เป็นต้น.

    ในบรรดาทานเหล่านั้น วิหารถึงจะบริจาคแล้วคราวเดียว ก็ยังมีกิจที่จะพึงทําเกี่ยวกับการมุงหลังคา และการปฏิสังขรณ์ สิ่งที่ปรักหักพังเป็นต้นบ่อยๆ ส่วนสรณะที่รับแล้วครั้งเดียว ในสํานักของภิกษุรูปเดียว หรือของสงฆ์ หรือของคณะ ก็ยังนับว่ารับอยู่ตลอดไป เพราะไม่มีกิจ ที่จะ

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 87

ต้องทําในสรณะนั้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้น สรณะนั้น จึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีการตระเตรียมน้อยกว่า วิหารทาน. อนึ่ง ชื่อว่า การถึงสรณะ เป็นบุญกรรมที่สําเร็จด้วย การบริจาคชีวิตแก่พระรัตนตรัย ย่อมให้สมบัติทุกประการ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่ามีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า. ก็การถึงสรณะนี้ ท่านเรียกว่า ยัญ เพราะเกี่ยวกับการบริจาคชีวิต แก่พระรัตนตรัย.

    พราหมณ์ได้ฟังคํานี้แล้ว คิดว่า การที่จะบริจาคชีวิตของตน แด่พระรัตนตรัย ทําได้ด้วยยาก ยัญที่มีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แม้กว่าสรณคมน์นี้ ยังมีอยู่หรือ. ลําดับนั้น เขาเมื่อจะทูลถามถึงยัญนั้น จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็.......มีอยู่หรือ ดังนี้เป็นต้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น ในบทมีบทว่า การงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น การงด ชื่อว่า การเว้น

    การงดนั้นมี ๓ อย่างคือ สัมปัตตวิรัติ, สมาทานวิรัติ, เสตุฆาตวิรัติ. ในบรรดาวิรัติทั้ง ๓ นั้น ผู้ใดแม้มิได้รับสิกขาบทเลย แต่ระลึกถึงชาติ โคตร ตระกูลและประเทศ เป็นต้น ของตนอย่างเดียวว่าการกระทํานี้ ไม่สมควรแก่เราดังนี้แล้ว ไม่กระทําปาณาติบาตเป็นต้น หลีกเลี่ยงวัตถุที่มาถึงเฉพาะหน้า เว้นจากวัตถุนั้น การวิรัตินั้นของผู้นั้น พึงทราบว่าเป็น สัมปัตตวิรัติ. ส่วนวิรัติของผู้รับสิกขาบทอย่างนี้ว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่าสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตก็ดี ข้าพเจ้าจะเว้นจากปาณาติบาตก็ดี ข้าพเจ้าขอสมาทานการงดเว้นก็ดี พึงทราบว่าเป็น สมาทานวิรัติ. ส่วนการเว้นที่สัมปยุตด้วยมรรค ของพระอริยสาวกทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 88

ชื่อว่า เสตุฆาตวิรัติ. ในวิรัติทั้ง ๓ นั้น ๒ วิรัติแรก กระทําวัตถุมีชีวิตินทรีย์ เป็นต้น ที่จะพึงละเมิด ด้วยอํานาจการปลงลงเป็นต้น ให้เป็นอารมณ์เป็นไป วิรัติหลังมีนิพพานเป็นอารมณ์.

    ก็ในวิรัติเหล่านี้ ผู้ได้รับสิกขาบททั้ง ๕ รวมกัน เมื่อสิกขาบทหนึ่ง ทําลายสิกขาบท ของผู้นั้น ย่อมทําลายไปทั้งหมด. ผู้ใดรับทีละข้อ ผู้นั้นล่วงละเมิดข้อใด ข้อนั้นเท่านั้น ทําลาย. ส่วนสําหรับเสตุฆาตวิรัตินี้ ขึ้นชื่อว่า การทําลายไม่มีเลย. เพราะพระอริยสาวก ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ทั้งไม่ดื่มน้ำเมาด้วย. แม้ถ้าชนผสมสุรา และน้ำนมแล้ว เทเข้าไปในปากของพระอริยสาวกนั้น น้ำนมเท่านั้นเข้าไป สุราหาเข้าไปไม่. เหมือนอะไร. ได้ยินว่า เหมือนน้ำนมที่เจือด้วยน้ำ นมเท่านั้นเข้าไปในปากของนกกะเรียน น้ำหาเข้าไปไม่ ข้อนี้พึงทราบว่า สําเร็จตามกําเนิด และข้อนี้ก็พึงทราบว่า สําเร็จโดยธรรมดา.

    ก็ในสรณคมน์ ชื่อว่า การกระทําความเห็นให้ตรง เป็นของหนัก แต่ในการสมาทานสิกขาบท เป็นเพียงการงดเว้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น การสมาทานสิกขาบทนั้น จึงใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีการตระเตรียมน้อยกว่า สําหรับผู้ที่รับพอประมาณบ้าง ผู้ที่รับอย่างดีบ้าง. ก็ในการสมาทานสิกขาบทนี้ พึงทราบว่ามีผลมาก และมีอานิสงส์มาก เพราะขึ้นชื่อว่า ทาน เช่นกับ ศีล ๕ ไม่มี. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ อย่างเหล่านี้ จัดเป็นมหาทาน ที่รู้กันมาว่าเลิศ รู้จักมานมนาน รู้กันมาตามวงศ์ตระกูล เป็นของเก่าแก่ ไม่มีใครรังเกียจแล้ว ไม่เคยมีใครรังเกียจ อันใครๆ ไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจอันสมณะก็ดี พราหณ์ก็ดี ผู้ที่รู้ดี ไม่ดูแคลนทาน ๕ อย่างเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ละปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจาก

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 89

ปาณาติบาต ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้อภัย ให้ความไม่มีเวร ให้ความไม่เบียดเบียนกัน แก่สัตว์ทั้งหลาย หาประมาณมิได้ ครั้นให้อภัย ให้ความไม่มีเวร ให้ความไม่เบียดเบียนกันแก่สัตว์ทั้งหลาย หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอภัย แห่งความไม่เบียดเบียนกัน อันหาประมาณมิได้ ภิกษุทั้งหลาย นี้จัดเป็นข้อที่หนึ่ง เป็นมหาทาน รู้กันมาว่าเลิศ รู้กันมานมนาน รู้กันมาตามวงศ์สกุลเป็นของเก่าแก่ ไม่มีใครรังเกียจแล้ว ไม่เคยมีใครรังเกียจ อันใครๆ ไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ผู้ รู้ ดี ไม่ดูแคลนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวก ละอทินนาทาน ฯลฯ ละกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ ละมุสาวาท ฯลฯ ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการเหล่านั้นแล จัดเป็นมหาทาน ที่รู้กันมาว่าเลิศ ฯลฯ ผู้ รู้ ดี ดังนี้.

    ก็แลศีล ๕ นี้ ท่านเรียกว่า ยัญ เพราะต้องสมาทานด้วยคิดว่า เราจักสละความเยื่อใยในตน และความเยื่อใยในชีวิต รักษา. บรรดาศีล และสรณคมน์นั้น สรณคมน์นั่นแหละเป็นใหญ่กว่าศีล ๕ แม้โดยแท้ แต่ศีล ๕ นี้ ท่านกล่าวว่า มีผลมากกว่าด้วยอํานาจแห่งศีล ที่บุคคลตั้งอยู่ในสรณะแล้ว รักษา.

    พราหมณ์ได้ฟังแม้ข้อนี้แล้ว ก็ยังคิดว่า การที่รักษาศีล ๕ ก็ยังหนักอยู่ สิ่งอะไรอย่างอื่น ทํานองนี้แหละ ที่มีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีผลมากกว่าศีล ๕ นี้ มีอยู่หรือหนอ. ลําดับนั้น เขาเมื่อจะทูลถามถึงข้อนั้น จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็.......มีอยู่หรือ ดังนี้เป็นต้น ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระประสงค์จะทรงแสดง ความที่ยัญมีปฐม-

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 90

ฌานเป็นต้น ของผู้ที่ดํารงอยู่ในความบริบูรณ์ด้วยศีล ๓ ประการ เป็นของใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีผลมากกว่า แก่พราหมณ์นั้น ทรงเริ่มพระธรรมเทศนา จําเดิมแต่การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า จึงตรัสพระดํารัสว่า พราหมณ์... ในโลกนี้ ดังนี้เป็นต้น. ในข้อนั้น บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยคุณ ตามที่กล่าวมาแล้วตอนต้น ดํารงอยู่ในปฐมฌานเป็นต้นแล้ว ทําทุติยฌานเป็นต้นให้เกิดอยู่ ย่อมไม่ลําบาก เพราะฉะนั้น ฌานเหล่านั้น จึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย. ก็ในฌานเหล่านี้ ปฐมฌานย่อมให้อายุในพรหมโลก ๑ กัป ทุติยฌาน ๘ กัป ตติยฌาน ๖๔ กัป จตุตถฌาน ๕๐๐ กัป จตุตถฌานนั้นนั่นแหละ อันบุคคลเจริญแล้วด้วยอํานาจแห่งสมาบัติ มีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ย่อมให้อายุตลอด ๒๐,๐๐๐ กัป ๔๐,๐๐๐ กัป และ ๘๔,๐๐๐ กัป เพราะฉะนั้น ฌานจึงมีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า. ก็ฌานนั้น พึงทราบว่าเป็นยัญ เพราะสละเสียได้ ซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์ เป็นต้น.

    แม้ วิปัสสนาญาณ เพราะบุคคลตั้งอยู่แล้ว ในคุณทั้งหลาย มีจตุตถฌานเป็นปริโยสาน ให้เกิดขึ้นอยู่ ก็ไม่ลําบาก เพราะฉะนั้น จึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย ก็วิปัสสนาญาณนี้มีผลมาก เพราะไม่มีสุขใดที่เสมอเหมือน ด้วยสุขอันเกิดจากวิปัสสนา ท่านเรียกว่า ยัญ เพราะละเสียได้ ซึ่งกิเลสอันเป็นข้าศึก.

    แม้มีโนมยิทธิ บุคคลตั้งอยู่แล้ว ในวิปัสสนาญาณ ให้เกิดขึ้นอยู่ก็ไม่ลําบาก เพราะฉะนั้น มโนมยิทธิ จึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย ชื่อว่า มีผลมาก เพราะสามารถเนรมิตรูป เช่นกับรูปของตนได้ ชื่อว่า ยัญ เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอันเป็นข้าศึกของตน. แม้ญาณมีอิทธิวิธญาณ

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 91

เป็นต้น บุคคลตั้งอยู่แล้วในมโนมยญาณ เป็นต้น ให้เกิดขึ้นอยู่ก็ไม่ลําบาก เพราะฉะนั้น อิทธิวิธญาณ เป็นต้น จึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย ชื่อว่า ยัญ เพราะละกิเลสอันเป็นข้าศึกของตนๆ เสียได้.

ก็ในญาณเหล่านี้ อิทธิวิธญาณ พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถแสดงการกระทําแปลกๆ มีอย่างต่างๆ.

ทิพยโสต พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถฟังเสียงของเทวดา และมนุษย์ได้.

เจโตปริยญาณ พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถรู้จิต ๑๖ อย่าง ของผู้อื่นได้.

บุพเพนิวาสานุสสติญาณ พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถตามระลึกถึง สถานที่ที่ตนปรารถนา และปรารถนาได้.

ทิพยจักษุ พึงทราบว่ามีผลมาก เพราะสามารถมองเห็นรูปที่ตนต้องการ และต้องการได้.

อาสวักขยญาณ พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถยังสุขอันเกิดจากโลกุตตรมรรคอันประณีตยิ่งให้สําเร็จได้. ก็ขึ้นชื่อว่า ยัญ อย่างอื่น ที่ประเสริฐกว่าพระอรหัตไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยสุดยอด คือ พระอรหัต จึงตรัสว่า พราหมณ์นี้แล ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า เอวํ วุตฺเต แปลว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอย่างนี้แล้ว กูฏทันตพราหมณ์เลื่อมใสในพระธรรมเทศนา มีประสงค์จะถึงสรณะจึงได้กล่าวคํานี้ มีว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ดังนี้ เป็นต้น. บทว่า จงพัด ความว่า ขอลมเย็นอ่อนๆ ที่จะระงับ

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 92

ความกระวนกระวายในร่างกายได้ จงพัดโชยมาต้องกาย. ก็แลพราหมณ์ ครั้นกล่าวคํานี้แล้ว จึงส่งคนไปด้วยพูดว่า แนะพ่อ ท่านจงไปเข้าไปสู่หลุมยัญแล้ว จงปล่อยสัตว์เหล่านั้นทั้งปวงจากเครื่องจองจํา. บุรุษนั้นรับคําว่า ดีแล้ว กระทําตามนั้นแล้ว กลับมาบอกว่า ท่านผู้เจริญ สัตว์เหล่านั้นหลุด พ้นไปหมดแล้ว ดังนี้

    พราหมณ์ยังไม่ได้ยินความเป็นไปนั้น ตราบใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังไม่ทรงแสดงธรรม ตราบนั้น. เพราะในจิตของพราหมณ์ยังมีความยุ่งเหยิงอยู่. แต่พอได้ยินว่า สัตว์มากมายเทียวหนอ ข้าพเจ้าปล่อยหมดแล้ว ดังนี้ วาระจิตของพราหมณ์ ก็ผ่องใส. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณ์มีใจผ่องใสแล้ว จึงทรงเริ่มพระธรรมเทศนา. ท่านหมายเอา พระธรรมเทศนานั้น จึงกล่าวคําว่า ลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้น. คําเป็นต้นว่า จิตสมควร ท่านกล่าวหมายเอาความที่นิวรณ์ ถูกข่มไว้ได้ด้วยอานุภาพแห่งอนุปุพพิกถา. คําที่เหลือมีใจความตื้นทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้แล

    อรรถกถากูฏทันตสูตร ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อ สุมังคลวิลาสินี จบแล้วด้วยประการฉะนี้

    จบ อรรถกถากูฏทันตสูตรที่ ๕