มีเจตนาฆ่ามารดาแต่มารดาไม่เป็นอะไรเป็นอนันตริยกรรมไหม

 
AC1982
วันที่  4 ม.ค. 2564
หมายเลข  33540
อ่าน  400

ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมมีอาการเครียด จนถึงกับมีอาการหูแว่วครับ และก็ระแวงคนรอบตัวไปหมด มีอยู่จุดหนึ่งที่ผมมีเจตนาฆ่ามารดาผุดขึ้นมาในใจ แต่ผมไม่ได้ตั้งใจทำอะไรนะครับ ผมขับรถให้มารดานั่ง ผมเยียบเบรกหรืออะไรผิดไม่รู้ รถกระตุก มารดาผมก็ร้องดังขึ้นมา ทันใดนั้นตัวเจตนาก็ผุดขึ้นมา ผมรู้สึกผิดมาก แต่ผมก็กลับมามีสติ ขับรถต่อไป มารดาผมไม่เป็นอะไร ตอนนี้ผมหายจากอาการหูแว่วและ delusion ต่าง ๆ แล้ว และพยายามรับใช้ดูแลมารดาผมอย่างดีที่สุด

แบบนี้ถือเป็นอนันตริยกรรมไหมครับ ผมเป็นกังวลเพราะว่ากลัวจะบรรลุธรรมไม่ได้ ผมทำอานาปานสติจนถึงตัวปีติ แต่กลับมีความร้อนแผ่ออกมาที่ร่างกาย แทนที่จะเป็นความเย็น ทำให้เข้าถึงสุขไม่ได้ครับ

ถามผู้รู้ท่านบอกว่าเป็นนันทิราคะ ให้ถือศิล 8 แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะอนันตริยกรรมหรือไม่ และผมควรจะทำอย่างไรดี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อนันตริยกรรม 

อนนฺตร (ไม่มีระหว่าง) + อิย  ปัจจัย + กมฺม (การกระทำ)

การกระทำที่ให้ผลในภพไม่มีระหว่าง หมายถึง ครุกรรมในฝ่ายอกุศลซึ่งจะให้ผลเป็นชนกกรรม นำปฏิสนธิในอบายภูมิ หลังจากสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้วแน่นอน ไม่ว่าจะเจริญกุศลที่มีอานิสงส์มากอย่างไรก็ไม่สามารถล้างการให้ผลของอนันตริยกรรมได้

อนันตริยกรรม มี ๕ อย่าง คือ

๑. ฆ่ามารดา

๒. ฆ่าบิดา

๓. ฆ่าพระอรหันต์

๔. ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ

๕. ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

อนันตริยกรรมที่เป็นการฆ่าบิดา มารดา กรรมจะสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการตายของบิดา มารดา อันมีเจตนาฆ่าเป็นสำคัญ ครับ ถ้ายังไม่ถึงกับสิ้นชีวิตก็ไม่เป็นอนันตริยกรรม ครับ

ส่วนอานาปานสติ เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งต้องเป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจจริงๆครับ อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด ประณีต จึงเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ

อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติ มีทั้งที่เป็นใน สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่าใครทำ เราหรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นอานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฏที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้น ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรม ครับ

เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒  หน้าที่ 364

จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีสติ มีความรู้ตัวเท่านั้น แม้ก็จริง ถึงกระนั้น กรรมฐานอย่างอื่น นอกจากอานาปานสติกรรมฐานนี้ ย่อมปรากฏได้แก่ผู้ที่มนสิการอยู่ แต่อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นภาระหนัก เจริญสำเร็จได้ยาก ทั้งเป็นภูมิแห่งมนสิการ ของมหาบุรุษทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกรรมฐานต่ำต้อย ทั้งมิได้เป็นกรรมฐานที่สัตว์ผู้ต่ำต้อยซ่องเสพ เป็นกรรมฐานสงบและละเอียด โดยประการที่มหาบุรุษทั้งหลายย่อมทำไว้ในใจ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่  ๑๕๙

ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราสามารถพอที่จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน


"ผู้ที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ ก็ทราบว่าวันหนึ่งท่านก็จะต้องจากไป แต่ถ้าไม่เลี้ยงดูท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ เป็นผู้ไม่เห็นคุณของมารดาบิดา เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะเห็นคุณของบุคคลอื่นได้อย่างไร แม้แต่ผู้ที่เป็นมารดาบิดาซึ่งเลี้ยงดูให้ทุกสิ่งทุกอย่างมา ให้ความสุขสบายมาตั้งแต่เกิด ผู้นั้นก็ยังไม่เห็นคุณ ยังไม่กตเวทีกระทำตอบแทนคุณของท่าน เพราะฉะนั้นจะคิดถึงคุณของบุคคลอื่น ก็คงยาก เพราะแม้แต่คุณของมารดาบิดา ก็ไม่เห็น"

อ้างอิงจากหัวข้อ ...  ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๐๒


มารดา เป็นบุคคลผู้มีพระคุณ ที่ควรอย่างยิ่งที่บุตรธิดาจะทำสิ่งที่ดี ตอบแทนพระคุณของท่าน ไม่ใช่การทำร้ายเบียดเบียนท่าน แม้เพียงคิดไม่ดีต่อท่าน ก็ไม่ควรแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ออกมาด้วยกำลังของอกุศล ว่าจะไม่เหมาะสมเพียงใด แต่สิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ก็ตั้งต้นใหม่ ด้วยการเป็นคนดี ทำสิ่งที่ดี ดูแลท่านอย่างดีที่สุด เพราะความเป็นปุถุชน มากไปด้วยกิเลส เมื่อประมาท ก็เป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควรได้แม้กับผู้มีพระคุณ เพราะฉะนั้น จะประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลยทีเดียว    

สำหรับเรื่องปฏิบัติธรรม ก็ต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ในขั้นของการฟัง ซึ่งจะต้องได้อาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงไปทีละเล็กทีละน้อย นี้คือ การตั้งต้นที่ถูกต้อง ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความจดจ้องต้องการ ด้วยความไม่รู้ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ยังไม่เป็นอนันตริยกรรม แต่เป็นอกุศลจิตที่คิดเบียดเบียนมารดา มารดา บิดาเป็นผู้มีพระคุณมาก ควรตอบแทนพระคุณท่านด้วยการเป็นคนดีศึกษาธรรมะและดูแลท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก 

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ