กตัญญู กตเวทิตาธรรม มีความหมายถึงบุคคลหรือสภาพธรรมใดบ้าง

 
Thanapolb
วันที่  5 พ.ย. 2563
หมายเลข  33258
อ่าน  3,599

เคยได้อ่านคำอธิบายเกี่ยวกับผู้มีความกตัญญู และเข้าใจว่า "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" คือธรรมที่รู้คุณที่ต่างจากคุณที่เขาทำ (ไว้แล้ว) เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี อันได้แก่ กุศลจิต เจตสิกธรรม มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น อย่างนั้นใช่ไหมครับ หรือมีความหมายอย่างอื่นด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า กตัญญู หมายถึง บุคคลผู้รู้คุณที่ผู้อื่นกระทำดีแก่ตน คำว่า กตเวทิตาธรรม หมายถึง ธรรม คือ ความเป็นผู้กระทำตอบแทนคุณท่าน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ ๗๕๑

บทว่า กตญฺญุตา ได้แก่ รู้คุณที่ผู้อื่นทำ

บทว่า กตเวทิตา ได้แก่ รู้คุณที่ต่างจากคุณที่เขาทำ (ตอบแทน)

บทว่า กตญญูกตเวที ได้แก่ ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้วตอบแทนภายหลัง


ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตน แต่เพราะมีสภาพธรรมฝ่ายดี คือ กุศลจิต และเจตสิกธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไป มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น ที่รู้คุณความดีของผู้อื่น ชื่นชมสรรเสริญในความดีของผู้อื่น แล้วมีการกระทำตอบแทนตามกำลังความสามารถของตน ก็เรียกว่า เป็นบุคคลผู้กตัญญูกตเวที ซึ่งก็ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไป คือ ธรรมฝ่ายดี นั่นเอง ซึ่งจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับอกุศลธรรม เพราะถ้าเป็นอกุศลแล้ว จะไม่มีการชื่นชมหรือรู้คุณของความดีและจะไม่มีการกระทำสิ่งที่ดีตอบแทนเลย ดังนั้น กตัญญูกตเวทิตาธรรม ก็ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีงาม เท่านั้น ครับ


ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

สำหรับกตัญญูกตเวทีบุคคล ข้อความในอรรถกถาปุคคลบัญญัติ แสดงว่าบุคคลใดรู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน ประกาศอยู่ซึ่งอุปการะที่เป็นไปตามสมควรแก่อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า กตัญญูกตเวที เปรียบเหมือนบุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดาและบิดา หรือในอาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย สำหรับผู้ที่เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล คือ ผู้ที่รู้อุปการคุณที่บุคคลอื่นกระทำแล้วในตนแล้วประกาศอยู่ คือ แสดงความรู้คุณความดีของบุคคลนั้นด้วยกาย ด้วยวาจา ทางกายอาจจะโดยความเอาใจใส่ เป็นธุระต้อนรับ เชื้อเชิญดูแลช่วยเหลือต่างๆ ทางวาจาก็เป็นปฏิสันถาร เป็นความเอื้อเฟื้อต่างๆ เป็นต้น


ขอเชิญคลิกอ่านตัวอย่างชีวิตของผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที ได้ที่ห้วข้อด้านล่างนี้ครับ

พญาช้างยอดกตัญญู มาตุโปสกชาดก

บูชาผู้มีคุณ [ขุททกนิกาย ชาดก ติรีตีวัจฉชาดก]

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Thanapolb
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับ อาจารย์คำปั่น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ