บูชาผู้มีคุณ [ขุททกนิกาย ชาดก ติรีตีวัจฉชาดก]

 
khampan.a
วันที่  23 ก.ค. 2556
หมายเลข  23234
อ่าน  1,778

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๘๐

๙. ติรีติวัจฉชาดก

(ควรบูชาผู้มีพระคุณ)

[๓๗๖] กรรมอะไรๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้มิได้มีเลย อนึ่ง ดาบสนั้นไม่ใช่พระญาติพระวงศ์ ไม่ใช่พระสหายของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุไร ติรีติวัจฉดาบสผู้มีมือถือไม้ ๓ อัน จึงบริโภคก้อนข้าวอันเลิศ

[๓๗๗] เมื่อเรารบพ่ายแพ้โจร ตกอยู่ในฐานะอันตราย ติรีติวัจฉดาบสผู้นี้ได้กระทำความอนุเคราะห์แก่เราผู้เดียวในป่าที่ไม่มีน้ำ น่าหวาดเสียว เมื่อเราได้รับความลำบากก็ได้พาดพะอง (บันได) ให้ เพราะเหตุนั้น เราแม้ถูกความทุกข์เบียดเบียนแล้วก็ขึ้นจากบ่อได้

[๓๗๘] เรามาถึงเมืองนี้ได้โดยความยาก เพราะอานุภาพของติรีติวัจฉดาบสผู้นี้ เราถึงจะเป็นอยู่ในมนุษยโลก ก็เหมือนกับไปปรโลกอันเป็นวิสัยของมัจจุราช ลูกรัก ติรีติวัจฉดาบสเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยลาภ ท่านทั้งหลายจงพากันถวายของควรบริโภคและของควรบูชาแก่ ท่านติรีติวัจฉดาบสเถิด

จบ ติรีติวัจฉชาดกที่ ๙

อรรถกถาติรีติวัจฉชาดกที่ ๙

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการที่ท่านพระอานนท์ได้ผ้า ๑,๐๐๐ ผืน คือได้จากมือแห่งพระสนมของพระเจ้าโกศล ๕๐๐ ผืน ได้จากพระหัตถ์ของพระราชา ๕๐๐ ผืน

จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า นยิมสฺส วิชฺชา ดังนี้ เรื่องท่านกล่าวไว้พิสดารแล้ว ในสิคาลชาดก ทุกนิบาต ในหนหลัง (ในที่นี้) ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในแคว้นกาสี ในวันตั้งชื่อ พวกญาติได้ตั้งชื่อว่า ติรีติวัจฉกุมาร. พระโพธิสัตว์นั้น ได้ถึงความเจริญวัยโดยลำดับ ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ทุกอย่างในเมืองตักกศิลาแล้วอยู่ครองเรือน เมื่อบิดามารดาทำกาลกิริยาตายไป แล้วสลดใจ จึงออกบวชเป็นฤาษี มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร สำเร็จการอยู่ในราวป่า

เมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ในราวป่านั้น ท้องถิ่นชายอาณาเขตของพระเจ้าพาราณสี เกิดกำเริบจลาจลขึ้น พระองค์เสด็จไปในประเทศชายแดนนั้น ทรงพ่ายแพ้ในการรบ ทรงกลัวต่อมรณภัย เสด็จขึ้นคอช้าตัวประเสริฐเท่านั้น เสด็จหนีไปทางด้านหนึ่ง ท่องเที่ยวไปในป่า พอดีเป็นเวลาเช้า เป็นเวลาที่ติรีติวัจฉฤๅษีออกไปเพื่อต้องการผลาผล จึงเสด็จเข้าไปยังอาศรมของติรีติวัจฉฤๅษีนั้น

พระราชานั้นทรงทราบว่าเป็นสถานที่อยู่ของดาบส จึงเสด็จลงจากคอช้าง ทรงเหน็ดเหนื่อย เพราะลมและแดด จึงทรงกระหายน้ำ ทอดพระเนตรหาหม้อน้ำ ก็ไม่ทรงเห็นในที่ไหน แต่ได้ทรงเห็นบ่อน้ำอยู่ในท้ายที่จงกรม แต่เมื่อเที่ยวหาเชือกและกระออม เพื่อต้องการจะตักน้ำ ก็มิได้เห็น เมื่อไม่ทรงสามารถจะอดกลั้นความกระหายน้ำ จึงเอาเชือกที่รัดท้องช้างมา ให้ช้างยืนอยู่ใกล้ปากบ่อน้ำ เอาเชือกผูกที่เท้าช้างนั้น แล้วไต่เชือกลงบ่อน้ำ เชือกก็ยังไม่พอ จึงเสด็จกลับขึ้นมาใหม่ ทรงเอาผ้าสาฎกสำหรับห่มต่อเข้ากับปลายเชือกแล้วเสร็จลงไปอีก แม้ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่พออยู่ดี พระองค์ทรงเอาปลายพระบาททั้งสองแตะน้ำ กลับทรงกระหายยิ่งขึ้น บรรเทาความกระหายไม่ได้ จึงทรงพระดำริว่า แม้จะตายก็ตายดี แล้วปล่อยให้ตกลงไปในบ่อน้ำ ดื่มจนพอแก่ความต้องการ เมื่อไม่สามารถจะกลับขึ้นมา จึงได้ประทับยืนอยู่ในบ่อน้ำนั้นนั่นเอง. ในเวลาเย็น พระโพธิสัตว์นำเอาผลาผลทั้งหลายมา แลเห็นช้างจึงคิดว่า พระราชาคงจักเสด็จมา ช้างทรงจึงปรากฏ เหตุอะไรหนอ จึงเข้าไปใกล้ช้าง

ฝ่ายช้างรู้ว่าพระโพธิสัตว์นั้นเข้ามาหา จึงได้ยินเสีย ณ ส่วนข่างหนึ่ง พระโพธิสัตว์เดินไปยังปากบ่อน้ำ แลเห็นพระราชา จึงปลอบโยนว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่ากลัวเลย แล้วผูกบันใดให้พระราชาเสด็จขึ้น นวดฟั้น พระวรกายของพระราชา หาน้ำมันให้สรงสนาน ให้เสวยผลไม้น้อยใหญ่ แล้วให้เปลื้องเครื่องผูกสอดช้าง พระราชาทรงพักอยู่ ๒-๓ วัน ทรงถือเอาปฏิญญา เพื่อให้พระโพธิสัตว์มาสำนักของพระองค์ แล้วเสด็จหลีกไป.

พลนิกายของพระราชาตั้งค่ายอยู่ในที่ไม่ไกลพระนคร เห็นพระราชาเสด็จมาจึงพากันห้อมล้อม พระราชาเสด็จเข้ายังพระนคร ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ต่อล่วงเวลาไปกึ่งเดือน ก็ไปยังนครพาราณสี พักอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารไปถึงประตูวัง พระราชาทรงเปิดพระแกลบานใหญ่ ทอดพระเนตรพระลานหลวง ทรงเห็นพระโพธิสัตว์ก็จำได้ จึงเสด็จลงมาจากปราสาท ไหว้ แล้วทรงพาขึ้นท้องพระโรง ให้นั่งบนราชบัลลังก์ที่ยกเศวตฉัตร ให้ฉันอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับพระองค์ แม้พระองค์เองก็เสวย

เสร็จแล้วนำไปยังพระราชอุทยาน ให้สร้างสถานที่อยู่ประกอบด้วยที่จงกรมเป็นต้น แก่พระโพธิสัตว์นั้น ในพระราชอุทยานนั้น แล้วถวายบริขารสำหรับบรรพชิตทุกอย่าง ทรงมอบหมายให้นายอุทยานบาลเป็นเวรดูแล ไหว้แล้วเสด็จหลีกไป จำเดิมแต่นั้น พระโพธิสัตว์บริโภคเฉพาะในพระราชนิเวศน์ ได้มีสักการะและสัมมานะ (นับถือ) มากมาย อำมาตย์ทั้งหลาย อดทนการกระทำอันนั้นไม่ได้พากันกล่าวว่า สักการะเห็นปานนี้ ทหารแม้คนหนึ่งเมื่อจะได้ ควรกระทำอย่างไร

แล้วพากันเข้าไปเฝ้าอุปราช ทำความเคารพแล้วทูลว่า ขอเดชะพระราชาของข้าพระองค์ ยึดถือพระดาบสรูปหนึ่งว่าเป็นของเราเสีย อย่างจริงจัง ชื่อคุณอะไรที่พระราชานั้นได้ทรงเห็นในพระดาบสนั้น ขอพระองค์โปรดทรงปรึกษาหารือกับพระราชาดูก่อน อุปราชรับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระราชาพร้อมกับพวกอำมาตย์ ถวายบังคมแล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

กรรมอะไรๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้ มิได้มีเลย อนึ่ง ดาบสนั้น ก็ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ ไม่ใช่พระสหายของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุอะไร ตีรีติวัจฉดาบส ผู้มีมือถือไม้ ๓ อัน จึงบริโภคก้อนข้าวอันเลิศ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นยิมสฺส วิชฺชามยมตฺถิ กิญฺจิ ความว่า การงานอะไรๆ อันสำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้ มิได้มี

บทว่า น พนฺธโว ความว่า บรรดาเผ่าพันธุ์ทางโอรส เผ่าพันธุ์ทางศิลปะ เผ่าพันธุ์ทางพระโคตร และเผ่าพันธุ์ทางพระญาติ แม้เผ่าพันธุ์ทางใดทางหนึ่ง ก็มิได้มี.

บทว่า โน ปน เต สหาโย ความว่า ทั้งไม่ได้เป็นพระสหายผู้เล่นฝุ่นมากับพระองค์

บทว่า เกน วณฺเณน แปลว่า เพราะเหตุไร

คำว่า ติรัติวัจโฉ เป็นชื่อของดาบสนั้น

บทว่า เตทณฺฑิโก ความว่า ผู้ถือไม้ ๓ อัน เพื่อต้องการวาง (แขวน) คณโฑน้ำเที่ยวไป.

บทว่า อคฺคปิณฺฑ ความว่า ย่อมบริโภคโภชนะอันเลิศสมบูรณ์ด้วยรส อันควรแก่พระราชา.

พระราชาได้ทรงสดับ ดังนั้น จึงตรัสเรียกพระโอรสมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ เจ้ายังจะระลึกได้ถึงคราวที่พ่อไปประเทศชายแดน รบแพ้ กลัวไม่ได้มา ๒-๓ วัน เมื่อพระโอรสทูลว่า ระลึกได้พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ในคราวนั้นพ่ออาศัยดาบสนี้ จึงได้รอดชีวิต แล้วตรัสบอกเรื่องราวทั้งหมด แล้วตรัสต่อไปว่า ดูก่อนพ่อ เมื่อท่านผู้ให้ชีวิตเรา มายังสำนักของเรา แม้เมื่อจะให้ราชสมบัติ เราก็ไม่อาจที่จะกระทำให้สมควร แก่คุณที่ท่านดาบสนี้ได้กระทำไว้ ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถานี้ว่า :-

เมื่อเรารบพ่ายแพ้ ตกอยู่ในอันตรายทั้งหลาย ติรีติวัจฉดาบสผู้นี้ ได้กระทำความอนุเคราะห์แก่เรา ผู้ตัวคนเดียวไม่มีเพื่อน ในป่าที่ไม่มีน้ำอันทารุณร้ายกาจ ได้เหยียดมือ ช่วยเรา ผู้ได้รับความลำบาก เพราะเหตุนั้น เราแม้ถูกความทุกข์ครอบงำ ก็ขึ้นจากบ่อน้ำได้ เรามาถึงเมืองนี้ได้ โดยความยากของดาบสผู้นี้ เราถึงจะเป็นอยู่ในมนุษยโลก ก็เหมือนกับไปยังประโลกอันเป็นวิสัยของพระยม ลูกรัก ติรีติวัจฉดาบส เป็นผู้ควรแก่ปัจจัยลาภ ท่านทั้งหลายจงถวายของควรบริโภค และยัญที่ควรบูชาแก่ติรีติวัจฉดาบสเถิด

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาปาสุ ได้แก่ ในอันตรายทั้งหลาย

บทว่า เอกสฺส ได้แก่ ไม่มีเพื่อน

บทว่า กตฺวา ได้แก่ กระทำความอนุเคราะห์ คือทำความรักให้เกิดขึ้น

บทว่า วิวนสฺมึ ได้แก่ ในป่าที่เว้นจากน้ำดื่ม

บทว่า โฆเร แปลว่า ร้ายกาจ

บทว่า ปสารยิ กิจฺฉคตสฺส ปาณี ความว่า ติรีติวัจฉดาบสผูกพะอง เหยียดมืออันประกอบด้วยความเพียรออก เพื่อช่วยเราผู้ตกบ่อ ได้รับความทุกข์ให้ขึ้นจากบ่อ.

บทว่า เตนุทฺธตารึ ทุขสมฺปเรโต ความว่า เพราะเหตุนั้น แม้เราจะถูกุความทุกข์ครอบงำก็ขึ้นจากบ่อนั้นได้

บทว่า เอตสฺส กิจฺเฉน อิธานุปตฺโต ความว่า เรามาถึงเมืองนี้ได้ด้วยความยากของดาบสผู้นี้ คือ ด้วยอานุภาพแห่งความยากที่ท่านดาบสผู้นี้กระทำ.

บทว่า เวยฺยาสิโน วีสยา ความว่า ท้าวยม เรียกว่า เวยยาสิ วิสัยแห่งท้าวยมนั้น.

บทว่า ชีวโลเก ได้แก่ ในมนุษยโลก ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ด้วยว่าเราผู้ยังดำรงอยู่ในมนุษยโลกนี้แหละ แต่ก็ได้เป็นคนผู้ชื่อว่าไปยังปรโลกด้วยอันเป็นวิสัยของพระยม คือเป็นวิสัยแห่งพระยามัจจุราช เรานั้นเป็นผู้จากวิสัยแห่งพระยมมาเมืองนี้ได้อีก เพราะเหตุแห่งดาบสผู้นี้

บทว่า ลาภารโห แปลว่า เป็นผู้ควรแก่ลาภ คือ เป็นผู้สมควรได้จตุปัจจัยทั้ง ๔

บทว่า เทถสฺส โภค ความว่า ท่านทั้งหลายจงให้เครื่องบริโภค กล่าวคือสมณบริขารอันเป็นปัจจัย ๔ ที่ดาบสนี้พึงใช้สอยแก่ดาบสผู้นี้

บทว่า ยชิตญฺจ ยญฺ ความว่า ท่านทั้งหลาย แม้ทั้งปวง คือ ตัวเจ้า พวกอำมาตย์ และชาวนครจงให้เครื่องบริโภค และบูชายัญแก่ดาบสนี้ ด้วยว่า ไทยธรรมที่ท่านทั้งหลายให้แก่ดาบสนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นเครื่องบริโภค เพราะเป็นของที่ดาบสนั้นจะต้องบริโภคใช้สอย และชื่อว่าเป็นยัญ เพราะเป็นยัญคือทานของคนนอกนี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงพากันถวายของควรบริโภค และของควรบูชาแก่ติรีติวัจฉดาบสเถิด.

เมื่อพระราชาทรงประกาศคุณของพระโพธิสัตว์ ประดุจทำพระจันทร์ให้ลอยเด่นขึ้นในพื้นท้องฟ้า ด้วยประการอย่างนี้ คุณของติรีติวัจฉดาบสนั้น ก็เกิดปรากฏมีประโยชน์ในทุกสถานที่ทีเดียว และลาภสักการะอันเหลือเฟือยิ่งก็เกิดขึ้นแก่ติรีติวัจฉดาบสนั้น จำเดิมแต่นั้นใครๆ จะเป็นอุปราช พวกอำมาตย์ หรือคนอื่นก็ตาม ย่อมไม่อาจว่ากล่าวอะไรๆ พระราชาได้ พระราชาทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ทรงทำให้สวรรค์เต็มบริบูรณ์ ส่วนพระโพธิสัตว์ก็ทำอภิญญา และสมาบัติทั้งหลายให้เกิดขึ้น ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ที่ว่า แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายก็กระทำการอุปการะ ดังนี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก ว่า พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนพระดาบส ในกาลนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล

จบ อรรถกถาติรีติวัจฉชาดกที่ ๙


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jarunee.A
วันที่ 16 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ