[คำที่ ๑๘๙] สทฺธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  9 เม.ย. 2558
หมายเลข  32309
อ่าน  387

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สทฺธมฺม”

คำว่า สทฺธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สัด - ดำ - มะ] มาจากคำว่า สนฺต (สงบจากกิเลส) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า,ธรรม) รวมกันเป็น สทฺธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า สัทธรรม แปลว่า  พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นไปเพื่อความสงบจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ข้อจากมโนรถปูรณี อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมอุปาลิสูตร แสดงประเภทของสัทธรรมไว้ ดังนี้ “สัทธรรมมี ๓ อย่าง คือ ปริยัตติ-สัทธรรม ปฏิปัตติสัทธรรม   อธิคมสัทธรรม,  บรรดาสัทธรรม ๓ อย่างนั้น  พุทธวจนะแม้ทั้งสิ้น ชื่อว่า ปริยัตติสัทธรรม, สัทธรรมนี้คือ ธุดงค์คุณ  ๑๓ (ธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส) จาริตศีล(ศีล คือ การน้อมประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ) วาริตศีล (ศีล คือ การงดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น) สมาธิ (ความตั้งมั่น) วิปัสสนา (ปัญญาที่เห็นอย่างแจ่มแจ้ง) ชื่อว่า ปฏิปัตติสัทธรรม, โลกุตตรธรรม  ๙ (มรรคจิต ๔  ผลจิต ๔ และพระนิพพาน) ชื่อว่า อธิคมสัทธรรม”


พระสัทธรรม เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความสงบจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดนำไปสู่การที่จะดับกิเลสให้ถึงความเป็นผู้สงบอย่างแท้จริง ทรงแสดงหลายนัย ทั้งโดยนัยที่เป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้งโดยนัยที่เป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่พ้นไปจากคำสอนที่เกิดจากการทรงตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่สัตว์โลก ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ประโยชน์อยู่ที่ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาเป็นสำคัญ  

พระสัทธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เกิดจากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก การแสดงพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง เปรียบเหมือนกับวางสิ่งของนับพันอย่างไว้ทุกประตูเรือนที่พระสัทธรรมไปถึง แล้วแต่ผู้ใดจะเปิดประตูรับสิ่งของอันมีค่ามหาศาลนั้นๆ ไว้ หรือว่าบางคนอาจจะไม่เปิดประตูเลย ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นคุณค่าของพระสัทธรรมหรือไม่? บุคคลผู้เห็นคุณค่าของพระสัทธรรม ย่อมจะตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพเพื่อความเข้าใจสิ่งที่จริง ตามความเป็นจริง, บุคคลผู้ที่สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกมาในอดีต มีศรัทธา เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ก็ย่อมจะผู้เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาธรรม อบรมเจริญปัญญาเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และความเข้าใจคือปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลส ทำให้ความความสงบจากกิเลสได้ในที่สุด

สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง  คือ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระสัทธรรม ความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมเกิดไม่ได้, เมื่อไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว  ย่อมทำให้เป็นผู้มีความเห็นผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เมื่อเห็นผิด การปฏิบัติก็ผิด ผิดคนเดียวยังไม่พอ  ยังอาจเผยแพร่ความเห็นผิดให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งเป็นอันตรายมากทั้งแก่ตัวผู้เผยแพร่และแก่ผู้อื่น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จิตใจย่อมเสื่อมจากคุณธรรม เสื่อมจากความดี นั่นหมายความว่า เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อมเร็วขึ้น ดำรงอยู่ได้ไม่นาน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าพุทธบริษัทศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ มีความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องไปตามลำดับพร้อมทั้งน้อมปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่มีความเห็นถูกตรงตามพระธรรมคำสอน เมื่อมีความเห็นถูก กาย วาจา ใจ ก็จะเป็นไปในทางที่ถูกยิ่งขึ้น ต่อจากนั้นก็สามารถกล่าวความจริงเกื้อกูลบุคคลอื่นให้ตั้งอยู่ในความเห็นถูกด้วย ผู้ที่ได้รับการเกื้อกูลก็จะค่อยๆ ได้เริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ พระพุทธศาสนา หรือ พระสัทธรรม ก็สืบทอดต่อไปได้นาน ดำรงอยู่นาน ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็เพราะมีความเข้าใจที่ถูกต้องของพุทธบริษัท

การที่จะเข้าใจคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง มีหนทางเดียวเท่านั้นจริงๆ คือ ต้องศึกษาพระธรรมอย่างละเอียด รอบคอบ ผู้ที่ไม่ศึกษาพระธรรมแล้วคิดว่า จะเข้าใจพระธรรมได้โดยไม่ศึกษา ผู้นั้นก็เป็นผู้ประมาทพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ความจริงและทรงแสดงความจริงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง โดยกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาก็เข้าใจได้  ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะแท้ที่จริงแล้ว ปัญญาจะเจริญขึ้น ต้องมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรม  

ถ้าพุทธบริษัทไม่ศึกษาพระสัทธรรม หรือหยิบยกเอาพระธรรมเพียงเล็กน้อยมาเพิ่มเติมใส่ความคิดเห็นของตนเองทั้งปริยัติและปฏิบัติ ก็จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจในพระธรรมเลยแม้แต่น้อย     


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ