[คำที่ ๑๙๑] ปรมัตฺถธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  23 เม.ย. 2558
หมายเลข  32311
อ่าน  412

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปรมตฺถธมฺม”

คำว่า ปรมตฺถธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ระ - มัด - ถะ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า ปรม (อย่างยิ่ง, ไม่เปลี่ยนแปลง, เปลี่ยนแปลงไม่ได้) อตฺถ (ลักษณะที่จะรู้ได้) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น ปรมตฺถธมฺม แปลว่า สิ่งที่มีจริง มีลักษณะที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แปลทับศัพท์เป็น  ปรมัตถธรรม แสดงถึงสิ่งที่มีจริง ๆ ๔ อย่าง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และ พระนิพพาน ซึ่งสิ่งที่มีจริงนั้นไม่พ้นไปจากปรมัตถธรรม ๔ เลย เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดงแก่สัตว์โลกเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ตามข้อความจาก อภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา ว่า

“พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย  ย่อมทรงประกาศปรมัตถธรรมไว้เพียง ๔ อย่าง  คือ จิต  ๑  เจตสิก  ๑  รูป ๑   นิพพาน ๑  ด้วยประการฉะนี้”


ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เคยไม่รู้ แม้ว่าจะมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ปรากฏด้วย เช่น ทางตามีสภาพธรรมปรากฏให้เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปธรรม แต่ความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ ในขณะนี้ให้ทราบว่า รูปธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันอยู่ และนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับ และเกิดดับสืบต่อกันอยู่ แต่เพราะสภาพธรรมที่เกิดและดับอย่างรวดเร็ว และมีสภาพธรรมอื่นเกิดดับสืบต่ออยู่ ความไม่รู้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละขณะ ทำให้มีการยึดถือสัณฐาน หรืออาการของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ จึงเรียกว่า ปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น ปรมัตถธรรม มี ๔ ประเภท ได้แก่  

จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตแม้จะมีหลากหลายประเภท ตามเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย บ้าง  หลากหลายตามอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ บ้าง หลากหลายตามภูมิคือระดับขั้นของจิต บ้าง แต่ก็มีลักษณะเดียวคือมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ตัวอย่างของจิต เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น

เจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต   ตัวอย่างเจตสิก เช่น ผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ เวทนา ความรู้สึก โลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ  ศรัทธา ความเลื่อมใส ความผ่องใส สติ ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม หิริ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป  ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น   

รูปปรมัตถ์  เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะสมุฏฐานต่างๆ กล่าวคือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมมีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน  บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ตัวอย่างของรูปปรมัตถ์ เช่น สี เสียง กลิ่น รส  ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม จักขุปสาทะ(ตา) โสตปสาทะ (หู) ฆานปสาทะ(จมูก) ชิวหาปสาทะ (ลิ้น) กายปสาทะ (กาย) เป็นต้น    

และมีปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ นิพพานปรมัตถ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างสิ้นเชิง

ในขณะนี้เอง ปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่รู้ปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง จึงถืออาการของรูปและนาม ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน หรือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนี้รูปกำลังเกิดดับทั้งภายในที่ตัวเอง และภายนอกที่ปรากฏที่เห็นทางตา หรือที่ได้ยินทางหู เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปแต่ละลักษณะ รูปทางตาก็เกิดดับ รูปทางหูก็เกิดดับ รูปทางจมูกก็เกิดดับ รูปทางลิ้นก็เกิดดับ รูปที่กายที่กำลังกระทบสัมผัสก็เกิดดับ

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงมีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการ โดยสัณฐาน ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ค่อยๆศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าลักษณะของปรมัตถธรรมนี้จะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นก็สามารถที่จะประจักษ์แม้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้   จึงจะไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะตามที่ได้ศึกษามาตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนของจิต เจตสิก รูป ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตราบนั้นก็ยังเห็นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังมีความยึดถือว่า เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนต่างๆ

เพราะฉะนั้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ในที่สุด ซึ่งจะขาดการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ในขณะนี้ไม่ได้เลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ