[คำที่ ๑๙๓] ปริยตฺติธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  7 พ.ค. 2558
หมายเลข  32313
อ่าน  513

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปริยตฺติธมฺม”

คำว่า ปริยตฺติธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ริ - ยัด - ติ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า ปริยตฺติ (ความรู้รอบรู้,สิ่งที่ควรศึกษาให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง, คำอันควรศึกษาให้เข้าใจโดยรอบ) กับ คำว่า ธมฺม (คำสอน) รวมกันเป็น ปริยตฺติธมฺม แปลโดยใจความได้ว่า ธรรมที่เป็นปริยัติที่ควรศึกษาให้เข้าใจ คือ พระพุทธพจน์ เขียนเป็นไทยได้ว่า ปริยัติธรรม ข้อความจาก สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก อธิบายไว้ว่า ปริยัติธรรม หรือ ปริยัติสัทธรรม นั้น ได้แก่ พระพุทธ-พจน์  ดังนี้ คือ

-ที่ชื่อว่า ปริยัติสัทธรรม  ได้แก่  พุทธพจน์แม้ทั้งสิ้น  รวมด้วยพระไตรปิฎก

-พุทธพจน์  คือ  ปิฎก  ๓ (พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก) ชื่อว่า ปริยัติสัทธรรม.


ปริยัติ หรือ ปริยัติธรรม คือ พระพุทธพจน์ การศึกษาปริยัติ ก็คือ การศึกษาพระพุทธพจน์, พระพุทธพจน์ เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นวาจาสัจจะ เป็นคำจริงทุกคำ เป็นคำที่ทรงแสดงถึงธรรมคือสิ่งที่มีจริงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง การศึกษาพระพุทธพจน์ นั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเห็นถูก เพื่อให้เกิดความรอบรู้จริงๆ จนมีความมั่นคงในความเป็นธรรม

ตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนเกิดมาด้วยอวิชชา(ความไม่รู้) การที่จะมีความรู้ซึ่งค่อยๆ ละคลายอวิชชาก็โดยการศึกษาพระพุทธพจน์  ซึ่งไม่มีใครสามารถเข้าใจเองได้โดยไม่ศึกษาปริยัติ ซึ่งก็คือพระพุทธพจน์แต่ละคำ แม้แต่คำว่าธรรม สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธพจน์จะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้, ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะที่มีจริง เป็นธรรมทั้งหมด

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงความจริงคือความเป็นธรรมเพื่อให้สาวก คือ ผู้ฟัง มีความเข้าใจที่มั่นคงจนเป็นสัจจญาณซึ่งก็คือปัญญาความเข้าใจมั่นคง ว่าขณะนี้เป็นธรรม ธรรมไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะธรรมเกิดดับเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยและไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เรื่องการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่าบางคนอาจจะมีความคิดว่า อยากจะปฏิบัติเท่านั้น เพียงแต่ว่าอยากจะปฏิบัติอย่างเดียว แต่จะไม่ฟังพระธรรม เพราะคิดว่าเรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการฟังพระธรรมนั้นไม่สำคัญ ถ้าบุคคลใดคิดอย่างนี้ บุคคลนั้นจะปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ฟังพระธรรม ก็ย่อมไม่เข้าใจพระธรรม เพราะว่าในขณะนี้คือธรรมทั้งหมด ไม่ว่าทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ก็เป็นธรรมทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังพระธรรม คือ ปริยัติ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรม ก็จะไม่มีความเข้าใจใดๆ พอที่จะสติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะปฏิบัติโดยที่จะไม่ฟังพระธรรมนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย และสำหรับการฟังพระธรรม ก็จะต้องฟังไปจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องแล้ว การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคิดว่าจะปฏิบัติ เมื่อฟังพระธรรมจนกระทั่งเมื่อเข้าใจแล้วจะไม่ต้องคิดเลยว่าจะปฏิบัติ เพราะเหตุว่าแล้วแต่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เมื่อใด ขณะนั้นสติก็ปฏิบัติกิจของสติ ถ้ากำลังอยากจะปฏิบัติ หรือคิดว่าจะปฏิบัติ ก็ยังเป็นตัวตน ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่คิดนั้นเป็นนามธรรมที่คิด แต่เมื่อสติไม่ระลึก ก็ไม่สามารถที่จะไถ่ถอนความเป็นตัวเราได้ในขณะที่กำลังคิด แต่เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อนั้นก็ไม่ต้องคิดที่จะปฏิบัติ แล้วแต่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ก็ระลึกทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไปเรื่อยๆ ความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องคิดว่าจะปฏิบัติ

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ความรอบรู้ในปริยัติที่ตรงที่ไม่ผิดพลาดไม่คลาดเคลื่อน ย่อมเป็นปัจจัยให้เริ่มเข้าใจลักษณะของธรรม คือ เข้าใจในสิ่งที่กำลังเกิดปรากฏขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน พระพุทธพจน์ แสดงเรื่องจิต สติ ปัญญา ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ ตา  หู จมูก ลิ้น กาย สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่มีใครสามารถคิดเองได้ ถ้าไม่ศึกษาพระปริยัติคือพระพุทธพจน์แล้วไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกตรงตามความเป็นจริงได้เลย เมื่อไม่มีความเข้าใจก็จะทำให้ดำเนินไปในทางที่ผิด ปฏิบัติผิด พอกพูนความไม่รู้ ความติดข้อง ความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้น รากฐานที่สำคัญ ก็คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นปริยัติ ด้วยความจริงใจ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง เพราะพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แต่ละคำๆ นั้น เกื้อกูลแก่ผู้ไม่รู้ซึ่งมากไปด้วยอวิชชาและกิเลสทั้งหลาย ให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ค่อยๆ พ้นจากความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ