[คำที่ ๙o] ปญฺจ สีล

 
Sudhipong.U
วันที่  16 พ.ค. 2556
หมายเลข  32210
อ่าน  304

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปญฺจ  สีล”

คำว่า ปญฺจ สีล เป็นคำภาษาบาลีทั้งสองคำ แปลรวมกันได้ว่า ศีล ๕ หรือ เบญจศีล [ปญฺจ (๕ ) และ สีล (ศีล)] ซึ่งคำว่า ศีล  นั้น  มีความหมายหลากหลายนัย โดยทั่วไปแล้ว หมายถึง ความประพฤติที่ดีงาม ที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา และขณะที่มีการวิรัติงดเว้นจากการกระทำทางกาย  ทางวาจา ที่ไม่ดี จะขอกล่าวถึงโดยนัยที่เป็นการวิรัติงดเว้นที่จะไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา เป็นศีล ๕ อันเป็นนิจจศีล  กล่าวคือ ศีลที่คฤหัสถ์พึงรักษาเป็นนิตย์ ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงไว้ว่า ศีล ๕  ได้แก่ .-

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)
๒. อทินนาทานา เวรมณี  (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
๔. มุสาวาทา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ)
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท) 


ศีลเป็นเรื่องปกติจริงๆ ไม่พ้นไปจากความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ของแต่ละบุคคล ในแต่ละวันจิตใจเป็นกุศลหรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าใด ถ้ามีการล่วงศีล มีการกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากิเลสหนาแน่นมีกำลังมากทีเดียว ซึ่งทุกคนควรจะได้ทราบและจะได้ตรวจสอบตนเองว่ามีการล่วงศีลข้อใดบ้างในแต่ละวัน กล่าวคือ  มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ มีการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามี ของผู้อื่น มีการพูดเท็จ มีการดื่มสุราเมรัยของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บ้างหรือไม่?   ซึ่งเป็นการตรวจสอบในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้สำรวมระมัดระวังความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม     

ศีล ๕ นั้นเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ดังนี้ คือ ศีลข้อที่ ๑ การเว้นจากการฆ่าสัตว์  เป็นการให้ชีวิต ให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีภัย แก่สัตว์ทั้งหลาย ศีลข้อที่ ๒ การเว้นจากการลักทรัพย์ ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ศีลข้อที่ ๓     การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ชื่อว่าให้ความปลอดภัย แก่บุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น ศีลข้อที่ ๔ การเว้นจากการพูดเท็จ ชื่อว่า   ให้ความจริงแก่ผู้อื่น และศีลข้อที่ ๕ การเว้นจากการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย 

ศีล เป็นการขัดเกลาจิตใจของตนให้เบาบางจากกิเลส ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นก็จริง แต่ก็เป็นการอบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลส เพราะเหตุว่าถ้าไม่ทราบว่า การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อื่น บุคคลอื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ เพียงใด ก็อาจจะเกิดความยินดีพอใจในความไม่ดีเหล่านี้ก็เป็นได้ และเมื่อสำเร็จเป็นกุศลกรรมประการต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี (กุศลวิบาก) ข้างหน้าสำหรับตนเองอีกด้วย เมื่อไม่ทราบอย่างนี้ เจตนาที่จะงดเว้นก็จะไม่มี แต่ถ้าทราบ ก็จะสามารถละคลายให้เบาบาง หรือว่างดเว้นเท่าที่สามารถจะกระทำได้  ซึ่งก็จะเป็นการชำระจิตใจให้เบาบาง ให้บรรเทาจากกิเลสได้ในชีวิตประจำวัน     

ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยเฉพาะในเรื่องกรรม ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม รวมถึงผลของกรรมทั้งสองฝ่ายด้วย ก็ยิ่งจะเป็นเครื่องยับยั้ง หรือ เป็นปัจจัยให้แต่ละบุคคลไม่ล่วงศีลได้ง่าย ความเข้าใจพระธรรม จึงเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ