[คำที่ ๙๔] กลฺยาณการี‏

 
Sudhipong.U
วันที่  13 มิ.ย. 2556
หมายเลข  32214
อ่าน  298

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  กลฺยาณการี

คำว่า กลฺยาณการี เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า กลฺยาณ (ดี, งาม, สิ่งที่ดี, ความดี) กับคำว่า การี (บุคคลผู้ทำ) แปลรวมกันได้ว่า บุคคลผู้ทำความดี, บุคคลผู้ทำกรรมดี, บุคคลผู้ทำสิ่งที่ดี, บุคคลผู้ทำดี [ตรงกันข้ามกับคำว่า ปาปการี (บุคคลผู้ทำบาป) อย่างสิ้นเชิง] ว่า โดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม เท่านั้น เพราะสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไปน้อมไปในทางที่ดี ที่ถูก ที่ควร จึงเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุคคลผู้ทำความดี หรือทำกรรมดี     

ข้อความจากพระไตรปิฎกที่แสดงถึงข้อความในส่วนนี้ คือ

บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคล หว่านพืชเช่นใด   ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

(จาก... พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  ชาดก  จุลลนันทิยชาดก)

ชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละภพในแต่ละชาตินั้น สั้นแสนสั้นมาก เกิดมาแล้วในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า จะเป็นวันใด เวลาใด และตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว  ไม่หวนกลับมาได้อีก ควรที่จะได้พิจารณาว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้พบกัลยาณมิตรที่ให้ความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นสิ่งที่ได้โดยยากแสนยากในสังสารวัฏฏ์ เมื่อเทียบกับการได้รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ในชีวิตประจำวัน    

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกๆ วัน ควรที่จะได้เตือนตนเองอยู่เสมอว่า ชีวิตอาจจะอยู่ไม่ถึงพรุ่งนี้ก็ได้ อาจจะสิ้นชีวิตในวันนี้ก็ได้ มีโอกาสที่จะฟังพระธรรม ก็ควรรีบฟัง รีบสะสมปัญญาทันที มีโอกาสที่จะได้สะสมกุศล ก็สะสมทันที เป็นคนดีทันที ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นการเติมกุศลทุกๆ วัน เพื่อชำระล้างอกุศล เพราะถ้าไม่คอยเติมกุศลแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อได้สะสมเหตุที่ดีไว้แล้ว ผลที่ดีก็ย่อมจะเกิดขึ้น ตามสมควรแก่เหตุ ทั้งหมดนั้นเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น  

เพราะฉะนั้น  ทุกครั้งที่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเกิดประโยชน์ ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าฟังพระธรรม ก็เพื่อประโยชน์  คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะอุปการะเกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมอีกมากมาย มีโอกาสที่จะเจริญกุศลประการใด ก็เจริญทันที ไม่ละเลยโอกาสของคุณความดี เพราะเห็นคุณค่าด้วยปัญญา พร้อมทั้งเห็นโทษเห็นภัยของกุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้น เช่น ความติดข้อง ความโกรธ ความริษยา ความตระหนี่ เป็นต้น แล้วค่อยๆ ขัดเกลากุศลธรรมทั้งหลายเหล่านี้ จนกว่าจะละได้หมดสิ้น นี้คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม ที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดจนออกจากสังสารวัฏฏ์.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ