[คำที่ ๒] โลกธรรม

 
Sudhipong.U
วันที่  8 ก.ย. 2554
หมายเลข  32122
อ่าน  650

ภาษาบาลีวันละคำ คติธรรมประจำสัปดาห์ :  “โลกธรรม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า โลกธรรม  มาจากภาษาบาลีว่า โลกธมฺม อ่านว่า โล-กะ-ทำ-มะ อ่านตามภาษาไทยว่า โลก-กะ-ทำ หมายถึง ธรรมประจำโลก โลกย่อมเป็นไปตามธรรมเหล่านี้ ซึ่งใคร ๆ ก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากโลกธรรมได้เลย แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

โลกธรรม มี ๘ ประการ  ตามข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในโลกธรรมสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ, ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑  ยศ ๑  ความเสื่อมยศ ๑  นินทา ๑  สรรเสริญ ๑  สุข ๑  ทุกข์ ๑ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้

(จาก...พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  อัฏฐกนิบาต  โลกธรรมสูตร)

โลกธรรม ย่อมไม่พ้นไปจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปที่ได้เห็น ทางหู เป็นเสียงที่ได้ยิน ทางจมูก เป็นกลิ่น  ทางลิ้น เป็นรส  ทางกาย เป็นสิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจ คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏ แล้วสมมติว่าเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นสุข เป็นต้น เพราะถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว โลกธรรม ก็ไม่มี

โลกธรรม มีทั้งสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป ถึงแม้ว่าจะได้โลกธรรมฝ่ายที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ก็ไม่ใช่การได้ในสิ่งที่ประเสริฐ เพราะการได้ในสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ การได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ประเสริฐกว่าการได้ลาภใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะลาภอื่น ทำให้เกิดความติดข้องยินดีพอใจ แต่ลาภ คือ การได้ฟังพระธรรม นี้ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีความเข้าใจถูก เห็นถูก ละความติดข้องและละอกุศลทั้งหลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมีเงินทองมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถซื้อปัญญา ได้ แต่สามารถอบรมเจริญให้มีขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม 

เพราะฉะนั้น ถ้าได้ลาภแล้วเกิดความตื่นเต้น ยินดีพอใจกับลาภที่น่าพอใจนั้น รู้ได้เลยว่า ไม่ใช่ลาภจริง ๆ แต่เป็นการต้องการในสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป และไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการติดข้องในสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป ด้วย เป็นการสะสมกุศลเพิ่มขึ้นไปอีก  

ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งที่เราได้มาแล้วเกิดความติดข้องยินดีพอใจมาก กับ การที่เราได้มีความเข้าใจถูกแล้วไม่ติดข้องในสิ่งที่ได้มา อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน? แม้จะได้ลาภที่น่าพอใจ ก็ไม่ติดข้อง เพราะเหตุว่า จะหลีกเลี่ยงลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข ไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้ตามความเป็นจริง เพราะปัญญาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ชั่วคราวจริงๆ สั้นแสนสั้น  เกิดแล้วดับไป ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อไม่ติดข้องจึงไม่มีเหตุที่จะต้องทำให้เดือดร้อนใจเลยแม้แต่น้อย ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุข เบาด้วยกุศลธรรม.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nataya
วันที่ 25 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
swanjariya
วันที่ 29 ก.ค. 2563

กราบขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เฉลิมพร
วันที่ 28 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 10 ม.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
mon-pat
วันที่ 22 ม.ค. 2566

ลาภอื่น ทำให้เกิดความติดข้องยินดีพอใจ แต่ลาภ คือ การได้ฟังพระธรรม นี้ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีความเข้าใจถูก เห็นถูก ละความติดข้องและละอกุศลทั้งหลาย ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ