[คำที่ ๕] สัมภเวสี

 
Sudhipong.U
วันที่  29 ก.ย. 2554
หมายเลข  32125
อ่าน  627

ภาษาบาลีวันละคำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “สัมภเวสี”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า สัมภเวสี เป็นคำมาจากภาษาบาลีตรงตัว คือ สมฺภเวสี [อ่านว่า สำ-พะ-เว-สี] แปลว่า ผู้แสวงหา-การเกิด, ผู้ยังต้องเกิด โดยที่ไม่มีการวนเวียนหรือล่องลอยหาที่เกิดแต่อย่างใด เพราะตายแล้ว เกิดทันทีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ [สมฺภเวสี แยกศัพท์เป็น สมฺภว (การเกิด) + เอสี (ผู้แสวงหา) = สมฺภเวสี (ผู้แสวงหาการเกิด)]   

ใครก็ตาม ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้ชื่อว่าเป็นสัมภเวสี ทั้งหมด เพราะยังต้องเกิดอยู่ ตามข้อความบางตอนจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมาทิฏฐิสูตร ว่า 

เหล่าสัตว์ที่เสาะหา คือ แสวงหาการสมภพ คือ การเกิด ได้แก่ การบังเกิดขึ้น ชื่อว่า สัมภเวสี. สัตว์เหล่าใด กำลังแสวงหาการเกิด สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่า สัมภเวสี, คำว่า สัมภเวสี นี้ เป็นชื่อของพระเสขะและปุถุชนผู้กำลังแสวงหาการเกิดต่อไป เพราะยังละสังโยชน์ในภพไม่ได้ (คือ ละความติดข้องในภพ ยังไม่ได้)

 

ชีวิตในแต่ละภพแต่ละชาตินั้น เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม เท่านั้น สภาพธรรมเหล่านั้น ได้แก่ จิต(สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก(สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต] และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้) เป็นความจริงที่ว่า สัตว์โลกที่ยังมีกิเลส มี ตัณหา และ อวิชชา เป็นต้น ก็ยังต้องมีการเกิดในภพต่าง ๆ อยู่ร่ำไป เป็นผู้เดินทางในสังสารวัฏฏ์ จากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้า จากชาติหน้าก็ไปสู่ชาติต่อ ๆ ไปอีก ยังไม่พ้นไปจากความเป็นสัมภเวสี ซึ่งเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เนื่องจากว่าเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เป็นมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง และในชาตินี้ เมื่อละจากโลกนี้ไป ก็ต้องเกิดในภพใหม่อีก ขึ้นอยู่กับว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด กล่าวคือ ถ้ากรรมดีให้ผล ก็ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือ เกิดเป็นเทวดา แต่ถ้าถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผลก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ถึงแม้จะเกิดเป็นอะไรก็ตาม ก็ยังต้องเดินทางต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ เพราะบุคคลผู้ที่สิ้นสุดการเดินทางในสังสารวัฏฏ์แล้ว ไม่ต้องเกิดอีก มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ พระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง

การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น ไม่ยั่งยืนเลย สั้นมาก เกิดมาในแต่ภพแต่ละชาติ ต้องสิ้นสุดที่ความตายทั้งนั้น แต่เมื่อยังไม่ได้ดับเหตุที่ทำให้เกิด คือ กิเลส ก็ต้องเกิดอีกในชาติต่อไปอย่างแน่นอน สำหรับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยากแสนยาก เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยากแสนยากแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นผู้ประพฤติธรรม ตั้งอยู่ในธรรมอันงาม เพราะภูมิมนุษย์ เป็นภูมิที่เอื้ออำนวยให้สามารถเจริญกุศลได้ทุกๆ ประการ ทั้งในเรื่องของการให้ทาน การรักษาศีล การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การอ่อนน้อมถ่อมตน การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น และประการที่สำคัญที่สุด การที่ไม่จะประมาทจริง ๆ  คือ เห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรม, ความเข้าใจพระธรรม จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต พึ่งได้ตั้งแต่ในเบื้องต้นจนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ   ซึ่งจะต้องไม่ขาดเหตุที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nataya
วันที่ 27 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
swanjariya
วันที่ 29 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mon-pat
วันที่ 22 ม.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ