[คำที่ ๖] บุญ

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ต.ค. 2554
หมายเลข  32126
อ่าน  880

ภาษาบาลีวันละคำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “บุญ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

บุญ  มาจากคำภาษาบาลี ว่า ปุญฺญ (อ่านว่า ปุน-ยะ) คนไทยก็พูดสั้น ๆ ว่า บุญ [ปุญฺญ มีรากศัพท์ มาจาก ปุ ธาตุ ลงในอรรถว่า ชำระให้สะอาด + นา และ ณฺย ปัจจัย ลบ ณฺ และ ลบสระ อา ที่ นา แปลง นฺย เป็น ญ แล้วซ้อน ญฺ สำเร็จรูป เป็น ปุญฺญ] หมายถึง สภาพธรรมที่ชำระจิตสันดานให้สะอาด และ ให้ผลที่น่าปรารถนา ได้แก่ กุศล (ความดี) ทุกประเภท ดังข้อความบางตอนจาก อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปฐมปีฐวิมาน ดังนี้ 

กุศลกรรมทั้งหลาย อันต่างโดยประเภท มี ทาน และ ศีลเป็นต้น ได้ชื่อว่า บุญ เพราะทำให้บังเกิดผลคือความที่น่าบูชา และ เพราะชำระชะล้างสันดานของตนเองให้หมดจด

 

บุญ  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยเครื่องเศร้าหมองของจิต คือ กิเลส) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศล เป็นบุญ (ซึ่งก็สามารถกล่าวโดยโวหารของชาวโลกได้ว่า ผู้นั้น ผู้นี้กระทำบุญ) ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ย่อมไม่ใช่บุญ 

บุญ ย่อมเกิดขึ้น เจริญขึ้นในขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล หรือ ตรึกไปด้วยอกุศลวิตก รวมไปถึงในขณะที่นอนหลับ ขณะนั้นบุญไม่เจริญ  (ในขณะที่นอนหลับ ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล เกิดขึ้น โลกนี้ไม่ปรากฏ เพียงแต่เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นทำกิจรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้เท่านั้น บุญจึงไม่เจริญในขณะที่นอนหลับ) แต่เมื่อใดที่สติเกิดระลึกได้เป็นไปในกุศลประการต่างๆ ทั้งในเรื่องของทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตกรรม และ การประพฤติในสิ่งที่ดีงาม ในเรื่องความสงบของจิต และในการอบรมเจริญปัญญา เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญ ซึ่งไม่จำกัดเลย เพราะการกระทำบุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีถึง ๑๐ ประการ ด้วยกัน คือ  

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น  

๒. ศีล  ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน 

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ (สมถภาวนา) และการอบรมให้เกิดปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)  

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม 

๕. เวยยาวัจจะ การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น 

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ  

๘. ธัมมเทศนา  การแสดงธรรม กล่าวธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง  

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง และ 

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ

บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์บุญซึ่งเป็นความดีประการต่างๆ อันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง นั้น ก็จะไม่ละเลยโอกาสในการเจริญกุศลประการต่างๆในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิด  ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ และควรที่จะได้พิจารณาว่า เกิดมาแล้ว ทุกคนต้องละจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน  แต่จะจากไปพร้อมกับกิเลสที่มีมากๆ หรือจะจากไปพร้อมกับกุศลและปัญญาที่ได้อบรมเจริญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่?


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 29 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เฉลิมพร
วันที่ 12 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
mon-pat
วันที่ 23 ก.พ. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ