[คำที่ ๑o] โทสะ

 
Sudhipong.U
วันที่  3 พ.ย. 2554
หมายเลข  32130
อ่าน  475

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  : “โทสะ”

โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย

โทสะ มาจากคำภาษาบาลีตรงตัว คือ โทส (อ่านว่า โท-สะ) มาจาก ทุส ธาตุ ลงในอรรถว่า ประทุษร้าย,เบียดเบียน) เมื่อแปลเป็นไทยแล้ว มีหลายความหมายด้วยกัน ล้วนไม่ดีทั้งนั้น คือ  โกรธ,ไม่พอใจ,ขุ่นเคืองใจ,ประทุษร้าย,เบียดเบียน ดังข้อความจาก อัฏฐสาลินี  อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก  ธัมมสังคณีปกรณ์ ที่ได้อธิบายอรรถของโทสะไว้ว่า

ที่ชื่อว่า โทสะ โดยอรรถที่เป็นธรรมที่ประทุษร้าย หรือเป็นเหตุให้ประทุษร้าย โทสะนั้น มีความดุร้าย เป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี มีความกระสับกระส่าย เป็นรสะ (กิจ) ราวกับถูกวางยาพิษ มีการประทุษร้ายเป็นอาการปรากฏ ราวกับข้าศึกศัตรูที่ได้โอกาส มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

โทสะหรือความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถที่จะเกิดได้กับทุกบุคคล ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับโทสะได้อย่างเด็ดขาดถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย โทสะก็เกิดได้

โทสะ  เป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในสังสารวัฏฏ์นั้น ตามความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้ถูกใครประทุษร้ายเบียดเบียนเลย นอกจากโทสะซึ่งเป็นสภาพที่ประทุษร้ายซึ่งเป็นกิเลสของเราเอง สำหรับโทสะที่ว่าเป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่สามารถที่จะกั้นข้าศึกนี้ได้เลย ถ้าจะพิจารณาแล้วข้าศึกภายนอกยังมีป้อมปราการเป็นเครื่องกั้น มีประตูหน้าต่างเป็นเครื่องกั้น แต่ว่าโทสะซึ่งเป็นข้าศึกภายใน เกิดขึ้นเมื่อใดประทุษร้ายทันที หนีไม่ทัน เพราะเหตุว่าไม่มีเครื่องกั้นเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับบุคคลผู้มีปัญญา ท่านเห็นโทษของโทสะ ท่านเข้าใจว่าโทสะเป็นกุศล-ธรรมที่พึงละ ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป เพราะเหตุว่าความโกรธแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อสะสมมากขึ้นก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย หรือทางวาจาในภายหน้าได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งแก่ตนและผู้อื่นเลย

ดังนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดี  แม้กุศลพระองค์ก็ทรงแสดงเพื่อให้เห็นกุศลตามความเป็นจริง พร้อมทั้งทรงแสดงโทษไว้ด้วย เตือนให้ไม่หลงผิดไปในทางที่ไม่ดี แต่ให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เพราะการได้เข้าใจพระธรรม ไม่มีความเสียหายเลยแม้แต่น้อย มีแต่ประโยชน์เท่านั้น


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ