พระสงฆ์คืออะไร

 
Kuat639
วันที่  6 เม.ย. 2563
หมายเลข  31708
อ่าน  5,301

อริยสงฆ์ กับ สมมติสงฆ์ คืออะไร ฟังธรรมควรฟังจากใคร ที่ไหน อย่างไร?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า สังฆะ หรือ สงฆ์ นั้น แปลว่า หมู่หรือคณะ ไม่ว่าจะเป็นหมู่หรือคณะอะไรก็ได้ ไม่ได้ใช้สำหรับพระภิกษุเสมอไป ขึ้นอยู่กับคำที่อยู่ข้างหน้าของคำว่า สงฆ์ (สงฺฆ) นั้น จะเป็นคำอะไร เช่น หมู่นก หมู่แมลง ก็ใช้ได้เหมือนกัน ดังนั้น คำว่า ภิกษุสงฆ์ จึงหมายถึง หมู่แห่งภิกษุ ดังมีข้อความ ที่ว่า ภิกฺขุสงฺฆปริวาโร สตฺถา (พระศาสดามีหมู่แห่งภิกษุเป็นบริวาร) อีกประการหนึ่ง ถ้ากล่าวถึงในเรื่องของสังฆกรรม คำว่า ภิกษุสงฆ์ หรือ ภิกฺขุสงฺโฆ นั้น จะหมายถึงพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสังฆกรรมแต่ละอย่างนั้นก็แตกต่างกันออกไป

อนึ่ง สงฆ์จำแนกเป็น ๒ จำพวกคือ

๑. สมมติสงฆ์ (ผู้ที่ได้รับการยอมรับให้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา เป็นที่รู้กันว่าเป็นพระภิกษุ)

๒. อริยสงฆ์ (พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น ตั้งแต่พระโสดาบัน ถึง พระอรหันต์) เพราะฉะนั้น ในความมุ่งหมายของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ นั้น พระสงฆ์ในที่นี้ได้แก่ พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แล้วได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น ครับ

เพิ่มเติมอธิบายความหมายของคำว่า ภิกษุ ครับ

คำว่า ภิกษุ มาจากภาษาบาลีว่า ภิกฺขุ มีความหมายหลายอย่าง เช่น ผู้ขอ (โดยธรรม) ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ เป็นการเห็นภัยของการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเต็มไปด้วยทุกข์ ผู้ทำลายกิเลสมีโลภะ โทส โมหะ เป็นต้น จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงถึงทั้งความเป็นภิกษุโดยสภาวะจริงๆ คือ ผู้ที่สามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นจนถึงสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวงไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม และ อีกความหมายหนึ่งแสดงถึงภิกษุโดยเพศ คือ ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ มุ่งสู่เพศบรรพชิต เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพระภิกษุหรือไม่ ก็ตามการสะสมของผู้นั้นจริงๆ

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๙๕

๑๐. ภิกขกสูตร

ว่าด้วยความเป็นภิกษุ

แสดงถึงความเป็นภิกษุที่แท้จริง ดังนี้ คือ

“บุคคล หาชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงด้วยการขอคนอื่นไม่ บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ (คือ อกุศลธรรม) หาชื่อว่าเป็นภิกษุได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปเสียแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ (ประพฤติประเสริฐ) ด้วยการพิจารณา ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็น ภิกษุ”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงถึงความหมายของภิกษุว่าเป็นผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ดังนี้ คือ

“บทว่า ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์”

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Kuat639
วันที่ 6 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 7 เม.ย. 2563

อ้างอิงความเห็นที่ 1

พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ

พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

พระสงฆ์ ในที่นี้หมายถึง สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ปฏิบัติชอบยิ่ง ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับเป็นพระอริยบุคคล ดังนี้คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ หรือเรียกรวมพระอริยบุคคลดังกล่าวว่า สังฆรัตนะ

พระสังฆรัตนะ หรือพระสงฆ์ หมายรวมถึง พระอริยบุคคลผู้ครองเรือนที่ไม่ได้ออกบวช แต่ถ้าคฤหัสถ์บรรลุธรรมขั้นสูงสุดคือดับกิเลสหมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ ต้องออกบวชภายในวันนั้น ถ้าไม่ออกบวชภายในวันนั้นก็จักต้องปรินิพพาน เพราะเพศคฤหัสถ์มิอาจทรงไว้ชึ่งคุณธรรมของความเป็นพระอรหันต์ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 7 เม.ย. 2563

อ้างอิงความเห็นที่ 3

ขออัญเชิญข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๖-๗ ว่า

สมัยต่อมา พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงอนุเคราะห์โลก เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร. ครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพุทธบิดา ทรงสดับธรรมกถา ณ ระหว่างถนน เป็นพระโสดาบัน. ครั้นวันที่ ๒ พระนันทกุมาร ก็ทรง ผนวช. วันที่ ๗ พระราหุล ก็ทรงผนวช. ต่อมา พระศาสดา ทรงอาศัย กรุงเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา. สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงทำให้แจ้งพระอรหัตแล้วปรินิพพาน ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร

ขออัญเชิญข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๘๘ ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว วันรุ่งขึ้นเสด็จ เที่ยวไปบิณฑบาตในถนนหลวง. พระเจ้าสุทโธทนมหาราชได้สดับถึงข่าวนั้น แล้ว เสด็จไปในที่นั้นตรัสว่า อย่าสำคัญถึงสิ่งที่พึงกระทำอย่างนี้เลย สิ่งนี้ มิใช่ประเพณีแห่งพระราชวงศ์เลย. พระศาสดาตรัสว่า มหาราชเจ้า นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่การกระทำเช่นนี้เป็นพุทธวงศ์ของพวกเรา แล้วแสดงธรรมว่า: บรรพชิตไม่พึงประมาทในก้อนข้าว อันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต ผู้มีปกติ ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า ดังนี้. พระราชาทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แต่นั้นพระราชา ก็ทรงนิมนต์ ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้เสวยและบริโภคในภาชนะที่พระองค์ ตบแต่งไว้แล้วในพระราชมนเทียรของพระองค์ ในที่สุดแห่งการบริโภค ทรงสดับธัมมปาลชาดกแล้ว พร้อมด้วยบริษัทได้ทรงดำรงอยู่ในอนาคามิผล. กาลต่อมาบรรทมอยู่ ณ ภายใต้มหาเศวตฉัตรนั่นแหละทรงบรรลุพระอรหัต ปรินิพพานแล้ว.

กราบอนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 7 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ด้วยพระหฤทัยที่ประกอบด้วยพระมหากรุณาที่มีต่อสัตว์โลก ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก พ้นจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมาย นับไม่ถ้วน ในยุคนี้สมัยนี้ พระพุทธศาสนาคือพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังดำรงอยู่ ยังไม่ลบเลือนเสื่อมสูญไป พร้อมที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นคุณค่า ที่จะฟัง ที่จะศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต ก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะพระธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

พระสังฆรัตนะ

ภิกษุคือใคร

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 8 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 8 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ