ขอสอบถามครับ การที่เราถวายเงินพระโดยให้เงินไว้กับไวยาวัจกรวัด แล้วทำตาม ๔กรณีนี้จะผิดไหมครับ

 
gob
วันที่  30 มิ.ย. 2562
หมายเลข  30984
อ่าน  710

คือ ถ้าเราถวายเงินให้แก่พระ โดยนำเงินไปให้ที่ไวยาวัจกรของวัด จากนั้น เราทำ ๔ กรณี เช่นนี้ จะผิดไหมครับ

๑. เขียนกระดาษ ใส่จำนวนเงิน ที่เราให้ไวยาวัจกรไป แล้วนำกระดาษนี้ ไปถวายให้พระ ท่านรับกระดาษไป เพื่อที่ท่านจะได้ทราบว่า เราถวายเงินโดยฝากไว้ที่ไวยาวัจกร โดยเมื่อท่านทราบแล้ว จะได้ตรวจสอบได้ หรือ เวลาท่านจำเป็นต้องใช้ จะได้แจ้งไปที่ ไวยาวัจกร

๒. คล้ายกรณี ข้อ๑.ครับ เพียงแต่ไม่ได้เขียนตัวเลข จำนวนเงินใส่กระดาษ นำถวามพระ แต่แจ้งให้พระท่านรับทราบด้วยคำพูดว่า เราได้ถวายเงินให้ท่านหรือวัด ไว้ที่ไวยาวัจกร เพื่อท่านจะได้ทราบ และเผื่อท่านจำเป็นต้องใช้ ในเรื่องจำเป็นในกิจของสงฆ์ หรือของวัด

๓. ถวายเงินให้พระ โดยฝากเงินไว้ที่ไวยาวัจกร และบอกไวยาวัจกร ว่า เงินที่ฝากไว้ เพื่อให้พระรูปที่เราเจาะจงที่จะถวาย โดยเมื่อฝากเงินไว้แล้ว เราก็ไม่ได้แจ้งให้พระรูปนั้นๆ ได้รับทราบ

๔. คล้ายกรณีที่3 ครับคือฝากเงินถวายพระ ไว้ที่ไวยาวัจกร โดยที่ไม่ได้ระบุว่าจะถวายให้พระรูปใดเป็นการเจาะจง ประมาณว่า ถวายเป็นกองกลางของวัด (คล้ายหยอดตู้บริจาคในวัด ประเภทบริจาคทั่วไปไม่ระบุวัตถุประสงค์) เมื่อฝากเงินไว้แล้วก็ไม่ได้ ไปแจ้งหรือบอกกับพระรูปใดในวัด นะครับ

จึงอยากขอคำแนะนำ ครับว่าทั้ง ๔ กรณีนี้ จะไปเข้าข่ายเรื่อง ทำให้พระยินดีในการรับเงินและ ทอง หรือไม่ครับ

ขอบคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 30 มิ.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตเรียนเพื่อให้พิจารณาตามพระวินัย ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ ๘๖๒

"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ พวกมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส, มนุษย์เหล่านั้น ย่อมมอบหมายเงินและทองไว้ในมือแห่งกัปปิยการก (คฤหัสถ์ผู้กระทำในสิ่งที่เหมาะควร) ทั้งหลาย สั่งว่า พวกท่านจงจัดของที่ควรถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเงินและทองนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของซึ่งเป็นกัปปิยะ (สมควร) จากเงินและทองนั้น, ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เราหากล่าวไม่เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายไรๆ "

____________

ไวยาวัจกร คือ ผู้ขวนขวายทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุทั้งหลาย หรือ เรียกว่า กัปปิยการก (คฤหัสถ์ผู้กระทำในสิ่งที่เหมาะควร) ก็ได้ ไวยาวัจกรเป็นคฤหัสถ์ ผู้เห็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกเกื้อกูลต่อพระภิกษุ เป็นผู้เสียสละที่จะทำประโยชน์จริงๆ และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในพระธรรมวินัยด้วย ไวยาวัจกร อาจจะเป็นบุคคลผู้ที่ผู้อื่นมอบหมายให้ทำหน้าที่ หรือ อาจจะเป็นผู้ที่เคยเป็นเพื่อนของพระภิกษุมาก่อน ที่จะมุ่งทำประโยชน์ต่อพระภิกษุและเป็นไปตามพระธรรมวินัย เป็นต้น หากอยู่ตรงนั้น พระภิกษุก็สามารถแสดงต่อคฤหัสถ์ได้ว่าผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของพระภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าไวยาวัจกร ไม่ได้อยู่ตรงนั้น หากคฤหัสถ์ถามหาไวยาวัจกร พระภิกษุก็สามารถบอกได้ว่าไวยาวัจกรอยู่ ณ ที่ใด ไวยาวัจกร มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นเรื่องของสภาพจิตที่ดีงามที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลต่อพระภิกษุทั้งหลาย

เงินทองไม่ควรแก่พระภิกษุโดยประการทั้งปวง จะรับเองก็ไม่ได้ ให้ผู้อื่นรับแทนก็ไม่ได้ ยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ก็ไม่ได้ รับเพื่อผู้อื่นก็ไม่ได้ รับเพื่อส่วนรวมก็ไม่ได้ หากมีคฤัสถ์ถวายเงิน ภิกษุต้องปฏิเสธโดยประการทั้งปวง ว่า ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง แต่ไม่ใช่ว่าบอกให้เอาไปฝากไว้กับไวยาวัจกร เพราะจะบอกให้คนอื่นรับไว้ให้ ก็ไม่ได้ หรือ แม้แต่ รับแล้วบอกว่าตนเองไม่ยินดีแล้วให้ผู้อื่นไป ก็ย่อมผิดพระวินัยตั้งแต่แรกที่รับแล้ว

คฤหัสถ์ผูฉลาดในพระธรรมวินัยจะไม่ถวายเงินทองแก่พระภิกษุ แต่จะถวายสิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เท่านั้น หรือ ถ้าประสงค์ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยที่ไม่ได้ทำให้พระภิกษุผิดพระวินัย ก็สามารถถามหาไวยาวัจกรแล้วมอบเงินไว้กับไวยาวัจกร แล้วค่อยไปกราบเรียนพระภิกษุว่าหากพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งที่เหมาะควรแก่สมณะ ก็ขอให้เรียกเอาจากไวยาวัจกร ไวยาวัจกรจะเป็นผู้จัดหาสิ่งที่เหมาะควรถวาย เช่น จีวร เป็นต้น อย่างนี้ก็ย่อมจะกระทำได้ หรือ มอบหมายให้ไวยาวัจกรจัดหาสิ่งที่เหมาะควรถวายแก่พระภิกษุได้เลย พระภิกษุยินดีในสิ่งที่เหมาะควรจากเงินนั้นได้ ไม่ผิดพระวินัย

ดังนั้น ถ้าไม่ได้ให้เงินกับพระภิกษุ แต่มอบไว้ให้กับไวยาวัจกร เพื่อจัดหาหรือทำสิ่งที่เหมาะควรถวายแด่พระภิกษุ อย่างนี้ก็ย่อมกระทำได้ เพราะเจตนาของคฤหัสถ์ผู้ถวาย มุ่งถวายสิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต จากเงินของคฤหัสถ์ที่มอบไว้ให้กับไวยาวัจกร ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
gob
วันที่ 30 มิ.ย. 2562

ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากๆ ครับ ที่ช่วยกรุณา อธิบายและ ขยายความเข้าใจ ในเรื่องนี้ ทำให้ได้ทราบ พระวินัยดังกล่าวได้ลึกซึ้งขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 1 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 1 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ