ลักษณะของทุกข์ - ความเข้าใจเจริญขึ้นตามปรกติ ตอนที่ 11-11 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]

 
wittawat
วันที่  4 พ.ค. 2562
หมายเลข  30831
อ่าน  544

ถาม: ถ้าหนทางของชีวิตไม่ได้เป็นแบบเดียวกันกับความเป็นไปตามปรกติของคนๆ นั้น คนๆ นั้นก็ควรที่จะพยายามทำสิ่งที่ขัดกับปรกติของตัวเขา

อ.สุจินต์: ควรที่จะคิดถึงเหตุและผลในทางที่ถูกต้อง พระภิกษุส่วนใหญ่ท่านไม่ได้อาศัยอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าไม่ได้วางกฏเกณฑ์ให้พระภิกษุต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานในป่า หรือในห้องเฉพาะหรือในสถานที่อื่นสถานที่ใดที่ท่านไม่ได้ไปเพื่อทำกิจต่างๆ ของท่าน

เป็นความจริงที่พระองค์ทรงสรรเสริญการอยู่ป่าของพระภิกษุ เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ หรืออะไรก็ตามที่เป็นไปเพื่อการขัดเกลาจาก โลภะ โทสะ โมหะ แต่ว่าพระองค์ก็ไม่ได้บังคับใคร ทรงไม่ได้ตั้งกฏสำหรับการอบรมเจริญปัญญา ทรงรู้ชัดถึงอัธยาศัยที่สะสมมาของแต่ละบุคคล และก็ทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัยของสาวกนั้นๆ ที่จะฟังและอบรมเจริญความเห็นถูกตามชีวิตปรกติของเขา ดังนั้นเขาจะสามารถละกิเลสได้ พระองค์ทรงสอนคนเพื่ออบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับฐานะชีวิตของบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ หรืออุบาสก อุบาสิกาก็ตาม

เมื่อสติเกิดขึ้น และผู้นั้นเริ่มพิจารณาและศึกษาลักษณะของนามและรูป เพื่อที่ว่าปัญญาถึงความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อัธยาศัยของบุคคลนั้นก็ค่อยๆ ที่จะเปลี่ยน การถูกครอบงำด้วย โลภะ โทสะ โมหะ เนื่องด้วยอารมณ์ที่ปรากฏผ่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจก็จะค่อยๆ ลดลง แต่ไม่ใช่ว่าอัธยาศัยที่สะสมนั้นจะเปลี่ยนในระยะเวลาสั้นๆ

บางคนที่คิดว่าสำนักปฏิบัติไม่ควรที่จะทาสีใหม่ เพราะทำให้เกิดโลภะ แต่เมื่อเขากลับไปที่บ้านหลังจากอยู่ในสำนักปฏิบัตินั้น เขาก็ทาสีบ้านใหม่ ปลูกต้นไม้ และดูแลดอกไม้ ดังนั้น เขาก็ทำตามอัธยาศัยที่เขาสะสมมา

พระพุทธเจ้าทรงสอนถึงสิ่งที่มีอยู่จริง (สัจจธรรม) เพื่อที่ว่าผู้ฟังจะสามารถมีความเข้าใจถูกในเหตุ และผลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงทั้งหมด ทรงสอนเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่ว่าปัญญาสามารถที่จะสมบูรณ์ถึงระดับที่ละอนุสัยกิเลส (กิเลสอย่างละเอียดที่"ตาม นอน"เนื่องอยู่ในจิต หมายถึง ความไม่ดีที่สะสมไว้ในจิตที่"ไม่ปรากฏตัว"ออกมา)

อนุสัยได้ถูกสะสมมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ จนมาถึงชาติปัจจุบันในจิตที่เกิดและดับไปและสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น ความไม่รู้ (อวิชชา) ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป และความเห็นผิด (ทิฏฐิ) ซึ่งสำคัญผิดว่านามและรูปเป็นเรา เป็นต้น นั้นเป็นอนุสัยกิเลส คนที่สำคัญว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็น เรา ไม่ว่าจะเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราลิ้มรส เรากระทบสัมผัสทางกาย เราคิดนึก เรารู้สึกสุข รู้สึกทุกข์

หนทางเดียวที่จะนำไปสู่การดับอนุสัย คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งระลึกและศึกษาสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏเพื่อที่ว่าความเข้าใจชัดยิ่งขึ้น ความเข้าใจก็จะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น เมื่อปัญญาเจริญจนถึงขั้นแรกของวิปัสสนาญาน คือ "รู้ชัดความต่างกันของนามและรูป" (นามรูปปริจเฉทญาน) ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจชัดเจนในความต่างกันระหว่างลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏแต่ละขณะ

ปัญญาไม่สามารถที่จะอบรมได้ด้วยการพยายามทำทุกข์ให้เกิดโดยนั่ง นอน ยืน เดิน เป็นเวลานานๆ เพื่อให้คนนั้นมีความรู้สึกเจ็บ ปัญญาสามารถอบรมได้โดยการพิจารณาและการศึกษานามธรรมและรูปธรรมด้วยสติตามปรกติที่ปรากฏผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้น ซึ่งนามธรรม และรูปธรรมนั้นเกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ที่ไหน

ข้อความนี้แปลจาก...The Characteristic of Dukkha - Develop understanding naturally

คลิกเพื่ออ่านตอนอื่นๆ ...

ตอนที่ 1 - พ้นจากทุกข์ได้อย่างไร

ตอนที่ 2 - การอบรมเจริญวิปัสสนาเริ่มต้นได้อย่างไร

ตอนที่ 3 - นั่งทำสมาธิด้วยโยนิโสมนสิการได้อย่างไร

ตอนที่ 4 - ความต่างกันของรูป

ตอนที่ 5 - ความหมายของการศึกษาลักษณะ

ตอนที่ 6 - ปัญญาเจริญขึ้นได้ตามลำดับขั้น

ตอนที่ 7 - การยึดถือในขันธ์ 5 เป็นทุกข์

ตอนที่ 8 - เราติดกับความคิดที่เป็นตัวตน

ตอนที่ 9 - ความหมายของอิริยาบถปิดบังทุกข์

ตอนที่ 10 - ไปสู่ป่า และ สำนักปฏิบัติ

ตอนที่ 11 - ความเข้าใจเจริญขึ้นตามปรกติ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ