ลักษณะของทุกข์ - ความต่างกันของรูป ตอนที่ 4-11 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]

 
wittawat
วันที่  1 พ.ค. 2562
หมายเลข  30816
อ่าน  645

พระภิกษุ: อาตมามีคำถามเรื่องสติปัฏฐาน อาตมาได้อ่านว่าในรูปทั้ง 28 รูป มีรูปที่ไม่สามารถเห็นได้ รูปที่ไม่สามารถกระทบได้ รูปที่ละเอียด รูปที่ไกล และอื่นๆ คุณโยมช่วยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไหม

อ.สุจินต์: มีเพียงหนึ่งรูปในรูป 28 รูปที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ และนั่นคือวัณรูปที่ปรากฏทางจักขุปสาท (รูปสีที่ปรากฏทางตา) สิ่งที่ปรากฏทางตาสามารถที่จะปรากฏให้เห็นได้และเป็นหนึ่งในสัปปฏิฆรูป ซึ่งหมายถึง "รูปที่มีการกระทบได้" [1]

ยังมี "รูปที่กระทบได้" รูปอื่นอีกได้ ได้แก่ อารมณ์ของปสาทรูปทั้ง 5 ซึ่งนอกจาก รูปที่ปรากฏทางตา ก็มี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ประกอบด้วย ปฐวีธาตุ (ปรากฏเป็นแข็ง หรืออ่อน) เตโชธาตุ (ปรากฏเป็นร้อน หรือเย็น) และ วาโยธาตุ (ปรากฏเป็นไหว หรือตึง) ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปสาทรูปที่สามารถกระทบได้ โดยชื่อ คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป รวมอีก 11 รูปที่สามารถกระทบกระทั่งได้ แต่ไม่สามารถที่จะเห็นได้

แต่วัณรูป (สีที่ปรากฏทางตา) สามารถที่จะกระทบได้ และยังสามารถที่จะเห็นได้ (สนิทัสสนรูป) ด้วย รวมเป็น 12 "รูปที่กระทบได้" (สัปปฏิฆรูป) ซึ่ง "รูปที่กระทบได้" นี้เป็น "รูปหยาบ" (โอฬาริกรูป) และเพราะรูปเหล่านี้ มีการรู้แจ้งแทงตลอดได้ง่ายกว่าจึงเป็น "รูปที่ใกล้" (สันติเกรูป) อีก 16 รูปที่เหลือ จากทั้งหมด 28 รูป เป็น"รูปละเอียด" (สุขุมรูป) ไม่สามารถที่จะเห็นได้ หรือ"ไม่สามารถกระทบได้" (อัปปฏิฆรูป) สุขุมรูปนั้นเป็น "รูปที่ไกล" เพราะรู้แจ้งได้ยาก

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ความจริง และผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะพิสูจน์ความจริงเหล่านั้นได้ สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ธรรมทั้งสุขุมและลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนที่ศึกษาว่าวัณรูปเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เขาอาจจะคิดว่าไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ความเข้าใจทางปริยัติไม่เหมือนกับความเข้าใจลักษณะของเห็นเมื่อเขากำลังเห็น ถ้าเขาไม่ได้เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งทำให้ปัญญาคมกล้าขึ้น เขาก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจชัดในลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงได้

เมื่อมีเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาถูกเห็นผ่านทางตา แต่สิ่งที่ผู้นั้นเห็น ก็สำคัญผิดคิดว่าเป็นคน ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป เมื่อความสงสัยเกิดขึ้น และคนนั้นไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร

วัณรูปเป็นความจริงที่ปรากฏเมื่อลืมตาและมีการเห็น โดยยังไม่คิดเรื่องใดเลย ต่อจากนั้นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาสามารถที่จะปรากฏได้ตามความเป็นจริง ถ้าปัญญาเจริญขึ้น ผู้นั้นสามารถที่จะคุ้นเคยกับความจริงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน คน เรา หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงความจริงที่ปรากฏผ่านทางตา นั่นคือลักษณะแท้จริงของธรรมนี้

ถ้าบุคคลไม่น้อมไปเพื่อศึกษาและพิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่มีทางที่จะละการยึดถือความเห็นว่ามีเราเห็น เป็นเราเห็นคน ความยึดถือว่าธรรมเป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งสิ่งใด (สักกายทิฏฐิ อัตตานุทิฏฐิ)

ข้อความนี้แปลจาก...The Characteristic of Dukkha - Different kinds of rupa

คลิกเพื่ออ่านตอนอื่นๆ ...

ตอนที่ 1 - พ้นจากทุกข์ได้อย่างไร

ตอนที่ 2 - การอบรมเจริญวิปัสสนาเริ่มต้นได้อย่างไร

ตอนที่ 3 - นั่งทำสมาธิด้วยโยนิโสมนสิการได้อย่างไร

ตอนที่ 4 - ความต่างกันของรูป

ตอนที่ 5 - ความหมายของการศึกษาลักษณะ

ตอนที่ 6 - ปัญญาเจริญขึ้นได้ตามลำดับขั้น

ตอนที่ 7 - การยึดถือในขันธ์ 5 เป็นทุกข์

ตอนที่ 8 - เราติดกับความคิดที่เป็นตัวตน

ตอนที่ 9 - ความหมายของอิริยาบถปิดบังทุกข์

ตอนที่ 10 - ไปสู่ป่า และ สำนักปฏิบัติ

ตอนที่ 11 - ความเข้าใจเจริญขึ้นตามปรกติ

---------------------------
[1] อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริเฉทที่ 6 รูปสังคหวิภาค แสดงว่า สัปปฏิฆรูป หมายถึง รูปที่มีการกระทบกระทั่งที่เป็นมูลให้ภวังค์ไหวได้ ได้แก่ ปสาทรูป 5 และวิสยโคจรรูป 7
มีการประจวบถึงกันด้วยตนเอง คือ โผฏฐัพพะ (มหาภูตรูป 3) ,
การประจวบด้วยสามารถที่อาศัย (อุปาทายรูป) คือ ฆานะ ชิวหา กาย กลิ่น รส ฯ
และการไม่ประจวบถึง คือ จักขุ โสต รูป เสียง


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ