ความหมายของคำว่า ธัมมะ (ธรรม) ปรมัตถธรรม และอภิธรรม

 
lovedhamma
วันที่  27 ก.พ. 2562
หมายเลข  30501
อ่าน  928

จากหัวข้อคำถามที่ถาม ขอถามว่าทั้งสามคำนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกันใช่มั้ยครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.พ. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ สิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรม นั้น มีลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น จึงเป็นปรมัตถธรรม และ สิ่งที่มีจริง ซึ่งเปลี่ยนแปลงลักษณะไม่ได้ นั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงเป็นอภิธรรม ทั้ง ๓ คำ จึงกล่าวถึง สิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมด ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.พ. 2562

ปรมัตถธรรม

ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา มีว่า “พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงประกาศ
ปรมัตถธรรมไว้เพียง ๔ อย่าง คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑
ด้วยประการฉะนี้”


ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เคยไม่รู้ แม้ว่าจะมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ปรากฏด้วย เช่น ทางตามีสภาพธรรมปรากฏให้เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปธรรม แต่ความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ ในขณะนี้ให้ทราบว่า รูปธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันอยู่ และนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับ และเกิดดับสืบต่อกันอยู่ แต่เพราะสภาพธรรมที่เกิดและดับอย่างรวดเร็ว และมีสภาพธรรมอื่นเกิดดับสืบต่ออยู่ ความไม่รู้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละขณะ ทำให้มีการยึดถือสัณฐาน หรืออาการของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ จึงเรียกว่า ปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น

ปรมัตถธรรม มี ๔ ประเภทได้แก่

จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตแม้จะมีหลากหลายประเภท ตามเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย บ้าง หลากหลายตามอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ บ้าง หลากหลายตามภูมิคือระดับขั้นของจิต บ้าง แต่ก็มีลักษณะเดียวคือมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ตัวอย่างของจิต เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น

เจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น ผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ เวทนา ความรู้สึก โลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ศรัทธา ความเลื่อมใส ความผ่องใส สติ ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม หิริ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น

รูปปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
เพราะสมุฏฐานต่างๆ กล่าวคือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมมีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ตัวอย่างของรูปปรมัตถ์ เช่น สี เสียง กลิ่น รส ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม จักขุปสาทะ (ตา) โสตปสาทะ (หู) ฆานปสาทะ (จมูก) ชิวหาปสาทะ (ลิ้น) กายปสาทะ (กาย) เป็นต้น

และมีปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ นิพพานปรมัตถ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างสิ้นเชิง

ในขณะนี้เอง ปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่รู้ปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง จึงถืออาการของรูปและนาม ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน หรือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ขณะนี้รูปกำลังเกิดดับทั้งภายในที่ตัวเอง และภายนอกที่ปรากฏที่เห็นทางตา หรือที่ได้ยินทางหู เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปแต่ละลักษณะ รูปทางตาก็เกิดดับ รูปทางหูก็เกิดดับ รูปทางจมูกก็เกิดดับ รูปทางลิ้นก็เกิดดับ รูปที่กายที่กำลังกระทบสัมผัสก็เกิดดับ

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงมีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการ โดยสัณฐาน ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ค่อยๆ ศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าลักษณะของปรมัตถธรรมนี้จะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นก็สามารถที่จะประจักษ์แม้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จึงจะไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะตามที่ได้ศึกษามาตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนของจิต เจตสิก รูป ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตราบนั้นก็ยังเห็นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังมีความยึดถือว่า เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนต่างๆ

เพราะฉะนั้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ในที่สุด ซึ่งจะขาดการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ในขณะนี้ไม่ได้เลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.พ. 2562

อภิธรรม

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มีว่า

“พระศาสดา ประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดา เริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า "กุสลา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศล ได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) อกุสลา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ได้แก่ อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) อพฺยากตา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ทั้งกุศลและไม่ใช่ทั้งอกุศล ได้แก่ วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กิริยาจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย, รูปทั้งหมด และ พระนิพพาน) " ดังนี้เป็นต้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ปฏิเสธความเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานับคำไม่ถ้วน ประมวลเป็นพระสุตตันตปิฎก บ้าง พระวินัยปิฎก บ้าง พระอภิธรรมปิฎก บ้าง ทั้งหมด ก็ไม่พ้นไปจาก เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรม ตามความเป็นจริง แม้จะทรงแสดงพระธรรม โดยนัยที่เป็นพระสูตร หรือ พระวินัย ก็ไม่พ้นไปจาก ความเป็นไปของธรรม ที่เป็นอภิธรรม จะประมวลว่า พระพุทธพจน์ทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจความเป็นอภิธรรมของสภาพธรรม ก็ได้ ดังนั้น พระอภิธรรม ก็เป็นพระพุทธพจน์ด้วย เป็นพระธรรมคำสอน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้

ส่วนใหญ่เวลาได้ยินคำว่า อภิธรรม แล้วกลัวว่าจะเรียนไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว อภิธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม จึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากอภิธรรมเลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรม ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น สำคัญที่การเริ่มต้น ด้วยการฟังด้วยการศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อย การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องนั้น ต้องไม่ใช่แบบวิชาการ แต่เป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลายกิเลส มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ซึ่งจะลืมจุดประสงค์นี้ไม่ได้ คือ อาศัยพระธรรมคำสอนที่เป็นพุทธพจน์ เพื่อจะได้ขัดเกลาละคลายกิเลส ของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของการละตั้งแต่ต้น ละความไม่รู้ ละความหวังความต้องการ ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหน สอนเพื่อที่จะให้ได้ สอนให้ติดข้อง นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) คือความติดข้องต้องการ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงสอนให้กระทำอะไร ด้วยความเห็นผิด ไม่รู้ หลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และ ขัดเกลาละคลายกิเลส เท่านั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมตรงตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม โดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา ฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังซึ่งเป็นเรื่องยากมาก แต่ไม่เหลือวิสัย เพราะผู้ที่ได้รู้ความจริงตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแล้ว นั่นก็คือ พระสาวกทั้งหลายในอดีต การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับ จริงๆ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.พ. 2562

ธรรม

ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ แสดงถึงความหมายของ ธรรม ไว้ว่า “ชื่อว่า ธรรม เพราะอรรถว่า ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน”


ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย ก็ต้องตั้งต้นตั้งแต่คำแรกที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยตลอด นั่นก็คือ คำว่า ธรรม คำว่า ธรรม เป็นคำมาจากภาษาบาลี แต่ถ้าเป็นคำไทยแล้วก็คือ สิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งที่มีจริง นั้น คือ อะไร? คือ ขณะนี้หรือไม่ ที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก ขณะที่เป็นกุศล ความดีงามเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตา ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น หรือ ในทางตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ ตลอดจนถึงสภาพธรรมที่ไม่ดีประการอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่มีจริง ที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรมก็มีจริงๆ เช่น สี มีจริง เสียงมีจริง กลิ่น มีจริง เป็นต้น เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย ยิ่งถ้าได้สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งจะมั่นคงว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น คือ ขณะนี้ที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมนั่นเอง

ธรรมเป็นเรื่องที่ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะถ้าธรรมง่าย ก็คงไม่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าใครๆ ก็ย่อมสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้เอง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะธรรม ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงซึ่งเกิดจากการทรงตรัสรู้ของพระองค์ จึงจะสามารถเข้าใจถูกตามความเป็นจริงได้ จะเห็นได้ว่าธรรมแม้ที่กำลังมีในขณะนี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตาย มองหาธรรมไม่เจอว่าธรรมอยู่ที่ไหน เพราะไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

ต่อเมื่อใดที่ได้ฟังแล้ว ก็ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมเลย เพราะว่าไม่มีวันพ้นจากธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดอีกต่อไป แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วถ้าสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ถ้าคิดให้ลึกๆ ให้ถูกต้อง ก็จะเข้าใจถูกได้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นจะไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่เพราะไม่รู้ว่าเกิดคืออะไรเกิด? เมื่อไม่รู้ จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมดว่าเป็นเรา

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้าพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงของธรรมได้ แต่ก็ไม่มีใครไตร่ตรองในลักษณะเช่นนี้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม

กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีการเกิดขึ้น มีการปรากฏ แล้วก็ดับไป ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครเพียงฟังเดี๋ยวนี้แล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะจริงๆ ของธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องยากแน่นอน ไม่ใช่เรื่องที่เพียงฟังวันนี้แล้วทุกคนก็จะเห็นว่าเป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เราอีกต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
yupa
วันที่ 28 ก.พ. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 1 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ