ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๑

 
khampan.a
วันที่  22 ก.ค. 2561
หมายเลข  29938
อ่าน  2,072

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๑

~ พระธรรมทั้งหมดทั้ง ๓ ปิฎก เริ่มที่สภาพธรรมที่เป็นจริง คือ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าใครจะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก ไม่ว่าจะเป็นคำสอนในศาสนาไหนทั้งหมดจะไม่มีอนัตตา อาจจะมีอย่างอื่น มีศีลธรรม มีอะไรก็ได้ แต่สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่าง สภาพธรรมแต่ละอย่าง คำสอนในศาสนาอื่นจะไม่มีเลย เพราะว่าเป็นสัจจธรรม ซึ่งจะต้องอาศัยการบำเพ็ญบารมีมามากและนานทีเดียวกว่าที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

~ ใครเห็นโทษของกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) อะไรเห็นโทษของกิเลส ก็ต้องปัญญา คำตอบก็อยู่ที่ปัญญา ก็ต้องเจริญปัญญาขึ้น เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้นก็ต้องเห็นโทษของกิเลส แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด แล้วจะบอกว่าเห็นโทษของกิเลส ก็ยาก

~ ถ้าบุคคลนั้นศึกษาพระธรรมโดยผิดจุดประสงค์ อาจจะเพื่อความสำคัญตน เพื่อชื่อเสียง เพื่อลาภยศ หรือแม้เพียงเพื่อสักการะ หมายความว่า ธรรมที่ได้ฟังไม่ได้ไปชำระจิตใจของเขา เพราะว่าเขาตั้งใจไว้ผิดในการฟังธรรม ในการศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อฟังแล้วก็ยิ่งมีความสำคัญตนขึ้น ถ้าสมมติว่าฟังแล้วเข้าใจธรรมจริงๆ คนนั้นจะลดอกุศลลงเอง เพราะเหตุว่าปัญญาเกิด

~ พระธรรมที่มีประโยชน์ต่อสัตว์โลก ก็เพราะทำให้สัตว์โลกที่ได้รับฟังพระธรรมเกิดปัญญาของบุคคลผู้ฟังเอง

~ จะรู้มากรู้น้อยอย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ คือ เป็นปัญญาที่จะขัดเกลาละคลายอกุศล เพราะอกุศล ไม่มีทางที่อย่างอื่นจะขัดเกลาหรือละคลายได้ นอกจากปัญญาอย่างเดียว

~ วันหนึ่งๆ อกุศลจะมากสักแค่ไหน แต่ขณะที่นอนหลับสนิทเหมือนไม่มีอกุศลเลย แต่พอตื่นจะรู้ได้ว่า ใครมี ใครไม่มีอกุศล คือ เป็นพระอรหันต์ตื่นขึ้น ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นปุถุชนตื่น ไม่พ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลาง เป็นปริยุฏฐานกิเลส หมายความถึงพัวพันกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสที่พัวพันอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) แต่ยังไม่มีกำลังถึงกับล่วงทุจริต ถ้าล่วงทุจริตก็เป็นกิเลสหยาบ

~ เห็นความต่างกันของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์กับผู้ที่เป็นบรรพชิต ถ้าใครจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศสูง ต้องรู้ตัวว่า สามารถที่จะมีอัธยาศัยที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุว่านับตั้งแต่เวลาบวช เจตนาว่าคฤหัสถ์ไม่มี ชีวิตเดิมที่เคยเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ ไม่มี

~ สิ่งที่มีจริงนั้น ใครจะเรียกว่า ธรรม หรือไม่เรียกว่า ธรรม แต่ลักษณะสภาพนั้นก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมจนกระทั่งถึงการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ว่าจะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ตั้งแต่ขั้นต้นว่า ธรรมคืออะไร และจะปฏิบัติธรรมอะไร

~ เมื่อทุกคนเกิดมาก็เป็นธรรมทั้งนั้น ทุกคนกำลังเห็น ลองพิจารณาดูว่า ถ้าเข้าใจธรรมแล้วว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นธรรมหรือว่าเป็นเรา?

~ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรับรองคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นคำสอนที่ได้พิสูจน์แล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เพียงเชื่อ แต่หมายความว่า เป็นสิ่งที่รับฟังแล้วไม่เชื่อทันที แต่ว่าพิจารณาศึกษาในเหตุผล จนกระทั่งประจักษ์แจ้งว่า คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง

~ ผู้ที่เจริญจริงๆ ต้องเป็นผู้เจริญทางจิตใจ ทางกุศล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้เป็นพระอริยเจ้า คือ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ทรงแสดงธรรมแล้ว สาวกทั้งหลายที่ได้อบรมเจริญบารมี (ความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) มา ก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือ ธรรมที่เป็นความจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล คือ เป็นผู้ประเสริฐ ถึงขั้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ได้ตามลำดับ

~ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีอะไรจะละคลายกิเลสได้เลย กิเลสไม่ได้อยู่ในหนังสือกิเลสอยู่ที่การสะสมมา ตราบใดที่ยังไม่ได้ละ ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิด เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมเพื่อรู้จักสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่สภาพนั้นมีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

~ ชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนไม่พ้นจากโลภะ แต่สามารถจะเข้าใจโลภะขึ้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือปัญญา ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่ปัญญาจะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โลภะคืออะไร โลภะก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวตน

~ วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ถึงความต่างกันของขณะที่อวิชชาเกิดกับขณะที่ปัญญาเกิด ถ้าเป็นอวิชชา เป็นสภาพที่มืด ทำให้ไม่รู้ความจริง ไม่เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล และก็ไม่เห็นหนทางที่ถูกที่ชอบที่ควรจะกระทำ เพราะฉะนั้นก็ทำให้คิดก็คิดผิด ทำก็ทำผิด พูดก็พูดผิด แต่ว่าถ้าในขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเห็นอกุศล แล้วก็ยังเห็นความน่ารังเกียจของอกุศล เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่คิดถูก ทำถูก พูดถูก

~ ชีวิตประจำวันก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงกุศลวิตกและอกุศลวิตกของตนเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะเห็นแต่อกุศลของคนอื่น แทนที่จะกระทำกิจของตน ก็ไปคิดที่อยากให้คนอื่นหมดกิเลส โดยที่ลืมว่าในขณะนั้นจิตของตนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล?

~ ให้ทานไปแล้ว แล้วก็รู้สึกว่าเราเป็นคนดีมากที่ให้ทาน และหวังผลว่าที่ให้ทาน จะทำให้เราเกิดบนสวรรค์ หรือมีรูปร่างสวยงาม มีทรัพย์สมบัติมากมาย ขณะนั้นสละกิเลสหรือเปล่า?

~ คนที่ว่าง่าย คือ พิจารณาเหตุผลในพระธรรม น้อมที่จะปฏิบัติตามโดยถูกต้อง โดยดี แต่ถ้าเป็นผู้ว่ายาก แม้ว่าพระธรรมจะทรงแสดงไว้โดยละเอียดเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เป็นผู้ที่จะประพฤติน้อมโดยถูกต้อง นั่นก็เป็นผู้ว่ายาก

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้สอนให้ใครหลงงมงาย

~ ชาวพุทธ ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

~ นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ตรง คือ ฟังคำของพระองค์ ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น เพราะคำของคนอื่น ไม่ทำให้เข้าใจความจริงในขณะนี้

~ พระพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้คนอื่นเชื่อ แต่ทรงแสดงความจริง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญาเป็นของตนเอง เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง

~ คุณความดี ไม่เคยนำความทุกข์โทษภัยความเดือดร้อนใดๆ มาให้เลย

~ ทั้งหมดที่วิกฤตหรือสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นภัยอย่างยิ่ง ก็คือ ไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัย ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่มีทางทำในสิ่งที่ผิดได้เลย แต่พอเข้าใจแล้วก็ไม่ทำสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้น การแก้ ไม่มีวิธีอื่นทั้งสิ้น นอกจากศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง เมื่อเข้าใจแล้ว จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด เพราะปัญญาจะไม่ทำในสิ่งที่ผิด

~ ไม่ใช่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปหยิบยื่นปัญญาให้แก่ใคร แต่ แต่ละคำของพระองค์ ตรัสให้คนฟังได้ไตร่ตรอง ได้คิดได้พิจารณา ความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดเมื่อไหร่ นั่นคือ สมบัติซึ่งหาอีกไม่ได้ในชาตินี้ซึ่งจะติดตามต่อไปทำให้ไม่เข้าใจผิด

~ ก่อนนี้ไม่ได้มีปัญญา คือ ความสว่างเลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมและไม่ได้อบรมจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

~ ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็อยู่ในความมืด เพราะเหตุว่าไม่เห็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ ตามปกติ ตามความเป็นจริง จนกว่าเมื่อใดปัญญาเกิด เมื่อนั้นจะเป็นความสว่างที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

~ ทุกท่านมีอกุศล แล้วอกุศลบางครั้งก็รุนแรง จนกระทั่งทำให้รู้สึกว่า กระสับกระส่าย เดือดร้อนใจ แต่เป็นความจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

~ ลักษณะของความยินดี ปรารถนา พอใจ เกิดขึ้นในขณะใด ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่สงบ เพราะฉะนั้นท่านที่ไปสู่สถานที่ที่รื่นรมย์ จะเป็นป่าเขาลำเนาไพรที่ไหนก็ตาม แล้วก็มีความพอใจในสถานที่เหล่านั้น ควรจะทราบว่า ในขณะนั้นจิตไม่สงบที่กำลังพอใจ เพราะว่าประกอบด้วยอุทธัจจเจตสิก (ความฟุ้งซ่านไม่สงบ) โมหเจตสิก (ความไม่รู้) อหิริกเจตสิก (ความไม่ละอาย) อโนตตัปปเจตสิก (ความไม่เกรงกลัว) และโลภเจตสิก (ความติดข้องยินดีพอใจ) ที่ทำให้ยินดี พอใจในสถานที่ที่รื่นรมย์นั้น ไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่สงบ

~ ถ้าตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ไม่มีวันที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ จะต้องมีการตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก อย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

~ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกอย่าง มีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น แต่ควรจะเข้าใจถึงสภาพธรรมะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นเหตุอันแท้จริง เพราะเหตุว่านามธรรม คือ จิต เป็นเหตุ จิตที่ดีเป็นกุศล ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับกุศลวิบาก จิตที่ไม่ดีเป็นอกุศล ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับอกุศลวิบาก แล้วก็เป็นผู้มั่นคงในเรื่องกรรม แล้วก็ตัดเรื่องอื่นออกไป จะทำให้เป็นผู้ไม่สนใจ ไม่โน้มเอียงที่จะยึดถือมงคลตื่นข่าว

~ ความเห็นผิด ก็ทำให้วนเวียนอยู่ในความเห็นผิด หลงอยู่ในความเห็นผิด ไม่สามารถจะพบเหตุและผลจริงๆ ที่จะทำให้ออกจากความเห็นผิดได้

~ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา แต่ทำให้เกิดในอบายภูมิเท่านั้น

~ ปัญหาทุกอย่างมาจากจิตที่เป็นอกุศล

~ โกรธเมื่อไหร่ ไม่มีเมตตาเมื่อนั้น

~ กิเลสที่สะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ สามารถหมดสิ้นไปได้เพราะ (อาศัย) คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ พระธรรมทั้งหมด เป็นไปเพื่อปัญญา ถ้าไม่มีการเริ่มฟัง แล้วจะเพิ่มพูนปัญญาได้อย่างไร

~ ผู้ที่เห็นคุณของความดี จึงทำความดี และผู้ที่รู้คุณของความดีก็จะอนุโมทนา (ชื่นชมยินดี) ในความดีที่คนอื่นทำด้วย

~ มีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะฟัง จะศึกษาให้เข้าใจ หรือจะคิดเอง?

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๐

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Boonyavee
วันที่ 22 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เจียมจิต
วันที่ 22 ก.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 23 ก.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 23 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sottipa
วันที่ 23 ก.ค. 2561

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
panasda
วันที่ 23 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
meenalovechoompoo
วันที่ 23 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 24 ก.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 31 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
มกร
วันที่ 27 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
kullawat
วันที่ 6 ก.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ