ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ร้านอาหารสำรับใต้ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  25 ต.ค. 2560
หมายเลข  29266
อ่าน  2,548

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ วิทยากร ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อ.ธีรพันธ์ ครองยุทธ อ.ธิดารัตน์ หอมจันทร์ ได้รับเชิญจากคุณเมตตา ชัยศรีโสภณกิจ เพื่อไปสนทนาธรรมที่ ร้านอาหารสำรับใต้ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. - ๑๕.๓๐ น. อนึ่ง ร้านอาหารสำรับใต้ นี้ เป็นกิจการของครอบครัวคุณโอ ปวีร์ คชภักดี นักร้อง สมาชิกชมรมบ้านธัมมะลำดับที่ ๘๙๗ ซึ่ง ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ ได้เขียนแนะนำไว้ในกระทู้ ขอแนะนำสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. คุณโอ - ปวีร์ คชภักดี ท่านที่สนใจสามารถคลิกอ่านได้เลยนะครับ

ข้าพเจ้าออกจากบ้านพร้อมคุณภรรยา ไปรับพี่แดง (พลอากาศตรีหญิงกาญจนา เชื้อทอง) ที่บ้าน แล้วขับรถขึ้นทางด่วนไปลงถนนพระรามเก้าขับต่อไปอีกนิดเดียวก็ถึงร้านสำรับใต้ เป็นการเดินทางที่สะดวกมาก ระหว่างทาง พี่แดงได้หยิบอัลบั้มรูปเก่าที่ท่านอาจารย์นำมาให้พี่แดงดู ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นรูปคุณพ่อของท่านอาจารย์ คือหลวงบริหารวนเขตต์ สมัยที่ท่านเดินทางไปเที่ยวบ้านคุณซาร่าห์ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งท่านอาจารย์บอกกับพี่แดงว่าท่านได้ยินคนบริจาคเงินและทำกุศลประการต่างๆ แล้วอุทิศให้กับคุณพ่อของท่าน จึงนำรูปของคุณพ่อมาให้ท่านเหล่านั้นได้เห็นกัน ซึ่งพี่แดงก็คิดถึงข้าพเจ้าว่าควรจะได้นำมาแสกนลงคอมพิวเตอร์เก็บไว้ ซึ่งในอัลบั้มนี้ นอกจากจะมีรูปของหลวงบริหารวนเขตต์และท่านอาจารย์ในสมัยนั้นแล้ว ยังมีรูปคุณซาร่าห์ คุณโจโนธาน คุณอลัน ไดรเวอร์ และใครต่อใครอีกหลายท่าน ซึ่งท่านอาจารย์ได้เมตตามายืนเล่าให้พวกเราได้ฟังหลังจากที่ท่านรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ซึ่งท่านเล่าด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข เป็นขณะที่เมื่อคิดถึงคราวใดก็ให้ระลึกถึงว่าบุญเหลือเกิน ที่ได้มีโอกาสเป็นผู้หนึ่งที่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ในวันนั้น ที่แม้จะเป็นขณะที่ล่วงไปหมดแล้ว ไม่มีวันที่จะหวนกลับมาอีกเลยในสังสารวัฏก็ตาม เป็นอีก ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่แสนจะซาบซึ้งในหทัยอย่างยิ่ง

ขอเล่าย้อนไปในขณะที่กำลังขับรถ พี่แดงได้เล่าเรื่องต่างๆ ที่เคยได้ยินมาจากทั้งท่านอาจารย์ คุณป้าจี๊ด ถึงเรื่องราวในวัยเด็กของท่าน ซึ่งเป็นเกร็ดประวัติที่น่าสนใจมาก ข้าพเจ้าจึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า หากพี่แดงได้เขียนบันทึกเล่าอัตชีวประวัติของท่านอาจารย์ไว้สักครั้ง ก็น่าจะดี เพราะท่านอาจารย์เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งท่านหนึ่งในพระพุทธศาสนา อีกทั้งพี่แดงก็มีความสามารถในทางการเขียนเล่าเรื่องได้น่าอ่านมาก และยังเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านอาจารย์มายาวนาน ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย ซึ่งพี่แดงก็เห็นดีด้วย

แต่เมื่อแรกที่ท่านอาจารย์เดินทางมาถึงร้านอาหารสำรับใต้ เมื่อพี่แดงเข้าไปกราบท่านเสร็จก็รีบเสนอไอเดียที่ได้กล่าวแล้วนั้นทันที ท่านอาจารย์กล่าวตอบทันทีอีกเช่นกันว่า ไม่ต้องเขียนเรื่องของท่าน และคุณพ่อของท่าน เรื่องที่จะให้ทุกคนได้เข้าใจธรรม สำคัญกว่า เราพูดเรื่องธรรมะให้ทุกคนได้เข้าใจสำคัญที่สุด พี่แดงพยายามจะกล่าวอธิบาย ท่านก็ได้แต่โบกมือห้าม

ข้าพเจ้าเองก็ไม่ละความพยายาม เมื่อตอนที่ท่านเดินมาที่โต๊ะซึ่งข้าพเจ้า คุณพรทิพย์ คุณแอ๊ว (นภา) และพี่แอ้น (วิภาดา กัลยาณมิตร) นั่งอยู่ แล้วท่านก็เมตตาเล่าเรื่องแต่ละท่านแต่ละภาพในอัลบั้มให้พวกเราฟังอย่างที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อสบโอกาส ข้าพเจ้าก็กราบเรียนท่านอีกว่า การได้มีการเขียนเล่าเกร็ดประวัติของท่านบันทึกไว้บ้าง จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจในอนาคต ท่านก็ส่ายหน้าโบกมือแล้วกล่าวเช่นเดิมว่า ให้พูดเรื่องธรรมะให้เขาได้เข้าใจ สำคัญที่สุด เป็นอันว่าจบ (เห่) นะครับ

เมื่อเล่าเรื่องเกร็ดประวัติของท่านไม่ได้ ก็เปลี่ยนมาเล่าเรื่องเกร็ดประวัติของพี่เมตตา เท่าที่ได้ฟังมาแบบพอจับใจความได้สักนิดจะดีกว่านะครับ (ฮาาาาา) ทราบว่า ก่อนที่พี่เมตตาจะมาฟังท่านอาจารย์ พี่เมตตาเป็นผู้หนึ่งที่ฝักใฝ่ในการปฏิบัติธรรมแบบที่ว่า เอาเป็นเอาตายเลยก็ว่าได้ กล่าวคือ พี่เมตตาไม่ทำการทำงาน เอาแต่ไปอยู่สำนักปฏิบัติธรรมชื่อดังแถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เมื่อกล่าวชื่อวัดนี้ย่อมไม่มีใครไม่รู้จัก พี่จู (กุสุมา โกมลกิติ) พี่สาวของพี่เมตตาเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มแต่ดูจริงจัง หลายหนเมื่อมีผู้ถามถึงว่า พี่เมตตาไปอยู่สำนักปฏิบัติธรรมดังกล่าวเป็นเดือนๆ ไม่ยอมกลับบ้าน ไม่ยอมทำงาน จนพี่จูต้องตัดสินใจไปตาม ให้มาฟังท่านอาจารย์ ซึ่งเพราะบุญที่เคยกระทำไว้แต่ปางก่อนโดยแท้ พี่เมตตายอมที่จะกลับบ้าน และมาฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์ ซึ่งปัจจุบัน จากความเข้าใจที่ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้องตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พี่เมตตาก็เป็นอีกท่านหนึ่ง ที่กล่าวยืนยันเพื่อเตือนผู้ที่ได้ฟังบ่อยๆ ว่า การไปปฏิบัติธรรมดังกล่าว นอกจากจะไม่ทำให้รู้อะไรแล้ว ยังเป็นความเห็นผิดในหนทาง (มิจฉามรรค) ที่เป็นอันตรายร้ายแรงอย่างยิ่งต่อตนเอง ที่จะเป็นเหตุให้วนเวียนอยู่กับกองทุกข์ในสังสารวัฏ ไม่มีทางที่จะออกไปได้เลยในที่สุด

ขออนุญาตนำความการสนทนาบางตอน ที่ท่านอาจารย์สนทนาถึงความเพียรผิด หนทางผิด ความเห็นผิด หนทางผิด การไปปฏิบัติผิด ไปเพียรผิด และหนทางของการอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้อง ตามที่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้แก่สัตว์โลกได้เข้าใจ มาบันทึกไว้เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง เพื่อทุกๆ ท่านได้พิจารณาดังนี้

ท่านอาจารย์ ปริยัติ เป็น "ความเข้าใจ" เข้าใจอะไร? เข้าใจ "คำ" พระพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง แตกฉานเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจึงสามารถที่จะเป็น "สัจจญาณ" ปัญญาที่รู้ว่า จริงแน่นอน ไม่มีอะไรจริงกว่านี้ จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิด "ปฏิปัตติ" ปัญญาอีกระดับหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญญาตั้งแต่ต้น!!

พี่เมตตา กราบท่านอาจารย์ค่ะ เพราะฉะนั้น ปริยัติก็คือพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นปริยัติ
ท่านอาจารย์ ศึกษาหรือเปล่า? หรืออยู่ในตู้? ป็นตัวหนังสือเขียนไว้เฉยๆ เป็นปริยัติหรือเปล่า?
พี่เมตตา ไม่เป็นค่ะ จะต้องศึกษาให้เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ความเข้าใจพระพุทธพจน์
พี่เมตตา ความเข้าใจ เคยได้ฟังเทป ท่านอาจารย์อธิบายว่า ทั้งสามปิฎก เป็นธรรมะทั้งหมด ทุกคำในนั้น บ่งถึงความเป็นธรรมะขณะนี้ทั้งหมด หมายถึงว่าพระไตรปิฎกทั้งหมดต้องศึกษาโดยถ่องแท้ ให้เข้าใจจริงๆ ถึงจะเป็นปริยัติ

คุณตริน ท่านอาจารย์ครับ ขอถามเพื่อให้เข้าใจปริยัติมากขึ้น ปริยัติคือปัญญาเมื่อได้ศึกษาพระพุทธพจน์ว่าทุกๆ คำ ส่องถึงสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ค่ะ พูดอีกนัยหนึ่งได้ไหม? ปริยัติ คือ การเข้าใจความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ละคำของพระองค์เป็นพระพุทธพจน์ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ปริยัติ ก็คือ เข้าใจคำที่พระองค์ตรัส
คุณตริน แม้ความเข้าใจตรงนั้น ก็เป็นปัจจัยให้ปัญญาอีกขั้นหนึ่ง สามารถเริ่มที่จะเกิดขึ้นได้ ใช่ไหมครับ?
ท่านอาจารย์ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งว่า คำแรกที่ได้ฟัง จริงอย่างนั้น!!
คุณตริน เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิปัตติ และปฏิเวธ ก็เริ่มต้นจากปัญญาตั้งแต่ต้น
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด!! คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ เป็นปัญญาทั้งหมด เกิดจากการตรัสรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

คุณสุคิน จะพูดได้ไหมว่า กิจของพวกเราทุกคนที่เป็นสัตว์โลกก็คือฟัง เราไม่ต้องมาคิดว่า จะเข้าใจลักษณะธรรมะขั้นปฏิบัติหรือมีสติปัฏฐาน กิจเราก็คือ "ฟัง"
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ฟังก็ไม่เข้าใจ ตั้งต้นด้วยความไม่เข้าใจ แล้วจะไปเข้าใจได้อย่างไร ก็ไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ
คุณสุคิน สังเกตุว่า ความติดข้องมักจะทำให้เราคิดว่า เราเข้าใจน้อย อยากจะมีความเข้าใจมากกว่านี้ หรือว่ายังไม่ได้มีสติปัฏฐานหรืออะไรเลย แต่จริงๆ แล้ว เมื่อไหร่ก็ตาม ก็คือ เราก็ฟังต่อ
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เพราะว่า เพียงได้ยิน แล้วก็ยังเป็นเรา ฟังว่าไม่ใช่ตัวตน ก็ยังเป็นเรา เพราะเหตุว่า ปัญญาขั้นฟังเพียงแต่เข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พูดถึงสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงนั้น!!

น่าสรรเสริญความอดทนของทุกท่าน กว่าจะค่อยๆ เข้าใจ กว่าที่จะรู้จริงๆ ว่าเป็น "เรื่องละ" เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ละ ก็คือว่า "มีความเป็นเรา" ฟังเพื่อ "ละความไม่รู้" เข้าใจเมื่อไหร่ สภาพที่เข้าใจ ที่ใช้คำว่า "ปัญญาเจตสิก" ก็ทำ "กิจของปัญญา" คือ "ละความไม่รู้" ธรรมะอื่นไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ได้เลย

ขณะนี้ ความเข้าใจที่มี และการฟัง การไตร่ตรอง ก็ทำให้ความเข้าใจนั้น ค่อยๆ เพิ่มขึ้น!! ไม่มีใครไปทำอะไรเลย เป็นเรื่องของธรรมะทั้งหมด!!

คุณตริน ถ้าอย่างนั้น ทั้งหมดก็ต้องเริ่มจากคำแรกและความจริงใจที่จะฟัง แล้วก็ฟังด้วยดี โดยที่ว่าไม่ได้ต้องไปเข้าใจอะไรมากกว่าที่สามารถเข้าใจได้เลย เป็นการไตร่ตรองทีละคำ
ท่านอาจารย์ เพราะว่า "ฟัง" ไม่ใช่ "คิดเอง" ใช่ไหม? คิดเองก็ไม่ต้องฟัง!! แต่เวลาฟัง คือ ฟังคำที่ได้ยิน แล้วก็เข้าใจคำนั้นให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นไม่ชื่อว่าฟังเลย ฟังอย่างนี้แล้วทำอย่างโน้น ฟังหรือเปล่า?

ผศ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์บอกว่า น่าอนุโมทนาผู้ที่มีความอดทน ที่อบรมเจริญโดยการฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ฟังธรรมะเข้าใจแล้วก็เป็นความสบาย ความเบา ที่ไม่คิดเร่ง คิดทำ
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เบาสบาย ยังอดทนด้วย!!
ผศ.อรรณพ ก็เลยจะกราบเรียนว่า เบาสบาย และอดทนนี่...
ท่านอาจารย์ อดทนเพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา!! เห็นไหม? จะเบาสบาย หรือจะหนัก หรือจะเบื่อ หรือจะอะไรทั้งหมด ก็เป็นธรรมะที่ไม่ใช่เรา!!

ผศ.อรรณพ เท่าที่ได้ฟัง เราคิดว่าอดทนจะต้องไปลำบากลำบน หรือต้องไปโน่นนี่ แต่อดทนแบบเบาสบายครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ อดทนฟัง ฟังนี่ก็อดทนแล้ว ไม่ไปฟังอื่น แล้วฟังสิ่งที่ยากด้วย แล้วก็มีจริงๆ ด้วย แต่เห็นประโยชน์พราะฉะนั้น ความอดทน ก็เป็นบารมี คนที่เข้าใจธรรมะ จะเข้าใจบารมี แม้แต่ "ความตรงต่อสภาพธรรมะที่มีจริงเดี๋ยวนี้" จนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา!!! ก็เป็น "สัจจบารมี" มั่นคงที่จะไม่ทำอย่างอื่น นอกจากค่อยๆ เข้าใจขึ้น!! เพราะรู้ว่า ไม่มีเราที่จะทำให้เข้าใจ แต่ "ความเข้าใจ" ต่างหาก จากที่เข้าใจทีละเล็ก ทีละน้อย ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ปรุงแต่งขึ้น เข้าใจมากขึ้น!!

เพราะฉะนั้น มีความมั่นคง ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เราที่จะต้องทำอะไร แต่ว่า เป็นธรรมะทุกขณะที่กำลังทำกิจการงาน ก็เป็น "อธิษฐานบารมี"

ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ เพราะฉะนั้น ขันติหรือความอดทน ด้วยความเบาสบายเพราะมีความเข้าใจธรรมะ จึงเป็นขันติที่พระผู้มีพระภาคฯทรงสรรเสริญ ไม่ทรงสรรเสริญขันติทั้งหมด และไม่ได้ติเตียนขันติทั้งหมด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขันติ ไม่ใช่ไปทำตัวเองให้ลำบาก ไปทนต่อความทุกข์ยาก ขันติ-ทนต่อการที่จะฟังจนเข้าใจ!! ลำบากไหม?
ผศ.อรรณพ ไม่ลำบาก
ท่านอาจารย์ เหมือนอดทนที่จะต้องไปทรมานตัวหรือเปล่า?
ผศ.อรรณพ ถ้าไม่ได้ฟังอย่างนี้ จะเรียกว่า ถ้าไม่ได้ฟังนี่ร้อยทั้งร้อย พอพูดถึงขันติ-ความอดทน เขาคิดแล้วว่าจะต้องไปทำอะไร จะต้องไปลำบากลำบนอะไร อย่างน้อยก็ต้องไปสำนักฯ หรือ ปรุงอาหารก็จะต้องอดทนที่จะต้องไม่ติดในรส จะต้องไม่ปรุง ไม่อะไร ก็มีตั้งแต่ใหญ่ๆ ถึงย่อยๆ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่พอท่านอาจารย์ได้กล่าวอย่างนี้ ก็เป็นไปตามที่พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดง เพราะว่าพระผู้มีพระภาคฯไม่ทรงติเตียนหรือสรรเสริญขันติทั้งหมด

ท่านอาจารย์ ค่ะ รับประทานอาหารอร่อยได้ไหม? ขันติที่จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ทุกอย่าง ชีวิตประจำวันทั้งหมดเป็นธรรมะ เราพูดอย่างนี้ ต้องตรงอย่างนี้!! ต้องจริงอย่างนี้!! ต้องรู้อย่างนี้!!
ผศ.อรรณพ ก็จริงนะครับ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ต้องเป็นกุศล บารมีต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพื่อการละกิเลส เพราะฉะนั้น ขันติก็เป็นสภาพธรรมะที่ต้องเป็นกุศลขันธ์ ที่มีอโทสะเป็นประธาน ก็ต้องเป็นไปเนื่องด้วยปัญญาเป็นบารมี อันนี้ก็ต้องขอกราบท่านอาจารย์จริงๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาตามพระธรรมวินัยอย่างนี้ ร้อยทั้งร้อย ป่านนี้ก็คงไม่รู้ว่าไปทำอะไรที่คิดว่าเป็นขันติ แต่เป็นขันติที่พระองค์ทรงติเตียน ไม่ได้ทรงสรรเสริญ

พี่เมตตา กราบท่านอาจารย์ค่ะ ก็อดทนที่จะฟัง ขณะที่ฟังหรือว่าเข้าใจ ขณะนั้นก็เบาสบาย ก็ต่างกับคนที่ "คิดที่จะละกิเลส" ขณะที่คิดที่จะละกิเลสก็เป็นตัวตนที่จะหาหนทางที่จะไปละกิเลส ก็จะไม่เข้าใจ จะเป็นกุศลได้อย่างไร? ก็เป็นอกุศล มีหนทางเดียวจริงๆ ที่ต้องฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีขณะนี้ ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจจริงๆ หนทางเดียวที่จะละกิเลสได้

ท่านอาจารย์ "กำลังหาทาง" เบาสบายไหม? แสนจะเดือดร้อน!!
ผศ.อรรณพ ก็ยิ่งสอดคล้องกันหมดครับ ที่ท่านอาจารย์กล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคฯแสดงการแสวงหาไว้ ๓ อย่าง อย่างที่ ๓ คือ แสวงหาพรหมจรรย์ เพราะยังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นทางประเสริฐก็ยังหาอยู่ ขณะที่หานั้น จะไม่อดทนอย่างไรครับท่านอาจารย์ ที่จะไปแสวงหาทางอื่น เพราะยังไม่เข้าใจทางที่ถูกต้อง จะเห็นความไม่อดทนอะไร เพราะเหมือนจะอดทนไปทำโน่นทำนี่ ไปแสวงหาหนทางต่างๆ ด้วยความไม่เข้าใจ แสดงถึงความไม่มีขันติบารมีอย่างไรครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ บารมีคืออะไร?
ผศ.อรรณพ บารมีก็คือกุศลที่เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส
ท่านอาจารย์ แล้วไปทำอย่างนั้น จะรู้ความจริงไหม?
ผศ.อรรณพ ไม่ครับ
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่บารมี
ผศ.อรรณพ ก็เป็นวิริยะ (ความเพียร) ที่เป็นอกุศล ด้วยความเข้าใจผิด
ท่านอาจารย์ มิจฉามรรคมีไหม?
ผศ.อรรณพ มีครับ
ท่านอาจารย์ มรรคประกอบด้วยวิริยะมีไหม?
ผศ.อรรณพ มีครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นมิจฉา ก็คือว่า เพียรผิด!!
ผศ.อรรณพ ก็คิดถึงเรื่องสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย โดยเป็นหนทางคือมรรคปัจจัย ก็มีฝ่ายอกุศลด้วย ความเห็นผิด ความเพียรผิด ก็เป็นมรรค ที่เป็นมรรคปัจจัยที่เป็นอกุศล ซึ่งก็จะถูกลวงไป เพราะว่า กิจหน้าที่ของวิริยะเขาก็ขวนขวาย ก็ดูเหมือนว่านี่ไงเพียร เป็นวิริยะบารมี หรือว่า เป็นความอดทนอดกลั้น แต่ว่าเป็นอกุศล ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ ยากที่จะเห็น ก็ต้องไปในแนวทางของมิจฉามรรค เหมือนกับที่คงเคยไปมาแล้วหลายชาติ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะแตกฉานไหม? แม้แต่ปฏิสัมภิทามรรคที่ว่า ก็ต้องเป็นความถูกต้อง ความตรง ตั้งแต่ต้น มั่นคงขึ้น ผิดๆ ถูกๆ นั่นแตกฉานไหม? รู้แต่คำ แตกฉานไหม? รู้ครึ่งๆ นิดเดียว แตกฉานไหม?

ผศ.อรรณพ มีข้อความในเรื่องของการแสวงหา ๓ อย่าง ซึ่งภาษาบาลี คำว่า "แสวงหา" ก็คือ "เอสนา" การแสวงหากาม การแสวงหาภพ การแสวงหาพรหมจรรย์ ทีนี้ เรื่องของการแสวงหาพรหมจรรย์ ทิฏฐิที่แสวงหาพรหมจรรย์ ชัดเจนเลย "...ทิฏฐิที่แสวงหาพรหมจรรย์ ที่รู้กันว่าเป็นคติแห่งทิฏฐิ อันท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น พรหมจริเยสนา คืออะไร คือทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ การยึดถืออย่างผิดปกติ ถึงขนาดนี้ว่า โลกนี้เที่ยงบ้าง.....สัตว์ตายไปไม่เกิดอีกบ้าง สัตว์ตายไปแล้วไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง นี้เรียกว่า พรหมจริเยสนา การแสวงหาพรหมจรรย์..." ท่านก็แสดงชัดเจนว่าเป็นเรื่องของความเห็นผิดที่เกิดพร้อมโลภะที่แสวงหา

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น เราคิดเองตามข้อความนี้ไม่ได้ นอกจากจะรู้ว่า ข้อความนี้ มุ่งหมายถึงความเห็นผิด ที่ทำให้แสวงหาผิดๆ เพราะฉะนั้น ลองคิดถึงว่า ภาษาไทยเรา ใช้คำว่า "แสวงหา" มีไหม? ที่ไม่ต้องการ? ไม่ว่าแสวงหาอะไรก็ตาม เพราะต้องการสิ่งนั้น!!

เพราะฉะนั้น ลักษณะของ "โลภะ" ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่ลักษณะของ "ศรัทธา" นี่คือความต่างกันแล้ว ศรัทธาเป็นสภาพที่ผ่องใส เพราะว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ถ้าจะให้ความละเอียดก็คือว่า ต้องกล่าวถึงเจตสิก ซึ่งในขณะที่กำลังมีความเห็นผิดและแสวงหา เพราะว่า ทุกครั้งที่มีความเห็นผิดก็ต้องการ แล้วเวลาที่ต้องการที่จะหลุดพ้นโดยมีความเห็นผิด ก็ต้องแสวงหาผิดๆ !! ไม่ใช่ศรัทธา!!

เพราะฉะนั้น ความที่เข้าใจผิดและแสวงหา จะไม่นำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้องได้ จนกว่าสภาพธรรมะที่ไม่ใช่ความเห็นผิดและความติดข้อง ซึ่งเป็นสภาพของฝ่ายโสภณะ (ธรรมะฝ่ายดี) ที่จะทำให้ค่อยๆ รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เพราะว่าคนที่เข้าใจผิด แสวงหาเท่าไหร่ก็ไม่พ้นผิด!! เพราะเข้าใจผิด!!!

จากที่นี่ก็ไปที่โน่น ไปที่นั่น แสวงหามากมาย แต่ก็ยังมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิดอยู่ จนกว่าจะรู้ มีสภาพจิตที่ผ่องใส ขณะนั้นไม่มีโลภะ ที่ต้องการเพื่อความเป็นเรา แต่เพื่อรู้ความจริง ก็เป็นลักษณะของศรัทธาถ้าเป็นทางฝ่ายโสภณะ (โสภณ) ไม่ใช่ลักษณะตามที่กล่าวไว้ในที่นี้ แสวงหาพรหมจรรย์ หมายความถึง เพราะเห็นผิด!!

ผศ.อรรณพ คำเดียวกันนี้ ถ้าไม่เข้าใจก็คิดว่าดี เหมือนกับว่าแสวงหาพระโพธิญาณ หรืออะไรอย่างนี้ แต่เราก็ต้องอาศัยพระอรรถกถาจารย์ ว่าตรงนี้ท่านหมายความว่าอย่างไร? แต่โดยคำก็เหมือนกับว่า ต้องผ่านผู้รู้บาลีว่า เอสนา หมายถึงกว้างๆ หรือเฉพาะเจาะจงลงไปว่า...
ท่านอาจารย์ ตรงตัวก็คือ "แสวงหา" แต่ต้องรู้ ขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้เห็นถูกต้อง แต่แสวงหา ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เพราะความเห็นผิด แต่เพราะ รู้ความจริง ปัญญาที่รู้ว่า สิ่งนี้จริง ใคร่ที่จะรู้ความจริงของสิ่งนี้ ไม่ต้องไปทำสิ่งอื่นที่ผิด ที่จะไปแสวงหาแล้วๆ เล่าๆ แต่เพราะสะสมมา ก็รู้ว่าสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ ไม่รู้!! เพราะฉะนั้น รู้ต้องตรงกันข้ามกับไม่รู้!! จะรู้ได้อย่างไร? นี่เป็นเรื่องของการไตร่ตรอง เป็นเรื่องของการพิจารณา ที่จะเข้าใจความจริง ไม่ใช่เรื่องการไปแสวงหาด้วยความเข้าใจผิด

อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ อย่างพระโพธิสัตว์ ท่านใช้คำว่า "ข้องอยู่" ข้องอยู่กับโลภะนี่ต่างกัน...
ท่านอาจารย์ สัตว์โลก ผู้ที่ข้อง แต่ "โพธิ" ไม่ได้ข้องในเรื่องอื่น (แต่ข้อง) ในปัญญา!! ในความเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังมี อย่างเราเห็นทุกวัน เคยคิดไหม? ที่จะเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ? ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน แต่เคยคิดไหม? ว่าสิ่งนี้มีจริงๆ !! และ ความจริงของสิ่งนี้คืออะไร? กว่าปัญญาจะสามารถค่อยๆ ไตร่ตรอง จนกระทั่งรู้ว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้ มีเมื่อเห็น ถ้าไม่เห็นก็ไม่มี ยังไม่พอ!! ยังต้อง เห็นอะไร?

เพราะฉะนั้น การไตร่ตรองแต่ละภพแต่ละชาติ แล้วก็เคยได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก็เป็นปัจจัยให้มีการไตร่ตรอง ว่าสิ่งที่ควร ก็คือสิ่งที่ปรากฏนี้แหละ ควรรู้!! ไม่ใช่ไปแสวงหาด้วยความต้องการอย่างอื่น!! เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจ ก็ต้องฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปแสวงหาอื่น!!! เพราะว่า พูดถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง!!

พี่เมตตา อย่างพระโพธิสัตว์ ขณะที่ข้องอยู่ที่จะรู้ความจริง...
ท่านอาจารย์ ..จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ..
พี่เมตตา ขณะนั้นก็ไม่ใช่โลภะ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ไปแสวงหาที่ไหน
พี่เมตตา แต่ว่าปุถุชนแสวงหาอยู่เรื่อย แสวงหาด้วยวิธีนี้ วิธีนั้น โดยไม่เข้าใจความจริง อย่างที่ท่านอาจารย์ได้สนทนาถึงว่า "คิดที่จะละกิเลส" มีบางคนเขาก็พูดว่า คิดที่จะละกิเลส เป็นกุศล แต่หนูบอกว่า จะเป็นกุศลได้อย่างไร เพราะว่ายังเป็นตัวตนที่แสวงหาหนทางอยู่ เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์อรรณพได้อ่านจากพระไตรปิฎกนี้ ชัดเจนมาก คือ เป็นการแสวงหาด้วยทิฏฐิ ด้วยความความเป็นตัวตนที่จะแสวงหา ที่ไม่เข้าใจความจริง ไม่เข้าใจธรรมะ แสวงหาอย่างไรก็ไม่พบความจริงแน่นอน

ท่านอาจารย์ เราจะละกิเลส ดีไหม? เก่งไหม? เราจะละกิเลส!!
พี่อรวรรณ ท่านอาจารย์คะ เรื่องแสวงหา เวลาเรียนพระสูตรที่ไร พอพูดถึงแสวงหาพรหมจรรย์ พอได้ยินคำว่า "พรหมจรรย์" ก็จะคิดว่า คือความประพฤติประเสริฐ หมายถึง เป็นปัญญาที่เข้าใจความจริงและขัดเกลา ละกิเลสไปเรื่อยๆ แต่พอมาใช้ในความหมายที่เป็นเรื่องของความติดข้องต้องการ และเป็นหนทางผิด ในหมู่ผู้ศึกษา ดูเหมือนกับสามารถที่จะสับสนในคำได้ ตรงนี้ต้องศึกษาอย่างไรที่จะไม่สับสน..

ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะต้องศึกษาอย่างไร เป็นแบบแผนว่าเราจะทำ แต่รู้ว่า แต่ละคำลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ฟังด้วยความไตร่ตรอง ที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง มีสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ใครคิดที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏบ้าง? ผ่านไปแล้ว ดับไปแล้ว ไม่รู้อะไรเลย!! กี่วัน กี่เดือน กี่ปี? ก็เป็นอย่างนี้ ไม่รู้อยู่ตลอดเวลา!!

แต่ "โพธิสัตว์" จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ โดยวิธีไหน? โดยบารมี!! รู้ว่ากิเลสทั้งหลายไม่สามารถจะรู้ได้เลย เพราะมี "ความติดข้อง" เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เพราะติดข้องจึงปกปิดความจริงว่ากำลังเกิดดับ ถ้าเมื่อไหร่ที่ละความติดข้อง ไม่ใช่เรา "ปัญญาที่ถึงระดับที่ละความติดข้อง" สภาพธรรมะนั้นก็ปรากฏตามความเป็นจริง!!!

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงอย่างนั้น!! รู้ว่าจะรู้อะไร ไม่ใช่ไปแสวงหาผิดๆ ด้วยความต้องการ ก็เป็นเรื่องของความละเอียด แม้แต่ภาษาบาลีจะใช้คำว่า แสวงหา เพราะเหตุว่า ทันทีที่เห็นแล้วไม่รู้ นี่ติดแล้ว!! ไม่รู้ด้วยซ้ำไป พอมีความติดข้อง ปริฬาหะ ก็แสวงหา ธรรมดาเหลือเกิน ทุกวันแสวงหาโดยไม่รู้ตัว ตื่นมา ลืมตา แสวงหาหรือเปล่า? เดินไปนี่แสวงหาหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น แสวงหาทุกย่างก้าว ทุกขณะจิต โดยที่ไม่รู้เลย!!

ได้มาแล้วก็ยินดี ยิ่งเพิ่มความติดข้องขึ้น!! แล้วจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น ก็เห็นปัญญาของแม้พระโพธิสัตว์ ที่คิดไม่เหมือนคนอื่นเลย!! คนอื่นคิดที่จะทำอย่างไรอาหารจะอร่อย สิ่งทางตาจึงจะปรากฏสวยงาม แต่พระโพธิสัตว์ "สิ่งนี้มีจริง แล้วความจริงของสิ่งนี้คืออะไร? จนพบ!!

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของพี่เมตตา ชัยศรีโสภณกิจ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

และ ขอเชิญคลิกชมกระทู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่นี่...

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ Home Fresh Restaurant ถนนรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
mammam929
วันที่ 25 ต.ค. 2560

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และอนุโมทนากุศลจิตทุกๆ ขณะที่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
thilda
วันที่ 25 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 27 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wirat.k
วันที่ 28 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 2 พ.ย. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 2 พ.ย. 2560

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chvj
วันที่ 17 พ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 15 ก.ค. 2564

ทุกคำที่บันทึก ค่อยๆ อ่าน เบิกบานจริงๆ จนถึงข้อความสุดท้าย

"ได้มาแล้วก็ยินดี ยิ่งเพิ่มความติดข้องขึ้น!! แล้วจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น ก็เห็นปัญญาของแม้พระโพธิสัตว์ ที่คิดไม่เหมือนคนอื่นเลย!! คนอื่นคิดที่จะทำอย่างไรอาหารจะอร่อย สิ่งทางตาจึงจะปรากฏสวยงาม แต่พระโพธิสัตว์ "สิ่งนี้มีจริง แล้วความจริงของสิ่งนี้คืออะไร? จนพบ!!"

กราบนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

ยินดีในกุศลพี่เมตตา คุณวันชัย และทุกท่านด้วยค่ะ

ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรมต่อไปเพื่อละความไม่รู้ จนเข้าใจความจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ