พลสูตร ... วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๙

 
มศพ.
วันที่  31 ก.ค. 2559
หมายเลข  28034
อ่าน  1,168

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙

คือ

สุสสูสาสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๘๑๖


[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๗๒๑

๕. พลสูตร (ว่าด้วยกำลัง ๔ กับภัย ๕)

[๒๐๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน คือ กำลัง คือ ปัญญา ๑ กำลัง คือ ความเพียร ๑ กำลังคือ การงานอันไม่มีโทษ ๑ กำลัง คือ การสงเคราะห์ ๑.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นไฉน? ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษนับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดดำ นับว่าดำ ธรรมเหล่าใดขาวนับว่าขาว ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นพระอริยะธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันบุคคลเห็นแจ้ง ประพฤติได้ ด้วยปัญญานี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ความเพียรเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษธรรมเหล่าใดดำ นับว่าดำ ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ บุคคลยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใด เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพธรรมเหล่าใด สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นพระอริยะ บุคคลย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อได้ธรรมเหล่านั้น นี้เรียกว่ากำลัง คือ ความเพียร.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษเป็นไฉนอริยสาวกใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การสงเคราะห์เป็นไฉน สังควัตถุ ๔ ประการนี้ คือ ทาน ๑ เปยยวัชชะ ๑ อัตถจริยา ๑ สมานัตตตา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศีลสัมปทา ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน พระสกทาคามีมีตนเสมอกับพระสกทาคามี พระอานาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์ นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย นี้เรียกว่ากำลัง คือการสงเคราะห์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้แล.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ ภัย ๕ ประการเป็นไฉน คือ อาชีวิตภัย ๑ อสิโลกภัย ๑ ปริสสารัชภัย ๑ มรณภัย ๑ ทุคติภัย ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้นแล พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต ไฉนเราจักกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเล่า เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามแล จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนเกียจคร้าน จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนที่มีการงานทางกาย ทางวาจาและทางใจที่มีโทษ จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต เราไม่กลัวต่อภัย คือ การติเตียน ... เราไม่กลัวต่อภัยคือการสะทกสะท้านในบริษัท ... เราไม่กลัวต่อภัยคือความตาย ... เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ ไฉนเราจักกลัวต่อภัย คือ ทุคติเล่า เพราะเรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามแล จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนเกียจคร้านแล จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนที่มีการงานทางกาย ทางวาจาและทางใจที่มีโทษ จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวภัยคือทุคติ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แลย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการนี้.

จบ พลสูตรที่ ๕

อรรถกถาพลสูตรที่ ๕

พลสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พึงเห็นปัญญาพละเป็นต้น เพราะไม่หวั่นไหวในเพราะอวิชชา ความเกียจคร้าน ความเป็นโทษ และความไม่เชื่อ. บทว่า อกุสลสงฺขาตา ได้แก่ รู้ว่าเป็นอกุศล. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้. บทว่า นาลมริยา ได้แก่ ธรรมที่ไม่สามารถทำความเป็นพระอริยา หรือ ไม่สมควรแก่พระอริยะ. บทว่า โวทิฏฺฐา ได้แก่ ธรรมที่บุคคลเห็นแล้วด้วยดี. บทว่า โวจริตา ได้แก่ ธรรมที่ปรากฏอยู่ในมโนทวาร. บทว่า อตฺถิกสฺส ได้แก่ ผู้ต้องการด้วยการแสดงธรรม. บทว่า อาชีวิตภยํ ได้แก่ ภัยที่เป็นไปในชีวิต. บทว่า อสิโลกภยํ ได้แก่ ภัยแต่การติเตียน. บทว่า ปริสสารชฺชภยํ ได้แก่ ภัยที่เมื่อเข้าสู่บริษัทแล้วเกิดการสะทกสะท้าน. ในสูตรนี้ท่านกล่าวทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะไว้.

จบ อรรถกถาพลสูตรที่ ๕


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป
พลสูตร (ว่าด้วยกำลัง ๔ ประการ และ ภัย ๕ ประการ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพละ (กำลัง) ๔ ประการแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ คือ

๑. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา) คือ มีปัญญาที่เข้าใจความจริง รู้ธรรมที่เป็นกุศล,อกุศล, มีโทษ, ไม่มีโทษ เป็นต้น

๒. วิริยพละ (กำลังคือความเพียร) คือ มีฉันทะ ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละสภาพธรรมที่เป็นอกุศล แล้วเจริญสภาพธรรมที่เป็นกุศล ไม่มีโทษ ควรเสพ เป็นต้น

๓. อนวัชชพละ (กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ) คือ ประกอบกรรมที่ไม่มีโทษ ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์) คือ สงเคราะห์ด้วยธรรมเครื่องสงเคราะห์ ๔ ประการ คือ ทาน (การให้) ,เปยยวัชชะ หรือ ปิยวาจา (กล่าววาจาเป็นที่รัก) , อัตถจริยา (ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์) สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอ คือ เสมอด้วยธรรมฝ่ายดี)

ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการแล้ว ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ คือ อาชีวิตภัย (ภัยอันเนื่องด้วยชีวิต) , อสิโลกภัย (ภัยคือการติเตียน) ,ปริสสารัชภัย (ภัยคือความเป็นผู้สะทกสะท้านเมื่อเข้าสู่บริษัท) , มรณภัย (ภัยคือความตาย) และ ทุคติภัย (ภัยคือทุคติ) .

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ


สังคหวัตถุ ๔
มีความเพียร

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 31 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 5 ส.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ