อาบัติ

 
khampan.a
วันที่  17 ต.ค. 2558
หมายเลข  27109
อ่าน  2,598

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า อาบัติ (หรือ อาปตฺติ ในภาษาบาลี เขียนเป็นไทยได้ว่า อาบัติ) หมายถึง การที่พระภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีโทษสำหรับผู้นั้น โดยศัพท์หมายถึง การต้อง ซึ่งก็คือการล่วงละเมิดสิกขาบทที่เป็นพระวินัยบัญญัติในข้อต่างๆ นั่นเอง เรียกรวมว่า "ต้องอาบัติ"

อาบัติ มีโทษ ดังนี้ คือ

อาบัติมีโทษอย่างหนัก เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที ที่เรียกว่าปาราชิก ได้แก่เสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางทวารหนัก ทางทวารเบา และทางปาก หรือแม้กระทั่งกับสัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นอาบัติปาราชิก) ลักขโมยของของผู้อื่นอันมีราคาได้ ๕ มาสกขึ้นไป (ราคา ๕ มาสก พิจารณาด้วยการเทียบน้ำหนักทองคำกับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด คือเอาข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ดมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักทองคำเท่านั้นตีเป็นเงินออกมา) ฆ่ามนุษย์ และ อวดอุตตริมนุสสธรรมซึ่งเป็นคุณวิเศษ ที่ไม่มีในตน

อาบัติ ที่มีโทษหนักอีกอย่างหนึ่ง คือ สังฆาทิเสส เมื่อต้องเข้าแล้ว ต้องประพฤติวัตรตามพระวินัยที่เรียกว่า วุฏฐานวิธี ต้องอาศัยคณะสงฆ์ จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ได้ ตัวอย่างอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ภิกษุมีจิตกำหนัด (ความใคร่) จับต้องกายหญิงต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดเกี้ยวหญิง (พาดพิงการเสพเมถุน) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เป็นต้น

อาบัติมีโทษเบา ต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ที่เรียกว่า แสดงอาบัติ อันเป็นการแสดงถึงความจริงใจในการที่จะสำรวมระวังต่อไป จึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้ ตัวอย่างอาบัติเบาที่พอจะแก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติ เช่น ภิกษุบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยง) ภิกษุฉันอาหารโดยที่ไม่ได้รับประเคน เป็นต้น

กล่าวได้ว่า อาบัติที่มีโทษหนักสุดคือปาราชิก นั้น เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที แต่อาบัติที่เหลือนอกจากนี้เป็นอาบัติที่แก้ไขได้ กล่าวคือ สามารถกระทำคืนให้เป็นผู้พ้นจากอาบัตินั้นๆ ได้ตามพระวินัย ความเป็นพระภิกษุยังคงอยู่ ไม่เป็นเครื่องกั้นสวรรค์และไม่เป็นเครื่องกั้นการบรรลุธรรมเมื่อได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว

สิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีมาก การล่วงละเมิดสิกขาบทแต่ละข้อมีโทษทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่โทษหนักจนกระทั่งถึงโทษเบา ซึ่งไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็เป็นโทษด้วยกันทั้งนั้น เพราะเหตุว่า สิกขาบท ทุกข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุในการสำรวมระวัง งดเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และ น้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าย่อหย่อน ไม่สำรวมตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีการต้องอาบัติประการต่างๆ ย่อมทำให้ตกไปจากคุณความดี ตกไปจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ ตกจากสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิ ด้วย ถ้าต้องอาบัติแล้ว ไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัย หากมรณภาพลงในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ ชาติถัดจากชาตินี้ไป ต้องเกิดในอบายภูมิเท่านั้น พระภิกษุก็เกิดในอบายภูมิได้

แต่ถ้าได้มีการศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกุลให้รักษาพระวินัยได้ดียิ่งขึ้น ไม่มีโทษเลยกับการได้เข้าใจและน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย เพราะทำให้ได้รู้ว่าสิ่งใด ผิด สิ่งใด ถูก แล้วละเว้นในสิ่งที่ผิด กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่มีความเข้าใจอย่างสิ้นเชิง

สำหรับสามเณร (สามเณร นับว่าเป็นบรรพชิต เป็นเชื้อสายของสมณะ) ไม่มีอาบัติ แต่สามเณรก็จะต้องสำรวมระวังในสิกขาบท ๑๐ ได้แก่

งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑

งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑

งดเว้นจากการประพฤติที่ไม่ประเสริฐ ๑

งดเว้นจากการพูดเท็จ ๑

งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑

งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (คือหลังเที่ยง) ๑

งดเว้นจากการฟ้อนรำขับประโคมดนตรี ๑

งดเว้นจากการประดับตกแต่งร่างกาย ๑

งดเว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ ๑

งดเว้นจาการรับเงินทอง ๑

พร้อมทั้งศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา และประพฤติข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อันเหมาะควรแก่เพศบรรพชิต

ถ้าสามเณรประพฤติผิด ก็มีโทษเช่นเดียวกัน โทษหนักถึงกับขาดจากความเป็นสามเณร ได้แก่ล่วงสิกขาบทข้อที่ ๑ ถึง ๕ เบื้องต้น แต่ถ้าล่วงสิกขาบท ๕ เบื้องปลาย ยังไม่ขาดจากความเป็นสามเณร ซึ่งจะต้องถูกลงโทษให้กระทำในสิ่งที่เหมาะควรตามพระวินัย สามเณรรูปใดที่เมื่อขาดจากความเป็นสามเณรแล้ว แต่เป็นผู้เห็นโทษตามความเป็นจริง ตั้งใจที่จะประพฤติในสิ่งทีดีงามใหม่ พระภิกษุท่านก็จะให้สรณะและศีล ๑๐ อีก ความเป็นสามเณรก็ยังคงอยู่และเมื่อมีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป ก็สามารถอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้นี้คือ ความแตกต่างระหว่างโทษหนักของพระภิกษุกับโทษหนักของสามเณร

พระภิกษุเมื่อขาดจากความเป็นภิกษุ คือ ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่สามารถเป็นพระภิกษุได้อีกต่อไป เปรียบเหมือนกับบุคคลผู้มีศีรษะขาด ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เปรียบเหมือนกับใบไม้เหลืองหล่นจากขั้ว ที่ไม่สามารถกลับมาเขียวสดได้อีก เปรียบเหมือนกับตาลยอดด้วน ที่ไม่สามารถเจริญงอกงามได้อีก และเปรียบเหมือนกับศิลาแตก ที่ไม่สามารถประสานเข้ากันได้อีก จะต้องเป็นคฤหัสถ์หรือไม่ก็ดำรงอยู่ในภูมิของสามเณรได้ สามารถเจริญกุศล ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสได้ และสามารถบรรลุธรรมได้แต่ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์

ส่วนสามเณรที่ขาดจากความเป็นสามเณรแล้ว เมื่อเห็นโทษ ก็สามารถดำรงอยู่ในความเป็นสามเณรได้อีก ยกเว้นกรณีที่เป็นการข่มขืนภิกษุณี และ ทำอนันตริยกรรม เช่น ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา เป็นต้น ไม่สามารถบวชเป็นสามเณรได้อีก และ ไม่สามารถอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ ด้วย

ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาเป็นอย่างดี ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบท พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง คุณประโยชน์ก็จะเกิดมีกับผู้นั้น เป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการบวชเป็นบรรพชิต แต่ถ้ารักษาไม่ดี ย่อหย่อนในพระธรรมวินัยเที่ยวย่ำยีสิกขาบท เป็นผู้ประมาท ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ไม่เห็นคุณของความเป็นบรรพชิตจริงๆ คือ ความเป็นผู้เว้นทั่ว เว้นจากบาปธรรม เว้นจากเครื่องติดข้องอย่างที่คฤหัสถ์มี โทษก็ย่อมเกิดแก่ผู้นั้น สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ จากเพศที่สูงยิ่งกลับนำดิ่งให้ตัวเองตกลงไปสู่ที่ต่ำ คือ อบายภูมิ น่ากลัวเป็นอย่างมาก ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 17 ต.ค. 2558

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มกร
วันที่ 17 ต.ค. 2558

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
abhirak
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ด้วยเหตุว่าได้เห็นวัตรที่ย่อหย่อนขอพระภิกษุอยู่เนืองๆ ทั้งได้เห็นและได้ทราบด้วยตนเอง และได้ทราบจากสื่อต่างๆ เป็นนิจ จึงทำให้คิดไปว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยกำลังง่อนแง่นเป็นอย่างมาก และคิดถึงคำสอนที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่าเหตุเหล่านี้เนื่องมากจากพุทธบริษัทไม่สนใจที่จะศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง มุ่งแต่จะกราบไหว้ขอพร ขอให้รวย ของให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนอยู่ดาษดื่นทั่วไป กิจกรรมต่างๆ ในวัดล้วนแล้วแต่มีลาภ มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น มิใยที่ผู้รู้ทั้งหลายจะพากันตะโกนบอกว่า นั่นไม่ใช่พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็หาฟังหรือใส่ใจกันไม่ เหมือนไก่ได้พลอยจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jirat wen
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลทุกประการของอ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tanrat
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
tanrat
วันที่ 17 ต.ค. 2558

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
isme404
วันที่ 18 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Wisaka
วันที่ 18 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kullawat
วันที่ 18 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pulit
วันที่ 18 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
j.jim
วันที่ 19 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Noparat
วันที่ 19 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 20 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
peem
วันที่ 21 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Jarunee.A
วันที่ 9 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ