ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ๑๒ ส.ค. ๒๕๕๘

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  24 ส.ค. 2558
หมายเลข  26955
อ่าน  1,999

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันพุธ ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะวิทยากร อาจารย์นิภัทร พจนปฏิภาณ อาจารย์ธนิต ชื่นสกุล ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และ ชมรมพุทธศาสน์วังพญาไท โดยการนำของพลโท นายแพทย์กฤษฎา ดวงอุไร ประธานชมรมฯ เพื่อไปสนทนาธรรม เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๑๐ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.

ครั้งนี้ เป็นสองชั่วโมงของการสนทนาธรรม ที่เต็มไปด้วยความไพเราะ ลึกซึ้ง อย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องของความหมายของคำว่า "ความเห็นผิด" หรือ "ความเห็นถูก" ที่มักพูดกันบ่อยๆ ว่าแท้ที่จริงคืออย่างไร? รวมถึง เหตุผลและความสำคัญของการที่บุคคล จะมีส่วนในการปกป้อง รักษา พระธรรมวินัย ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ดีแล้วนั้น ไม่ให้เสื่อมสูญไปได้ โดยอย่างไร? จึงขออนุญาตนำความไพเราะทั้งหมดของการสนทนา มาลงบันทึกไว้เพื่อให้ทุกๆ ท่าน ได้รับประโยชน์สูงสุด ทั่วกันดังต่อไปนี้ครับ

ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้ เราพูดถึงคำว่า "ความเห็นผิด" ตอนนี้ ขอเก็บตก ช่วยกัน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่ฟัง เป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะรู้ว่า เข้าใจจริงๆ อย่างไร?

"ความเห็น" มี ๒ อย่าง ความเห็นถูกก็มี ความเห็นผิดก็มี และ คำถามที่ว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร? ว่านั่นเห็นถูก หรือ นี่เห็นผิด ใครจะเป็นผู้ตัดสิน ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดถึงว่า คนโน้น คนนี้ เมื่อก่อนนี้ ที่ประเทศอินเดีย แคว้นพาราณสี หรือว่า แคว้นมคธ คนโน้นเห็นผิด คนนี้ได้ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่...เดี๋ยวนี้เอง!!! ถ้าจะเข้าใจธรรมะ ก็คือ เข้าใจเดี๋ยวนี้!!! ว่าขณะนี้ "เห็นผิด" หรือเปล่า? ว่าการศึกษาธรรมะ เผินๆ ก็ได้!!! เห็นไหม? ไม่ต้องไปไกล แค่ความคิดธรรมดาๆ ของคนที่คิดว่า ไม่ต้องฟังมาก หรืออาจจะมีบางคนบอกว่า ไม่ต้องฟังเลย ปฏิบัติธรรมะได้ โดยไม่ต้องฟัง!!

เพราะฉะนั้น ความเห็นผิด ไม่ต้องไปตามเรื่องว่า เขาไปประพฤติอย่างโค ซึ่งเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีใครประพฤติอย่างนั้น ประพฤติอย่างสุนัข เดี๋ยวนี้ก็ไม่มี แต่เดี๋ยวนี้ เห็นผิดอย่างไร? ควรที่จะได้เตือนตัวเอง โดยการเป็นผู้ที่เคารพในพระรัตนตรัยว่า การเห็นผิด โดยที่ "ไม่ฟังพระธรรม" แล้ว "คิดเอง" แล้วเชื่อตามๆ กัน จะถูกได้ไหม? ในเมื่อ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีความคิดว่า การศึกษาธรรมะ ไม่ต้องละเอียด นิดๆ หน่อยๆ ก็พอ เชื่อไหม? เห็นด้วยไหม?

คุณเบญจมาส ไม่เห็นด้วยค่ะ

ท่านอาจารย์ เพราะมีความเข้าใจถูก ในความลึกซึ้งของธรรมะ ซึ่งเพิ่งได้ฟัง ทีละเล็ก ทีละน้อย แต่ละคำ ลึกซึ้งทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรีบร้อน แม้แต่เพียงเห็นผิดว่า ไม่ต้องฟังพระธรรม หรือ ฟังเพียงเล็กน้อย หรือคิดว่า เข้าใจแล้ว จะปฏิบัติธรรมะ ให้รู้แจ้งสภาพธรรมะ ที่กำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ได้ อย่างนั้น ถูก หรือ ผิด?

คุณเบญจมาส ผิดค่ะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตามธรรมดา ชีวิตประจำวัน ใกล้ๆ ตัว ก็ควรที่จะได้รู้ว่า ความเห็นผิด ก็คือว่า ไม่รู้ว่า เห็นถูกในอะไร? เห็นผิดในอะไร? เห็นผิดว่า "เห็น" เป็น "เราเห็น" เห็นผิดว่า "ได้ยิน" เป็น "เราได้ยิน" แล้วก็ได้ยินทุกวัน เห็นทุกวัน เห็นผิดอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม จึงสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เห็นผิด ต้องรู้ว่า เห็นอะไรผิด? หรือ เห็นผิดในอะไร? ถ้าเห็นถูก ก็ต้องรู้ว่า เห็นอะไรถูก และ เห็นถูกในอะไร? ไม่ใช่เผินๆ ผ่านไป

ถ้าขณะนี้เห็นถูก ว่ามีสิ่งที่มีจริง กำลังเกิดดับ แน่นอน แต่ยังไม่รู้ เพราะเหตุว่า มีกิเลสมาก แล้วก็เพิ่งที่จะได้ฟังธรรมะเพียงเล็กน้อย ไม่มีใครสามารถที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่จะทำให้เข้าถึงการเกิดดับของสภาพธรรมะ ในขณะนี้ ด้วยความเห็นถูกต้อง จนกว่าปัญญา ความเห็นถูก จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แค่นี้ พอที่จะรู้ เบื้องต้น สาเหตุ มูลเหตุว่า ที่เห็นผิดกันมานานแสนนาน แล้วก็จะเห็นผิดต่อไป ไม่ว่าเห็นผิดประการใดๆ ทั้งสิ้น ต้องมาจากการเห็นผิด เดี๋ยวนี้!!! ในขณะที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม แล้วก็เข้าใจว่ามีเรา มีตัวตน มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง

เมื่อมีความเห็นว่ามีเรา มีตัวตน มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ก็นำมาซึ่ง "ความรักตน" ทำทุกอย่าง "เพื่อตน" แม้ความเห็นผิดประการใดๆ ทั้งหมด มาจากความเป็นตน ไม่ว่าจะเห็นผิดว่า มีผู้ที่จะบันดาลให้มีความสุขได้ ไปไหว้ ไปกราบ ก็สามารถจะบันดาลให้เราเป็นสุขได้ ก็เพราะ "ความรักตน" เพราะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว "ไม่มีตน" แต่มี "ธรรมะ" ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ก็จะค่อยๆ ละคลายอกุศล และ กุศลก็เพิ่มขึ้น ก็เป็นสิ่งซึ่งจะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมะเดี๋ยวนี้ ว่าการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ กำลังทำ ก็ไม่รู้ ทำแล้ว ก็ไม่รู้ ก่อนทำ ก็ไม่รู้ ว่าจะรู้อะไร? และเดี๋ยวนี้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ว่าสภาพธรรมะ เกิดดับ แต่อยากจะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมะ และหาทางที่จะทำให้ประจักษ์ได้ ผิดหรือถูก?

คุณเบญจมาส ผิดค่ะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ไม่ต้องไปหาความเห็นผิดอื่น ซึ่งจะติดตามมาทั้งหมด เพราะมีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน!!!

พลตรีหญิงเรณู กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ มีคำถามจากท่านผู้ฟัง มากราบเรียนถามท่านอาจารย์ แต่ว่าเมื่ออ่านคำถามแล้ว อยากจะให้ท่านที่ถามคำถามนี้ ถ้าท่านพร้อมหรือว่า สะดวกมาสนทนา ก็จะดีมาก เพราะว่าท่านจะได้เข้าใจ แล้วท่านอาจารย์ก็จะได้ถามกลับไป กลับมา

ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษนะคะ ไม่ทราบว่าผู้ฟังเข้าใจแค่ไหน จึงต้องขอถามด้วย เวลาสนทนา เพราะว่า พูดไปแล้วบางทีท่านอาจจะมีความคิดที่ไม่ตรงกันหรืออะไรก็ได้ คงไม่อยากฟังข้างเดียว ใช่ไหม?

พลตรีหญิงเรณู คำถามมีว่า วิจารณ์พระ ที่ไม่ปฏิบัติกฏของสงฆ์ จะเป็นการบาปไหมคะ?

ท่านอาจารย์ "พระ" คือ ใคร? ก่อน พระ คือ ใคร? ก่อน คะ คุณคำปั่น

อ.คำปั่น ถ้ากล่าวถึง "พระ" ในคำไทย ก็คือ "ผู้ประเสริฐ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นพระภิกษุ ก็จะมีคำว่า พระภิกษุ โดยความเป็นจริงแล้ว ก็จะต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เห็นโทษเห็นภัยของการอยู่ครองเรือน แล้วก็มีอัธยาศัย น้อมไปในการที่จะศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิตจริงๆ ที่จะน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะเป็นพระภิกษุที่แท้จริง ในพระธรรมวินัยของพระองค์ ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น "วิจารณ์" หมายความว่าอย่างไร? วิจารณ์พระ หมายความว่าอย่างไร? พระ คือ ผู้ที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่คฤหัสถ์ มีชีวิตที่ต่างกันมาก การฟังพระธรรมในครั้งพุทธกาล มีทั้งภิกษุ และภายหลังก็มีภิกษุณีด้วย แล้วก็มีอุบาสก อุบาสิกา ต่างก็ได้ฟังพระธรรม ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ที่ได้ฟัง แต่ทำไม เป็นพระภิกษุ? ก่อนเป็นพระภิกษุ เป็นใคร? เป็นคฤหัสถ์ธรรมดาๆ แล้วทำไมเป็นพระภิกษุ?

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะเป็นพระภิกษุไหม? ต่างกันแล้วใช่ไหม? ลองคิดถึงยุคสมัย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะเป็นพระภิกษุไหม? คนในครั้งโน้น ได้ฟังพระธรรม แล้วก็รู้จักการสะสมอัธยาศัยของตนเอง รู้ว่าสามารถที่จะสละความติดข้อง ถึงกับสละครอบครัว วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ มิตรสหาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเครื่องติดข้อง บันเทิง ต่างๆ สู่เพศที่สงบ สมณเพศ คือ เพศที่สงบ

เพราะฉะนั้น ในครั้งนั้น ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วรู้จักตนเอง แล้วมีอัธยาศัย ที่จะศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติธรรมะ ในเพศบรรพชิต แล้วใครจะวิจารณ์? แต่ถึงกระนั้น เมื่อพระภิกษุรูปนั้น ซึ่งยังมีกิเลส และในครั้งแรกๆ ยังไม่ได้ทรงบัญญัติ พระวินัย สำหรับความประพฤติ ปฏิบัติ ของพระภิกษุ ท่านเหล่านั้น ก็ประพฤติสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต เห็นไหม? สองเพศนี้ ต่างกันมาก ห่างกันไกลมาก เพราะฉะนั้น เมื่อมีการประพฤติที่ไม่เหมาะ กับเพศบรรพชิต ก็คือ ประพฤติเหมือนฆราวาส ก็เป็นที่ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ของชาวบ้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือเปล่า? ในการที่จะให้ผู้ที่ประพฤติผิด เห็นโทษของการประพฤติผิด แล้วติเตียน ให้รู้ว่า สิ่งนั้นไม่ควรอย่างยิ่ง แก่เพศบรรพชิต และยังโพนทะนา ให้รู้กัน ทั่วๆ ไป ว่าความประพฤติอย่างนั้น ไม่ถูกต้อง ทำกิจที่ถูกต้อง ด้วยความเป็นมิตร หรือเปล่า? ไม่ได้หวังร้ายอะไรเลย แต่ว่า สิ่งที่ถูก คือ ถูก สิ่งที่ผิด คือ ผิด สิ่งที่ควร คือ ควร สิ่งที่ไม่ควร คือ ไม่ควร

เพราะฉะนั้น ควรรู้ทั่วๆ กันหรือเปล่า? หรือว่า ควรปิดสนิท เก็บไว้ ไม่ให้ใครรู้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เป็นพระภิกษุทำไม? ถ้าจะไม่ประกาศความผิดของตน

เพราะฉะนั้น ความบริสุทธิ์อย่างยิ่งของพระภิกษุ ซึ่งท่านได้ล่วงสิกขาบท ที่ได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าท่านผู้ใดประพฤติอย่างนั้นแล้วต้องโทษ ที่ใช้คำว่า อาปัตติ คือ อาบัติ ต้องแสดงโทษ ไม่ใช่เก็บไว้!!! เป็นพระภิกษุเอง ยังต้องแสดงโทษของตน เพื่อที่จะได้ให้รู้ว่า ตนได้สำนึกถึงความผิด เพราะฉะนั้น ก็ขอที่จะให้พระภิกษุเห็นโทษนั้น และเมื่อได้กระทำตามพระวินัยให้ถูกต้องแล้ว ก็เรียกเข้าหมู่ คือ เป็นพระภิกษุร่วมกัน ประพฤติ ปฏิบัติธรรมะ ศึกษาธรรมะ อบรมสติปัญญา ในเพศของบรรพชิตได้ เสมอกัน

นี่ก็เป็นสิ่งซึ่ง ถ้าใช้คำว่า วิจารณ์พระ หมายความว่าอะไร? คือว่า ทุกคำ ตั้งแต่เกิดมา ให้ทราบว่า จะพูดคำที่ไม่รู้จัก ตั้งแต่เกิดจนตาย สักคำ ลองนึกคำไหนก็ได้ ไม่รู้จักเลย ไม่รู้จักจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ค่อยๆ รู้ว่า แต่ละคำ มีความหมายอย่างไร เพราะว่า "แต่ละเสียง เป็นไปตามความหมาย" บอกว่า "ไป" , "มา" แต่ละเสียง เป็นไปตามความหมาย

เพราะฉะนั้น แต่ละคำ แม้แต่คำว่า วิจารณ์ ถ้าจะบอกว่า วิจารณ์พระ ก็ต้องรู้ว่า วิจารณ์อะไร? พระอะไร? ทุกคำ ไม่ใช่พูดแล้วก็ไม่รู้จัก พระก็ไม่รู้จัก วิจารณ์ก็ไม่รู้จัก คิดแต่เพียงว่า จะทำได้ไหม? สมควรไหม? นั่นคือ ด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าด้วยความรู้และความถูกต้อง ความจริงและความตรง ทุกอย่างที่เป็นจริง ต้องจริง เปลี่ยนไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ก็ขอความเห็น สำหรับท่านที่ถาม วิจารณ์พระ หมายความว่าอย่างไร?

คุณมันทนา กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ คือ ที่เรียนถามท่านอาจารย์ไปเมื่อสักครู่ หมายความว่า เวลาที่พระท่านปฏิบัติ หรือทำอะไรที่....คือ ความรู้สึก ก็คือ พระที่มาบวช ก็ต้องสละแล้วทุกอย่าง ที่นี้ เมื่อมาบวช แล้วไม่ได้ทำตาม ที่ควรเป็น ที่พระสงฆ์ควรจะเป็น ก็รู้สึกว่า ทุกคน ไม่กล้าที่จะพูดว่า ที่ท่านทำไปนั้น มันไม่ถูก แล้วทุกคนก็บอกว่า ห้ามพูด เพราะท่านมีศีลมากกว่าพวกเรา

ท่านอาจารย์ ถ้าทำผิด มีศีลไหม? ถ้าทำผิด เป็นอกุศลศีล ไม่ใช่กุศลศีล

คุณมันทนา เป็นอกุศล

ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นอกุศล แล้วใครจะยกย่องบูชาอกุศลบ้าง?

คุณมันทนา ใช่ค่ะ ใครจะยกย่องตรงนั้น ซึ่งในความรู้สึกของพวกเราชาวพุทธ ก็พยายามปกป้อง พระที่ทำผิด

ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังได้ยินชัดเจนหรือเปล่า? คุณเรณูจะช่วยถ่ายทอดก็ได้นะคะ

พลตรีหญิงเรณู คือ หมายความว่า เราจะช่วยกันปกปิดพระที่ทำผิด โดยที่ว่า เราเป็นคนวิจารณ์พระ ว่าพระทำไม่ถูก แต่ว่า คนอื่นมาบอกเราบอกว่า อย่าไปวิจารณ์ท่าน ท่านมีศีลมากกว่าเรา อะไรอย่างนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์ มีอกุศลศีลทุกครั้ง ที่ทำผิด!!!

คุณมันทนา คือ เราไม่ผิดใช่ไหมคะ?

ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณคำปั่น คุณอรรณพ คุณนิภัทร แล้วก็คุณธนิต ค่ะ

พลตรีหญิงเรณู คือ หมายความว่า เราไปวิจารณ์พระ อย่างนี้ ไม่ผิดใช่ไหม?

ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งคิดค่ะ ไม่มีใครจะบอกได้ นอกจากธรรมะและปัญญา ที่จะรู้ตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไม่รู้อะไรก็ตอบไป แต่ต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ผศ.อรรณพ ก็ขึ้นกับจิตของผู้ที่วิจารณ์ แล้วก็วิจารณ์เพื่ออะไร? แน่นอน ถ้าด้วยอกุศลที่ต้องการไปว่าร้าย พระภิกษุหรือคนอื่นก็แล้วแต่ จะมีศีลมากน้อยก็ตาม ถ้าจิต เป็นอกุศล ที่ผู้ไปว่าร้าย ด้วยจิตที่ประทุษร้าย ก็เป็นอกุศลอยู่แล้ว แต่ว่า พุทธบริษัท มี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา การที่จะกล่าวแสดง ซึ่งในพระไตรปิฎก ท่านใช้คำว่า โพนทะนา เพื่อประโยชน์ เพื่อเห็นว่า ผู้ที่บวชในเพศบรรพชิต ไม่ควรที่จะล่วงสิกขาบท หรือ ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม

พอดีผมเปิดข้อความ (ในพระสูตร) พอดี ที่จะแสดงให้เห็นว่า อุบาสก อุบาสิกา ก็เอื้อประโยชน์ ที่จะแสดงสิ่งที่ภิกษุทำไม่ถูกต้อง อย่างเช่น ภิกษุ ถ้าวิวาทกัน แสดงออกทางกาย ทางวาจา ไม่สมควร เป็นสิ่งที่ไม่สมควร คนทั้งหลายก็สามารถที่จะติเตียน โพนทะนา ด้วยจิตที่หวังให้มีการทำในสิ่งที่ถูกต้อง...ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะ ถึงการวิวาทกัน ย่อมแสดงกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน ทำปรามาสกัน ด้วยมือในโรงภัต ในละแวกบ้าน คนทั้งหลาย เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทั้งหลาย จึงได้เกิดความบาดหมาง เกิดการทะเลาะ เกิดการวิวาท แสดงทางกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน......ภิกษุทั้งหลายได้ยินการเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ผู้ที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ก็เห็นว่า สิ่งนี้ไม่ดี สุดท้าย ก็ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าฯ

เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกา เอื้อเฟื้อพระวินัย เมื่อมีสิ่งใดผิด ก็สามารถที่จะกล่าวแสดงได้ มิฉะนั้น ก็เข้าคำพูดติดปากคนไทย "ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์" ไม่ได้คิดถึงการรักษาพระธรรมวินัยเลย เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นกับจิต ที่จะหวังประโยชน์หรือเปล่า?

อ.คำปั่น ขออนุญาตเพิ่มเติมที่ท่านอาจารย์ได้สนทนาแล้วก็ชัดเจน เพราะว่า พุทธบริษัท ก็สามารถที่จะช่วยกันรักษาพระธรรมวินัย และรักษาความถูกต้อง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ซึ่งก็ย่อมเป็นผู้มีปัญญา ถึงจะรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การพูด การกล่าวถึง ในสิ่งที่ไม่ดีของผู้อื่น ไม่ใช่ว่าจะเป็นอกุศลเสมอไป เพราะว่า กล่าวเพื่อให้เห็นโทษ ตามความเป็นจริง อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วถึง ๓ คำ ก็คือ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา

"เพ่งโทษ" ก็คือ เป็นผู้ที่รู้ว่า สิ่งนี้แหละ เป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต แล้วก็ท่านผู้ถามก็ได้กล่าวถึงเพศบรรพชิต ซึ่งต้องรู้ว่า บรรพชิตนั้น เป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมุ่งที่จะขัดเกลากิเลส ในเพศที่สูงยิ่งจริงๆ ถ้ามีการกกระทำอะไรที่ไม่ถูก ไม่ควร ผู้ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา เมื่อทราบ ก็สามารถที่จะกล่าวให้เข้าใจอย่างถูกต้องได้ว่า นี่คือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง นี่คือ กล่าวถึง เพ่งโทษ ก็คือ กล่าวให้เห็นโทษที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริง

"ติเตียน" ด้วยกุศลธรรม ด้วยกุศลจิต ที่กล่าวให้สำนึก แม้บางกรณี กล่าวต่อหน้าพระภิกษุนั้นเลย ที่ล่วงพระวินัย ว่าท่านเป็นสมณะเชื้อสายพระศากยะ หรือเป็นเชื้อสายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทำอย่างนี้ ได้อย่างไร? เป็นการเตือนให้สำนึก ใช่ไหม? ว่าตัวเอง ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์แล้ว แต่เป็นเพศที่สูงยิ่ง

และที่สำคัญที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวเมื่อสักครู่ ก็ชัดเจนแล้วว่า "โพนทะนา" ก็คือ กระจายข่าว ให้ได้เข้าใจทั่วๆ กันทุกที่ว่า การกระทำอย่างนี้ ผิดพระวินัย อย่างเช่น การรับเงิน รับทอง เป็นต้น ผิดพระพระวินัย เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่มีการกล่าว ไม่มีการเปิดเผย ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง คนอื่นจะเข้าใจได้ไหม? ว่าที่ถูกแล้ว เป็นอย่างไร?

เพราะฉะนั้น ก็เป็นประโยชน์ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในพระธรรม ด้วย ที่จะมีการช่วยกันรักษาความถูกต้อง คือ พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ท่านอาจารย์ อะไรจะสำคัญในชีวิต? ชีวิตของแต่ละคนก็ "รักตัวมาก" จนกระทั่ง ทำสิ่งที่ผิดๆ ได้ และถ้าเป็นผู้ที่ได้มีความเข้าใจธรรมะแล้ว ก็ยิ่งเห็นความสำคัญว่า อะไรสำคัญที่สุด แต่ละคนเกิดแล้วก็ตาย แน่นอน แต่ก่อนตาย ได้ทำประโยชน์อะไรหรือเปล่า? และโดยเฉพาะ ประโยชน์สูงสุดก็คือว่า ให้คนได้เข้าใจถูกต้อง ในพระธรรมวินัย ไม่ใช่เป็นผู้ที่ปกปิดพระธรรม บิดเบือนพระธรรม หรือว่าศึกษาโดยไม่เคารพ ซึ่งเป็นเหตุให้พระธรรมอันตรธาน โดยไม่รู้ว่าตนเองเป็นส่วนที่ทำให้พระธรรมอันตรธาน

เพราะฉะนั้น แต่ละคนนี่ ชีวิตสั้น เกิดมาแล้วก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น คุณของพระธรรมที่มีต่อแต่ละชีวิต มากน้อยแค่ไหน? สมควรไหม? ที่เราจะไม่รักษาความถูกต้องของพระธรรมวินัย แล้วก็ให้พระธรรมวินัย ลบเลือนไป โดยเร็ว

เพราะฉะนั้น แต่ละคน อาจจะคิดว่า ลาภสำคัญ ยศสำคัญ เกียรติสำคัญ บริวารสำคัญ ชื่อเสียงเงินทองสำคัญ แต่ความจริง ให้ทราบว่า ไม่ใช่ของใครเลย ทุกสิ่งทุกอย่าง จิตเห็นเกิดขึ้น เพียงเห็นแล้วดับ จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็ดับ และสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ว่ายังอยู่ จากพระธรรมที่ได้ทรงแสดงให้เข้าใจถูกต้อง คือ ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะทุกอย่าง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตเกิดดับเร็วมาก สุดที่จะประมาณได้ แล้วสิ่งที่ปรากฏให้เห็นซึ่งเป็นรูปธรรม ปรากฏให้เห็นทางตา เพียงแค่หลับตาก็ไม่มี ลืมตาใหม่ก็มี ให้รู้ว่ามี หลับตาลงก็ไม่มี แต่ยังไม่ทันถึงหลับตา รูปดับแล้ว นี่คือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ให้เห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ความละเอียดอย่างยิ่ง ของธรรมะ ซึ่งไม่ควรที่จะให้ใครทำลายไป เพียงด้วยการเห็นแก่ตัว เห็นแก่ลาภ เห็นแก่ยศ เห็นแก่พรรคพวกหรือหมู่คณะ แต่รู้ว่าสิ่งที่มีค่า ไม่ใช่มีค่าเฉพาะตน สำหรับทุกคนที่มีโอกาสได้สะสมบุญมาแล้วแต่ปางก่อน มีโอกาสที่จะได้ฟัง อบรม สะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เพื่อ วันหนึ่ง เวลามาถึง ที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมะตามความเป็นจริง

มิฉะนั้นแล้ว โลกจะมืดอีกนานเท่าไหร่? เพราะเหตุว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละพระองค์ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีมาก นานมาก ยากมาก ไม่มีใครสามารถที่จะกระทำอย่างพระองค์ได้ เพื่อคนที่มีโอกาสจะได้รู้ความจริง เพราะว่า ถ้าคนใดก็ตาม ที่ได้ศึกษาธรรมะ มีความเข้าใจ เห็นโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่โลกซึ่งทุกคนติดข้อง เพราะเกิดดับสืบต่อเร็ว ปรากฏเหมือนมายากลที่ทำให้หลงว่า สิ่งนั้นมี แต่ความจริง ไม่มี และ ไม่เหลือแล้ว ขณะเมื่อก่อนนี้หมดแล้ว ใครรู้? สิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อกี้นี้ก็ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย

เพราะฉะนั้น ไม่มีใครที่จะเป็นเจ้าของ ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข ได้ เพราะไม่มี!!! ไม่มีคน มีแต่ธาตุ หรือ ธรรมะ ซึ่งเป็นอย่างนั้น แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น สืบต่อกัน จนลวงให้เห็นว่า มีเรา มีเขา มีโลก มีทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็สามารถที่จะกระทำทุจริตกรรม ต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นโทษสำหรับตนเอง แต่การที่จะทำลายพระธรรมคำสอนของพระศาสนา ไม่ใช่เฉพาะตน แต่ทำลายสำหรับคนอื่นทั้งหมด ทั้งโลก!!!

เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นอย่างยิ่ง ว่าเป็นผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็ฟังด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ที่จะศึกษาให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็ อาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ว่า ถูกคือถูก ผิดคือผิด และทั้งหมด ที่ทำ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์ เพราะเหตุว่า จริงๆ แล้ว ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะสละความเป็นตนออก ตามกำลังของปัญญา แล้วก็รู้ว่า มีโอกาสได้เข้าใจธรรมะแล้ว ทำประโยชน์ ให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าพุทธบริษัทเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็จริงใจ แล้วก็เห็นประโยชน์สูงสุด และเคารพพระรัตนตรัยสูงสุด ก็จะศึกษาธรรมะด้วยความเคารพ แล้วก็เกื้อกูลบุคคลที่ประพฤติผิด ด้วยความกรุณา รู้ว่าโทษมหาศาลมากมาย โทษที่ปรากฏในโลกนี้ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ที่ได้ทำแล้ว ก็ปรากฏให้เห็นเพียงแค่ทุกข์กาย มีกายแล้วที่จะไม่มีทุกข์ เป็นไปไม่ได้เลย สารพัดโรค ก็มาจากการที่ มีกาย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แค่ผลของอกุศลกรรม จริงๆ ทุกข์กาย เพราะเหตุว่า ทางตา เป็นผลของกุศล ทำให้จิตเกิดขึ้นเห็น สิ่งที่ดี ขณะไหนก็ได้ ให้ทราบว่านั่นเป็นผลของกุศลที่ได้กระทำแล้ว ขณะใดก็ตามที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็ไม่มีใครทำให้เลย แต่ถึงเวลาที่กรรมจะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสักทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นสิ่งที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว โดยเราไม่รู้เลย เราก็เพียงแต่พูดว่า เกิดมาก็เป็นผลของกรรม แต่กรรมไหน? กรรมมีมากมายในสังสารวัฏฏ์ แต่กรรมนั้นแหละ ที่ทำให้เป็นคนนี้ในชาตินี้ แล้วก็ประมวลมาซึ่งกรรมที่สามารถที่จะให้ผลในชาตินี้ด้วย

ทุกคนเกิดมาแล้ว นานมาก เคยเป็นทั้งกษัตริย์ ทั้งคนยาจก ทั้งนักร้อง ทั้งครู ทั้งอะไรๆ สารพัดอย่าง แม้แต่ท่านพระราหุล ก็เคยเป็นลูกของท่านพระอานนท์ในชาติหนึ่ง ก็คิดดู แล้วเราเป็นอะไรในชาตินี้ แค่ชาตินี้ เกิดมาแล้ว ลืมไปเสียตั้งเยอะ ไม่มีใครจำอะไรได้หมดเลย แล้วถึงเวลาจริงๆ ก็ ลืมหมด ไม่เหลือเลย ของชาตินี้ทั้งหมด แล้วชาตินี้ทั้งหมด ทำอะไร? แล้วก็ทำอะไรไว้ ด้วย เป็นประโยชน์ หรือ เป็นโทษ?

เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ไม่มีลาภที่ประเสริฐ เหนือการได้ฟังพระธรรม แล้วก็มีความเข้าใจถูกต้อง และเห็นคุณของพระรัตนตรัย

เพราะฉะนั้น การที่จะช่วยกันปกป้องพระศาสนา ไม่ผิด และขณะนั้น ก็เป็นความหวังดีของผู้ที่เห็นประโยชน์ด้วย ไม่ใช่จะเป็นการทำลายบุคคลหนึ่ง บุคคลใดเลย เพราะไม่รู้จักบุคคลนั้นมาก่อนเลย แต่ใครทำผิด ก็ต้องผิด และ ถ้าให้เขารู้ว่าผิด แล้วเขาแก้สิ่งที่ผิด จะเป็นประโยชน์กับเขาอย่างมหาศาล!!!

นี่ก็เป็นความหวังดีของผู้ที่ไม่ใช่เฉพาะบุคคลหนึ่ง บุคคลใด แต่ว่า สำหรับทั้งหมด ที่จะเป็นไปได้ในแต่ละชีวิต ที่เกิดมาเป็นคนนี้ ชาติก่อนเป็นใคร? ชาติต่อไปเป็นใคร? แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในชาตินี้ ที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล ก็สะสมสืบต่อไปเป็นอัธยาศัยสำหรับคนใหม่ ใครก็ไม่รู้ เกิดมา ชาติก่อนอยู่ที่ไหน เป็นใคร ก็ไม่รู้ทั้งสิ้น แต่ก็ชั่วคราว แล้วแต่ว่า กรรมจะทำให้มีชีวิตอยู่ในชาตินี้นานเท่าไหร่ แล้วก็จากไป แล้วก็ไม่เหลือ ก็เป็นอย่างนี้ ทุกชาติ!!!

เพราะฉะนั้น การที่จะมีโอกาส ได้มีปัญญา รู้ความจริง เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด!!!

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของสมาชิกชมรมพุทธศาสน์ วังพญาไท ทุกท่าน
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 24 ส.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 25 ส.ค. 2558

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากร ท่านผู้ดำเนินการและผู้ซึ่งเกี่ยวข้องทุกท่าน

อนุโมทนาขอบพระคุณ คุณวันชัย ภู่งามผู้ถอดความให้ผู้อ่าน...เหมือนกับร่วมสนทนาด้วย อีกทั้งยังร้อยเรียงภาพความทรงจำอันงดงามยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paew_int
วันที่ 25 ส.ค. 2558

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nareopak
วันที่ 25 ส.ค. 2558

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และวิทยากรทุกๆ ท่านตลอดจนถึงคณะผู้จัด ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและคุณวันชัย ภู่งาม มา ณ.โอกาสนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 18 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ