โมหเจตสิก โทสเจตสิก และโลภเจตสิก

 
natural
วันที่  29 เม.ย. 2558
หมายเลข  26496
อ่าน  2,725

ขอรบกวนเรียนถาม

๑. คำอธิบาย (อรรถกถา) ลักขณาทิจตุกกะของโมหเจตสิก โทสเจตสิก และโลภเจตสิก

๒. ตราบใดที่ไม่เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกขณะจิตจะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอหรือไม่คะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โลภะ มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ ทั้งสองเหล่านั้น โลภะ มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ เหมือนลิงติดตัง มีความติดในอารมณ์เป็นรส (อภิสํครโส) เหมือนชิ้นเนื้อที่ใส่ในกระเบื้องร้อน มีการไม่สละไปเป็นปัจจุปัฏฐาน (อปริจาคปจฺจุปฏฺ€าโน) เหมือนเปื้อนสีน้ำมันและยาหยอดตา มีความเห็นชอบใจในธรรมเป็นอารมณ์ของสังโยชน์ เป็นปทัฏฐาน

โทสะ มีการดุร้ายเป็นลักษณะ มีอันกระสับกระส่ายเป็นกิจ มีการประทุษร้าย เป็นอาการที่ปรากฏ มีอาฆาตวัตถุเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

โมหะ มีความมืดมนแห่งจิตเป็นลักษณะ หรือมีความไม่รู้เป็นลักษณะ มีความไม่แทงตลอดเป็นรส) หรือมีความปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์เป็นรส มีการไม่ปฏิบัติโดยชอบเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความมืดมนเป็นปัจจุปัฏฐาน

โมหเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ครับ แต่ ขณะที่เป็นกุศล ไม่มีโมหะเกิดร่วมด้วยเลย แม้ขณะที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เช่น ให้ทาน แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใชเ่รา ขณะนั้น ก็ไม่มีโมหะ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- โลภะกับโทสะ เป็นธรรมคนละประเภทกัน โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องต้องการ ยินดีพอใจ ส่วนโทสะ เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ โลภะเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะเป็นมูลเท่านั้น (โลภมูลจิต) ส่วนโทสะเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเป็นมูล (โทสมูลจิต) อกุศลธรรมที่กล่าวมาก็ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันในฐานะของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยากที่จะพ้นไปได้จริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ทั้งความยินดีพอใจติดข้อง และไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ เวลาที่กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ความต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีโลภะเป็นพื้นอยู่นั่นเอง มีโลภะติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่ได้ตามที่ปรารถนาตามที่ติดข้องก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ จึงแสดงให้เห็นว่าผู้ที่จะไม่มีโทสะเลย นั้น คือ พระอนาคามีบุคคล ก็เพราะว่าท่านดับโลภะที่ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ได้แล้ว ด้วยอนาคามิมรรคจิต แต่พระอนาคามี ก็ยังมีโลภะ ที่เป็นความติดข้องยินดีในภพอยู่ ซึ่งจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์

-โมหะ เป็นสภาพธรรมไม่รู้ความจริง เมื่อว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ โมหเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ความจริง เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท จะเห็นได้ว่าอกุศลจิตทุกดวง ทุกประเภท เกิดเพราะโมหะ หรือ อวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลอะไรในชีวิต เป็นต้น, สาเหตุหลักที่แต่ละบุคคลยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็เพราะยังมีโมหะอยู่นั่นเอง เป็นสภาพที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้ความจริงก็มืดมน ไม่สามารถที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้, ในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้นแล้ว โมหะ จึงเกิดกับขณะจิตมากมายอย่างนับไม่ถ้วน (เพราะโมหะ เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวง) ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ยืน เดิน นั่ง หรือ นอนก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นมานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะที่ไม่รู้ความจริง นั่นแหละ คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ปราศจากโมหะเลย

กิเลสที่มีมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จะค่อยๆ ละคลายลงไปได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเป็นหนทางที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงและสามารถดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น และที่สำคัญ สังสารวัฏฏ์จะหมดสิ้นไปได้ ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 30 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 30 เม.ย. 2558

โทษของอกุศล 3 ประเภท

1. โลภะมีโทษน้อยคลายช้า

2. โทสะมีโทษมากคลายเร็ว

3. โมหะมีโทษมากคลายช้า

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปวีร์
วันที่ 30 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 1 พ.ค. 2558
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 3 พ.ค. 2558

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 5 พ.ค. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 14 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ