ความหมายของ ทิฏฐุชุกัมม์

 
natural
วันที่  25 ก.พ. 2558
หมายเลข  26234
อ่าน  10,864

ขอรบกวนช่วยอธิบายความหมายของ ทิฏฐุชุกัมม์ ที่หมายถึง การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทิฏฐุชุกรรม หมายถึง การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มีความเห็นตรง เห็นถูกตามความเป็นจริง

คำว่า ทิฏฐิชุกรรม มาจากคำว่า ทิฏฐิ (ความเห็น) + อุชุ (ตรง) + กรรม (การกระทำ) รวมกันแล้ว แปลว่า การกระทำความเห็นให้ตรง โดยที่ไม่มีตัวตนที่กระทำ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรม กุศลธรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งคำว่า ตรงในที่นี้เป็นความตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุทั้งหมด ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพราะเป็นความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จึงจะเป็นผู้มีความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย ความเข้าใจที่ถูกต้องย่อมจะเกิดมีไม่ได้เลย

การกระทำความเห็นให้ตรง คือ จากเห็นผิด ไปสู่ความเห็นที่ถูก ที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นทีละน้อย ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้และความเห็นผิด อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่ตรง เมื่อละความไม่ตรงคือกิเลสประการต่างๆ ด้วยปัญญา ที่เป็นสภาพธรรมที่ตรงตามความเป็นจริง ก็จะค่อยๆ ทำความเห็นให้ตรง โดยไม่มีตัวเราทำ แต่ปัญญาที่เจริญ ทำความเห็นให้ถูกมากขึ้น ดังนั้น ขณะใดที่เข้าใจพระธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะใด ก็เป็นความเห็นที่ตรง เป็น ทิฏฐุชุกรรมในขณะนั้นครับ ซึ่งจะเกิดและอบรมให้มีได้ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ทิฏฐุชุกรรม ซึ่งสำคัญมากสำหรับข้อนี้ เพราะมีความเห็นที่ตรง คือ ความเห็นถูกนั่นเอง ขณะที่เป็นความเห็นถูก ปัญญาเกิดเป็นบุญ เป็นกุศล และความเห็นตรงนี่เอง ที่จะทำให้กุศลประการอื่นๆ บุญประการอื่นๆ เจริญขึ้น เพราะมีความเข้าใจถูกเป็นสำคัญครับ ดังนั้น บุญประการต่างๆ จะเจริญขึ้นได้ เพราะมีความเห็นถูก ความเห็นตรงหรือปัญญาเป็นสำคัญ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ทิฏฐุชุกรรม [๑]

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ทิฏฐุชุกรรม [๒]

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ก็จะไม่สามารถมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมได้เลย

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ ๑๕๗๓

ทิฏฐุชุกรรม (หรือเขียนเป็น ทิฏฐุชุกัมม์) การทำความเห็นให้ตรง คือ การเป็นผู้ตรง ยากไหม? การที่จะเป็นผู้ตรง ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะแล้วเป็นผู้เอียง ไม่ใช่เป็นผู้ตรง

โดยมากมักจะพยายามหาทางที่จะไม่โกรธ ใช่ไหม? ไม่มีใครชอบความโกรธเลย ในวันหนึ่งๆ พอเกิดโกรธ บางคนอาจจะไม่สบาย ความดันสูง เป็นไข้ มีอันตรายหลายอย่างซึ่งเกิดจากความโกรธ เดินไปก็อาจจะหกล้มตกกระได ทำอะไรก็ได้ด้วยความโกรธ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ชอบความโกรธ แต่ว่าเห็นโทษภัย มีหิริโอตตัปปะ กลัวอกุศลที่เป็นความโกรธ หรือว่าเพียงแต่ว่าไม่ชอบ ไม่อยากมีความโกรธ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาและนอกจากนั้นก็ยังไม่คิดถึงเรื่องของความโลภ หรือความติด เพราะเหตุว่าเพียงแต่ไม่ต้องการความโกรธเท่านั้น

นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องตรงจริงๆ คือว่าธรรมประเภทใดเป็นอกุศล ก็ต้องเห็นธรรมประเภทนั้นว่าเป็นอกุศลด้วย ไม่ใช่เห็นแต่โทสะเป็นอกุศล แต่ไม่เห็นว่าโลภะเป็นอกุศล

บางคนเห็นโทษของผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เห็นความดีของคนไม่เป็นที่รักเลย ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ตรง แม้ผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็ย่อมมีทั้งความดีและความไม่ดี ทุกคนต้องมีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น แม้ผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็จะต้องมีบางกาละที่เป็นกุศลด้วย แต่ว่าคนส่วนมากจะเห็นโทษของผู้ที่ไม่เป็นที่รัก แล้วก็ไม่เห็นความดีของผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก และนอกจากนั้นก็ยังจะต้องตรงต่อตัวเองและคนซึ่งเป็นที่รักด้วย เพราะเหตุว่าถ้าพิจารณาดูแล้วในชีวิตประจำวัน ถ้ามีบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่เป็นที่รัก การที่จะพิจารณาว่ามีหิริโอตตัปปะในบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักหรือไม่ ก็คือพิจารณาว่าเห็นแต่โทษของบุคคลนั้นหรือเปล่า ถ้าขณะใดเห็นแต่โทษของบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็แสดงว่าขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะพอที่จะเห็นความดีของบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก

นี่สำหรับคนซึ่งไม่เป็นที่รัก และสำหรับคนที่เป็นที่รัก เห็นแต่ความดีของคนที่เป็นที่รัก หรือว่าเห็นแม้ความไม่ดีของคนซึ่งเป็นที่รักด้วย นี่คือหิริโอตตัปปะ คือความที่จะต้องเป็นผู้ตรง แม้บุคคลซึ่งเป็นที่รักก็ต้องพิจารณาเห็นความไม่ดีของบุคคลนั้นด้วย เพื่อที่จะเกื้อกูล เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็คิดว่าผู้ที่เป็นที่รักนี้ดีมาก ไม่มีอะไรที่จะเกื้อกูลกันอีกต่อไปแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นผู้ตรง แม้แต่คนที่เป็นที่รักก็ต้องมีสิ่งที่ไม่ดี และถ้าเป็นโอกาสที่จะเกื้อกูล เมื่อเห็นความไม่ดีของบุคคลนั้นแล้ว ก็ย่อมจะคอยวาระที่จะเกื้อกูล เมื่อถึงกาละที่สมควร ดีกว่าที่จะไม่เห็นความไม่ดีของคนที่เป็นที่รักเสียเลย เห็นแต่ความดีของคนซึ่งเป็นที่รักเท่านั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ตรง

เพราะฉะนั้น สำหรับทิฏฐุชุกรรม ก็เป็นกุศลธรรมซึ่งเป็นการกระทำความเห็นให้ตรง ทำให้เป็นผู้ตรงด้วยหิริโอตตัปปะ และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่ลืมพิจารณาตนเองด้วย เพราะว่ามักจะพิจารณาผู้อื่น เช่น คนที่ไม่เป็นที่รักบ้าง หรืออาจจะพิจารณาคนที่เป็นที่รักบ้าง แต่ว่าตนเองมีอกุศลอะไรบ้าง อาจจะยังไม่ได้พิจารณา หรือโทษของตนเองมีหรือไม่มี หรือว่าไม่เห็น เท่านั้นเอง ย่อมมี แต่ไม่เห็น ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 6 มี.ค. 2558

ถ้าเชื่อกรรมและผลของกรรม ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐุชุกรรม ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ