บุญญกิริยาวัตถุ - ทิฏฐุชุกรรม [๒]

 
พุทธรักษา
วันที่  25 พ.ย. 2551
หมายเลข  10506
อ่าน  3,117

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การสนทนาธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคุณวันทนา ทิพวัลย์ จากหนังสือ บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐

คุณวันทนา ท่านอาจารย์ว่า กุศลที่เป็น ทิฏฐุชุกรรมมีหลายขั้น ใช่ไหมคะ

ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกมีหลายขั้น กุศลจิตก็ต้องมีหลายขั้น ตามความเห็นถูกแต่ละขั้น

ความเห็นถูกว่า ธรรมใดดี ธรรมใดชั่ว เช่นเห็นว่า การพูดไม่จริง เป็นสิ่งที่ไม่ดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู เป็นต้น เป็นสิ่งที่ดี ความเห็นถูกอย่างนี้ เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง

ความเห็นถูกว่า ควรจะขัดเกลากิเลส ด้วยการให้ทาน เพื่อเปลื้องความตระหนี่ ความติดข้องในวัตถุออกเสียบ้าง ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง

ความเห็นถูกว่า ควรเป็นผู้มีศีล เว้นทุจริตทางกาย วาจา ซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลง ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง

ความเห็นถูกว่า ควรระงับกิเลสที่ทำให้หัวใจเศร้าหมอง ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง

ความเห็นถูกว่า ควรเจริญปัญญา ดับกิเลสให้หมดสิ้น ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง

และเมื่อไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ดีหรือชั่วของธรรมแต่ละชนิดด้วยการคิดไตร่ตรองของตนเอง ก็จะต้องอาศัยการฟังหรือศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ ใน ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร หมวด ๓ แสดงปัญญา ๓ คือ จินตามยปัญญา สุตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา

เวลาที่มี ทิฏฐุชุกรรม ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิด ก็เป็นเหตุให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย. เช่น เมื่อรู้ว่าความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งที่ดีงามก็จะทำให้รังเกียจการพูดเท็จ การหลอกลวง ทั้งทางกาย วาจา ใจ เมื่อรังเกียจความชั่ว ก็ย่อมละความชั่ว จนกระทั่งเคยชินเป็นปัจจัยแก่อุปนิสัยที่ดีงาม เช่น

ทานุปนิสัย อุปนิสัยในการให้ทาน

สีลุปนิสัย อุปนิสัยในการรักษาศีล

ภาวนุปนิสัย อุปนิสัยในการอบรมความสงบและปัญญา

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 26 พ.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 26 พ.ย. 2551

... ทิฏฐุชุกรรม เป็นสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธาเป็นพื้นฐาน

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 328

ทิฏฐุชุกรรม สรณคมน์นี้นั้นเป็นไปโดยอาการ ๔ คือ

โดยการมอบถวายตน ๑

โดยความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ๑

โดยเข้าถึงความเป็นศิษย์ ๑

โดยการนอบน้อม ๑

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 430-431

เมื่อบุคคลทำความเห็นให้ตรง ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ ที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรง. แต่ท่านทีฆภาณกาจารย์กล่าวว่า ทิฏฐุชุกรรมเป็นลักษณะนิยม (คือเครื่องหมายแห่งความสมบูรณ์) ของบุญกิริยาทั้งหมด เพราะว่า เมื่อบุคคลจะทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นบุญมีผลมาก เพราะความเห็นอันตรงนั่นเอง ดังนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 28 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pamali
วันที่ 8 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 23 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
lovedhamma
วันที่ 14 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ