ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ นครพนม ๑๖ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๗

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  23 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25953
อ่าน  2,234

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ และ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ ได้รับเชิญจากศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนครพนม ร่วมกับ ชมรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เพื่อไปสนทนาธรรม ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนครพนม ตามโครงการสนทนาธรรมสร้างสุข เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๗ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

คำขวัญประจำจังหวัดนครพนม

“พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง”

ท่านอาจารย์และคณะฯ ออกเดินทาง จากสนามบินดอนเมือง ในเวลา ๑๐.๓๐ น. ถึงท่าอากาศยานนครพนม ในเวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. ของวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยมีคณะนายทหารจากจังหวัดทหารบกนครพนม และท่านผู้พิพากษาจากศาลเยาวชนจังหวัดนครพนม มาให้การต้อนรับ คณะของท่านอาจารย์ ที่สนามบินนครพนม

จากนั้น จึงพาคณะฯไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหารญวน สองแห่ง แยกกันสองคณะฯ เนื่องจากที่นั่งของแต่ละร้าน มีจำนวนที่นั่งไม่มากพอ เป็นอาหารเวียดนาม ที่มีรสชาติอร่อย ดั้งเดิม ต่างจากที่เคยรับประทานมาครับ เช่น ยำหัวปลี แนมกับข้าวเกรียบงา เป็นจานโปรดของทุกๆ ท่าน ที่ต้องสั่งมารับประทานให้ได้ อร่อยจนหลายๆ ท่าน รวมถึงข้าพเจ้า ต้องซื้อข้าวเกรียบงา กลับไปเป็นของฝาก เพื่อนๆ ด้วย

หลังรับประทานอาหารกลางวัน จึงได้เดินทางไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งได้จัดให้มีการสนทนาธรรม รวมสองวัน คือ วันแรก ในเวลา ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. และ ในวันที่สอง เวลา ๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. การเดินทางไปสนทนาธรรม ที่ ภาคอีสาน ของท่านอาจารย์และคณะวิทยากรในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก และ เป็นครั้งที่น่าประทับใจของทุกๆ ท่าน มากๆ นอกจากบรรยากาศของเมืองนครพนม ที่สงบ ร่มรื่น อากาศหนาวเย็นสบาย มีทิวทัศน์สวยงามติดชายฝั่งแม่น้ำโขงตลอดแนวยาวนับร้อยกิโลเมตร ได้ชื่อเป็นเมืองแห่งความสุข

สหายธรรมที่เดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้ ก็ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศริมแม่น้ำโขงยามค่ำคืน ซึ่งทั้งสองคืน ที่ได้พักอยู่ที่นครพนม ก็ได้มีโอกาสเดินออกกำลังกาย ชมเมือง ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็น ลมพัดแรง ตลอดทางเดินริมแม่น้ำโขง ทอดยาวไปสู่ที่พัก ใครเลยจะรู้ว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่บุคคลได้รับ ไม่แม้เพียงรสของพระธรรมอันเลิศ ซึ่งนอกจากจะเป็นขณะที่หาได้ยากยิ่ง ในสังสารวัฏฏ์แล้ว ยังได้อยู่ท่ามกลางกัลยาณมิตร แวดล้อมด้วยบรรยากาศอันยอดเยี่ยม เช่นนี้ อันเป็นผลของบุญที่ได้กระทำไว้แต่ปางก่อนของทุกบุคคล โดยไม่ต้องสงสัยเลย แม้ว่าจะดับไป สิ้นไป หมดไปแล้วก็ตาม ทุกบุคคล ก็ยังเป็นผู้ที่สั่งสมบุญไว้แต่ปางก่อนของชาติต่อๆ ไปอีก ใน ณ กาลครั้งนี้ ที่ได้ฟังและเข้าใจพระธรรม ความเข้าใจพระธรรม ย่อมเป็นปัจจัยให้บุคคล สะสมในสิ่งที่ควร ในสิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริง เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า ทุกๆ ขณะ ที่เกิดขึ้น และ ดับไปแล้วนั้น "เป็นแต่ธรรม ไม่ใช่เรา"

ความการสนทนาธรรมทั้งสองวัน ก็เป็นไปด้วยความสนใจของผู้เข้าร่วมสนทนาอย่างมาก ทุกท่านตั้งใจฟังและร่วมสนทนาอย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์และประทับใจอย่างยิ่ง

จึงขออนุญาต นำความการสนทนาบางตอน มาประกอบกับภาพแห่งความประทับใจที่ได้บันทึกไว้ เพื่อสื่อให้ทุกๆ ท่าน เห็นถึงความสุขสดชื่นของทุกคนที่มีโอกาสไปร่วมฟัง การสนทนาในครั้งนี้ ในเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความสุข และ กำลังจะได้รับความสุขที่แท้จริงในชีวิต จากความเข้าใจที่ถูกต้อง ในความจริง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เป็นโอกาส และ กาละ ของผู้ที่ได้สะสมบุญไว้แต่ปางก่อน ที่จะได้ฟังความจริงที่ทรงตรัสรู้ จากการถ่ายทอดด้วยความเมตตาอันยิ่ง ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในครั้งนี้ครับ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

ท่านอาจารย์ วันนี้ ก็เป็นมงคลหนึ่ง ในมงคล ๓๘ ที่เราเคยได้ยินคำสวด "มงคลสูตร" เพราะเหตุว่า "มงคล" ก็คือ สิ่งที่นำความเจริญ ซึ่งเป็นความสุข ไม่ได้นำความทุกข์มาให้เลย เพราะฉะนั้น มงคลนี้ เป็นมงคลที่พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสตอบเทวดา ซึ่งไปทูลถามว่า อะไรเป็นมงคล? พระผู้มีพระภาคฯ ก็ตรัส "มงคล ๓๘" แต่ "หนึ่งในนั้น" คือ "การสนทนาธรรม" เพราะเหตุว่า พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดง ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เมื่อได้ฟังแล้ว แล้วก็ไม่สนทนากัน ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจความละเอียดลึกซึ้งได้

ด้วยเหตุนี้ ที่ใดก็ตาม ที่มีการได้ฟังธรรมะจากพระโอษฐ์ ที่ได้ตรัสไว้แล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี และ ล่วงเลยมา นานมาก ... ถ้าไม่มีการสนใจ ที่จะรู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯตรัสไว้นั้น คือ อย่างไร? เราก็ไม่มีโอกาส ที่จะได้ฟังข้อความที่ตรัสไว้ ซึ่งก่อนอื่น ขอให้คิดถึง "พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" เป็นใคร? ชื่อนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะมีผู้อื่นมีชื่ออย่างนี้ได้เลย เพราะเป็น "พระคุณนาม" หลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมะ และ เมื่อบำเพ็ญพระบารมีที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่รู้สภาพธรรมะเพียงพระองค์เดียว จึงได้ทรงแสดงพระธรรม

แต่ว่า ทุกคำ มาจากการบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ นานมาก ไม่ใช่ชาติเดียว หรือว่า สิบชาติ แต่ว่าสี่อสงไขย และ แสนกัปป์ เพราะฉะนั้น แต่ละคำ ต้องเป็นคำที่ลึกซึ้ง และไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ทันที เช่น คำว่า "ธรรมะ" มีใครที่ ไม่ได้ฟังมาก่อน แล้วก็สามารถที่จะบอกได้ว่า ธรรมะ คือ อะไร?

เพราะฉะนั้น "ทุกคำ" พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นใคร? แล้ว "เรา" เป็นใคร?จากการที่ ไม่มีการได้ฟังธรรมะมาก่อนเลย จึงเป็นสิ่งที่จะต้องฟัง ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง คือ พิจารณา เข้าใจทุกคำ ไม่ใช่คิดว่า เราคุ้นหูแล้ว ได้ยินแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ ธรรมะ ลึกซึ้งกว่านั้นมาก และอีกประการหนึ่ง ก็คือว่า คนไทยเรา ใช้ภาษาบาลี ในภาษาไทย แต่ว่า ไม่ได้ตามความหมาย ที่พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดง เพราะฉะนั้น แต่ละคำ ก็จะต้องศึกษาความต่าง ของความหมายเดิม กับความหมาย ที่เราใช้ ในยุคปัจจุบัน

เช่น คำว่า "ธรรมะ" ได้ยินบ่อยๆ แต่ยังไม่ทราบว่าอะไร? และยังได้ยินคำว่า รูปธรรมกับนามธรรมะด้วย เหมือนเข้าใจ แต่ถ้าไม่ศึกษา ไม่รู้เลย ว่าแท้ที่จริง ไม่เข้าใจ แม้แต่คำว่า "ธรรมะ" ที่กล่าวถึง คำธรรมดา แต่ความลึกซึ้ง เพื่อให้เห็นความต่าง ของพระปัญญาคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเราจะต้องศึกษา ด้วยความเคารพจริงๆ จึงสามารถที่จะเข้าใจถูก ว่า "คำนี้" เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ "คำของคนอื่น" เพราะว่า "คนอื่น" ไม่สามารถที่จะกล่าว คำจริง "วาจาสัจจะ" ซึ่งนำไปสู่ "ญาณสัจจะ" ปัญญา ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดง

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคำ ที่คนอื่น "คิดเอง" ไม่มีทางที่จะทำให้ "รู้จัก" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว "ทีละคำ" ศึกษาธรรมะ ถ้าศึกษา "ทีละคำ" จะไม่สับสน และ จะมีความเข้าใจยิ่งขึ้น เมื่อได้ฟังคำอื่นๆ อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่เข้าใจแต่ละคำ โดยถูกต้องจริงๆ เราจะสับสน เช่น คำว่า "ธรรมะ" หมายความถึง สิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้!!!

เห็นไหม? เราได้ยินคำว่า "ยุติธรรม" เราได้ยินคำว่า "จริยธรรม" หลายอย่าง มีคำว่า "ธรรม" อยู่ด้วย ใช่ไหม? "ศีลธรรม" แต่ว่า แต่ละคำนั้น คืออะไร? ถ้าไม่มี "ธรรมะ" คือ ไม่มีสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วจะมีคำเหล่านั้น หรือ มีสภาพธรรมะเหล่านั้น ได้ไหม?

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ที่เคยได้ยินคำว่า ฟังเทศน์ ฟังธรรม หรือว่า จะศึกษาธรรมะ สนทนาธรรมะ อย่างไรก็ตาม ต้อง "ตั้งต้น" ที่ "เข้าใจ" ก่อน ว่า "ธรรมะ" คือ อะไร? "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้ แค่นี้ก็ยากแล้ว อะไรจริง? คะ? "ธรรมะ" ไม่ใช่ว่า ฟังคนอื่นแล้ว ไม่ไตร่ตรอง แล้วก็เชื่อตาม นั่นไม่ใช่คำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังแล้ว พิจารณา (ว่า) จริงหรือเปล่า? ถูกต้องไหม?เพราะพระผู้มีพระภาคฯ แสดงธรรมะ ให้เราเข้าใจ ให้เราเป็นผู้ที่มีเหตุผล ให้เราเป็นผู้ที่ "ตรง" ต่อความจริง

เพราะฉะนั้น คำจริง ความจริง ไม่ผิดเลย เช่น "เดี๋ยวนี้ เป็นธรรมะ" ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดง มีจริงๆ ถ้าไม่พูดถึง "สิ่งที่มีจริง" แล้วจะพูดเรื่องอะไร? ถ้าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แล้วจะรู้อะไร? ในเมื่อ "เดี๋ยวนี้" เท่านั้น ที่เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ "ยาก" ที่จะ "คิดเอง"

เพราะเหตุว่า ถ้าถามผู้ที่กำลังฟัง และ ไม่เคยฟังธรรมะมาเลย ถามว่า เดี๋ยวนี้ อะไรจริง? การสนทนาธรรม ไม่ใช่พูดคนเดียว นะคะ แต่ว่า เป็นการที่ ผู้ที่ได้ฟังแล้ว ก็มีโอกาส ที่จะได้สนทนา และ แสดงความคิดเห็น จนกระทั่ง เป็นความเข้าใจของแต่ละคน นี่คือประโยชน์ ของการฟังธรรมะ การฟังธรรมะ เพื่อ เข้าใจ พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปนั่งฟังเฉยๆ แล้วก็ไม่เข้าใจ

แต่ขณะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคฯทรงแสดงพระธรรม พระองค์ตรัสถามผู้ฟัง เพื่อให้ผู้ฟัง "คิด" เป็นความคิดของตนเอง แล้วก็ตอบ จะได้รู้ว่า ความคิดนั้น ถูกต้อง มากน้อยแค่ไหน? ประโยชน์ที่สุด ก็คือว่า ได้เข้าใจ สิ่งซึ่ง ไม่เคยเข้าใจมาก่อน นี่คือประโยชน์อย่างยิ่ง ของการฟังธรรมะแต่ละครั้ง และ ที่จะรู้ว่า เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ายังไม่มีใครคิด หรือว่า ยังคิดไม่ออก ก็ขอถาม "เห็น" จริงไหม? เดี๋ยวนี้!!! "ได้ยิน" จริงไหม? เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อะไร?

ทรงตรัสรู้ความจริงของ "เห็น" ทรงตรัสรู้ความจริงของ "ได้ยิน" ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มี ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกขณะ ซึ่ง ถ้าจะพิจารณา เราก็จะได้คิดว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ดูเหมือนเรื่องมาก ตั้งแต่เด็ก วัยเด็ก ก็เรื่องเด็กๆ เยอะ จนกระทั่งถึง ณ บัดนี้ ก็เรื่องมาก แต่ความจริงก็คือว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็ "คิดนึก" ถึงสิ่งที่ "เห็น" นั่นแหละ สิ่งที่ "ได้ยิน" นั่นแหละ จริงไหม? แค่นี้เอง ทุกวัน ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย

เดี๋ยวนี้ ก็ "กำลังเห็น" แล้วก็ "คิด" ถึง "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" ด้วย แล้วก็ "กำลังได้ยิน" แล้วก็ "คิด" ถึง "แต่ละคำ" ที่กำลังได้ยินด้วย ถ้าไม่เห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ก็ไปเห็นที่อื่น ได้ยินอื่น แล้วก็คิดไป ตามสิ่งที่เห็น ตามสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ชีวิต ก็ไม่พ้นจาก วันหนึ่งๆ ที่ต้อง "เห็น" บ้าง "ได้ยิน" บ้าง แล้วก็บางครั้งก็ "ได้กลิ่น" และ ทุกวันก็ "ลิ้มรส" แล้วก็มีการ "กระทบสัมผัส" เดี๋ยวป่วยไข้ ได้เจ็บ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ทางกาย แล้วก็ "คิดนึก" ทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคฯ ทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดงความจริงให้รู้ว่า "ธรรมะ" ไม่พ้นจาก ชีวิตประจำวัน แต่ละหนึ่งขณะ เดี๋ยวนี้!!!

แต่เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยสนใจเลย เราเรียนวิชาการต่างๆ มากมาย ทางโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือ สถาปัตย์ หรือ อะไรก็ตามแต่ แต่ว่า ... ทั้งหมด ไม่ได้รู้ความจริง ของเดี๋ยวนี้!!!

เพราะฉะนั้น ก็ "ยังเป็นเรา" ซึ่งเกิดมา มีชีวิตอยู่ ชั่วคราว แล้วก็จากโลกนี้ไป แต่โลกนี้ ก็จะต้องมีคนไทย มีคนประเทศต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ก็ไม่เคยหยุดเลย ก็ยังเป็นไปแต่ เราจากโลกนี้ไปแล้ว พ้นจากเหตุการณ์ของโลกนี้ไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ทุกคนโดยมาก จะไม่คิดถึงว่า ความตายจากโลกนี้ มีได้ทุกขณะ เราได้ฟังเรื่องของอุบัติเหตุมากมาย ออกจากบ้านไปไม่ถึงไหน ก็ต้องจากโลกนี้ไปแล้ว ครั้งหนึ่ง เครื่องบินจากอินเดียมาเมืองไทย ก็มีผู้หญิงอินเดีย ขึ้นมาบนเครื่องบิน แล้วก็จากโลกนี้ไป บนเครื่องบิน ยังไม่ถึงที่ ที่เขาจะไป เพราะฉะนั้น ความตาย ประมาทไม่ได้เลย การที่เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ เราก็คิดว่าเรายังมีความคิด ความหวังอีกมากพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ แล้วก็จากโลกนี้ไป โดยยังทำไม่เสร็จเลย ก็มี

แต่ ประโยชน์สำคัญ ก็คือว่า เราทำสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ หรือ เราทำสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งความจริง ถ้าศึกษา โดยเป็นผู้ที่ "ตรง" ต่อเหตุกับผล มีการกระทำ คือ กรรม ที่ดี และ การกระทำที่ ชั่ว ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น เหตุกับผล ต้องตรงกัน ถ้าเราทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่สามารถที่จะให้ผลที่ดีได้เลย แต่เราไม่เคยรู้ว่า เหตุเมื่อไหร่? และ ผลเมื่อไหร่? ทำให้เราเป็นผู้ที่ประมาท และคิดว่า สิ่งที่เราทำ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่เป็นไร แต่ ลืมว่า "เหตุ" กับ "ผล" ต้อง "ตรงกัน" เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดี เป็นกุศลกรรม ก็จะต้องให้ผลที่ดีสิ่งที่ไม่ดี เป็นกุศลกรรม ก็ต้องให้ผลที่ไม่ดี แต่ว่า เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ไม่นาน เพราะฉะนั้น จะทำกรรม อะไร?

"ทุกคำ" มีความหมาย และเป็นประโยชน์กับผู้ฟัง เห็นพระคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงๆ ว่า ทรงแสดงความละเอียดยิ่ง ซึ่งถ้าไม่เคยฟัง ไม่เคยศึกษาธรรมะ จะไม่รู้เลยว่า กล่าวถึง ขณะที่มีจริง เดี๋ยวนี้ ทุกขณะ อย่างละเอียดยิ่ง กล่าวถึง "เห็น" อย่างละเอียด กล่าวถึง "ได้ยิน" อย่างละเอียด กล่าวถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจ ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว มีสิ่งที่เป็น "เหตุ" กับ สิ่งที่เป็น "ผล"

การเกิดมาในโลกนี้ ต้องเป็นผลของกรรม ถูกต้องไหม? หรือว่า ใครเป็นผู้สร้าง ทำให้เกิดขึ้น? เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่า ทรงแสดงอย่างละเอียดว่า ทำไม แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งหลากหลายมาก เกิดมาในครอบครัวที่ต่างกัน วงศาคณาญาติต่างกันทรัพย์สิน เงินทอง อำนาจวาสนา ทุกสิ่งทุกอย่าง ต่างกัน เพราะอะไร? แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางคน ก็จากสุขเป็นทุกข์ จากทุกข์เป็นสุข

ทุกอย่าง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ตลอด ๔๕ พรรษา แต่ว่า ใครเคยศึกษาธรรมะอย่างละเอียดยิ่ง จนกระทั่งรู้จัก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง? เพราะเหตุว่า ส่วนใหญ่ เรากล่าวว่า เราเป็นชาวพุทธ แต่ว่า ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า พุทธ คือ ผู้รู้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราก็ไม่คิด แล้ว รู้อะไร? ตื่นจากอะไร? คือ ฟังเผินไปหมดเลย แล้วจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อย่างไร?

เพราะฉะนั้น การที่ "เริ่มเห็นประโยชน์" ว่า ประเทศใดก็ตาม อย่างประเทศไทย เรามีธงชาติ ๓ สี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ ๑ เท่านั้น แต่ ถึง ๓

หลักสำคัญที่สุด ก็คือว่า ทุกคนที่เกิดมา ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน หรือ เป็นใครก็ตาม ถ้าไม่มีหลักของชีวิต ที่ถูกต้อง แล้วชีวิตนั้น จะดำเนินไปได้อย่างไร? โดยเฉพาะ เราก็กล่าวถึง พระพุทธศาสนา หรือจะไม่กล่าวถึงพระพุทธศาสนา ก็ได้ศาสนาใดๆ ที่เป็นหลัก ที่จะทำให้ชีวิต ดำเนินไปในทางที่เป็นประโยชน์ และ เราก็ตระหนักสำคัญ ในเรื่องหลักของชีวิต จนกระทั่ง อยู่ในธงชาติ ด้วย แต่ เราคำนึงถึง หรือเปล่า? ตอนเช้า ที่ทำงานทั้งหลาย ก็มีการเคารพธงชาติ เคารพอะไร? คงไม่ใช่ผืนผ้า ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ตามความจริงก็คือว่า ต้องเป็นผู้ที่ "ตรง" และ "จริงใจ" ก็จะได้ประโยชน์ของชีวิต เพราะว่า ทุกคำ มีคำตอบในธรรมะ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น วันนี้ เพียงแค่คำเดียว ไม่เปลี่ยนเลย ทั้ง ๓ ปิฎก และ นานแสนนานมาแล้ว หรือ ขณะนี้ และต่อไปอีกข้างหน้า สิ่งที่มีจริง มีจริงๆ เกิดขึ้น ปรากฏว่า มีจริง เช่น "เห็น" เดี๋ยวนี้ "เห็น" จริงๆ

แต่เราไม่เคยรู้เลย ว่าทำไมเราต้องฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรื่อง "เห็น" ตรัสเรื่อง "ได้ยิน" เรื่อง "ได้กลิ่น" เรื่องลิ้มรส เรื่อง "รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส" ทรงแสดงความจริงว่า สิ่งที่มีจริง เป็น "อนัตตา" อนัตตา เป็นภาษาบาลี คือ ภาษามคธ เป็นภาษามคธี เป็นคำที่ดำรงพระศาสนาไว้ จึงใช้คำว่า "ปาละ" หรือ คนไทยใช้คำว่า "บาลี" ภาษาบาลี คือ ภาษามคธี เป็นคำที่ดำรงพระศาสนา เพราะว่า ตรัสธรรมะในภาษานั้น เพราะฉะนั้น การที่มีโอกาสได้ใช้คำนั้น ก็ควรที่จะใช้ให้ถูกต้อง และเข้าใจด้วย ว่าเวลาที่ใครก็ตาม เอาคำนี้ไปใช้ แต่มีความหมายเคลื่อนไปเป็นอย่างอื่น ต้องรู้ว่า "นั่นไม่ตรง" กับ "คำ" ที่ทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้น "ธรรมะ" ไม่ลืมเลยค่ะ "สิ่งที่มีจริง" ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน "เห็น" เป็น "เห็น" "ได้ยิน" เป็น "ได้ยิน" "คิด" เป็น "คิด" "โกรธ" เป็น "โกรธ" "สุข" เป็น "สุข" "ทุกข์" เป็น "ทุกข์" แต่ละหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง จึงใช้คำว่า "เป็นธรรมะ" ถ้า "ตั้งต้น" ถูกต้องและ เวลาที่ได้ยินคำว่า "ธรรมะ" ไม่ว่าจะศึกษาต่อไป ฟังต่อไป ก็รู้ว่า พูดถึงสิ่งที่กำลังมี ในขณะนี้ให้เข้าใจขึ้น

เพราะฉะนั้น การที่จะมีพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง คือ มีพระพุทธรัตนะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง มีพระธรรม เป็นที่พึ่ง คือ คำสอน ที่จะทำให้เราเกิดปัญญา ความเข้าใจ สิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน จนกระทั่ง สามารถที่จะดับกิเลส ถึงความเป็นพระอริยสงฆ์ คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ชาวพุทธ ต้องศึกษาให้เข้าใจ มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นชาวพุทธ ได้อย่างไร? ถ้าไม่รู้ว่า พระรัตนตรัย คือ อะไร?

เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจ "เริ่มจากขณะนี้" ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มี "พระธรรม" เมื่อใด ที่มีการศึกษา มีการเข้าใจธรรมะ เมื่อนั้น "เห็น" พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้น จะไม่เห็นเลย มีข้อความที่กล่าวไว้ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" "เรา" ในที่นี้ คือ พระตถาคต หรือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เราจะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะ

เพราะฉะนั้น วันนี้ ก็เป็นโอกาสดี ที่จะได้สนทนาธรรมะ ซึ่งเป็นคำสอน ที่ได้ตรัสไว้แล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี และ ยังปรากฏให้เราได้ศึกษา จนกระทั่ง ค่อยๆ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น แต่ขอเรียนให้ทราบว่า ยาก ยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ยาก บุคคลที่ตรัสรู้ จะไม่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ภาพคุณไพโรจน์และคุณทองแถม ชัชวาลย์ คู่สามีภรรยาชาวจังหวัดเลย ที่พบและฟังท่านอาจารย์ทางวิทยุ ได้เคยเขียนจดหมายมากราบท่านอาจารย์ และเป็นเหตุให้ท่านอาจารย์และคณะฯ เดินทางไปพบและสนทนาธรรมด้วย ที่จังหวัดเลย ทราบข่าวการเดินทางมาของท่านอาจารย์ จึงได้ขับรถจากจังหวัดเลย ร่วม ๖ ชั่วโมง เพื่อมากราบเท้าท่านอาจารย์ และ ร่วมฟังการสนทนาธรรมในวันนี้

ท่านที่สนใจ สามารถคลิกชม กระทู้เมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์และคณะฯเดินทางไปเยือนจังหวัดเลย ได้ที่นี่ครับ ...

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ๑๐ - ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖

เพราะฉะนั้น (พระธรรม) ต้องยากมาก ค่ะ แต่ ไม่ท้อถอย เพราะเหตุว่า "เริ่มต้น" ทีละคำ อย่างคำว่า "ธรรมะ" คงไม่สงสัย ว่า ธรรมะ คือ อะไร? แต่ ลึกซึ้งกว่านั้นอีก ไม่ทราบ มีท่านผู้ใด ใคร่ที่จะสนทนาเรื่องอะไรบ้างไหม?

ผศ.วิจิตรา (ม.ราชภัฏ สกลนคร) ท่านอาจารย์คะ ทุกท่าน ที่นั่งอยู่ในห้องนี้ เรายอมรับ ในอะไร ในความเป็นพระอาจารย์มั่น ที่ท่าน เป็นต้นแบบ ของพระวิปัสสนา พระอาจารย์มั่นนี้ ถ้าบอกว่า ท่านมาเรียนรู้เรื่องธรรมะอย่างพวกเราเดี๋ยวนี้ ท่านก็คง ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านอ็ออกป่า ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอะไรนี่ จนถึงที่สุดของพระอาจารย์มั่น ที่เรารับทราบ ในพุทธคุณของท่าน และเราก็ยอมรับ แล้วก็เป็นต้นแบบ จนทุกวันนี้

อยากจะขอท่านอาจารย์ ช่วยวางขั้นตอนให้ทราบว่า จาก สิ่งที่เราเรียนรู้ในวันนี้ คือ ฟังคำสอน, ทำความเข้าใจในธรรมะ กับ พระอาจารย์มั่น แล้วท่านไปเดินไปอย่างไร? ถึงที่สุดอย่างนั้น? น่ะค่ะ ท่านอาจารย์ ดิฉันอาจจะใช้คำพูดไม่ค่อยดีนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เราเป็นใคร? ก่อน เราจะรู้ ว่า ใครรู้ หรือ ไม่รู้ ถ้าเราไม่รู้ แล้วเราบอก ว่าคนนั้นรู้ ถูกไหม? เราเป็นใคร? เราไปบอก ว่าคนนั้น เป็นผู้รู้ "โดยที่เราไม่รู้" เราพูดถูกหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น ที่จะบอก ว่าใครเป็นใคร? เป็นอะไร? ก็เพราะ "ความรู้" ใช่ไหม?

และ ความรู้ของเรา มาจากไหน? มาจาก "คำสอน" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำสอน ของใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะบุคคลนี้ หรือ บุคคลนั้น ใครก็ตาม ทั้งหมด เราจะกล่าวว่า บุคคลนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เป็นจริงหรือเปล่า?

เรามีความรู้ พอที่จะรู้จริง หรือเปล่า? ถ้าเราไม่รู้ แล้วเราบอก ถูกไหม? เริ่มต้นก่อน ที่พูดตามๆ กันมานี่ ถูกไหม? โดยที่ว่า ผู้ที่บอกนั้น ผู้ที่พูดอย่างนั้นน่ะ เป็นใคร? ถ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบ บุคคลนั้น เป็นใคร ท่านพระสารีบุตร ท่านก็สนทนากับพระมันตานีบุตรใช่ไหม? หรือใคร?

อ.ธีรพันธ์ ท่านพระสารีบุตร ท่านก็สนทนากับหลายท่าน เช่น ท่านพระอนุรุทธะ ก็มี ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ สนทนากัน โดยท่านผู้นั้น ไม่รู้เลยว่า ท่านกำลังสนทนา กับ ท่านพระสารีบุตร ไม่มีทางรู้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า ใครมีปัญญา ไม่ใช่ "เห็น" แต่ ด้วยการสนทนา และ ผู้ที่สนทนา ต้องมีความรู้ มีความเข้าใจด้วย ถึงจะรู้ว่า บุคคลนั้น "รู้" หรือ "ไม่รู้" แต่ถ้า เป็นผู้ที่ไม่รู้ แล้วไปบอกว่า คนนั้นรู้อย่างนี้ คนนี้รู้อย่างนั้น เราเอาอะไรมาบอก? คะ? เอา "ความไม่รู้" มาบอก จะถูกต้องไหม?

ต่อเมื่อใด เรารู้ และ สนทนากัน เราก็จะรู้ได้ว่า บุคคลนั้น รู้หรือเปล่า? มีพระธรรม เป็นที่พึ่ง ให้รู้ว่า ถูก คือ อย่างไร? ผิด คือ อย่างไร? ไม่ใช่ พูดตามๆ กัน โดยคาดคะเน โดยไม่รู้ความจริง แต่ก็พูดแล้ว เพราะ "เชื่ออย่างนั้น"

แต่ เอาอะไร มาเป็นเครื่องวัด? เครื่องบอก เครื่องชี้!!! เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการที่ เป็นปัญญา ที่รู้จริงๆ คำพูดนั้น ถูกไม่ได้เลยค่ะ และ โดยเฉพาะ นะคะ สอนว่าอย่างไร?เป็น พระพุทธพจน์ หรือเปล่า? ถ้าไม่ตรง ไม่ถูก!!

เชื่อใคร? ไม่ใช่เชื่อตามๆ กัน พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสเตือนแล้ว ไม่ใช่เชื่อตามๆ กันไม่ใช่เชื่อ เพราะคัมภีร์ แต่ว่า เมื่อมีความเข้าใจถูกต้อง ก็สามารถที่จะรู้ได้ ว่า อะไรถูก อะไรผิด แต่ต้องเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ถ้าไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกเอาอะไร มาเป็นเครื่องวัด? ก็ต้องผิด ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น จะเชื่อเหมือนเดิมหรือเปล่า? ต้องเป็น "ผู้ตรง" สาวก ผู้ฟัง อาจหาญ ร่าเริง ไม่ผิด ไม่ต้องกลัว ความถูกต้อง เป็น ความถูกต้อง ถ้าคนที่รู้ถูก แล้วจะบอกให้คนอื่นผิด ได้ไหม? ขณะนี้ ไม่ใช่ธรรมะหรอก ปฏิบัติ ก็ต้องไปนั่งอย่างนั้น อย่างนี้ ถูกไหม? ถ้าบอกอย่างนั้น!!!

เพราะฉะนั้น ผู้รู้อย่างใด ก็กล่าวอย่างนั้น ค่ะ ไม่กล่าวคลาดเคลื่อน จากความจริง ที่ตนเองรู้ ถ้ากล่าวว่า ให้ไปปฏิบัติที่สำนักปฏิบัติ แล้วไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรเลย ถูกไหม? ถ้าไม่ถูก ก็ต้องอาจหาญ ร่าเริง เป็นการอนุเคราะห์ ให้เข้าใจความจริง เพราะว่า ความเป็นมิตรดี สหายดี มีความหวังดี ที่จะไม่ให้คนอื่น หลงผิด เข้าใจผิด ความเห็นผิด มีโทษมาก หันหลังให้พระสัทธรรม ไม่มีทางที่จะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

เพราะฉะนั้น แต่ละคน ก็พิจารณา แล้วก็ เป็นตัวเอง แต่ละหนึ่ง ความถูก คือ ถูกความผิด คือ ผิด ไม่ต้องหวั่นเกรง ความดี คือ ดี ความไม่ดี คือ ไม่ดี ก็ไม่ต้องหวั่นไหว ที่จะต้องไม่ดีตามไป หรือ "ผิด" ตามไป มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งเลย ยังคงมีความไม่รู้ความจริง คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะพ้นจากอบายภูมิ ได้อย่างไร?

"การดับกิเลส" กิเลสมีมาก จะดับอะไรก่อน? คะ? ทุกคน "ตรง" นะคะ เป็นมิตร ที่ดีเป็น กัลยาณมิตร หวังดี จึงพูดความจริง สิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะรัก จะชัง อย่างไร ก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่า หวังดีจริงๆ ที่จะให้มี "ความเข้าใจ" จาก "คำที่ได้ฟัง"

แล้วก็ พิจารณา ด้วยความหวังดีว่า จริงไหม? ถูกไหม? ถ้าไม่ถูก ไม่จริง ก็สนทนาธรรม กันได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความจริง คือ อย่างไร? แต่ด้วยความหวังดีจริงๆ ที่ไม่อยากให้เพียง ทำตาม พูดตาม คิดตาม โดยที่ไม่รู้ว่า "คำจริง" คือ อย่างไร?

เพราะฉะนั้น "ลองคิด" กุศล มีมาก จริงหรือเปล่า? ควรจะหมด หรือ ควรจะเพิ่ม อีกเรื่อยๆ ควรจะหมด แล้ว จะหมด ได้อย่างไร? อยู่ดีๆ ไม่มีทาง เลย มากขึ้น ทุกวันๆ "เมื่อไม่รู้" ใช่ไหม?

ขอเชิญคลิกฟังที่นี่ ...

กิเลสท่วมใจยิ่งกว่าภัยน้ำท่วม

แต่ถ้าได้ฟังพระธรรม "เข้าใจ" ขณะที่ "เข้าใจ" ละคลาย "ความไม่รู้" ซึ่งเมื่อกี้นี้ เปรียบเทียบ ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไรดี? ของสกปรกทั้งนั้น ที่เป็นกุศล มากมายก่ายกอง จักรวาลกว้างใหญ่ ก็ยังไม่พอที่จะเก็บ

ขอเชิญคลิกฟังที่นี่ ...

เปิดจิตได้จะเจออะไร?

แต่เพราะเหตุว่า เป็นนามธรรม ไม่ต้องอาศัยห้อง สะสมอยู่ใน "จิต" นั่นแหละ ด้วยเหตุนี้ จิต แต่ละหนึ่งขณะ ของแต่ละคน ณ บัดนี้ ไม่มีใครรู้ สะสมอะไรมา ในชาติก่อนๆ กี่ชาติ แม้ในชาตินี้

ขอเชิญคลิกฟังที่นี่ ...

ต้องเห็นโลภะจึงจะละโลภะได้

ต่อเมื่อใด มีเหตุปัจจัย ทำให้อะไรเกิดขึ้น จึงรู้ว่าสะสมมา จะรัก จะชัง มากน้อย อย่างไร ก็ เพราะสะสมมา เพราะ ยังมีอยู่ ถ้ายังไม่ได้เหตุปัจจัย ที่จะเกิด ก็นอนนิ่งสนิท ไม่มีใครรู้เลย

ต่อเมื่อใดเกิด ก็รู้ว่า ยังมีกุศลนั้นๆ เพราะฉะนั้น กุศล มีมากมาย จะดับกุศลไหนก่อน? เห็นไหม? "คิดเอง" ไม่ได้ "คิดเอง" ก็ "ผิด"

เพราะว่า คำถามส่วนใหญ่ จะถามว่า ทำอย่างไร ถึงจะไม่โกรธ? เห็นไหม? สำคัญเหลือเกิน กับโกรธ ไม่อยากโกรธ แต่ ลึกกว่านั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ ก็ต้องโกรธ

ไม่รู้ความจริง ว่า "เป็นธรรมะ" ทั้งนั้นเลย เกิด แล้วก็ ดับ แล้วใครจะไปทำอะไรได้!!!แม้แต่ตัวเอง ก็ยังโกรธ เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่จะโกรธ แล้วจะไม่ให้คนอื่นโกรธ ก็ไม่ได้ ไม่ชอบโกรธ แต่ "โกรธ" ก็ต้องเกิดเพราะมีปัจจัย เพราะ "ความไม่รู้"

(ภาพท่านอาจารย์และคณะฯ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการนครพนมหลังเก่า

และ บ้านลุงโฮจิมินท์ บันทึกภาพโดยพี่แก้วตา เอนกพุฒิ ขออนุโมทนาครับ)

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปหวัง ที่จะดับโกรธ หรือ ไม่ให้โกรธเกิด ถามไปก็เท่านั้น ทำอย่างไร ก็ไม่มีใครมาบันดาลให้ไม่โกรธได้ ใช่ไหม? ก็ได้แต่พูดกันไป พูดกันมา ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่า ไม่รู้จริง

ขอเชิญคลิกฟังที่นี่ ...

รู้คุณของความดี

ด้วยเหตุนี้ กิเลส ดับได้แน่นอน เพราะผู้ที่ดับกิเลสแล้ว มี เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว มี "หนทาง" ที่จะดับกิเลสได้ แน่นอน!!! เมื่อเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

ขอเชิญคลิกฟังที่นี่ ...

ธรรมะกับชาติบ้านเมือง

เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจต่อไปอีกว่า กิเลสมีมากๆ จะดับกิเลสอะไรก่อน? ต้องถูก จึงจะดับได้ ผิด ดับกิเลสไม่ได้เลย ก็ผิดไปอีก เพราะพระธรรม ลึกซึ้ง

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 338

๕. กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)

ว่าด้วยมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง

[๕๐๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า (ผู้มีคุณควรคบ หรือมีคุณควรนับถือ) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท (เมืองขึ้นในแว่นแคว้นโกศล) บรรลุถึงเกสปุตตนิคม (เมืองชื่อเกสปุตตะ) ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งหมู่ชนกาลามโคตร (วงศ์กาลาม) ชาวเกสปุตตนิคมได้ทราบว่า พระสมณโคดม

ศักยบุตร เสด็จออกผนวชจากสักยสกุล เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมแล้ว ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่า ได้ยินอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น ฯลฯ

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ นครพนม

เมืองแห่งความสุขที่แท้จริงในขณะนั้น ที่หลายบุคคล ได้มีโอกาสอันเลิศที่สุดในสังสารวัฏฏ์

ที่ได้ฟังและเข้าใจพระธรรม เพื่อสะสมไว้ เป็นบุญแต่ปางก่อนที่มีค่า และหาได้ยากยิ่ง

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนครพนม,ชมรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนมและผู้ประสานงาน คุณ ยชมา สุขปรุง คุณ ชุติมันต์ พานิชศักดิ์พัฒนา และ พี่ฟองจันทร์ วอลช ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ

ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนครพนม

ชมรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม

และผู้ประสานงาน คุณ ยชมา สุขปรุง คุณ ชุติมันต์ พานิชศักดิ์พัฒนา

และ พี่ฟองจันทร์ วอลช ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ปวีร์
วันที่ 23 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง

พระธรรมขององค์พระศาสดาลึกซึ้งยากที่จะรู้ตามได้

ควรศึกษาด้วยความเคารพ ละเอียดไม่เผินในแต่ละคำ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Thanapolb
วันที่ 23 ธ.ค. 2557

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อนุโมทนาในกุศลจิตและวิริยะของคุณพี่วันชัย และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Boonyavee
วันที่ 23 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลวิริยะ ของคุณวันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่งค่ะ

ไม่เคยไปจังหวัดนครพนม สถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากเลยค่ะ ขอบพระคุณที่นำรูปสวยๆ มาให้ชมนะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kanchana.c
วันที่ 23 ธ.ค. 2557

ขอบคุณและอนุโมทนา เต็มไปด้วยสารธรรมและภาพสวยๆ ่น่าติดตามอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
siraya
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pulit
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wirat.k
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
napachant
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขขต์ ท่ีเคารพยิ่ง

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา ในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม

และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
thilda
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม อย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peem
วันที่ 25 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
เรือนแก้ว
วันที่ 25 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ch.
วันที่ 25 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wannee.s
วันที่ 4 ม.ค. 2558

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chvj
วันที่ 31 ม.ค. 2558

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ