ธรรมกับชาติบ้านเมือง


    อ.ธีรพันธ์ บ้านเมืองไม่พ้นจากธรรม เมื่อบ้านเมืองไม่สงบ ควรจะวางใจอย่างไรจึงจะถูกต้องตรงตามพระธรรม

    ท่านอาจารย์ วางใจคงไม่ได้ นอกจากเข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีปัจจัยที่เกิดขึ้น เป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาธรรมแล้ว ก็รู้ว่า สามารถมีธรรมเป็นที่พึ่ง ก่อนอื่นแต่ละคำต้องเป็นคำที่เราเข้าใจ ไม่ใช่เราพูดเยอะมาก แต่เราก็ไม่รู้ว่า เราพูดถึงอะไร เช่นคำว่า “บ้านเมือง” ก็ต้องรู้ ทุกคนมีบ้าน บ้านหลายๆ หลัง รวมกันเป็นเมือง อย่างที่เราเรียกว่า ประเทศไทย หรือเมืองไทย ในชีวิตประจำวันใครเรียกว่าอะไร เมืองไทย เราไม่ได้พูดว่า ประเทศไทยเป็นอย่างนั้น ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีคน ไม่มีที่ดินที่เราอยู่ ก็จะมีประเทศไทยไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีที่ดินเป็นที่อยู่ ที่เราเรียกว่า ประเทศ แต่เราก็คงไม่ลืมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็คงไม่ใช่คนที่ไม่รู้ความหมายว่า ธง ๓ สีคืออะไร แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า หมายถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ชาติก็คือประชาชนทุกคนที่รวมกัน ถ้าไม่มีประชาชนจะมีชาติได้ไหมคะ และถ้าไม่รวมกัน กระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทางหมด จะเป็นชาติหรือประเทศชาติได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีคนที่อยู่รวมกันแล้ว ถ้าไม่มีธรรม คือ ความชอบธรรม จะอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุขไหมคะ

    เพราะฉะนั้น ศาสนา คำสอน ซึ่งเป็นหลักของชีวิตในเรื่องทำความดี ไม่ทำให้ใครเป็นทุกข์ เพราะส่งเสริมไม่ให้ทำความชั่ว แต่ต้องมีปัญญาที่สามารถรู้ว่า อะไรเป็นความถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญญาสามารถรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะดีไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ความถูกต้องก็คือสิ่งที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน หรือไม่ทำร้าย ไม่ทำลายจึงเป็นความถูกต้อง ถ้าทุกคนมีปัญญา มีความเห็นถูกต้องว่า อะไรเป็นสิ่งที่ถูก และอะไรเป็นสิ่งที่ผิด แล้วไม่หลงผิด แต่ช่วยกันให้เข้าใจถูกต้องขึ้น ก็ย่อมนำมาซึ่งความสงบจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปตามใคร หรือตามคนนั้น ตามคนนี้ แต่หลักก็คือความถูกต้อง ซึ่งกว่าจะรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เราคิดเอง แต่ต้องมีหลักฐาน และมีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ว่า สิ่งนั้นถูกหรือผิด เป็นเรื่องๆ เหมือนกับจิตก็ต้องเป็นแต่ละขณะ ขณะไหนเป็นกุศล ก็เป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าที่ไหน ไม่ต้องถึงบ้านเมือง แค่บ้าน จะมีความสุขได้เพราะอะไรคะ ถ้าทุกคนเป็นอกุศลหมดเลย ทำแต่สิ่งที่ผิดทั้งนั้น บ้านนั้นจะมีความสุขได้ไหม บ้านนั้นอาจจะปรองดองกันดีในความผิด เพราะทุกคนเหมือนกันหมด ไม่มีใครถูกเลยในบ้าน แต่ตามความเป็นจริงอกุศลเบียดเบียนจริงๆ ตั้งแต่เริ่มเกิด เกิดที่ไหน เกิดที่ใจ เบียดเบียนจิตขณะที่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น หลักจริงๆ ก็คือความถูกต้อง ซึ่งเป็นความดี เป็นความเห็นถูก พื้นฐานที่ทุกคนจะอยู่รวมกันได้ด้วยความสงบสุขตลอดไป ก็คือมีความเห็นถูก เข้าใจถูก โดยเฉพาะในชีวิตที่ทุกคนจะต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่เกิดมาแล้วก็ปล่อยไปตามสบาย โลภะกันทั้งนั้น โทสะ โมหะกันทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสามารถทำให้มีความเห็นถูกต้องขึ้น เป็นพื้นของคุณธรรม อันนั้นก็ทำให้ทุกหนทุกแห่งที่มีความดี ก็มีความสงบ จริงๆ แล้วก็ไม่พ้นจากธรรมที่เป็นกุศล

    อ.ธีรพันธ์ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะรู้ถึงความถูกต้องได้ทุกคน จึงไม่สงบ เพราะเห็นไม่ตรงกันหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังว่า ความถูกต้องคืออะไร ไม่ใช่ฉันถูก คนอื่นผิด แต่ต้องถูกคือถูก ผิดคือผิดจริงๆ ความไม่รู้ดีไหม ถูกต้องไหม

    อ.ธีรพันธ์ ไม่ถูกต้องครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ จะถูกได้อย่างไร โลภะ ความติดข้องเกิดขึ้น ถูกต้องไหม เบียดเบียนตนเอง และเบียดเบียนคนอื่น จากทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนสามารถกระทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อเบียดเบียนคนอื่น

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ทุกคนเกิดมา ถ้าไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูกแล้ว แม้ตนเองก็ไม่สงบ

    เพราะฉะนั้น การที่จะหวังให้คนอื่นสงบ รวมๆ กัน ถ้าไม่ช่วยกันให้มีคุณธรรม และเข้าใจถูกต้อง แล้วพยายามด้วยตนเอง และบุคคลอื่นที่จะอยู่ด้วยความถูกต้อง จึงสามารถแก้ทุกปัญหาได้

    อ.ธีรพันธ์ ความถูกต้องคือความถูกต้อง คงไม่ได้หมายความถึงเป็นจำนวนมากหรือน้อย

    ท่านอาจารย์ วัดด้วยจำนวนคนได้ไหมคะ ถ้าเป็นโจรทั้งเมือง ถูกต้องหรือคะ

    อ.ธีรพันธ์ ไม่ถูกต้องครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แต่ละ ๑ ขณะ แล้วแต่ละ ๑ เหตุการณ์ เพราะฉะนั้น ยกเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา ก็กล่าวถึงความจริงของสิ่งนั้น แล้วทุกคนจะต้องเห็นพ้องกันว่า ถูกหรือไม่ถูก ดีหรือไม่ดี ไม่ใช่เหมาๆ รวมกันไปเป็นเรื่องถูกหมด หรือดีหมด แต่ทุกเรื่องต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงในแต่ละเรื่องด้วย ไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใคร ไม่มีคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เรื่องนั้นที่เกิดขึ้น ความจริงคืออะไร และความจริงเป็นอย่างไร เป็นความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ต้องยอมรับตามความเป็นจริง มิฉะนั้นก็จะเป็นผู้หลงผิด ยึดถือความไม่ถูกต้องว่า เป็นความถูกต้อง


    หมายเลข 9863
    19 ก.พ. 2567