ละอยากเพราะเข้าใจ


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพียงจะเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงก็ยากหรือง่าย เดี๋ยวนี้ไม่เคยรู้เรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ปรากฏจริงๆ ว่า มีแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ที่จะเข้าใจอย่างนี้ก็ยังยาก โลภะ รู้จักโลภะหรือยัง ธรรม รู้จักธรรมแค่ไหน เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า อยากให้เข้าใจขึ้นมีจริงๆ หรือเปล่า ความอยาก มีจริง เป็นเราอยาก หรือขณะนั้นเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งติดข้องต้องการ ซึ่งเป็นธรรม ก่อนอื่นให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม เพื่อรู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่รู้มากมายสักเท่าไร ชื่อสักเท่าไร แต่ยังคงเป็นเรารู้ ก็คือไม่ได้เข้าใจธรรมเลย

    เพราะฉะนั้น ฟังธรรม รู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ของใคร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ต้องเข้าใจมั่นคงขึ้น ขณะใดก็ตามที่เกิดมีความอยาก อยากมีจริง ไม่ใช่ต้องไม่อยาก อย่าอยาก บอกให้ไม่อยาก อย่างนั้นไม่ใช่เลย แต่ว่าอยากเกิดแล้วเป็นอยาก เข้าใจไหมว่า ขณะนั้นมีจริงๆ และเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ก่อนอื่นยังไม่ต้องไปรู้เรื่องมากมายในพระไตรปิฎก อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดอะไร เพียงแค่รู้ว่า สิ่งที่มีจริงมีจริงชั่วคราวแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่า เป็นธรรม ยังไม่ต้องไปถึงอะไรทั้งสิ้น แค่เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา ลักษณะของความติดข้องเป็นอย่างนี้ ก็จะรู้จักโลภะตัวจริง ไม่ใช่ชื่อโลภะ อะไรก็ไม่รู้ แล้วก็เรียกชื่อโลภะแต่โลภะคือขณะใดที่มีความต้องการ ความติดข้อง มีความเพลิดเพลินมีความยินดี นั่นเป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ลืมว่า มีจริงๆ เกิดแล้วดับแล้ว อยากไปหมด เว้นนิพพาน เพราะว่าถ้าอยากนิพพาน หมายความว่า ไม่รู้จักนิพพานจึงอยาก

    นี่กว่าจะรู้ความจริง แม้ความอยาก อยากไปหมดจริงๆ ในขณะที่ถามอย่างนี้ก็ยังอยากเห็น แล้วอยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากคิดนึก อยากรู้โน่น อยากรู้นี่ รวมทั้งอยากเข้าใจธรรม

    อ.กุลวิไล โลภะที่อยากฟังธรรมให้เข้าใจ และเมื่อฟังแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้น แบบนี้เป็นปัจจัยที่ว่า อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลหรือไม่ครับ

    ท่านอาจารย์ ถามอย่างนี้ อยากหรือเปล่าคะ หรือว่าเข้าใจ ความต่างกัน คือ เข้าใจไม่ใช่อยาก เป็นความเข้าใจจริงๆ แต่เวลาอยาก ขณะนั้นไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น อยากฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น ต่างกันแล้วใช่ไหมคะ อยากคือตัวอยาก แต่อยากอย่างไร จะฟังธรรมให้เข้าใจนี่เป็นไปไม่ได้เลย แต่เข้าใจ คือ ขณะนั้นไม่ได้อยาก ละความอยากเพราะเข้าใจ เช่น ละความติดข้องว่าเป็นเรา เพราะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ละความอยากว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พอใจ เพราะรู้ว่า สิ่งนั้นเพียงปรากฏแล้วหมดไป กว่าจะละได้

    เพราะฉะนั้น การละด้วยความรู้ ไม่ใช่ด้วยความอยาก ขณะที่ไม่รู้ก็ปะปน และเกิดความสงสัย พอสงสัยแล้วก็ไม่พ้นอยาก แล้วก็มีอยากไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น อริยสัจจะที่ ๒ คือ ละสมุทัย คือความอยาก แต่ยังอยากอยู่อย่างนี้ อยากเข้าใจ เป็นอย่างไรคะ อยากก็ยังเป็นอยาก เพราะไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น เข้าใจกับไม่เข้าใจก็ต่างกัน


    หมายเลข 9889
    19 ก.พ. 2567