ความยึดมั่นสี่อย่าง


    อุปาทาน คือ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก คือ โลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง แล้วก็ติดข้องมากด้วย ไม่ยอมปล่อยแล้วละทิ้งเลย มี ๔ อย่าง

    กามุปาทาน อุปาทานยึดมั่นในกาม กาม คือ รูปที่ปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้ เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ธาตุ ๓ ธาตุที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว วันนี้มีหรือเปล่า ก็มี แต่ก็ไม่รู้จัก แต่อยากเรียกชื่อ บางท่านอาจสงสัยว่า แล้วตอนไหนเป็นโลภะ แล้วตอนไหนเป็นอุปาทาน ถึงอย่างนั้นโดยที่ยังไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นความติดข้องแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ใช่เพียงรู้คำแปล รู้ความหมาย และจำชื่อ แต่ต้องรู้ว่า จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เช่น ความติดข้องในรูป ต้องบอกไหมว่า ทุกคนติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มากหรือน้อย ใครรู้ ตัวเองตามการสะสม แล้วไม่ใช่เพียงติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังมีมากกว่านี้อีก คือติดข้องในความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แค่นี้ก็รู้แล้วใช่ไหมคะ ทิฏฐิปาทาน ทิฏฐิ คือ ความเห็น ถ้าเป็นความเห็นถูกก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นผิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้ากล่าวถึงอกุศล และพูดคำเดียวว่า ทิฏฐิ ต้องหมายความว่า อกุศล ไม่ใช่กุศล

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็หมายความว่า สามารถเข้าใจว่า ขณะนั้นกำลังพูดเรื่องอะไร แม้จะกล่าวคำสั้นๆ แต่ก็รู้ว่า หมายความถึงอะไร ขณะนี้มีทิฏฐุปาทานไหมคะ หรือคนอื่นมี แต่เราไม่มี และเมื่อไรที่เป็นทิฏฐุปาทาน เมื่อเห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่ละลักษณะที่มีจริง เกิดแล้วดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก นี่คือความจริง

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เห็นอย่างนี้ แล้วยังคงยึดมั่นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐุปาทาน แต่ทิฏฐุปาทานหลากหลายมาก เห็นว่า ตายแล้วสูญ เห็นว่าตายแล้วไปที่หนึ่งที่ใดที่เที่ยง ไม่มีการตายหรือเกิดอีกต่อไป มีหลากหลายมาก แต่ก็เป็นทิฏฐุปาทาน แต่ส่วนใดที่ยึดถือในความเป็นตน อันนั้นเป็นอัตวาฐุปาทาน ไม่มีทิฏฐุปาทานว่า ตายแล้วสูญ รู้ว่า เมื่อตายแล้วก็เกิดอีก เมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ต้องเกิด ขณะนั้นไม่มีทิฏฐุปาทานในความเห็นว่าตายแล้วสูญ แต่ยังมีอัตวาฐุปาทาน ยังเป็นเราที่เห็นอย่างนั้น ที่ยังไม่ได้ดับการเห็นผิดว่า ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการยึดมั่นทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นี่แน่นอนที่สุด ยังมีแน่นอน แต่ความเห็นก็แล้วแต่จะยึดมั่นในความเห็นผิดประการใดบ้าง แต่ที่ยังไม่ได้ดับจนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน คือ อัตวาฐุปาทาน ยังคงยึดถือสิ่งที่ปรากฏสืบต่อ แต่ไม่ปรากฏการเกิดดับว่า สิ่งนั้นเที่ยง แล้วก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดอุปาทานอีกหนึ่ง คือสีลัพพตุปาทาน การประพฤติปฏิบัติยึดมั่นในหนทางผิดว่า เป็นหนทางถูก อันนี้ก็จะเห็นได้ว่ามีมากไหมคะ มีเยอะมาก ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย แต่ก็เชื่อ เพราะฉะนั้น สีลัพพตุปาทานจะดับหมดสิ้นเมื่อถึงโสดาปัตติมรรค ไม่เกิดอีกเลย เพราะไม่มีความเห็นผิด


    หมายเลข 9891
    19 ก.พ. 2567