ผู้ไม่ตั้งอยู่ในสังวรเป็นผู้มักมากในปัจจัย ๔ [มหาวิภังค์]

 
เมตตา
วันที่  21 พ.ย. 2557
หมายเลข  25819
อ่าน  1,643

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๓๔

ผู้ไม่ตั้งอยู่ในสังวรเป็นผู้มักมากในปัจจัย

หลายบทว่า ทุพฺภรตายฯ เปฯ โกสชฺชสฺสอวณฺณํภาสิตฺวา มีความว่า ตรัสโทษ คือข้อที่น่าตำหนิ ได้แก่ข้อที่น่าติเตียนแห่งอสังวรซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเสียหาย มีความเป็นผู้เลี้ยงยากเป็นต้น จริงอยู่ ตนของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความไม่สำรวม ย่อมถึงความเป็นสภาพที่เลี้ยงยากและบำรุงยาก เพราะเหตุนั้น อสังวร ท่านจึงเรียกว่า ความเป็นผู้เลี้ยงยาก และความเป็นผู้บำรุงยาก

อนึ่ง ตนของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความไม่สำรวม ย่อมถึงความเป็นผู้มักมากในปัจจัย ๔ และได้ปัจจัยทั้งหลาย แม้มีประมาณเท่าเขาสิเนรุแล้ว ก็ยังถึงความเป็นผู้ไม่สันโดษ เพราะเหตุนั้น อสังวรท่านจึงเรียกว่า ความเป็นผู้มักมาก และความเป็นผู้ไม่สันโดษ

อนึ่ง ตนของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความไม่สำรวม ย่อมเป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ และเพื่อความหมักหมมด้วยกิเลส ทั้งย่อมเป็นสภาพเป็นไปตามความเกียจคร้าน คือเป็นไปเพื่อยังวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านแปดอย่างให้บริบูรณ์ * เพราะเหตุนั้น อสังวร ท่านจึงเรียกว่า ความคลุกคลีและความเกียจคร้าน

ผู้ตั้งอยู่ในสังวรไม่เป็นผู้มักมากในปัจจัย

หลายบทว่า สุภรตายฯ เปฯ วิริยารมฺภสฺสวณฺณํภาสิตฺวา มีความว่า ทรงสรรเสริญคุณแห่งสังวร อันเป็นที่ตั้งแห่งคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นต้น จริงอยู่ ตนของบุคคลผู้ละอสังวรแล้วตั้งอยู่ในสังวร ย่อมเป็นสภาพที่เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย ย่อมถึงความเป็นผู้มักน้อย คือหมดความทะยานอยากในปัจจัย ๔ และย่อมเป็นไปเพื่อความสันโดษ ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ และยถาสารุปสันโดษในปัจจัยอย่างหนึ่งๆ เพราะเหตุนั้น สังวร ท่านจึงเรียกว่า ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย ความเป็นผู้บำรุงง่าย ความมักน้อย และ ความสันโดษ

อนึ่ง ตนของบุคคลผู้ละอสังวร ตั้งอยู่ในสังวร ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้ขัดเกลากิเลส และความเป็นผู้กำจัดกิเลสออก เพราะเหตุนั้น สังวรท่านจึงเรียกว่า ความขัดเกลา และความกำจัด

อนึ่ง ตนของบุคคลผู้ละอสังวร แล้วตั้งอยู่ในสังวร ไม่เข้าไปใกล้กายทุจริตและวจีทุจริต ซึ่งไม่ชวนให้เกิดความเลื่อมใส คือไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ไม่สงบ ไม่เรียบร้อยแห่งกายและวาจา และไม่เข้าไปใกล้อกุศลวิตก ๓ ซึ่งไม่ชวนจิตให้เกิดความผ่องใสคือ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความผ่องใสแห่งจิต ไม่สงบ ไม่เรียบร้อย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริบูรณ์แห่งกายสุจริต วจีสุจริต และกุศลวิตก ๓ ซึ่งผิดแผกจากนั้นนั่นแล ที่ชวนให้เกิดความเลื่อมใส คือเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส สงบ เรียบร้อย เพราะเหตุนั้น สังวร ท่านจึงเรียกว่า ความเป็นอาการให้เกิดความเลื่อมใส


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ