ความถึงพร้อมด้วยขณะ

 
hankout
วันที่  3 พ.ย. 2557
หมายเลข  25720
อ่าน  2,169

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 150

ความเป็นมนุษย์ หาได้ยาก

ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า หาได้ยาก

ความถึงพร้อมด้วยขณะ หาได้ยาก

พระสัทธรรม หาได้ยากอย่างยิ่ง

ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา หาได้ยาก

การบวช หาได้ยาก

การฟังพระสัทธรรม หาได้ยาก

1. ไม่ทราบว่า ความถึงพร้อมด้วยขณะ คำว่า "ขณะ" ในที่นี้หมายถึงอะไร?

2.พระสัทธรรม หาได้ยากอย่างยิ่ง ทำไมถึงมีคำว่า "อย่างยิ่ง" เพิ่มเข้ามา ซึ่งต่างจากข้ออื่นๆ ที่ใช้คำว่า "หาได้ยาก" เท่านั้น มีเนื้อความพิเศษในคำนี้หรือไม่อย่างไร?

อนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การถึงพร้อมด้วยขณะก็ต้องพิจารณาคำว่าขณะให้เข้าใจ ขณะ ก็คือชั่วระยะเวลาที่จิตเกิดขึ้นเป็นไป ชื่อว่า ขณะ หรือ จะเรียกอย่างไพเราะก็ได้ว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง ก็คือ ขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งจิตเมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเจตสิก ก็มีทั้งเจตสิกที่ดีและไม่ดี ขณะใดที่เจตสิกที่ดีเกิดขึ้น จิตนั้นก็ดีไปด้วย

เพราะฉะนั้น การถึงพร้อมด้วยขณะ ที่ประเสริฐ คือ ขณะจิตที่ดีเกิดขึ้นในขณะนั้นมีความถึงพร้อม คือ เจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย จึงเป็นการถึงพร้อมด้วยขณะที่ประเสริฐ ที่นำมาซึ่งความดีและให้ผลดีในขณะและขณะต่อๆ ไปด้วย ครับ การถึงพร้อมด้วยขณะ จึงมีหลายระดับ ตามระดับของกุศล ถ้าเป็นขณะนี้ที่เข้าใจความจริงของสภาพธรรม ก็เป็นขณะที่ประเสริฐมากๆ เพราะ ได้ประจักษ์ความจริง เพื่อไถ่ถอนความไม่รู้และความเห็นผิด จึงเป็นการถึงพร้อมด้วยขณะที่จิต ที่ถึงพร้อมด้วยสติและปัญญาในขณะนั้น ครับ และ การถึงพร้อมด้วยขณะอีกนัยหนึ่ง คือ การได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้ฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรม ก็ชื่อว่าเป็นการถึงพร้อมด้วยขณะที่ประเสริฐ ครับ พระสัทธรรมหาได้ยากยิ่ง เพราะ พระธรรมที่เป็นสัจจะความจริง หาได้ยากยิ่ง เพราะจะต้องมีการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น และทรงแสดง ไม่มีใครที่จะแสดงได้ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่นานแสนนานจึงจะมีพระสัทธรรม แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้นก็ไม่สามารถแสดงพระสัทธรรมได้ครับ

เมื่อได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดจะรู้ว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยากมากครับ เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ได้มีโอกาสพบพระธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นสิ่งที่ยากมากเข้าไปอีก และเมื่อได้พบพระธรรมแล้ว เป็นผู้สนใจในหนทางที่ถูกต้องและมีศรัทธาในพระธรรมที่ถูกต้องยิ่งยากขึ้นไปกว่านั้น แต่ขณะนี้ก็ถึงพร้อมแล้วในสิ่งที่กล่าวมา พระพุทธองค์ตรัสว่า ขณะอย่าล่วงเลยพวกท่านไปเสีย เพราะบุคคลที่ล่วงเลยขณะไป ย่อมพากันยัดเยียดกันในนรกครับ ดังนั้น ขณะอย่าล่วงเลยไป คือ ขณะที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและขณะที่ปัญญาเจริญขึ้นนั่นเองครับ

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 453

ข้อความบางตอนจาก ..

อักขณสูตร

ชนเป็นอันมาก กล่าว เวลาที่เสียไปว่า กระทำอันตรายแก่ตน พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกาลบางครั้งบางคราว การที่พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก๑ การได้กำเนิดเป็นมนุษย์๑ การแสดงสัทธรรม๑ ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก ชนผู้ใคร่ประโยชน์ จึงควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้จะเข้าใจสัทธรรมได้ ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปพากันยัดเยียดในนรก ก็ย่อมเศร้าโศก

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
hankout
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงกาลมิใช่ขณะจะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ แก่ภิกษุทั้งหลาย รวม ๘ ประการ ดังนี้ คือ

๑. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้เกิดเป็นสัตว์นรก

๒. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

๓. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้เกิดเป็นเปรต

๔. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้เกิดในหมู่เทพที่มีอายุยืนนาน (อสัญญีสัตว์)

๕. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้เกิดในปัจจันตชนบท โง่เขลา และอยู่ในที่อันไม่มีบริษัท ๔

๖. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม บุคคลผู้นี้ถึงจะเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เป็นคนมีความเห็นผิด

๗. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม บุคคลผู้นี้ถึงจะเกิดในมัชฌิมชนบท แต่ไม่มีปัญญา เป็นคนโง่เขลา

๘. บุคคลผู้นี้ เกิดในมัชฌิมชนบท มีปัญญา เป็นคนไม่โง่เขลา แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก และไม่ได้ทรงแสดงพระสัทธรรม

และทรงแสดงต่อไปว่า ขณะที่สมควรอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ มีประการเดียว คือ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม พร้อมกันนั้น บุคคลผู้นี้ได้เกิดในมัชฌิมชนบท เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา สามารถรู้เนื้อความแห่งคำสุภาษิตและทุพภาษิตได้

ขณะที่มีค่ายิ่งในชีวิต คือขณะที่เป็นกุศล โดยเฉพาะขณะที่เข้าใจพระธรรม ซึ่งเป็นความจริงที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง ชื่อว่า เป็นขณะเวลาที่ประเสริฐที่สุด บัดนี้ยังเป็นกาลสมัยที่มีคำสอนทางพระพุทธศาสนา ยังมีการแสดงพระสัทธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของผู้สงบ อันจะทำให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลสด้วย และความเป็นมนุษย์ แต่ละบุคคลก็ได้แล้ว ซึ่งเป็นการได้ที่ได้ยากอย่างยิ่ง ขณะเวลาเหล่านี้ที่ได้แล้ว ก็อย่าได้ล่วงเลยท่านไปเลย ไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจไปตามลำดับ เพราะหนทางนี้เป็นหนทางที่ละทั้งหมด ได้แก่ ละกิเลส และละความไม่รู้ทั้งหมด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขณะที่หาได้ยากคือขณะที่ฟังธรรมแล้วใจค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
tanrat
วันที่ 4 พ.ย. 2557

กราบอนุโมทนาค่ะท่านอาจารย์ สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
vepulla
วันที่ 27 ก.พ. 2563

สวัสดีครับทุกท่าน ผมเป็นคนเวียดนามครับ ขอให้ทุกท่านช่วยหน่อยครับ ผมอ่านหนังสือไทยเล่มหนึ่ง มีคำศัพท์ ๓ คำคือ อุปัฏฐานสมังคิตา กรรมสมังคิตา และวิปากสมังคิตา

ขอให้ทุกท่านช่วย ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 12 มี.ค. 2563
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 9 โดย vepulla ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 9 ครับ

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ สำหรับคำที่กล่าวถึงในคำถาม นั้น ดังนี้

อุปัฏฐานสมังคิตา หมายถึง ความพรั่งพร้อมด้วยอาการปรากฏ กล่าวคือ ใกล้ตาย จะไปเกิดในภพภูมิใด มีอารมณ์ปรากฏอันเป็นเครื่องหมายว่าจะไปเกิด ณ ภพภูมิใด เช่น ถ้าจะไปเกิดในนรก ก็เห็นเปลวไฟนรก เป็นต้น

กรรมสมังคิตา หมายถึง ความพรั่งพร้อมด้วยกรรมอันตนสั่งสมไว้แล้ว ควรแก่การให้เกิดผลต่อไป

วิปากสมังคิตา หมายถึง ความพรั่งพร้อมด้วยวิบาก คือ ในขณะได้รับผลของกรรม

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมจากข้อความในพระไตรปิฎกได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ความพรั่งพร้อม ๕ อย่าง : สมังคิตา [พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์]

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ