กฎ แปลว่า ดัน

 
ขันข้าว
วันที่  3 ต.ค. 2557
หมายเลข  25592
อ่าน  1,147

อยากทราบว่า ในคำว่า กฎแห่งกรรม

กฎ ในที่นี้ มีความหมายอีกอย่าง แปลว่า ดัน หรือเปล่าคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กฎ หมายถึง ข้อกำหนด ตกลง และ หลักการที่มีเหตุและผล กรรม ก็แยกเป็น ตัวกรรมและผลของกรรม ความเป็นจริงของสภาพธรรม เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับในเรื่องของกรรม และผลของกรรม ก็เป็นธรรม กรรมเป็นเหตุ ซึ่งมีทั้งเหตุที่ดี และเหตุที่ไม่ดี เมื่อเหตุต่างกัน ผลก็ต้องต่างกัน จะเหมือนกันไม่ได้ เหตุดีย่อมให้ผลที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นเหตุไม่ดี ผลก็ย่อมเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย ผลของกรรมมีทั้งนามธรรม (วิบากจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และรูปธรรม (รูปที่เกิดจากกรรม เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น) โดยไม่มีใครจัดสรร แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรม จึงหมายถึง ข้อกำหนด หลักการที่มีเหตุผลในเรื่องกรรมและผลของกรรม ครับ

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่พ้นไปจากธรรมเลย ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันด้วย ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเองไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น

ดังนั้น จะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความเข้าใจถูกในเรื่องกรรมและผลของกรรม จะเกื้อกูลให้เว้นจากอกุศลกรรม แล้วเพิ่มพูนหรือกระทำกุศลกรรม ซึ่งเป็นคุณความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่168

ยาทิส วปเต พีช ตาทิส ลภเต ผล

กลฺยาณการี กลฺยาณ ปาปการี ปาปก

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คน

ทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่ว

ย่อมได้ผลชั่ว.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้นเป็นความจริง เป็นสัจจธรรมที่ทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของตนเอง ธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร สำหรับเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียด ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละบุคคลย่อมมีกุศลกรรม อกุศลกรรม ตามการสะสม และมีการได้รับผลของกรรมด้วย เมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะมีความเข้าใจว่าเจตนาเป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่สะสมอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ กรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อได้โอกาสที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น ผลก็เกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ เริ่มตั้งแต่จิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ (ปฏิสนธิจิต) ก็เป็นผลของกรรม ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเกิดในนรกอย่างเช่นพระเทวทัต เป็นต้น ย่อมเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย แต่ต้องเป็นไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ นอกจากนั้นแล้วขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ล้วนเป็นผลของกรรม ที่ได้กระทำแล้วทั้งนั้น

เมื่อได้ศึกษาอย่างนี้แล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน ไม่ละเลยโอกาสของการทำความดี แม้ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ในทางตรงกันข้าม อกุศล ซึ่งเป็นความชั่วทั้งหลาย ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น ควรถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ประการที่สำคัญต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมเจริญขึ้นและทำให้อกุศลเสื่อมลงได้ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 3 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 3 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 3 ต.ค. 2557

ขั้นการฟัง ต้องเข้าใจว่าไม่มีคน สัตว์ บุคคลที่จะไปทำอะไรทั้งนั้น ต่อมาเหตุเช่นไร ผลก็จะเป็นเช่นนั้น เจริญกุศลหรือกระทำดีทุกประการ ในบุญยกริยาวัตถุสิบ คือ ทาน ปกติศีล ความสงบของจิตที่ไม่เป็นอกุศล ระลึกสภาพธรรมะบ่อยๆ เนืองๆ แทนที่จะไปคิดเรื่องอื่น การเป็นผู้นอบน้อมแด่ผู้ควรนอบน้อม การอนุเคราะห์แด่ผู้ควรอนุเคราะห์ ขณะนั้นๆ การอุทิศความดีให้แก่ผู้ที่ล่วงรู้ได้ การอนุโมทนาแก่ผู้ที่ทำความดี (ชื่นชมยินดี) การฟังธรรมบ่อยๆ เพราะคิดเองไม่ได้ การสนทนาธรรมตามกาล การระลึกสติในสภาพธรรมะที่ปรากฏในขณะนั้น เช่นกำลังสนทนากับเพื่อนร่วมงาน ไปดูหนังกับเพื่อน ระลึกสติได้ทุกเมื่อไม่มีอะไรห้าม สติจะเกิดหรือเปล่าเท่านั้นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Dechachot
วันที่ 6 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ