อยากสอบถามเรื่องสัมมาอาชีพครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  10 ก.ค. 2557
หมายเลข  25078
อ่าน  1,755

อยากสอบถามว่า หลักการของสัมมาอาชีวะ คืออะไรครับ แล้วอาชีพ เพชรฆาต ทำให้เกิดการฆ่า นักร้องนักแสดง นักกายกรรม ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ที่ทำให้เกิดโลภะ กิเลสมาก อาชีพแบบนี้ถือว่าเป็นสัมมาอาชีวะไหมครับ แล้วอาชีพเหล่านี้เป็นบาป ครบองค์ธรรมไหมครับ

ขอบคุณที่ชี้แนะครับ อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น เกื้อกูล อุปการะกันและกันครับ ซึ่งสำหรับคำถามที่ถามนั้น เป็นนัยของการอธิบาย อริยมรรค มีองค์ 8 ที่เกื้อกูลอุปการะกันและกันในแต่ละข้อครับ ซึ่ง อริยมรรคมีองค์ 8 มีดังนี้ครับ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิซึ่ง ธรรมแต่ละข้อ เกื้อกูลอุปการะกัน ดังนี้เพราะมี สัมมาทิฏฐิ ปัญญา ที่เป็นความเห็นถูก เพราะมีความเห็นถูก ทำให้คิดถูกต้อง คือ ทำให้มีสัมมาสังกัปปะที่บริบูรณ์ คือ ความคิดที่ชอบที่ถูกต้อง อันอาศัย ความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ และอาศัยความคิดที่ถูก สัมมาสังกัปปะ ก็ทำให้ วาจาที่พูดก็ถูกต้อง เพราะถ้าคิดผิด คิดด้วย อกุศล วาจาก็ไม่ถูกต้อง วาจาไม่ชอบ วาจาเป็นทุจริตครับ เพราะฉะนั้น อาศัย สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ ก็ทำให้มีวาจาชอบ และเพราะอาศัยวาจาชอบ การกระทำทางกาย ที่เป็นกายสุจริต ก็ย่อมน้อมไปตามวาจาที่ถูกต้องด้วยครับ สัมมาวาจา จึงเป็นปัจจัย อุปการะแก่สัมมากัมมันตะ และต่อไป คือ สัมมาอาชีวะ การกระทำการงานที่ชอบ คือ ไม่กระทำการงานที่ไม่ดี งดเว้นจากการงานที่ไม่ดี เช่น งดเว้นจากอาชีพที่ไม่ควรประกอบ เป็นต้น ขณะนั้น เป็นสัมมาอาชีวะ เพราะงดเว้นจาก กายทุจริตและวจีทุจริต งดเว้นจากวาจาที่ไม่ดี การกระทำทางกายที่ไม่ดี คือ มีสัมมาวาจา และสัมมกัมมันตะ ย่อมทำให้ถึง สัมมาอาชีวะ ที่บริบูรณ์ เพราะ สัมมาอาชีวะในที่นี้ พระไตรปิฎก อธิบาย ถึง สัมมาอาชีวะ ที่เป็น อาชีวัฏฐมกศีล คือ ศีลมีอาชีพเป็นที่ ๘ คือ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ ๓. เว้นจากการพูดเท็จ ๔. เว้นจากการพูดส่อเสียด ๕. เว้นจากการพูดคำหยาบ ๖. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๗. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๘. เว้นจากอาชีพที่ผิด

จะเห็นนะครับว่า จะถึงความบริบูรณ์แห่ง สัมมาอาชีวะ ที่เป็นอาชีวัฏฐมกศีล คือศีลมีอาชีพเป็นที่ ๘ ก็ต้องงดเว้นจากการกระทำทางกายและวาจาที่ไม่ดีก่อนครับ และงดเว้นจากอาชีพที่ไม่ดี เป็น สัมมาอาชีวะ เพราะอาศัยการงดเว้น กาย วาจาที่ไดี ทุจริต ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่ง สัมมาอาชีวะ โดยนัยนี้ครับ

อีกนัยหนึ่ง สัมมาอาชีวะก็คือ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต เช่น ขณะที่งดเว้นในการประกอบอาชีพที่ไม่ดี ซึ่ง อาชีพที่ไม่ดี ก็ต้องเนื่องด้วยกายและวาจา ขณะที่ไม่ฆ่าสัตว์อันเนื่องด้วยอาชีพ ก็เป็นผู้งดเว้นจากกายทุจริต มีการฆ่าสัตว์ในขณะนั้น และมาประกอบอาชีพที่สุจริต งดเว้น จากวาจาที่โกหก เช่น เป็นแม่ค้า แต่งดเว้นที่จะโกหก อันเป็นไปเพื่อประกอบอาชีพสุจริต ก็งดเว้น วาจาที่ไม่ดี และดำรงอยู่ในสัมมาอาชีะ ครับ ดังนั้น ถ้ากายทุจริต วาจาทุจริตอยู่ ย่อมไม่ถึง ความเป็นสัมมาอาชีวะที่บริบูรณ์ได้ แต่เพราะงดเว้นกายวาจาที่ไม่ดี ย่อมถึง สัมมาอาชีวะได้ ตามเหตุผล 2 ข้อข้างต้นที่กล่าวมาครับ เพราะฉะนั้นอาชีพที่เกี่ยวกับการทำอกุศลกรรมบถ เข่น ฆ่าสัตว์ มีเพชรฆาต เป็นต้น ก็ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ แต่ถ้านักแสดง แม่ค้าที่ไม่ได้ทำอกุศลกรรมบถ ก็เป็นสัมมาอาชีวะ ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 463

อนึ่ง เพราะชนทั้งหลายจัดแจงการงานด้วยวาจาก่อนว่า เราจักทำสิ่งนี้ๆ แล้วจึงประกอบการงานในโลก ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมากัมมันตะไว้ในลำดับของสัมมาวาจา เพราะวาจาเป็นอุปการะแก่การทำงานทางกาย.

ก็เพราะอาชีวมัฏฐมกศีล - ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ ย่อมบริบูรณ์แก่ผู้ละวจีทุจริต ๔ อย่าง กายทุจริต ๓ อย่าง แล้วบำเพ็ญสุจริตทั้งสองไม่บริบูรณ์แก่ผู้บำเพ็ญนอกไปจากนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาอาชีวะไว้ในลำดับต่อจากทั้งสองนั้น.

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตครับ......

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สืบต่อพุทธ
วันที่ 10 ก.ค. 2557

อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุครับอาจารย์

แล้วอาชีพที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีกิเลส เช่น นักร้อง นักแสดง ช่างผม ช่างแต่งหน้า จะทำให้ไปลงอบายไหมครับ

ขบอคุณครับ อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุครับอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ตามความเป็นจริงแล้ว เหตุที่จะทำให้เป็นเกิดในอบายภูมิ คือ อะไร ก็ต้องเป็นการประกอบอกุศลกรรม เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ถ้านักร้อง นักแสดง ช่างผม หรือ ไม่ใช่บุคคลเหล่านี้เลย แต่ได้กระทำอกุศลกรรม กรรมที่ได้กระทำแล้ว สะสมสืบต่ออยู่ในจิต เมื่อได้เหตุปัจจัย ก็ทำให้ผลเกิดขึ้นได้ โดยเป็นผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยส่วนเดียวเท่านั้น สามารถนำเกิดในอบายภูมิ

เพราะฉะนั้น แล้ว สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขออย่าได้กระทำอกุศลกรรม และขอให้เพิ่มพูนคุณความดีในชีวิตประจำวัน ไม่ละเลยโอกาสที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น โดยเฉพาะความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2557

เรียนสนทนาในความเห็นที่ 2 เพิ่มเติมครับ

อาชีพนักแสดงส่งเสริมกิเลสที่กล่าวก็น่าพิจารณา การที่นักแสดงนั้นจะตกนรก ก็ต้องมั่นคงในเรื่องของ กรรมบถ คือนักแสดงนั้นก็ต้องพูดเท็จ หรือแม้พูดจริง แต่เจตนาเป็นอย่างไร พูดจริงประกอบด้วยโทสมูลจิตก็ได้ ล่วงออกมาเป็นผรุสวาจา หรือเป็นการพูดเพ้อเจ้อก็ได้ ซึ่งเป็นการหักรานประโยชน์ผู้อื่น หักรานประโยชน์อย่างไรคือแทนที่เขาจะได้ไปฟังธัมมะ หรือประกอบอาชีพ เขาก็เสียประโยชน์เพราะเหตุต้องมาดูการละเล่นของนักแสดง อันมีเจตนาหักรานประโยชน์เขาซึ่งเป็นการครบองค์ของกรรมบถ ย่อมทำให้ไปนรกหรืออบายได้ครับ ดังนั้น ที่สำคัญต้องพิจารณาที่เจตนาเป็นสำคัญ

แม้ไม่ใช่นักแสดง ชีวิตประจำวันทั่วไป เราพูด หรือกระทำทางกายอย่างไร ขึ้นอยู่กับเจตนา เช่นกัน ว่าเป็นไปในทางกุศลหรืออกุศล เจตนาเป็นสำคัญครับแต่จะต้องพิจารณาว่าถึงเป็นการทำอกุศลกรรม ที่เป็นไปทางกาย และวาจา ทั้งยังทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์ด้วยการเพิ่มอกุศลของเขาด้วย จึงครบกรรมบถ ดังที่ได้กล่าวมาในข้อ การพูดเพ้อเจ้อครับ

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกให้พิจารณา ว่าเจตนาเป็นสำคัญ แม้จะทำให้ผู้อื่นหัวเราะก็ตาม ลองพิจารณาดูนะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่....โสณนันทชาดก [ขุททกนิกาย]

ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมา ที่ทำให้บิดา มารดา หัวเราะ แจ่มใส ดูคล้ายๆ กับนักแสดงที่ทำให้คนดู หัวเราะเหมือนกัน แต่ที่สำคัญต่างกันที่เจตนา และจิตของผู้พูด ซึ่งมีกำกับไว้ แล้วว่าเป็น ปิยวาจา (วาจาอ่อนหวาน) เป็นกุศล เพราะเจตนาเป็นกุศล มีความหวังดีในมารดา บิดา ดังนั้น เจตนา จึงเป็นสิ่งสำคัญครับ ว่าเป็นไปทางกุศลหรืออกุศล

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 10 ก.ค. 2557

ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 11 ก.ค. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สืบต่อพุทธ
วันที่ 11 ก.ค. 2557

ขอบคุณครับ และอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ