การสะสมของจิตและเจตสิก

 
thilda
วันที่  3 ก.ค. 2557
หมายเลข  25050
อ่าน  1,506

รบกวนสอบถามค่ะ จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นสะสมสืบต่อมาในจิตแต่ละขณะ ไม่ทราบว่าสะสมอย่างไรค่ะ เพราะจิตที่เกิดดับติดต่อกันก็ประกอบด้วยเจตสิกต่างกันได้ หรือสะสมผ่านทางเจตสิก 7 ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวงหรือเปล่าคะ หรือสะสมผ่านทางจิตเองคะ แต่จิตก็มี 4 ชาติ แล้วจะสะสมผ่านกันอย่างไร รบกวนอาจารย์ด้วยนะคะ ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านมากๆ ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่สะสม มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่เป็นจิต ซึ่งสะสมสืบต่อกันไปทุกขณะ สะสมเป็นวาสนา อุปนิสัย และ สะสมเป็นอนุสัยกิเลส นอนเนื่องในจิตในขณะจิตต่อไป และ สะสม อาสยะ อุปนิสัยที่ดี ในจิตขณะต่อๆ ไป ครับ

เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นต้น ตามปกติ จะไม่รู้ว่าขณะที่เห็นหรือได้ยินนั้นเป็นลักษณะของจิต แต่มักจะรู้ว่าขณะใดจิตใจเป็นทุกข์ เศร้าหมองขุ่นมัว ขณะใดจิตใจสบาย แจ่มใส ขณะใดโกรธ ขณะใดเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะใดเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น จิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนั้น...ก็สั่งสมสันดานของตน คือ ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล แต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น...เป็นปัจจัยสะสมสืบต่อในจิตดวง (ขณะ) ต่อๆ ไป เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับไป การดับไปของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที ฉะนั้น จิตดวงที่เกิดต่อจึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนสะสมไว้แล้วสืบต่อไปในจิตดวงหลังๆ ที่เกิดต่อๆ ไปอีกเรื่อยๆ

ซึ่งขอยกคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่ได้อธิบายในประเด็นนี้ได้อย่างละเอียด ชัดเจน ครับ

มธุรส อาจารย์ใช้คำว่า “สั่งสมสันดาน” คำว่า “สันดาน” หมายความว่าอะไรคะ

สุ. อันนี้คุณสุภีร์ช่วยอธิบาย

สุภีร์ สันดานคือการสืบต่อ ภาษาบาลี คือ สันตาน แปลว่า การสืบต่อ

มธุรส คำว่า สันตาน ต้องเป็นเรื่องของจิตอย่างเดียว จะเป็นรูปได้หรือเปล่าคะ เพราะการสืบต่อก็มีรูปด้วย

สุภีร์ ก็มีทั้งนามทั้งรูป ถ้าเป็นขันธสันตาน ก็คือการสืบต่อของขันธ์ ถ้าเป็นจิตสันตานก็เป็นการสืบต่อของจิต ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ของขันธ์ทั้งหลาย เรียกว่า สันตาน ถ้าเป็นในอำนาจของชวนวิถีก็เป็นของจิต

มธุรส สรุปแล้วจิตก็มีการเกิดดับสืบต่อ สั่งสมสันดาน สะสมการสืบต่อ และไปเกี่ยวกับเรื่องของกุศล อกุศลอย่างไรคะ

สุ. จิตเกิดแล้วดับไหมคะ

มธุรส ดับค่ะ

สุ. แล้วไม่มีจิตอื่นเกิดต่อเลยหรือว่าทันทีทีจิตขณะแรกดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด

มธุรส เป็นค่ะ

สุ. เป็นอนันตรปัจจัยและสมันตรปัจจัย อนันตรปัจจัยหมายความถึงทันทีที่นามธรรมคือจิตและเจตสิกดับ ถ้าไม่มีปัจจัยในจิตขณะก่อน จิตขณะต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย แต่เพราะจิตก่อนที่ดับไปเป็นอนันตรปัจจัย ให้กับจิตที่เกิดต่อเป็นปัจจุยุปบัน เกิดสืบต่อเป็นผล

เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า นี่เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่สำหรับสมันตรปัจจัยกำกับไว้เลยว่า เมื่อเป็นปฏิสนธิจิต สภาพของปฏิสนธิจิต นอกจากจะเป็นอนันตรปัจจัยแล้ว ก็เป็นสมันตรปัจจัย หมายความว่าตัวของเขาเองจะต้องให้จิตตัวที่เกิดต่อ เป็นจิตประเภทไหน ด้วยดี หมายความว่าจิตอื่นจะเกิดไม่ได้ หรือว่าเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือมโนทวาราวัชชนจิตดับไป ตัวอาวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัยและสมันตรปัจจัยว่า หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ต้องเป็นวิญญาณ ๑ ใน ๑๐ ดวง ในทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใด

เพราะฉะนั้น การเกิดดับสืบต่อของจิตก็เป็นไปตามปัจจัยที่ว่า ไม่ใช่จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับ แล้วสูญหายไปเลย แต่จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แต่จิตเก่าดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย หมดเลย หลังภังคขณะแล้วก็คือไม่มีอีก แต่ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น

เพราะฉะนั้นการสะสมสืบต่อของจิตต้องมี จากขณะแรกที่เกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อมาสืบต่อทุกอย่างจากจิตขณะแรกที่ดับไป และถ้าศึกษาต่อไปก็จะมีโดยอนันตรูปนิสสยปัจจัย หมายถึง การสืบต่อที่สะสมมามีกำลังที่จะทำให้จิตประเภทไหนเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องค่อยๆ เข้าใจว่า การสะสมสันดาน หรือสันตาน ก็คือเมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดแล้วก็ดับ

เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีสิ่งที่สะสมมาจากชวนวิถีต่างกัน บางคนเป็นอกุศลมากตรงชวนวิถี ก็จะเป็นปัจจัยให้เขามีอกุศลประเภทนั้นๆ ถ้าเป็นคนที่มีโลภะมาก ก็แสดงว่าโลภมูลจิตของเขาเกิดตรงชวนะบ่อย โลภมูลจิตจะไม่เกิดที่อื่นเลย นอกจากทำกิจชวนะ หลังจากที่โวฏฐัพพนะดับไปแล้ว ก็จะเป็นโลภมูลจิต บางคนก็ช่างหงุดหงิด ทุกอย่างก็ดีหมด แต่เขาก็โกรธ นั่นก็หมายความเขาสะสมโทสะมาก

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 3 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 3 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ก็มีลักษณะเดียว คือ มีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น จิตหลากหลายประเภท ก็เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ที่จะมีการสะสมดีหรือไม่ดีก็ต้องในขณะที่เป็นกุศลกับอกุศล เท่านั้น แต่ว่าอกุศลเกิดแล้ว กุศลเกิดแล้ว ไม่สูญหายแล้วไปไหน สะสมสืบต่อต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ ตามความเป็นจริงแล้ว จิต เกิดขึ้น และ ดับไปหมดแล้วแต่ การดับไป ของจิตขณะก่อน เป็นปัจจัยให้ จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น ฉะนั้น จิตขณะต่อไปที่เกิดขึ้นจึงสืบต่อทุกอย่างที่สั่งสมอยู่ในจิตขณะก่อน ที่ดับไปนั้นเอง จิตขณะก่อนเป็นปัจจัยแก่การเกิดขึ้นของจิตขณะต่อไป การสะสมจึงทำให้เห็นถึงความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลได้ว่า มีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ดีบ้าง ไม่ดี บ้าง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเป็นไปตามการสะสม นั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 3 ก.ค. 2557

จิตสะสมสืบต่อไปกับจิตทุกขณะ ไม่สะสมอีกเมื่อเป็นพระอรหันต์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 3 ก.ค. 2557

พอเข้าใจโดยเบื้องต้นแล้วค่ะ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 4 ก.ค. 2557

ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 4 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณคุณประสานค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ