ความอดทนต่อสภาพธรรมที่ชอบทางตา

 
papon
วันที่  29 พ.ค. 2557
หมายเลข  24912
อ่าน  1,620

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

สภาพธรรมที่น่าชอบใจที่ปรากฏทางตาเป็นกุศลวิบาก ความอดทนที่จะไม่มัวเมาไปกับสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างไรครับ ขอความกรุณาอาจารย์กรุณาให้ปัญญาด้วยครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อดทน อัดกลั้น ข่มใจ คือ ขันติ ความอดทน เป็นอโทสเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตที่ดีงาม เพราะ ในขณะที่อดทน คือ ขณะนั้น ไม่โกรธ ด้วยกุศลจิต จึงเป็นอโทสเจตสิก และแม้ขณะที่มีเมตตา ขณะนั้น แสดงลักษณะถึงความไม่โกรธ แต่มีเมตตา จึงมีองค์ธรรม เป็นอโทสเจตสิกเช่นเดียวกัน ครับ

แต่ ความอดทน มีหลายระดับ ครับ

- ความอดทนต่อร้อนหนาว ด้วยกุศลจิต เป็นอโทสเจตสิก

- ความอดทนต่อ คำพูดไม่ดี วาจาไม่ดี หรือ การกระทำทางกาย วาจาที่ไม่ดีของผู้อื่น ด้วยกุศลจิต ความอดทนนั้นเป็น อโทสเจตสิก

และ ความอดทน ที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ยิน คือ ขันติญาณ ที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นสูง เป็นความอดทนอย่างยิ่ง ที่จะรู้ความจริงในสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างละเอียด ลึกซึ้ง เป็นความอดทน คือ ขันติญาณ ที่เป็น อโมหเจตสิก ที่เป็นปัญญา ครับ

ดังนั้น ความอดทน จึงมีหลายระดับ ตามระดับของกุศล

ซึ่งจากคำถามที่ว่า

สภาพธรรมที่น่าใจที่ปรากฏทางตาเป็นกุศลวิบาก ความอดทนที่จะไม่มัวเมาไปกับสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างไร

ขณะนี้เห็น โดยมากก็ติดข้องในสิ่งที่เห็น หนทางที่ถูกต้อง คือ ไม่ใช่พยายามด้วยตัวตน ที่จะไม่ติดข้อง แต่เข้าใจความจริงที่เกิดแล้ว อดทนที่จะรู้ความจริง ว่าเห็น หรือสิ่งที่เห็นเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ ขณะนั้น เป็นกุศลจิตที่มีปัญญา ไม่มัวเมา ติดข้องในขณะนั้น ครับ การพิจารณาจนเข้าใจจริงๆ ถึงลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนั้น จึงจะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน การเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจึงต้องอาศัยการฟัง ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เห็นขณะนี้ ต้องละคลายความติดข้องในเห็นว่าเป็นเรา เห็นแล้วละหรือเปล่า หรือติดข้อง เห็นแล้วก็ยังติดข้อง เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง อดทนที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก่อนฟังธรรมเห็นก็เป็นเราเห็น เมื่อฟังธรรม เข้าใจความจริงของเห็น ขณะนี้ที่เห็นย่อมต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้ฟังธรรม เริ่มเข้าใจความจริงของเห็น เห็นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เราทำเห็นให้เกิดไม่ได้ จะเพียรทำเห็นให้เกิดก็คือเรา แต่ความเข้าใจเป็นปัญญา

อดทนที่จะเป็นกุศล เพราะอกุศลเกิดบ่อยและเร็วมาก ขันติเป็นบารมีที่จะให้ถึงฝั่งได้ อดทนที่จะฟังให้เข้าใจความจริงขณะนี้ ไม่มีเราต้องการไปรู้ ขณะที่เข้าใจเห็น เห็นเป็นขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ เป็นปกติ ไม่มีเราที่ไปเพียรรู้เห็น อดทนที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ครับ ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ถาม...เมื่อครู่ได้ยินพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงนั้นละเอียดลึกซึ้งมาก นอกจากที่ได้ยินว่า ไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม แล้วความยังจิตของตนให้ผ่องใส ก็มีอีกคาถาหนึ่ง ที่ว่า

ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

ความอดทน ความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผาบาปอย่างยิ่ง

อยากทราบความลึกซึ้งของประโยคนี้ เพราะว่าอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่าเป็นตบะสูงสุดในพระศาสนานี้ คงจะมีความสำคัญมาก

ท่านอาจารย์...

ความ..อดทนที่จะละกิเลสหรือความชั่ว ความไม่ดี ไม่ใช่ความอดทนในทางที่จะเป็นอกุศลยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นความต่างกัน ขณะนี้ได้ยินคำว่า " ธรรม " พอจะรู้บ้างว่าหมายความถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เอง ทุกอย่าง แล้วสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ต้องเกิดจึงปรากฏ เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก อดทนที่จะฟัง ที่จะค่อยๆ เข้าใจ ที่จะละคลายความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ ความจริงในขณะนี้หรือเปล่า และขณะนี้ยังไม่ได้รู้จักลักษณะที่เป็นธรรม กว่าจะเริ่มเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังและรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมีจริงๆ แม้ว่าขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏดับไปแล้วไม่กลับมาอีก แต่ก็มีปัจจัยที่สิ่งอื่น จะเกิดสืบต่อทันทีตลอดไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏเมื่อกี้นี้ หรือเมื่อวันก่อน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ที่ดับไปแล้วจะกลับมาอีก แต่สิ่งที่มีในขณะนี้ ปัญญาสามารถจะเห็นถูก เข้าใจถูกได้ อดทนที่จะเริ่มเข้าใจ ในความเป็นธรรมขณะนี้ ซึ่งหลากหลายมาก ถ้าจะกล่าวว่าขณะนี้มีเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ ดูไม่หลากหลาย แต่สิ่งที่ปรากฏดับแล้ว แล้วก็มีเห็นอีก แล้วก็ดับ สิ่งที่ปรากฏก็ดับ แล้วก็มีเห็นเกิดอีก มีสิ่งที่ปรากฏใหม่อีก ไปเรื่อยๆ ลึกซึ้งไหมค่ะ อดทนไหม ในเมื่อสิ่งนี้เป็นความจริงและสามารถจะเข้าใจได้ด้วย ถ้าไม่สามารถจะเข้าใจได้ จะไม่มีพระอริยาสาวก จะมีแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อทรงแสดงพระธรรม ให้คนที่มีโอกาสได้ฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ นะค่ะ ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง ว่าเป็นความจริง แต่ยังไม่รู้ แต่เมื่อความจริงเป็นความจริง ก็ย่อมจะสามารถเข้าใจถูกได้วันหนึ่ง เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็อดทนที่จะฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ จนกระทั่งเข้าใจละเอียดขึ้นว่าสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ มีอะไรบ้าง แล้วก็มีปรากฏได้ทีละอย่างเท่านั้นเอง ปรากฏพร้อมกันไม่ได้เลย ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งว่าสิ่งที่มีจริงแม้ไม่เรียกชื่อใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งนี้ก็เป็นอย่างนั้น เช่นเห็นนี้ ไม่ต้องใช้คำอะไรเลย แต่ละชาติแต่ละภาษา แต่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ ภาษาบาลี คือภาษามคธี ภาษาที่ชาวมคธใช้ เพราะว่าคนในยุคนั้นฟังธรรมด้วยภาษานี้ ก็ใช้คำนั้นเพื่อจะให้เข้าใจ สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีในขณะนี้นะค่ะ ถ้าเป็นภาษาบาลีแล้วคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาบาลีฟังแล้ว เข้าใจไหมค่ะ ก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องใช้ภาษาอะไรก็ได้ ภาษาที่ใช้อยู่ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ใช่อย่างเดียว เห็นอย่าง ๑ คิดนึกอย่าง ๑ ได้ยินอย่าง ๑ สุขอย่าง ๑ ทุกข์อย่าง ๑ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ปรากฏชั่วคราวอย่างยิ่ง แล้วก็ดับไป เดี๋ยวนี้ดับหมดแล้วค่ะ เมื่อกี้นี้สิ่งที่มีจริงๆ ถ้าไม่รู้ก็เกิดแล้วดับแล้วโดยไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่มีจริงนี้แหละสามารถจะค่อยๆ เข้าใจถูก ตามความเป็นจริงได้ ว่าเป็นธรรม สำคัญที่สุด คือ เริ่มจากความเข้าใจถูกว่า ทุกอย่างที่มี ไม่มีใครบันดาลให้เกิดขึ้นเลย ต้องมีปัจจัยเฉพาะสิ่งนั้น เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป ไม่เป็นของใครเลย

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

++ความติดข้องมีมากมายมหาศาล ทุกอย่างที่ทำไปด้วยโลภะที่จะอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะใดที่มีปัญญาเห็นโลภะตามความเป็นจริง เมื่อนั้นก็จะคลายโลภะได้ แต่ถ้ายังไม่เห็นโลภะ อย่างคนที่ทำกุศลก็เคลิบเคลิ้มหวังผลของกุศล ขณะนั้นจะละสังสารวัฏฏ์ได้อย่างไร

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๖

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แม้แต่ โลภะ ความติดข้องต้องการ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และในขณะที่ติดข้อง ก็ต้องมีสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความติดข้อง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย ถ้าจะถามว่าติดข้องในอะไร มีมากมายเหลือเกิน ในรูป บ้าง เสียง บ้าง กลิ่น บ้าง เป็นต้น ทุกคนตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมหมายความว่ายังมีโลภะ ยังไม่สามารถดับได้ เพราะผู้ที่จะดับโลภะได้หมดสิ้นก็ต้องถึงความเป็นอรหันต์

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เพราะติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งฉันทะในกุศลธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น ไม่ใช่การบังคับไม่ให้ติดข้องสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่สามารถเข้าใจความจริงของโลภะที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้นได้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 29 พ.ค. 2557

อดทนไม่มัวเมา เพราะเข้าใจว่าเป็นธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 2 มิ.ย. 2557

แม้เป็นผลของกุศลกรรมที่ทำให้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาน่าใคร่น่าพอใจแต่สิ่งนั้นทำให้จิตเกิดเป็นอกุศลได้ถ้ามีความติดข้องมัวเมา..ความอดทนต่อสภาพธรรมที่ปรากฏหมายถึงความอดทนที่จะไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น..ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เป็นไปตามการสะสมของจิต..

การศึกษาธรรมะทำให้รู้จักกุศลและอกุศลรู้คุณและโทษของกุศลและอกุศล..ความรู้ย่อมดีกว่าความไม่รู้..เช่นข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ผู้ที่รู้ว่าก้อนเหล็กร้อนหากจำเป็นต้องจับเหล็กนั้น.ก็จะจับไม่เต็มที่เหมือนผู้ไม่รู้..อดทนต่อสภาพธรรมที่มัวเมาด้วยความติดข้องในขั้นที่เห็นโทษของอกุศลแม้เล็กน้อยเป็นการอดทนด้วยปัญญาและปัญญาที่ได้จากการศึกษาพระธรรมเท่านั้นที่จะเจริญได้จนละความมัวเมาและความติดข้องได้ตามลำดับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 4 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ