การกำหนดรู้ทุกข์

 
jran
วันที่  30 เม.ย. 2557
หมายเลข  24787
อ่าน  8,262

เมื่อเกิดทุกข์ต้องกำหนดรู้อย่างไร เพื่ออะไร ตามหลักธรรมอริยสัจสี่ ขอคำแนะนำด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 30 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกข์ หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้นจริงๆ ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรม กับ รูปธรรมเลย และถึงว่าแม้ว่าจะไม่ปวดหัว จะไม่ตัวร้อน จะไม่เจ็บป่วย ก็เป็นทุกข์ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้นเป็นทุกข์ เพราะตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็น เป็นทุกข์ ได้ยิน เป็นทุกข์ ได้กลิ่น เป็นทุกข์ เป็นต้น ที่ควรจะได้ฟัง ได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เท่านั้นจริงๆ การกำหนดรู้ทุกข์ ไม่ใช่ด้วยตัวตน แต่ด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นทำกิจรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เพราะได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความหมายของอริยสัจจะ

1. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ

2.พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อริยสัจจะ

3. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็น พระอริยะ ชื่อ อริยสัจจะ

4. ที่ชื่อว่า อริยสัจจะ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง

5. ที่ชื่อว่า อริยสัจจะ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง


ทุกข์ คือ ความจริงอย่างประเสริฐคือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด

ทำไมต้องกำหนดรู้

ทุกขอริยสัจจะ กิจ คือ ควรกำหนดรู้ ที่เรียกว่า ปริญญากิจ ที่ควรกำหนดรู้ เพราะ เราไม่รู้ความจริงว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็นทุกข์ เมื่อไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา จึงเป็นทุกข์ประการต่างๆ เพราะไม่รู้ความจริง และเพราะไม่รู้ความจริงว่าไม่เที่ยง ด้วยปัญญา ก็ย่อมไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง หลงยึดติดในสิ่งที่เป็นสมมติ ไม่รู้ความจริงว่ามีแต่ธรรมที่เป็นทุกข์เท่านั้น เมื่อไม่รู้จึงทำบาป เมื่อทำบาปก็ทำให้เกิดในอบายและวนเวียนในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงควรรู้ทุกข์ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาคือ กำหนดรู้ด้วยปัญญา เพื่อจะได้เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง เกิดปัญญาดับกิเลสอันนำมาซึ่งทุกข์

อย่างไรจึงจะเรียกว่าการกำหนดรู้

เมื่อปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นทุกข์ รู้ความจริงว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา นั่นคือ สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงนั่นเองครับ ชื่อว่า กำหนดรู้แล้ว รู้ด้วยปัญญา โดยไม่มีเราที่จะไปกำหนดรู้

กำหนดรู้แล้วได้อะไร

เมื่อปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม สิ่งที่ได้ คือ การรู้จักโลกตามความเป็นจริง สิ่งที่ได้ คือ วิชชา ปัญญาเกิด ย่อมละ ความไม่รู้ อวิชชาและกิเลสประการต่างๆ ได้จนดับกิเลสหมด และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด อันนำมาซึ่งทุกข์ ครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jran
วันที่ 1 พ.ค. 2557

ขอขอบคุณอาจารย์ทั้ง 2 ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 21 ต.ค. 2563

กราบขอบพระคุณ ยินดีในกุศล ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 18 ม.ค. 2564

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ