อยากทราบว่าการสร้างพระ ควรใส่ชื่อในแผ่นทองเหลืองไหม ถูกต้องตามหลักอภิธรรมไหมครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  5 เม.ย. 2557
หมายเลข  24678
อ่าน  4,062

อยากสอบถามเรื่องการทำบุญโดยเฉพาะ ทำไมต้องใส่ชื่อครับ เพราะถ้าบริจาคเงินต้องมีใบโมทนาบุญ ผมก็เข้าใจว่า เพื่อเป็นหลักฐาน และลดภาษี แต่ถ้าใส่ชื่อแบบนี้จะเป็นการยึดติด ยังไม่ละออกหรือเปล่าครับ หรืออยู่เจตนาเราครับ แล้วแบบไหนถูกต้องครับ

ขอบคุณครับ อนุโมทนาสาธุๆ ๆ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ที่ชำระจิตให้สะอาด ซึ่งไม่พ้นจากธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไปในทาน บ้าง ศีล บ้าง การอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญาบ้าง กล่าวคือ กุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยทำกิจหน้าที่ ขณะใดปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นคือบุญ, บุญ นำมาซึ่งความสุข ไม่ให้ผลที่เป็นทุกข์ใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ควรประมาทว่านิดหน่อย เล็กน้อย หรือไม่ควรประมาทว่าได้กระทำเพียงพอแล้ว แต่ควรที่จะเจริญบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน บุคคลผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของบุญกุศล มีปัญญารู้ว่าบุญ เป็นที่พึ่ง นำสุขมาให้ ก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศล พร้อมทั้งสะสมกุศลไปเรื่อยๆ ตามกำลัง ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้งฉันทะ (ความพอใจ) ในการเจริญกุศล ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อกุศลจึงจะลดน้อยลงเบาบางลง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ประมาท ไม่ได้เจริญกุศลอะไรๆ เลย อกุศลย่อมจะเบาบางไม่ได้เลย มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ไม่ได้สำคัญอยู่ที่ว่าจะใส่ชื่อหรือไม่ใส่ชื่อ เพราะเป็นเรื่องของสภาพจิตเป็นสำคัญ การกระทำอย่างเดียวกัน แต่สภาพจิตอาจจะแตกต่างกันก็ได้ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และประโยชน์ของการเจริญกุศล ต้องเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส กิเลสที่สะสมมาอย่างมากมาย จะค่อยขัดเกลาให้เบาบางลงได้ ก็ด้วยการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียด สำคัญที่สุด จะต้องเข้าใจคำว่า บุญ เป็นสำคัญก่อน และจะต้องเข้าใจ การกระทำที่เหมือนกัน แต่จิตต่างกัน หรือผลต่างกันก็ได้ ครับ ต้องเข้าใจสองประเด็นนี้ให้เข้าใจเป็นสำคัญ จึงจะทำให้เข้าใจถูกในประเด็นนี้ ครับ

บุญ เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ อยู่ที่จิต ย่อมหมายรวมถึงโสภณเจตสิก (สภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดร่วมกับจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น) ที่เกิดร่วมด้วย ถ้าหากไม่มีจิต และ ไม่มีโสภณเจตสิกแล้ว บุญก็เกิดไม่ได้ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลขณะใด ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นการชำระจิตจากกุศล การทำบุญ ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความอยากติดข้องต้องการ หวังผลของบุญ

ส่วนการกระทำที่เหมือนกัน แต่จิตต่างกันก็ได้ ขออนุญาตยกตัวอย่าง เช่น พระโสดาบัน มีการทำบุญ มีการเขียนชื่อลงไปในใบทำบุญ แต่ พระโสดาบัน ละความเห็นผิดหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล แม้การเขียนชื่อลงไปในใบอนุโมทนา หรือคนอื่นเขียนชื่อของท่านลงไปในใบอนุโมทนาบัตรก็ตาม พระโสดาบันก็ไม่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลเลย

ส่วนปุถุชน การเขียนใบอนุโมทนา ที่เขียนชื่อลงไป ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ในขณะนั้น นี่คือความละเอียดของพระธรรม เพราะว่า ชื่อ ที่บัญญัติเขียนลงไป ขณะนั้นผู้ที่เขียน หรือคนอื่นเขียนชื่อตนเองไป ก็ไม่ได้เกิดขณะจิตที่ยึดถือว่าเป็นเรา ด้วยความเห็นผิด ในขณะนั้น ครับ

จะเห็นนะครับว่า ในประเด็นที่ถามว่า ที่เขียนชื่อลงไปในใบทำบุญ เป็นการแสดงหลักฐานของการได้รับเงินทำบุญ เพราะองค์กรนั้นก็จะต้องมีบัญชีการรับเงินทำบุญ เพื่อตรวจสอบ เช็คยอดต่างๆ เป็นต้น ดังเช่น มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่มีการออกใบทำบุญ อนุโมทนาบัตร แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์ หรือจะทำให้มีการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลแต่อย่างไร เพราะชื่อที่เขียนไม่ได้ทำให้เกิดการยึดถือ แต่อะไรที่จะทำให้เกิดการยึดถือ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นของตนเอง เพราะฉะนั้น การยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ไม่ได้เกิด เพราะ ตอนที่มีชื่อในใบอนุโมทนา แต่แม้ไม่เขียนชื่อ การยึดถือว่าเป็นเราจะมีได้ เมื่อคิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลในขณะนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น แม้พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า ก็ไม่ละทิ้ง ชื่อ สมมติที่เรียกกัน เพื่อสื่อสารให้เข้าใจว่า ใครไปคนทำบุญ เป็นต้น ครับ ผู้มีปัญญาย่อมฉลาดในการใช้โวหารทางโลกได้อย่างถูกต้อง เพื่อสื่อสารให้เข้าใจ โดยไม่จำเป็นจะต้องยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล หากแต่ว่า การเขียนชื่อ เพื่อติดข้อง เป็นอกุศล ขณะนั้น ก็ชื่อว่าไม่ตรง ไม่ถูกต้อง ก็ต้องพิจารณาจิตในขณะนั้นเป็นสำคัญ ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 135

๕. อรหันตสูตร

[๖๔] ท. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง.

[๖๕] ภ. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บาง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาดทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
one_someone
วันที่ 6 เม.ย. 2557

เพราะธรรมเกิดขึ้นทีละขณะ ควรทบทวนในส่วนของเรื่อง

-บุญคืออะไร

-การกระทำที่เหมือนกันแต่ผลต่างกันเพราะเหตุใด

เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเข้าใจยิ่งขึ้นเพราะการศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 7 เม.ย. 2557

ขณะที่มีจิตสละทรัพย์ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตแล้วค่ะ ที่เขียนชื่อผู้บริจาคเพื่อให้ผู้อื่นรู้และอนุโมทนาในกุศลจิตของผู้ทำค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 25 พ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ