มหานามสูตรที่ ๒

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  6 เม.ย. 2557
หมายเลข  24680
อ่าน  1,119

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

เอกาทสกนิบาต - ปัณณาสก์ - ๒. ทุติยวรรค - มหานามสูตรที่ ๒

จาก วิกิซอร์ซ พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

มหานามสูตรที่ ๒

[๒๑๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล เจ้าศากยะ พระนามว่า มหานามะ ทรงหายจากประชวร คือ หายจาก ภาวะที่ประชวร ไม่นาน

ก็สมัยนั้น ภิกษุเป็นอันมาก กระทำจีวรกรรม เพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริก โดยกาลล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะ พระนามว่า มหานามะ ได้ทรงสดับข่าวว่า

ภิกษุเป็นอันมาก กระทำจีวรกรรม เพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริก โดยล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะ พระนามว่า มหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน ได้ทราบข่าวมา ดังนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมาก กระทำจีวรกรรม เพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริก โดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน ผู้อยู่ด้วย ธรรมเครื่องอยู่ ต่างๆ พึงอยู่ด้วย ธรรมเครื่องอยู่ อะไร พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตร เสด็จเข้ามาหาตถาคต แล้ว ตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน ผู้อยู่ด้วย ธรรมเครื่องอยู่ ต่างๆ พึงอยู่ด้วย ธรรมเครื่องอยู่ อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่ มหาบพิตร ผู้เป็นกุลบุตร

ดูกรมหาบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียร ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้าน ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืม ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่น ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญา ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทราม ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์

ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตร ทรงตั้งอยู่ใน “ธรรม ๕ ประการ” นี้แล้ว พึงเจริญ “ธรรม ๖ ประการ” ให้ยิ่งขึ้นไป

ดูกรมหาบพิตร ใน ธรรม ๖ ประการ นี้ พึงทรงระลึกถึงพระตถาคต ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง

ดูกรมหาบพิตร อริยสาวก ผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม

ย่อมได้ความปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม ปีติ ย่อมเกิดแก่อริยสาวก ผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก ผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ อริยสาวก ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวก ผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น

ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตร พึงเสด็จดำเนินเจริญ ก็ได้ พึงประทับยืนเจริญ ก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญ ก็ได้ พึงบรรทมเจริญ ก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญ ก็ได้ พึงประทับบนที่นอน อันเบียดเสียด ด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญ ก็ได้ ซึ่ง พุทธานุสสติ นี้แล ฯ

ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตร พึงทรงระลึกถึง พระธรรม...

ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตร พึงทรงระลึกถึง พระสงฆ์...

ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตร พึงทรงระลึกถึง ศีลของตน...

ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตร พึงทรงระลึกถึง จาคะของตน...

ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตร พึงทรงระลึกถึง เทวดาทั้งหลาย ว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราช มีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์ มีอยู่ ... เทวดาผู้สูงขึ้นไปกว่านั้น มีอยู่ เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วย ศรัทธา เช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว ไปบังเกิดใน เทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เรา ก็มี ศรัทธา เช่นนั้น เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วย ศีล ...สุตะ ... จาคะ ... ปัญญา เช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว ไปบังเกิดใน เทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เรา ก็มี ปัญญา เช่นนั้น

ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวก ระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และ ปัญญาของตน และ ของเทวดาเหล่านั้น

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง

ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะ ปรารภเทวดาทั้งหลาย

ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม ปีติ ย่อมเกิดแก่อริยสาวก ผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก ผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ อริยสาวก ผู้มีกายสงบ ย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวก ผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น

ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตร

พึงเสด็จดำเนินเจริญ ก็ได้ พึงประทับยืนเจริญ ก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญ ก็ได้ พึงบรรทมเจริญ ก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญ ก็ได้ พึงประทับบนที่นอน อันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญ ก็ได้ ซึ่งเทวตานุสสตินี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๒

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 6 เม.ย. 2557

อรรถกถาทุติยมหานามสูตรที่

ทุติยมหานามสูตรที่ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า คิลานา วุฏฺฐิโต ความว่า เจ้ามหานามศากยะประชวรแล้วหายประชวร.

จบอรรถกถาทุติยมหานามสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 7 เม.ย. 2557

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ